พงษาวดารกรุงศรีอยุทธยา ภาษามคธ แลคำแปล/คำแปล

สารบาน
อารัมภกถา น่า
แผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง "
แผ่นดินพระราเมศวร "
แผ่นดินขุนหลวงพะวัว "
แผ่นดินพระเจ้าทองจันท์ "
แผ่นดินพระราเมศวร "
แผ่นดินพระรามราชา "
แผ่นดินพระเจ้านครอินท์ "
แผ่นดินพระเจ้าบรมราชาธิราช "
แผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถ "
แผ่นดินพระอินทราชา "
แผ่นดินพระเจ้ารามาธิบดี "
แผ่นดินสมเด็จพุทธางกูร "
แผ่นดินพระรัฏฐาธิราชกุมาร "
แผ่นดินพระไชยราชาธิราช "
แผ่นดินพระยอดฟ้า "
แผ่นดินขุนวรวงษาธิราช "
แผ่นดินพระเฑียรราชา "
แผ่นดินพระมหามหินทราชา น่า ๑๐
แผ่นดินพระมหาธรรมราชา " ๑๐
แผ่นดินพระนเรศวร " ๑๑
แผ่นดินพระราเมศวร " ๑๓
แผ่นดินพระอินทราชา (พระเจ้าทรงธรรม) " ๑๓
แผ่นดินพระเชฏฐาราชา " ๑๔
แผ่นดินพระอาทิจจะวงษ์ " ๑๕
แผ่นดินพระศรีสุธรรมราชา " ๑๕
แผ่นดินพระเฑียรราชา " ๑๕
แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง " ๑๖
แผ่นดินพระอนุชาธิราชของพระเจ้าปราสาททอง " ๑๗
แผ่นดินพระพระนารายน์ " ๑๗
แผ่นดินพระเภทราชา " ๑๘
แผ่นดินหลวงสรศักดิ " ๑๘
แผ่นดินพระมหาโจร " ๑๙
แผ่นดินพระรามาธิบดี " ๑๙
แผ่นดินเจ้าฟ้าดอกเดื่อ " ๒๒
แผ่นดินพระเชฏฐาธิราช " ๒๓
แผ่นดินพระยาพิศณุโลก " ๓๒

พระราชพงษาวดารกรุงเก่า

แปลตามบาฬีว่า เหตุต่าง ๆ ที่บุคคลจะพึงรู้ในวงษ์กระษัตรของชาวไทยในสยามประเทศซึ่งเกี่ยวด้วยพม่าและมอญ

ในกาลครั้งนั้น บรรดาพระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ พระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก ได้ประดิษฐานอยู่ในชมพูทวีป ชนทั้งหลายได้จาฤกลงไว้ในใบลานด้วยอักขระต่าง ๆ บ้าง ด้วยภาษาต่าง ๆ บ้าง แพร่หลายไปในนครเปนอันมาก ในกาลปางก่อน พระพุทธวจนะนั้นก็ยังบริบูรณ์อยู่ ครั้นกาลล่วงไป ๆ ในภายหลัง พระพุทธวนจะนั้นก็เสื่อมวิปลาสพิรุทธ์ผิดเพี้ยนสิถิลธนิตไป มีความสืบต่ออนุสนธิอากูลไปด้วยโทษ และพระพุทธวจนะนั้น ชนทั้งหลายที่มีกำลังความเพียรและกำลังปัญญาอ่อนเป็นต้น เล่าเรียนแล้วไม่พิจารณาอักขระและบทพยัญชนะให้ถูกถ้วน เหตุดังนี้ พระพุทธวจนะจึ่งเสื่อมพิรุทธ์ไป

อนึ่ง พระพุทธวจนะนั้นยังประดิษฐานมั่นคงอยู่ในประเทศทั้ง ๕

๑.ประเทศของพระเจ้าแผ่นดินไทย คือ สยาม

๒.มลานประเทศของพระเจ้าแผ่นดินมันทราช

๓.ประเทศเขมราช คือ กัมพุช

๔.ประเทศรามัญราช คือ หงษาวดี

๕.ประเทศพม่า คือ อังวะผุกาม

ในประเทศอื่นนั้นเสื่อมสูญไป บรรดานรชนทั้งหลายเหล่านั้น นรชนที่ไม่รู้คุณในพระพุทธสาสนาก็มีมากขึ้น

ครั้นพระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒ พันปีเศษ พระพุทธสาสนาก็เสื่อมซุดไปด้วยเหตุต่าง ๆ มนุษนิกรบางเหล่าก็ขวนขวาย บางเหล่าก็ไม่ขวนขวายในกุสลธรรมสมาทานมีศีลเปนต้น ในสันดานมือไปด้วยความโลภ ต่างคนต่างฤษยาซึ่งกันและกันในการที่จะตั้งตนให้เปนอิศรภาพ ทำความอุสสาหะให้เกิดขึ้นในการที่จะทำสงครามรบพุ่งซึ่งกันและกัน มหาสงครามอันพิลึกน่าสยดสยองเดิมจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นในประเทศรามัญ คือ หงษาวดี และประเทศพม่า คือ อังวะผุกาม ก่อน

กระษัตรทั้งหลายเหล่านั้นต่างคนต่างยกพลนิกายทั้งสองฝ่ายไปยังที่ยุทธภูมิ เข้าปล้นแย่งชิงพระนครแห่งกันและกัน พลนิกรต่างเข้าต่อสู้รบร้าฆ่าฟันกันตายเปนอันมาก

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินหงษาวดีแพ้พระเจ้าอังวะ พาพวกพลเสนาหนีไป พระราชสมบัติก็พินาศไป มีความทุกข์โทมนัสในพระไทยมาก ทั้งพลัดพรากจากพระราชโอรสและพระมเหษี ได้ความลำบากจนสวรรคต

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าอังวะปราชัยพ่ายแพ้พระเจ้าหงษาวดี ยกพวกพลนิกายหนีไป เสียพระราชสมบัติ มีความทุกข์ พลัดพรากจากพระราชโอรสและพระมเหษี จนถึงสิ้นพระชนม์อย่างเดียวกัน ในครั้งที่สามครั้งที่สี่ กระษัตรทั้งหลายเหล่านั้นทำสงครามแก่กันและกัน บางคราวได้ชัยชนะบ้าง บางครั้งแพ้บ้าง ย่อมทำพระนครคามนิคมและประเทศต่าง ๆ ให้พินาศไป และทำพระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก ให้พินาศไปด้วยเหตุต่าง ๆ

ครั้งนั้น สงครามเปนอันมากเปนมหาภัยน่าพิลึกพึงกลัวก็เกิดมีขึ้นในประเทศต่าง ๆ เพราะอกุศลกรรมของสัตวทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายมีความพินาศมาก มีความอดหยากลำบากมาก ทั้งพลัดพรากจากกัน มนุษย์บางพวกก็ละทิ้งมารดาบิดาบุตรภรรยาญาติสาโลหิตแล้วก็หนีไปทิศานุทิศ มนุษย์บางพวกที่คนเปนข้าศึกและพวกโจรเห็นแล้วก็ไล่ติดตามจับตัวได้ประหารเฆี่ยนตีแย่งชิงเอาทรัพย์แล้วก็ฆ่าเสียบ้าง เบียดเบียนทำให้ย่อยยับบ้าง มนุษย์เหล่าข้าศึกจับได้ข่มขี่ใช้สอยเปนทาสกรรมกร มีความทุกข์เศร้าโศกมาก ต่างคนก็ร้องไห้ร่ำไรอยู่ในนานาประเทศ และอาวาสเสนาสนะวิหารของภิกษุทั้งหลายหมู่ปัจจามิตรก็เผาเสีย บ้านและเรือนของคฤหัสถ์ทั้งหลายเหล่าปัจจามิตรก็เผาเสียสิ้น ทั้งภิกษุทั้งคฤหัสถ์มีความอดหยากอนาถา มากไปด้วยความทุกข์โศก พากันหนีไปสู่ทิศานุทิศ

พระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก ที่มีอยู่ในชนบทต่าง ๆ น้อยบ้างมากบ้าง พวกปัจจามิตรก็เผาเสียสิ้น ที่ยังเหลืออยู่บ้างก็ไม่มีใครจะรักษาเรี่ยรายกระจัดกระจายไป ถึงซึ่งความพินาศด้วยเหตุต่าง ๆ ครั้นกาลล่วงไป ๆ พระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก ก็เสื่อมหายน้อยลงไม่ครบพระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พัน นรชนทั้งหลายในพระนครนั้น ๆ เปนคนมีปัญญาน้อย ประกอบไปด้วยความโลภ มากไปด้วยโทสะโมหะครอบงำสันดาน เปนคนไม่มีศรัทธาในพระพุทธสาสนา ทั้งเปนคนไม่มีความเลื่อมใสในคุณวิเศษอันประเสริฐของพระพุทธสาสนา พากันเพิกเฉยเสียไม่รักษาพระพุทธวจนะ และไม่สมเคราะห์เคารพภิกษุที่เปนพหูสูตร ต่างคนต่างถือทิฏฐิ ไม่สามารถจะทำธรรมสังคายนาได้ เหตุดังนั้น พระธรรมจึ่งได้เสื่อมสูญมาสิ้นกาลนาน

