พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๓๕”
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัตินี้จะให้ใช้บังคับในท้องที่ใดเกี่ยวกับสัตว์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา๓ให้ยกเลิก
(๑)พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒
(๒)พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๔
มาตรา๔ในพระราชบัญญัตินี้
“สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่มิใช่สัตว์ป่า และหมายความเฉพาะโค กระบือ แพะ แกะ สุกร และสัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“เนื้อสัตว์” หมายความว่า เนื้อหรือส่วนอื่นของสัตว์ที่ตายแล้ว ซึ่งมิได้ปรุงแต่งให้เป็นอาหารหรือมิได้ปรุงแต่งเพื่อให้คงอยู่ไม่เปื่อยเน่า ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในร่างแห่งสัตว์นั้นหรือชำแหละแล้ว
“โรงพักสัตว์” หมายความว่า สถานที่พักสัตว์หรือกักสัตว์ก่อนทำการฆ่า
“โรงฆ่าสัตว์” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการฆ่าสัตว์ตามพระราชบัญญัตินี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
“พนักงานตรวจโรคสัตว์” หมายความว่า สัตวแพทย์หรือบุคคลอื่น ผู้ซึ่งอธิบดีหรือราชการส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจโรคซึ่งมีในสัตว์หรือเนื้อสัตว์
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรี อธิบดี หรือราชการส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมการปกครอง
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๕ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา๖ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์
(๒)ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศหรือระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้
(๓)พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๗การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา๘ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำมาตรา ๗ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา๙ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา๑๐เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังต่อไปนี้
(๑)กำหนดที่ตั้ง เนื้อที่ แผนผัง และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างและสุขลักษณะของโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์
(๒)กำหนดวัน เวลาเปิดและปิดโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์
(๓)กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยภายในโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะและอนามัย การจัดให้มีที่รวบรวมหรือกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การระบายน้ำทิ้ง การระบายอากาศ การจัดให้มีการป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญและป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ
มาตรา๑๑ผู้ใดมีความประสงค์จะตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ให้ขอรับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง คำขอรับใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์*ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑)วัน เดือน ปี ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต
(๒)ชื่อและที่อยู่ของผู้ขอรับใบอนุญาต ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลต้องยื่นเอกสารหลักฐานหรือสำเนาแสดงการเป็นนิติบุคคลพร้อมกับคำขอด้วย
(๓)สถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์
เมื่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้รับคำขอตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตรวจพิจารณาว่าผู้ขอรับใบอนุญาตได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่ แล้วออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
มาตรา๑๒ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แล้วแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา๑๓ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ ณ ที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายในโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ของตน
มาตรา๑๔ในกรณีใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ สูญหาย บุบสลาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ยื่นคำขอรับใบแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหาย บุบสลาย หรือถูกทำลาย
