คำพิพากษาศาลพิเศษ
พุทธศักราช ๒๔๘๒
เรื่องกบฏ
กรมโฆษณาการ
คำนำ

เนื่องด้วยกรมโฆษณาการได้พิจารณาเห็นว่า คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่อง กบฏนั้น เป็นคำพิพากษาที่มีความสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทยอยู่เป็นอันมาก เพราะคำพิพากษานี้ได้เรียบเรียงขึ้นอย่างละเอียด แสดงบรรยายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองภายในตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช์ มีรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คำพิพากษานี้จึ่งเป็นเอกสารที่มีหลักฐานยิ่ง ข้อเท็จจริงที่สำคัญต่าง ๆ ในทางการเมืองของประเทศไทยในระยะ ๗ ปีเศษมานี้ ได้มีกล่าวไว้ในคำพิพากษาคดีกบฏนี้ด้วยความยุตติธรรม สมควรที่ประชาชาวไทยในระบบรัฐธรรมนูญจักพึงทราบไว้ ประกอบกับที่ได้มีบุคคลเป็นจำนวนมากขอร้องมายังกรมโฆษณาการให้จัดพิมพ์ขึ้น ฉะนั้นกรมโฆษณาการจึ่งได้จัดพิมพ์คำพิพากษาคดีกบฏนี้ขึ้นเป็นเล่มออกจำหน่าย ด้วยราคาเพียงเล็กน้อย หวังว่า สมุดเล่มนี้คงจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องการได้ตามสมควร

อนึ่ง เนื่องด้วยกรณีกบฏคราวนี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญประการหนึ่ง กรมโฆษณาการจึ่งได้ดำริที่จะจัดพิมพ์สมุดขึ้นอีกเล่มหนึ่งต่างหาก เป็นสมุดทำนองประวัติศาสตร์แห่งกรณีคราวนี้ โดยกำหนดจักรวบรวมบรรดาข่าวราชการและกรณีอื่นทั้งมวลที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งหลักฐานเอกสารที่สำคัญ กับรูปภาพบรรดาบุคคลในคณะรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และศาลพิเศษลงประกอบด้วย ซึ่งกรมโฆษณาการจะได้ประกาศให้ทราบอีกขั้นหนึ่งต่อไป

สำหรับคำพิพากษาศาลพิเศษที่จัดพิมพ์ขึ้นนี้ ทางราชการได้สงวนห้ามมิให้โฆษณาย่อหรือหยิบยกตอนใดขึ้นโฆษณาโดยฉะเพาะ กรมโฆษณาการจึ่งขอกำชับมา ณ ที่นี้ด้วย

กรมโฆษณาการ
๗ ธันวาคม ๒๔๘๒
คำพิพากษาศาลพิเศษนี้
ห้ามโฆษณาย่อ
หรือหยิบยกตอนใดขึ้นโฆษณา
โดยฉะเพาะ
คำพิพากษา
คดีดำที่ ๑ ถึง ๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๒
คดีแดงที่ ๑ ถึง ๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๒


ศาลพิเศษ
วันที่ ๒๐ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๒
ความอาญา


อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายลี บุญตา ที่ ๑ จำเลย
นายพันโท พระสุรรณชิต (วร กังสวร) ที่ ๒


อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายร้อยโท ณเณร ตาละลักษมณ์ ที่ ๑ จำเลย
นายละมัย แจ่มสมบูรณ์ ที่ ๒
นายมณี มติวัตร์ ที่ ๓


อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายดาบพวง พลนาวี จำเลย

อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายพลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณอยุธยา) ที่ ๑ จำเลย
นายร้อยโทเผ่าพงษ์ เทพหัสดิน ณอยุธยา ที่ ๒
นายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณอยุธยา ที่ ๓
นายร้อยตรีบุญมาก ฤทธิสิงห์ ที่ ๔
นายพันโท พระสุรรณชิต (วร กังสาร) ที่ ๕
นายร้อยเอกดาว บุญญเสฐ ที่ ๖


อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายร้อยเอก หลวงภักดีภูมิวิภาค (ตุ้ม รัตนภาณุ) ที่ ๑ จำเลย
นายร้อยเอก ขุนประสิทธิสินธวาคม (เลียบ ทองตระหง่าน) ที่ ๒
นายร้อยเอกเพ็ชร์ ศุขสว่าง ที่ ๓
นายร้อยเอกชลอ เอมะศิริ ที่ ๔
นายร้อยโทเจือม เอี่ยมตะนุช ที่ ๕
หลวงสิริราชทรัพย์ (ไชย โมรากุล) ที่ ๖
นายถนอม โภชนพันธ์ ที่ ๗
จ่ายง (เลื่อน วิจารณบุตร์) ที่ ๘
นายทง ช่างชาญกล ที่ ๙


อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
พระราชญาติรักษา (ประกอบ บุนนาค) จำเลย

อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายพันเอก หลวงมหิทธิโยธี (สุ้ย ยุกตวิสาร) ที่ ๑ จำเลย
นายพันตรี ขุนชิตปัจจนึก (ชิต มูลรัษฎ์) ที่ ๒
นายร้อยเอก ขุนรณมัยพิสาล (บุญรอด ไทยใหม่) ที่ ๓
อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่ ๑ จำเลย
นายเพิ่ม เผือนพิภพ ที่ ๒
อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายพลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล ที่ ๑ จำเลย
นายร้อยตำรวจเอกน้อม เทวคุปต์ ที่ ๒
อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายพันเอก พระยาสุรศักดิ์เสนา (โต๊ะ ภมรพล) จำเลย
อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันทน์) ที่ ๑ จำเลย
นายร้อยเอก ขุนคลีพลพฤนท์ (คลี สุนทรารชุน) ที่ ๒
นายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท (นาม ประดิษฐานนท์) ที่ ๓
นายพันตรี หลวงไววิทยาศร (เสงียม ไววิทย์) ที่ ๔
นายพันตรี หลวงอภิภูบาลวนารถ (สังข์ นาคะวัจนะ) ที่ ๕

อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว. ประยูร อิศรศักดิ์) ที่ ๑ จำเลย
พระยาสุเทพภักดี (ดี สุเดชะ) ที่ ๒
พระวุฑฒิภาคภักดี (หอมจันทร์ สรวงสมบูรณ์) ที่ ๓
นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) ที่ ๔
จ่านายสิบตำรวจแม้น เลิศราวี ที่ ๕
นายน้อยเอก หลวงประจัญสิทธิการ (บัว สุเดชะ) ที่ ๖
นายโชติ คุ้มพันธ์ ที่ ๗
หม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล นวรัตน์ ที่ ๘
อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
นายร้อยเอกจรัส สุนทรภักดี ที่ ๑ จำเลย
นายร้อยโทแสง วัณณะศิริ ที่ ๒
นายร้อยโทบุญสือ โตกระแส ที่ ๓
นายร้อยโทสัย เกษจินดา ที่ ๔
นายร้อยโทเสริม พุ่มทอง ที่ ๕
อัยยการศาลพิเศษ โจทก์
ระหว่าง
พระยาวิชิตสรไกร (เอียม ขัมพานนท์) ที่ ๑ จำเลย
นายยันต์ วินิจนัยภาค ที่ ๒
ขุนนิพันธ์ประศาสน์ (อู๊ด วงศ์ครุธ) ที่ ๓
นายแป๊ะ แสงไชย ที่ ๔
เรื่อง กบฏ

คณะกรรมการซึ่งมีนามข้างท้ายนี้ ได้พิจารณาคดีเสร็จแล้ว จึงประชุมกันพิพากษาดั่งต่อไปนี้

คดีทั้ง ๑๔ สำนวนนี้ ศาลได้พิจารณารวมกัน ๑๓ สำนวน แยกพิจารณา ๑ สำนวน แต่เป็นมูลกรณีเดียวกัน เพื่อสะดวก ศาลนี้จึงพิพากษารวมกันทั้ง ๑๔ สำนวน

คดีทั้ง ๑๔ สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องเพิ่มเติมฟ้องมีใจความต้องกันว่า นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากราชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย เป็นประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา ได้มีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหาร, พลเรือน, ตำรวจ, และราษฎรบางคน ได้สมคบกันเป็นกบฏส้องสุมผู้คนและศาสตราวุธโดยเจตนาล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างอื่น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ คณะบุคคลดั่งกล่าวแล้ว ได้บังอาจใช้กำลังยึดการปกครองจนถึงใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลได้ใช้กำลังปราบปรามพวกกบฏพ่ายแพ้ไป และได้ทำการจับกุมพวกกบฏฟ้องร้องลงโทษไปแล้วก็มี ที่หลบหนีไปอยู่นอกประเทศไทยก็มี ที่ปรากฏหลักฐานมีมูลแต่ยังไม่ได้ห้องร้องก็มี ที่มีแต่เพียงพฤตติการณ์แวดล้อมยังไม่ได้ทำการจับกุม โดยพนักงานเจ้าหน้าที่สืบสวนเพื่อการก้าวหน้าต่อไปก็มี ความทะนงองอาจของบุคคลคณะนั้นที่จะเปลี่ยนการปกครองดั่งกล่าวแล้วหาได้ยุตติลงไม่ ยังคงดำเนินการกบฏอยู่เสมอโดยมีแผนการณ์หลายอย่าง เช่นเกลี้ยกล่อมทหารและพลเรือนเพื่อใช้กำลังบังคับ, ลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล, ส่อเสียดให้เกิดแตกร้าวขึ้น ในหมู่รัฐบาลด้วยกัน ยุยงส่งเสริมเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการทการ, พลเรือน และราษฎรให้เกลียดชีงเข้าใจผิดต่อคณะรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการที่จะยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยนั่นเอง เจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำการจับกุมบุคคลคณะนี้ และได้จัดการฟ้องร้องต่อศาลหลาบครั้งแล้ว อาทิ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ นายพุ่ม ทับสายทอง กับพวก ได้สมคบกันใช้อาวุธปืนยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ท้องสนามหลวง และศาลยุตติธรรมได้พิจารณาพิพากษาลงโทษไปแล้วเป็นต้น เพื่อให้แผนการณ์กบฏเป็นไปดังเจตนาของบุคคลคณะนั้น จำเลยในคดีนี้กับพวก ได้สมคบกันและแบ่งแยกหน้าที่ต่าง ๆ กันเพื่อกระทำการกบฏ โดยเจตนาเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง และทำลายเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลให้เป็นไปตามแผนการณ์ของจำเลยและพวกดั่งกล่าวแล้วข้างต้น กล่าวคือ

๑. เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลากลางคืน นายลี บุญตา จำเลย ได้บังอาจใช้อาวุธปืนยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายในที่พักกรมทหารบางซื่อ อำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร หลายนัด หากมีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวาง กะสุนปืนที่นายลีได้ยิงไปนั้นไม่ถูกนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ส่วนนายพันโท พระสุรรณชิตจำเลย กับนายพันตรี หลวงสงครามวิจารณ์ ซึ่งต่อสู้เจ้าพนักงานถูกยิงตาย ได้สมคบกันเป็นผู้ใช้ให้นายลี ยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามดั่งกล่าวแล้ว

๒. ในระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ นายร้อยโท ณเณร ตาละลักษมณ์, นายละมัย แจ่มสมบูรณ์ และนายมณี มติวัตร์ จำเลย มีหน้าที่ตระเตรียมการสะสมกำลังเพื่อใช้กำลังบังคับรัฐบาล และได้แสดงความปรากฏแก่คนทั้งหลายให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชัง หรือกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลในตำบลและอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดพระนคร และในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลากลางวัน นายร้อยโท ณเณร, นายละมัย และนายมณี ได้ใช้ให้พันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต นำยาพิษใส่ในอาหารให้นายพลตรี หลวงพิบูลสงครามรับประทาน หลวงพิบูลสงครามกับนางพิบูลสงคราม, นายนาวาโท หลวงยุทธศาสตร์โกศล, นายนาวาอากาศตรี ขุนรณนภากาศ, นายพันโท หลวงเตชเสนา, นายพันตรี หลวงประหารริปูราบ และนายร้อยเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งร่วมรับประทานอยู่ด้วยนั้น ได้รับประทานยาพิษนั้นเข้าไป มีอาการเจ็บป่วยซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ หากแต่แพทย์ได้ทำการแก้ไขไว้ทัน นายพลตรี หลวงพิบูลสงครามกับพวกที่รับประทานอาหารอยู่ด้วยนั้นจึงไม่ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดขึ้นที่บ้านพักกรมทหารบางซื่อ อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ก่อนคดีนี้นายมณีได้เคยต้องโทษฐานปลอมหนังสือมาครั้งหนึ่งแล้ว พ้นโทษยังไม่เกิน ๕ ปี

