{{หัวเรื่องงานแปล <!-- ข้อมูลหลัก --> | ชื่อ = ทุน เล่ม 1 | ศักราช = ค.ศ.| ปี = 1890 | ภาษา = de | ต้นฉบับ = Das Kapital. Band I | ผู้สร้างสรรค์ = คาร์ล มาคส์| บรรณาธิการ = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ส่วน = บทที่ 1: โภคภัณฑ์| ผู้มีส่วนร่วม = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ก่อนหน้า = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/v|สารบัญ]]| ถัดไป = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/2|บทที่ 2: กระบวนการแลกเปลี่ยน]] | หมายเหตุ = <!-- ข้อมูลย่อย (สำหรับจัดระเบียบหรือเชื่อมโยงไปหน้าอื่น) --> | หมวดหมู่ = | แก้กำกวม = | รุ่น = | สถานีย่อย = | ผู้สร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง = | วิกิพีเดีย = | คอมมอนส์ = | หมวดหมู่คอมมอนส์ = | วิกิคำคม = | วิกิข่าว = | วิกิพจนานุกรม = | วิกิตำรา = | วิกิห้องสมุด = | วิกิสนเทศ = | วิกิท่องเที่ยว = | วิกิวิทยาลัย = | วิกิสปีชีส์ = | เมทา = }}

สารบัญของวิกิซอร์ซ

3) รูปมูลค่าหรือมูลค่าแลกเปลี่ยน

สินค้าอุบัติบนโลกในรูปของมูลค่าใช้สอยหรือกายสินค้า เช่นเหล็ก ผ้าลินิน ข้าวสาลี ฯลฯ เหล่านี้เป็นรูปธรรมชาติบ้าน ๆ แต่เป็นสินค้าได้เพียงเพราะเป็นสองอย่างพร้อมกัน คือวัตถุใช้สอยและพาหะของมูลค่า ดังนั้น จะปรากฏเป็นสินค้าหรือมีรูปเป็นสินค้า ก็ต่อเมื่อมีทวิรูป รูปธรรมชาติและรูปมูลค่า

วัตถุภาวะมูลค่าของสินค้าต่างจาก Mistress Quickly ตรงที่ไม่มีใครทราบว่ากินได้ตรงไหน[a] ตรงกันข้ามกับวัตถุภาวะที่หยาบและสัมผัสได้ของกายสินค้า วัตถุภาวะมูลค่าไม่มีสสารธรรมชาติแม้อะตอมเดียว ต่อให้หมุนหรือพลิกสินค้ากี่ครั้งก็จับต้องไม่ได้ในฐานะสิ่งมีมูลค่า แต่หากจำได้ สินค้ามีวัตถุภาวะมูลค่าตราบที่เป็นการแสดงออกของหน่วยทางสังคมเดียวกันเท่านั้น หรือแรงงานมนุษย์ และวัตถุภาวะมูลค่านั้นเป็นสิ่งทางสังคมแท้ ๆ ก็ย่อมเข้าใจได้ในทันทีว่าจะสามารถปรากฏในความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสินค้ากับสินค้าเท่านั้น ที่จริงแล้วเราเริ่มต้นสะกดรอยมูลค่าที่ซ่อนอยู่ในสินค้าจากมูลค่าแลกเปลี่ยนหรือความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนของสินค้า บัดนี้เราต้องวกกลับหารูปปรากฏนี้ของมูลค่า

ใคร ๆ ก็รู้ แม้จะไม่รู้อะไรเลย ว่าสินค้ามีรูปมูลค่าร่วมกันอยู่ ซึ่งขัดกับรูปธรรมชาติสีสันฉูดฉาดสะดุดตาของมูลค่าใช้สอย —— รูปเงินตรา ถึงกระนั้น เรากลับต้องทำสิ่งที่เศรษฐศาสตร์กระฎุมพีไม่เคยคิดแม้แต่จะพยายาม คือการพิสูจน์กำเนิดของรูปเงินตรา การตามรอยพัฒนาการของการแสดงออกมูลค่าในความสัมพันธ์มูลค่าของสินค้า จากรูปที่เรียบง่ายไม่เตะตา สู่รูปเงินตราที่สว่างจ้าแยงตา แล้วคลี่ปมปริศนาของเงินตราไปพร้อม ๆ กัน

แน่นอนว่าความสัมพันธ์มูลค่าที่เรียบง่ายที่สุดคือความสัมพันธ์มูลค่าระหว่างสินค้าชิ้นหนึ่งกับสินค้าคนละชนิดอีกชิ้นหนึ่ง จะเป็นชนิดใดก็ได้ ความสัมพันธ์มูลค่าระหว่างสินค้าสองชิ้นจึงให้การแสดงออกมูลค่าของสินค้าชิ้นหนึ่งในแบบที่เรียบง่ายที่สุด

A) รูปมูลค่าเรียบง่าย เอกเทศ หรือบังเอิญ
สินค้า หน่วย สินค้า หน่วย หรือว่า สินค้า หน่วยมีค่าเป็นสินค้า หน่วย
(ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว หรือว่า ผ้าลินิน 20 หลามีค่าเป็นเสื้อคลุม 1 ตัว)

1) สองขั้วของการแสดงออกมูลค่า: รูปมูลค่าสัมพัทธ์และรูปสมมูล

ความลับของรูปมูลค่าทั้งปวงอยู่ในรูปมูลค่าเรียบง่าย ความยากสำคัญจึงอยู่ที่การวิเคราะห์รูปนี้

ในตัวอย่างของเรา สินค้าที่ต่างกันสองชนิด กับ ผ้าลินินกับเสื้อคลุม มีบทบาทที่ต่างกันอย่างชัดเจนสองบทบาท ผ้าลินินแสดงออกมูลค่าของตัวเองเป็นเสื้อคลุม และเสื้อคลุมทำตัวเป็นวัสดุที่มูลค่าแสดงออกเป็น สินค้าแรกแสดงเป็นผู้กระทำ สินค้าที่สองแสดงเป็นผู้ถูกกระทำ สินค้าแรกแทนมูลค่าของตัวเองเป็นมูลค่าสัมพัทธ์ หรืออยู่ในรูปมูลค่าสัมพัทธ์ สินค้าที่สองทำตัวเป็นสิ่งที่เสมอกัน หรืออยู่ในรูปสมมูล

รูปมูลค่าสัมพัทธ์กับรูปสมมูลเป็นโมเมนต์คู่ควบ เป็นเงื่อนไขของกันและกัน และแยกกันไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นขั้วสุดโต่งตรงข้ามกันและแยกขาดจากกัน เป็นขั้วสองขั้วของการแสดงออกมูลค่าที่กระจายตัวลงบนสินค้าที่ต่างกันซึ่งสัมพันธ์กันผ่านการแสดงออกมูลค่านี้ ผมไม่สามารถแสดงออกมูลค่าของผ้าลินินเป็นผ้าลินินได้เป็นต้น ผ้าลินิน 20 หลา ผ้าลินิน 20 หลาไม่ใช่การแสดงออกมูลค่า ในทางตรงกันข้าม สมการนี้บอกว่า: ผ้าลินิน 20 หลาไม่ใช่สิ่งใดนอกจากผ้าลินิน 20 หลา วัตถุใช้สอยนามว่าผ้าลินินปริมาณหนึ่ง มูลค่าของผ้าลินินจึงสามารถแสดงออกเชิงสัมพัทธ์ได้เท่านั้น กล่าวคือแสดงออกเป็นสินค้าอื่น ดังนั้น รูปมูลค่าสัมพัทธ์ของผ้าลินินสมมุติให้มีสินค้าอีกชนิดอยู่ตรงข้ามกันในรูปสมมูล ในอีกด้าน สินค้าอีกชนิดที่เป็นรูปสมมูลจะอยู่ในรูปมูลค่าสัมพัทธ์พร้อมกันไม่ได้ เพราะไม่ได้แสดงออกมูลค่าตัวเอง แต่เป็นเพียงวัสดุให้สินค้าอื่นแสดงออกมูลค่ามา

แน่นอนว่าการแสดงออก: ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว หรือผ้าลินิน 20 หลามีค่าเป็นเสื้อคลุม 1 ตัว ยังอนุมานความสัมพันธ์ด้านกลับ: เสื้อคลุม 1 ตัว ผ้าลินิน 20 หลา หรือเสื้อคลุม 1 ตัวมีค่าเป็นผ้าลินิน 20 หลา แต่ผมก็จะต้องกลับด้านสมการเพื่อแสดงออกมูลค่าของเสื้อคลุมในเชิงสัมพัทธ์ และเมื่อทำเช่นนั้น ผ้าลินินจะกลายเป็นสิ่งสมมูลแทนเสื้อคลุม สินค้าเดียวกันจึงไม่สามารถปรากฏในรูปทั้งสองรูปพร้อมกันได้ในการแสดงออกมูลค่าเดียวกัน ทั้งสองรูปแยกขาดจากกันเหมือนเป็นขั้วตรงข้าม

สินค้าจะอยู่ในรูปมูลค่าสัมพัทธ์หรือตรงกันข้ามในรูปสมมูล ขึ้นอยู่กับแค่ตำแหน่งที่อยู่ในการแสดงออกมูลค่าแต่ละครั้ง กล่าวคือมูลค่าที่แสดงออกนั้นเป็นของสินค้า หรือว่ามูลค่านั้นแสดงออกเป็นสินค้า

2) รูปมูลค่าสัมพัทธ์

a) สาระของรูปมูลค่าสัมพัทธ์

เพื่อสืบค้นว่าการแสดงออกมูลค่าแบบเรียบง่ายของสินค้าฝังอยู่ในความสัมพันธ์มูลค่าระหว่างสินค้าสองชิ้นอย่างไร ก่อนอื่น เราจำเป็นที่จะพิจารณาอย่างหลังแยกจากแง่ปริมาณโดยสิ้นเชิง โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักทำตรงข้าม และมองเฉพาะอัตราส่วนในความสัมพันธ์มูลค่าซึ่งนับว่าสินค้าสองประเภทเสมอกันที่ปริมาณจำเพาะ เรามองข้ามไปว่าการเปรียบเทียบปริมาณของสิ่งที่ต่างกันสามารถทำได้หลังลดทอนเป็นหน่วยเดียวกันแล้วเท่านั้น ต้องแสดงออกเป็นหน่วยเดียวกันถึงมีตัวหารร่วม แล้วจึงจะวัดเทียบขนาดกันได้[1][b]

ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 20 หรือ ตัว ผ้าลินินปริมาณหนึ่งมีค่าเป็นเสื้อคลุมมากน้อยเท่าใด อัตราส่วนใดก็ตามต่างบอกว่าผ้าลินินและเสื้อคลุม ในฐานะขนาดของมูลค่า เป็นการแสดงออกของหน่วยเดียวกัน เป็นสิ่งที่มีธรรมชาติเดียวกัน ผ้าลินิน เสื้อคลุม คือฐานของสมการ

แต่สินค้าทั้งสองที่จับมาให้เสมอกันเชิงคุณภาพไม่ได้มีบทบาทเดียวกัน มูลค่าที่แสดงออกมาเป็นแค่ของผ้าลินิน ได้อย่างไร? ด้วยความสัมพันธ์ที่เสื้อคลุมเป็น "สิ่งสมมูล" หรือ "สิ่งที่แลกเปลี่ยนได้" กับผ้าลินิน ในความสัมพันธ์นี้ เสื้อคลุมนับว่าเป็นรูปของการมีอยู่ของมูลค่า ว่าเป็นสิ่งมีมูลค่า เพราะอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นสิ่งเดียวกับผ้าลินิน ในอีกด้านหนึ่ง ผ้าลินินเปิดเผยและได้แสดงออกด้วยตัวเองว่ามันเองนั้นเป็นมูลค่า เพราะในฐานะมูลค่าเท่านั้นจึงจะถือว่าเสมอหรือแลกเปลี่ยนกับเสื้อคลุมได้ เหมือนที่กรดบิวทิริกเป็นคนละสารกับโพรพิลฟอร์เมต แม้จะประกอบจากสารเคมีเดียวกัน —— คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) และยังมีส่วนประกอบร้อยละเดียวกัน คือ C4H8O2 หากเราจับโพรพิลฟอร์เมตเสมอกับกรดบิวทิริก ประการแรก ในความสัมพันธ์นี้ โพรพิลฟอร์เมตนับว่าเป็นเพียงรูปของการมีอยู่ของ C4H8O2 ประการที่สอง กล่าวได้ว่ากรดบิวทิริกก็ประกอบจาก C4H8O2 การจับโพรพิลฟอร์เมตเสมอกับกรดบิวทิริกจึงเป็นเพียงการแสดงออกส่วนประกอบทางเคมี มากกว่าจะเป็นการแสดงออกรูปกาย[c]