ครั้นเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๘๙๒ ปีขาล พระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ารามาธิบดีสุวรรณโทละ คือ พระเจ้าอู่ทอง เมื่อพระชนมายุได้ ๓๗ ปี ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเปนบุรีเปนที่รื่นรมย์เช่นกับด้วยเทพนคร พระเจ้าสุวรรณโทละราชนั้นเปนผู้มีบุพพะมูลการกุศลได้อบรมไว้แต่ในบุพพะชาติ และมีมหาบุญญาภิสมภารสมบูรณ์ด้วยมหายศปรากฎด้วยมหาบริวาร ทั้งมีมหิทธิฤทธิ์เดชานุภาพเปนธงไชยในสยามประเทศ จึ่งโปรดให้สร้างพระนครกับปราสาทก่อน ให้แวดล้อมด้วยปราการต่าง ๆ เปนอันดี แล้วโปรดให้สร้างอารามวิหารโรงอุโบสถ ให้แวดล้อมเปนอันดีด้วยนานาปราการ ทรงบำเพ็ญกุศลจริยามีบริจาคทานเปนต้น ดำรงพระชนม์อยู่ในราชสมบัติโดยชอบธรรม สิ้นกาล ๑๙ ปีก็สวรรคต

ในลำดับนั้น พระราชโอรสของพระเจ้าอู่ทองนั้นทรงพระนามวา พระราเมศวร เปนผู้มีบุญยิ่งใหญ่ พระชนม์ได้ ๓๐ ปี ได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา ดำรงอยู่ในสมบัติ ๓ ปี

๑๐ในลำดับนั้น พระเจ้าลุงชื่อว่า พงุมหานายก (คือ ขุนหลวงพะงัว) ชิงเอาราชสมบัติได้ แล้วขับไล่พระเจ้าราเมศวรนั้นให้ไปเสียจากพระนคร พระองค์ครองราชสมบัติอยู่ ๑๘ ปี เปนผู้มีบุญญาภิสมภารมาก เปนสุขพระไทย ทรงบำเพ็ญกุศลบุญราศีมีศีลและทานเปนต้น ตราบเท่าสวรรคต

๑๑ในกาลเปนลำดับนั้น พระราชโอรสของพระเจ้าพงุมหานายกนั้นพระนามว่า พระสุวรรณจันทะ (คือ พระเจ้าทองจันท์) ยังทรงพระเยาว์อยู่ ได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้ ๗ วัน

๑๒ในสมัยนั้น พระเจ้าราเมศวรควบคุมพวกพลมาแย่งชิงเอาราชสมบัติได้ จับพระเจ้าสุวรรณจันทะไปสำเร็จโทษเสีย แล้วพระองค์ขึ้นเสวยราชย์ได้ ๖ ปี ทรงพระอุสสาหะบำเพ็ญการบุญการกุศลมีประการต่าง ๆ ตราบเท่าสิ้นพระชนม์

๑๓ในลำดับต่อนั้นมา พระราชโอรสของพระเจ้าราเมศวรนั้นทรงพระนามว่า พระรามราชา เปนผู้มีบุญญาธิการมาก เปนผู้มียศใหญ่ ได้ครองราชสมบัติอยู่ ๓ ปี

๑๔ในกาลต่อมานั้น พระเจ้าลุงของพระเจ้ารามราชาทรงพระนามว่า พระเจ้านครอินท์ เปนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ (เมืองสุพรรณ) เปนญาติของพระเจ้าพงุมหานายก ยกพลมาแย่งชิงเอาราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้นได้ แล้วจับพระเจ้ารามราชานั้นสำเร็จโทษเสีย พระองค์ครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาอยู่ ๒๐ ปี มีพระชนมายุยืนยาว ทรงบำเพ็ญการบุญเปนอันมากตราบเท่าสิ้นพระชนม์

๑๕ในลำดับนั้น พระราชโอรสของพระเจ้านครอินท์นั้น ในกาลก่อนพระนามว่า พระเจ้าสาม ภายหลังเรียกพระนามว่า พระเจ้าบรมราชาธิราช เปนผู้มีบุญมาก ครองราชสมบัติอยู่ ๒๐ ปีจึงสวรรคต

๑๖ในกาลต่อมานั้น พระราชโอรสของพระเจ้าบรมราชาธิราชนั้นพระนามว่า พระบรมไตรโลกนาถ ได้เสวยราชสมบัติในพระนครนั้น เปนผู้มีบุญญาธิการใหญ่ ประกอบด้วยมหาสุขภาพ ชักชวนมหาชนให้กระทำการบุญ ส่วนพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญการบุญเสมอ ๆ ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี แล้วมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่า พระอินทราชา ส่วนพระองค์ก็ออกทรงบรรพชาในพระพุทธสาสนา

๑๗พระเจ้าอินทราชานั้นมีบุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยมหายศบริวาร เสวยสิริราชสมบัติอยู่กำหนดกาลนานได้ ๓๗ ปี ทรงบำเพ็ญบุญญนิธีมีบริจาคทานเปนต้น เสวยสมบัติสุขอยู่ในพระนครนั้นสิ้นกาลนานจึ่งสวรรคต

๑๘ในกาลเบื้องน่าแต่นั้น พระราชโอรสของพระเจ้าอินทราชานั้นพระนามว่า พระรามาธิบดี เปนผู้มีมหายศมหาบริวาร บำเพ็ญกุศลสมภารมีการบริจาคทานเปนต้น ดำรงพระชนม์เปนสุขอยู่นาน กำหนดกาล ๓๘ ปี จึงสวรรคาไล

๑๙พระราชา ๑๐ องค์ มีพระเจ้าอู่ทองเปนต้น ซึ่งได้ครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงพระราชศรัทธาปสันนาการเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ได้บำเพ็ญพระราชกุสลจริยามีทานเปนต้น และโปรดให้สร้างบริเวณอารามวิหารมีประการต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้าง และได้กระทำการอกุศลมากบ้างน้อยบ้าง และได้กระทำการในราชกิจด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามสมควรแก่กำลังปัญญาตามสมควรแก่สติของพระองค์ จนพระองค์ดำรงอยู่ในปากพระยามัจจุราชสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไปตามยถากรรมของพระองค์

ปฐมทสราชกถา นิฏฐิตา
ว่ามาด้วยพระราชาเปนปฐม ๑๐ พระองค์เสร็จเท่านี้

๒๐ครั้นเมื่อพระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๐๗๒ ปี ในปีฉลู เอกศก พระราชโอรสของพระเจ้ารามาธิบดีผู้ครองกรุงศรีอยุธยานี้พระนามว่า สมเด็จพุทธางกูร (สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร) ได้ครองราชสมบัติดำรงอยู่ตามราชประเพณี ๕ ปี ก็สวรรคตด้วยอหิวาตกะโรค

๒๑ในลำดับนั้น พระราชโอรสของสมเด็จพระพุทธางกูรนั้นพระนามว่า พระรัฏฐาธิราชกุมาร มีพระพรรษา ๕ ปี ขึ้นครองราชสมบัติได้ ๕ เดือน

๒๒พระราชภาคิไนยของพระเจ้ารามาธิบดีนั้นพระนามว่า พระชัยราชาสี (พระชัยราชาธิราช) จับพระรัฏฐาธิราชกุมารสำเร็จโทษเสีย แล้วขึ้นครองราชสมบัติอยู่ ๑๓ ปี มีมหันตะอิศริยยศ ทั้งมีพลทหารเปนอันมาก ทรงบำเพ็ญนานาบุญญาภิสมภารมีประการต่าง ๆ ตราบเท่าสิ้นพระชนม์

๒๓ในลำดับนั้น พระราชโอรสของพระเจ้าชัยราชาธิราชนั้นพระนามว่า พระยอดฟ้า พระชนม์ได้ ๑๐ ขวบ ครองราชสมบัติได้ ๓ ปี

พระอรรคมเหษีของพระเจ้าชัยราชาธิราชนั้นพระนามว่า พระแม่อยู่หัวสีสุดาจันท์ ให้จับพระยอดฟ้าสำเร็จโทษเสีย แล้วจึ่งมอบราชสมบัติให้แก่ขุนชินราช ส่วนพระแม่อยู่หัวสีสุดาจัน์นั้นก็ได้เปนพระอรรคมเหสี

