พระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ธง
พ.ศ. ๒๕๒๒[1]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙

(๒) พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑

(๓) พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓

(๔) พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕

บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


หมวด ๑
ธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยและชาติไทย


มาตรา ๕ ธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยและชาติไทย ได้แก่

(๑) ธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น ๕ แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๒ ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ ๑ ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ ๑ ส่วน ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธงไตรรงค์”

(๒) ธงราชนาวี มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๔ ใน ๖ ส่วนของความกว้างของผืนธง โดยให้ขอบของดวงกลมจดขอบแถบสีแดงของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธงหรือคันธง


หมวด ๒
ธงพระอิสริยยศ


มาตรา ๖ ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่

(๑) ธงมหาราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง

(๒) ธงมหาราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

มาตรา ๗ ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี ได้แก่

(๑) ธงราชินีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีเหลือง ตอนต้น ๒ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงมหาราชใหญ่ ตอนปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธง

(๒) ธงราชินีน้อย มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชินีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

มาตรา ๘ ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้แก่

(๑) ธงบรมราชวงศ์ใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีเหลือง ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น ๒ ใน ๓ ส่วนของผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบ มีขนาดกว้างยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบมีรูปมงกุฎขัตติยราชนารีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ๒ ชั้นเหนือตั่ง และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว ๕ ชั้น อยู่สองข้าง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองเข้ม

(๒) ธงบรมราชวงศ์น้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีแดงแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

มาตรา ๙ ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช ได้แก่

(๑) ธงเยาวราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงมีสองสี รอบนอกสีขาบ รอบในสีเหลืองกว้างยาวครึ่งหนึ่งของรอบนอกมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง

(๒) ธงเยาวราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น ๘ เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่าโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

มาตรา ๑๐ ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช ได้แก่

(๑) ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ตอนต้น ๒ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก ๑ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธง

(๒) ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

มาตรา ๑๑ ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอหรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล ได้แก่

(๑) ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาบ มีดวงกลมสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธงอยู่ตรงกลางของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง

(๒) ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตรตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก ๓ ใน ๘ ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น๘ เท่า ของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ

มาตรา ๑๒ ธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล ได้แก่

(๑) ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ตอนต้น ๒ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก ๑ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธง

(๒) ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ


หมวด ๓
ธงทหาร


มาตรา ๑๓ ธงทหาร ได้แก่

(๑) ธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานมี ๓ ชนิด คือ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ และธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ

(๒) ธงราชการทหาร มี ๔ ชนิด คือ ธงฉาน ธงประจำกองทัพบก ธงประจำกองทัพเรือ และธงประจำกองทัพอากาศ

(๓) ธงแสดงยศ ตำแหน่ง และหน่วยทหาร

มาตรา ๑๔ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๗๐ เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีอุณาโลมทหารบกและมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้อุณาโลมทหารบก ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร

หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งมีธงชัยเฉลิมพลของทหารบกแล้ว จะมีธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งธงก็ได้ ธงนี้มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่กว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๑๐๕ เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง กว้าง ๓๕ เซนติเมตร ยาว ๕๒.๕ เซนติเมตร ภายในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาคันธง ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีเหลือง และมีชื่อหน่วยทหารสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้พระปรมาภิไธยย่อ ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง ๒ เซนติเมตร

ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารในกองบัญชาการทหารสูงสุด มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหารบกตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๑๕ ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักร ภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง ขอบธงด้านที่ติดกับคันธง มีเกลียวเชือกสีแดง

มาตรา ๑๖ ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๗๐ เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๒ ใน ๓ ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีอุณาโลมทหารอากาศ และมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมสีฟ้า ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้าขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง ๒ เซนติเมตร

มาตรา ๑๗ ธงชัยเฉลิมพลตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ จะกำหนดวัตถุที่เป็นผืนธง ลวดลายในผืนธง หรือส่วนประกอบของธงก็ได้ โดยให้กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๘ ในกรณีที่หน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแล้วได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ หรือได้รับอิสริยาภรณ์หรือเครื่องหมายเชิดชูเกียรติจากต่างประเทศ จะประดับเครื่องหมายนั้นที่ผืนธงหรือส่วนประกอบของธงก็ให้กระทำได้