หากเรากล่าวว่า: ในฐานะมูลค่า สินค้าเป็นเพียงวุ้นของแรงงานมนุษย์ การวิเคราะห์ของเราลดทอนสินค้าเป็นนามธรรมมูลค่า แต่ไม่ได้ให้รูปมูลค่าที่ต่างไปจากรูปธรรมชาติของตัวเองแก่สินค้า ตรงกันข้าม ในความสัมพันธ์มูลค่าระหว่างสินค้าชิ้นหนึ่งกับชิ้นอื่น ลักษณะมูลค่าของสินค้าโผล่ออกมาผ่านความสัมพันธ์ที่มีกับสินค้าอื่น

การจับเสื้อคลุมในฐานะสิ่งมีมูลค่าเสมอกับผ้าลินินเป็นต้น เป็นการจับแรงงานในอย่างแรกเสมอกับแรงงานในอย่างหลัง จริงที่การตัดเย็บซึ่งผลิตเสื้อคลุมเป็นแรงงานรูปธรรมคนละชนิดกับการถักทอซึ่งผลิตผ้าลินิน แต่การจับให้เสมอกับการถักทอในความเป็นจริงได้ลดทอนการตัดเย็บเหลือเป็นสิ่งที่เสมอกันจริงในแรงงานทั้งสอง คือลักษณะร่วมของการเป็นแรงงานมนุษย์ การทำอ้อมอย่างนี้บอกว่า การถักทอตราบเท่าที่ถักทอมูลค่าก็ปราศจากตำหนิที่แยกมันจากการตัดเย็บ และจึงเป็นแรงงานมนุษย์นามธรรม การแสดงออกว่าสินค้าต่างชนิดเสมอกันเท่านั้นที่เผยลักษณะเฉพาะของแรงงานที่สร้างมูลค่า ด้วยการลดทอนแรงงานต่างชนิดในสินค้าต่างชนิดในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มีร่วมกัน แรงงานมนุษย์ทั่วไป[2]

แต่แค่แสดงออกลักษณะเฉพาะของแรงงานซึ่งประกอบมูลค่าของผ้าลินินไม่พอ พลังแรงงานมนุษย์ในสถานะของไหล หรือแรงงานมนุษย์ สร้างมูลค่าแต่ไม่ใช่มูลค่า แต่จะเป็นมูลค่าเมื่ออยู่ในสถานะของแข็ง ในรูปวัตถุ เพื่อแสดงออกมูลค่าของผ้าลินินในฐานะวุ้นของแรงงานมนุษย์ ก็ต้องแสดงออกเป็น „วัตถุภาวะ“ ที่แตกต่างจากตัวผ้าลินินเอง แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนกันทั้งในผ้าลินินและสินค้าอื่น ภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว

ในความสัมพันธ์มูลค่าของผ้าลินิน เสื้อคลุมนับเป็นสิ่งที่เสมอกันเชิงคุณภาพ หรือธรรมชาติเดียวกัน เพราะเป็นมูลค่า จึงนับว่าเป็นสิ่งที่มูลค่าปรากฎภายใน สิ่งที่แสดงมูลค่าในรูปธรรมชาติที่จับต้องได้ แต่เสื้อคลุม กายสินค้าเสื้อคลุม แท้จริงเป็นเพียงมูลค่าใช้สอย เสื้อคลุมไม่ได้แสดงออกมูลค่ามากน้อยไปกว่าผ้าลินินผืนไหน ๆ นี่เพียงพิสูจน์ว่าเสื้อคลุม เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์มูลค่ากับผ้าลินิน มีความหมายกว่าเมื่อไม่อยู่ เช่นเดียวกับมนุษย์หลายคน เมื่อสวมเสื้อคลุมปักทองแล่ง กลับมีความหมายกว่ามนุษย์ที่ไม่ได้สวม[d]

ในการผลิตเสื้อคลุม มีการใช้พลังแรงงานมนุษย์ไปจริงในรูปการตัดเย็บ แรงงานมนุษย์จึงจับตัวในเสื้อคลุม จากมุมนี้ เสื้อคลุมเป็น „พาหะของมูลค่า“ แต่สมบัตินี้ไม่โผล่ให้เห็นแม้ขาดรุ่งริ่ง และในความสัมพันธ์มูลค่าของผ้าลินิน เสื้อคลุมนับจากมุมนี้เท่านั้น ว่าเป็นอวตารของมูลค่า กายของมูลค่า แม้ผ้าลินินมีภาพลักษณ์สุขุม แต่ก็มองเห็นจิตวิญญาณบรรเจิดร่วมกำพืดของมูลค่าในเสื้อคลุม ถึงกระนั้น เสื้อคลุมไม่สามารถแทนมูลค่าให้ผ้าลินินได้ ถ้ามูลค่าไม่ได้มีรูปเป็นเสื้อคลุมไปพร้อมกันด้วยสำหรับเสื้อคลุม เช่นที่ ไม่สามารถทำตัวเหมือน เป็นเจ้าอยู่หัวได้ ถ้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้มีรูปกายเป็น สำหรับ และหน้าตา ผมเผ้า และอื่น ๆ จึงเปลี่ยนไปทุกครั้งที่มีเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่

ในความสัมพันธ์มูลค่าที่เสื้อคลุมเป็นสิ่งสมมูลของผ้าลินิน นับรูปเสื้อคลุมเป็นรูปมูลค่า มูลค่าของสินค้าผ้าลินินจึงแสดงออกเป็นกายของสินค้าเสื้อคลุม มูลค่าของสินค้าหนึ่งแสดงออกเป็นมูลค่าใช้สอยของสินค้าอื่น ในฐานะมูลค่าใช้สอย ผ้าลินินเป็นของที่มีเนื้อหนังต่างจากเสื้อคลุม ในฐานะมูลค่า ผ้าลินินเป็น „สิ่งที่เสมอกับเสื้อคลุม“ และจึงดูเหมือนเสื้อคลุม จนผ้าลินินได้มีรูปมูลค่าที่แตกต่างจากรูปธรรมชาติของตัวเอง ความเป็นมูลค่าของผ้าลินินปรากฏในความเสมอภาคกับเสื้อคลุม อย่างที่สันดานแกะของคริสตชนปรากฏในความเสมอภาคกับพระเมษโปดก

บทวิเคราะห์มูลค่าสินค้าที่ผ่านมาบอกอะไร เราเห็นว่า ผ้าลินินเองบอกทันทีที่มีปฏิสัมพันธ์กับสินค้าอื่นเช่นเสื้อคลุม แต่แสดงความคิดตัวเองออกมาเฉพาะในภาษาที่มันเข้าใจคนเดียว คือภาษาของสินค้า เพื่อบอกว่าแรงงานสร้างมูลค่าของมันด้วยสมบัตินามธรรมของแรงงานมนุษย์ ผ้าลินินบอกว่าเสื้อคลุม ตราบที่เสมอกัน จึงเป็นมูลค่า และประกอบจากแรงงานเดียวกันกับผ้าลินิน เพื่อบอกว่าวัตถุภาวะมูลค่าที่เลิศล้ำของตนแตกต่างจากกายที่แข็งกระด้าง ผ้าลินินบอกว่ามูลค่ามีหน้าตาเหมือนเสื้อคลุม แล้วในฐานะสิ่งมีมูลค่า ผ้าลินินและเสื้อคลุมจึงเหมือนกันอย่างกับแกะ อนึ่ง นอกจากภาษาฮีบรู ภาษาของสินค้ายังมีอีกหลายสำเนียงที่พอถูกต้องอยู่ คำว่า „แวร์ทไซน์“ ในภาษาเยอรมันเป็นต้นถ่ายทอดนัยที่การจับสินค้า เสมอกับสินค้า เป็นการแสดงออกมูลค่าของสินค้า ได้ไม่ชัดเจนเท่าคำกริยาอย่าง วาเลเร บาเลร์ กับวาลัวร์ในภาษาตระกูลโรมานซ์ ปารี โว เบียง อูน แม็ส![e]

ด้วยความสัมพันธ์มูลค่า รูปธรรมชาติของสินค้า กลายเป็นรูปมูลค่าของสินค้า หรือว่า กายของสินค้า กลายเป็นกระจกสะท้อนมูลค่าของสินค้า [3] การที่สินค้า มีความสัมพันธ์กับสินค้า ในฐานะกายของมูลค่า ในฐานะแรงงานมนุษย์ซึ่งกลายเป็นวัตถุ ทำให้มูลค่าใช้สอย กลายเป็นวัสดุที่แสดงออกมูลค่าของมัน มูลค่าของสินค้า ที่แสดงออกเป็นมูลค่าใช้สอยของสินค้า มีรูปเป็นมูลค่าสัมพัทธ์

b) ความแน่นอนเชิงปริมาณของรูปมูลค่าสัมพัทธ์

สินค้าที่จะแสดงออกมูลค่า ล้วนเป็นวัตถุใช้สอยปริมาณหนึ่ง ข้าวสาลี 15 เช็ฟเฟิล กาแฟ 100 ปอนด์ ฯลฯ สินค้าปริมาณหนึ่งมีแรงงานมนุษย์ปริมาณแน่นอนเท่าหนึ่ง รูปมูลค่าจึงต้องไม่แสดงออกเพียงมูลค่าโดยทั่วไป แต่ต้องแสดงออกมูลค่าที่ปริมาณแน่นอนหรือขนาดของมูลค่า ในความสัมพันธ์มูลค่าของสินค้า กับ ของผ้าลินินกับเสื้อคลุม ไม่ได้จับสินค้าชนิดเสื้อคลุมเสมอกับผ้าลินินในเชิงคุณภาพในฐานะกายของมูลค่าเท่านั้น แต่ยังจับผ้าลินินที่ปริมาณแน่นอน อาทิผ้าลินิน 20 หลา เสมอกับกายของมูลค่าหรือสิ่งสมมูลที่ปริมาณแน่นอน อาทิเสื้อคลุม 1 ตัว

สมการ: „ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว หรือว่า ผ้าลินิน 20 หลามีค่าเป็นเสื้อคลุม 1 ตัว“ สันนิษฐานว่ามีแก่นสารของมูลค่าอยู่ในเสื้อคลุม 1 ตัวเท่ากับในผ้าลินิน 20 หลาพอดี และปริมาณของสินค้าทั้งสองจึงใช้แรงงานเท่ากันหรือเวลาแรงงานเท่ากัน ทว่าเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตผ้าลินิน 20 หลากับเสื้อคลุม 1 ตัวเปลี่ยนไปทุกครั้งที่พลังการผลิตของการถักทอกับการตัดเย็บเปลี่ยน เราควรสืบสวนอิทธิพลที่การเปลี่ยนแปลงนี้มีต่อการแสดงออกเชิงสัมพัทธ์ของขนาดของมูลค่าโดยละเอียด

I. ให้มูลค่าของผ้าลินินเปลี่ยน[4] ขณะที่มูลค่าของเสื้อคลุมคงที่ หากเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตผ้าลินินทวีคูณ อาจเนื่องด้วยการเสียความอุดมสมบูรณ์ในดินเพาะปลูกป่านลินิน มูลค่าของผ้าลินินก็จะทวีคูณ ได้เป็นผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 2 ตัว แทนผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว เพราะบัดนี้เสื้อคลุม 1 ตัวประกอบด้วยเวลาแรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของผ้าลินิน 20 หลา ในทางตรงข้าม หากเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตผ้าลินินหดเหลือครึ่งหนึ่ง อาจเนื่องด้วยกี่ทอผ้าที่ดีขึ้น มูลค่าของผ้าลินินก็จะลดเหลือครึ่งหนึ่ง ดังนั้นบัดนี้: ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 12 ตัว มูลค่าสัมพัทธ์ของสินค้า หรือมูลค่าที่แสดงออกเป็นสินค้า จึงเพิ่มขึ้นและลดลงโดยตรงตามมูลค่าของสินค้า เมื่อมูลค่าของสินค้า คงที่