๒๔ขุนชินราชเลื่อนยศขึ้นเปนขุนวรวงษาธิราช ครองราชสมบัติอยู่ ๔๐ วัน ในกาลนั้น ขุนพิเรนทรเทพด้วย ขุนอินทรเทพด้วย หลวงศรียศด้วย หมื่นราชเสนาด้วย ทั้ง ๔ นายช่วยกันจับขุนวรวงษาธิราชกับท้าวสีสุดาจันท์สำเร็จโทษเสียพร้อมกัน

๒๕ในปีวอกนั้น พระราชภาคิไนยของพระเจ้าชัยราชาธิราชนั้นพระนามว่า พระเธียรราชา ได้ครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้น จึ่งพระราชทานสมบัติในเมืองพิษณุโลกแด่ขุนพิเรนทรเทพ โดยชื่อตั้งว่า พระมหาธรรมราชา และพระราชทานมหาสมบัติแม้แด่ชนเหล่านั้น ๆ ตามสมควร แล้วภายหลังพระองค์ได้เสวตรกุญชรช้างเผือก ๗ ช้าง พระเธียรราชานั้นพระองค์เปนผู้มีมหาบุญญาธิการมหาบริวารยศเสวยสุขสมบัติอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น

๒๖ในปีกุญนั้น พระราชาองค์หนึ่งได้ผ่านราชสมบัติในพระนครหงษาวดี ยกพลสุรโยธาใหญ่เปนกระบวนจตุรงคเสนามา มีพระราชประสงค์จะแย่งชิงเอากรุงศรีอยุธยาซึ่งเปนเมืองอันบริบูรณ์ จึ่งเข้ารบพุ่งซึ่งกันและกัน ก็ไม่ได้กรุงศรีอยุธยานั้นดังพระไทยประสงค์ จึ่งขอเสวตรกุญชร ๔ ช้าง กับพระราชโอรสองค์หนึ่ง ครั้นพระเธียรราชาให้แล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็พาช้างกับพระราชโอรสของพระเธียรราชากลับไปสู่เมืองหงษาวดีของพระองค์

๒๗ฝ่ายพระเธียรราชานั้น พระองค์เสวยราชสมบัติอยู่ ๑๖ ปี ทรงพระอุสสาหะทำการบุญการกุศลเปนอันมาก ความที่พระองค์พลัดพรากจากเสวตรคชสาร ๔ ช้าง ก็กระสันเสียพระไทย จึ่งมอบเวนราชสมบัติให้พระราชโอรสของพระองค์พระนามว่า พระมหามหินท์ ส่วนพระองค์ก็ออกทรงบรรพชาในพระพุทธสาสนา

๒๘ฝ่ายพระมหามหินทราชานั้นครองราชสมบัติได้ ๗ ปี พระเจ้าหงษาวดีผู้เปนปัจจามิตรยกพลมารบแย่งชิงเอาพระนครศรีอยุธยาได้ จึ่งตั้งพระมหาธรรมราชาผู้เปนเจ้าเมืองพิษณุโลกผู้มีความภักดีอ่อนน้อมต่อพระองค์ให้ครองกรุงศรีอยุธยานั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับไปยังเมืองหงษาวดีของพระองค์

๒๙พระมหาธรรมราชานั้นเปนผู้ประกอบด้วยมหายศปรากฎด้วยบุญญาภินิหารมีความสุขมาก และอุสสาหะทำการบุญโดยอเนกประการ ครองราชสมบัติได้ ๒๒ ปีแล้วก็สวรรคต

๓๐พระราชโอรสของพระมหาธรรมราชานั้นพระนามว่า พระนเรศวร ได้ครองราชย์สมบัติในเมืองพิษณุโลก ครั้นพระเจ้าหงษาวดีสวรรคตแล้ว พระยาอุปราชได้ครองราชย์สมบัติในเมืองหงษาวดี แล้วจึ่งยกพลนิกายมาประทุษร้ายพระนเรศวร เมื่อพระนเรศวรทราบเหตุนั้นแล้ว พร้อมใจกันกับพระอนุชาธิราชคิดทำการสงครามอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น ครั้นพระยาอุปราชผู้เปนพระราชโอรสของพระเจ้าหงษาวดียกพลติดตามมา ก็ทำการสงครามกับพระยาอุปราชด้วยคชยุทธ ฟันพระเศียรพระยาอุปราชขาดด้วยพระแสงง้าวด้ามยาวให้สิ้นพระชนม์ในที่รณรงค์นั้น

๓๑ครั้งนั้น พระนเรศวรได้ชัยชำนะบนคอคชสารแล้ว ทำการพระราชพิธีบรมราชภิเสกเปนบรมกระษัตร มีพระมหาอิศริยยศและมีมหาเดชานุภาพแผ่ไปในทิศานุทิศ พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้นเมื่อพระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๑๓๔ ปีในปีขาล ตรีศก

ครั้งนั้น พระเจ้ากรุงกัมพุชาธิบดีผู้เปนข้าศึกมีพระราชประสงค์จะทำสงครามด้วยพระนเรศวรนั้น จึ่งยกพลจตุรงคนิกายมาแวดล้อมพระนครนั้น ต่างยกพลนิกรออกต่อสู้ซึ่งกันและกัน ฝ่ายพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีกับทั้งพลจตุรงคนิกายพ่ายแพ้จะหนีเข้าพระนคร พระนเศวรยกพลตามรบไปฆ่ามหาชนตายเปนอันมากจนถึงกัมพุชนคร จึ่งมีรับสั่งให้ล้อมพระนครไว้ แล้วให้สุรโยธาของพระองค์เจ้ารบตลุมบอนจนเข้าพระนครได้ พระเจ้ากัมพุชาธิบดีหนีออกจากเมืองลงยุทธนาวาหนีไป พระนเรศวรจึ่งเสด็จลงทรงยุทธนาวาแล่นติดตามไป ครั้นทันพระเจ้ากัมพุชาธิบดีเข้าแล้ว ต่างก็ต่อสู้ซึ่งกันและกันด้วยยุทธนาวาในท่ามกลางน้ำ พระนเรศวรจึ่งให้ยิงเสากะโดงด้วยปืนใหญ่ เสากะโดงนั้นก็หักสบั้นไป จับพระเจ้ากัมพุชาธิบดีได้แล้วก็ให้สำเร็จโทษเสีย

๓๒ครั้นพระนเรศวรได้กัมพุชนครแล้ว ก็ให้กวาดครอบครัวพามหาชนมาเปนอันมาก ทั้งให้พาพระราชโอรสและพระมเหสีของพระเจ้ากัมพุชาธิบดีนั้นมาด้วย แล้วเสด็จกลับพระนครของพระองค์ เมื่อพระนเรศวรนั้นเสวยราชสมบัติได้ประมาณสองสามปี จึ่งให้ยกสุรโยธาเปนกระบวนจตุรงคเสนาเข้าตีเมืองน้อยซึ่งเปนแว่นแคว้นของเมืองหงษาวดีได้ แล้วยกไปตีเมืองน้อยอื่นอีก ทำให้พระเจ้าพม่าพลัดพรากจากแว่นแคว้นพระนคร แล้วก็เสด็จกลับมาพระนครของพระองค์ ครั้นอยู่มาสองสามปี ยกไปตีเมืองอื่นให้แตกย่อยยับไป แล้วยกไปตีลุงคะลางคะนครให้แตกพลัดพราย แล้วพระองค์เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี สวรรคตในค่ายรบในเมืองหางคะนคร และพระนเรศวรนั้นได้บำเพ็ญการกุศลสร้างอารามพุทไธศวรรย์ เปนผู้มีมหาบุญญาธิการมหันตะยศปรากฎด้วยมหานุภาพ เสด็จไปสู่สำนักมัตยุราชตามยถากรรมของพระองค์

๓๓ในปีมะเสง พระอนุชาธิราชของพระนเรศวรนั้นพระนามว่า พระราเมศวร เปนผู้มีบุญและยศใหญ่ ได้เสวยราชสมบัติอยู่ ๗ ปี พระองค์ทรงบำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ เปนสุขสำราญพระไทยอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้นตราบเท่าสวรรคต

๓๔ในปีจอ พระราชโอรสของพระราเมศวรนั้นพระนามว่า พระอินทะราชา เปนผู้มีบุญญาภิสมภารมหายศ ปรากฎด้วยอานุภาพใหญ่แผ่ไปในนานาประเทศ ข้าศึกย่อมเกรงขามคร้ามพระเดชานุภาพ พระองค์มีเสวตรกุญชร ๓ เชือก เสวยราชสมบัติได้ ๑๙ ปี ก็สวรรคาไลยไปตามยถากรรมในกาลเมื่อสิ้นพระชนมายุ

