พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2534 ฉบับที่ 2

พระราชบัญญัติ ภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 แก้ไข

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยภาษีป้าย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 แก้ไข

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534”

มาตรา 2 แก้ไข

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ กับให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
  กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”

มาตรา 4 แก้ไข

ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ราชการส่วนท้องถิ่น” “เขตราชการส่วนท้องถิ่น” และ “ผู้บริหารท้องถิ่น” ไว้ระหว่างบทนิยามคำว่า “ป้าย” และ “ปี” ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ดังต่อไปนี้

  ““ราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การปกครองท้องถิ่นอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้
  “เขตราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า
  (1) เขตเทศบาล
  (2) เขตสุขาภิบาล
  (3) เขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  (4) เขตกรุงเทพมหานคร
  (5) เขตเมืองพัทยา
  (6) เขตองค์การปกครองท้องถิ่นอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น
  “ผู้บริหารท้องถิ่น” หมายความว่า
  (1) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
  (2) ประธานกรรมการสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล
  (3) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  (4) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
  (5) ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
  (6) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น”

มาตรา 5 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 7 ให้เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้ายโดยเสียเป็นรายปียกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรกให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้งหรือแสดงจนถึงวันสิ้นปีและให้คิดภาษีป้ายเป็นรายงวด งวดละสามเดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินี้
  การคำนวณพื้นที่ภาษีป้าย ให้คำนวณตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) และ (7) ท้ายพระราชบัญญัตินี้
  ป้ายที่ติดตั้งบนอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นและมีพื้นที่เกินสองตารางเมตรต้องมีชื่อและที่อยู่ของเจ้าของป้ายเป็นตัวอักษรไทยที่ชัดเจนที่มุมขวาด้านล่างของป้ายและให้ข้อความดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 6 แก้ไข

ให้ยกเลิกความใน (4) และ (5) ของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “(4) ป้ายที่แสดงไว้ที่คน หรือสัตว์
  (5) ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์”

มาตรา 7 แก้ไข

ให้ยกเลิกความใน (9) ของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “(9) ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น”

มาตรา 8 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 9 ภาษีป้ายที่เก็บในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใด ให้เป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
  มาตรา 10 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา 9 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 14 เจ้าของป้ายผู้ใด
  (1) ติดตั้งหรือแสดงป้ายอันต้องเสียภาษีภายหลังเดือนมีนาคม
  (2) ติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิมและมีพื้นที่ ข้อความ ภาพ และเครื่องหมายอย่างเดียวกับป้ายเดิมที่ได้เสียภาษีป้ายแล้ว
  (3) เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายที่ได้เสียภาษีป้ายแล้ว อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น
  ให้เจ้าของป้าย ตาม (1) (2) หรือ (3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ติดตั้งหรือแสดงป้าย หรือนับแต่วันเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายในป้ายเดิม แล้วแต่กรณี
  มาตรา 14 ทวิ ป้ายตามมาตรา 14 (1) ให้เสียภาษีป้ายตามมาตรา 7
  ป้ายตามมาตรา 14 (2) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะปีที่ติดตั้งหรือแสดงป้าย
  ป้ายตามมาตรา 14 (3) ให้เสียภาษีตาม (5) ของบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเป็นป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความภาพ และเครื่องหมายทั้งหมดให้เสียภาษีป้ายตามมาตรา 7
  มาตรา 15 ให้เจ้าของป้ายหรือผู้ซึ่งเจ้าของป้ายมอบหมายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้
  (1) สำนักงานหรือที่ว่าการของราชการส่วนท้องถิ่นที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่ในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
  (2) สำนักงานหรือที่ว่าการของราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งการจดทะเบียนยานพาหนะได้กระทำในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
  (3) สถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด โดยประกาศหรือโฆษณาให้ทราบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันประกาศหรือโฆษณา”

มาตรา 10 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 17 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้ายตามหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีป้ายที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) และ (7) ท้ายพระราชบัญญัตินี้และตามอัตราภาษีป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง แล้วแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังเจ้าของป้าย
  มาตรา 18 ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการสำหรับภาษีป้ายใด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครองครองป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีป้ายเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว
  มาตรา 19 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายชำระภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายไว้ หรือ ณ สถานที่อื่นใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด  ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และให้ถือว่าวันที่ชำระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นวันชำระภาษีป้าย
  การชำระภาษีป้ายจะกระทำโดยวิธีการส่งธนาณัติหรือตั๋วเงินแลกเงินของธนาคารที่สั่งจ่ายเงินให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ไปยังสถานที่ตามวรรคหนึ่ง โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือส่งโดยวิธีอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดแทนการชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ และให้ถือว่าวันที่ได้ทำการส่งดังกล่าวเป็นวันชำระภาษีป้าย”

มาตรา 11 แก้ไข

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 19 ทวิ และมาตรา 19 ตรี แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

  “มาตรา 19 ทวิ ถ้าภาษีป้ายที่ต้องชำระมีจำนวนตั้งแต่สามพันบาทขึ้นไปผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายจะขอผ่อนชำระเป็นสามงวด งวดละเท่าๆ กันก็ได้ โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษีตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง
  การผ่อนชำระภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ชำระงวดที่หนึ่งก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษีตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง งวดที่สองภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง และงวดที่สามภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง
  ถ้าผู้ขอผ่อนชำระภาษีไม่ชำระภาษีป้ายงวดหนึ่งงวดใดภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้หมดสิทธิที่จะขอผ่อนชำระภาษี และให้นำมาตรา 25 (3) มาใช้บังคับสำหรับงวดที่ยังมิได้ชำระ
  มาตรา 19 ตรี ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายแสดงหลักฐานการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการ”

