พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒



กลับไปหน้าหลัก


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า


พระราชบัญญัติ
การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
พ.ศ. ๒๕๒๒

_______________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน



โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

สารบัญ

แก้ไข





มาตรา


นามพระราชบัญญัติ
๑. พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒"


(สารบัญ)


วันใช้บังคับพระราชบัญญัติ
๒. พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


(สารบัญ)


การยกเลิกกฎหมายที่ขัดแย้ง
๓. บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน


(สารบัญ)


บทอธิบายศัพท์
๔. ในพระราชบัญญัตินี้


"เด็ก" หมายความว่า ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


"องค์การสวัสดิภาพเด็ก" หมายความว่า มูลนิธิ สมาคม หรือองค์การที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์ในการสงเคราะห์เด็ก และปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม


"ศาล" หมายความว่า ศาลคดีเด็กและเยาวชนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือศาลจังหวัดในท้องที่ที่ไม่มีศาลคดีเด็กและเยาวชน


"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้


"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ*


"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม


"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


(สารบัญ)


หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๕. เพื่อคุ้มครองเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้


(สารบัญ)


การจัดให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๖. ห้ามมิให้บุคคลใดนอกจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ* ส่วนราชการที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ* มอบหมาย หรือองค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม


(สารบัญ)


การจัดให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๗. องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ประสงค์จะดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากอธิบดี


หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต การอนุญาตและแบบใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


(สารบัญ)


การจัดให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๘. ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาตให้องค์การสวัสดิภาพเด็กได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๗ ให้อธิบดีแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลไปยังองค์การสวัสดิภาพเด็กนั้นโดยไม่ชักช้า องค์การสวัสดิภาพเด็กมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด


ในกรณีที่องค์การสวัสดิภาพเด็กซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๗ แล้วฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาต หรือกระทำการเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือต่อสวัสดิภาพเด็ก อธิบดีมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม


(สารบัญ)


คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๙. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม" ประกอบด้วย อธิบดีเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมตำรวจ ผู้แทนกรมอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินแปดคน ในจำนวนนี้ต้องเป็นสตรีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ


(สารบัญ)


วาระดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๑๐. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี


ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว


กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้


(สารบัญ)


การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๑๑. นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ


(๑) ตาย


(๒) ลาออก


(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย


(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ


(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ


(สารบัญ)


การประชุมของคณะกรรมการ
๑๒. การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม


การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด


(สารบัญ)


คณะอนุกรรมการ
๑๓. คณะกรรมการอาจตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จะมอบหมายก็ได้


การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


(สารบัญ)


อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
๑๔. ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้


(๑) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ


(๒) พิจารณาและมีมติในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม


(๓) พิจารณาเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม


(๔) ให้คำแนะนำในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแก่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง


(สารบัญ)


ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๑๕. ให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่จัดตั้งขึ้นในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ* ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ


(สารบัญ)


อำนาจในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
๑๖. เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้


(๑) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สถานสงเคราะห์ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานอันเป็นที่อยู่ของเด็ก หรือสำนักงานขององค์การสวัสดิภาพเด็ก ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อพบ สอบถาม สืบเสาะข้อเท็จจริง รวบรวมเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และการเลี้ยงดูเด็ก หรือตรวจตราการปฏิบัติงานขององค์การสวัสดิภาพเด็ก กับมีอำนาจตรวจค้นสถานที่ดังกล่าวเพื่อพบตัวเด็กหรือนำเด็กกลับคืน แต่การตรวจค้นเช่นว่านี้จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และได้แสดงหนังสือนั้นให้เจ้าของหรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้นตรวจดูแล้ว


ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดค้นด้วยตนเอง ไม่ต้องมีหนังสืออนุญาตให้ค้น


(๒) สั่งเป็นหนังสือให้บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การสวัสดิภาพเด็ก ตลอดจนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็นมาให้หรือให้นำเด็กมาพบ หรือมอบเด็กคืน


(สารบัญ)


การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
๑๗. ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา


(สารบัญ)


การพาหรือจัดส่งเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อจัดให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๑๘. ห้ามมิให้ผู้ใดพาหรือจัดส่งเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อวัตถุประสงค์ให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


(สารบัญ)


เงื่อนไขในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๑๙. การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีการทดลองเลี้ยงดูและได้รับอนุมัติให้รับเป็นบุตรบุญธรรมตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

การทดลองเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่ร่วมบิดามารดา พี่ร่วมบิดาหรือมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม หรือเป็นบุคคลอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง[2]


(สารบัญ)


การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๐. ผู้ใดประสงค์จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครหรือต่างประเทศให้ยื่นต่ออธิบดี ส่วนในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด


(สารบัญ)


การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๑. เมื่อได้รับคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม


(สารบัญ)


การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๒. เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้พิจารณารายงานการสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงหรือเอกสารแสดงข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แล้ว ให้พิจารณาว่าจะควรให้ผู้ขอรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูต่อไปหรือไม่


ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งว่าไม่ควรให้นำเด็กไปทดลองเลี้ยงดู ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด


(สารบัญ)


การทดลองเลี้ยงดูเด็ก
๒๓. เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ทดลองเลี้ยงดูเด็กแล้ว ให้ผู้ขอรับเด็กรับมอบเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมไปทดลองเลี้ยงดูได้


การทดลองเลี้ยงดูต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน


หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทดลองเลี้ยงดูให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


(สารบัญ)


การถอนคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๔. ในระหว่างการทดลองเลี้ยงดู ถ้าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมถอนคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือพนักงานเจ้าหน้าที่


การมอบเด็กคืนตามวรรคหนึ่งต้องกระทำโดยไม่ชักช้า ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนำเด็กไปมอบคืนตามกำหนดโดยให้คำนึงถึงระยะทาง ความสะดวกในการนำเด็กไปมอบ และสวัสดิภาพของเด็ก


(สารบัญ)


การถอนคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๕. ในระหว่างการทดลองเลี้ยงดู บิดาหรือมารดาไม่ว่าจะเป็นผู้ให้ความยินยอมหรือไม่ อาจขอให้ยกเลิกคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเสียก็ได้โดยยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ยกเลิกคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กคืนแก่บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ขอยกเลิก และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการขอยกเลิกคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อสวัสดิภาพของเด็ก หรือบิดาหรือมารดาที่เป็นผู้ขอยกเลิกนั้นได้ถูกศาลสั่งถอนอำนาจปกครองแล้ว ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทดลองเลี้ยงดูเด็กต่อไป ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งอาจอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด


(สารบัญ)


การถอนคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๖. ในระหว่างการทดลองเลี้ยงดู ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่เหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้เลิกการทดลองเลี้ยงดูให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคหนึ่ง โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว


คำสั่งของศาลชั้นต้นตามวรรคสองให้เป็นที่สุด


(สารบัญ)


การขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๗. เมื่อได้มีการทดลองเลี้ยงดูครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคณะกรรมการสั่งอนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ดำเนินการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ถือว่าความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ยื่นตามมาตรา ๒๐ เป็นความยินยอมในการจดทะเบียน


(สารบัญ)


การไม่อนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๘. เมื่อได้มีการทดลองเลี้ยงดูครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่เหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคณะกรรมการสั่งไม่อนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี สั่งให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กนั้นคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมอบเด็กคืน และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยทำ เป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว


ในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจร้องต่อศาลให้เด็กอยู่ในความเลี้ยงดูของผู้ร้องก็ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นตามวรรคสองและวรรคสามให้เป็นที่สุด


(สารบัญ)


กรณีถือว่าสละสิทธิที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๒๙. เมื่อคณะกรรมการอนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๒๗ แล้ว หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๘ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมแล้ว หากผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำอนุมัติของคณะกรรมการ หรือนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และให้มอบเด็กคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตร บุญธรรมหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


(สารบัญ)