๓๕กระษัตร ๑๐ พระองค์นั้นมีสมเด็จพระมหาพุทธางกูรเปนต้นดังนี้ได้ครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานานบ้างเร็วบ้างสมมุติว่าเปนเจ้าประเทศ ทรงบำเพ็ญการบุญการกุศลต่าง ๆ มีทานและศีลเปนต้นบ้าง กระทำการอกุศลต่าง ๆ มีปาณาติบาตรเปนต้นบ้าง บางพระองค์ก็มีพระราชศรัทธามาก บางพระองค์ก็มีศรัทธาน้อย บางพระองค์ก็สั่งสมการบุญในพระพุทธสาสนา แต่ว่าหาได้ให้พระภิกษุสงฆ์ผู้เปนพหูสูตรผู้มีปัญญาแกล้วกล้ารู้ธรรมวินัยทำสังคายนาพระธรรมวินัยเหมือนในกาลก่อนไม่

จึ่งมีคำบุจฉาว่า เหตุไรกระษัตรทั้งหลายเหล่านั้นจึ่งไม่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก

มีคำวิสัชชนาว่า กระษัตรทั้งหลายเหล่านั้นไม่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก เพราะกระษัตรเหล่านั้นก็ดี พระภิกขุสงฆ์ทั้งหลายก็ดี ยังเปนผู้ตกอยู่ในที่ไม่ควรจะทำสังคายนา ทั้งไม่มีเหตุและอุปนิสสัยที่จะทำสังคายนา เหตุดังนั้น กระษัตรเหล่านั้นจึ่งไม่ทำสังคายนา และกระษัตรเหล่านั้นต่างพระองค์ก็บำเพ็ญการกุศลตามกำลังแห่งตน ครั้นถึงกาลอายุขัยแล้ว ก็ไปตามยถากรรม

ทสราชกถาที่สองจบเพียงนี้

๓๖ในปีมะโรง พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๑๗๑ พรรษา พระราชโอรสของพระอินทะราชานั้นพระนามว่า พระเชฏฐราชา เปนผู้มีบุญ พระชนม์ ๑๕ ปี ขึ้นเสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาแทนพระราชบิดาได้ ๘ เดือน ได้เสวตรกุญชรเชือกหนึ่ง แต่ว่าพระองค์เปนผู้ปราศจากปัญญาปรีชา ทำแต่การทุจริตผิดราชประเพณี

๓๗ในลำดับนั้น ชาวพระนครทั้งหลายมีเสนาบดีเปนต้นพร้อมใจกันจับพระเชฏฐราชานั้นได้ แล้วก็นำไปสำเร็จโทษเสีย จึ่งอภิเสกพระราชโอรสของพระอินทะราชาองค์หนึ่งซึ่งเปนพระอนุชาต่างมารดากับพระเชฏฐราชา พระนามว่า พระอาทิจจะวงษ์ พระชนม์ได้ ๙ ปี ให้ครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาในปีมะเสง

๓๘ในลำดับนั้น ชาวพระนครทั้งหลายมีเสนาบดีเปนต้นเหล่านั้นจึ่งจับพระอาทิจจะวงษ์ซึ่งครองราชสมบัติได้ ๑ เดือนกับ ๘ วัน นำไปสำเร็จโทษเสีย แล้วจึ่งอภิเสกพระราชโอรสของพระอินทะราชานั้นต่างมารดากับพระอาทิจจะวงษ์ พระนามว่า พระศรีสุธรรมราชา พระชนม์ได้ ๑๓ ปี ให้ขึ้นครองราชสมบัติในปีมะเมีย พระศรีสุธรรมราชานั้นครองราชสมบัติได้ ๑๘ ปีเศษ พระองค์เปนผู้มีบุญและเกียรติยศ ปรากฎด้วยมหาเดชานุภาพ มีพระไทยประกอบด้วยศรัทธา ทรงพระอุสสาหะบำเพ็ญการบุญมีทานบริจาคเปนต้น ประพฤติในราชกิจโดยชอบธรรม ครั้นถึงกาลอายุขัยแล้ว ก็เสด็จไปสู่สำนักพระยามัจจุราชตามยถากรรมของพระองค์

๓๙ในกาลเปนลำดับนั้น พระราชโอรสของพระศรีสุธรรมราชาพระนามว่า พระเธียรราชา พระชนมายุ ๑๒ ปี ได้เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้น มหาเสนาบดีผู้หนึ่งเปนผู้มีบุญญาธิการมาก เมื่อจะสั่งสอนว่าราชการทั้งปวง ก็อุ้มพระเธียรราชาขึ้นวางตัก แล้วให้ราชเสวกทั้งหลายบำรุงบำเรอ ครั้นพระเธียรราชาทำการฌาปนะกิจปลงศพพระราชมารดาของพระองค์เสร็จแล้ว มหาเสนาบดีนั้นก็ให้จับพระเธียรราชานำไปสำเร็จโทษเสีย

๔๐มหาเสนาบดีนั้นก็ขึ้นเสวยราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า พระเจ้าสุวรรณปราสาท เพราะพระองค์ได้ปราสาททองในภายในจอมปลวก เมื่อเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น พระชนมายุ ๕๐ ปี พระองค์เปนผู้ประกอบด้วยบุญญาภินิหารมหิทธิศักดาเดชานุภาพมาก ครองราชสมบัติอยู่ประมาณสองสามปี ยังมีภิกขุรูปหนึ่งเปนเชื้อราชวงษ์ชื่อว่า สุธรรม ลาเพศจากความเปนสมณะ แล้วเข้าชิงเอาราชสมบัติได้ พระเจ้าปราสาททองหนีออกจากพระราชวังเสด็จประทับอยู่ในราชอุทยาน

ในวันนั้น พระองค์ขึ้นทรงคชสารยกสุรโยธากลับมา แล้วเข้าไปในภายในพระราชนิเวศน์ รบพุ่งซึ่งกันและกัน ประหารสุธรรมราชวงษ์ตาย แล้วกลับได้ราชสมบัติดังก่อน จึ่งให้สร้างชนธาราม พระราชทานชนเปนอันมากให้เปนทาสพระพุทธเจ้าในพระอารามนั้น พระองค์ได้ประดิษฐานอยู่ในที่เปนพระเจ้าแผ่นดิน ๑๕ ปี และได้ทำการกุศลต่าง ๆ มีการปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาทเปนต้น จนถึงอนิจจะกรรมสิ้นพระชนม์ไปสู่สำนักพระยามัจจุราชตามยถากรรมของพระองค์

๔๑ในกาลเปนลำดับมา พระอนุชาธิราชของพระเจ้าปราสาททองนั้น พระชนมายุ ๕๐ ปีเศษ ได้ครองราชสมบัติแทนพระเจ้าปราสาททอง ๔ ปี และพระเจ้าปราสาททองนั้นมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ พระราชบุตร ๑ พระราชธิดา ๑ พระราชบุตรนั้นพระนามว่า พระนารายน์ เปนผู้มีบุญญาภินิหารมาก เปนอุปราชของพระเจ้าอา

๔๒ในกาลครั้งนั้น พระราชบุตรพระราชธิดาของพระเจ้าปราสาททองทั้งสองนั้นทรงสร้างวัด ๓ วัด คือ วัดขัตติยาราม ๑ วัดโลกจุธามุนาราม ๑ วัดบรมขัตติยาราม ๑ และได้ทำการกุศลต่าง ๆ อื่นอีกเปนอันมาก ฝ่ายพระราชาผู้เปนพระเจ้าอานั้นจะทำการทุจจริตประพฤติเมถุนสมาจารกับพระราชธิดาผู้เปนพระราชภัคินีของพระนารายน์ผู้เปนอุปราชนั้น ครั้นพระยาอุปราชรู้เหตุนั้นแล้วก็พิโรธ ไม่ไปเฝ้าเดือนหนึ่ง คิดการประทุษร้าย ยกพลเข้ารบซึ่งกันและกัน จับพระเจ้าอาได้ นำไปสำเร็จโทษเสีย

๔๓ในปีมะโรง พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๒๐๗ ปี พระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททองพระนามว่า พระนารายน์ พระชนม์ ๒๕ ปี เมื่อจะชิงเอาราชสมบัติของพระเจ้าอานั้น ได้ทำยุทธนารบพุ่งซึ่งกันและกัน จับพระเจ้าอาได้ นำไปประหารชีวิตเสีย แล้วพระองค์ก็ขึ้นครองราชสมบัติเปนเอกราช มีบุญญาธิการมหาเดชานุภาพประกอบด้วยมหาอิศริยยศ

