พงษาวดารกรุงศรีอยุทธยา ภาษามคธ แลคำแปล/คำนำ

คำนำ

หนังสือพงษาวดารกรุงศรีอยุทธยาภาษามคธที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ หอพระสมุดวชิรญาณได้ฉบับมาแต่กรุงกัมพูชา ต้นฉบับมีอยู่ในวัดพระแก้วเมืองพนมเปน ได้ความว่า เปนหนังสือพระพิมลธรรมองค์ ๑ แต่งในกรุงรัตนโกสินทรนี้ มีฉบับอยู่ที่กรุงกัมพูชา ๒ เรื่อง อิกเรื่อง ๑ เรียกว่า สังคีติวงษ์ ว่าด้วยตำนานการสังคายนายพระไตรปิฎก แต่งเฉลิมพระเกียรติเมื่อสังคายนายในรัชกาลที่ ๑ ว่า เปนหนังสือ ๗ ผูก หอพระสมุดฯ ยังไม่ได้สำเนามา ได้มาแต่เรื่องพงษาวดารที่พิมพ์นี้ก่อน ได้ให้พระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์) เปรียญ แปลออกเปนภาษาไทยพิมพ์กำกับไว้ด้วยกันทั้ง ๒ ภาษา

หนังสือพงษาวดารเรื่องนี้ พิเคราะห์ตามเนื้อความที่แต่ง ดูผู้แต่งก็ตั้งใจจะกล่าวเนื่องด้วยเรื่องสังคายนาย น่าจะเปนหนังสือชุดเดียวกันกับเรื่องสังคีติวงษ์จริง เรื่องพงษาวดารเปนพงษาวดารกรุงเก่า เริ่มตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุทธยาลงมาจนเสียกรุงแก่พม่า แต่มีถ้อยคำอันปรากฎอยู่ในวรรคที่ ๗๗ น่า ๓๓ กล่าวท้าวมาถึงกรุงรัตนโกสินทร จึงรู้ได้ว่า หนังสือเรื่องนี้แต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร

ถ้าพระพิมลธรรมเปนผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้ แลแต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ไซ้ พระพิมลธรรมในรัชกาลนั้นมี ๒ องค์ องค์แรก คือ พระพิมลธรรมอยู่วัดพระเชตุพน ชื่อตัวจะชื่อไรไม่ทราบ ที่เปนอาจารย์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส องค์นี้เปนพระพิมลธรรมมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ต้องถูกถอดแลต้องรับพระราชอาญาในเรื่องไม่ยอมถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ ทรงตั้งเปนพระพิมลธรรมอิก ทรงเคารพนับถือมาก เมื่อสังคายนายพระไตรปิฎกยังเปนที่พระพิมลธรรม ได้เปนแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก ในปลายรัชกาลที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดรฆัง สิ้นพระชนม์ ทรงตั้งสมเด็จพระวันรัตน (ศุข) วัดมหาธาตุ เปนสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จึงทรงตั้งพระพิมลธรรมองค์นี้เปนสมเด็จพระวันรัตน พระพิมลธรรมองค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ นั้น คือ พระพิมลธรรม (มี) วัดราชบุรณะ ต่อมา ได้เปนสมเด็จพระสังฆราชเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ถ้าหากหนังสือพงษาวดารเรื่องนี้พระพิมลธรรมแต่งในรัชกาลที่ ๑ คงเปนองค์ใดองค์หนึ่งใน ๒ องค์นี้ พิเคราะห์ดูตามเรื่องพงษาวดารที่แต่ง ศักราชแลเนื้อเรื่องคลาศเคลื่อนกับพระราชพงษาวดารฉบับหลวงซึ่งชำระเมื่อในรัชกาลที่ ๑ จึงสันนิฐานว่า เห็นจะได้หนังสือพงษาวดารฉบับอื่นเปนหลัก ส่วนเรื่องที่กล่าวตอนตั้งแต่เสียกรุงเก่ามาแล้ว เวลานั้น เรื่องตอนนั้นยังไม่ได้แต่งลงในหนังสือพระราชพงษาวดาร คงจะได้อาไศรยจดหมายเหตุอื่น น่าจะเปนหนังสือมหายุทธการหรือจุลยุทธการซึ่งได้ยินว่า มีอยู่ในครั้งนั้น