หน้าที่ของศาลเมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๓๐. เมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนั่งพิจารณาให้อธิบดี ประธานกรรมการ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ แล้วแต่กรณี


(สารบัญ)


การพิจารณาคดีและการอ่านคำสั่งศาลเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
๓๑. การพิจารณาคดีและการอ่านคำสั่งศาลเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัตินี้ให้กระทำโดยลับ เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้เท่านั้นอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ


(๑) บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และทนายความ


(๒) ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและทนายความ


(๓) ผู้คัดค้านและทนายความ


(๔) พนักงานศาล


(๕) พนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ขององค์การสวัสดิภาพเด็กที่เกี่ยวข้อง


(๖) พยาน ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม


(๗) บุคคลที่ศาลเรียกให้มาแถลงข้อเท็จจริง และบุคคลอื่นที่ศาลเห็นสมควร


ถ้าศาลเห็นว่า ในขณะหนึ่งขณะใดบุคคลบางคนไม่ควรอยู่ในห้องพิจารณา ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลทั้งหมดหรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าไม่สมควรนั้น ออกไปนอกห้องพิจารณาก็ได้


(สารบัญ)


ข้อห้ามโฆษณารูป ชื่อ หรือข้อความเกี่ยวกับบุตรบุญธรรม บิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็ก หรือผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคำสั่งศาล
๓๒. ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณารูป ชื่อ หรือข้อความใดซึ่งจะทำให้รู้จักตัวเด็กที่จะเป็นหรือเป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็กที่จะเป็นหรือเป็นบุตรบุญธรรม หรือผู้ขอรับหรือรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและห้ามมิให้โฆษณาคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการ


(สารบัญ)


ค่าธรรมเนียมศาล
๓๓. การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล


(สารบัญ)


บทกำหนดโทษ
๓๔. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


(สารบัญ)


บทกำหนดโทษ
๓๕. ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ (๑) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา ๑๖ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


(สารบัญ)


บทกำหนดโทษ
๓๖. ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมฝ่าฝืนไม่ส่งมอบเด็กคืนตามความในมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


(สารบัญ)


บทกำหนดโทษ
๓๗. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


(สารบัญ)


บทกำหนดโทษ
๓๘. ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น


(สารบัญ)


ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
๓๙. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์* รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้


กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


(สารบัญ)


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส. โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ

แก้ไข


พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งแต่เดิมเคยจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่าง เครือญาติและผู้รู้จักคุ้นเคยกันนั้น บัดนี้ ได้แพร่ขยายออกไปสู่บุคคลภายนอกอื่น ๆ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว สมควรกำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไว้เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ และป้องกันการค้าเด็กในรูปของการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบิดามารดาที่แท้จริงของเด็กตลอดจนประโยชน์ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น


พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๓

[3] หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากข้อยกเว้นไม่ต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมที่กำหนดไว้ตามกฎหมายปัจจุบัน คือพี่ร่วมบิดามารดา พี่ร่วมบิดาหรือมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองนั้น ปรากฏว่ายังมีกรณีอื่นซึ่งสมควรได้รับการยกเว้นอีก เช่น กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะรับบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ติดมาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วย จึงสมควรแก้ไขกฎหมายโดยเปิดโอกาสให้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรณีที่จะได้รับยกเว้นเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕

[4] มาตรา ๓๒ ในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แก้ไขคำว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย" เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" คำว่า "กรมประชาสงเคราะห์" เป็น "กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ" และคำว่า "อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์" เป็น "อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ"

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วน ราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมาย โอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิด ชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่ง หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วน ราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ พิเศษ/ฉบับพิเศษ/หน้า ๒๑/๒๒ เมษายน ๒๕๒๒
  2. มาตรา ๑๙ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๓๓
  3. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗/ตอนที่ ๑๘๗/ฉบับพิเศษ/หน้า ๔๐ /๒๖ กันยายน ๒๕๓๓
  4. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๐๒ ก/หน้า ๖๖/๘ ตุลาคม ๒๕๔๕



 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"