๓. เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ นายดาบพวง พลนาวี จำเลย ได้ไปบอกนายยัง ประไพศรี ซึ่งอยู่บ้านนายสิบโท เชื้อ จันทรกร ให้ไปดักยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ที่ตลาดศรีย่าน จังหวัดพระนคร ตามคำสั่งของนายพันตรี หลวงราญรณกาจ ซึ่งต่อสู้เจ้าพนักงานและถูกยิงตาย ต่อมาในวันที่ ๑๓ เดือนเดียวกัน เวลาค่ำคืน นายยังได้ปฏิบัติการไปตามคำสั่งของนายดาบพวง และหลวงราญรณกาจแล้ว หากแต่มีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางเสีย จึงทำการไม่สำเร็จ โดยเจ้าพนักงานตำรวจทราบเรื่องและได้ไปคอยดักจับอยู่ แล้วนายยังกับพวกได้ต่อสู้เจ้าพนักงานหลบหนีไป เจ้าพนักงานได้ออกติดตามจับนายยัง ๆ ได้ต่อสู้ถูกเจ้าพนักงานยิงตายที่จังหวัดนนทบุรี

๔. ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ นายพลโท พระยาเทพหัสดิน, นายร้อยโทเผ่าพงษ์ เทพหัสดิน ณอยุธยา, นายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณอยุธยา, นายร้อยตรีบุญมาก ฤทธิสิงห์, นายพันโท พระสุรรณชิต และนายร้อยเอกดาว บุญญเสฐ จำเลย ได้เกลี้ยกล่อมทหารและพลเรือนเพื่อใช้กำลังบังคับรัฐบาล และได้จัดหาบุคคลเพื่อลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล ต่อมาในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลากลางวัน นายร้อยโทเผ่าพงษ์, นายดาบผุดพันธ์ และ นายร้อยตรีบุญมาก ได้มอบอาวุธปืนพร้อมด้วยกะสุนให้แก่นายชลอ ฉายกระวี ที่หน้าวัดมกุฏกษัตริย์ เพื่อไปทำการดักยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ที่เชิงสะพานมัฆวาฬ จังหวัดพระนคร ในวันที่ ๒๕ เดือนเดียวกันนั้น เวลากลางคืน นายชลอ กับ นายดาบผุดพันธ์ได้นำอาวุธปืนซึ่งบรรจุกะสุนพร้อมแล้วไปคอยดักยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ณ สถานที่ดั่งกล่าวแล้ว หากมีเหตุสุดวิสัยมาขวางเสีย โดยรถยนตร์คันที่นายพลตรี หลวงพิบูลสงครามนั่งไปนั้นแล่นเร็วมาก นายชลอจึงยิงไม่ทัน ต่อมาระหว่างเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ นายร้อยเอกดาว ได้ใช้ให้นายชั้น แซ่โง้ว จัดหาจีน เพื่อทำการยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามกับพวกอีก แต่นายชั้นไม่สามารถจะจัดหาคนรับจ้างยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามได้

๕. ในระหว่างวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ จนถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ นายร้อยเอกเพ็ชร์ ศุขสว่าง, นายร้อยเอกชลอ เอมะศิริ, นายร้อยโทเจือม เอี่ยมดะนุช, หลวงสิริราชทรัพย์, นายถนอม โภชนพันธ์, จ่ายง และนายทง ช่างชาญกล จำเลย ได้กล่าวติเตียนคณะรัฐบาลให้ปรากฏต่อคนทั้งหลายว่า วิธีการปกครองเดี๋ยวนี้สู้รัชชกาลที่ ๗ ปกครองเมื่อครั้งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชไม่ได้ และกล่าวต่อไปว่า คณะรัฐบาลดำเนินการปกครองไปในทางลัทธิเผด็จการ โดยตั้งในหลวงองค์เล็ก ๆ ขึ้นไว้เป็นเครื่องมือสำหรับเชิด นอกจากนี้นายร้อยเอก หลวงภักดีภูมิวิภาค, นายร้อยเอก ขุนประสิธิสินธวาคม, นายร้อยเอกเพ็ชร์, นายร้อยเอกชลอ และนายร้อยโทเจือม จำเลย ได้เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกทางฝ่ายทหาร และเตรียมศาสตราวุธไว้ ส่วนหลวงสิริราชทรัพย์, นายถนอม, จ่ายง และนายทง ได้เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกทางข้าราชการพลเรือนและราษฎรไว้ และขุนประสิทธิสินธวาคมได้มียาพิษสตรีกนินไว้ใส่ปนลงในอาหาร เพื่อให้บุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลบริโภคให้ถึงซึ่งความตายอีก ก่อนคดีนี้นายทงเคยต้องโทษมาแล้ว ๘ ครั้ง มากระทำความผิดขึ้นอีกยังหาเข็ดหลาบไม่

๖. ระหว่างเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ พระราชญาติรักษา จำเลย ได้เกลี้ยกล่อมชักชวนข้าราชการและราษฎรตามตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดพระนคร ให้สะสมอาวุธไว้เป็นสมัครพรรคพวก และยุยงประชาชนพลเมืองให้กระด้างกระเดื่องเกลียดรัฐบาล เพื่อใช้กำลังเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะอัญเชิญสมเด็จพระปกเกล้า ฯ หรือสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ให้เป็นพระมหากษัตริย์

๗. ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลากลางวันและกลางคืน นายพนเอก หลวงมหิทธิโยธี นายพันตรี ขุนชิตปัจจนึก และนายร้อยเอก ขุนรณมัยพิสาล จำเลย ได้ชักชวนข้าราชการทหาร พลเรือนให้เป็นสมัครพรรคพวกและสะสมศาสตราวุธไว้เพื่อจับบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล หรือใช้กำลังทหาร ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของหลวงมหิทธิโยธี บังคับรัฐบาลเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงราชประเพณี นอกจากนี้จำเลยยังช่วยเหลือปกปิดแผนการณ์กบฏซึ่งปรากฏแก่บุคคลบางคนอีกด้วย

๘. ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ตลอดจนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร จำเลย มีหน้าที่เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกทางเจ้านาย ข้าราชการทหารและราษฎร มีพระปกเกล้า ฯ กระพระนครสวรรค์พินิต นายพันเอก พระยาทรงสุรเดชกับพรรคพวกไว้ และได้กระทำการติดต่อหาเงินจากพวกเจ้านายเพื่อกำลังทำลายล้างรัฐบาล นอกจากนี้ได้เป็นผู้คิดงางแผนการณ์ในการกระทำผิดครั้งนี้ ทั้งได้ใช้ให้ นายเพิ่ม เผื่อนพิภพ จำเลย เกลี้ยมกล่อมหาพรรคพวกอีกด้วย แล้วนายเพิ่มได้เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกตามคำสั่งของกรมขุนชัยนาทนเรนทร นอกจากนี้นายเพิ่มได้กล่าวต่อคนทั้งหลายว่า รัฐบาลถือเอาแต่พวกพ้องรับรองกับราษฎรว่าจะให้เสรีภาพกลายเป็นเสรีพวกไป และกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้ลัทธิเผด็จการ เป็นการกระทำให้คนทั้งหลายเกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลในหมู่ประชาชน ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลโดยใช้กำลังบังคับตามแผนการณ์ส่วนหนึ่ง ซึ่งวางไว้แล้วที่จะเชิญพระปกเกล้า ฯ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และให้พระยาทรงสุรเดช เป็นนายกรัฐมนตรี

๙. นายพลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และนายร้อยตำรวจเอกน้อม เทวคุปต์ จำเลย ได้ให้ทรัพย์และกำลังความคิดทั้งกล่าวติเตียนใส่ร้ายรัฐบาลเกลี้ยกล่อมชักชวนราษฎรให้กระด้างกระเดื่อง และให้ความร่วมมือเปลี่ยนแปลงยึดอำนาจการปกครองในคราวกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ ตามคดีดำที่ ๑ ถึง ๖๘/๒๔๗๖ ของศาลพิเศษตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ นอกจากนี้ยังได้ร่วมคิดใช้ให้นายยังไปดักยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามที่ตลาดศรีย่านอรกด้วย

๑๐. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมาจนถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ นายพันเอก พระยาสุรศักดิ์เสนส จำเลย ได้เกลี้ยกล่อมทหาร พลเรือน และสะสมกำลังศาสตราวุธโดยกล่าวว่า เวลานี้บ้านเมืองมันยุ่งเหยิงเหลือเกิน ทหารไม่อยู่ส่วนทหาร ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องในการปกครองบ้านเมือง ทำให้ปั่นป่วนกันพิลึกใหญ่ บ้านเมืองที่ไม่มีพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นอย่างไร พระยาสุรศักดิ์เสนา มีความประสงค์จะเชิญพระปกเกล้า ฯ มาครองราชสมบัติตามเดิม และแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราโดยมิให้ทหารเกี่ยวข้องกับการเมือง ทหารจะเคลื่อนขะบวนไปในที่ต่าง ๆ จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าอยู่หัวเสียก่อน

๑๑. ระหว่างเดือนเมษายนถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์, นายร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์ นายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท, นายพันตรี หลวงไววิทยาศร และนายพันตรี หลวงอภิบาลภูวนารถ จำเลย ได้เกลี้ยกล่อมข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎร ทั้งเตรียมหาศาสตราวุธไว้เป็นกำลังเพื่อยึดอำนาจการปกครอง ทำลายล้างรัฐบาล มีจุดประสงค์จะอัญเชิญพระปกเกล้า ฯ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และให้พระยาทรงสุรเดช เป็นนายกรัฐมนตรี และได้กล่าวต่อประชาชนว่า คณะรัฐบาลนี้เป็นคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ได้สมคบร่วมคิดกับนายพันโท หลวงรณสิทธิพิชัย, นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์, นายพันตรี หลวงวรณสฤช, นายพิทย์ ผัลเตมีย์ (นายพันตำรวจเอก พระยาธรณีนฤเบศร์) กับพวกให้นายพุ่ม ทับสายทอง ยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ ที่ท้องสนามหลวง จังหวัดพระนครอีกด้วย

๑๒. ในคราวเกิดกบฏเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และต่อ ๆ มาพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์, พระยาสุเทพภักดี, พระวุฑฒิภาคภักดี, นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล และจ่านายสิบตำรวจแม้น เลิศราวี จำเลย ได้สะสมกำลังเพื่อช่วยเหลือทำการกบฏในครั้งนั้นด้วย นิกจากนี้ยังกล่าวติเตียนรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนขาดความจงรักภักดี หรือดูหมิ่นเกลียดชังรัฐบาล อันเป็นเหตุจะให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน ช่วยปกปิดเหตุการณ์ซึ่งรู้อยู่ว่าจะมีการกบฏเกิดขึ้นไม่นำความไปร้องเรียนตามที่กฎหมายบังคับไว้ และในระหว่างปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ จำเลยทั้ง ๕ คนดังกล่าวแล้วข้างต้นกับ ร.อ. หลวงประสิทธิการ, นายโชติ คุ้มพันธ์ และหม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล นวรัตน์ จำเลย ได้เขียนบทประพันธ์ส่งเสริมลัทธิคอมมิวนิสต์ และเขียนบทประพันธ์กับกล่าวด้วยวาจาติเตียนรัฐบาล นอกจากนี้ยังได้ชักชวนผู้คนตระเตรียมสะสมกำลัง คิดประทุษร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล สำหรับหม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล เคยต้องโทษฐานกบฏมาครั้งหนึ่งแล้ว พ้นโทษมาแล้วกลับมากระทำความผิดนี้ซ้ำอีก หาเข็ดหลาบไม่