มาตรา๑๕ผู้ใดมีความประสงค์จะฆ่าสัตว์ให้แจ้งจำนวนสัตว์ที่จะฆ่า วันและเวลาที่จะดำเนินการฆ่าสัตว์ และชื่อของโรงฆ่าสัตว์ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเสียอากรการฆ่าสัตว์ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีเป็นโรงฆ่าสัตว์ของราชการส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยราชการอื่นใดที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ให้เสียค่าธรรมเนียมโรงฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมโรงพักสัตว์ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหลักฐานการรับแจ้งเป็นหนังสือให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์ โดยกำหนดวันและเวลาในการฆ่าสัตว์ดังกล่าวตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา๑๖เมื่อปรากฏว่า ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ ได้ไม่เกินครั้งละหนึ่งเดือน
มาตรา๑๗เมื่อปรากฏว่า ผู้รับใบอนุญาตเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตแล้วมากระทำความผิดในเหตุอย่างเดียวกันอีกภายในหนึ่งปี ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
มาตรา๑๘ก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหนังสือเตือนให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
การส่งหนังสือเตือนตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งแก่ผู้รับใบอนุญาต ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้รับใบอนุญาตให้ปิดหนังสือเตือนไว้ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่า ผู้รับใบอนุญาตได้ทราบคำเตือนนั้นแล้วตั้งแต่วันปิดหนังสือเตือน
มาตรา๑๙ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ ให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๒๐ภายใต้บังคับมาตรา ๒๒ ให้ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์นำสัตว์ไปยังโรงพักสัตว์และจะต้องฆ่าสัตว์นั้นในโรงฆ่าสัตว์ตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม
มาตรา๒๑ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์ออกจากโรงพักสัตว์หรือโรงฆ่าสัตว์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา๒๒ในกรณีต่อไปนี้ จะฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง
(๑)การฆ่าสัตว์ซึ่งต้องฆ่า ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ ตามพิธีกรรมในทางศาสนา
(๒)การฆ่าสัตว์ในท้องที่ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่นั้นประกาศเป็นครั้งคราวว่าเป็นท้องที่กันดาร และจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ในท้องที่นั้น
(๓)การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีเหตุสมควรเป็นพิเศษ
มาตรา๒๓ในกรณีที่พนักงานตรวจโรคสัตว์มีเหตุควรสงสัยว่า สัตว์ที่จะฆ่านั้นเป็นโรคระบาด หรือเป็นโรค หรือมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งงดการฆ่าสัตว์ และแยกสัตว์นั้นไว้เพื่อตรวจพิสูจน์ได้ ภายหลังที่ได้ทำการตรวจพิสูจน์แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่อาจมีคำสั่งให้ดำเนินการฆ่าสัตว์นั้นได้ ในกรณีที่ปรากฏว่า สัตว์ที่จะฆ่านั้นเป็นโรคระบาด หรือเป็นโรค หรือมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คืนเงินอากรและค่าธรรมเนียมสำหรับโรงฆ่าสัตว์ให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์นั้น
มาตรา๒๔เมื่อได้ฆ่าสัตว์แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดนำเนื้อสัตว์ออกจากโรงฆ่าสัตว์ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับตรารับรองให้จำหน่ายที่เนื้อสัตว์นั้นแล้ว
ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานตรวจโรคสัตว์ว่า เนื้อสัตว์ของสัตว์ที่ได้ฆ่าเป็นโรค และหรือมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งตัวหรือบางส่วน หรือจัดทำให้เป็นเนื้อสัตว์ที่ควรใช้เป็นอาหารเสียก่อนได้
มาตรา๒๕ผู้ใดประสงค์จะจำหน่ายเนื้อสัตว์ของสัตว์ที่ตายเองหรือที่มิได้ถูกฆ่าตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำเนื้อสัตว์ของสัตว์นั้นซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังมิได้ชำแหละไปให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ตรวจ หรือในกรณีมีเหตุสมควร จะขอให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ไปตรวจเนื้อสัตว์นั้นก็ได้ ทั้งนี้ โดยเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อพนักงานตรวจโรคสัตว์ได้ตรวจแล้วเห็นว่า เป็นเนื้อสัตว์ที่ควรใช้เป็นอาหารได้ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับตรารับรองให้จำหน่ายที่เนื้อสัตว์นั้นแล้วจึงให้จำหน่ายได้
ในกรณีที่พนักงานตรวจโรคสัตว์เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหาร ให้นำมาตรา ๒๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๒๖ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยมิได้มีการแจ้งตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง
มาตรา๒๗ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา๒๘ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา๒๙ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษดังนี้
(๑)ถ้าเป็นโคหรือกระบือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตัวละไม่เกินห้าพันบาทเรียงตามรายตัวสัตว์ที่ฆ่า หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒)ถ้าเป็นสัตว์นอกจากโคหรือกระบือ จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตัวละไม่เกินสองพันห้าร้อยบาทเรียงตามรายตัวสัตว์ที่ฆ่า หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา๓๐ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ผู้ใดฆ่าสัตว์เกินจำนวนสัตว์ที่ผู้ประสงค์จะฆ่าได้แจ้งไว้ตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับเรียงตามรายตัวสัตว์ที่ฆ่าเกินจำนวนตัวละไม่เกินห้าพันบาทหรือสองพันห้าร้อยบาทตามมาตรา ๒๙ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี
มาตรา๓๑ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา๓๒ในกรณีที่โรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ได้เปิดดำเนินการตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ อยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่า ได้มีการขอรับใบอนุญาตและได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว และให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายออกใบอนุญาตให้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนต่อสัญญาที่ส่วนราชการได้ทำไว้กับบุคคลใด ๆ เกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ และให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นนิติบุคคลซึ่งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ตามสัญญานั้นตั้งอยู่ในเขตเป็นคู่สัญญาตามสัญญานั้นแทนส่วนราชการซึ่งเป็นคู่สัญญา
มาตรา๓๓ในกรณีที่มีการฆ่าสัตว์โดยบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ตั้งโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าการมอบหมายนั้นจะสิ้นสุดลง และในกรณีดังกล่าวให้ผู้ที่ประสงค์จะฆ่าสัตว์ที่โรงฆ่าสัตว์ดังกล่าวเสียค่าธรรมเนียมสำหรับโรงฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมสำหรับโรงพักสัตว์ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย
มาตรา๓๔บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา๓๕ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราอากรและค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นอากรหรือค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- อานันท์ ปันยารชุน
- นายกรัฐมนตรี
๑. | อากรการฆ่าสัตว์ | ||||
โค | ตัวละ | ๑๒ | บาท | ||
กระบือ | ตัวละ | ๑๕ | บาท | ||
สุกร | ตัวละ | ๑๐ | บาท | ||
สุกรที่มีน้ำหนักต่ำกว่า ๒๒.๕ กิโลกรัม | ตัวละ | ๕ | บาท | ||
แพะ หรือ แกะ | ตัวละ | ๔ | บาท | ||
สัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง | ตัวละ | ๔ | บาท | ||
๒. | ค่าธรรมเนียมโรงฆ่าสัตว์ | ||||
โค | ตัวละ | ๑๒ | บาท | ||
กระบือ | ตัวละ | ๑๕ | บาท | ||
สุกร | ตัวละ | ๑๕ | บาท | ||
แพะ หรือ แกะ | ตัวละ | ๔ | บาท | ||
สัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง | ตัวละ | ๔ | บาท | ||
๓. | ค่าธรรมเนียมโรงพักสัตว์ | ตัวละ | ๓ | บาท | |
๔. | ค่าธรรมเนียมการประทับตรารับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ของสัตว์ที่ตายเองหรือที่มิได้ถูกฆ่าตามพระราชบัญญัตินี้ | ||||
(ก) | ค่าพาหนะของพนักงานตรวจโรคสัตว์ตามระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของทางราชการ | ||||
(ข) | ค่าเบี้ยเลี้ยงของพนักงานตรวจโรคสัตว์ตามระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของทางราชการ | ||||
(ค) | ค่าธรรมเนียมการประทับตรารับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ | ||||
โค | ตัวละ | ๑๒ | บาท | ||
กระบือ | ตัวละ | ๑๕ | บาท | ||
สุกร | ตัวละ | ๑๐ | บาท | ||
สุกรที่มีน้ำหนักต่ำกว่า ๒๒.๕ กิโลกรัม | ตัวละ | ๕ | บาท | ||
แพะ หรือ แกะ | ตัวละ | ๔ | บาท | ||
สัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง | ตัวละ | ๔ | บาท | ||
๕. | ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ | ||||
โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ | ฉบับละ | ๒๐๐ | บาท | ||
๖. | ค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต | ฉบับละ | ๕๐ | บาท |
บรรณานุกรม
แก้ไข- "พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535". (2535, 9 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 109, ตอน 45 ก. หน้า 17–26.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"