ผู้ใช้:Thastp/ทุน เล่ม 1/1/4
{{หัวเรื่องงานแปล <!-- ข้อมูลหลัก --> | ชื่อ = ทุน เล่ม 1 | ศักราช = ค.ศ.| ปี = 1890 | ภาษา = de | ต้นฉบับ = Das Kapital. Band I | ผู้สร้างสรรค์ = คาร์ล มาคส์| บรรณาธิการ = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ส่วน = บทที่ 1: โภคภัณฑ์| ผู้มีส่วนร่วม = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ก่อนหน้า = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/v|สารบัญ]]| ถัดไป = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/2|บทที่ 2: กระบวนการแลกเปลี่ยน]] | หมายเหตุ = <!-- ข้อมูลย่อย (สำหรับจัดระเบียบหรือเชื่อมโยงไปหน้าอื่น) --> | หมวดหมู่ = | แก้กำกวม = | รุ่น = | สถานีย่อย = | ผู้สร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง = | วิกิพีเดีย = | คอมมอนส์ = | หมวดหมู่คอมมอนส์ = | วิกิคำคม = | วิกิข่าว = | วิกิพจนานุกรม = | วิกิตำรา = | วิกิห้องสมุด = | วิกิสนเทศ = | วิกิท่องเที่ยว = | วิกิวิทยาลัย = | วิกิสปีชีส์ = | เมทา = }}
แวบแรก สินค้าดูเหมือนสิ่งของพื้น ๆ ที่ประจักษ์ชัดในตัว วิเคราะห์แล้วกลับแสดงว่าเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อน เปี่ยมไปด้วยความหยุมหยิมทางอภิปรัชญาและความตลบตะแลงทางเทววิทยา สินค้าไม่มีอะไรเร้นลับเท่าที่เป็นมูลค่าใช้สอย ไม่ว่าผมจะพิจารณาจากมุมมองว่าสนองความต้องการมนุษย์ด้วยสมบัติของตน หรือว่าได้สมบัติเหล่านี้มาแต่แรกในฐานะผลผลิตของแรงงานมนุษย์ เห็นอยู่ทนโท่ว่ามนุษย์ทำการดัดแปลงรูปของวัสดุธรรมชาติในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตน รูปของไม้เป็นต้นเมื่อทำเป็นโต๊ะก็จะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี โต๊ะยังคงเป็นไม้ ยังคงเป็นสิ่งของธรรมดาที่สัมผัสได้ แต่ทันใดที่ก้าวขึ้นเป็นสินค้า ตัวเองแปรสภาพเป็นสิ่งเหนือสัมผัสที่สัมผัสได้ ขาไม่ได้ตั้งแค่บนพื้น แต่กลับตัวกลับหัวต่อสินค้าอื่นทั้งหมด และพัฒนาความคิดชอบกลด้วยสมองเนื้อไม้ พิสดารยิ่งกว่าหากโต๊ะเริ่มเต้นเองตามอำเภอใจ[1][a]
ลักษณะเร้นลับของสินค้าจึงไม่ได้เกิดจากมูลค่าใช้สอย และก็ไม่ได้เกิดจากเนื้อหาของการกำหนดมูลค่า เพราะประการแรก จะมีแรงงานอันมีประโยชน์หรือกิจกรรมการผลิตหลากหลายเพียงใด เป็นความจริงทางสรีรวิทยาว่าล้วนเป็นการทำงานขององคาพยพมนุษย์ ไม่ว่ามีเนื้อหาหรือรูปแบบอย่างไร โดยพื้นฐานแล้วล้วนเป็นการใช้จ่ายของมันสมอง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ อวัยวะรับสัมผัส ฯลฯ ประการที่สอง รากฐานของการกำหนดขนาดของมูลค่า คือระยะเวลาที่ใช้จ่ายหรือปริมาณของแรงงาน ปริมาณนี้เรายิ่งแยกแยะจากคุณภาพของแรงงานได้อย่างชัดเจน เวลาแรงงานที่ใช้ผลิตปัจจัยการยังชีพในทุกสภาวะต้องเกี่ยวพันกับมนุษย์ แต่อาจไม่เท่ากันตามแต่ละระดับของการพัฒนา[2][b] ประการสุดท้าย ทันใดที่มนุษย์ทำงานให้แก่กันด้วยวิถีใดก็ตาม แรงงานของเขาก็จะได้รูปทางสังคมมา
แล้วทันทีที่อยู่ในรูปสินค้า ลักษณะเร้นลับของผลผลิตแรงงานเกิดมาจากไหน? เห็นได้ชัดว่าเกิดจากรูปนี้เอง ความเสมอภาคของแรงงานมนุษย์ได้มีรูปเชิงวัตถุเป็นวัตถุภาวะมูลค่าที่เท่ากันของผลผลิตแรงงาน การวัดการใช้จ่ายพลังแรงงานมนุษย์ด้วยระยะเวลาได้มีรูปเป็นขนาดของมูลค่าของผลผลิตแรงงาน ในที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต ซึ่งทุก ๆ การกำหนดทางสังคมของแรงงานทำการอยู่ภายใต้ ได้มีรูปเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผลผลิตแรงงาน
ความเร้นลับของรูปสินค้าจึงเพียงประกอบด้วยการที่ลักษณะทางสังคมของแรงงานมนุษย์สะท้อนกลับไปยังมนุษย์ในฐานะลักษณะทางวัตถุของผลผลิตแรงงานเอง ในฐานะสมบัติธรรมชาติทางสังคมของสิ่งเหล่านั้น และฉะนั้นความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้ผลิตกับแรงงานรวมจึงสะท้อนกลับเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างวัตถุซึ่งดำรงอยู่ภายนอกพวกเขา ผ่านการสับสนปนกันนี้ ผลผลิตแรงงานกลายเป็นสินค้า คือสิ่งทางสังคมหรือเหนือสัมผัสซึ่งสัมผัสได้ เช่นกับที่แสงจากสิ่งหนึ่งกระทบลงบนประสาทตาแล้วปรากฏเป็นรูปเชิงวัตถุของสิ่งที่อยู่ภายนอกดวงตา แทนที่จะปรากฏเป็นตัวกระตุ้นเชิงจิตวิสัยของประสาทตาเอง ทว่าในการมอง แสงส่องมาจากสิ่งหนึ่งจริง ๆ จากวัตถุภายนอก มายังอีกสิ่งหนึ่ง คือดวงตา เป็นความสัมพันธ์ทางกายภาพระหว่างสิ่งทางกายภาพ ในทางตรงข้าม รูปสินค้า และความสัมพันธ์มูลค่าระหว่างผลผลิตแรงงานที่รูปสินค้าปรากฎอยู่ ไม่เกี่ยวอะไรกับธรรมชาติทางกายภาพและความสัมพันธ์เชิงวัตถุที่เกิดจากมันเลย เป็นแค่ความสัมพันธ์ทางสังคมที่จำเพาะระหว่างมนุษย์เอง ซึ่งสมมุติรูปลวงตามนุษย์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ เพื่อหาแนวเทียบ เราจำต้องโบยบินสู่ดินแดนม่านหมอกของโลกแห่งศาสนา ณ ที่แห่งนี้ ผลผลิตของสมองมนุษย์ดูเหมือนร่างอิสระ มีชีวิตเป็นของตัวเอง ทั้งสัมพันธ์กันเองและสัมพันธ์กับมนุษย์ เช่นเดียวกับผลผลิตของมือมนุษย์ในโลกแห่งสินค้า ผมเรียกสิ่งนี้ว่ามนต์ขลัง ติดหนึบกับผลผลิตของแรงงานทันทีที่ผลิตเป็นสินค้า และจึงแยกไม่ออกจากการผลิตสินค้า
ดังที่วิเคราห์มาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าลักษณะเครื่องรางของขลังของโลกแห่งสินค้าเกิดจากลักษณะทางสังคมอันแปลกประหลาดของแรงงานซึ่งผลิตสินค้า
วัตถุใช้สอยกลายเป็นสินค้าเพียงเพราะเป็นผลผลิตของแรงงานเอกชนที่ดำเนินไปโดยไม่ขึ้นต่อกัน ปมของแรงงานเอกชนเหล่านี้ประกอบกันเป็นแรงงานรวมทางสังคม เพราะผู้ผลิตติดต่อกันทางสังคมผ่านการแลกเปลี่ยนผลผลิตแรงงานเท่านั้น ลักษณะทางสังคมที่จำเพาะของแรงงานเอกชนของเขาจึงปรากฏเฉพาะในการแลกเปลี่ยน หรือในความเป็นจริง แรงงานเอกชนทำตัวเป็นแขนขาของแรงงานรวมทางสังคมผ่านความสัมพันธ์ที่การแลกเปลี่ยนถ่ายโอนผลผลิตแรงงานและผู้ผลิตโดยอาศัยผลผลิตแรงงานเท่านั้น ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างแรงงานเอกชนของผู้ผลิตจึงปรากฏต่อเขาเป็นสิ่งที่มันเป็น กล่าวคือไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางสังคมโดยตรงระหว่างบุคคลในงานของเขาเอง แต่ปรากฎเป็นความสัมพันธ์ทางวัตถุระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสิ่งของมากกว่า