หนังสือพงษาวดารกรุงศรีอยุทธยาภาษามคธฉบับนี้ แม้จะไม่มีเรื่องราวแปลกประหลาดกว่าหนังสือพระราชพงษาวดาร แลไม่วิเศษในทางภาษามคธที่แต่ง ก็ควรยกย่อง ด้วยเปนหนังสือเรื่อง ๑ ซึ่งนักเรียนไทยมีอุสาหะแต่งในภาษามคธ แลเปนหนังสืออันบัณฑิตย์ควรอ่านเทียบกับพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เปนคาถาภาษามคธเหมือนกัน หนังสือเรื่องนั้นได้พิมพ์แจกในงานศพเจ้าจอมมารดาเที่ยงเมื่อปีขาล ฉศก พ.ศ. ๒๔๕๗ บัณฑิตย์ได้อ่านแล้วจะเห็นได้ว่า ความรู้ภาษามคธที่ร่ำเรียนในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่ก่อนกับภายหลังผิดกันอย่างไรบ้าง

เมื่อพระยาพจนสุนทรแปลหนังสือพงษาวดารกรุงศรีอยุทธยาเรื่องนี้แล้ว ในขณะเมื่อกรรมการปรารภจะพิมพ์อยู่ ก็พอนายเชียร บุนนาค บุตรพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดฯ ว่า จะทำการปลงศพสนองคุณท่านเลื่อม ต.จ. ผู้มารดา ประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือซึ่งสมควรจะพิมพ์นั้น พระยามนตรีสุริยวงษ์กับท่านเลื่อมเปนผู้ชอบอัชฌาไศรยกับข้าพเจ้ามาช้านาน ได้คุ้นเคยไปมาหาสู่กันไม่ขาดจนสิ้นอายุทั้ง ๒ คนนั้น ข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า ท่านเลื่อมเปนผู้มีนิไสยชอบความรู้ทางพงษาวดาร ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้พิมพ์หนังสือพงษาวดารกรุงศรีอยุทธยาภาษามคธซึ่งได้มาใหม่นี้เปนของแจกในงานศพท่านเลื่อม

ที่กล่าวว่า ข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า ท่านเลื่อมชอบความรู้ทางพงษาวดารนั้น ด้วยท่านเลื่อมเคยวานข้าพเจ้าหาหนังสือพงษาวดารให้อ่าน แลเวลามาพบปะกัน ก็พอใจที่จะสนทนาในเรื่องพงษาวดาร คือ พงษาวดารทางเมืองถลางแลเมืองภูเก็จอันเปนชาติภูมิของท่านเลื่อมโดยเฉภาะเนือง ๆ แม้ที่สุดเมื่อก่อนท่านเลื่อมจะถึงแก่กรรมไม่กี่เดือน เมื่อเจ็บแล้ว แต่ยังไม่ถึงล้มหมอนนอนเสื่อ มาหาข้าพเจ้าเปนครั้งที่สุด ยังได้มาขอให้จดโคลงประวัติพระยาวิชิตสงคราม (ทัด) ผู้บิดา ซึ่งข้าพเจ้าเคยแต่งให้กว่า ๒๐ ปีมาแล้ว จนข้าพเจ้าเองก็ลืม แต่ท่านเลื่อมยังจำได้เกือบหมด ข้าพเจ้าต้องขอทุเลานึก เลยยังไม่ได้จดให้ จนท่านเลื่อมถึงแก่กรรม เมื่อเขียนคำนำนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ยังเปนหนี้ที่จะต้องใช้ท่านเลื่อมอยู่ด้วยเรื่องโคลงประวัติของบิดา จึงถือโอกาศขอเล่าเรื่องแลจดโคลงนั้นอุทิศให้แก่ท่านเลื่อมไว้ในคำนำนี้ด้วย