๑๓. ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ถึงสันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ นายร้อยเอกจรัส สุนทรภักดี, นายร้อยโทแสง วัณณะศิริ, นายร้อยโทบุญลือ โตกระแส นายร้อยโทสัย เกษจินดา และนายร้อยโทเสริม พุ่มทอง จำเลย ได้ร่วมมือกันจะประหารคนสำคัญในคณะรัฐบาลหลายท่าน และยังได้หาบุคคลอื่นเพื่อทำการประหารบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลตามแผนการณ์ที่วางไว้ กล่าวคือ เมื่อคราวเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ กับนายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเชิญพระปกเกล้า ฯ กลับเมืองไทยนั้น จำเลยได้ตระเตรียมการจะลงมือประหารด้วยตนเอง และได้จัดหาบุคคลอื่นซึ่งเป็นพรรคพวกให้ทำการประหารบุคคลในคณะรัฐบาล เช่น นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม นายพันตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส และหลวงประดิษฐมนูธรรม ที่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง หากมีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางเสียจึงไม่ได้กระทำการดั่งกล่าวแล่ว ต่อมาในคราวมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ได้เตรียมการที่จะประหารและได้จัดหาบุคคลอื่นเพื่อกระทำการประหารบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลตามที่ได้ระบุนามไว้ข้างต้น ที่ท้องสนามหลวง และที่วังสราญรมย์อีก แต่มีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางเสียจึงมิได้ลงมือกระทำการ ต่อมาวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลากลางวัน จำเลยได้ร่วมคิดกับหลวงรณสิทธิพิชัย พระยาฤทธิอัคเนย์, หลวงวรณสฤช, นายพิทย์ ผัลเตมีย์ กับพวก ใช้ให้นายพุ่ม ทับสายทองยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ที่ท้องสนามหลวงมีบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ได้เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎร เพื่อยึดอำนาจการปกครองทำลายล้างรัฐบาลแล้วจะได้เชิญพระปกเกล้า ฯ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และให้พระยาทรงสุรเดช เป็นนายกรัฐมนตรี และจำเลยนี้ยังได้กล่าวต่อประชาชนว่า คณะรัฐบาลนี้ปกครองไปในทางลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเจตนาที่จะให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลในหมู่ประชาชน และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลโดยใช้กำลังบังคับและทำร้าย

๑๔. ในคราวกบฏเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระยาวิชิตสรไกร จำเลยได้ตระเตรียมกำลังทหารเพื่อสมคบกับกบฏในคราวนั้น โดยพระยาวิชิตสรไกร ได้สั่งให้มีการระดมพลที่จังหวัดชัยนาทและกล่าวถ้อยคำว่า รัฐบาลเห็นจะอยู่ละคราวนี้ อันเป็นปฏิปักข์ต่อคำแถลงการณ์ของรัฐบาล เป็นการโน้มใจเกลี้ยกล่อมประชาชนให้หมดความเลื่อมใสในคณะรัฐบาล ต่อมาในระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ จนถึงวันที่ถูกจับ พระยาวิชิตสรไกร นายยันต์ วินิจฉัยภาค ขุนนิพันธ์ประศาสน์ และนายแป๊ะ แสงไชย จำเลย ได้ใช้บุคคลผู้มีชื่อให้ประหารบุคคลในคณะรัฐบาลหลายท่าน เช่น นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม, นายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นต้น หากแต่มีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางเสีย โดยในระหว่างนั้น นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้ถูกนายลีซึ่งเป็นพวกใช้อาวุธยิงเสียก่อน

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๐๑, ๑๐๒, ๑๐๕ (ที่แก้ไขแล้ว) ๒๔๙, ๒๕๐, ๖๐, ๖๓, ๖๔, ๖๕ เว้นแต่คดีที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๑, ๑๒, ๑๓ ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙ ด้วย

นอกจากนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยเพิ่มขึ้นจากที่กล่าวแล้วข้างต้นอีก คือ

ก. คดีดำที่ ๒, ๖, ๙, ๑๔ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๙๘

ข. คดีดำที่ ๒, ๖, ๑๐, ๑๔ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๐๐

ค. คดีดำที่ ๖, ๙ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๗๔

ง. คดีดำที่ ๖ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๙๙

จ. คดีดำที่ ๑๒ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคอมมิวนิสม์ พ.ศ. ๒๔๗๖ มาตรา ๔

ฉ. จำเลยทุกคดี เว้นแต่คดีดำที่ ๖, ๗, ๑๔ โจทก์ได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๗, ๓๙, ๕๒

อนึ่ง โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนายมณี และนายทง ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๒ หม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๗๓

ก่อนให้การนายร้อยโท เจือม เอี่ยมดะนุช จำเลย ได้ถึงแก่ความตาย คดีส่วนตัวของจำเลยนี้เป็นอันระงับไปตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๗๗ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙ (๑)

นายลีจำเลยให้การว่า ตามวันเวลาโจทก์กล่าวหานั้น ได้ใช้อาวุธปืนพกยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ๒ นัด เพราะเมาสุรา ไม่มีสาเหตุอะไรและไม่มีใครใช้ให้ยิง จำเลยทุกคนนอกจากนายลีให้การปฏิเสธตลอดข้อหา พระยาวิชิตสรไกรให้การคัดค้านอำนาจศาลต่อไปว่า ความผิดฐานกบฏตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ หาได้อยู่ในข่ายอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๘๑ ไม่ ส่วนข้อเคยต้องโทษ นายมณี มติวัชร์, นายทง ช่างชาญกล และหม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล นวรัตน์ จำเลยทั้ง ๓ รับว่าจริง

ข้อคัดค้านของพระยาวิชิตสรไกร จำเลย จะฟังได้เพียงไรหรือไม่นั้น เห็นว่าเดิมได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ ในคำปรารภแห่งพระราชบัญญัตินี้กล่าวว่า “เนื่องจากมีการกบฏและจลาจลเกิดขึ้น เป็นการสมควรที่จะต้องตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีในการนี้” และในมาตรา ๔ บัญญัติว่า “ให้ตั้งศาลพิเศษขึ้นศาลหนึ่ง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่เกี่ยวกับการกบฏและจลาจลครั้งนี้” ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๘ ขยายอำนาจศาลที่ได้ตั้งขึ้นแล้วนั้นออกไปอีก โดยมาตรา ๔ บัญญัติว่า “ให้ศาลพิเศษซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีอาญาที่เกี่ยวกับความผิดฐานกบฏและการก่อจลาจล ที่ได้เกิดขึ้นต่อมาจากการกบฏและจลาจลเมื่อคราวเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ จนกระทั่งวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้” แต่ในคำปรารภแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๘๑ กล่าวไว้กว้าง ๆ ว่า “เนื่องจากได้มีการกระทำความผิดกฎหมาย เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยการใช้กำลังบังคับ เป็นการสมควรที่จะต้องตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาพิพากษาคดีในการนี้” และมาตรา ๔ ก็บัญญัติไว้กว้าง ๆ เช่นเดียวกันว่า “ให้ตั้งศาลพิเศษขึ้นศาลหนึ่ง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานกบฏเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยใช้กำลังบังคับ” ไม่มีข้อความจำกัดดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติอีก ๒ ฉะบับที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น ศาลนี้จึงเห็นว่าบรรดาความผิดฐานกบฏเพื่ือที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยใช้กำลังบังคับที่ได้เกิดขึ้นก่อนวันใช้พราราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ แก้ไชเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้น ศาลนี้ทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษา ข้อคัดค้านของพระยาวิชิตสรไกร จำเลยจึ่งฟังไม่ขึ้น

ก่อนที่จะพิจารณาพิพากษาชี้ขาดข้อเท็จจริง เป็นการสมควรที่จะหยิบยกพฤติการณ์บางประการตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองขึ้นมา่กล่าว เพื่อจะได้เอามาประกอบกับทางพิจารณา จะกระทำให้ข้อเท็จจริงในคดีนี้กระจ่างยิ่งขึ้น ความข้อนี้ปรากฏจากถ้อยคำของนายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา, นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย ร.น., นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ ร.น., นายพันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ, หลวงนฤเบศร์มานิต, หลวงประดิษฐมนูธรรม, นายพันโท ประยูร ภมรมนตรี, นายสงวน ตุลารักษ์, นายพันตำรวจโท ขุนศรีศราก และนายพันตรี ขุนสุจริตรณการ พะยานโจทก์ว่า

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน, นายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา, นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช, นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์, นายพันเอก พระประศาสน์พิทยายุทธ, นายพลตรี หลวงพิบูลสงครา และนายร้อยเอก หลวงทัศนัยนิยมศึก เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบก นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือ หัวหน้าดั่งกล่าวแล้วได้ประชุมกันถึงเรื่องที่จะยึดอำนาจการปกครอง แต่พระยาฤทธิอัคเนย์เป็นผู้ที่ใจคอไม่แน่นอน ได้เข้าประชุมด้วยครั้งเดียว ภายหลังหลีกเลี่ยงไม่ไปประชุม หัวหน้าผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงดั่งกล่าวแล้ว ได้แยกกันเป็นสาย ๆ ในสายหนึ่ง ๆ มีพรรคพวกอีกหลายคน ฉะเพาะสายของพระยาทรงสุรเดช มีหลวงชำนาญยุทธศิลป์, หลวงรณสิทธิพิชัย อาจารย์และครูของโรงเรียนนายร้อยที่เป็นเหล่าทหารราบโดยมาก ส่วนสายของหลวงพิบูลสงครามนั้น มีนายทหารเหล่าเสนาธิการและเหล่าทหารปืนใหญ่โดยมาก ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ประชุมกันถึงเรื่องที่จะยึดอำนาจทางทหารเหล่าใดก่อน ในข้อนี้พระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามมีความเห็นแตกต่างกัน เวลานั้น พระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่อยู่ก่อน จึงตกลงกันว่าจะยึดปืนใหญ่เล้ว ก็อย่าให้พระยาฤทธิอัคเนย์รู้ตัว ถึงตอนกลางคืนที่จะเข้าทำการยึดอำนาจการปกครอง ก็ให้บังคับเอาปืนใหญ่และรถยนตร์ลากปืนใหญ่ที่พระยาฤทธิอัคเนย์ทีเดียว

