พงศาวดารเหนือ (2474)/คำนำ
คุณหญิง (เชื้อ) ธนรัตนบดี จะจัดการปลงศพ มหาเสวกโท พระยาธนรัตนบดี (เสงี่ยม สิงหลกะ) ผู้สามี ใคร่พิมพ์หนังสือแจกในเวลาพระราชทานเพลิงสักเรื่องหนึ่ง จึงมอบฉันทะให้พระยาสากลกิจประมวญมาแจ้งความต่อราชบัณฑิตยสภาเพื่อเลือกหาหนังสือที่ประสงค์ พระยาสากลฯ พอใจหนังสือพงศาวดารเหนือซึ่งพิมพ์รวมอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคหนึ่ง จึงขออนุญาตพิมพ์ในงานนี้ กรรมการราชบัณฑิตยสภาอนุญาตให้ตามปรารถนา
เมื่อพิมพ์คราวก่อน กรรมการหอพระสมุดฯ ได้แถลงไว้ว่า หนังสือพงศาวดารเหนือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีรับสั่งให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เป็นผู้รวบรวมเรื่องมาเรียบเรียงเมื่อปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ พ.ศ. ๒๓๕๐ ต้นฉะบับที่มีในหอพระสมุดฯ มีบานแผนก ดังนี้
ข้าพระพุทธเจ้า พระวิเชียรปรีชา น้อย เจ้ากรมราชบัณฑิตขวา ได้รับพระราชทานเรียงเรื่องสยามราชพงศาวดารเมืองเหนือตั้งแต่บาธรรมราชสร้างเมืองสัชชาลัยเมืองสวรรคโลก ได้เสวยราชสมบัติ ทรงพระนาม พระเจ้าธรรมราชาธิราช เป็นลำดับลงมาจนถึงพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาโบราณราชธานี โดยกำลังสติปัญญาสักกานุรูปอันน้อย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะ
หนังสือที่รวมเรียกว่า พงศาวดารเหนือ นี้ ที่จริงเป็นหนังสือหลายเรื่อง มีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เดิมดูเหมือนจะจดจำไว้เป็นเรื่องต่าง ๆ กัน คงจะได้เอามารวบรวมและแต่งหัวต่อเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกันภายหลัง พูดฉะเพาะฉะบับของพระวิเชียรปรีชานี้ วิธีเรียบเรียงอยู่ข้างจะไขว้เขวสับสน บางทีเรื่องเดียวกันเล่าซ้ำเป็นสองหนก็มี หนังสือพงศาวดารเหนือนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑ พ.ศ. ๒๔๑๒ มีเรื่องตำนานพระแก้วมรกฎติดอยู่ข้างท้ายด้วย ในการพิมพ์ใหม่ครั้งนี้ เพื่อจะให้สะดวกแก่ผู้อ่าน จึงได้ลงชื่อเรื่องไว้ทุก ๆ เรื่อง และเรื่องที่เล่าซ้ำกัน ก็ได้ตัดออกเสีย แต่ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า หนังสือพงศาวดารเหนือนี้พิมพ์ตามฉะบับเดิม มิใช่สอบสวนลงเนื้อเห็นความจริงเท็จของเรื่องราวไว้ในที่นี้
ในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ เจ้าภาพได้เขียนประวัติผู้มรณะส่งมาขอให้พิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกด้วย จึงได้พิมพ์ไว้ต่อคำนำนี้ไป
- ราชบัณฑิตยสภา
- วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๔