II. ให้มูลค่าของผ้าลินินคงที่ ขณะที่มูลค่าของเสื้อคลุมเปลี่ยน ภายใต้เงื่อนไขนี้ หากเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตเสื้อคลุมทวีคูณ อาจเนื่องด้วยผลผลิตขนแกะไม่เป็นใจ จะได้เป็นผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 12 ตัว แทนผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว ในทางตรงข้าม หากมูลค่าของเสื้อคลุมลดเหลือครึ่งหนึ่ง ก็จะได้เป็นผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 2 ตัว เมื่อมูลค่าของสินค้า คงที่ มูลค่าสัมพัทธ์ที่แสดงออกเป็นสินค้า จึงเพิ่มขึ้นและลดลงผกผันกับการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของ

เปรียบเทียบกรณีที่ I และ II ปรากฏว่าขนาดของมูลค่าสัมพัทธ์สามารถเปลี่ยนในทิศเดียวกันจากสาเหตุตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัวกลายเป็น: 1) ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 2 ตัว เพราะมูลค่าของผ้าลินินทวีคูณ หรือเพราะมูลค่าของเสื้อคลุมลดลงครึ่งหนึ่ง และ 2) ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 12 ตัว เพราะมูลค่าของผ้าลินินลดลงครึ่งหนึ่ง หรือเพราะมูลค่าของเสื้อคลุมเพิ่มขึ้นสองเท่า

III. ให้ปริมาณแรงงานอันจำเป็นในการผลิตผ้าลินินกับเสื้อคลุมเปลี่ยนพร้อมกันในทิศทางและอัตราส่วนเดียวกัน ในกรณีนี้ ไม่ว่ามูลค่าเปลี่ยนอย่างไร ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 เหมือนเดิม แต่เราจะพบว่ามูลค่าเปลี่ยนเมื่อเอาสินค้าอย่างที่สามที่มูลค่าคงที่มาเปรียบเทียบ หากมูลค่าของสินค้าทั้งหมดขึ้นลงพร้อมกันในอัตราส่วนเดียวกัน มูลค่าสัมพัทธ์ของพวกมันจะคงที่ไม่เปลี่ยน เราจะทราบการเปลี่ยนแปลงจริงของมูลค่าได้จากการขึ้นลงของปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ในเวลาแรงงานเดียวกันเทียบกับแต่ก่อน

IV. ให้เวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตผ้าลินินกับเสื้อคลุม ให้มูลค่าของทั้งสอง เปลี่ยนพร้อมกันในทิศทางเดียวกัน แต่คนละระดับ หรือในทิศตรงข้าม ฯลฯ ส่วนผสมที่เป็นไปได้ทั้งหมดส่งอิทธิพลต่อมูลค่าสัมพัทธ์ของสินค้าอย่างไร พลิกแพลงกรณีที่ I. II. และ III. หาได้โดยง่าย

การแสดงออกเชิงสัมพัทธ์หรือขนาดของมูลค่าสัมพัทธ์จึงไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงจริงของขนาดของมูลค่าอย่างแจ่มแจ้งหรือถี่ถ้วน มูลค่าสัมพัทธ์ของสินค้าอาจเปลี่ยนแม้มูลค่าคงที่ มูลค่าสัมพัทธ์อาจคงที่แม้มูลค่าเปลี่ยน และสุดท้าย ทั้งขนาดของมูลค่าและการแสดงออกเชิงสัมพัทธ์อาจเปลี่ยนพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเลย[5]

3) รูปสมมูล

เห็นแล้วว่า: ในการแสดงออกมูลค่าของสินค้า (ผ้าลินิน) เป็นมูลค่าใช้สอยของสินค้า อีกชนิด (เสื้อคลุม) สินค้าอย่างแรกประทับรูปมูลค่าอันแปลกประหลาดลงบนสินค้าอย่างหลัง คือรูปของสิ่งที่สมมูล สินค้านามว่าผ้าลินินเผยความเป็นมูลค่าของตนออกมาผ่านการนับว่าเสื้อคลุมเสมอกับตนโดยไม่ต้องแปลงเป็นรูปมูลค่าที่ต่างไปจากรูปกาย ในความเป็นจริง ผ้าลินินจึงแสดงความเป็นมูลค่าของตนออกมาผ่านการที่เสื้อคลุมแลกเปลี่ยนกับตนได้โดยตรง รูปสมมูลของสินค้าจึงเป็นรูปที่แลกเปลี่ยนได้โดยตรงกับสินค้าอีกอย่าง

เมื่อสินค้าชนิดหนึ่ง เช่นเสื้อคลุม ทำหน้าที่เป็นสิ่งสมมูลของสินค้าอีกชนิดหนึ่ง เช่นผ้าลินิน เสื้อคลุมก็จะได้สมบัติลักษณะเฉพาะมาในรูปของการแลกเปลี่ยนได้โดยตรงกับผ้าลินิน ด้วยการนี้ไม่ได้กำหนดแต่อย่างใดว่าเสื้อคลุมกับผ้าลินินนั้นแลกเปลี่ยนกันในอัตราส่วนใด แต่ขึ้นกับขนาดของมูลค่าของเสื้อคลุม เพราะขนาดของมูลค่าของผ้าลินินถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่ว่าจะแสดงออกเสื้อคลุมเป็นสิ่งสมมูลและผ้าลินินเป็นมูลค่าสัมพัทธ์ หรือกลับกัน ผ้าลินินเป็นสิ่งสมมูลและเสื้อคลุมเป็นมูลค่าสัมพัทธ์ก็ตาม ขนาดของมูลค่าของเสื้อคลุมยังคงกำหนดผ่านเวลาแรงงานอันจำเป็นในการผลิตดังก่อน ฉะนั้นไม่ขึ้นกับรูปมูลค่าที่เป็น แต่ในการแสดงออกมูลค่า ทันทีที่สินค้าชนิดเสื้อคลุมดำรงตำแหน่งเป็นสิ่งสมมูล ขนาดของมูลค่าของเสื้อคลุมไม่มีเหลือที่แสดงออกเป็นขนาดของมูลค่าแล้ว แต่มีรูปร่างเป็นเพียงปริมาณที่แน่นอนของสิ่งของอย่างหนึ่งในสมการมูลค่า

ตัวอย่างเช่น: ผ้าลินิน 40 หลามี „ค่า“ —— เป็นอะไร? เสื้อคลุม 2 ตัว เพราะในนี้ สินค้าชนิดเสื้อคลุมแสดงบทบาทเป็นสิ่งสมมูล ต่อผ้าลินิน มูลค่าใช้สอยของเสื้อคลุมนับเป็นกายของมูลค่า เสื้อคลุมปริมาณแน่นอนเท่าหนึ่งก็เพียงพอที่จะแสดงออกปริมาณของมูลค่าที่แน่นอนเท่าหนึ่งของผ้าลินิน เสื้อคลุมสองตัวจึงสามารถแสดงออกขนาดของมูลค่าของผ้าลินิน 40 หลาได้ แต่ไม่มีทางแสดงออกขนาดของมูลค่าของตัวเอง ก็คือของเสื้อคลุม การรับรู้อย่างผิวเผินถึงข้อเท็จจริงว่า ในสมการมูลค่า สิ่งสมมูลอยู่ในรูปของปริมาณที่เรียบง่ายของสิ่งของอย่างหนึ่งหรือมูลค่าใช้สอยอย่างหนึ่งเสมอ ทำให้เบย์ลีย์ เหมือนผู้มาก่อนและหลังเขาหลายคน หลงผิดมองแค่ความสัมพันธ์เชิงปริมาณในการแสดงออกมูลค่า รูปสมมูลของสินค้าทว่าไม่ครอบคลุมการกำหนดมูลค่าเชิงปริมาณเลย

ความแปลกประหลาดขั้นแรกที่ประจักษ์เมื่อพิจารณารูปสมมูลคือ: มูลค่าใช้สอยกลายเป็นรูปปรากฏของสิ่งตรงข้ามมัน ของมูลค่า

รูปธรรมชาติของสินค้ากลายเป็นรูปมูลค่า แต่สังเกตว่าเกิดการสับสนปนกันแบบนี้กับสินค้า (เสื้อคลุม ข้าวสาลี เหล็ก ฯลฯ) ข้างในความสัมพันธ์มูลค่าที่มีกับสินค้า อย่างอื่นอย่างใดเท่านั้น (ผ้าลินิน ฯลฯ) ในความสัมพันธ์นี้เท่านั้น และเพราะไม่มีสินค้าใดมีความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สมมูลกับตัวเองได้ จึงไม่สามารถใช้เนื้อหนังธรรมชาติตัวเองแสดงออกมูลค่าตัวเอง ต้องมีความสัมพันธ์กับสินค้าอื่นที่เป็นสิ่งสมมูล หรือทำเนื้อหนังธรรมชาติของสินค้าอื่นให้เป็นรูปมูลค่าของตัวเอง

เราจะอธิบายด้วยตัวอย่างของหน่วยวัดของกายสินค้าที่เป็นกายสินค้า คือเป็นมูลค่าใช้สอย ก้อนน้ำตาลหนัก เพราะเป็นกาย ฉะนั้นมีน้ำหนัก แต่เราไม่เห็นและไม่สามารถสัมผัสน้ำหนักของก้อนน้ำตาลได้ เราเอาเหล็กมาหลาย ๆ ก้อน แต่ละก้อนเรากำหนดน้ำหนักไว้แล้ว เมื่อพิจารณารูปกายของเหล็กโดยตัวเอง ก็เป็นรูปปรากฏของสิ่งที่หนักไม่น้อยไปกว่ารูปกายของก้อนน้ำตาล แต่ถึงอย่างนั้น เพื่อแสดงออกน้ำตาลในฐานะสิ่งที่หนัก เราวางมันในความสัมพันธ์น้ำหนักกับเหล็ก ในความสัมพันธ์นี้ เหล็กนับเป็นกายซึ่งไม่ได้แทนอะไรนอกจากสิ่งที่หนัก ปริมาณของเหล็กจึงทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดน้ำหนักของน้ำตาล และแสดงต่อกายของน้ำตาลเป็นเพียงร่างที่หนัก หรือรูปปรากฏของสิ่งที่หนัก เหล็กแสดงบทบาทนี้ในความสัมพันธ์นี้เท่านั้น ในความสัมพันธ์กับน้ำตาล หรือกับกายอื่นใดที่จะหาน้ำหนัก หากสองสิ่งนี้ไม่หนัก ก็มีความสัมพันธ์นี้ไม่ได้ และอย่างหนึ่งจึงไม่สามารถทำหน้าที่แสดงออกสิ่งที่หนักของอีกอย่างได้ ถ้าเราโยนทั้งสองลงบนตาชั่ง เราจะเห็นว่าความจริงแล้วเป็นสิ่งที่หนักเหมือนกัน และจึงมีน้ำหนักเท่ากันในอัตราส่วนจำเพาะ กายของเหล็กในฐานะหน่วยวัดน้ำหนัก ต่อก้อนน้ำตาล แทนเพียงสิ่งที่หนัก เช่นเดียวกัน กายของเสื้อคลุมในการแสดงออกมูลค่าของเรา ต่อผ้าลินิน แทนเพียงมูลค่า

ทว่าแนวเทียบนั้นจบลงตรงนี้ ในการแสดงออกน้ำหนักของก้อนน้ำตาล เหล็กมาแทนสมบัติธรรมชาติที่กายทั้งสองมี คือสิ่งที่หนัก —— ขณะที่ในการแสดงออกมูลค่าของผ้าลินิน เสื้อคลุมมาแทนสมบัติเหนือธรรมชาติของทั้งสอง คือมูลค่า ซึ่งเป็นสิ่งทางสังคมล้วน ๆ