เมื่อยึดอำนาจการปกครองแล้ว คณะผู้ก่อการได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อได้รับพระราชทานแล้ว ผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนได้เสนอขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ทั้งนี้ เห็นว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยปรารภมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ไม่ชอบระบอบการปกครองราชาธิปไตย ประกอบด้วยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นผู้ที่กว้างขวางในระหว่างชาวต่างประเทศ และสนิทสนมกับพระปกเกล้าฯ จะได้ทำการเพื่อสมัครสมานระหว่างคณะผู้ก่อการกับพระปกเกล้าฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จะได้ช่วยกันบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปโดยราบรื่น ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนานั้น ได้เสนอขอให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นอัครมหาเสนาบดี คือ ประธานคณะกรรมการราษฎร แต่ที่ประชุมส่วนมากไม่เห็นชอบด้วย เกรงว่า พระองค์เจ้าบวรเดชจะปกครองไปในทางแบบเผด็จการ ผู้ที่ประชุมส่วนมากจึงได้เลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ๆ นั้นเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทุกวันนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ราว ๑ เดือน หลวงชำนาญยุทธศิลป์, หลวงรณสิทธิพิชัย และผู้บังคับกองพันของเหล่าทหารม้า, เหล่าทหารปืนใหญ่, เหล่าทหารสื่อสาร ได้ลอบประชุมกันที่ตึกทหารวังปารุสกวัน เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการณ์ของกองทัพบก โดยมิให้พระยาพหลพลพยุหเสนารู้เห็นด้วย ในะระยะนี้วันหนึ่งพระยาพหลพยุหเสนาลงไปรับแขกชั้นล่างได้ผ่านทหารยามไป เสร็จธุระจากรับแขกแล้วจะกลับขึ้นไปข้างบน ทหารยามคนนั้นได้ทำท่าเตรียมแทงไม่ยอมให้ขึ้น พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงตะโกนร้องเรียกให้พระยาทรงสุรเดชมาดู พระยาทรงสุรเดชบอกว่าทหารไม่รู้จักผู้บังคับบัญชา การที่ทหารยามกระทำเช่นนี้ เข้าใจว่าเป็นคำสั่งของพระยาทรงสุรเดช จะคิดแย่งอำนาจจากพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อมาราว ๑ เดือนพระยาทรงสุรเดชจะเอาหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเวลานั้นเป็นนายทหารปืนใหญ่ไปอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยรบ ซึ่งไม่มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมกำลังทหาร หลวงพิบูลสงครามทราบเรื่องเข้าจึงไปสอบถามถึงเหตุผลว่าทำไมจึงจะย้ายให้ไปอยู่ตำแหน่งผู้ช่วยรบ แต่ทหารยามได้เอาดาบปลายปืนกั้นไว้ ขณะนั้นพระยาทรงสุรเดชก็อยู่ที่นั่นด้วย ได้มีผู้คัดค้านการที่จะย้ายหลวงพิบูลสงคราม จึ่งกระทำไปไม่สำเร็จ ส่วนนายทหารที่เป็นพวกของหลวงพิบูลสงครามก็จะเอาไปบรรจุในตำแหน่งที่ไม่ได้ควบคุมกำลังทหาร และย้ายไปที่อื่น แล้วเอานายทหารที่เป็นพวงของพระยาทรงสรุเดชบรรจุควบคุมแทน การที่พระยาทรงสุรเดชกับพวกกระทำเช่นนี้แสดงว่า พระยาทรงสุรเดชจะคุมอำนาจทหารไว้ฝ่ายเดียว บั่นทอนอำนาจการปกครองของทหารซึ่งหลวงพิบูลสงครามและพวกที่ได้ควบคุมอยู่นั้นให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวแก่การเมืองซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ตั้งแต่นั้นมาพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามก็ไม่ถูกกันเรื่อย ๆ มา

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เป็นกรรมการในการร่างรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรอยู่ด้วยคนหนึ่ง และมีหน้าที่ติดต่อกับพระปกเกล้าฯ ในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรด้วย แต่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ความเห็นของพระปกเกล้าฯ กับคณะผู้ก่อการแตกต่างกันบ้างบางประการ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉะบับถาวร พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้ร่างเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ในการที่จะยกร่างเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาราชวังสัน, พระยาศรีวิสารวาจา, หลวงประดิษฐมนูธรรมได้ปรึกษาหารือกันหลายหนหลายครั้ง โดยหลวงประดิษฐมนูธรรมเสนอว่า ในการที่จะบริหารราชการแผ่นดินต่อไปนั้น จะต้องช่วยเหลือราษฎรในทางเศรษฐกิจก่อน แต่ราษฎรของเราต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้นำ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศริวิสารวาจาและพระยาราชวังสันไม่ได้โต้แย้ง แสดงความพอใจในหลักการของหลวงประดิษฐมนูธรรมที่เสนอให้ทราบนั้น ต่อมาพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้บอกกับหลวงประดิษฐมนูธรรมว่า พระปกเกล้าฯ ให้ไปเฝ้าพร้อมด้วยพระยาพหลพลพยุหเสนา แล้วพระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งถึงเศรษฐกิจของบ้านเมือง และถามความเห็นของหลวงประดิษฐมนูธรรมว่ามีอะไรบ้าง หลวงประดิษฐมนูธรรมได้กราบทูลตามแนวที่ได้เคยปรึกษาหารือกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจาและพระยาราชวังสันมาแต่ก่อน พระปกเกล้าฯ รับสั่งชมเชยเห็นชอบด้วย และรับสั่งต่อไปว่า พระองค์ท่านชอบแบบโซเชียลลิสม์ และพระองค์ท่านเองก็เป็นโซเชียลลิสต์ จึงรับสั่งให้หลวงประดิษฐมนูธรรมไปจัดการเขียนโครงการณ์ขึ้น ครั้งแรกหลวงประดิษฐมนูธรรมยังมิได้เขียนโครงการณ์เศรษฐกิจ ต่อมาพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เร่งเร้งให้หลวงประดิษฐมนูธรรมเขียน โดยอ้างว่าพระปกเกล้าฯ พอพระทัย หลวงประดิษฐมนูธรรมจึงได้เขียนเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจขึ้น เหตุที่ยังไม่ได้เขียนเพราะมีงานร้อนที่สำคัญอยู่มาก เช่น ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉะบับถาวร เมื่อร่างโครงการเศรษฐกิจเสร็จแล้ว ก็ได้จัดพิมพ์ขึ้นแจกจ่ายกันในหมู่ผู้ก่อการและคณะกรรมการราษฎร การที่แจกผู้ก่อการนั้นก็เพื่อให้เอกไปอ่านก่อนว่าจะมีความเห็นชอบด้วยหรือไม่ การที่แจกคณะกรรมการราษฎรก็เพราะเรื่องนี้จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการราษฎร เพื่อให้โอกสารกรรมการราษฎรได้อ่านเสียก่อน ถ้าไม่เห็นชอบด้วยและมีเหตุผลดีกว่า ก็จะยอมตามความเห็นส่วนมากและขอแก้ไขได้ เมื่อแจกไปแล้วพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่เห็นด้วย อ้างว่าได้ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ มาแล้ว พระปกเกล้าฯ ก็ไม่เห็นด้วย หลวงประดิษฐมนูธรรมไม่เชื่อ จึงขอให้มีการประชุมทำนองกึ่งราชการเสียก่อน เพื่อจะอธิบายให้ที่ประชุมฟังและทราบ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ขอร้องให้หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ซึ่งมีความรู้ในทางเศรษฐกิจเข้าร่วมด้วย ที่ประชุมก็ยอม ผลของที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน แยกออกเป้น ๒ ฝ่าย ๆ หนึ่งเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นมี พระยาทรงสุรเดช เพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาศรีวิสารวาจา ต่อมาได้มีการประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ในระหว่างผู้ก่อการอีก พระยาทรงสุรเดชและผู้ก่อการบางคนมีความเห็นแย้งกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ และในเรื่องนี้พระยาทรงสุรเดชได้ประชุมนายทหารบอกว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์

การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจในครั้งแรกนั้น อ้างเหตุผลว่าจะทำไปตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ เมื่อได้โต้แย้งกันมากขึ้น จึงอ้างว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสม์ ก่อนร่างโครงการนี้ หลวงประดิษฐมนูธรรมได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ อยู่ ๒ ชั่วโมง ได้กราบทูลถึงเค้าโครงการที่จะร่างขึ้นโดยชัดแจ้ง พระปกเกล้าฯ มิได้รับสั่งว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสม์ เมื่อที่ประชุมส่วนมากไม่เห็นด้วยตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นแล้ว หลวงประดิษฐมนูธรรมก็มิได้คิดที่จะดำเนินตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นต่อไป และได้พูดในที่ประชุมว่า เมื่อไม่เห็นด้วยหลวงประดิษฐมนูธรรมก็จะขอลาออก เหตุการณ์ได้ปรากฏต่อไปว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐมนูธรรมทำขึ้นนั้น เป็นอุบายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวก ให้กระทำขึ้นแล้วนำไปถวายพระปกเกล้าฯ ก่อนที่จะถวายพระปกเกล้าฯ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้คัดลอกเอาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมฉะเพาะที่เห็นด้วยนำไปถวายพระปกเกล้าฯ ว่าเป็นร่างของพวกตนพร้อมกับร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม แล้วพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกได้ทำพระราชวิจารณ์ตำหนิเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมว่าไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยและเป็นลัทธิคอมมิวนิสม์ แล้วให้พระปกเกล้าฯ ลงพระนาม ในระหว่างที่ประชุมกันถึงเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมก็ดี ในระหว่างที่นำเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมขึ้นถวายพระปกเกล้าฯ ตลอดจนพระราชวิจารณ์ก็ดี พระยาพหลพลพยุหเสนาไปเสียต่างจังหวัด เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากลับจากภาคอิสาณและจังหวัดราชบุรีแล้ว จึงได้ทราบถึงเรื่องที่ปรองดองกันนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้พยายามหาหนทางที่จะปรองดองกันใหม่ และเสนอว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมนั้น ถ้าแก้ไชเสียก็ใช้ได้ จึงได้ตกลงให้ตั้งอนุกรรมการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยให้นำเสนอคณะกรรมการราษฎรให้พิจารณารับหลักการ ต่อมาอีก ๒–๓ วัน อนุกรรมการชุดนี้ยังไม่ได้แก้ไขเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมเลย พระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาราชวังสัน, พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสารวาจาไปเฝ้าที่หัวหิน เมื่อไปถึงหัวหินนั้นได้เห็นมีพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมอยู่ที่นั่นแล้ว พระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งแก่พระยาพหลพยุหเสนา ว่าการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญทุกวันนี้จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงทูลตอบว่า ถ้าข้าราชการของพระองค์ไม่โลภ ก็คงจะตลอดรอดฝั่งไปได้ การที่พระปกเกล้าฯ รับสั่งเช่นนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นคนโลภ คงจะถอยหลังเข้าคลอง ในวันที่ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ นี้เลยไม่ได้พูดถึงเรื่องที่จะแก้ไขเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม เพราะพระราชวิจารณ์ได้ออกมาเสียแล้ว ในวันนั้นเองจึงได้พากันโดยสารรถไฟกลับกรุงเทพฯ ระหว่างมาในรถไฟได้พูดกันว่า พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ออกความเห็นไม่รับหลักการเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม และให้หลวงประดิษฐมนูธรรมไปต่างประเทศ เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ฟังดังนั้นก็นึกเอะใจ เพราะไม่เคยคิดหรือพูดอย่างที่กล่าวเลย การที่กล่าวเช่นนี้ คงจะเกิดแตกร้าวกันในระหว่างคณะผู้ก่อการกับคณะกรรมการราษฎร ในเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมนั้น โดยพระยาทรงสุรเดชกับหลวงประดิษฐมนูธรรมมีความเห็นขัดกัน

ตั้งแต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรแล้ว ก็ได้บริหารราชการแผ่นดินและประพฤติตนไปในทางที่เป็นปฏิปักข์และบั่นทอนคณะผู้ก่อการให้หมดอำนาจไปที่ละเล็กละน้อย และทำให้เสื่อมประโยชน์แก่แผ่นดินที่ควรมีควรได้ กล่าวคือ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความประสงค์ที่จะจัดการปกครองให้ก้าวหน้าไปโดยเร็วที่สุด ส่วนพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้น มีความประสงค์จะบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างเดิม จึงเป็นสาเหตุให้โต้แย้งคัดค้านกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นส่วนมาก และกระทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่พอใจในวิถีทางการของผู้ก่อการ แต่คณะผู้ก่อการส่วนมากรู้เท่าถึงการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ปฏิบัติการไป จึงได้พยายามโต้แย้งคัดค้าน พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นว่าจะกระทำไปตามความประสงค์ของตัวนั้นไม่ตลอดปรอดโปร่ง จึงไปทอดสนิทกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้มีอำนาจในทางทหาร ในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระยาทรงสุรเดช ได้เรียกผู้ก่อการชั้นผู้น้อยไปประชุม ได้พูดในที่ประชุมนั้นว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นผู้ใหญ่และทำงานไปได้อย่างเรียบร้อยราบรื่น ได้ขอร้องอย่าให้ไปโต้เถียงคัดค้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่ที่ประชุมเห็นว่าไม่ถูกจึงไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่นั้นมามีความรู้สึกกันทั่วไปว่าพระยาทรงสุรเดชกับคณะผู้ก่อการชั้นผู้น้อยไม่ลงรอยกัน จึงจัดการจะให้พวกผู้ก่อการที่คัดค้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นั้นไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศเสีย แต่ไม่มีใครยอมไป

การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาขัดขืนบริหารราชการอยู่ได้นั้น ก็เพราะพระยาทรงสุรเดชกับพวกเป็นผู้สนับสนุน นอกจากนี้พระยาทรงสุรเดช ได้ปรารภต่อหลวงสินธุสงครามชัย ร.น. ว่า พวกผู้ก่อการโดยมากเป็นเด็กไม่รู้จักสัมมาคารวะ พระยาทรงสุรเดชไม่เชื่อความสามารถผู้ก่อการและพระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาทรงสุรเดชยกตัวเองว่าเป็นผู้มีความรู้ดีกว่าพวกผู้ก่อการทั้งหลาย เคยกล่าววาจาดูถูกพระยาพหลพลพยุหเสนาบ่อย ๆ แต่กล้าวยกย่องชมเชยพระสิทธิเรืองเดชพลว่าเป็นนายทหารที่ดีที่สุดในกองทัพบก พระยาทรงสุรเดชมีนิสสัยเป็นคนชอบดูถูกคน ใครแสดงความคิดเห็นอย่างใดมา พระยาทรงสุรเดชมักจะหัวเราะเยาะ นอกจากนั้นพระยาทรงสุรเดชยังได้จัดเอาพวกของตนมาไว้ให้คุมกำลังทหารที่มีอาวุธดี และได้เคยพูดว่าให้เลิกทหารเสียก็ดีกว่า ถึงทหารบกก็เอาไว้แต่พวกรถรบสำหรับกรุงเทพฯ เท่านั้น ส่วนทหารเรือไม่จำเป็นต้องมี การที่พระยาทรงสุรเดชพูดเช่นนี้ ก็เพื่อที่จะทำอะไรได้ตามชอบใจ เมื่อทหารไม่มีแล้วย่อมไม่มีใครมาแย่งอำนาจได้

ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีประกาศให้ปิดสภาผู้แทนราษฎร การที่ปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็เนื่องมาจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกได้ทะเลาะกับผู้ก่อการถึงเรื่องงบประมาณแผ่นดิน กับเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็เพราะพระยาทรงสุรเดชกับพวกซึ่งควบคุมกำลังทหารสนับสนุนจึงกระทำการสำเร็จ ก่อนที่จะปิดสภาผู้แทนราษฎร หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ ราชเลขานุการประจำพระองค์พระปกเกล้าฯ ได้มีหนังสือมาถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดาหลายฉะบับ มีข้อความสำคัญ สภาผู้แทนราษฎรจะดำรงต่อไปไม่ได้ควรเลิกล้มเสีย ส่วนหลวงพิบูลสงครามและหลวงสินธุสงครามชัย ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยในการที่ปิดสภาผู้แทนราษฎร ในการปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา ไปพักผ่อนร่างกายเสียที่จังหวัดราชบุรี โดยคำแนะนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาทรงสุรเดช เพื่อเป็นอุบายที่จะรวบหัวรวมหางปิดสภาผูัแทนราษฎร ซึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนาหารู้เห็นด้วยไม่ เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา กลับมาถึงพระนครแล้ว พระยามโนปรณ์นิติธาดา จัชึงเอาประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎรมาให้ลงนาม แต่พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ยอม พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ว่าต้องลงนาม จึงจำใจลงนามไปเพราะเห็นว่าจะขัดขืนไปก็ไม่มีประโยชน์ เอาไว้หาทางแก้ไขในภายหลัง

ก่อนปิดสภาผู้แทนราษฎรเล็กน้อย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาฤทธิอัคเนย์กับพวก เป็นผู้คิดให้หลวงประดิษฐมนูธรรมไปต่างประเทศ เพื่อจะล้มล้างรัฐธรรมนูญเสีย โดยบอกหลวงประดิษฐมนูธรรมว่า รัฐบาลต้องการให้ไปต่างประเทศเพื่อความปลอดภัย หลวงประดิษฐมนูธรรมจึงรับปากว่าจะไป การที่รับปากเช่นนี้ ก็เพราะพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม และหลวงอดุลเดชจรัส ได้สั่งกับหลวงประดิษฐมนูธรรมว่าให้รับปากพระยาราชวังสันเสีย ส่วนทางนี้เพื่อนฝูงจะคิดแก้ไขให้กลับมาในภายหลัง เมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรมไปต่างประเทศแล้ว จึงได้พิมพ์พระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจขึ้น และในระยะนี้ก็ได้จัดการจะให้หลวงพิบูลสงครามย้ายไปอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยพลรบ จะให้พวกผู้ก่อการที่คัดค้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ส่วนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ถูกสั่งให้เตรียมตัวไปศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแผนการณ์ที่จะทำลายคณะราษฎรให้หมดสิ้นไป เพื่อคืนอำนาจให้แก่คณะเจ้า

เมื่อปิดสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ ได้มีหนังสือถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ๒–๓ คราว มีข้อความสำคัญว่า ขอสับเปลี่ยนผู้ก่อการบางตำแหน่งเสีย นอกจากนี้พระปกเกล้าฯ ยังได้มีหนังสือมาถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดาตัดพ้อต่อว่า ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาทำอะไรไม่เด็ดขาด เป็นการตีงูท่อนหาง ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขอร้องให้เปิดสภาผู้แทนราษฎรหลายหนหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จึงเห็นว่าจะอยู่ร่วมคณะต่อไปจะเสื่อมเสียจึงลาป่วย ในขณะที่ลาป่วยนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาทรงสุรเดช คิดว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญให้กลับเป็นไปตามทางปกครองระบอบเดิม พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้มีหนังสือไปเตือนพระยาทรงสุรเดชให้ระวังตัวเกรงว่าจะถูกเขาหักหลังเอา และได้แจ้งต่อไปว่า ถ้าจะลาออกให้บอกด้วยเพราะได้ข่าวว่าจะถูกประทุษร้าย ต่อมาราว ๒ อาทิตย์ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ การที่พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกนี้ก็เพื่อจะลองพระทัยพระปกเกล้าฯ ว่าถ้าไม่เห็นด้วยคงจะรับสั่งและเรียกไปสอบถาม จะได้เล่าเรื่องราวให้ฟัง แต่พระปกเกล้าฯ อนุญาตให้ลาออกเลยทีเดียว แล้วตั้งผู้บัญชาการทหารบกขึ้นใหม่ การที่กระทำไปดั่งกล่าวแล้ว พระปกเกล้าฯ เป็นผู้ทรงตั้งแต่ง เหตุที่พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ลาออกนั้น ในชั้นแรกพระยาพหลพลพยุหเสนานไม่ทราบเหตุผล ภายหลังจึงทราบว่าเป็นกลอุบายอย่างหนึ่ง คือ เมื่อพระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธลาออกแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนา จะได้ลาออกตามไปด้วย เพื่อจะให้อำนาจนั้นตกไปอยู่แก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจะได้หาวิธีการกระทำให้อำนาจการปกครองกลับเป็นไปตามระบอบเดิม

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออกจากราชการแล้ว ได้มีตำรวจมาล้อมอยู่รอบ ๆ บ้าน เพื่อคิดจะทำร้ายพระยาพหลพลพยุหเสนา ตามแผนการที่วางไว้ ในระหว่างนั้นพระยาทรงสุรเดช ได้ไปบอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ว่าถ้าใครเขามาชวนทำอะไรซึ่งเกี่ยวข้องแก่การบ้านการเมืองอีก อย่าให้ทำต่อไป พระยาพหลพลพยุหเสนาก็รับปาก แต่เมื่อมีตำรวจมาล้อมและมีคนจะมาทำร้ายเช่นนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงรู้สึกว่าจะต้องมีภัยแน่ จะหนีไปก็ไม่ได้เพราะมีเงินติดตัวอยู่เพียง ๒๗ บาท จึงได้เชิญหลวงชำนาญยุทธศิลป์กับหลวงอำนวยสงครามมาที่บ้านแล้วเล่าเรื่องราวดั่งกล่าวแล้วให้ฟัง และขอความช่วยเหลือด้วย แต่หลวงชำนาญยุทธศิลป์บอกว่ามีทหารอยู่ในบังคับคนละกองพันเท่านั้นสู่เขาไม่ได้ ได้แนะนำให้ไปทาบทามหลวงพิบูลสงคราม ในที่สุดพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้ไปตามหลวงพิบูลสงครามมาและเล่าเรื่องราวที่กล้าวแล้วให้ฟัง หลวงพิบูลสงครามว่ารู้เรื่องหมดแล้ว รับว่าจะช่วยเหลือและขอให้พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้นำยึดการปกครองอีกครั้งหนึ่ง ชั้นแรกพระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ยอมรับ เพราะได้รับปากพระยาทรงสุรเดชแล้ว แต่หลวงพิบูลสงครามอ้อนวอนขอให้พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่งเถิด พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงรับว่าจะเป็นผู้นำโดนเห็นว่าเป็นการป้องกันตัว ทั้งเวลานั้นพระยาทรงสุรเดชและพระประศาสน์พิทยายุทธก็หนีไปแล้ว ส่วนพระยาฤทธิ์อัคเนย์ได้มาบอกกับพระยาพหลพลพยุหเสนาว่าให้หนีไปเสียอย่างพระยาทรงสุรเดชและพระประศาสน์พิทยายุทธ พระยาพหลพลพยุหเสนาบอกว่าไม่มีเงิน พระยาฤทธิ์อัคเนย์จึงไปเอาเงินเดือนของพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ค้างอยู่ ๒๐๐ บาทเศษมาให้ การที่พระยาฤทธิ์อัคเนย์มาทำเช่นนี้เป็นกลอุบายอย่างหนึ่งเพื่อให้พระยาพหลพลพยุหเสนาไปเสียให้พ้น

เมื่อยึดอำนาจการปกครองวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้ว พระปกเกล้าฯ ได้ทรงตั้งให้พระพยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ชั้นแรกไม่ยอมรับโดยอ้างว่าไม่มีความรู้ แต่พระปกเกล้าฯ ขอร้องให้รับจึงยอมรับเป็นเพียง ๑๕ วัน ครั้นครบ ๑๕ วันแล้วพระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ยอมรับ พระปกเกล้าฯ รับสั่งว่าได้ทำงานการไปเป็นที่เรียบร้อยขอให้เป็นต่อไปอีก พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงจำใจต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา การที่พระปกเกล้าฯ ขะยั้นขะยอขอให้พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาเช่นนี้อีกก็เพื่อจะให้พระยาพหลพลพยุหเสนาทำเสียให้แย่ เมื่อทำไม่ไหวแล้วก็คงจะปล่อยการปกครองให้เป็นไปตามรูปเดิม

ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระปกเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงษ์มาพูดทาบทามพระยาพหลพลพยุหเสนาว่าจะพระราชทานเงินให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่พระยาพหลพลพยุหเสนามาคิดว่า การที่จะพระราชทานคงต้องการแลกเปลี่ยนอะไรสักอย่างหนึ่งในเรื่องการเมือง จึงไม่ยอมรับ

เมื่อยึดอำนาจการปกครองครั้งที่ ๒ แล้ว ในตอนต้นพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้กลับเข้ารับราชการอีก ส่วนพระยาทรงสุรเดชหายอมกลับเข้ารับราชการไม่ เพราะตำแหน่งที่พระยาทรงสุรเดชต้องการนั้นไม่ถูกต้องตามความประสงค์ พระยาทรงสุรเดชจะต้องการตำแหน่งบังคับบัญชาทหาร เช่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นต้น ส่วนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ไปอยู่ที่ชายทะเลตำบลบ้านชะอำ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้บอกกับนายพันโทประยูร ภมรมนตรีว่า ให้ระวังตัวเพราะจะเกิดการกบฏใหญ่โต มีเจ้านายที่คิดการครั้งนี้ เช่น กรมพระสวัสดิ์ฯ และข้าราชการทหาร เช่นพระยาเสนาสงครามเป็นต้น แล้วนายพันโท ประยูร ภมรมนตรี จีงได้เล่าให้หลวงอดุลเดชจรัสฟัง รุ่งขึ้นนายพันโท ประยูร ได้ไปหาพระยาฤทธิ์อัคเนย์เพื่อจะเล่าถึงเรื่องที่จะเกิดกบฏให้ฟัง พระยาฤทธิ์อัคเนย์ตอบว่าทราบแล้ว ได้มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่และชั้นผู้บังคับกองพันมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเป็นเวลาจวนตัวแล้วจะแก้ไขอะไรไม่ทัน ต้องรวมเป็นพวกเดียวกันเสียแล้วไปแก้ไขเอาข้างหน้า เราได้กอดคอกันมาแล้วต้องช่วยกัน ทางฝ่ายทหารบกต้องพึ่งพระยาทรงสุรเดช เพราะในขณะนั้นไม่มีใครเป็นผู้ใหญ่ พวกผู้บังคับกองพันนั้น พระยาฤทธิ์อัคเนย์ว่าเป็นลูกศิษย์พระยาทรงสุรเดช

ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นหัวหน้าพวกกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ อยู่ด้วยคนหนึ่งนั้น ได้ความว่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ พระองค์เจ้าบวรเดชได้เรียกพระยาพหลพลพยุหเสนา และนายดิ่น ท่าราบ (พระยาศรีสิทธิสงคราม) ไปทาบทามแล้วให้พระยาพหลพลพยุหเสนาแสดงความคิดความเห็นเรื่องการปกครองของประเทศไทยในขณะนั้นว่าดีเลวเพียงไร พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ชี้แจงว่า ชอบการปกครองอย่างมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมาย อย่างริปับลิกไม่ชอบ พระองค์เจ้าบวรเดชจึงได้พูดว่า พระเจ้าอยู่หัวอยากจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่เหมือนกัน แต่อภิรัฐมนตรีคัดค้านว่าไม่ควรให้ เพราะยังไม่ถึงเวลา พระองค์เจ้าบวรเดชก็เห็นพ้องด้วยตามที่พระยาพหลพลพยุหเสนาแสดงความคิดเห็น แต่พระองค์เจ้าบวรเดชพูดต่อไปว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจะให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นเสนาบดีก็ไม่ยอมรับ เพราะทำอะไรไม่สำเร็จ ต้องให้เป็นอัครมหาเสนาบดีจึงจะมีอำนาจทำอะไรได้เต็มที่ พระองค์เจ้าบวรเดชได้ถามพระยาพหลพลพยุหเสนากับนายดิ่น ให้แสดงความคิดความเห็นมาว่า ทำอย่างไรจึงจะให้พระปกเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญได้ ในเมื่ออภิรัฐมนตรีห้ามอยู่เช่นนี้ นายดิ่นก็นิ่งและมิได้ออกความเห็นอย่างไร ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกความเห็นว่า ให้จับองค์อภิรัฐมนตรีต่าง ๆ มาขังเสีย แล้วยึดอำนาจการปกครองและขอพระราชทานรัฐธรรมนูญต่อไป พระองค์เจ้าบวรเดชไม่เห็นด้วย เพราะอ้างว่าผิดกฎหมายและพูดว่าจะทำอย่างอื่นไม่ให้รุนแรงไม่ได้หรือ พระยาพหพลพยุหเสนาตอบว่าไม่เห็นมีทางเลย ในที่สุดพระองค์เจ้าบวรเดชให้กลับไปก่อน นัดวันหลังจึงค่อยมาพูดกันใหม่ ต่อจากนั้นมาอีกราว ๗ วันพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ไปเฝ้าพระองค์เจ้าบวรเดชอีก พระองค์เจ้าบวรเดชว่าอย่างวิธีการของพระยาพหลพลพยุหเสนานั้นไม่เอา ขอให้พระยาพหลพลพยุหเสนาไปเขียนความเห็นลงในหนังสือพิมพ์ติเตียนว่า การปกครองอย่างเก่าไม่ดี และให้แสดงความเห็นว่าการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้นดี แต่พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่เห็นด้วย เพราะวิธีที่แสดงความเห็นลงในหนังสือพิมพ์นั้นเคยติดคุกกันมามากแล้ว พระองค์เจ้าบวรเดชจึงขอร้องให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ไปชักชวนเพื่อนฝูงและเสมียนพนักงานให้ทำการร่วมใจกันหยุดงาน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจะไม่ยอมทำงาน และให้พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกเสีย พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงพูดว่าในเมืองไทยมีแต่คนพึ่งเงินเดือน คงไม่มีใครยอมหยุดงานและไม่ยอมลาออก จึงไม่ตกลงกัน ครั้ยแล้วต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดชก็ไม่ได้มีส่วนร่วมมือหรือร่วมคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยเลย

เมื่อตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎรแล้วนั้น พระองค์เจ้าบวรเดชไม่พอพระทัย ได้พูดต่อว่าพระยาพหลพลพยุหเสนาว่าทำไมไม่ให้ท่านเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนาว่าได้เสนอต่อที่ประชุมแล้วแต่ที่ประชุมส่วนมากเขาไม่ให้เป็น จะมาต่อว่านั้นไม่ถูก จะมาต่อว่านั้นไม่ถูก ตั้งแต่นั้นมาพระองค์เจ้าบวรเดชก็ไม่ชอบพระยาพหลพลพยุหเสนา

ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ ประมาณ ๒๐ วัน พระยาทรงสุรเดชกับพระประศาสน์พิทยายุทธได้เดินทางไปต่างประเทศ พระยาทรงสุรเดชได้พูดกับนายสงวน ตุลารักษ์ว่า คณะพวกเจ้าเขาจะเล่นงานพวกผู้ก่อการ นายสงวรจึงตอบว่าเมื่อเขาจะเล่นงานแล้วก็ควรจะอยู่ช่วยกัน พระยาทรงสุรเดชจึงพูดว่า เมื่อใครเขาอยู่ก็ให้เขาทำไปก็แล้วกัน การที่พระยาทรงสุรเดชพูดเช่นนี้ก็เพื่อพูดกะทบพระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงพิบูลสงคราม เมื่อเกิดกบฏขึ้นพระยาทรงสุรเดชได้เดินทางไปถึงโคลัมโบ พระยาพหลพลพยุหเสนาได้โทรเลขเรียกให้กลับมาเพื่อช่วยเหลือทำการปราบกบฏ แต่พระยาทรงสุรเดชกลับตอบว่าเรื่องเล็กน้อยให้ทำกันไปเถอะ

ส่วนพระปกเกล้าฯ นั้น ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ เล็กน้อยได้ความตามคำของพระยาอิศราธิราชเสวี, นายพันตรี จมื่นรณภพพิชิต, เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ และพระนรราชจำนง พะยานโจทก์ประกอบด้วยเอกสารว่า ได้ไปประทัยอยู่ ณ พระที่นั่งไกลกังวลพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสำคัญ ๆ หลายคนอยู่ที่หัวหิน ในระหว่างนั้นพระปกเกล้าฯ ได้สั่งให้พระยาอิศราธิราชเสวีจ่ายเงินให้แก่เจ้ากาวิละวงศ์ ๒ ครั้ง เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท เพื่อให้ซื้อสะเบียงอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ไว้สำหรับใช้เมื่อในคราวที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เจ้ากาวิละวงศ์ได้จัดซื้อข้าวและเครื่องกะป๋องไว้ นอกจากนี้พระปกเกล้าฯ ได้ใช้ให้เจ้ากาวิละวงศ์ตัดถนนจากหัวหินถึงปากทวารชายแดนพม่า เจ้ากาวิละวงศ์ยังได้เฝ้าพระปกเกล้าฯ อยู่เสมอตลอดจนเกิดการกบฏขึ้น

ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีคนพูดกันที่หัวหินว่า ทางกรุงเทพฯ อาจมีการยุ่ง ๆ กัน หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ อ้างพระบรมราชโองการสั่งให้พระยาอิศราธิราชเสวีจัดแผนการที่จะเตรียมเสด็จจากหัวหินโดยทางรถไฟไปทางปักษ์ใต้ และจัดการรักษาพระองค์ด้วย พระยาอิศราธิราชเสวีจึงได้ทำแผนการเคลื่อนขะบวนและรักษาพระองค์อย่างละเอียดขึ้นไว้เพื่อใช้ในการที่จะเสด็จ ในบัญชีรายละเอียดตามแผนการณ์ดั่งกล่าวแล้ว มีหีบเครื่องไอพิษน้ำตา ซึ่งหม่อมราชวงศ์สมัคสมาน กฤดากร รักษาไว้และในระหว่างกบฏก็ได้ใช้แผนการณ์ที่พระยาอิศราธิราชเสวีทำไว้นั้นในการเดินทางไปจังหวัดสงขลา นอกจากนี้ปรากฏต่อไปว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดกบฏ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ได้พูดขึ้นในพระที่นั่งไกลกังวลเป็นเชิงว่าจะมีกบฏเกิดขึ้นทางกรุงเทพฯ ก่อนเกิดกบฏ นายอิ้น บุนนาค (พระยาสุรพันธ์เสนี) ซึ่งเป็นกบฏในคราว พ.ศ. ๒๔๗๖ และศาลพิเศษได้พิพากษาลงโทษไปแล้วนั้น ได้ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ ที่หัวหิน และพระปกเกล้าฯ ใหจ่ายเงินในวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้แก่นายอิ้นไป ๑๖๗ บาท ๕๐ สตางค์ วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้แก่เจ้ากาวิละวงศ์อีก ๓,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้แก่เจ้ากาวิละวงศ์อีก ๓,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ให้แก่นายอิ้นไปอีก ๕๐๐ บาท วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้แก่ภริยาของนายพิทย์ไป ๒๐๐ บาท ดั่งปรากฏตามบัญชีการจ่ายงินค่าใช้สอยส่วนพระองค์ซึ่งโจทก์ได้อ้างมา

ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, หม่อมเจ้าวงศ์นิรชรและพระองค์เจ้าบวรเดชไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ ที่หัวหิน ส่วนหลวงอภิบาลภูวนารถเป็นองครักษ์ประจำอยู่ที่หัวหิน และพระองค์เจ้าบวรเดชได้เคยมีหนังสือถึงหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงษ์และพระปกเกล้าฯ ที่หัวหินหลายฉะบับ นอกจากนี้ปรากฏหลักฐานทางทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ว่า พระปกเกล้าฯ ได้จ่ายเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชไป ซึ่งเข้าใจว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการกบฏคราวนั้น

ครั้นวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เกิดกบฏและมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ ขึ้นสำหรับพิจารณาพิพากษา ในครั้งนั้นศาลพิเศษฟังว่าพระองค์เจ้าบวรเดชได้เป็นหัวหน้าของฝ่ายกบฏด้วยผู้หนึ่ง และสาเหตุที่เกิดกบฏขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น ได้ความว่าเนื่องมาจากเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ และให้พระปกเกล้าฯ มีอำนาจตามเดิม ส่วนผู้ที่สนับสนุนในการนั้นก็หมุ่งหวังในตำแหน่งลาภยศในภายหน้า นอกจากนี้ก็มีเรื่องคุมแค้นกันเป็นส่วนตัว

ต่อจากนี้ไป ศาลจะได้พิจารณาว่า จำเลยคนใดมีความผิดตามฟ้องโจทก์อย่างใดหรือไม่ ข้อนี้ได้ความดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

