{{หัวเรื่องงานแปล <!-- ข้อมูลหลัก --> | ชื่อ = ทุน เล่ม 1 | ศักราช = ค.ศ.| ปี = 1867 | ภาษา = de | ต้นฉบับ = Das Kapital. Band I | ผู้สร้างสรรค์ = คาร์ล มาคส์| บรรณาธิการ = ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | ส่วน = คำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1| ผู้มีส่วนร่วม = | ก่อนหน้า = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1|หน้าแรก]]| ถัดไป = [[งานแปล:ทุน_เล่ม_1/ii|แด่ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2]] | หมายเหตุ = <!-- ข้อมูลย่อย (สำหรับจัดระเบียบหรือเชื่อมโยงไปหน้าอื่น) --> | หมวดหมู่ = | แก้กำกวม = | รุ่น = | สถานีย่อย = | ผู้สร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง = | วิกิพีเดีย = | คอมมอนส์ = | หมวดหมู่คอมมอนส์ = | วิกิคำคม = | วิกิข่าว = | วิกิพจนานุกรม = | วิกิตำรา = | วิกิห้องสมุด = | วิกิสนเทศ = | วิกิท่องเที่ยว = | วิกิวิทยาลัย = | วิกิสปีชีส์ = | เมทา = }}

คำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1

ผลงานเล่มแรกชิ้นนี้ที่ผมกำลังส่งมอบแก่สาธารณะเป็นภาคต่อจากชิ้นงานของผมที่เผยแพร่ไปเมื่อปี 1859 คือ "ว่าด้วยบทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง" ที่ได้หยุดพักระหว่างปฐมบทกับภาคต่อเป็นเวลานานเพราะอาการป่วยยาวนานหลายปีคอยขัดจังหวะการทำงานของผมครั้งแล้วครั้งเล่า

บทแรกของเล่มนี้เป็นการสรุปเนื้อหาของงานชิ้นก่อนนั้น ไม่ใช่เพื่อให้เข้าใจถึงบริบทหรือเพื่อความสมบูรณ์เพียงเท่านั้น แต่เพื่อบรรยายให้เห็นภาพดีขึ้น และในที่นี้ตราบเท่าที่ภาวะแวดล้อมจะเอื้ออำนวย ก็จะคลายปมหลายประเด็นที่ได้เปรยไว้ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันอะไรที่ขยายความในรายละเอียดไปแล้วก็จะเปรยไว้เท่านั้น จึงได้ละเว้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของทฤษฎีมูลค่าและทฤษฎีเงินตราไว้ทั้งหมด ทว่าผู้ที่ได้อ่านงานชิ้นก่อนไปจะพบว่าในหมายเหตุของบทที่หนึ่งมีการเปิดเผยแหล่งข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของทฤษฎีเหล่านั้นอยู่

การเริ่มต้นยากเสมอ สิ่งนี้เป็นจริงในทุกศาสตร์ทุกวิชา การทำความเข้าใจบทที่หนึ่ง โดยเฉพาะส่วนของบทวิเคราะห์สินค้าย่อมเป็นการยากยิ่ง ผมจึงได้พยายามทำให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ถึงแก่นสารและขนาดของมูลค่าสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด[1] รูปมูลค่านั้น ซึ่งมีสัณฐานพร้อมใช้ในรูปของเงินตรา แสนเรียบง่ายและไร้แก่นสาร แต่กระนั้นก็ดี จิตมนุษย์ได้เสาะแสวงหยั่งถึงมานานกว่า 2,000 ปีโดยสูญเปล่า ในทางตรงกันข้าม กลับสามารถวิเคราะห์รูปซึ่งมีแก่นสารและซับซ้อนยิ่งกว่าได้ใกล้เคียงความสำเร็จเป็นอย่างน้อย ทำไมหรือ? เพราะกายที่พัฒนาแล้วศึกษาได้ง่ายดายกว่าเซลล์ของร่างกาย มากไปกว่านั้น ไม่ว่ากล้องจุลทรรศน์หรือตัวทำปฏิกิริยาเคมีใด ๆ ก็ไม่อำนวยต่อการวิเคราะห์รูปทางเศรษฐกิจ พลังของนามธรรมจำต้องมาแทนที่ทั้งสองอย่างนี้ อย่างไรก็ดีในสังคมกระฎุมพี รูปสินค้าของผลผลิตแรงงานหรือรูปมูลค่าของสินค้าเป็นรูปเซลล์ของเศรษฐกิจ ในสายตาของคนไร้การศึกษา การวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเพียงการเดินวนเวียนอยู่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จริง แต่เป็นในแบบเดียวกันกับวิชาจุลกายวิภาคศาสตร์