๔๔เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติได้สองสามปี จึ่งกฤธาพลทหารที่แกล้วกล้ายกไปตีเมืองเชียงใหม่ เมืองหริปุญชัย ได้ต่อสู้กันเปนสามารถ ครั้นตีได้เมืองเหล่านั้นแล้ว ก็กวาดครอบครัวชนที่แตกกระจัดพลัดพรายจากพระนครนั้นพามาสู่พระนครของพระองค์ พระองค์ครองราชสมบัติทั้ง ๒ พระนคร คือ กรุงศรีอยุธยา ๑ เมืองลพบุรี ๑ กำหนดกาลนานได้ ๒๔ ปี และได้ทำการบุญปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท พระไทยประกอบด้วยความเมตตามาก มีชัยชนะเหล่าปัจจามิตรทั้งหลาย กิตติศัพท์กิตติคุณก็แผ่ไปในนานาประเทศ มีเสวตรเอกคชสารช้างหนึ่งเปนที่พอพระไทย เสด็จประทับอยู่ณเมืองลพบุรีตราบเท่าสิ้นพระชนมายุ แล้วก็ไปตามยถากรรม

๔๕ในลำดับต่อนั้นมา พระเพทราชาเปนวงษ์อื่น เปนผู้มีบุญญาภินิหารมหาอิศริยยศ พระชนม์ ๖๐ ปีเศษ จับราชวงษ์ของพระนารายน์ประหารชีวิตเสียสิ้น แล้วได้ครองราชสมบัติในพระนครนั้น ๑๐ ปี ทำการปฏิสังขรณ์อารามต่าง ๆ มีพระพุทธบาทเปนต้น เปนผู้มีพระบวรสันดานบริบูรณ์ด้วยศรัทธา ทำการกุศลต่าง ๆ มีการบริจาคทานและรักษาศีลเปนต้น ยังมหาชนให้มีความรื่นรมย์ในการกุศล ตราบเท่าสิ้นพระชนมายุแล้วก็ไปตามยถากรรม

๔๖ในกาลเปนลำดับพระเพทราชานั้น พระราชโอรสของพระนารายน์ที่พระเพทราชาเลี้ยงไว้เปนบุตรเลี้ยงนามว่า หลวงสรศักติ์ เมื่อได้ที่เปนอุปราชแล้ว นามว่า มหาโลน เปนผู้มีบุญเดชานุภาพมาก

๔๗เมื่อได้เสวยราชสมบัติ พระชนม์ ๔๐ ปีเศษ ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๗ ปี ทำการบาปคือปาณาติบาตมาก ทำการบุญน้อย ครั้นถึงกาลสิ้นพระชนมายุแล้วก็ทำกาลกิริยา พระราชโอรสของหลวงสรศักติ์นั้นมี ๒ พระองค์ ประกอบด้วยบุญอำนาจมาก เที่ยวไล่ตามฆ่าวงษ์ตระกูลเสียสิ้น

๔๘ในกาลต่อมานั้น พระราชโอรสผู้เปนพระเชฏฐาได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งที่อุปราช ครั้นพระราชบิดาสวรรคตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดา พระชนม์ ๓๐ ปีเศษ เปนผู้ประกอบด้วยมหิทธิฤทธิ์อานุภาพมาก กระทำการลามกมาก และกระทำการปาณาติบาตมาก ปรากฎพระนามว่า มหาโจร ฝ่ายการกุศลนั้นกระทำน้อย ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี ประพฤติราชกิจประกอบด้วยความสุข และยังมหาชนให้ตั้งอยู่ในความสุขเปนอันมาก ครั้นถึงอนิจจะกรรมสิ้นพระชนมายุแล้ว ก็ไปตามยถากรรม

ทสราชกถาที่ ๓ จบเท่านี้

๔๙ในปีชวด พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๒๗๕ ปี พระอนุชาธิราชผู้เปนพระกนิฏฐาของพระมหาโจรนั้นได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งที่เปนอุปราช เปนผู้มีเดชานุภาพมาก ชิงเอาราชสมบัตินั้น ได้สู้รบกับพระราชโอรสทั้ง ๒ องค์ของพระเชฏฐาธิราชนั้น คือ พระปรเมศวร ๑ พระอภัย ๑ ยังพระราชโอรสทั้ง ๒ นั้นให้พ่ายแพ้หนีไป แล้วก็ยกพลตามไปจับตัวได้ ให้นำไปประหารชีวิตเสีย แล้วขึ้นครองราชสมบัติเมื่อมีพระชนม์ได้ ๕๐ ปี มีบุญญาภินิหารมาก ประกอบด้วยอิศริยยยศมหิทธิศักดาเดชานุภาพมาก ทั้งมีบริวารมาก ปรากฎพระนามว่า พระมหากาล มีน้ำพระไทยเปนกุศล ประกอบด้วยศรัทธา ดำรงอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น ประพฤติตามราชประเวณี มีพระนามตามสมมุติว่า พระเจ้ารามาธิบดี ไม่มีข้าศึกมารบกวนอาณาเขตร มีพระเกียรติคุณรุ่งเรืองแผ่ไปในนานาประเทศ

๕๐ทรงสร้างอารามและบริเวณวิหารและโรงอุโบสถ และได้บำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ มีการรักษาศีลและบริจาคทานเปนต้น ทั้งให้ซ่อมแซมพระนครให้งามดีเปนที่มโนรมรัมณิยฐานเช่นกับวิมานในเทวนคร และประดับไปด้วยเงินและทอง และประดับไปด้วยกระจก ให้สร้างปราสาท ๓ องค์ เสร็จแล้วจึ่งให้ทำการปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท ให้ปิดด้วยแผ่นทองคำ และทำให้งามเปนที่ยินดีเช่นกับเทววิมาน มีลวดลายอันจำแนกด้วยดีวิจิตรต่าง ๆ อย่างประเสริฐ ล้วนแล้วไปด้วยกระจกเงินทองและแก้ว ครั้นทำมณฑปพระพุทธบาทนั้นให้งาม เสร็จแล้วจึ่งให้สร้างพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกเปนอันมาก ตั้งแต่นั้นมา พระนครนั้นก็บริบูรณ์ประกอบด้วยความสุขเปนที่รื่นรมย์ปรากฎประหนึ่งว่าเทวนคร ยังมหาชนให้เจริญอยู่ในความสุขมาก

๕๑อนึ่ง พระรามาธิบดีนั้นพระองค์เสวยราชสมบัติโดยชอบธรรม เคารพนบนอมพระรัตนไตรย ทรงไว้ซึ่งศีลาจารธรรม กิตติคุณก็ปรากฎรู้ไปถึงชาวลังกาทวีป เมื่อพระเจ้ากรุงลังกามีพระราชประสงค์พระธรรมและพระสงฆ์ที่ไม่มีในเกาะลังกาจะให้มีขึ้นเหมือนแต่ก่อน ครั้นทราบความว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเปนผู้เคารพในคุณพระรัตนไตรย ทั้งเปนผู้มีบุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ อุปฐากพระรัตนไตรยเปนนิจจะกาล เปนผู้บริบูรณ์ด้วยพระรัตนไตรยประหนึ่งว่ามีขุมทองสำหรับพระนคร จึ่งส่งราชทูตให้ลงนาวานำพระราชสาส์นกับเครื่องพระราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อจะขอพระธรรมและพระสงฆ์ไปไว้ในเกาะลังกา

ครั้นพระเจ้ารามาธิบดีได้สดับพระราชสาส์นนั้นแล้ว ก็ทรงพระโสมนัสในพระไทย มีรับสั่งให้บำรุงบำเรอเลี้ยงดูราชทูตด้วยนานาเนกอาหาร จึ่งจัดหาพระพุทธรูปแล้วด้วยทองคำและแล้วด้วยเงิน ๑ พระธรรมวินัย ๑ พระภิกขุสงฆ์ ๑ เครื่องพระราชบรรณาการ ๑ มอบให้ราชทูตนำไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา ๆ ส่งราชทูตมาครั้งที่สองเช่นดังที่ส่งมาแล้วนั้น พระเจ้ารามาธิบดีก็ส่งราชทูตไปเช่นดังเคยส่งไปนั้น

๕๒ก็แหละ พระเจ้ารามาธิบดีนั้นมีพระราชโอรสหลายพระองค์ บริบูรณ์ด้วยราชสมบัติเปนอันมาก มีพวกพลพาหนะก็มาก ตั้งพระราชโอรสผู้พี่ใหญ่ไว้ในที่เปนอุปราชพระนามว่า พระทิเบศ และพระทิเบศนั้นได้ทำการมิจฉาจารกรรมกับพระอนุมเหษีของพระเจ้ารามาธิบดีซึ่งเปนการอันไม่สมควร และทำการอันลามกอื่น ๆ อีกที่มีโทษมาก จึ่งมีรับสั่งให้จับตัวพระยาอุปราชนั้นไปประหารชีวิตเสีย แล้วตั้งพระราชโอรสองค์หนึ่งที่ต่างมารดากับพระทิเบศนั้นพระนามว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ให้เปนที่อุปราช พระเจ้ารามาธิบดีนั้นอยู่ในราชสมบัติได้ ๒๗ ปี ความชราเข้ามาครอบงำ ถึงซึ่งอนิจจะภาพสิ้นพระชนม์ในปีขาล ครั้นทำลายเบ็ญจขันธ์แล้ว ก็ไปตามยถากรรม