การที่รูปมูลค่าสัมพัทธ์ของสินค้า อาทิผ้าลินิน แสดงความเป็นมูลค่าออกมาเป็นสิ่งที่แตกต่างจากกายและสมบัติของมันโดยสิ้นเชิง อาทิเป็นสิ่งที่เสมอกับเสื้อคลุม บ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์ทางสังคมแฝงเร้นอยู่ ตรงกันข้ามกับรูปสมมูล อันประกอบด้วยการที่กายสินค้าเช่นเสื้อคลุมเองนั้น ดังที่ดำเนินไปและตั้งอยู่ แสดงออกมูลค่า จึงมีรูปมูลค่าโดยธรรมชาติ จริงว่านี่ถูกเฉพาะในความสัมพันธ์มูลค่าที่ผ้าลินินมีความสัมพันธ์กับเสื้อคลุมในฐานะสิ่งสมมูลเท่านั้น[6] แต่เพราะสมบัติของสิ่งหนึ่งไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์ที่มีกับอีกสิ่ง เพียงแต่มีฤทธิ์ในความสัมพันธ์นั้น จึงดูเหมือนว่าเสื้อคลุมมีรูปสมมูลหรือสมบัติการแลกเปลี่ยนได้โดยตรงมาโดยธรรมชาติ ไม่น้อยไปกว่าสมบัติความหนักหรือการรักษาความอบอุ่น ดังนั้นเองคือปริศนาของรูปสมมูล ซึ่งเพิ่งจะเตะตาหยาบ ๆ แบบกระฎุมพีของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองเมื่อเขาเผชิญในรูปแบบสำเร็จเป็นเงินตราเท่านั้น เขาจึงพยายามอธิบายแก้ปมลักษณะเร้นลับของทองกับเงินด้วยการยัดสินค้าที่ระยิบระยับน้อยกว่ามาแทนที่ แล้วร่ายบัญชีรายชื่อสินค้าชั้นต่ำซึ่งเคยแสดงบทบาทเป็นสินค้าสมมูลในยุคของมันด้วยความยินดีปรีดาสดใหม่เสมอ หารู้ไม่ว่าการแสดงออกมูลค่าแบบเรียบง่ายที่สุด เช่นผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว ได้แสดงปมปริศนาของรูปสมมูลให้เราแก้แล้ว

กายของสินค้าซึ่งทำหน้าที่เป็นสิ่งสมมูลนับเป็นการปรากฏกายของแรงงานมนุษย์นามธรรมเสมอ และเป็นผลผลิตของแรงงานรูปธรรมอันมีประโยชน์ที่จำเพาะเสมอ แรงงานรูปธรรมนี้จึงกลายเป็นการแสดงออกของแรงงานมนุษย์นามธรรม เสื้อคลุมเป็นต้น หากนับเป็นเพียงแรงงานมนุษย์นามธรรมที่กลายเป็นจริง การตัดเย็บ ซึ่งตามจริงกลายเป็นจริงในเสื้อคลุม ก็จะนับเป็นเพียงรูปที่แรงงานมนุษย์นามธรรมกลายเป็นจริง ในการแสดงออกมูลค่าของผ้าลินิน ประโยชน์ของการตัดเย็บไม่ได้ประกอบด้วยการผลิตเสื้อผ้า ฉะนั้นผู้คน แต่ด้วยการผลิตกายหนึ่งที่เราเห็นเป็นมูลค่า ฉะนั้นเป็นวุ้นของแรงงานซึ่งแยกไม่ออกโดยสิ้นเชิงจากแรงงานที่กลายเป็นวัตถุในมูลค่าผ้าลินิน เพื่อที่จะผลิตกระจกสะท้อนมูลค่าเยี่ยงนั้น การตัดเย็บเองต้องไม่สะท้อนสิ่งใดเลยนอกจากสมบัตินามธรรมของตน คือการเป็นแรงงานมนุษย์

มีการใช้จ่ายพลังแรงงานมนุษย์ไป ทั้งในรูปของการตัดเย็บและในรูปของการถักทอ ทั้งสองจึงมีสมบัติร่วมกันว่าเป็นแรงงานมนุษย์ และในบางกรณี อาทิในการผลิตมูลค่า จึงอาจต้องพิจารณาจากมุมมองนี้เท่านั้น ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรเร้นลับ ทว่าในการแสดงออกมูลค่าของสินค้า สิ่งนี้จะบิดเบี้ยว เพื่อแสดงออกว่ามูลค่าของผ้าลินินเป็นต้นไม่ได้สร้างขึ้นผ่านการถักทอในรูปเชิงรูปธรรมของการถักทอ แต่ผ่านสมบัติร่วมกันของการเป็นแรงงานมนุษย์ การตัดเย็บ แรงงานรูปธรรมซึ่งผลิตสิ่งสมมูลของผ้าลินิน จะประจันหน้ากับการถักทอในฐานะแรงงานมนุษย์นามธรรมที่กลายเป็นจริงซึ่งจับต้องได้

ดังนั้น ความแปลกประหลาดขั้นที่สองของรูปสมมูลคือ แรงงานรูปธรรมกลายเป็นรูปปรากฏของสิ่งตรงข้ามมัน ของแรงงานมนุษย์นามธรรม

แต่เพราะแรงงานรูปธรรมนี้ คือการตัดเย็บ นับเป็นเพียงการแสดงออกของแรงงานมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกัน จึงอยู่ในรูปที่เสมอกับแรงงานอื่น เช่นแรงงานข้างในผ้าลินิน เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นแรงงานเอกชนเหมือนแรงงานอื่นทั้งหมดที่ผลิตสินค้า แต่ก็เป็นแรงงานในรูปทางสังคมโดยตรง ด้วยเหตุนี้เอง จึงแสดงตัวอยู่ในผลผลิต ซึ่งแลกเปลี่ยนได้โดยตรงกับสินค้าอื่น ดังนั้น ความแปลกประหลาดขั้นที่สามของรูปสมมูลคือ แรงงานเอกชนกลายเป็นรูปของสิ่งตรงข้ามมัน ของแรงงานในรูปทางสังคมโดยตรง

เราจะเข้าใจความแปลกประหลาดทั้งสองที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาได้ง่ายขึ้น หากวกกลับไปหานักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ ผู้วิเคราะห์รูปมูลค่าเป็นคนแรก อีกทั้งรูปความคิด รูปสังคม และรูปธรรมชาติอีกมากมาย นามว่าอาริสโตเติล

ในขั้นแรก อาริสโตเติลกล่าวไว้อย่างชัดเจน ว่ารูปเงินตราของสินค้าเป็นเพียงร่างที่พัฒนาขั้นไปอีกขั้นของรูปมูลค่าแบบเรียบง่าย กล่าวคือการแสดงออกมูลค่าของสินค้าอย่างหนึ่งเป็นสินค้าอย่างอื่นอย่างใดตามอำเภอใจ เขากล่าวว่า:
„เตียง 5 ตัว บ้าน 1 หลัง“ („Κλίναι πέντε ἀντὶ οἰκίας“)
„ไม่แตกต่าง“ จาก:
„เตียง 5 ตัว เงินตราเท่าใดเท่าหนึ่ง“
(„Κλίναι πέντε ἀντὶ … ὅσου αἱ πέντε κλίναι“)

เขาพิเคราะห์ต่อว่า ความสัมพันธ์มูลค่าซึ่งมีการแสดงออกมูลค่าดังนี้จะตั้งเงื่อนไขกับตัวเอง ว่าบ้านเสมอกับเตียงในเชิงคุณภาพ และสิ่งของที่แตกต่างกันทางโลกเหล่านี้ไม่สามารถสัมพันธ์กันในฐานะขนาดที่ตวงวัดเทียบกันได้หากไร้ซึ่งความเสมอภาคในเชิงสารัตถะเยี่ยงนั้น „การแลกเปลี่ยน“ เขากล่าว „เป็นไปไม่ได้หากไร้ซึ่งความเสมอภาค ทว่าความเสมอภาคเป็นไปไม่ได้ หากไร้ซึ่งความสามารถตวงวัดเทียบกันได้“ („οὔτ’ ἰσοτης μὴ οὔσης συμμετρίας“) แต่ถึงนี่แล้ว เขากลับตัดจบ และเลิกวิเคราะห์รูปมูลค่าต่อ „ทว่าแท้จริงแล้วไม่น่าเป็นไปได้ („τῇ μὲν οὖν ἀληθείᾳ ἀδύνατον“) ที่สิ่งของต่างชนิดจะสามารถตวงวัดเทียบกันได้“ คือมีคุณภาพเหมือนกัน ความเสมอกันนี้พิลึกเกินจะเป็นธรรมชาติแท้จริงของมัน จึงเป็นแค่ „การแก้ขัดตามจำเป็นในทางปฏิบัติ“

ดังนั้น อาริสโตเติลเองบอกเราว่าเขาล้มเหลวที่จะเดินหน้าวิเคราะห์ต่อเพราะขาดมโนทัศน์ของมูลค่า อะไรหรือที่เท่ากัน อะไรหรือเป็นแก่นสารที่มีร่วมกัน บ้านแสดงเป็นอะไรให้กับเตียงหรือ ในการแสดงออกมูลค่าของเตียง? อาริสโตเติลบอกว่าสิ่งนี้ „แท้จริงไม่มีอยู่“ ทำไมเล่า? บ้านแสดงเป็นสิ่งที่เสมอกันให้กับเตียง ตราบที่แสดงเป็นสิ่งที่เสมอกันจริง ๆ ในทั้งสองอย่าง ทั้งในเตียงและบ้าน สิ่งนี้คือ —— แรงงานมนุษย์

แต่อาริสโตเติลอ่านจากรูปมูลค่าไม่ออก ว่าในรูปมูลค่าสินค้า แรงงานทั้งปวงแสดงออกเป็นแรงงานมนุษย์ที่เท่ากัน และจึงนับว่าเสมอกัน เพราะสังคมกรีกตั้งอยู่บนแรงงานทาส จึงมีรากฐานธรรมชาติบนความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ และฉะนั้นของพลังแรงงานมนุษย์

ความลับของการแสดงออกมูลค่า กล่าวคือความเสมอภาคและความชอบเท่ากันของแรงงานทั้งปวง เพราะและตราบที่เป็นแรงงานมนุษย์โดยทั่วไป จึงสามารถไขออกมาได้ต่อเมื่อมโนทัศน์ความเท่าเทียมกันของมนุษย์คงอยู่มั่นคงสถาพรแล้วไม่แพ้อคติเดียดฉันท์ที่ยังมีอยู่แพร่หลาย แต่จะเป็นเช่นนั้นได้เฉพาะในสังคมที่รูปสินค้าเป็นสากลรูปของผลผลิตแรงงาน และฉะนั้นเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในฐานะผู้ครอบครองสินค้าเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ครอบงำอยู่เท่านั้น อัจฉริยภาพของอาริสโตเติลเฉิดฉายจากการค้นพบความสัมพันธ์เสมอภาคในการแสดงออกมูลค่าของสินค้านั่นเอง เพียงสันดอนทางประวัติศาสตร์ของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ขวางกั้นการเสาะหาว่า „แท้จริง“ ความสัมพันธ์เสมอภาคนี้ประกอบด้วยอะไร

4. องค์รวมของรูปมูลค่าแบบเรียบง่าย

รูปมูลค่าแบบเรียบง่ายของสินค้าอยู่ในความสัมพันธ์มูลค่าที่มีกับสินค้าอีกชนิด หรือในความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกับสินค้าอีกชนิด มูลค่าของสินค้า แสดงออกเชิงคุณภาพผ่านความสามารถแลกเปลี่ยนสินค้า กับสินค้า ได้โดยตรง และแสดงออกเชิงปริมาณผ่านความสามารถแลกเปลี่ยนสินค้า ในปริมาณที่แน่นอนกับสินค้า ได้ปริมาณหนึ่ง กล่าวได้ว่า: มูลค่าของสินค้าแสดงออกโดยอิสระผ่านการแสดงตัวเองเป็น „มูลค่าแลกเปลี่ยน“ เมื่อตอนต้นบท เราพูดในภาษาชาวบ้านว่า: สินค้าเป็นมูลค่าใช้สอยกับมูลค่าแลกเปลี่ยน แต่ถ้าพูดให้เที่ยง ตอนนั้นเราผิด สินค้าเป็นมูลค่าใช้สอยหรือวัตถุใช้สอย กับ „มูลค่า“ สินค้าแสดงตัวเองเป็นทั้งคู่ที่เป็น ทันทีที่มูลค่าของมันมีรูปปรากฏแตกต่างไปจากรูปธรรมชาติของตน นั่นคือมูลค่าแลกเปลี่ยน และไม่มีทางมีรูปนี้หากพิจารณาโดยลำพัง แต่เฉพาะในความสัมพันธ์มูลค่าหรือความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกับสินค้าที่สองอีกชนิดเท่านั้น อย่างไรก็ดีเมื่อทราบแล้ว พูดแบบนั้นก็ไม่เสียหาย ถือว่าเพื่อให้รวบรัด