ดังนั้น ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับรูปมูลค่า ใครก็ไม่สามารถกล่าวหาว่าหนังสือเล่มนี้เข้าใจยากได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผมจะสมมุติว่าผู้อ่านนั้นต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และจึงสามารถคิดได้เอง

นักฟิสิกส์สังเกตกระบวนการธรรมชาติในรูปแบบที่กระชับและปราศจากอิทธิพลรบกวนน้อยที่สุด หรือหากเป็นไปได้ เขาจะทำการทดลองภายใต้เงื่อนไขที่รับรองว่ากระบวนการจะดำเนินโดยปราศจากมลทิน สิ่งที่ผมจะต้องสำรวจในงานชิ้นนี้คือวิถีการผลิตแบบทุนนิยมกับความสัมพันธ์การผลิตและการแลกเปลี่ยนซึ่งสอดคล้องกับมัน ซึ่งมีทำเลต้นแบบเป็นประเทศอังกฤษตราบจนปัจจุบัน เพราะเหตุนี้ผมจึงใช้มันเป็นนิทัศน์ชิ้นหลักในการพัฒนาทฤษฎี อย่างไรก็ตาม หากผู้อ่านชาวเยอรมันจะยักไหล่ยกตนข่มท่านต่อสภาพที่เป็นอยู่ของกรรมกรภาคเกษตรและอุตสาหกรรมชาวอังกฤษ หรือจะโลกสวยปลอบประโลมใจตัวเองว่าเยอรมนียังไม่ได้เลวร้ายถึงปานนั้น ผมคงต้องตะโกนว่า เด เต ฟาบูลา นาร์ราตูร์![a]

ในและโดยตัวมันเอง คำถามไม่ใช่ว่าปฏิปักษ์ทางสังคมซึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์ธรรมชาติของการผลิตแบบทุนนิยมได้พัฒนามาอยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำกว่าใคร คำถามคือกฎเกณฑ์เหล่านั้นนั่นเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ทำการและบังคับใช้ตัวเองด้วยความจำเป็นอย่างแข็งทื่อ ประเทศที่อุตสาหกรรมเจริญแซงหน้าไปเพียงแสดงให้ประเทศด้อยพัฒนาตามหลังเห็นภาพของตัวเองในอนาคต

แต่นอกเหนือไปจากนี้ ในบ้านเราที่การผลิตแบบทุนนิยมได้ปรับตัวเข้าไปโดยสมบูรณ์แล้ว อาทิในโรงงานของแท้ สภาพนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าในอังกฤษมากเพราะยังขาดกฎหมายโรงงานคอยถ่วงดุล ในบริเวณที่เหลือทั้งหมด เราเจ็บช้ำไม่ต่างไปจากทั่วทั้งยุโรปตะวันตกภาคพื้นทวีป ใช่เพียงแต่การผลิตแบบทุนนิยมที่กำลังขยายตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะความด้อยพัฒนาของมันด้วย ไม่ใช่เฉพาะวิกฤตของยุคสมัยใหม่ เรายังต้องแบกรับมรดกของวิกฤตอีกเป็นพวงที่เกิดจากความสะพรั่งของวิถีการผลิตที่โบราณคร่ำครึ มาพร้อมกับบริวารของความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองซึ่งผิดยุคผิดสมัย เราไม่เพียงต้องทนทุกข์จากความเป็น หากแต่ยังต้องทนจากความตาย เลอ มอร์ แซซี เลอ วิฟ![b]

เทียบกับอังกฤษแล้ว สถิติทางสังคมของเยอรมนีและยุโรปตะวันตกภาคพื้นทวีปที่เหลือนั้นช่างน่าสังเวช อย่างไรก็ดี มันแง้มม่านกว้างพอให้เราเหลือบเห็นหัวเมดูซาที่อยู่เบื้องหลัง เราจะอกสั่นขวัญแขวนต่อสภาพของพวกเราเองถ้ารัฐบาลและรัฐสภาของเราแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ แบบในประเทศอังกฤษ ถ้าคณะกรรมการนี้ถืออำนาจเบ็ดเสร็จในการสืบค้นหาความจริงแบบในประเทศอังกฤษ ถ้าเราสามารถสรรหาผู้ที่เชี่ยวชาญ ไม่ลำเอียง และไร้ปรานีมาเพื่อการนี้ได้ไม่แพ้ผู้ตรวจสอบโรงงาน ผู้รายงานการแพทย์เกี่ยวกับ „พับลิกเฮลท์“ (สาธารณสุข) กรรมาธิการที่สืบสวนการฉวยประโยชน์จากผู้หญิงและเด็ก สภาพทางโภชนาการและเคหสถาน ฯลฯ แบบเดียวกับในประเทศอังกฤษได้ เพอร์ซิอัสสวมหมวกล่องหนเพื่อไล่ล่าอสูรกาย เราสวมหมวกล่องหนเพื่อปิดหูปิดตาปฏิเสธว่าอสูรกายไม่มีอยู่จริง