มูลเหตุที่จะแต่งโคลงประวัติพระยาวิชิตสงครามนั้น คือ ครั้ง ๑ แต่เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ ตรงกับปีฉลู เบญจศก พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ได้ ๒๕ ปี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชศิริราชสมบัติที่พระราชวังบางปอิน ในงานครั้งนั้น โปรดให้พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการทั้งฝ่ายน่าฝ่ายในแต่งประทีปทำเปนลับแลบ้าง ทำเปนโคมบ้าง ทรงพระราชอุทิศถวายเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ทรงปกครองสยามราชอาณาจักรตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าเปนราชธานีเปนต้นมาทุก ๆ พระองค์ แลโปรดให้ตรวจพงษาวดารจดพระนามเจ้านายแลนามข้าราชการที่สิ้นพระชนม์แลสิ้นชีพล่วงไปแล้วบรรดาปรากฎว่า ได้กระทำคุณความชอบแก่แผ่นดินตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนในกรุงรัตนโกสินทร โปรดให้ทำโคมประทีปเปนเกียรติยศแก่เจ้านายแลข้าราชการนั้น ๆ ทุก ๆ พระองค์ทุกท่าน ลับแลแลโคมประทีปที่ทำครั้งนั้นที่เปนส่วนสำหรับพระองค์ใดหรือข้าราชการคนใด ผู้ทำเครื่องประทีปแต่งบทกลอนเปนโคลงบ้าง ฉันท์บ้าง กลอนสุภาพบ้าง สรรเสริญเกียรติยศผู้ที่ทรงพระราชอุทิศประทีปถวายแลพระราชทาน เขียนไว้ที่โฉมแลลับแลนั้น ๆ ผู้ที่ต้องทำประทีป ถ้าแต่งกลอนไม่ได้เอง ก็วานผู้อื่นที่ชอบพอกันช่วยแต่งให้ ครั้งนั้น พระยาวิชิตสงคราม (ทัด) บิดาของท่านเลื่อม มีชื่ออยู่ในบาญชีผู้มีบำเหน็จความชอบมาแต่ก่อน ได้พระราชทานโคมประทัปยกย่องเกียรติยศ แลครั้งนั้น ท่านเลื่อมขึ้นไปตามเสด็จกับพระยามนตรีสุริยวงษ์ จึงมีน่าที่ถูกเกณฑ์ทำโคมประทีปพระราชทานพระยาวิชิตสงคราม ท่านเลื่อมได้มาวานข้าพเจ้าแต่งกลอนสำหรับเขียนโคม กลอนที่แต่งคราวนั้นมากกว่ามากด้วยกัน เพื่อจะยักให้แปลก ข้าพเจ้าจึงแต่งโคลงด้วยศัพท์ชาวลครให้ท่านเลื่อม ดังนี้:—

  เกาะกลางข้างด้านปละ วันเอาะ
ภูเก็จเปนบ้านเนาะ รกร้าง
พระภูเก็จทัดเสาะ แสวงแร่
พบที่ทุ่งคาสร้าง ที่บ้านทำเหมือง ๚
  เอาภารการเติบตั้ง เมืองตึก เต็มแฮ
เฮินอเนกเจ๊กอึกทึก ค่ำเช้า
เภาไฟรถรัถศึก คับคั่ง
เพราะพระภูเก็จเปนเค้า แค่บ้านเมืองเจริญ ๚
  สมพระไทยธิเบศร์เจ้า จอมสยาม
พระยาวิชิตสงคราม ท่านตั้ง
พานทองและตราความ ชอบพระทาช ทานแฮ
เลื่องชื่อฦๅยศทั้ง ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ ๚

ที่ท่านเลื่อมมาถามถึงโคลง ๓ บทนี้ ด่วยเปนผู้เอาใจใส่ในประวัติของวงษ์สกูล จนถึงได้เรียบเรียงเปนหนังสือไว้ นายเชียร บุนนาค ได้คัดเนื้อความมาให้เมื่อข้าพเจ้าจะแต่งคำนำนี้ อ่านตรวจดู เห็นการที่สืบสวนสืบขึ้นไปได้มากอยู่ แต่เมื่อพิเคราะหฺเทียบด้วยเวลา เห็นว่า จะคลาศเคลื่อนอยู่บ้าง ข้าพเจ้าจะเก็บเนื้อความแลลงเวลาตามที่ข้าพเจ้าเห็นว่าถูกต้องลงในคำนำนี้ โดยเชื่อว่า จะชอบด้วยความประสงค์ของท่านเลื่อม