ในกาลครั้งนั้น กรุงศรีอยุธยานิราศภัย เปนพระนครอันงามบวร เช่นกับด้วยเทวนคร เปนที่สนุกสบายใจ มากบริบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ไม่มีหมู่ปัจจามิตรมารบกวน

๕๓ในปีขาลนั้น พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๐๑ ปี เจ้าฟ้าดอกเดื่อผู้เปนอุปราชนั้นได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา จึ่งมีรับสั่งให้พระเชฏฐาธิราชผู้มีนามว่า เอกาทศ จับพระราชบุตรที่มีพวกพลมาก ๓ พระองค์ คือ พระวิจิตรสุนทร ๑ พระสุนทรทิพ ๑ พระเสวะภักดี ๑ ซึ่งร่วมพระมารดาพระราชบิดาเดียวกันกับพระองค์ นำไปประหารชีวิตเสีย แล้วให้จับพระราชบุตรที่ต่างมารดากับพระองค์นำไปประหารชีวิตเสียหลายพระองค์ เจ้าฟ้าดอกเดื่อขึ้นเสวยราชสมบัติอยู่ประมาณ ๒ เดือนเศษ ไม่ยินในมาตุคาม ไม่ประพฤติพระองค์ให้ระคนด้วยมาตุคาม จึ่งมอบราชสมบัติให้พระเชฏฐาธิราช แล้วละราชสมบัติออกทรงผนวชในพระพุทธสาสนาพร้อมด้วยเครื่องสักการเปนอันมาก

๕๔ฝ่ายพระเชฏฐาธิราชนั้นเปนผู้มีปัญญาเขลา และเปนผู้มีสติอันฟั่นเฟือนหลงลืม ปราศจากหิริโอตัปปะ ไม่ใคร่ครวญในราชกิจตามราชประเพณี มิได้พิจารณาเห็นคุณและโทษให้ถ่องแท้ อยู่ในราชสมบัติได้ ๘ ปีเศษ

๕๕ในครั้งนั้น ชาวเมืองและชาวชนบทชาวคามนิคมทั้งหลายมีเสนาบดีและอำมาตย์เปนต้นก็ตั้งอยู่ในอสัจจะธรรม มีสันดานเต็มไปด้วยการทุจจริต ข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และย่ำยีชาวชนบทและคามนิคมให้ได้ความเดือดร้อน ชนชาวพระนครทั้งปวงเหล่านั้นมีความทุกข์มาก มีโรคอุปัททวันตรายมาก และมากไปด้วยความโทมนัสคับแค้นใจ อายุก็สั้นพลันตาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ก็วิปริตแปรปรวนไปต่าง ๆ ผลไม้ก็มีรสอันวิปริต น้ำในแม่น้ำมีสีอันแดงดังเลือดนก น้ำที่ลึกก็กลับตื้น ที่ตื้นก็กลับลึก ฤดูก็วิปริต ฤดูหนาวก็กลายเปนฤดูร้อน ฤดูร้อนก็กลายเปนฤดูหนาว ลมก็พัดไม่เสมอ เมฆพลาหกมีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเขียว สีดำ สีแดง สีเหลือง มีปรากฎในอากาศต่าง ๆ กัน ทั้งเหล่าอมนุษย์ภูตปิศาจก็กำเริบทั่วไปในปัจจันตคามนิคมราชธานี พิรุณเทวาก็ปรากฎในกาลใช่เหตุ ยังฝนให้ตกในอันใช่ฤดูกาล

๕๖ในกาลคราวนั้น นิมิตรร้ายและอุบาทว์อันพิลึกก็เกิดปรากฏในนานาราชธานีชนบททั้งหลาย พระมหาเจดีย์ก็หักพังทำลายลง มหาบรรพตก็วิปริต ประหนึ่งว่าเสียงอุโฆษร่ำไรร้องไห้ เหล่าอมนุษย์ปิศาจเปล่งเสียงหัวเราะดัง เปนมหาภัยอันน่าจะพึงกลัว เบียดเบียนเหล่ามนุษย์ทั้งหลายให้ไข้เจ็บต่าง ๆ ก็แหละ มหาภูตรูปทั้ง ๔ และนิมิตรร้ายแปรปรวนต่าง ๆ เปนบุพพะนิมิตเกิดก่อนดังนี้เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า มหานครจะพินาศ

๕๗ในปีเถาะ พุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๐๒ ปี พระเจ้าพม่าชื่อ มังลอง ยกพลจตุรงคโยธามานับด้วยหมื่นเปนอันมาก เข้ารบเมืองหงษาวดีได้ แล้วก็พาพวกรามัญเหล่านั้นมายังกรุงศรีอยุธยา ยกพลเข้ารบกับชาวเมือง แล้วถอยไปพักอยู่ที่ค่ายแม่น้ำสีกุก พระเจ้ามังลองนั้นประชวรเปนโรคท้องร่วงไม่นานเท่าไรก็สวรรคต อีกนัยหนึ่ง ชนบางเหล่ากล่าวว่า ชาวพระนครทั้งหลายพร้อมด้วยสุรโยธามาที่สนามรบณวัดน่าพระเมรุ ยิงปืนใหญ่ไป พระเจ้ามังลองต้องปืนใหญ่นั้นแล้วกลับมาสู่ค่ายนั้นก็สวรรคตในเวลาราตรีนั้น

๕๘ในกาลครั้งนั้น ชาวพระนครทั้ง ๓ แลเห็นข้าศึกมีกำลัง ก็มีความสดุ้งตกใจกลัว จึ่งพากันไปอาราธนาพระอนุชาธิราชเจ้า คือ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ที่ทรงผนวชเปนภิกขุนั้น ให้ลาสิกขาบทออกมารักษาพระนคร ข้าศึกเหล่านั้นทราบเหตึก็พากันยกไพร่พลหนีไป ในกาลใดพระอนุชาธิราชนั้นครองราชสมบัติได้ ๓ เดือน ก็มอบราชสมบัติให้พระเชฏฐาธิราช แล้วออกทรงผนวชอีกในกาลนั้น พระเชฏฐาธิราชนั้น ครั้นรับราชสมบัติแล้ว ก็ครองราชสมบัติในพระนครนั้นต่อไป

๕๙ในครั้งนั้น พระเจ้ามังลองมีพระราชโอรส ๖ พระองค์ บรรดาพระราชโอรสทั้ง ๖ พระองค์นั้น พระเชฏฐาธิราชกับพระกนิฏฐาทั้ง ๓ พระองค์รักษาพระนครของตนไว้ ก็แหละ พระราชโอรสทั้ง ๒ ที่มาด้วยพระราชบิดานั้น เมื่อไม่ได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว ในปีมะโรงนั้น พระราชโอรสทั้ง ๒ ก็พาพวกพลนิกายนำศพพระราชบิดามาพักพลอยู่ในแว่นแคว้นภายนอก ทำฌาปนนะกิจศพพระราชบิดา แล้วก็ให้ก่อพระเจดีย์ บรรจุพระอัฏฐิไว้ในพระเจดีย์ เสร็จแล้วเสด็จกลับมายังพระนครของพระองค์

๖๐ในลำดับนั้น พระเชฏฐาธิราชผู้เปนพระราชโอรสของพระเจ้ามังลอง พระนามว่า มังลุก นั้น ได้ครองราชย์สมบัติในเมืองอังวะแทนพระราชบิดา เสนาบดีผู้หนึ่งชื่อ มิงละมิงขุ เปนมหาสุรโยธาอยู่ในพระนครเดิม ยกพลกลับมาปรารถนาจะแย่งชิงเอาราชสมบัติ ได้ต่อสู้กับพระเจ้ามังลุก ๆ จับได้ ให้นำไปประหารชีวิตเสียกับทั้งมิตรสหายพวกพ้องทั้งหมดเสร็จแล้ว พระองค์เสวยราชสมบัติเปนสุขอยู่ในพระนครอังวะนั้น

๖๑ในปีระกา ฉศก พระเจ้ารัตนะอังวะมีรับสั่งให้ตระเตรียมเครื่องยุทธสงคราม เสร็จแล้วจึ่งมีรับสั่งให้มหาโยธายกพลนิกายไปตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้น มหาโยธาก็ยกพลนิกายเปนอันมากมาถึงกรุงศรีอยุธยา แล้วก็ขับพวกพลเข้ารบกับชาวพระนครทั้งหลาย ชาวพระนครเหล่านั้นไม่ชำนาญในการรบ ต่างคนต่างก็มีความกลัว ไม่ร่วมฉันทะเปนอันเดียวกัน ไม่ร่วมความคิดเปนอันเดียวกัน ไม่ทำการในที่เดียวกัน ต่างคนต่างใจ ก็พากันหนีเข้าเมืองไป แต่มหาโยธานั้นล้อมพระนครไว้กำหนดได้ ๒ ปี ชาวเมืองจึ่งแพ้โดยสิ้นสะเบียงอาหารอดหยากไม่มีกำลังที่จะต่อสู้