มาตรา ๑๙ ธงฉาน มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง ธงนี้เป็นธงที่ใช้ในเรือพระที่นั่งและเรือหลวง หรือเป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบกซึ่งหน่วยทหารนั้นไม่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

มาตรา ๒๐ ธงประจำกองทัพบก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีแดง ตรงกลางของผืนธงมีรูปเครื่องหมายกองทัพบกเป็นสีเหลือง

มาตรา ๒๑ ธงประจำกองทัพเรือ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน พื้นธงสีขาบ ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีขาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๔ ใน ๖ ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง

มาตรา ๒๒ ธงประจำกองทัพอากาศ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีฟ้า ตรงกลางของผืนธงมีรูปเครื่องหมายกองทัพอากาศเป็นสีเหลือง

มาตรา ๒๓ ธงแสดงยศ ได้แก่

(๑) ธงแสดงยศสำหรับทหารบก

(๒) ธงแสดงยศสำหรับทหารเรือ

(๓) ธงแสดงยศสำหรับทหารอากาศ

มาตรา ๒๔ ธงแสดงยศสำหรับทหารบก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีแดง มี ๕ ชั้น คือ

(๑) ธงจอมพล มีรูปคทากับกระบี่ไขว้เหนือช่อชัยพฤกษ์อยู่ตรงกลางของกลุ่มดาวห้าแฉก ๕ ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ตรงกลางของผืนธง ให้ด้านหนึ่งของรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ด้านล่างขนานกับขอบล่างของผืนธง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง

(๒) ธงพลเอก มีรูปดาวห้าแฉกสีเหลือง ๔ ดวง เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนอยู่ตรงกลางของผืนธง ให้มุมแหลมวางตามความยาวของผืนธง

(๓) ธงพลโท มีรูปดาวห้าแฉกสีเหลือง ๓ ดวง เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ตรงกลางของผืนธง ให้ด้านฐานของรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ด้านล่างขนานกับขอบล่างของผืนธง

(๔) ธงพลตรี มีรูปดาวห้าแฉกสีเหลือง ๒ ดวง เรียงตามความยาวอยู่ตรงกลางของผืนธง

(๕) ธงพลจัตวา มีรูปดาวห้าแฉกสีเหลือง ๑ ดวง อยู่ตรงกลางของผืนธง

มาตรา ๒๕ ธงแสดงยศสำหรับทหารเรือ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาบมีรูปจักรสีขาวเป็นจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย มี ๕ ชั้น คือ

(๑) ธงจอมพลเรือ มีรูปจักร ๕ จักร อยู่ที่มุมธงทั้งสี่มุม มุมละ ๑ จักร และอยู่ตรงกลางของผืนธงอีก ๑ จักร

(๒) ธงพลเรือเอก มีรูปจักร ๔ จักร อยู่ที่มุมธงทั้งสี่มุม มุมละ ๑ จักร

(๓) ธงพลเรือโท มีรูปจักร ๓ จักร เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ตรงกลางของผืนธง ให้ด้านฐานของรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ด้านล่างขนานกับขอบล่างของผืนธง

(๔) ธงพลเรือตรี มีรูปจักร ๒ จักร เรียงกันในแนวดิ่งอยู่ตรงกลางของผืนธง

(๕) ธงพลเรือจัตวา มีรูปจักร ๑ จักร อยู่ตรงกลางของผืนธง

มาตรา ๒๖ ธงแสดงยศสำหรับทหารอากาศ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นธงสีฟ้า มี ๕ ชั้น คือ

(๑) ธงจอมพลอากาศ มีรูปคทากับกระบี่ไขว้เหนือช่อชัยพฤกษ์อยู่ตรงกลางของกลุ่มดาวห้าแฉก ๕ ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ตรงกลางของผืนธง ให้ด้านหนึ่งของรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ด้านล่างขนานกับขอบล่างของผืนธง รูปเหล่านี้เป็นสีขาว