บทวิเคราะห์ของเราพิสูจน์ว่า รูปมูลค่าหรือการแสดงออกมูลค่าของสินค้าเกิดจากธรรมชาติของมูลค่าสินค้า ไม่ใช่ว่ามูลค่าและขนาดของมูลค่าเกิดจากวิถีการแสดงออกเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยน อย่างหลังทว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อที่ลัทธิพาณิชยนิยมและพวกที่เอามันมาอุ่นซ้ำอย่างแฟรีเย กานีล ฯลฯ[7] กับพวกพ่อค้าเร่ขายการค้าเสรีสมัยใหม่ฝ่ายตรงข้ามอย่างบัสตียาและผองเพื่อนเชื่อ[f] พวกพาณิชยนิยมให้น้ำหนักกับแง่มุมเชิงปริมาณของการแสดงออกมูลค่าเป็นหลัก ฉะนั้นกับรูปสมมูลของสินค้า สำเร็จรูปเป็นเงินตรา —— ในส่วนของพวกหาบเร่แผงลอยการค้าเสรีสมัยใหม่ พวกนี้ต้องเทขายสินค้าที่ราคาใดก็ได้ จึงให้น้ำหนักกับแง่มุมเชิงปริมาณของรูปมูลค่าสัมพัทธ์ สำหรับพวกเขาเหล่านี้ ไม่สินค้าไม่มีมูลค่า ก็ไม่มีขนาดของมูลค่าอยู่ภายนอกการแสดงออกผ่านความสัมพันธ์แลกเปลี่ยน ฉะนั้นมีอยู่บนใบรายการกระแสราคารายวันเท่านั้น แมคลาวด์ ชาวสกอตผู้ได้ประดิดประดอยมโนทัศน์ไขว้เขวของถนนลอมบาร์ดให้เป็นวิชาการมากที่สุดเท่าที่จะทำได้[g] ในการนั้นเขาเป็นส่วนผสมที่ครบสูตรระหว่างพวกพาณิชยนิยมงมงายกับพวกเร่ขายการค้าเสรีผู้ตรัสรู้

การใคร่ครวญอย่างละเอียดถึงการแสดงออกมูลค่าของสินค้า ซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์มูลค่าที่มีกับสินค้า บ่งชี้ว่าภายในความสัมพันธ์นั้น รูปธรรมชาติของสินค้า นับเป็นร่างของมูลค่าใช้สอยเท่านั้น ส่วนรูปธรรมชาติของสินค้า นับเป็นรูปมูลค่าหรือร่างของมูลค่าเท่านั้น ความขัดแย้งระหว่างมูลค่าใช้สอยกับมูลค่าที่ห่อหุ้มอยู่ในสินค้าจึงแสดงตัวเองผ่านความขัดแย้งภายนอก คือผ่านความสัมพันธ์ของสินค้าสองอย่าง โดยสินค้าที่จะแสดงออกมูลค่าของตนนับเป็นเพียงมูลค่าใช้สอยโดยตรง ในขณะที่สินค้าอีกอย่างที่มูลค่านั้นจะแสดงออกเป็นมันนับเป็นเพียงมูลค่าแลกเปลี่ยนโดยตรง ดังนั้น รูปมูลค่าแบบเรียบง่ายจึงเป็นรูปปรากฏแบบเรียบง่ายของความขัดแย้งระหว่างมูลค่าใช้สอยกับมูลค่าที่มีอยู่ในสินค้า

ในทุกสภาวะของสังคม ผลผลิตแรงงานเป็นวัตถุใช้สอย แต่เฉพาะบางยุคสมัยการพัฒนาทางประวัติศาสตร์เท่านั้นที่แสดงแรงงานซึ่งใช้จ่ายไปในการผลิตสิ่งของใช้สอยเป็นสมบัติ „เชิงวัตถุ“ ของสิ่งนั้น กล่าวคือมูลค่า แล้วแปลงร่างผลผลิตแรงงานเป็นสินค้า ด้วยเหตุนี้ แปลว่ารูปมูลค่าแบบเรียบง่ายของสินค้าในขณะเดียวกันคือรูปสินค้าแบบเรียบง่ายของผลผลิตแรงงาน และจึงแปลว่าพัฒนาการของรูปสินค้าก็เกิดขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของรูปมูลค่าเช่นกัน

เพียงชำเลืองมองก็จะเห็นความบกพร่องของรูปมูลค่าแบบเรียบง่าย ของคัพภรูปซึ่งต้องเจริญวัยเป็นรูปราคาเสียก่อน ผ่านการเปลี่ยนสัณฐานเป็นลำดับ

การแสดงออกเป็นสินค้า อย่างใดอย่างหนึ่ง แยกมูลค่าออกจากมูลค่าใช้สอยของของสินค้า เพียงเท่านั้น และจึงวางมันในความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างชนิดอีกเพียงชนิดเดียว แทนที่จะแสดงถึงความเสมอภาคเชิงคุณภาพและอัตราส่วนเชิงปริมาณที่มีกับสินค้าอื่น ๆ ทั้งปวง รูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบเรียบง่ายของสินค้าอย่างหนึ่งสอดคล้องเป็นเอกเทศกับรูปสมมูลของสินค้าอีกเพียงหนึ่งอย่าง ในการแสดงออกมูลค่าเชิงสัมพัทธ์ของผ้าลินิน เสื้อคลุมจึงอยู่ในรูปสมมูลหรือรูปที่แลกเปลี่ยนได้โดยตรงเป็นเอกเทศกับสินค้าชนิดผ้าลินินเท่านั้น

ขณะเดียวกัน รูปมูลค่าแบบเอกเทศเปลี่ยนผ่านไปยังรูปที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยตัวเอง จริงที่มูลค่าของสินค้า ในรูปนี้แสดงออกเป็นสินค้าอีกเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ทว่าสินค้าอย่างที่สองจะเป็นชนิดใด ไม่ว่าเสื้อคลุม เหล็ก ข้าวสาลี ฯลฯ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์มูลค่ากับสินค้าชนิดนี้หรือชนิดนั้น ก็ปรากฏเป็นการแสดงออกมูลค่าแบบเรียบง่ายในแบบต่าง ๆ ของสินค้าอย่างเดียวกัน[8][h] จำนวนของการแสดงออกมูลค่าที่เป็นไปได้จำกัดที่จำนวนของชนิดของสินค้าที่แตกต่างกันเท่านั้น การแสดงออกมูลค่าที่ปลีกย่อยจึงแปรสภาพเป็นลำดับของการแสดงออกมูลค่าแบบเรียบง่ายในแบบต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มขยายได้เสมอ

B. รูปมูลค่าแบบรวมหรือขยาย
สินค้า หน่วย สินค้า หน่วย หรือ สินค้า หน่วย หรือ สินค้า หน่วย หรือ สินค้า หน่วย หรือ ฯลฯ
(ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว หรือ ชา 10 ปอนด์ หรือ กาแฟ 40 ปอนด์ หรือ ข้าวสาลี 1 ควาร์เทอร์ หรือ ทองคำ 2 ออนซ์ หรือ เหล็ก 12 ตัน หรือ ฯลฯ)

1. รูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบขยาย

มูลค่าของสินค้า เช่นผ้าลินิน ตอนนี้แสดงออกเป็นสมาชิกของโลกแห่งสินค้าเหลือคณานับ กายสินค้าอื่นทั้งปวงกลายเป็นกระจกของมูลค่าผ้าลินิน[9] มูลค่าเองจึงปรากฏอย่างแท้จริงเป็นวุ้นของแรงงานมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกันเท่านั้น เพราะแรงงานซึ่งสร้างมันขึ้นมาตอนนี้แสดงแจ่มแจ้งเป็นแรงงานที่เสมอกับแรงงานมนุษย์อื่น ๆ ทั้งปวง ไม่ว่ามีรูปธรรมชาติเป็นอย่างไร ไม่ว่ากลายเป็นวัตถุในเสื้อคลุมหรือข้าวสาลีหรือเหล็กหรือทองคำ ฯลฯ ตอนนี้ ด้วยรูปมูลค่า ผ้าลินินไม่ได้อยู่แต่ในความสัมพันธ์ทางสังคมกับสินค้าอื่นเพียงหนึ่งชนิดอีกต่อไปแล้ว แต่กับทั้งโลกแห่งสินค้า และเป็นพลเมืองของโลกใบนั้นในฐานะสินค้า ขณะเดียวกัน ในลำดับของการแสดงออกอันยาวเหยียดนั้น มูลค่าของสินค้าไม่สนว่าตัวจะปรากฏในรูปจำเพาะของมูลค่าใช้สอยใด

ในรูปแรก: ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว อาจจะจริงว่าสินค้าทั้งสองบังเอิญแลกเปลี่ยนกันได้ในอัตราส่วนเชิงปริมาณที่แน่นอน ทว่าในรูปที่สอง พื้นหลังซึ่งแตกต่างเชิงสารัตถะจากการปรากฏแบบบังเอิญ แต่ก็เป็นตัวกำหนดของมัน กลับสาดส่องออกมาในทันที มูลค่าของผ้าลินินมีขนาดเท่าเดิม ไม่ว่าแสดงเป็นเสื้อคลุมหรือกาแฟหรือเหล็ก ฯลฯ หรือสินค้าที่แตกต่างกันนับไม่ถ้วนของผู้ครอบครองสุดหลากหลาย ความสัมพันธ์โดยบังเอิญระหว่างผู้ครอบครองสินค้าสองคนตกไป ชัดเจนว่าการแลกเปลี่ยนไม่ได้กำหนดขนาดของมูลค่าของสินค้า แต่เป็นขนาดของมูลค่าของสินค้าที่กำหนดอัตราส่วนแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

2. รูปสมมูลจำเพาะ

สินค้าทั้งปวง เสื้อคลุม ชา ข้าวสาลี เหล็ก ฯลฯ นับเป็นสิ่งสมมูลในการแสดงออกมูลค่าของผ้าลินิน และฉะนั้นนับเป็นกายของมูลค่า รูปธรรมชาติที่จำเพาะของสินค้าแต่ละอย่าง ตอนนี้เป็นรูปสมมูลที่จำเพาะ พร้อมกันกับสินค้าอื่นทั้งปวง เช่นเดียวกัน แรงงานนานาชนิดที่มีประโยชน์ รูปธรรม และจำเพาะซึ่งมีอยู่ในกายของสินค้าอันหลากหลาย ตอนนี้นับเป็นรูปของการกลายเป็นจริง- หรือรูปปรากฏที่จำเพาะของแรงงานมนุษย์เอง ซึ่งหลากหลายไม่แพ้กัน