มาตรา 12 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 21 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่ค้างชำระ เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษีป้ายค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายโดยมิต้องขอให้ศาลสั่งหรือออกหมายยึด ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”

มาตรา 13 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 23 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 23 เมื่อได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่งแล้ว ถ้าได้มีการชำระภาษีป้ายที่ค้างชำระ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินโดยครบถ้วนก่อนการขายทอดตลาด ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายสั่งถอนการยึดหรืออายัดนั้น
  มาตรา 24 ผู้ใดเสียภาษีป้ายโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืน
  การขอรับเงินคืน ให้ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เสียภาษีป้าย ในการนี้ให้ผู้ยื่นคำร้องส่งเอกสาร หลักฐานหรือคำชี้แจงใดๆ ประกอบคำร้องด้วย
  เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิได้รับเงินคืน ให้สั่งคืนเงินให้โดยเร็ว และแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบเพื่อมาขอรับเงินคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
  การกระทำใดๆ เพื่อให้เสียภาษีป้ายน้อยลงกว่าที่ได้เสียไปแล้ว ให้มีผลเมื่อเริ่มต้นปีภาษีป้าย”

มาตรา 14 แก้ไข

ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “(3) ไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ทั้งนี้ ไม่ให้นำเงินเพิ่มตาม (1) และ (2) มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามอนุมาตรานี้ด้วย”

มาตรา 15 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 30 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีป้ายแล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
  การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
  การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการชำระภาษีป้าย เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้บริหารท้องถิ่น
  มาตรา 31 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายอาจมีหนังสือเรียกผู้อุทธรณ์มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
  ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ยืนอุทธรณ์ภายในสามสิบวันตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียก ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายมีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นเสียได้
  มาตรา 32 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ทำการประเมินโดยเร็ว
  มาตรา 33 ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายโดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการยกอุทธรณ์ตามมาตรา 31 วรรคสอง
  การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 แล้ว”

มาตรา 16 แก้ไข

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 33 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

  “มาตรา 33 ทวิ ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถึงที่สุดให้คืนเงินค่าภาษีป้ายให้แก่ผู้อุทธรณ์ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบโดยเร็วเพื่อมาขอรับเงินคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง”

มาตรา 17 แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 34 ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  มาตรา 35 ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท
  มาตรา 35 ทวิ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งร้อยบาทเรียงรายวันตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิด
  มาตรา 36 ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายตามมาตรา 16 หรือไม่แสดงการเสียภาษีป้ายตามมาตรา 19 ตรี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
  มาตรา 37 ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 27 (1) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา 27 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  มาตรา 38 ในกรณีมีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายเห็นว่าเป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจำคุกหรือปรับและโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบสถานเดียวได้ในกรณีดังต่อไปนี้
  (1) ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ
  (2) ในเขตราชการส่วนท้องถิ่นอื่นยกเว้นเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายของแต่ละเขต เป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ
  เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีต่อไป
  มาตรา 39 เงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น”

มาตรา 18 แก้ไข

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

  “มาตรา 39 ทวิ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น”

มาตรา 19 แก้ไข

ให้ยกเลิกบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และให้ใช้บัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

กฎกระทรวงที่กำหนดอัตราภาษีป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การเก็บภาษีป้ายในปีถัดจากปีที่ประกาศกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 20 แก้ไข

บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 21 แก้ไข

ความในมาตรา 7 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 22 แก้ไข

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี


บัญชีอัตราภาษีป้าย แก้ไข

(1) ป้ายที่มีอักษรไทยล้วนให้คิดอัตรา 10 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
(2) ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและหรือปนกับภาพและหรือเครื่องหมายอื่นให้คิดอัตรา 100 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
(3) ป้ายดังต่อไปนี้ให้คิดอัตรา 200 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
(ก) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่
(ข) ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
(4) ป้ายตาม (1) (2) หรือ (3) ซึ่งมีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ โดยเครื่องจักรกลหรือโดยวิธีใดๆ ให้คิดอัตราภาษีตามจำนวนข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพ หรือตามระยะเวลาที่ข้อความเครื่องหมาย หรือภาพปรากฏอยู่ในป้าย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้ายังไม่ได้ออกกฎกระทรวงให้คิดอัตราภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายนี้
(5) ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขตามมาตรา 14 (3) ให้คิดอัตราตาม (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี และให้เสียเฉพาะจำนวนเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น
(6) พื้นที่ของป้ายไม่ว่าจะมีรูปร่างหรือลักษณะอย่างไร ให้คำนวณดังนี้
(ก) ถ้าเป็นป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ให้เอาส่วนกว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุดของขอบเขตป้ายเป็นตารางเซนติเมตร
(ข) ถ้าเป็นป้ายที่ไม่มีขอบเขตกำหนดได้ ให้ถือว่าตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขตสำหรับกำหนดส่วนกว้างที่สุดและยาวที่สุด แล้วคำนวณตาม (ก)
(7) ป้ายตาม (1) (2) (3) หรือ (4) เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว
(ก) ถ้ามีเศษเกินกึ่งหนึ่งของห้าร้อยตารางเซนติเมตร ให้นับเป็นห้าร้อยตารางเซนติเมตร ถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง ให้ปัดทิ้ง
(ข) ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท


หมายเหตุ แก้ไข

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษี การกำหนดอัตราภาษี การยื่นแบบแสดงรายการภาษี การประเมินภาษี การชำระภาษี การบังคับชำระภาษีค้าง การคืนเงินค่าภาษีอัตราเงินเพิ่ม และการอุทธรณ์ ตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันหรือให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ แก้ไข

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 240/ฉบับพิเศษ หน้า 26/29 ธันวาคม 2534