พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457

ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
พระราชปรารภ มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเปนพระราชบัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้น อำนาจเจ้าพนักงานฝ่ายทหารที่จะกระทำการใด ๆ ยังหาตรงกับระเบียบพิไชยสงคราม อันจะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากไภยซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือเกิดขึ้นภายในได้โดยสดวกไม่ บัดนี้ สมควรแก้ไขกฎอัยการศึกแลเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๐ (ร.ศ. ๑๒๖) นั้นเสีย แลให้ใช้กฎอัยการศึกซึ่งได้ตราเปนพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ ดังต่อไปนี้
นามพระราชบัญญัติ มาตราพระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า "กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗"
ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ มาตราเมื่อเวลามีเหตุอันจำเปนเพื่อจะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากไภยซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในพระราชอาณาจักร์นั้นแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกในส่วนหนึ่งส่วนใดของพระราชอาณาจักร์ หรือตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร์ แลถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใดหรือณที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องยกเลิกทั้งสิ้น
ลักษณะประกาศ มาตราถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร์ ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฎว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตร์ใด ใช้กฎอัยการศึก
ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก มาตราเมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้นณแห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหารณที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเปนผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก ฉะเพาะในเขตร์อำนาจน่าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด
เมื่อเลิกต้องประกาศ มาตราการที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเปนไปได้ต่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ
อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตราในเขตร์ที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ให้เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าน่าที่ฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่ง ไม่ว่าในกระทรวงทบวงการอันใด กับในการระงับปราบปรามหรือรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าน่าที่ฝ่ายพลเรือนต้องช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการของเจ้าน่าที่ฝ่ายทหาร
อำนาจศาลทหารแลอำนาจศาลพลเรือนเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก มาตราพลเมืองซึ่งได้กระทำความผิดในคดีอาญาในเขตร์แขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้น ไม่ว่าจะเปนคดีอาญาอย่างใด ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลทหารทั้งสิ้น แลให้เปนไปตามพระธรรมนูญศาลทหารทุกประการ
แต่ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่ก่อนใช้กฎอัยการศึก แลศาลทหารมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาความอาญาที่ตกค้างอยู่เมื่อเลิกใช้กฎอัยการศึก
เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ มาตราเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาไศรย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, แลที่จะขับไล่
การตรวจค้น มาตราการตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้
๑)ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์, หรือต้องห้าม, หรือต้องยึด, หรือจะต้องเข้าอาไศรย, ไม่ว่าในที่ใด ๆ หรือเวลาใด ๆ ได้ทั้งสิ้น
๒)ที่จะตรวจจดหมายหรือโทรเลขที่มีไปมาถึงกันในเขตร์แขวงที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นได้ก่อน
การเกณฑ์ มาตรา๑๐การเกณฑ์นั้น ให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ ดังนี้:—
๑)ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร์หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ
๒)ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องสาตราวุธ, แลเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เปนกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง
การห้าม มาตรา๑๑การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ ดังนี้
๑)ที่จะห้ามมิให้มีการมั่วสุมประชุมกัน
๒)ที่จะห้ามบรรดาการออกหนังสือเปนข่าวคราวซึ่งราชการทหารเห็นว่า ไม่เปนการสมควรในสมัยนั้น คือ ห้ามมิให้มีการออกหนังสือเปนข่าวคราวไม่ว่าอย่างใดก่อนที่เจ้าน่าที่จะได้ตรวจแลมีอนุญาตแล้วว่าให้ออกได้
๓)ที่จะห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมาในทางหลวงซึ่งเจ้าน่าที่เห็นว่า เปนการจำเปนในแห่งใดแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง
๔)ที่จะห้ามมิให้พลเมืองใช้สาตราวุธบางอย่างซึ่งราชการทหารเห็นเปนการขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตรแขวงนั้น ๆ
การยึด มาตรา๑๒บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ แลมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารเห็นเปนการจำเปน จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เปนประโยชน์แก่ราชสัตรู หรือเพื่อเปนประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้
การเข้าอาไศรย มาตรา๑๓อำนาจการเข้าพักอาไศรยนั้น คือ ที่อาไศรยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเปนจะใช้เปนประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาไศรยได้ทุกแห่ง
การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ มาตรา๑๔การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ ดังนี้
๑)ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชสัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้านแลสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเปนกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบ ก็ทำลายได้ทั้งสิ้น
๒)มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศ หรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชสัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง
การขับไล่ มาตรา๑๕ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาไศรยเป็นหลักฐาน หรือเปนผู้มาอาไศรยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงไสยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเปนแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้
ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ มาตรา๑๖ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องอำนาจของเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าภายในเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติแลดำเนิรการตามกฎอัยการศึกนี้ เปนการสำหรับป้องกันพระมหากระษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหาร ให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเปนอิศระภาพแลสงบเรียบร้อยปราศจากราชสัตรูภายนอกแลภายใน
มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง มาตรา๑๗ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหารมีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความเพื่อให้มีความสดวกแลเรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติมให้การดำเนิรไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ แลเมื่อได้ประกาศกฎเสนาบดีหรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินี้
ประกาศมาณวันที่ ๒๗ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เปนวันที่ ๑๓๘๖ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"