(๒) ธงพลอากาศเอก มีรูปดาวห้าแฉกสีขาว ๔ ดวง เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนอยู่ตรงกลางของผืนธง ให้มุมแหลมวางตามความยาวของผืนธง

(๓) ธงพลอากาศโท มีรูปดาวห้าแฉกสีขาว ๓ ดวง เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ตรงกลางของผืนธง ให้ด้านฐานของรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าอยู่ด้านล่างขนานกับขอบล่างของผืนธง

(๔) ธงพลอากาศตรี มีรูปดาวห้าแฉกสีขาว ๒ ดวง เรียงตามความยาวอยู่ตรงกลางของผืนธง

(๕) ธงพลอากาศจัตวา มีรูปดาวห้าแฉกสีขาว ๑ ดวง อยู่ตรงกลางของผืนธง

มาตรา ๒๗ ธงแสดงตำแหน่ง ได้แก่

(๑) ธงผู้บัญชาการทหารสูงสุด

(๒) ธงแสดงตำแหน่งสำหรับทหารบก

(๓) ธงแสดงตำแหน่งสำหรับทหารเรือ

(๔) ธงผู้บัญชาการทหารอากาศ

มาตรา ๒๘ ธงผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ด้านยาวของผืนธงแบ่งเป็นสามตอนเท่ากัน ตอนต้นของผืนธงสีแดง ตอนกลางสีขาบและตอนปลายสีฟ้า ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางขวา และมีสมอสอดวงจักร ด้านซ้ายและด้านขวาของรูปจักรมีรูปปีกนกกางล้อมรอบด้วยช่อชัยพฤกษ์ ภายใต้ช่อชัยพฤกษ์มีรูปดาวห้าแฉก ๕ ดวง อยู่ตรงกลาง ๑ ดวง และโอบขึ้นไปทางซ้ายและขวาของดวงที่อยู่ตรงกลางอีกข้างละ ๒ ดวง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองเว้นแต่สมอเป็นสีเงินและดาวเป็นสีทอง ขอบธงมีแถบจีบสีเหลืองนอกจากด้านที่ติดกับคันธง

มาตรา ๒๙ ธงแสดงตำแหน่งสำหรับทหารบก ได้แก่

(๑) ธงผู้บัญชาการทหารบก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีแดง ตรงกลางของผืนธงมีรูปเครื่องหมายกองทัพบก ภายใต้เครื่องหมายกองทัพบกมีรูปดาวห้าแฉก ๕ ดวง อยู่ตรงกลาง ๑ ดวง และโอบขึ้นไปทางซ้ายและขวาของดวงที่อยู่ตรงกลางอีกข้างละ ๒ ดวง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง

(๒) ธงแม่ทัพ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารบก เว้นแต่มีรูปดาวห้าแฉก ๓ ดวง อยู่ตรงกลางภายใต้เครื่องหมายกองทัพบก ๑ ดวง และอยู่ทางซ้ายและขวาของเครื่องหมายนั้นข้างละ ๑ ดวง

(๓) ธงผู้บัญชาการกองพล มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารบก เว้นแต่มีรูปดาวห้าแฉก ๒ ดวง อยู่ทางซ้ายและขวาของเครื่องหมายกองทัพบกข้างละ ๑ ดวง

มาตรา ๓๐ ธงแสดงตำแหน่งสำหรับทหารเรือ ได้แก่

(๑) ธงผู้บัญชาการทหารเรือ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีขาบ ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง

(๒) ธงผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารเรือ แต่ตอนต้น ๒ ใน ๓ ส่วนของความยาวมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎอยู่ตรงกลาง และปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก ๑ ใน ๓ ส่วนของความยาวของผืนธง

(๓) ธงผู้บังคับการกองเรือ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ แต่ปลายธงที่เป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวเป็นสีขาว

(๔) ธงผู้บังคับหมวดเรือ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านฐานที่อยู่ทางคันธง กว้าง ๒ ส่วน ผืนธงยาว ๕ ส่วน พื้นธงสีขาบตอนต้น ๒ ใน ๕ ส่วนของผืนธงมีสมอสีเหลืองอยู่ตรงกลาง