3. ความบกพร่องของรูปมูลค่าแบบรวมหรือขยาย

ประการแรก การแสดงออกมูลค่าเชิงสัมพัทธ์ของสินค้าไม่สมบูรณ์ เพราะลำดับการแสดงไม่มีวันจบ ต่อโซ่สมการมูลค่าได้เรื่อย ๆ ด้วยสินค้าชนิดใหม่ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นวัสดุสำหรับการแสดงออกมูลค่าแบบใหม่ ประการที่สอง เป็นโมเสกหลากสีของการแสดงออกมูลค่าหลายชนิดอย่างสะเปะสะปะ ประการสุดท้าย ถ้ามูลค่าสัมพัทธ์ของสินค้าแต่ละอย่างแสดงออกในรูปขยาย รูปมูลค่าสัมพัทธ์ของสินค้าแต่ละอย่างก็จะเป็นลำดับการแสดงออกมูลค่าไม่รู้จบ ซึ่งล้วนแตกต่างจากรูปมูลค่าสัมพัทธ์ของสินค้าอื่น ๆ ด้วยกัน และจำต้องเป็นเช่นนั้น —— ความบกพร่องของรูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบขยายสะท้อนในรูปสมมูลที่สอดคล้อง เพราะรูปธรรมชาติของสินค้าแต่ละชนิดเป็นรูปสมมูลจำเพาะ พร้อมกันกับรูปสมมูลจำเพาะของสินค้าอื่น ๆ นับไม่ถ้วน โดยทั่วไปจึงมีเพียงรูปสมมูลที่จำกัดซึ่งล้วนมีความเฉพาะตัวจากกัน เช่นเดียวกัน แรงงานชนิดที่มีประโยชน์ รูปธรรม และจำเพาะซึ่งมีอยู่ในสินค้าสมมูลจำเพาะ เป็นเพียงแรงงานที่จำเพาะ และจึงไม่ใช่รูปปรากฏของแรงงานมนุษย์ที่ครบถ้วน จริงอยู่ที่การตีวงรวบรวมรูปปรากฏที่จำเพาะเป็นรูปปรากฏของแรงงานมนุษย์ที่เบ็ดเสร็จและสมบูรณ์ แต่เช่นนั้นแรงงานมนุษย์จะไม่มีรูปปรากฏเป็นเอกรูป

อย่างไรก็ดี รูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบขยายประกอบจากผลรวมของการแสดงออกมูลค่าสัมพัทธ์แบบเรียบง่าย หรือสมการในรูปแบบแรกเท่านั้น เช่น:
ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว
ผ้าลินิน 20 หลา ชา 10 ปอนด์ ฯลฯ

แต่ สมการทั้งหมดนี้ยังบ่งถีงสมการเดียวกันสะท้อนกลับ:
เสื้อคลุม 1 ตัว ผ้าลินิน 20 หลา
ชา 10 ปอนด์ ผ้าลินิน 20 หลา ฯลฯ

ในความเป็นจริง: เวลาใครแลกเปลี่ยนผ้าลินินของตนกับสินค้าอื่น ๆ อีกมาก และฉะนั้นแสดงออกมูลค่าของผ้าลินินเป็นลำดับของสินค้าอื่น ๆ จำเป็นที่ผู้ครอบครองสินค้าคนอื่น ๆ อีกมากจะต้องแลกเปลี่ยนสินค้าของตนกับผ้าลินิน และฉะนั้นแสดงออกมูลค่าของสินค้าที่หลากหลายเป็นสินค้าอย่างที่สามอย่างเดียวกัน คือผ้าลินิน —— แล้วหากเราสลับด้านลำดับ: ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว หรือ ชา 10 ปอนด์ หรือ ฯลฯ กล่าวคือ หากเราแสดงออกความสัมพันธ์สะท้อนซึ่งมีอยู่แล้วโดยปริยายในลำดับดังกล่าว เราจะได้:

C. รูปมูลค่าทั่วไป
เสื้อคลุม 1 ตัว ผ้าลินิน 20 หลา
ชา 10 ปอนด์
กาแฟ 40 ปอนด์
ข้าวสาลี 1 ควาร์เทอร์
ทองคำ 2 ออนซ์
เหล็ก ½ ตัน
สินค้า หน่วย
สินค้า ฯลฯ
1. ลักษณะที่เปลี่ยนไปของรูปมูลค่า

ตอนนี้สินค้าแสดงมูลค่าเป็น 1) แบบเรียบง่าย เพราะแสดงเป็นสินค้าอีกหนึ่งอย่าง และ 2) เป็นเอกรูป เพราะแสดงเป็นสินค้าอย่างเดียวกัน รูปมูลค่าของสินค้าเป็นแบบเรียบง่ายและมีร่วมกัน จึงเป็นแบบทั่วไป

ทั้งรูป I และรูป II สุดแค่แสดงออกมูลค่าของสินค้าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากมูลค่าใช้สอยหรือกายสินค้าของตน

รูปแรกให้สมการมูลค่าดังนี้: เสื้อคลุม 1 ตัว ผ้าลินิน 20 หลา ชา 10 ปอนด์ เหล็ก 12 ตัน ฯลฯ มูลค่าเสื้อคลุมแสดงออกเป็นสิ่งที่เสมอกับผ้าลินิน มูลค่าชาแสดงออกเป็นสิ่งที่เสมอกับเหล็ก การแสดงออกมูลค่าของเสื้อคลุมกับชาแตกต่างกันเหมือนผ้าลินินกับเหล็ก เห็นได้ชัดว่ารูปนี้ปรากฏในทางปฏิบัติเฉพาะในตอนต้น ที่ผลผลิตแรงงานแปลงเป็นสินค้าผ่านการแลกเปลี่ยนที่บังเอิญและเป็นครั้งคราว

รูปที่สองแยกมูลค่าออกจากมูลค่าใช้สอยของสินค้าได้สมบูรณ์กว่ารูปแรก เพราะมูลค่าของเสื้อคลุมเป็นต้น ตอนนี้เผชิญหน้ากับรูปธรรมชาติของตัวเองในรูปที่เป็นไปได้ทั้งหมด ในรูปของสิ่งที่เสมอกับผ้าลินิน สิ่งที่เสมอกับเหล็ก สิ่งที่เสมอกับชา ฯลฯ เป็นสิ่งอื่นทั้งหมดเว้นแต่สิ่งที่เสมอกับเสื้อคลุม ในอีกด้านหนึ่ง นี่จะกีดกันไม่ให้สินค้าทั้งปวงมีการแสดงออกมูลค่าร่วมกันโดยตรง เพราะในการแสดงออกมูลค่าของสินค้าแต่ละอย่าง สินค้าอื่นทั้งหมดจะปรากฏตัวแต่ในรูปของสิ่งสมมูล รูปมูลค่าแบบขยายปรากฏขึ้นจริงครั้งแรกครั้นผลผลิตแรงงานอย่างหนึ่ง อาทิโคกระบือ หยุดแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นตามโอกาส แต่แลกเปลี่ยนกันเป็นกิจวัตรแล้ว

รูปที่ได้มาใหม่แสดงออกมูลค่าของโลกแห่งสินค้าเป็นสินค้าชนิดหนึ่งชนิดเดียวกันอย่างสันโดษ เช่นผ้าลินิน และจึงแสดงมูลค่าของสินค้าทั้งปวงผ่านความเสมอกับผ้าลินิน มูลค่าของสินค้าทั้งปวงในฐานะที่เสมอกับผ้าลินินใช่แตกต่างจากมูลค่าใช้สอยของตนเท่านั้น แต่ยังแตกต่างจากมูลค่าใช้สอยของสินค้าทั้งหมด และด้วยการนี้แสดงออกเป็นสิ่งที่สินค้าทั้งปวงมีร่วมกัน จึงมีรูปนี้เท่านั้นที่เทียบสัมพันธ์สินค้าด้วยกันในฐานะมูลค่าจริง ๆ หรือให้สินค้าปรากฎต่อกันในฐานะมูลค่าแลกเปลี่ยน

ทั้งสองรูปก่อนหน้าแสดงออกมูลค่าของสินค้าอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเป็นสินค้าต่างชนิดเพียงหนึ่งชนิด หรือเป็นลำดับของสินค้าที่แตกต่างกันจำนวนมาก ทั้งสองกรณีเป็นธุระส่วนตัวของสินค้าปัจเจกที่จะหารูปมูลค่ามาให้ตัวเองก็ว่าได้ และทำได้โดยไม่ต้องพึ่งสินค้าอื่นซึ่งเล่นแค่บทบาทฝ่ายรับเป็นสิ่งสมมูล ในทางกลับกัน รูปมูลค่าทั่วไปเป็นการร่วมกันทำงานของโลกแห่งสินค้า สินค้าอย่างหนึ่งมีการแสดงออกมูลค่าแบบทั่วไปเพียงเพราะในขณะเดียวกันนั้นเอง สินค้าอื่นทั้งหมดแสดงออกมูลค่าเป็นสิ่งสมมูลอย่างเดียวกัน และสินค้าที่เกิดขึ้นใหม่ทุกชนิดจำต้องทำตาม ด้วยการนั้นเป็นที่ประจักษ์ว่าวัตถุภาวะมูลค่าของสินค้า เพราะเป็นเพียง „การมีอยู่ทางสังคม“ ของสิ่งนั้น สามารถแสดงออกผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมทั่วสารทิศเท่านั้น รูปมูลค่าจึงต้องเป็นรูปที่ใช้ได้ทางสังคม

สินค้าทั้งปวงในรูปที่เสมอกับผ้าลินิน ตอนนี้ใช่แค่ปรากฏเสมอกันเชิงคุณภาพ คือเป็นมูลค่าโดยทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันยังปรากฏเป็นขนาดของมูลค่าที่เปรียบเทียบกันเชิงปริมาณได้ เพราะสินค้าสะท้อนขนาดของมูลค่าในวัสดุอันหนึ่งอันเดียวกัน คือผ้าลินิน ขนาดของมูลค่าจึงสะท้อนซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น ชา 10 ปอนด์ ผ้าลินิน 20 หลา และ กาแฟ 40 ปอนด์ ผ้าลินิน 20 หลา ดังนั้น ชา 10 ปอนด์ กาแฟ 40 ปอนด์ หรือว่ามีแก่นสารของมูลค่า คือแรงงาน อยู่ในกาแฟ 1 ปอนด์เพียง 14 เท่าของที่มีอยู่ในชา 1 ปอนด์

รูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบทั่วไปของโลกแห่งสินค้าประทับลักษณะของสิ่งสมมูลแบบทั่วไปให้สินค้าสมมูลเฉพาะอย่าง คือผ้าลินิน ซึ่งรูปธรรมชาติเป็นร่างของมูลค่าที่โลกใบนั้นมีร่วมกัน ผ้าลินินจึงแลกเปลี่ยนได้โดยตรงกับสินค้าอื่นทั้งหมด รูปกายของผ้าลินินนับเป็นอวตารที่มองเห็นได้ เป็นระยะดักแด้ทางสังคมของแรงงานมนุษย์ทั้งปวงโดยทั่วกัน ในขณะเดียวกัน แรงงานเอกชนที่ผลิตผ้าลินินหรือว่าการถักทออยู่ในรูปทางสังคมทั่วไป คือรูปที่เสมอกับแรงงานอื่นทั้งหมด สมการจำนวนนับไม่ถ้วนที่ประกอบรูปมูลค่าทั่วไปจับแรงงานที่กลายเป็นจริงในผ้าลินินเสมอกับแรงงานที่มีอยู่ในสินค้าอื่นทั้งหมด และทำให้การถักทอกลายเป็นรูปปรากฏทั่วไปของแรงงานมนุษย์โดยทั่วไปด้วยการนั้น ในทางเดียวกัน แรงงานซึ่งกลายเป็นวัตถุในมูลค่าสินค้าใช่เพียงแต่แสดงเป็นแรงงานเชิงลบ ซึ่งเพิกจากรูปเชิงรูปธรรมและสมบัติอันมีประโยชน์ของแรงงานจริง ธรรมชาติเชิงบวกของแรงงานก้าวออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ว่าเป็นการลดทอนแรงงานจริงทั้งปวงเป็นลักษณะที่มีร่วมกันของแรงงานมนุษย์ คือเป็นการใช้จ่ายพลังแรงงานมนุษย์

รูปมูลค่าทั่วไป ซึ่งแสดงผลผลิตแรงงานเป็นเพียงวุ้นของแรงงานมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกัน ด้วยขอบข่ายของตน ชี้ว่าตนเป็นการแสดงออกทางสังคมของโลกแห่งสินค้า และจึงเปิดเผยว่าข้างในโลกใบนั้น ลักษณะความเป็นมนุษย์ทั่วไปของแรงงานประกอบสร้างลักษณะทางสังคมที่จำเพาะของมัน