สกูลฝ่ายบิดาของท่านเลื่อม ฝ่ายชาย ต้นเดิมเปนชาวเมืองมัทราษฎ์ มาตั้งภูมิลำเนาค้าขายอยู่ที่เมืองถลางราวเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ได้รับราชการในผู้ว่าราชการเมือง ช่วยในกิจการที่เกี่ยวข้องกับแขกชาวต่างประเทศ จึงได้เปนกรมการตำแหน่งที่หลวงล่าม ได้หญิงชาวเมืองถลางเปนภรรยา มีบุตรชายชื่อ นายเจิม แขกเรียกว่า เจ๊ะมะ เมื่อราวในรัชกาลที่ ๑ นายเจิมได้เปนที่หลวงล่ามแทนบิดา แลได้หญิงในวงษ์ญาติของท้าวเทพกระสัตรี ชื่อ แสง เปนภรรยา ในประวัติจดว่า นายเจิมคนนี้ ต่อมา ได้เปนที่พระถลาง พิเคราะห์ดูตามเหตุการณ์ในพระราชพงษาวดาร น่าจะเปนเมื่อต้นรัชกาลที่ ๑ ด้วยเมื่อปีมเสง เอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒ ปีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จผ่านพิภพนั้น พม่าลงมาตีได้เมืองถลาง กองทัพรุดออกไปช่วยไม่ทัน เมื่อรบพุ่งขับไล่พม่าแตกหนีไปแล้ว ครั้งนั้น รวบรวมครอบครัวเมืองถลางที่พม่ากวาดต้อนไปไม่ได้มาตั้งที่กะเราภูงาที่เปนเมืองพังงาบัดนี้ ที่เมืองถลางเติมเปนแต่อย่างอำเภออยู่คราว ๑ หลวงล่าม เจิม เห็นจะได้เปนพระถลางในตอนนี้ ด้วยเปนคนพื้นเมือง ให้ควบคุมผู้คนซึ่งยังเหลืออยู่ในเกาะถลาง เมืองถลางพึ่งกลับตั้งขึ้นเปนเมืองใหญ่เมื่อในปลายรัชกาลที่ ๒ หรือต้นรัชกาลที่ ๓

พระถลาง (เจิม) มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อ นายแก้ว ได้บวชเรียนแลศึกษามาเปนไทย ผู้ว่าราชการเมืองพังงาขอมาเลี้ยงเปนบุตรบุญธรรม ครั้นโตขึ้น ได้ลูกสาวหลวงเมืองเมืองพังงา ชื่อ แจ่ม เปนภรรยา แลรับราชการเปนกรมการ แต่จะเปนตำแหน่งใดมาก่อนหาทราบไม่ ปรากฎแต่ว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ได้เปนที่พระภูเก็จ เห็นจะเปนเมื่อกลับตึ้งเมืองถลางเปนเมืองใหญ่ เมืองภูเก็จเวลานั้นเปนเมืองขึ้นเมืองถลาง พระภูเก็จ (แก้ว) นี้เปนคนแรกที่มาตั้งเปิดการค้าขายที่เมืองภูเก็จในชั้นหลัง พระภูเก็จ (แก้ว) มีบุตรธิดาหลายคน จะกล่าวถึงแต่บุตรภรรยาหลวงคน ๑ ชื่อ ทัด เกิดเมื่อปีวอก ฉศก พ.ศ. ๒๓๖๗ รับราชการเปนกรมการมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ เปนที่หลวงพิทักษ์ทวีป ในรัชกาลที่ ๔ ได้เปนที่พระภูเก็จต่อบิดา

ครั้นต่อมา พระภูเก็จ (ทัด) ได้ทุนของบิดาเที่ยวหาแร่พบที่ตำบลทุ่งคา จึงตั้งทำเหมือง ที่นั้นเปนที่แร่อุดม ไม่ช้านานเท่าไร การก็เจริญจนเกิดเปนบ้านเปนเมือง คือ เมืองภูเก็จทุกวันนี้ ฝรั่งจึงเรียกชื่อเมืองภูเก็จว่า ตองกา เพราะตั้งอยู่ตำบลทุ่งคา

ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระภูเก็จ (ทัด) เลื่อนยศเปนพระยาภูเก็จโลหะเกษตรารักษ์ แลได้ว่ากล่าวถึงเมืองถลางด้วย เมืองถลางจึงกลับเปนเมืองขึ้นเมืองภูเก็จแต่นั้นมา ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนยศขึ้นเปนพระยาวิชิตสงคราม ตำแหน่งจางวางเมืองภูเก็จ ได้รับพระราชทานพานทอง

พระยาวิชิตสงครามได้ลูกสาวพระยกรบัตร (ทับ) เมืองถลาง ชื่อ เปี่ยม สืบวงษ์ตรงลงมาเปนชั้นเหลนท้าวเทพกระสัตรี เปนภรรยา มีบุตรธิดา ๕ คน แต่ที่มีอายุอยู่จนเติบใหญ่แต่ ๓ คน คือ บุตรหญิงคนที ่๑ ชื่อ รื่น ได้แต่งงานเปนภรรยาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมืองนครศรีธรรมราช บุตรชายคนที่ ๒ ชื่อ ลำดวน ได้เปนที่พระยาภูเก็จฯ เมื่อบิดาเลื่อนเปนจางวาง บุตรหญิงที่ ๓ คือ ท่านเลื่อม เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีวอก สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๙๐

ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมเสง นพศก พ.ศ. ๒๔๐๐ พระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชุ่ม บุนนาค) เปนข้าหลวงออกไปเมืองภูเก็จ ขอท่านเลื่อมให้แก่นายชื่น (คือ พระยามนตรีสุริยวงษ์) ซึ่งเปนบุตรคนใหญ่ เวลานั้น ท่านเลื่อมยังเด็กอยู่ จึงรองานมาจนปีกุญ เบญจศก พ.ศ. ๒๔๐๖ บิดาจึงได้พาเข้ามาแต่งงานกันในกรุงเทพฯ พระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) มีบุตรกับท่านเลื่อม ชาย ๒ หญิง ๓ รวม ๕ คน บุตรหญิงถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเยาว์ทั้ง ๓ คน บุตรชายคนเล็กชื่อ นายชาย ก็ไปถึงแก่กรรมเมื่อออกไปเรียนวิชาอยู่ในมหาวิทยาลัยออกสเฟิดที่เมืองอังกฤษ คงเหลืออยู่แต่นายเชียร บุตรชายใหญ่ที่เปนเจ้าภาพงานศพท่านเลื่อมครั้งนี้แต่คนเดียว

ท่านเลื่อมได้รับราชการตามตำแหน่งน่าที่ภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ ได้รับพระราชทานเกียรติยศต่าง ๆ คือ เครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า เปนต้น ตามบันดาศักดิ เปนผู้ซึ่งเข้าเฝ้าแหนได้ใกล้พระองค์ แลคุ้มคเยเจ้านายข้าราชการมีผู้ชอบพอทั่วไปเปนอันมาก ด้วยเปนผู้มีมารยาตรแลอัชฌาไศรยโอบอ้อมอารี จะไปหาไปพบผู้ใดไม่มีผู้รังเกียจ แต่ท่านเลื่อมเจ็บป่วยทุพลภาพมาเสียหลายปี มีเวลาสบายพอที่จะไปไหน ๆ ได้น้อย เพราะฉนั้น ในตอนหลังนี้ จึงไม่ใคร่จะมีใครได้พบท่านเลื่อม แต่ถึงกระนั้น ผู้ซึ่งได้คุ้นเคยชอบพอมาแต่ก่อนอย่างไรก็ยังชอบพออยู่มิได้เสื่อมคลาย ความข้อนี้เห็นได้เมื่อคราวท่านเลื่อมทำแซยิดครั้งหนึ่ง แลเมื่อถึงแก่กรรมนี้ มีผู้ไปช่วยเหลือแสดงไมตรีจิตรต่อท่านเลื่อมเปนอันมาก ท่านเลื่อมป่วยหนักด้วยเกิดโรคเปนแผลขึ้นในปาก ในเวลาที่ป่วย อาการมาก พระยามนตรีสุริยวงษ์ สามี ก็เปนลมปัจจุบันถึงอนิจกรรมลง ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมท่านเลื่อมเมื่อวันทำบุญ ๘ วันศพพระยามนตรีสุริยวงษ์ นึกชมว่า สติอารมณ์ยังดี ทั้งป่วยมากอยู่อย่างนั้น ก็ยังปรารภคิดอ่านเรื่องทำศพสนองคุณสามี แต่มิทันที่จะได้ทำอย่างไร ตัวก็มาถึงแก่กรรมเสียเองเมื่อณวันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีเถาะ สัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ คำนวณอายุได้ ๖๘ ปี

นายเชียร บุนนาค เปนบุตรท่านเลื่อมเหลืออยู่แต่คนเดียว ได้มีโอกาสอุปการะแลรักษาพยาบาลตลอดมาจนได้จัดการปลงศพสนองคุณมารดาด้วยความกตัญญูกตเวทีตามน่าที่ของบุตรสมควรหวังตั้งใจของท่านเลื่อมผู้มารดาดังนี้ นักปราชญ์ทั้งหลาย มีองค์สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเปนต้น ย่อมยกย่องสรรเสริญไว้เปนอเนกปริยาย แมัสาธุชนทั้งหลาย เมื่อทราบแล้ว ก็มีแต่จะอนุโมทนาในกุศลบุญราศีซึ่งได้บำเพ็ญนั้นทั่วไป

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