๖๒เมื่อพระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๑๐ ปี ในปีจอกับปีกุญต่อกัน เวลาราตรี วันสงกรานต์ ณวันอังคาร ยามเสาร์ เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ พระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สิ้นอายุพระนคร เปนอันสาบสูญพินาศไป มหาโยธานั้นสั่งให้กวาดครอบครัวมหาชนและครอบครัวราชวงษานุวงษ์ และให้เก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติเปนอันมาก เสร็จแล้วสั่งให้เผาพระนครและปราสาททั้ง ๓ องค์ แลให้เผาอารามและวิหารเสียให้หมดด้วย และสั่งให้ทำลายกำแพงเมืองและบรรดาเข้าของที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยามีพระไตรปิฎก คือ ธรรมวินัย เปนต้น สั่งให้ทำลายเสียแล้วก็กลับมายังพระนครแห่งตน จึ่งนำทรัพย์เปนอันมาก กับทั้งมหาชนมีราชตระกูลเปนต้น และอาวุธน้อยใหญ่ ถวายพระเจ้าอังวะผู้เปนเจ้านายของตน ในกาลครั้งนั้น ชาวเมืองอริมัททนะ คือ เมืองอังวะ เปนผู้มั่งมีเงินทองแก้วแหวนเปนอันมาก

๖๓ในกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อพม่าข้าศึกมาทำให้วินาศไปด้วยเหตุต่าง ๆ ดังนี้ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็หนีออกจากพระนครไปเร้นซ่อนอยู่ในราวป่า อดอาหารทุพลภาพ พม่าข้าศึกจับได้ ก็พอสิ้นพระชนม์

๖๔ในกาลคราวนั้น มนุษยนิกรทั้งหลายในกรุงศรีอยุธยามีความโศกปริเทวทุกข์โทมนัสคับแค้นใจมาก ทั้งมีความหิวอดหยากจนมีกำลังทุพลภาพมาก บางเหล่าก็พลัดพรากจากญาติและมิตรบุตรภรรยามารดาบิดา ต่างคนต่างวินาศจากเครื่องอุปโภคบริโภคธนธัญหิรัญสุวรรณรัตน์ เปนคนอนาถาทุคคตะกำพร้าดังคนจัณฑาล ไม่มีอาหารจะบริโภค และปราศจากเครื่องอาภรณ์ผ้านุ่งห่มและที่อยู่ มีรูปกายอันซูบผอม ผิวพรรณวิปริต อาศรัยเลี้ยงชีพด้วยผลไม้ และใบไม้ และเครือลดาวัล เง่าบัว รากมัน รากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ดอกไม้ เปนต้น เปนคนกำพร้าอนาถา เที่ยวไปในราวป่า เที่ยวไปในราวประเทศ เลี้ยงชีวิตได้ด้วยลำบากยิ่งนัก ก็แหละมนุษยนิการเหล่านั้นคุมกันอยู่เปนพวก ๆ อยู่เรี่ยรายกันไปในที่ต่าง ๆ ต่างพวกต่างก็ประหารแย่งชิงปล้นซึ่งกันและกัน แย่งชิงซึ่งเข้าเปลือก เข้าสาร เกลือ เปนต้น คนเหล่านั้นบางคนก็ไม่มีอาหาร บางคนก็มีอาหารน้อย จนร่างกายไผ่ผอมทุพลภาพ มีมังสะและโลหิตน้อย ประกอบด้วยความทุกข์อันสาหัส ถึงแก่ความตายบ้าง ไม่ตายบ้าง

๖๕และคนที่ไม่ตายนั้นประกอบด้วยวิโยคทุกข์ ๒ อย่าง คือ พลัดพรากจากญาติ ๑ พลักพรากจากทรัพย์สมบัติ ๑ ต่างคนต่างปราศจากเมตตาจิตรต่อกัน เพราะภัย คือ ความหิว ความหยาก เบียดเบียนอยู่เปนนิตย์ ทั้งไม่มีความเอื้อเฟื้อต่อพระพุทธรูป พระธรรม พระภิกขุสงฆ์ สำเร็จกิจเลี้ยงชีพตนด้วยความฝืดเคือง

๖๖ฝ่ายพระภิกขุสงฆ์ทั้งหลายไม่ได้รับอาหารบิณฑบาตที่ทายกถวาย มีความลำบากนัก เอิบอาบไปด้วยความทุกข์ เพราะมีความแสบท้องเป็นเหตุ สานุศิษย์ขวนขวายหาอาหารบิณฑบาตมาถวาย ได้พอฉันบ้าง ไม่พอบ้าง มีความเบื่อหน่ายในเพศสมณะ ลาสิกขาบทออกมาเปนคฤหัสถ์หาเลี้ยงชีพโดยกำลังตนบ้าง บางพวกที่ยังรักผ้ากาสาวพัตรอยู่ก็อุสสาหะประคับประคองเลี้ยงชีพด้วยความลำบากเวทนายิ่งนัก ได้ฉันบ้าง ไม่ได้ฉันบ้าง มีรูปกายอันซูบผอมวิปริต ตัวสพรั่งไปด้วยแถวเส้นเอ็น จิตรไม่เปนเอกัคคะตารมณ์ได้ ปราศจากอาลัยในพระพุทธรูปและพระธรรม ไม่เปนอันจะรักษาให้เปนปรกติดีได้ ตั้งอยู่อย่างไรก็ตั้งอยู่อย่างนั้น

๖๗ฝ่ายว่าชนที่เปนมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายก็ทำลายพระพุทธรูปเสีย พระไตรปิฎก คือ ธรรมวินัย เหล่านั้นก็ปราศจากคนรักษา วินาศไปด้วยเหตุต่าง ๆ พวกมิจฉาทิฏฐิฉีกผ้าห่อเสียบ้าง ตัดสายรัดเสียบ้าง พระไตรปิฎกนั้นก็เรี่ยรายกระจัดกระจายพลัดพรายไป หนูกัดบ้าง ปลวกกินบ้าง ตกไปในน้ำ ตกที่แผ่นดินบ้าง วินาศไปด้วยฝนรั่วรดบ้าง สูญไปด้วยเหตุต่าง ๆ ดังนี้

๖๘ครั้นอยู่มาในกาลภายหลัง ภิกขุทั้งหลายเหล่านั้นแลเห็นพระธรรมยังเหลืออยู่น้อยนัก มีจิตรประกอบด้วยศรัทธา จึ่งเก็บพระธรรมเหล่านั้นไว้ พระธรรมวินัยบางอย่างก็ยังเปนคัมภีร์มั่นคงอยู่ บางอย่างก็ยังมีอยู่ผูกเดียวบ้าง สองผูกบ้าง บางอย่างก็ยังเหลืออยู่ครึ่งคัมภีร์ บางอย่างก็มีเต็มคัมภีร์บริบูรณ์ บางอย่างก็ไม่ครบคัมภีร์ บางอย่างก็คละกันปนกันในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังนี้ ภิกขุเหล่านั้นเลือกเก็บได้ รวบรวมไว้ตามควรแก่กำลังแล้ว นำมาไว้ในที่อยู่ของตน ๆ

๖๙ฝ่ายปัจจัยทายกที่เคยส่ำสมการกุศลมาแต่ก่อนที่เหลือตายอยู่นั้นก็เปนผู้มีทรัพย์น้อย ได้อาหารเลี้ยงชีพมาแต่ประเทศจีนบ้าง ได้มาด้วยกำลังแขนของตนบ้าง ด้วยเดชการกุศลที่ตนได้ทำไว้แต่ก่อน ด้วยเหตุที่ตนเปนทาสพระพุทธสาสนาให้ผล จึ่งมีอินทรีย์ร่างกายอันบริบูรณ์และมีจิตรศรัทธาปราถนาจะฟังพระสัทธรรมเทศนาในสมัยเปนเบื้องน่า จึ่งพากันไปสู่สำนักแห่งพระภิกขุเหล่านั้น ๆ เปนผู้รู้น้อยบ้าง เปนผู้พหูสูตรบ้าง หยากจะได้ลาภสักการเลี้ยงชีวิตตน จึ่งรับนิมนต์แล้วเลือกค้นตรึกตรองธรรมที่ตนนำมาไว้นั้น แล้วก็แสดงธรรมเทศนาให้ทายกเหล่านั้นฟัง ครั้นทายกเหล่านั้นได้ฟังธรรมแล้ว ที่มีความโศกมากเพราะพลัดพรากจากบุตรธิดาและนัดดาญาติสัมพันธมิตร มีความวิโยคจากญาติครอบงำอยู่ ก็ระลึกขึ้นได้ถึงชนเหล่านั้น ผู้ที่ศรัทธาอ่อนหรือมีศรัทธากล้าก็มีจิตรคิดสังเวชถึงความหลัง ๆ ระลึกได้ถึงความทุกข์และภัยของตน