2. ความสัมพันธ์ทางพัฒนาการระหว่างรูปมูลค่าสัมพัทธ์กับรูปสมมูล

ระดับความพัฒนาของรูปมูลค่าสัมพัทธ์สอดคล้องกับระดับความพัฒนาของรูปสมมูล แต่น่าสังเกตว่าพัฒนาการของรูปสมมูลเป็นเพียงการแสดงออกและผลลัพธ์ของพัฒนาการของรูปมูลค่าสัมพัทธ์

รูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบเรียบง่ายหรือแบบเอกเทศของสินค้าทำให้สินค้าอีกอย่างกลายเป็นสิ่งสมมูลเป็นเอกเทศ รูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบขยาย หรือการแสดงออกมูลค่าของสินค้าเป็นสินค้าอื่นทั้งหมด ประทับรูปสมมูลจำเพาะที่หลากหลายลงบนสินค้าเหล่านั้น ท้ายที่สุด สินค้าชนิดจำเพาะชนิดหนึ่งอยู่ในรูปสมมูลทั่วไป เพราะสินค้าอื่นทั้งหมดทำให้สินค้าชนิดนั้นกลายเป็นวัสดุสำหรับรูปมูลค่าที่เป็นเอกรูปและทั่วไป

ทว่าในระดับเดียวกันที่รูปมูลค่าเองพัฒนา ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองขั้วของรูปมูลค่าก็พัฒนาขึ้นไป คือรูปมูลค่าสัมพัทธ์กับรูปสมมูล

ในรูปแรก —— ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว —— ก็มีความขัดแย้งอยู่แล้วแต่ยังไม่ตายตัว สินค้าทั้งสองขั้ว คือผ้าลินินกับเสื้อคลุม สามารถอยู่ในรูปมูลค่าสัมพัทธ์และรูปสมมูลอย่างเท่า ๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าอ่านสมการด้านเดิมหรือกลับด้าน แต่ในที่นี้ยังยากที่จะกุมความขัดแย้งเชิงขั้วได้

ในรูป II สินค้าขยายรูปมูลค่าสัมพัทธ์ให้ครบถ้วนได้ทีละชนิดเท่านั้นเสมอ หรือมันเองเท่านั้นที่อยู่ในรูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบขยาย เพราะและตราบที่สินค้าอื่นทั้งหมดอยู่ในรูปสมมูลต่อสินค้าดังกล่าว ในที่นี้ เราไม่สามารถสับเปลี่ยนด้านสมการมูลค่าได้อีกต่อไป —— เช่นผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว หรือ ชา 10 ปอนด์ หรือ ข้าวสาลี 1 ควาร์เทอร์ ฯลฯ —— โดยไม่เปลี่ยนลักษณะโดยรวม แล้วแปรสภาพจากรูปมูลค่าแบบรวมกลายเป็นรูปมูลค่าแบบทั่วไป

รูปสุดท้าย รูป III ท้ายที่สุดได้มอบรูปมูลค่าสัมพัทธ์ทั่วไปทางสังคมให้โลกแห่งสินค้า เพราะและตราบที่สินค้าทั้งหมดที่ขึ้นกับมัน โดยมีข้อยกเว้นหนึ่งข้อ ถูกกีดกันจากรูปสมมูลทั่วไป สินค้าเช่นผ้าลินินจึงอยู่ในรูปที่แลกเปลี่ยนได้โดยตรงกับสินค้าอื่นทั้งหมด หรืออยู่ในรูปทางสังคมโดยตรง เพราะและตราบที่สินค้าอื่นทั้งหมดไม่อยู่ในรูปเดียวกัน[10][i]

ในทางกลับกัน สินค้าซึ่งแสดงเป็นสิ่งสมมูลทั่วไปถูกกีดกันจากรูปมูลค่าสัมพัทธ์ที่เป็นเอกรูปและทั่วไปของโลกแห่งสินค้า หากผ้าลินิน หรือสินค้าที่อยู่ในรูปสมมูลทั่วไป มีส่วนในรูปมูลค่าสัมพัทธ์ทั่วไปด้วยพร้อมกัน ก็ต้องทำหน้าที่เป็นสิ่งสมมูลให้ตัวเอง เราจะได้: ผ้าลินิน 20 หลา ผ้าลินิน 20 หลา เป็นสัจนิรันดร์ซึ่งไม่แสดงออกแม้มูลค่าหรือขนาดของมูลค่า หากจะแสดงออกมูลค่าเชิงสัมพัทธ์ของสิ่งสมมูลทั่วไป ก็ต้องทำกลับรูป III แทน สิ่งสมมูลทั่วไปไม่มีรูปมูลค่าสัมพัทธ์ร่วมกับสินค้าอื่น แต่แสดงออกมูลค่าของตนในเชิงสัมพัทธ์เป็นลำดับไม่รู้จบของกายสินค้าอื่นทั้งหมด รูปมูลค่าสัมพัทธ์แบบขยายหรือรูป II ตอนนี้จึงปรากฏเป็นรูปมูลค่าสัมพัทธ์จำเพาะของสินค้าสมมูล

3. การเปลี่ยนผ่านจากรูปมูลค่าทั่วไปไปรูปเงินตรา

รูปสมมูลทั่วไปเป็นรูปของมูลค่ารูปหนึ่ง สินค้าใดก็มาเป็นได้ แต่สินค้าดังกล่าวอยู่ในรูปสมมูลทั่วไปได้เพียงเท่านั้น (รูป III) เพราะและตราบที่สินค้าอื่นทั้งหมดกีดกันให้เป็นสิ่งสมมูล และเมื่อกีดกันจนในที่สุดเล็มเหลือสินค้าชนิดจำเพาะชนิดหนึ่งเท่านั้น รูปมูลค่าสัมพัทธ์ที่เป็นเอกรูปของโลกแห่งสินค้าจึงจะตายตัวเชิงวัตถุและใช้ได้ทางสังคมโดยทั่วไป

สินค้าชนิดจำเพาะชนิดนั้น เมื่อรูปธรรมชาติเชื่อมติดทางสังคมกับรูปสมมูล กลายเป็นสินค้าเงินตรา หรือทำงานเป็นเงินตรา การเล่นบทบาทเป็นสิ่งสมมูลทั่วไปในโลกแห่งสินค้า กลายเป็นหน้าที่ทางสังคมเฉพาะของมัน และจึงผูกขาดทางสังคม เก้าอี้พิเศษตัวนี้ท่ามกลางสินค้าทั้งหลาย ที่ในรูป II มีรูปร่างเป็นสิ่งสมมูลจำเพาะต่าง ๆ ของผ้าลินิน และที่รูปมูลค่าสัมพัทธ์ต่าง ๆ ในรูป III แสดงออกด้วยกันเป็นผ้าลินิน สินค้าชนิดหนึ่งนั่งครองตำแหน่งนี้มาตลอดทั้งประวัติศาสตร์ คือทองคำ ดังนั้น หากเราแทนที่สินค้านามว่าผ้าลินินด้วยสินค้านามว่าทองคำในรูป III เราจะได้:

D. รูปเงินตรา
เสื้อคลุม 1 ตัว ทองคำ 2 ออนซ์
ชา 10 ปอนด์
กาแฟ 40 ปอนด์
ข้าวสาลี 1 ควาร์เทอร์
ทองคำ 2 ออนซ์
เหล็ก ½ ตัน
สินค้า หน่วย
สินค้า ฯลฯ

ในการเปลี่ยนผ่านจากรูป I ไปรูป II จากรูป II ไปรูป III เกิดการเปลี่ยนผันขั้นพื้นฐาน แต่ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างรูป IV กับรูป III เสียแต่ทองคำอยู่ในรูปสมมูลทั่วไปแทนผ้าลินิน ทองคำในรูป IV เหมือนผ้าลินินในรูป III —— คือสิ่งสมมูลทั่วไป ความก้าวหน้าเพียงกอปรด้วยการที่ตอนนี้ รูปธรรมชาติจำเพาะของสินค้านามว่าทองคำ ผ่านกิจวัตรทางสังคม เชื่อมติดอย่างเสร็จเด็ดขาดกับรูปที่แลกเปลี่ยนได้โดยตรงโดยทั่วไป หรือรูปสมมูลทั่วไป

ทองคำเผชิญหน้าสินค้าอื่นในฐานะเงินตราเพียงเพราะเคยเผชิญหน้าในฐานะสินค้ามาก่อน ทองคำเคยทำหน้าที่เป็นสิ่งสมมูลเหมือนสินค้าอื่นทั้งนั้น จะเป็นสิ่งสมมูลเอกเทศในการแลกเปลี่ยนเป็นเอกเทศก็ดี หรือเป็นสิ่งสมมูลจำเพาะพร้อมกันกับสินค้าสมมูลอื่น ๆ ก็ดี ทีละเล็กละน้อย ทำหน้าที่เป็นสิ่งสมมูลทั่วไปในวงที่แคบและกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ทันทีที่สามารถผูกขาดตำแหน่งในการแสดงออกมูลค่าของโลกแห่งสินค้าได้ ก็กลายเป็นสินค้าเงินตรา และทันทีที่กลายเป็นสินค้าเงินตราแล้วเท่านั้น รูป IV ถึงจะแตกต่างจากรูป III และแปรสภาพจากรูปมูลค่าทั่วไปกลายเป็นรูปเงินตรา

การแสดงออกมูลค่าสัมพัทธ์แบบเรียบง่ายของสินค้าอย่างหนึ่ง เช่นผ้าลินิน เป็นสินค้าซึ่งทำหน้าที่สินค้าเงินตราแล้ว เช่นทองคำ คือรูปราคา ดังนั้น „รูปราคา“ ของผ้าลินินคือ:
ผ้าลินิน 20 หลา ทองคำ 2 ออนซ์
หรือหากตีตราทองคำ 2 ออนซ์เป็นเหรียญสเตอร์ลิง 2 ปอนด์
ผ้าลินิน 20 หลา 2 ปอนด์สเตอร์ลิง

การทำความเข้าใจรูปเงินตรายากที่การทำความเข้าใจรูปสมมูลทั่วไป หรือรูปมูลค่าทั่วไปโดยรวม คือรูป III รูป III คลายตัวย้อนกลับเป็นรูป II หรือรูปมูลค่าแบบขยาย ซึ่งประกอบขึ้นจากรูป I: ผ้าลินิน 20 หลา เสื้อคลุม 1 ตัว หรือ สินค้า หน่วย สินค้า หน่วย รูปมูลค่าแบบเรียบง่ายจึงเป็นคัพภะของรูปเงินตรา