๑) นายลี บุญตา กับนายพันโท พระสุรรณชิต จำเลยนั้น ได้ความจากนายเช้า มากเสน, นายคำ ภู่ศรี, หม่อมราชวงศ์ประยูร วรรัตน์, นายร้อยตรีผล สมงาม, นายเช็งนำ แซ่วัน, นายพันตำรวจตรี หลวงแผ้วพาลชน พะยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลาราว ๑๗ นาฬิกา พระสุรรณชิต, นายพันตรี หลวงสงครามวิจารณ์ กับชายอีก ๒ คนหญิงอีก ๑ คน ได้เข้าไปรับประทานอาหารและเสพสุราที่ร้านนายเช็งนำ ซึ่งตั้งอยู่ถนนพระราม ๕ ใกล้กับถนนระยองตรงข้ามกับกองทหารสื่อสารบางซื่อ สักครู่หนึ่งนายลีได้เข้าไปรับประทานร่วมวงด้วย ต่อมาก็มีหม่อมราชวงศ์ประยูร มารับประทานร่วมวงด้วยอีกคนหนึ่ง นายเช้าซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ณ ที่นั้นและหม่อมราชวงศ์ประยูร ได้ยินพระสุรรณชิตพูดกับนายลีว่า เรื่องที่พูดไว้ต้องทำให้สำเร็จ จะเลี้ยงดูตลอดชีวิต นายลีรับว่าจะพยายามกระทำให้สำเร็จ แล้วหลวงสงครามวิจารณ์จึงพูดกับหม่อมราชวงศ์ประยูรว่า เรื่องที่สั่งไว้ต้องทำให้สำเร็จ ทำอะไรขอให้พร้อมใจกันและต้องทำจริง ๆ ทำอย่างเด็ดขาด ความกล้าหาญหมายความว่าฝืนใจหรือหักใจจึงจะเป็นผลสำเร็จ ตายก็ตายด้วยกัน ถ้าไม่ตายเงินทองมาเอง พวกที่อยู่ด้วยกันทุกคนนี้เป็นเพื่อนร่วมตายด้วยกันทั้งนั้น แล้วพระสุรรณชิตพูดว่า จงพยายามทำกันให้หมดความสามารถ ต้องทำกันเด็ดขาด เมื่อทำสำเร็จแล้วเงินทองจะมาภายหลัง ต่อจากนี้ชายอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นพูดขึ้นว่า เอาเถอะถึงแม้จะพลาดพลั้งจะส่งเสีย นายลีได้ยิ้มแย้มแสดงกิริยาเป็นที่พอใจใจคำพูดเหล่านั้น สักครึ่งชั่วโมงหลวงสงครามวิจารณ์ได้ขับรถยนตร์ไปส่งหม่อมราชวงศ์ประยูรที่วังปารุสกวัน ครั้นถึงหน้าวัดเบญจมบพิตร หลวงสงครามวิจารณ์ได้ควักห่อยาส่งให้หม่อมราชวงศ์ประยูร ๑ ห่อ สั่งให้ใส่ลงในอาหารเพื่อให้พระยาพหลพลพยุหเสนารับประทานในคืนนั้น ถ้าไม่สำเร็จให้ใส่ในวันรุ่งขึ้น แต่หม่อมราชวงศ์ประยูร ได้ทิ้งห่อยานั้นเสียที่คลองเม่งเสงโดยไม่มีกำลังใจที่จะกระทำแก่พระยาพหลพลพยุหเสนาตามคำสั่งของหลวงสงครามวิจารณ์ได้ ส่วนหลวงสงครามวิจารณ์นั้นเมื่อส่งหม่อมราชวงศ์ประยูรแล้ว ก็กลับไปร้านนายเช็งนำตามเดิมอีก พอค่ำต่างก็พากันขึ้นรถกลับไป

ได้ความตามคำให้การนายร้อยเอกเผ่า ศรียานนท์, นายร้อยตรีผล สมงาม และพันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต พะยานโจทก์ต่อไปว่า วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลาค่ำ หลวงพิบูลสงครามกับภริยากำลังแต่งตัวจะไปรับประทานอาหารในการเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม ส่วนพันจ่าตรีทองดีได้นำเอาปืนพกชะนิดโคลท์รีวอลเวอร์มาไว้ในรถยนตร์คันที่เตรียมจะไปกระทรวงกลาโหม ครั้นเวลา ๑๙ นาฬิกามีเสียงปืนลั่นขึ้นที่ห้องชั้นบนในห้องของหลวงพิบูลสงคราม ๑ นัด ในทันใดนั้นหลวงพิบูลสงครามก็ร้องขึ้นว่า “ตาลียิง” นายร้อยตรีผลก็วิ่งขึ้นไปชั้นบนจวนจะสุดบรรไดก็ได้ยินเสียงปืนดังอีก ๑ นัด ในขณะนี้เห็นหลวงพิบูลสงครามวิ่งออกมาจากห้องนางพิบูลสงครามสวนกับนายร้อยตรีผล นายลีวิ่งตามมาห่างประมาณ ๑ เมตร หลวงพิบูลสงครามได้ร้องว่า “ตาลียิง” อีก นายร้อยตรีผลจึงได้ผลักหลวงพิบูลสงครามเข้าไปในห้อง ในขณะนี้เองนายลีได้ยกมือที่ถือปืนขึ้นหันปากกะบอกปืนไปทางหลวงพิบูลสงคราม ทำท่าจะยิงซ้ำอีก นายร้อยตรีผลจึงได้โดดเอามือซ้ายปัดมือขวาของนายลี และชกนายลีล้มคว่ำลงไปแล้วจึงคร่อมไว้เอามือซ้ายรัดคอ เอามือขวาแย่งปืนที่นายลี ขณะนั้นมีนายร้อยเอกเผ่า, นายร้อยตรีเปล่ง รุจะศิริ, พันจ่าตรีทองดีได้เข้ามาช่วยกันจับแย่งปืนจากมือนายลีไปได้ แล้วจึงนำตัวลงมาข้างล่างมอบตัวให้ตำรวจไป ปืนที่แย่งมาได้นั้นเป็นปืนโคลท์รีวอลเวอร์ของหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งพันจ่าตรีทองดีนำไปวางไว้ในรถยนตร์คันที่เตรียมจะใช้ไปในงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม กะสุนปืนที่นายลีใช้ยิงนั้น นัดแรกถูกพื้นทะลุลงมายังห้องรับแขก นัดที่ ๒ ถูกขอบกะจกโต๊ะเครื่องแป้งของนางพิบูลสงคราม ในขณะที่นายลียิงนั้น หลวงพิบูลสงครามกำลังเริ่มแต่งกายไปในงานเลี้ยง

นายลีผู้นี้มีหน้าที่ขับรถยนตร์ หลวงพิบูลสงครามได้อุปการะเลี้ยงดูให้มีฐานะดีขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนบุตร์ภริยาและเป็นผู้ไว้เนื้อเชื่อใจมาช้านานแล้ว

ได้ความจากนายร้อยตรีผล และนางริ้ว กฤษณเหม พะยานโจทก์ต่อไปว่า ก่อนที่นายลีจะยิงหลวงพิบูลสงครามสักเล็กน้อย เห็นนายลีได้เสพสุราถี่ขึ้น มักจะออกไปนอกบ้านผิดปกติและกลับบ้านเวลาค่ำคืนเสมอ ก่อนเกิดเหตุประมาณ ๑๕ วัน นางริ้วได้ยินนายลีพูดกับบุตร์ว่า เดือน ๑๒ นี้ถ้าพ่อถูกหวยเบอร์แล้วพ่อไม่ยอมตายดอกน๊ะ ถ้าไม่ถูกละพ่อตาย นางริ้วถามนายลีว่าทำไมจึงพูกอย่างนั้น นายลีตอบว่าไม่เชื่อก็คอบดูไปซี ก่อนเกิดเหตุ ๑ วันนายลีไม่อยู่บ้าน เวลาราว ๒๑ นาฬิกาจึงกลับมามีอาการมึนเมาด้วย

นายลีอ้างตัวเองเป็นพะยานเบิกความว่า ได้อยู่กับหลวงพิบูลสงครามมา ๗ ปีแล้ว ได้เงินเดือนครั้งแรก ๖ บาท และขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงวันเกิดเหตุได้เดือนละ ๒๕ บาท หลวงพิบูลสงครามเป็นคนใจคอดีไม่เคยดุด่าว่าจำเลยแต่อย่างใด วันเกิดเหตุได้ยิงหลวงพิบูลสงคราม ๒ นัดจริง นัดแรกยิงเมื่อหลวงพิบูลสงครามกำลังแต่งตัวนัดที่ ๒ ยิงเมื่อหลวงพิบูลสงครามได้วิ่งเข้าไปอยู่อีกห้องแล้วปิดประตู จำเลยได้ผลักประตูตามเข้าไปยิงอีก คนที่อยู่ในห้องนั้นตลอดจนหญิงและเด็กต่างร้องเสียงเกรียวกราว แล้วจึงมีนายร้อยตรีผล มาตวัดคอแย่งปืนไป การที่ยิงนั้นเพราะเมาและไม่ได้ตั้งใจจะยิงนอกจากตัวเองแล้วไม่มีพะยานอื่นสืบอีก

พระสุรรณชิต อ้างตัวเองเป็นพะยานเบิกความว่า ตามวันเวลาที่พะยานโจทก์กล่าวหานั้น หาได้ไปที่ร้านนายเช็งนำไม่ นอกจากนี้ยังมีเด็กชายสังกร กังสวร นายจินดา กังสวร บุตร์จำเลยและหลวงพิบูลย์อนุโยคกิจ เบิกความเป็นพะยานจำเลยว่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลาค่ำจำเลยได้อยู่ที่ร้านของจำเลยเสมอ เมื่อออกจากร้านแล้วก็กลับบ้าน ถ้าจะไปที่อื่นก็ไปกับหลวงพิบูลย์อนุโยคกิจ แต่ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ จำเลยจะอยู่ที่ร้านหรือจะไปไหนกับใครไม่ทราบ หลวงพิบูลย์อนุโยคกิจเบิกความต่อไปว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ในคราวมีงานภูเขาทอง ๕ วันนั้น พะยานได้เคยไปเที่ยวงานภูเขาทองกับจำเลยครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นวันไหนจำไม่ได้

ศาลได้พิจารณาพะยานโจทก์จำเลยตลอดแล้ว เห็นว่าหม่อมราชวงศ์ประยูร พะยานโจทก์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับหลวงสงครามวิจารณ์ และหลวงสงครามวิจารณ์ก็ชอบพอรู้จักกับพระสุรรณชิตเป็นอย่างดี และพะยานของโจทก์ที่เบิกความมาทั้งหมด ก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยแต่อย่างใด การที่ต้องมาเป็นพะยานโจทก์ก็เพราะเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนไปจนถึงตัวพะยาน จึงจำใจต้องมาเบิกความตามความจริง และพระสุรรณชิตก็ได้เป็นสายลับ รับเงินเดือนของตำรวจสันติบาลมาช้านานรู้จักชอบพลกับเจ้าหน้าที่ ไม่มีสาเหตุต่อกันอย่างใด และยังได้ความต่อไปว่า ตั้งแต่พระสุรรณชิตเป็นสายลับของตำรวจมาหาเคยรายงานถึงผลของการสืบสวนที่ได้กระทำไปให้เจ้าหน้าที่ทราบเหมือนสายลับคนอื่น ๆ ไม่ ถึงปานนี้แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังจ่ายเงินเดือนให้แก่พระสุรรณชิตเสมอมา จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่เจ้าหน้าที่จะแกล้งกล่าวให้พระสุรรณชิตได้รับโทษทัณฑ์อย่างใด

ข้อแก้ตัวของนายลีไม่มีน้ำหนักและไม่สมด้วยเหตุผล ส่วนพะยานฐานที่ของพระสุรรณชิตที่นำสืบมานั้นก็ไม่ยืนยันแน่นอนว่าวันไหนและเวลาใดพระสุรรณชิตอยู่ที่ไหน จึงไม่สามารถหักล้างหลักฐานพะยานโจทก์ได้ ข้อที่พระสุรรณชิตอ้างว่าเป็นสายลับของตำรวจนั้น กลับได้ความว่าได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นเครื่องบังหน้าเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการกระทำผิดครั้งนี้ คดีจึงเป็นอันฟังได้ว่า นายลีได้ร่วมคิดกับพระสุรรณชิตยิงหลวงพิบูลสงครามโดยสัญญเจตนาจะให้ถึงแก่ความตายจริง