(๕) ธงผู้บังคับหมู่เรือ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บังคับหมวดเรือ แต่ตอนปลาย ๓ ใน ๕ ส่วนของผืนธงเป็นสีขาว

(๖) ธงหัวหน้าชั่วคราว มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บังคับหมวดเรือ แต่ตอนต้น ๒ ใน ๕ ส่วนของผืนธงเป็นสีขาว มีสมอสีขาบอยู่ตรงกลาง

(๗) ธงผู้บังคับการเรือ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านฐานที่อยู่ทางคันธง กว้างไม่เกิน ๒๐ เซนติเมตร ผืนธงยาว ๓๐ เท่าของด้านฐาน ตอนต้น ๑ ใน ๓ ส่วนของผืนธงเป็นสีแดง ตอนปลาย ๒ ใน ๓ ส่วนของผืนธงเป็นสีขาบ

(๘) ธงผู้บัญชาการฐานทัพเรือ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ แต่ปลายธงที่เป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวเป็นสีฟ้า

(๙) ธงผู้บังคับการสถานีทหารเรือ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ แต่ปลายธงที่เป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวเป็นสีแดง

(๑๐) ธงผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ แต่ปลายธงที่เป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวเป็นสีเหลือง

มาตรา ๓๑ ธงผู้บัญชาการทหารอากาศ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีฟ้า ขอบธงขลิบริมสีเหลืองทั้ง ๔ ด้าน และตรงกลางของผืนธงมีรูปปีกนกสีเหลือง ๒ ปีก ระหว่างหัวปีกมีรูปธงชาติเฉียงอยู่ในอาร์ม เหนืออาร์มมีอุณาโลมสีขาวภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีมีสีเหลือง

มาตรา ๓๒ ธงแสดงหน่วยทหารบก ได้แก่

(๑) ธงแสดงหน่วยกองทัพ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน แบ่งสีเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนคือส่วนจากมุมล่างทางด้านคันธงตัดเฉียงขึ้นไปถึงมุมบนเป็นสีแดง ส่วนล่างคือส่วนที่เหลือ เป็นสีบานเย็น ในส่วนที่เป็นสีแดงตอนมุมบนของผืนธงด้านที่ติดกับคันธงมีเครื่องหมายกองทัพบก ใต้เครื่องหมายกองทัพบกมีดาวห้าแฉกสีเหลือง ๓ ดวง เรียงตามความยาวของผืนธง

(๒) ธงแสดงหน่วยกองพล มีลักษณะอย่างเดียวกับธงแสดงหน่วยกองทัพ แต่ใต้เครื่องหมายกองทัพบกมีดาวห้าแฉกสีเหลือง ๒ ดวง เรียงตามความยาวของผืนธง

(๓) ธงแสดงหน่วยกรม มีลักษณะอย่างเดียวกับธงแสดงหน่วยกองพล แต่ใต้เครื่องหมายกองทัพบกไม่มีดาว สำหรับธงแสดงหน่วยกรมนักเรียนนายร้อย ผืนธงส่วนล่างเป็นสีเหลือง มุมบนของผืนธงด้านที่ติดกับคันธงมีตราแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทนเครื่องหมายกองทัพบก และมีแถบโอบใต้ตราแผ่นดิน รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง ภายในแถบมีความว่า “กรมนักเรียนนายร้อย” เป็นอักษรสีแดงสำหรับหน่วยรบพิเศษซึ่งอยู่ในระดับเทียบเท่าหน่วยกรม ตรงกลางของผืนธงส่วนล่างมีเครื่องหมายนักโดดร่มสีเหลืองขนาดพองาม และสำหรับหน่วยบินซึ่งอยู่ในระดับเทียบเท่าหน่วยกรม ตรงกลางของผืนธงส่วนล่างมีเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินสีขาวขนาดพองาม

(๔) ธงแสดงหน่วยกองพัน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน แบ่งสีเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนคือส่วนจากมุมล่างทางด้านคันธงตัดเฉียงไปถึงมุมบนเป็นสีแดง ส่วนล่างคือส่วนที่เหลือแบ่งออกไปอีกเป็นสองตอน โดยแบ่งจากจุดกึ่งกลางของเส้นทแยงมุมตัดเฉียงลงถึงมุมล่างด้านนอก ตอนต้นทางด้านที่ติดกับคันธงเป็นสีตามสีของหน่วยทหาร ตอนปลายเป็นสีขาว มุมบนของผืนธงด้านที่ติดกับคันธงมีเครื่องหมายกองทัพบก สำหรับธงแสดงหน่วยกองพันทหารราบ ให้มีแถบสีแดงทับรอยต่อเส้นทแยงตัดเฉียง สำหรับกองพันนักเรียนนายร้อย ส่วนล่างของผืนธงด้านที่ติดกับคันธงเป็นสีเหลือง มุมบนของผืนธงด้านที่ติดกับคันธงมีตราแผ่นดินและมีแถบอย่างเดียวกับธงแสดงหน่วยกรมนักเรียนนายร้อย สำหรับหน่วยรบพิเศษซึ่งอยู่ในระดับเทียบเท่าหน่วยกองพัน ตรงกลางของผืนธงส่วนล่างมีเครื่องหมายนักโดดร่มสีเหลืองขนาดพองาม และสำหรับหน่วยบินซึ่งอยู่ในระดับเทียบเท่าหน่วยกองพันตรงกลางของผืนธงส่วนล่างมีเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินสีขาวขนาดพองาม

ผืนธงส่วนล่างของธงแสดงหน่วยทหารตาม (๒) (๓) และ (๔) เป็นสีตามสีของหน่วยทหาร ดังต่อไปนี้

(ก) ทหารราบ และหน่วยรบพิเศษ สีขาว
(ข) ทหารม้า สีฟ้าหม่น
(ค) ทหารปืนใหญ่ และนักเรียนนายร้อย สีเหลือง
(ง) ทหารช่าง สีดำ
(จ) ทหารสื่อสาร สีม่วง
(ฉ) ทหารขนส่ง สีเลือดหมู
(ช) ทหารแพทย์ สีเขียว
(ซ) ทหารสารวัตร สีน้ำเงิน
(ฌ) ทหารสรรพาวุธ สีแสด
(ญ) หน่วยบิน สีฟ้าอ่อน

ธงแสดงหน่วยทหารตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ถ้ามีหน่วยที่เป็นเหล่าและอยู่ในระดับเดียวกันตั้งแต่ ๒ หน่วยขึ้นไป ให้มีอักษรย่อชื่อหน่วยหรือเลขหมายหน่วยเป็นตัวเลขไทยอยู่ตรงกลางของส่วนล่างของผืนธง นอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ทหารบกจะมีธงแสดงหน่วยทหารอื่นอีกหรือจะมีธงแสดงหน่วยทหารสำหรับหน่วยทหารที่อยู่ในระดับเทียบเท่าหน่วยกองทัพ หน่วยกองพล หน่วยกรม หน่วยกองพันอื่นอีกก็ได้โดยให้กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๓๓ ธงแสดงหน่วยทหารอากาศ มี

(๑) ธงแสดงหน่วยที่เป็นส่วนกำลังรบ ตั้งแต่ระดับฝูงบินหรือกองพันขึ้นไป มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีฟ้า ตรงกลางของผืนธงมีรูปเครื่องหมายกองทัพอากาศเป็นสีเหลือง และมีชื่อหน่วยทหารนั้น ๆ เป็นสีน้ำเงินดำเป็นแถวโค้งโอบใต้รูปเครื่องหมายกองทัพอากาศ

(๒) ธงแสดงหน่วยแยกอิสระที่เป็นส่วนกำลังรบ ตามที่กองทัพอากาศกำหนดมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงแสดงหน่วยที่เป็นส่วนกำลังรบตั้งแต่ระดับฝูงบินหรือกองพันขึ้นไป