  1. มีนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนที่สนใจวิเคราะห์รูปมูลค่า เช่นซามูเอล เบย์ลีย์ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ประการแรก เพราะสับสนรูปมูลค่ากับมูลค่า ประการที่สอง ใต้อิทธิพลหยาบกร้านของกระฎุมพีปฏิบัตินิยม จึงจ้องแต่ความแน่นอนเชิงปริมาณตั้งแต่ต้น „การกำหนดปริมาณ .... ประกอบมูลค่า“. („Money and its Vicissitudes“. ลอนดอน 1837, หน้า 11). ผู้เขียน ซามูเอล เบย์ลีย์.
  2. หมายเหตุในฉบับที่ 2 หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์คนแรกหลังวิลเลียม เพตตี ที่มองทะลุธรรมชาติของมูลค่าคือแฟรงคลินผู้เรืองนาม เขากล่าวว่า: „เพราะการค้าโดยทั่วไปใช่สิ่งใดแค่การแลกเปลี่ยนแรงงานหนึ่งกับแรงงานอื่น มูลค่าของทุกสิ่งวัดได้เที่ยงที่สุดด้วยแรงงาน“ („The Works of B. Franklin etc., edited by Sparks“) บอสตัน 1836, เล่ม II, หน้า 267.) แฟรงคลินไม่ทันตระหนักว่าเมื่อวัดมูลค่าของสรรพสิ่ง „ด้วยแรงงาน“ แล้ว เขายังได้เพิกจากความแตกต่างระหว่างแรงงานที่แลกเปลี่ยนกัน —— และจึงลดทอนเหลือเป็นแรงงานมนุษย์เสมอกัน แม้ไม่ทันทราบแต่เขาก็กล่าวออกมา แรกพูดถึง „ของแรงงานหนึ่ง“ แล้วจากนั้น „ของแรงงานอื่น“ และลงท้ายด้วย „แรงงาน“ ไม่เสริมคำขยาย โดยเป็นแก่นสารของมูลค่าของทุกสิ่ง
  3. ในแง่หนึ่ง มนุษย์เป็นไปเหมือนสินค้า ไม่ได้อุบัติบนโลกมาพร้อมกระจก หรือเป็นนักปรัชญาแนวฟิชเทอว่าฉันคือฉัน มนุษย์สะท้อนตัวเองในมนุษย์คนอื่นก่อน ด้วยความสัมพันธ์กับมนุษย์เพาล์ในฐานะผู้เสมอกันก่อน มนุษย์เพเทอร์ถึงสัมพันธ์กับตนเองในฐานะมนุษย์ แต่ด้วยการนี้ เพาล์ ผิวหนังและเส้นผมของเพาล์ เพาล์ในรูปขันธ์ของเพาล์ กลายเป็นรูปปรากฏของสปีชีส์มนุษย์สำหรับเพเทอร์
  4. คำว่า „มูลค่า“ ตรงนี้ ดังที่ปรากฏประปรายก่อนหน้านี้ ใช้หมายถึงมูลค่าที่ปริมาณแน่นอน ฉะนั้นหมายถึงขนาดของมูลค่า
  5. หมายเหตุในฉบับที่ 2 เศรษฐศาสตร์แบบหยาบใช้ไหวพริบที่คุ้นกันดีฉวยประโยชน์จากความไม่สอดคล้องกันระหว่างขนาดของมูลค่ากับการแสดงออกเชิงสัมพัทธ์ เช่น: „เมื่อยอมรับว่า A ตกเพราะ B ซึ่งแลกเปลี่ยนกันมันขึ้น แม้ในขณะที่ A ไม่ได้ใช้แรงงานน้อยลง แล้วหลักการมูลค่าทั่วไปของคุณก็จะพังครืน … หากยอมรับว่าเมื่อมูลค่าของ A เพิ่มขึ้นเทียบกับ B แล้วมูลค่าของ B ลดลงเทียบกับ A รากฐานที่ค้ำยันประพจน์ยิ่งใหญ่ของริคาร์โด ว่ามูลค่าของสินค้ากำหนดโดยปริมาณของแรงงานที่ใส่ไปเสมอ จะหักสะบั้น เพราะเมื่อการเปลี่ยนแปลงต้นทุนของ A ไม่เพียงเปลี่ยนแต่มูลค่าของตัวเองในความสัมพันธ์กับ B ที่แลกเปลี่ยนกัน แต่ยังเปลี่ยนมูลค่าของ B เทียบกับ A แม้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณแรงงานที่ต้องใช้ผลิต B แล้วใช่แค่หลักนั้นที่พังครืน ที่ยืนยันว่าปริมาณของแรงงานที่ใช้ในสิ่งหนึ่งกำกับมูลค่าของมัน แต่หลักว่าต้นทุนการผลิตกำกับมูลค่าของสิ่งหนึ่งเช่นกัน“ (จอห์น บรอดเฮิสต์: „Political Economy“, ลอนดอน 1842, หน้า 11, 14.)
    นายบรอดเฮิสต์กล่าวได้ไม่ต่างกันว่า: หากเราพิจารณาอัตราส่วนของตัวเลข 1020, 1050, 10100 ฯลฯ เลข 10 คงที่ไม่เปลี่ยน แต่ถึงอย่างนั้น ขนาดตามสัดส่วน หรือขนาดเทียบกับตัวหาร 20, 50, 100 กลับลดลงไปเรื่อย ๆ หลักการอันยิ่งใหญ่ว่าขนาดของจำนวนเต็ม 10 ถูก „กำกับ“ โดยจำนวนของเลขหนึ่งที่มีอยู่ข้างใน จึงพังครืน
  6. การกำหนดโดยการสะท้อนแบบนี้เป็นสิ่งที่เฉพาะตัวอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น มนุษย์คนหนึ่งเป็นกษัตริย์เพราะมนุษย์คนอื่นทำตัวเป็นไพร่ของเขาเท่านั้น กลับกัน มนุษย์พวกนี้คิดว่าตนเป็นไพร่เพราะเขาคนนั้นเป็นกษัตริย์
  7. หมายเหตุในฉบับที่สอง ฟร็องซัว-หลุยส์-โอกุสต์ แฟรีเย (ผู้ช่วยเจ้าพนักงานศุลกากร): „Du Gouvernement considéré dans ses rapports avec le commerce. Paris 1805“ และชาร์ล กานีล: „Des systèmes de l'Économie Politique. 2ème éd. Paris 1821.“
  8. หมายเหตุในฉบับที่ 2 ตัวอย่างเช่นในโฮเมอร์ มูลค่าของสิ่งหนึ่งแสดงออกเป็นสิ่งที่แตกต่างกันเป็นแถว
  9. เพราะฉะนั้น เราเอ่ยถึงมูลค่า-เสื้อคลุมของผ้าลินินเมื่อเราแสดงมูลค่าของผ้าลินินเป็นเสื้อคลุม หรือมูลค่า-ธัญพืชเมื่อเราแสดงมูลค่านั้นเป็นธัญพืช ฯลฯ การแสดงออกเหล่านี้ล้วนบอกว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นมูลค่าใช้สอยเช่นเสื้อคลุม ธัญพืช ฯลฯ คือมูลค่าของผ้าลินิน „มูลค่าของสินค้าใด ๆ ที่ระบุความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนของตน เราเรียกมันได้ว่า . . . . . . . มูลค่า-ธัญพืช มูลค่า-ผ้า ตามสินค้าที่เอามาเปรียบเทียบ จึงมีมูลค่าแตกต่างกันเป็นพันชนิด มีมากเท่าสินค้าที่มีอยู่ และทั้งหมดเป็นทั้งมูลค่าที่แท้จริงและมูลค่าที่ตราไว้พอ ๆ กัน“ („A Critical Dissertation on the Nature, Measure and Causes of Value: chiefly in reference to the writings of Mr. Ricardo and his followers. By the Author of Essays on the Formation etc. of Opinions. London 1825“, หน้า 39.) ซามูเอล เบย์ลีย์ ผู้เขียนงานนิรนามชิ้นนี้ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนไปไม่น้อยที่อังกฤษในสมัยนั้น หลงเชื่อว่าเขาได้บดขยี้การกำหนดมโนทัศน์มูลค่าทั้งหมด ด้วยการชี้ถึงความละลานตาของการแสดงออกเชิงสัมพัทธ์ของมูลค่าสินค้าเดียวกัน แต่กระนั้น ความคับแคบของเขาก็ดี หยั่งถึงตำหนิร้ายแรงของทฤษฎีแบบริคาร์โด ดังพิสูจน์ได้จากความฉุนเฉียวที่สำนักริคาร์โดใช้โจมตีกลับ อาทิในเวสต์มินสเตอร์รีวิว
  10. ในความเป็นจริง จากรูปที่แลกเปลี่ยนได้โดยตรงโดยทั่วไป เรามองไม่ออกเลยว่าเป็นรูปมูลค่าที่ขัดแย้งกัน ซึ่งแยกไม่ออกจากรูปที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้โดยตรง ไม่ต่างจากขั้วบวกกับขั้วลบของแม่เหล็กที่แยกจากกันไม่ได้ เราจึงอาจเพ้อฝันว่าเราสามารถประทับตราให้สินค้าทั้งปวงแลกเปลี่ยนกันได้โดยตรงในเวลาเดียวกันได้ เช่นเดียวกับที่เราอาจเพ้อฝันว่าเราสามารถอภิเษกคาทอลิกทุกคนขึ้นเป็นพระสันตปาปาได้ แน่นอนว่าสำหรับกระฎุมพีน้อย ผู้มองเห็นจุดสุดยอดของเสรีภาพมนุษย์และอิสรภาพของปัจเจกในการผลิตสินค้า ย่อมพึงปรารถนาให้ปลดเปลื้องปมด้อยที่พัวพันกับรูปนี้ออก คือการที่สินค้าไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้โดยตรง จิตรกรรมภาพยูโทเปียไร้ปัญญาเช่นนี้คือสังคมนิยมของพรูดง ผมชี้ให้เห็นในที่อื่นแล้วว่าไม่มีแม้อานิสงส์ของความเป็นต้นฉบับ แต่เกรย์ เบรย์ กับคนอื่น ๆ พัฒนาไว้ก่อนเขานานแล้วอย่างดีกว่าโข แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางไม่ให้เรียกความรู้แบบนี้ว่า „วิทยาศาสตร์“ อย่างแพร่หลายเช่นทุกวันนี้ในบางวงการ ไม่เคยมีสำนักคิดไหนใช้คำว่า „วิทยาศาสตร์“ ได้ทิ้งขว้างไปกว่าของพรูดง เพราะ
    „เมื่อปราศจากมโนทัศน์
    คำศัพท์จะปรับตัวได้ทันการ“


  1. ส่วนนี้พาดพิงบทละครเชคสเปียร์ พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ตอนที่ 1 องก์ที่ 3 ฉาก 3 ที่ตัวละครสองตัว Mistress Quickly และ John Falstaff ด่าทอกัน คำว่า have สื่อความหมายสองแง่สองง่าม:

    Fal. Setting thy womanhood aside, thou art
    a beast to say otherwise.
    (ถ้าไม่นับว่าเป็นหญิง ก็เป็นแค่สัตว์)
    Host. Say, what beast, thou knave thou?
    (บอกมา สัตว์อะไร? ไอ้คนโกง)
    Fal. What beast! why, an otter.
    (สัตว์อะไรรึ! ตัวนากน่ะสิ)
    Prince. An otter, Sir John! why, an otter?
    (ตัวนาก เซอร์ จอห์น! ทำไมเป็นตัวนาก?)
    Fal. Why? she's neither fish nor flesh; a
    man knows not where to have her.
    (ทำไมเหรอ? ก็ไม่ใช่ทั้งปลาทั้งเนื้อ ไม่มีใครรู้กินได้ตรงไหนบ้าง)
    Host. Thou art an unjust man in saying so:
    thou or any man knows where to have me, thou
    knave thou!
    (พูดอย่างนี้เลวดีแท้ เธอหรือใครก็รู้ดีว่ากินฉันได้ตรงไหน ไอ้ขี้โกง!)

    (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. "ด้วยการกำหนดปริมาณคือสิ่งที่ประกอบมูลค่า จะต้องใช้สินค้าเอกรูปหนึ่งปริมาณแน่นอนเท่าหนึ่งเป็นหน่วยวัดมูลค่า" Bailey, Samuel (1837). Money and Its Vicissitudes in Value. น. 11. The command of quantity being that which constitutes value, a definite quantity of some uniform commodity must be used as a unit to measure value;  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. กรดบิวทิริกและโพรพิลฟอร์เมตมีสูตรโมเลกุลเดียวกัน (C4H8O2) แต่มีโครงสร้างโมเลกุลต่างกัน (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. หมายถึงเครื่องแต่งกายทหารและราชวงศ์ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. "ปารีสมีค่าพอให้ร่วมมิสซา" ข้อความที่อ้างว่ากล่าวโดยพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส หมายถึง ยอมเปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิกแลกกับการได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์ที่ปารีส (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. หมายถึง François-Louis-Auguste Ferrier, Charles Ganilh และ Frédéric Bastiat (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. หมายถึง Henry Dunning Macleod กับ Lombard Street ที่ลอนดอน เป็นถนนที่โด่งดังเกี่ยวกับธุรกิจการค้า ธนาคาร และประกันภัย คล้ายวอลสตรีตของนครนิวยอร์ก (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  8. ในหมายเหตุนี้ มาคส์กล่าวถึงข้อความใน อีเลียด เล่ม 7 บรรทัดที่ 472 ถึง 475 อ้างอิง Lundquist, Jacob (2019). Reading Marx Reading Homer. น. 49.  (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. หมายถึง Pierre-Joseph Proudhon, John Gray และ John Francis Bray (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

{{สัญญาอนุญาตงานแปล | {{สาธารณสมบัติ-เก่า}} | {{CC-BY-SA-4.0}} }}