๗๐จึ่งชักชวนกันสร้างพระพุทธรูปพระสัทธรรมแล้วเสร็จ ทำการบุญฉลองตามกำลังตนแล้ว อุทิศแผ่ส่วนกุศลไปให้ญาติของตน ๆ ชนบางพวกก็บวชบุตรนัดดาของตนในพระพุทธสาสนา

๗๑ครั้นอยู่นานมาในกาลเบื้องน่า ภิกขุเหล่านั้นมีพรรคพวกมาก มีอันเตวาสิกมากขึ้น จตุปัจจัยลาภก็บริบูรณ์ น้ำใจก็ผ่องใสบริสุทธิ์ดี จึ่งทำความอุสสาหะให้เกิดขึ้นในพระพุทธสาสนา เพื่อจะทำการให้เจริญเหมือนแต่ก่อน จึ่งชักชวนกันไปเที่ยวแสวงหาพระธรรมวินัย ครั้นได้เห็นพระพุทธรูปที่หักพัง มีองค์อวัยวะอันกระจัดกระจาย และได้เห็นกุฎีวิหารอันวินาศทำลายไป ก็เกิดความสลดใจร้องไห้เช็ดน้ำตา มีหฤทัยอันหวั่นไหวด้วยความโศก เพราะพระพุทธสาสนาเปนที่รักใคร่ของภิกขุเหล่านั้น พร้อมด้วยอันเตวาสิกทั้งหลาย ช่วยกันเก็บพระพุทธรูปไว้ในที่ควร พระธรรมวินัยทั้งหลายใดที่เหลือจากความวินาศมีประมาณเท่าใด ภิกขุทั้งหลายนั้นก็เก็บรวบรวมพระธรรมวินัยทั้งหลายนั้นมีประมาณเท่านั้นนำมาไว้ในที่อยู่ของตน ๆ

๗๒ครั้นชนทั้งปวงมีอาหารเลี้ยงชีพบริบูรณ์แล้ว ต่างคนก็ปลูกบ้านเรือนลงในที่บ้านเก่าบ้าง ในที่นาและที่สวนซึ่งเปนที่อยู่เก่าต่าง ๆ บ้าง ฝ่ายภิกขุทั้งปวงครั้นได้อาหารบิณฑบาตมีประการต่าง ๆ แล้ว พร้อมด้วยเพื่อนพรหมจรรย์และอันเตวาสิกของตน ๆ จึ่งปลูกห้องน้อยบ้าง กะท่อมบ้าง ในอารามเก่า ๆ แล้วอาศรัยอยู่จำพรรษาในที่นั้น ๆ

๗๓ในกาลครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาพินาศแล้ว มหาโยธาที่เปนแม่ทัพพม่าตั้งชนที่แกล้วกล้าให้เปนใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา แบ่งไว้ให้เปน ๔ ส่วน แล้วกล่าวว่า ท่านจงเปนเจ้าของรักษาอยู่ในแว่นแคว้นนี้ ๆ ด้วยจิตรคิดฤษยาจองเวรว่า ให้ชนเหล่านี้ ๆ จงแย่งชิงกันเอง ฆ่ากันเอง ดังนี้แล้วก็กลับไปสู่นครแห่งตน

๗๔จริงอยู่ ชนทั้งหลายที่อยู่ในแว่นแคว้นนั้น ๆ เปนผู้มีสันดานมากไปด้วยโลภะโทสะโหมะครอบงำ และเปนผู้มีบุญญาธิการน้อย ปัญญาก็น้อย ไม่สามารถจะรักษาสิริ คือ ความเปนอิศรภาพ อยู่ได้ ต่างคนแย่งชิงฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จนถึงความมหาวินาศ บางพวกที่มีกำลังพวกพลพาหนะมากก็ฉุดลากคนอื่นมาให้อยู่ในอำนาจของตน บางพวกควบคุมสมัคพรรคพวกได้มากแล้ว ก็เบียดเบียนคนอื่นให้ได้ความเดือดร้อน บางพวกได้กำลังพลพาหนะแล้ว ก็รักษาพวกของตนไว้ เข้าสู้รบกับปัจจามิตร บางทีก็ชนะ บางครั้งก็แพ้ ความวินาศได้เกิดขึ้นในกาลกลียุคมีกำลังดังนี้

๗๕ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยามีความวินาศดังนี้ คราวนั้น ในแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยานั้น ชนที่มีอิศรภาพในนครของตน ๆ มีอยู่ ๔ นคร คือ พระยาพิษณุโลก ๑ พระยานครศรีธรรมราช ๑ พระยานครราชสีมา ๑ พระนายกอง ๑

๗๖บรรดาชนทั้ง ๔ นั้น พระยาพิษณุโลกที่อยู่ในเมืองพิษณุโลกนั้น ชนทั้งหลายรับพระโองการแล้ว ก็ให้ยกเสวตรฉัตรทำการราชาภิเสกเสร็จแล้ว จึ่งกรีธาพลใหญ่ไปรบกับพระครูสวางคบุรีซึ่งเปนผู้มีพวกพลมาก และเปนผู้ย่ำยีสิกขาบทในพระพุทธสาสนา เปนภิกขุลามกเสพสุราเมรัย แต่ยกพลไปรบถึง ๓ ครั้งไม่ชนะไม่แพ้กัน พระยาพิษณุโลกอยู่ในราชสมบัติ ๖ เดือน พระชนมายุได้ ๔๙ ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม

๗๗ครั้งนั้น ในเมืองนครศรีธรรมราช พระยานครศรีธรรมราชรับโองการอย่างนั้นแล้ว ทำการราชาภิเสกอยู่ในราชสมบัติได้ ๒ ปีเศษ พระยากำแพงเพ็ชร์ที่อยู่ในเมืองธนบุรีพร้อมด้วยสุรโยธาเปนอันมากยกมาทั้งทางน้ำทางบก ครั้นถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็เข้าทำยุทธนาการด้วยชนชาวเมืองทั้งหลาย ได้เมืองแล้วก็พามหาชนเหล่านั้นกับทั้งครอบครัวมาพระนครของพระองค์ ก็แหละ พระยานครศรีธรรมราชตกอยู่ในอำนาจของพระยากำแพงเพ็ชร์นั้นประมาณ ๗ ปีเศษ ครั้นพระยากำแพงเพ็ชร์ใคร่ครวญดูเห็นว่า พระยานครศรีธรรมราชนั้นมีจิตรบริสุทธิ์ซื่อตรงดี จึ่งส่งไปให้ครองเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิมอีก พระยานครศรีธรรมราชครองเมืองนั้นได้ ๔ ปีเศษ ในกาลเบื้องน่าแต่นั้น พระยานครศรีธรรมราชก็มายังนครรัตนโกสินทร์ ยอมตัวเปนบ่าวพระยารัตนโกสินทร์ ในกาลเปนที่สุดอายุแล้ว ก็ไปตามยถากรรมของตน

๗๘ในกาลครั้งนั้น ชนทั้งหลายจับพระยานครราชสีมาฆ่าเสีย แล้วตั้งพระยาองค์อื่นไว้แทน ภายหลัง ชนทั้งหลายก็จับฆ่าเสีย พร้อมกันกับพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาในก่อน พระนามว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ และราชบุตรของพระยานครราชสีมาที่อยู่ในเมืองนครราชสีมานั้น ชนทั้งหลายไม่ยอมให้เปนใหญ่ ครั้นพระยากำแพงเพ็ชร์ยกพลไปถึงเมืองนครราชีสมานั้น ก็ยกพลออกต่อสู้ พระยากำแพงเพ็ชร์จับตัวได้แล้ว นำมาฆ่าเสียที่พระนครของตน

๗๙ครั้งนั้น พระนายกองที่แม่ทัพพม่าตั้งไว้ให้เปนใหญ่ณค่ายโพธิ์ ๓ ต้นนั้น กำหนดกาลนานได้ ๗ เดือน เกรงเดชเจ้ากรุงธนบุรีหนีไป เจ้ากรุงธนบุรีตามจับตัวได้ ฆ่าเสียกับญาติและมิตร

กล่าวมาด้วยเรื่องกรุงศรีอยุธยาวินาศจบเท่านี้

การที่รวบรวมวงษ์กระษัตรไว้ดังนี้ เพื่อจะให้เกิดความสังเวชสลดใจ และจะให้เกิดปัญญาปลงพระไตรลักษณญาณ แสดงด้วยลำดับกระษัตร ๓๖ พระองค์เปนบริเฉทที่เจ็ดจบเท่านี้

  • ข้าพระพุทธเจ้า พระยาพจนสุนทร
  • ผู้แปล