เราอย่าหลอกตัวเองเลย เช่นเดียวกับที่สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกาในศตวรรษที่ 18 ลั่นระฆังเตือนชนชั้นกลางยุโรป สงครามกลางเมืองอเมริกาในศตวรรษที่ 19 กำลังลั่นระฆังเตือนชนชั้นแรงงานยุโรป กระบวนการปฏิวัติที่อังกฤษอยู่ใกล้แค่เอื้อม เมื่อถึงจุดสุดยอดจุดหนึ่งแล้วย่อมดีดกลับมายังพื้นทวีป ที่นั่นไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบที่โหดเหี้ยมหรือปรานีเพียงใด ขึ้นอยู่กับระดับของการขยายตัวของชนชั้นแรงงาน นอกไปจากเหตุจูงใจที่สูงส่งกว่านี้ ผลประโยชน์เอกัตตาของชนชั้นปกครองในปัจจุบันจะเป็นตัวบงการให้เขาขจัดอุปสรรคที่จัดการได้ด้วยกฎหมายทั้งปวงซึ่งขัดขวางการเติบโตของชนชั้นแรงงาน เหตุฉะนี้ผมจึงได้ยกพื้นที่จำนวนมากในเล่มนี้ให้กับความเป็นมา เนื้อหา และผลลัพธ์ของกฎหมายโรงงานอังกฤษ ชาติใดก็ตามสามารถและควรที่จะเรียนรู้จากชาติอื่น ๆ แม้ว่าสังคมหนึ่งจะสะกดรอยพบกฎการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติของมันเองแล้วก็ตาม และจุดมุ่งหมายสุดท้ายของงานชิ้นนี้คือการเผยโฉมกฎการเคลื่อนที่ทางเศรษฐกิจของสังคมสมัยใหม่ มันไม่สามารถกระโดดข้ามหรือสั่งห้ามไม่ให้การพัฒนาตามธรรมชาติระยะใดเกิดขึ้นได้ แต่มันสามารถทุเลาและย่นอาการเจ็บครรภ์ได้

ผมขอกล่าวเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น ผมไม่ได้กำลังย้อมนายทุนและเจ้าที่ดินให้เป็นสีชมพูแต่อย่างใด แต่เรากำลังพูดถึงบุคคลตราบเท่าที่เป็นบุคคลวัตของหมวดหมู่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ในฐานะที่เป็นพาหะของผลประโยชน์และความสัมพันธ์ทางชนชั้นชุดหนึ่ง จุดยืนของผมตีความว่าพัฒนาการของการก่อรูปทางสังคมทางเศรษฐกิจเป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และมองว่าปัจเจกต้องรับผิดชอบต่อสภาวการณ์ซึ่งเนรมิตการดำรงอยู่ทางสังคมของเขาขึ้นมาได้น้อยกว่าของใคร ๆ ไม่ว่าเขาจะยกตนขึ้นสูงกว่ามันในเชิงจิตวิสัยเท่าใดก็ตาม