หมวด ๔
ธงพิทักษ์สันติราษฎร์


มาตรา ๓๔ ธงพิทักษ์สันติราษฎร์ของกรมตำรวจ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ที่ตรงกลางของผืนธงมีรูปตราแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยความว่า “พิทักษ์สันติราษฎร์” ปักด้วยดิ้นเงินโอบใต้ตราแผ่นดิน

ธงพิทักษ์สันติราษฎร์ตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดวัตถุที่ทำเป็นลวดลายในผืนธงหรือจะกำหนดส่วนประกอบของธงก็ได้ โดยให้กำหนดในกฎกระทรวง


หมวด ๕
ธงกองอาสารักษาดินแดนและกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด


มาตรา ๓๕ ธงกองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๗๒ เซนติเมตร ด้านหน้าของผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อเป็นสีทองขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีทอง และที่ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๓๔ เซนติเมตร ขอบรอบวงกลมเป็นสีเหลือง มีรูปพระนเรศวรทรงช้างอยู่ภายในดวงกลมและมีความว่า “กองอาสารักษาดินแดน” ปักด้วยดิ้นทองเป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมนั้น ด้านหลังที่ตรงกลางของผืนธงมีรูปช่อชัยพฤกษ์และอุณาโลมอยู่ตรงกลางภายใต้พระมหามงกุฎ ปักด้วยดิ้นทอง ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงเป็นสีแดง ด้านอื่นเป็นกรุยสีเหลือง

มาตรา ๓๖ ธงกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงกองอาสารักษาดินแดน แต่ด้านหน้าของผืนธงที่ใต้ความว่า “กองอาสารักษาดินแดน” ให้มีชื่อจังหวัดที่กองอาสารักษาดินแดนตั้งอยู่ ปักด้วยดิ้นทอง

มาตรา ๓๗ ธงตามมาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ จะกำหนดวัตถุที่ทำเป็นลวดลายในผืนธงหรือจะกำหนดส่วนประกอบของธงก็ได้ โดยให้กำหนดในกฎกระทรวง


หมวด ๖
ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัด


มาตรา ๓๘ ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๕๒ เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีตราธรรมจักรสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๓๒ เซนติเมตร

มาตรา ๓๙ ธงลูกเสือจังหวัด มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ยาว ๖๐ เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๒๗ เซนติเมตร มีขอบรอบดวงกลมเป็นสีดำ ๒ ขอบซ้อนกัน ขอบนอกกว้าง ๒ มิลลิเมตร ขอบในกว้าง ๑ มิลลิเมตร ระยะระหว่างขอบนอกกับขอบในห่างกัน ๒ มิลลิเมตร ตรงกลางของดวงกลมมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติเป็นสีเหลือง และใต้ตรานั้นให้มีชื่อจังหวัดเป็นอักษรสีดำ


หมวด ๗
ธงราชการทั่วไป


มาตรา ๔๐ ให้ใช้ธงชาติเป็นธงแสดงตำแหน่งราชการหรือส่วนราชการที่พระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดลักษณะของธงไว้โดยเฉพาะ

มาตรา ๔๑ ธงดังต่อไปนี้ ให้ใช้เป็นธงราชการที่ชักขึ้นในเรือเฉพาะเวลาปฏิบัติการตามหน้าที่

(๑) ธงเจ้าพนักงานนำร่อง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘ ส่วน ยาว ๑๒ ส่วน ขอบผืนธงเป็นแถบสีขาว กว้าง ๑ ใน ๘ ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในแถบสีขาวมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ

(๒) ธงเจ้าพนักงานตรวจท่า มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านฐานที่อยู่ติดกับคันธง กว้าง ๑ ส่วน ผืนธงยาว ๒ ส่วน ตอนต้น ๑ ใน ๓ ส่วนของผืนธงมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ และตอนปลาย ๒ ใน ๓ ส่วนของผืนธงเป็นสีขาว

(๓) ธงพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทย มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธง เจ้าพนักงานตรวจท่า เว้นแต่ตอนปลายของผืนธงเป็นสีแดง ที่ตรงกลางของผืนธงที่เป็นสีแดงมีรูปแตรงอนในแนวนอนเหนือแตรงอนมีอุณาโลมในพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง

(๔) ธงเจ้าพนักงานศุลกากร มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเจ้าพนักงานตรวจท่า เว้นแต่ตอนปลายของผืนธงเป็นสีเขียวใบไม้

(๕) ธงเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเจ้าพนักงานตรวจท่า เว้นแต่ตอนปลายของผืนธงเป็นสีเหลือง ที่ตรงกลางของผืนธงที่เป็นสีเหลืองมีรูปพระแสงดาบเขนและโล่สีเลือดหมู

(๖) ธงเจ้าพนักงานตำรวจน้ำ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านฐานที่อยู่ติดกับคันธงกว้าง ๑ ส่วน ผืนธงยาว ๓ ส่วน ตอนต้น ๑ ใน ๓ ส่วนของผืนธงมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ และตอนปลาย ๒ ใน ๓ ส่วนของผืนธงเป็นสีเลือดหมู ที่ตรงกลางของผืนธงมีรูปพระแสงดาบเขนและโล่สีเหลือง

มาตรา ๔๒ ธงเรือยนต์หลวง มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พื้นธงสีแดง ด้านฐานที่อยู่ติดกับคันธงกว้าง ๑ ส่วน ผืนธงยาว ๒ ส่วน ตอนต้นของผืนธงมีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบ ขนาดกว้าง ๑ ใน ๒ ส่วนของความกว้างของผืนธง ตอนกลางของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีรูปพระมหามงกุฎสีเหลือง


หมวด ๘
ธงแสดงตำแหน่งทั่วไป


มาตรา ๔๓ ธงแสดงตำแหน่งทั่วไป มี

(๑) ธงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาว ตรงกลางของผืนธงมีอาร์มสีเหลือง กว้าง ๑ ใน ๓ ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในอาร์มสีเหลืองมีอาร์มสีธงชาติกว้าง ๓ ใน ๕ ส่วนของความกว้างของอาร์มสีเหลือง เหนืออาร์มมีครุฑพ่าห์สีแดงขนาดเท่าอาร์มสีเหลือง

(๒) ธงประธานรัฐสภา มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นธงสีขาว ตรงกลางของผืนธงมีรูปรัฐธรรมนูญประดิษฐานอยู่บนพาน ๒ ชั้นสีทอง ภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลือง รูปนี้อยู่ระหว่างกลางลายกระหนกสีแดง

(๓) ธงนายกรัฐมนตรี มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นธงสีขาว ตรงกลางของผืนธงมีรูปวงกลมมีเส้นรอบวงเป็นเส้นคู่ ตรงกลางของวงกลมมีรูปรัฐธรรมนูญมีรัศมีประดิษฐานอยู่บนพาน ๒ ชั้นเหนือตั่ง มีรูปราชสีห์กับคชสีห์ยืนในท่าเผ่นหันหน้าเข้าหากันอยู่ ๒ ข้าง รูปเหล่านี้เป็นสีแดงอยู่ภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลือง

(๔) ธงประธานศาลฎีกา มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นธงสีขาว ตรงกลางของผืนธงมีรูปวงกลมมีเส้นรอบวงเป็นเส้นคู่ ตรงกลางของวงกลมมีรูปพระแสงขรรค์เป็นหลักมีดุลเกี่ยวขัดไว้ที่ด้ามพระแสงขรรค์ รูปเหล่านี้เป็นสีแดงอยู่ภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลือง

(๕) ธงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นธงสีขาว ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรสีแดงแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางขวาและมีสมอสีขาบสอดวงจักร ด้านซ้ายและด้านขวาของรูปจักรมีรูปปีกนกกางเป็นสีฟ้า อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลือง

(๖) ธงราชทูต มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีขาบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๒ ใน ๓ ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาคันธง ธงนี้ให้ใช้สำหรับหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยมีพระราชสาส์นตราตั้ง

(๗) ธงกงสุล มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีขาบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๒ ใน ๓ ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีช้างเผือกหันหน้าเข้าหาคันธง ธงนี้ให้ใช้สำหรับหัวหน้าสถานที่ทำการทางกงสุลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยมีพระบรมราชโองการ

มาตรา ๔๔ ให้นายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายจัดทำรูปธงให้ถูกต้องตามลักษณะที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ไว้เป็นตัวอย่าง


หมวด ๙
การใช้ ชัก หรือแสดงธง


มาตรา ๔๕ การใช้ ชัก หรือแสดงธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทยตามมาตรา ๕ ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

มาตรา ๔๖ การใช้ ชัก หรือแสดงธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร ให้กระทำได้เฉพาะธงชาติ ธงราชนาวี หรือธงประจำกองทัพเรือ ธงสำหรับองค์ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท ธงแสดงตำแหน่งประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล ธงแสดงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูต ธงแสดงตำแหน่งหัวหน้าสถานที่ทำการทางกงสุล ธงของรัฐต่างประเทศ ธงขององค์การระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยเป็นสมาชิกและธงอื่นของต่างประเทศซึ่งได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี

การใช้ ชัก หรือแสดงธงของต่างประเทศตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้ ณ ที่ ดังต่อไปนี้

(๑) สถานที่พักอาศัยหรือยานพาหนะสำหรับองค์ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท ประมุขของรัฐหรือผู้แทน หรือหัวหน้ารัฐบาลในโอกาสที่มาเยือนประเทศไทย

(๒) สถานที่ทำการของคณะผู้แทนทางทูต สถานที่ทำการทางกงสุล หรือสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศ และรวมถึงหน่วยงานขององค์การระหว่างประเทศ

(๓) สถานที่อยู่ ที่พักอาศัยหรือยานพาหนะสำหรับหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูต หัวหน้าสถานที่ทำการทางกงสุล หรือหัวหน้าสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศ และรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานขององค์การระหว่างประเทศ

(๔) เรือหรืออากาศยานต่างประเทศหรือขององค์การระหว่างประเทศ

(๕) เรือหรืออากาศยานของรัฐต่างประเทศ หรือ

(๖) สถานที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้ใช้ ชัก หรือแสดงธงได้ หรือตามที่ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี

การใช้ ชัก หรือแสดงธงตาม (๑) ถึง (๔) ให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ หรือความตกลงกับรัฐบาลไทย

การใช้ ชัก หรือแสดงธงตาม (๕) และ (๖) ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

มาตรา ๔๗ บทบัญญัติมาตรา ๔๖ มิให้ใช้บังคับแก่การใช้ ชัก หรือแสดงธงของต่างประเทศภายในห้องของอาคาร


หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๔๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๙ ผู้ใดใช้ ชัก หรือแสดงธงอื่นของต่างประเทศนอกจากธงที่กำหนดให้ใช้ ชัก หรือแสดงได้ตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๐ ผู้ใดใช้ ชัก หรือแสดงธงต่างประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๖ วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๑ ผู้ใดใช้ ชัก หรือแสดงธงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่มีสิทธิ หรือใช้ ชัก หรือแสดงธงที่คล้ายคลึงกับธงดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๒ ผู้ใดใช้หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้กำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ที่สิ่งบรรจุ หีบห่อ สิ่งหุ้มห่อ สิ่งผูกมัด หรือสิ่งใด ๆ ทั้งนี้ โดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๓ ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อธงตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ดังต่อไปนี้

(๑) ประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีธง นอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

(๒) ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตาม (๑)

(๓) ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร

(๔) ประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใด ๆ โดยไม่สมควร

(๕) แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือมีแถบสีธงอันมีลักษณะตาม (๔) โดยไม่สมควร

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๔ ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


บทเฉพาะกาล


มาตรา ๕๕ ธงชัยเฉลิมพลหรือธงประจำกองทหารบก ธงประจำกองทหารเรือ และธงประจำกองทหารอากาศ ที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นธงชัยเฉลิมพลตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลใหม่

มาตรา ๕๖ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ได้ออกตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ และใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี


เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๖๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ เมษายน ๒๕๒๒

ขึ้น
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"