ผลผลิตแรงงานจะได้รับวัตถุภาวะมูลค่า แยกจากวัตถุภาวะประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันและสัมผัสได้ ภายในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น ในทางปฏิบัติ ผลผลิตแรงงานแบ่งตัวออกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับสิ่งของมูลค่าก็ต่อเมื่อแลกเปลี่ยนกันโดยแพร่หลายและสำคัญพอแล้ว จนเมื่อจะผลิตสิ่งที่มีประโยชน์มาแลกเปลี่ยน จึงพิจารณาลักษณะมูลค่าของสิ่งเหล่านั้นในการผลิตไปเลย นับแต่บัดนี้ ในความเป็นจริง แรงงานเอกชนของผู้ผลิตจะมีลักษณะทางสังคมสองทบ ในด้านหนึ่ง จะต้องสนองความต้องการทางสังคมที่จำเพาะในฐานะแรงงานอันมีประโยชน์ที่จำเพาะ และฉะนั้นพิสูจน์ว่าตนเป็นแขนขาหนึ่งของแรงงานรวม ของระบบการแบ่งงานทางสังคมที่งอกขึ้นมาโดยธรรมชาติ ในอีกด้านหนึ่ง จะสนองความต้องการนานัปการของผู้ซึ่งผลิตตน ตราบที่แรงงานเอกชนอันมีประโยชน์ที่จำเพาะต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนกับแรงงานเอกชนอันมีประโยชน์ชนิดอื่นทั้งหมดได้เท่านั้น จึงต้องนับว่าเสมอกัน แรงงานที่แตกต่างกันคนละโลกจะเสมอกันได้ด้วยการเพิกจากความไม่เสมอกันจริงเท่านั้น ด้วยการลดทอนเหลือลักษณะที่มีร่วมกัน คือการเป็นการใช้จ่ายพลังแรงงานมนุษย์ เป็นแรงงานมนุษย์นามธรรม สมองของผู้ผลิตเอกชนสะท้อนลักษณะทางสังคมสองทบของแรงงานเอกชนของตนเพียงแต่ในรูปที่ปรากฏอยู่ในการแลกเปลี่ยนผลผลิตแรงงานในปฏิสัมพันธ์ภาคปฏิบัติ —— ฉะนั้นลักษณะอันมีประโยชน์ทางสังคมของแรงงานเอกชน ในรูปที่ผลผลิตแรงงานต้องมีประโยชน์ และต้องสำหรับผู้อื่นถ้าให้แน่ —— ลักษณะทางสังคมของความเสมอภาคระหว่างแรงงานชนิดต่าง ๆ ในรูปลักษณะมูลค่าที่สิ่งของที่แตกต่างกันทางวัตถุ คือผลผลิตแรงงาน มีร่วมกัน
ดังนั้น มนุษย์ไม่ได้เทียบสัมพันธ์ผลผลิตแรงงานซึ่งกันและกันในฐานะมูลค่าเพราะนับสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกเชิงวัตถุของแรงงานมนุษย์ชนิดเดียวกัน ตรงกันข้าม ด้วยการจับผลผลิตชนิดต่าง ๆ เสมอกันผ่านการแลกเปลี่ยนในฐานะมูลค่าต่างหาก มนุษย์ถึงจับแรงงานชนิดต่าง ๆ เสมอกันในฐานะแรงงานมนุษย์ เขาไม่ทราบ แต่เขาก็ทำ[3] จีงไม่มีจารึกบนหน้าผากของมูลค่าที่บอกว่าตัวมันคืออะไร
- ↑ หากเราจำได้ ทั้งจีนกับโต๊ะเริ่มเต้น เมื่อส่วนที่เหลือของโลกดูหยุดนิ่ง —— เพื่อกระตุ้นที่เหลือ
- ↑ หมายเหตุในฉบับที่ 2 ชาวเยอรมันโบราณวัดพื้นที่ขนาดหนึ่งมอร์เกนด้วยแรงงานในหนึ่งวัน เลยเรียกมอร์เกนอีกชื่อว่าทาคแวร์ค (บ้างก็ทาควันเนอ) (ยัวร์นาเลอ หรือ ยัวร์นาลิส เทรายัวนาลิส ยัวร์นาลิส หรือ ดีออร์นาลิส) มันน์แวร์ค มันส์ครัฟท์ มันส์มาท มันส์เฮาเอิท ฯลฯ ดูที่เกออร์ค ลุทวิช ฟ็อน เมาเรอร์: „Einleitung zur Geschichte der Mark-, Hof-, u. s. w. Verfassung.“ มิวนิก 1859, หน้า 219 และถัดไป.
- ↑ หมายเหตุในฉบับที่ 2 ตอนที่กาเลียนีกล่าวว่า: มูลค่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล —— „La Ricchezza è una ragione tra due persone“ —— เขาจึงควรเสริมว่า: ความสัมพันธ์ในเปลือกหุ้มเชิงวัตถุ (กาเลียนี: Della Moneta, หน้า 220, เล่ม III จากประชุมบทนิพนธ์โดยกุสโตดี „Scrittori Classici Italiani di Economia Politica.“ Parte Moderna. มิลาน 1801.)
- ↑ ในย่อหน้านี้และหมายเหตุนี้ มาคส์พูดถึงการเข้าทรงหมุนโต๊ะ (table-turning) ซึ่งเป็นกระแสเจตนิยมในยุโรปช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1850 และพูดถึงกบฏไท่ผิงในประเทศจีน คำว่า China ในภาษาเยอรมันยังหมายถึงเครื่องถ้วยจีนด้วย (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ทาคแวร์คคือ Tagwerk จาก Tag วัน + Werk งาน (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)