การที่นายลีและพระสุรรณชิต ได้ร่วมคิดกันกระทำความผิดในครั้งนี้ เพื่อประโยชน์หรือมุ่งหมายอันใดนั้น ได้ความจากหม่อมราชวงศ์ประยูรและนายทวี เนียมพยัคฆ์ พะยานโจทก์ว่า หลวงสงครามวิจารณ์ได้สั่งให้นายทวี ซึ่งเป็นญาติของหลวงสงครามวิจารณ์ ไปบอกให้หม่อมราชวงศ์ประยูร ไปหาที่ร้านแม้กซิมเบียร์ฮอลล์ ต่อมาปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ หม่อมราชวงศ์ประยูรจึงไปหาหลวงสงครามวิจารณ์ตามที่สั่งไว้ หลวงสงครามวิจารณ์ได้แนะนำให้รู้จักกับพระสุรรณชิตและไต่ถามความทุกข์สุข และหน้าที่ราชการแล้วก็กลับ ก่อนกลับหลวงสงครามวิจารณ์สั่งให้หม่อมราชวงศ์ประยูรไปหาอีกหลายครั้ง เมื่อไปพบแล้วหลวงสงครามวิจารณ์ได้กล่าวติเตียนหลวงพิบูลสงครามว่าเด็ก ๒ – ๓ วันทำสง่าอวดยิ่ง ส่วนพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาก็กลัวเขา และให้เขาจับเชิดเล่นเหมือนหนังตะลุง และสอบถามว่าหลวงอดุลเดชจรัสนอนที่ไหน หม่อมราชวงศ์ประยูร ขึ้นไปบนที่พระยาพหลพลพยุหเสนานอนได้ไหม นอกจากนี้ได้สั่งหม่อมราชวงศ์ประยูรให้ยักเอาหนังสือราชการลับไว้สัก๓ ฉะบับ ขณะที่หลวงสงครามวิจารณ์พูดนั้นพระสุรรณชิตก็อยู่และได้ยิน พระสุรรณชิตได้พูดต่อไปว่า คนจำพวกนี้ต้องกำจัดเสีย เอาแต่พวกของตน แล้วหลวงสงครามวิจารณ์ได้ขอให้หม่อมราชวงศ์ประยูรทำงานสักอย่างหนึ่ง คือช่วยกำจัดพระยาพหลพลพยุหเสนาเสีย หม่อมราชวงศ์ประยูรก็รับว่าได้ หลวงสงครามวิจารณ์ว่าต้องทำจริง ๆ ต้องตัดสินใจเด็ดขาด จะทำเหลวใหลไม่ได้ ดูแต่พระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม เขาดีกว่าเรายังกล้าคิดกล้าตาย คนอย่างเราจะไปเสียดายอะไร เมื่อทำสำเร็จแล้วหลวงสงครามวิจารณ์ว่าจะเชิญรัชกาลที่ ๗ และกรมพระนครสวรรค์กลับมา จะให้พระยาเทพหัสดินเป็นบริหารราชการแผ่นดิน หลวงสงครามวิจารณ์จะเป็นรัฐมนตรี ส่วนหม่อมราชวงศ์ประยูรจะเลี้ยงดูอย่างดี ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้พบกับหลวงสงครามวิจารณ์ ๆ ได้นัดให้ไปพบที่ร้านจีนขายอาหารบางลำภู ครั้นถึงสถานที่ที่กล่าวแล้ว ได้ไปพบพระสุรรณชิต หลวงสงครามวิจารณ์กับชายอีกคนหนึ่งอยู่ที่นั้น แล้วรับประทานอาหารและสุรากัน หลวงสงครามวิจารณ์ได้พูดว่าจะทำอะไรต้องทำให้จริง ๆ ทำให้เด็ดขาด เมื่อสำเร็จแล้วผลจะมาภายหลัง เงินก็จะมีมาเอง ถึงแม้จะตายก็ให้ตายด้วยกัน พระสุรรณชิตพูดว่า คนเราเกิดมาเป็นลูกผู้ชายตายครั้งเดียว ทำอะไรต้องมีความซื่อตรงต่อกันและกันจึงจะเป็นผลสำเร็จ เมื่อทำสำเร็จแล้วเราจะต้องมีรถเก๋งงาม ๆ ขี่กับเขาเหมือนกัน แล้วพากันไปที่ร้านนายเช็งนำที่ปากถนนระนอง ยังไม่ทันเข้าร้านหลวงสงครามวิจารณ์จึงบอกว่า ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลา ๑๗ หรือ ๑๘ นาฬิกา ให้หม่อมราชวงศ์ประยูร ไปพบหลวงสงครามวิจารณ์ที่ร้านนั้นอีก ครั้งถึงกำหนดก็ไปตามนัด จึงได้ไปพบกับนายลี พระสุรรณชิต จำเลย และหลวงสงครามวิจารณ์กับพวกดั่งกล่าวแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังได้ความจากนายชลอ ฉายกระวี พะยานโจทก์ว่า เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ไปหานายร้อยโทเผ่าพงษ์ และนายดาบผุดพันธ์ ซึ่งอยู่หลังบ้านพระยาเทพหัสดินในบริเวณเดียวกัน เห็นพระสุรรณชิตกับหลวงวิจารณ์ไปบ้านพระยาเทพหัสดิน แล้วต่อมานายร้อยโทเผ่าพงษ์, นายร้อยตรีบุญมาก กับนายชลอจึงได้พากันเข้าไปในบ้านของพระยาเทพหัสดิน พบพระยาเทพหัสดิน, พระสุรรณชิต, หลวงสงครามวิจารณ์ กับชายอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ แล้วนายร้อยโทเผ่าพงษ์ก็บอกกับบุคคลเหล่านั้นว่านี่แหละเป็นพวกของเรา นายชลอจึงยกมือไหว้บรรดาพวกที่นั่งอยู่ในที่นั้นทุกคน ทันใดนายร้อยตรีบุญมากพูดขึ้นว่า ถ้าลื้อทำสำเร็จแล้วจะให้เงิน ๕,๐๐๐ บาท และจะเลี้ยงครอบครัวตลอดไป พระยาเทพหัสดินพูดว่าขอให้สำเร็จก็แล้วกัน เงินกองกลางอยู่ที่อั้ว ที่ให้นั้นพอใจหรือไม่ นายชลอตอบว่าเท่าที่จะให้นั้นก็เป็นพระเดชพระคุณแล้ว พวกที่นั่งอยู่นั้นจะเป็นใครจำไม่ได้ ได้พูดสนับสนุนขึ้นมาว่า ขอให้ทำสำเร็จเถิดน้องชาย แล้วนายชลอก็รับปากว่าได้ ต่อจากนั้นมาราว ๓๐ นาที นายร้อยโทเผ่าพงษ์ก็พานายชลอกลับไปที่บ้านตน นายชลอได้ถามนายร้อยโทเผ่าพงษ์ว่าจะให้ทำอะไร นายร้อยโทเผ่าพงษ์ได้ตอบว่าอีก ๒–๓ วันจึงค่อยรู้เรื่อง แล้วนายชลอก็กลับบ้าน

นายสวัสดิ์ ละกอนทอง พะยานโจทก์ ได้เบิกความรับรองว่า ได้เป็นผู้ขับรถยนตร์พานายชลอพร้อมด้วยนายร้อยตรีบุญมาก, นายดาบผุดพันธ์ ไปที่บ้านพระยาเทพหัสดิน

ส่วนนายชวย ลวะเปาระยะ พะยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้ขับรถจักรยาน ๓ ล้อพานายลีไปส่งที่บ้านนายร้อยตรีบุญมาก ที่ข้างวัดราชาธิวาส และเคยนำนายร้อยตรีบุญมากไปส่งที่กรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้พานายลีไปส่งที่หน้าร้านนายเช็งนำใกล้ ๆ กับที่ปากถนนระนอง ๑ พอรุ่งขึ้นก็ได้ทราบว่าหลวงพิบูลสงครามถูกนายลียิง ดังนี้จึงเห็นได้ชัดเจนว่า การที่นายลีดและพระสุรร(ณชิตกระทำผิดครั้งนี้ หาได้กระทำขึ้นโดยฉะเพาะจำเลย ๒ คนดังกล่าวแล้วไม่ ยังเกี่ยวข้องพาดพิงไปถึงคนอื่นซึ่งได้ร่วมคิดกันในการกระทำผิดครั้งนี้ด้วย และเกี่ยวข้องไปในทางการเมือง หาใช่ความผิดอย่างธรรมดาแล้วไม่หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/40หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/41หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/42หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/43หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/44หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/45หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/46หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/47หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/48หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/49หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/50หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/51หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/52หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/53หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/54หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/55หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/56หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/57หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/58หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/59หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/60หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/61หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/62หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/63หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/64หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/65หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/66หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/67หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/68หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/69หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/70หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/71หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/72หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/73หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/74หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/75หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/76หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/77หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/78หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/79หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/80หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/81หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/82หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/83หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/84หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/85หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/86หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/87หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/88หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/89หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/90หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/91หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/92หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/93หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/94หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/95หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/96หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/97หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/98หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/99หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/100หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/101หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/102หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/103หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/104หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/105หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/106หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/107หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/108หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/109หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/110หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/111หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/112หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/113หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/114หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/115หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/116หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/117หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/118หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/119หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/120หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/121หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/122หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/123หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/124หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/125หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/126หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/127หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/128หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/129หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/130หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/131หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/132หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/133หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/134หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/135หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/136หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/137หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/138หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/139หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/140หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/141หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/142หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/143หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/144หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/145หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/146หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/147หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/148หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/149หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/150หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/151หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/152หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/153หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/154หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/155หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/156หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/157หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/158หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/159หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/160หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/161หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/162หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/163หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/164หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/165หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/166หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/167หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/168หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/169หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/170หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/171หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/172หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/173หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/174หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/175หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/176หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/177หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/178หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/179หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/180หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/181หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/182หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/183หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/184หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/185หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/186หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/187หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/188หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/189หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/190หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/191หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/192หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/193หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/194หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/195หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/196หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/197หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/198หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/199หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/200หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/201หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/202หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/203หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/204หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/205หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/206หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/207หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/208หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/209หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/210หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/211หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/212หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/213หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/214หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/215หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/216หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/217หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/218หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/219หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/220หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/221หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/222หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/223หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/224หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/225หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/226หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/227หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/228หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/229หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/230หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/231หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/232หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/233หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/234หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/235หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/236หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/237หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/238หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/239หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/240หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/241หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/242หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/243หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/244หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/245หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/246หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/247หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/248หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/249หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/250หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/251หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/252หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/253หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/254หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/255หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/256หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/257หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/258หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/259หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/260หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/261หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/262หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/263หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/264หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/265หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/266หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/267หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/268หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/269หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/270หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/271หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/272หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/273หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/274หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/275หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/276หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/277หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/278หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/279หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/280หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/281หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/282หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/283หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/284หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/285หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/286หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/287หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/288หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/289หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/290หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/291หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/292หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/293หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/294หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/295หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/296หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/297หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/298หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/299หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/300หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/301หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/302หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/303หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/304หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/305หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/306หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/307หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/308หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/309หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/310หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/311หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/312หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/313หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/314หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/315หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/316หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/317หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/318หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/319หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/320หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/321หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/322หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/323หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/324หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/325หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/326หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/327หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/328หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/329หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/330หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/331หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/332หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/333หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/334หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/335หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/336หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/337หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/338หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/339หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/340หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/341หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/342หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/343หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/344หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/345หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/346หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/347หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/348หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/349หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/350หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/351หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/352หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/353หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/354หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/355หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/356หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/357หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/358หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/359หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/360หน้า:คำพิพากษาคดีกบฏ - กรมโฆษณาการ - ๒๔๘๒.pdf/361