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในวิชาเศรษฐกิจการเมืองไม่เพียงผจญกับศัตรูคนละตัวกับวิชาอื่น ๆ ธรรมชาติแปลกประหลาดของเนื้อหาที่พิจารณาปลุกเร้ากิเลสที่โหดเหี้ยม คับแคบ และอาฆาตที่สุดจากหัวอกมนุษย์ลงไปในยุทธภูมิ ความเดือดดาลของผลประโยชน์ส่วนบุคคล คริสตจักรสูงอังกฤษเป็นต้นยอมยกโทษให้กับการโจมตีหลักความเชื่อ 38 จาก 39 ข้อแทนการยกรายได้ 139 ของพวกเขา สมัยนี้อเทวนิยมกลายเป็นความผิดโทษสถานเบาเมื่อเทียบกับการวิพากษ์ความสัมพันธ์กรรมสิทธิ์ที่เป็นอยู่ ถึงอย่างนั้นนี่คือความก้าวหน้าไม่ผิดแน่ ผมขอชี้ไปที่สมุดปกน้ำเงินซึ่งออกมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเป็นต้น: „จดหมายโต้ตอบกับคณะผู้แทนของสมเด็จพระราชินีนาถในต่างประเทศ ว่าด้วยปัญหาด้านอุตสาหกรรมกับสหภาพแรงงาน“ เหล่าผู้แทนสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในต่างประเทศได้กล่าวไว้ในนั้นอย่างไม่อ้อมค้อมว่าในเยอรมนี ฝรั่งเศส กล่าวสั้น ๆ ว่าทุกอารยประเทศบนทวีปยุโรป การแปลงผันของความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานที่เป็นอยู่นั้นอยู่ใกล้แค่เอื้อมและหลีกเลี่ยงไม่ได้พอ ๆ กับในอังกฤษ ในขณะเดียวกัน ณ อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก นายเวด รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศในการชุมนุมสาธารณะว่า: หลังจากการเลิกทาส การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของทุนและกรรมสิทธิ์ในที่ดินก้าวขึ้นเป็นวาระถัดไป! เหล่านี้เป็นสัญญะแห่งกาลเวลาซึ่งมิอาจอำพรางด้วยเสื้อคลุมสีม่วงหรือเสื้อหล่อสีดำ[c] ไม่ได้แปลว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้ มันแสดงให้เห็นว่าแม้ในหมู่ชนชั้นปกครองเองก็เริ่มสังหรณ์ว่าสังคมยุคปัจจุบันไม่ใช่ผลึกแข็ง แต่เป็นอินทรีย์ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงและอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเสมอ

เล่มที่สองของงานชุดนี้จะพิจารณากระบวนการไหลเวียนของทุน (เล่มที่ 2) และรูปแบบต่าง ๆ ของกระบวนการทั้งมวล (เล่มที่ 3) เล่มสุดท้ายเล่มที่สาม (เล่มที่ 4) พิจารณาประวัติความเป็นมาของทฤษฎี

ผมน้อมรับคำวิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ส่วนอคติที่เรียกกันว่ามติมหาชน ผมไม่เคยอ่อนข้อให้ คำขวัญของชาวฟลอเรนซ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งยังคงใช้ได้กับผม:

เซกวี อิล ตูโอ กอร์โซ, เอ ลาชา ดีร์ เล เจนตี![d]

ลอนดอน 25 กรกฎาคม 1867

คาร์ล มาคส์


  1. และนี่จำเป็นอย่างมาก เพราะแม้กระทั่งในงานที่แฟร์ดีนันท์ ลัสซาล เขียนตอบโต้ชุลท์เซอ-เดลิทช์ ในส่วนที่เขาอ้างว่าเป็น "แก่นทางปัญญา" ของคำอธิบายของผมในประเด็นเหล่านี้ก็ยังพบว่ามีความเข้าใจผิดอันเป็นสำคัญ สั้น ๆ ว่าในตอนที่นายลัสซาลหยิบยืมเอาประโยคที่กล่าวถึงทฤษฏีทั่วไปต่าง ๆ ในงานของผมไปใช้ในงานเศรษฐศาสตร์ของเขา อาทิอันที่ว่าด้วยคุณลักษณะทางประวัติศาสตร์ของทุน หรือความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์การผลิตกับวิถีการผลิต แบบคำต่อคำไปจนถึงคำศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นมา แล้วยังไม่ใส่อ้างอิงแหล่งข้อมูลเสียด้วย เขาคงทำไปด้วยเหตุผลเชิงโฆษณาชวนเชื่อ แน่นอนว่าผมจะไม่พูดถึงรายละเอียดปฏิบัติการหรือการนำไปใช้ ซึ่งผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร


  1. แปลว่า "นิทานเรื่องนี้พูดถึงคุณ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. แปลว่า "คนตายยกให้คนเป็น" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. "เสื้อหล่อ" เป็นคำที่คาทอลิกในประเทศไทยใช้เรียกเครื่องแบบของสมณะและนักบวชชาย (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. แปลว่า "เดินตามทางของตัวเอง และปล่อยให้ผู้คนพูด" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

{{สัญญาอนุญาตงานแปล | {{สาธารณสมบัติ-เก่า}} | {{CC-BY-SA-4.0}} }}