พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. ๒๕๕๘/หมวด ๒

หมวด ๒

การดำเนินการ

มาตรา ๑๖ ให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

(๑) นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

(๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดี และประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ

(๓) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนห้าคน ซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี คณบดีผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ

(๔) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนห้าคน ซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย และมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๓)

(๕) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งคน ซึ่งเลือกจากข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมิใช่คณาจารย์ประจำ

(๖) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบห้าคน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม กฎหมาย การงบประมาณและการเงิน การบริหารงานบุคคล การศึกษา เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนต้องมีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์

ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่ง ซึ่งมิใช่กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัย โดยคำแนะนำของอธิการบดี

ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย เมื่อนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย

เมื่ออุปนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม (๓) (๔) (๕) และ (๖) ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๑๗ นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรืออาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือทำการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือได้รับเลือกอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือของกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือเลือกไว้ก่อนแล้วนั้น แต่ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่าเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้

ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งตามวาระและยังมิได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยใหม่ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยใหม่แล้ว

ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ ให้สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่าที่มีอยู่

มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๑๖ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติของการเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทนั้น

(๔) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๕) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ

(๖) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๗) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา ๑๙ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง (๑) วางนโยบายและแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

(๒) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศมหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และอาจมอบหมายให้ส่วนราชการใดในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศ สำหรับส่วนราชการนั้นได้

(๓) พิจารณาการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกส่วนราชการของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙ รวมทั้งการแบ่งส่วนราชการของส่วนราชการดังกล่าว

(๔) พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

(๕) อนุมัติการรับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย หรือยกเลิกการสมทบ

(๖) อนุมัติการจัดการศึกษาหรือดำเนินการวิจัยร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูง หรือสถาบันอื่น หรือยกเลิกการจัดการศึกษาหรือดำเนินการวิจัยร่วม

(๗) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญาและประกาศนียบัตร รวมทั้งอนุมัติการให้ปริญญากิตติมศักดิ์

(๘) พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๖ (๖) อธิการบดี ศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษ

(๙) แต่งตั้งและถอดถอนรองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ

(๑๐) แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ และหัวหน้าส่วนราชการตามมาตรา ๙

(๑๑) กำกับมาตรฐานการศึกษา และประกันคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัย

(๑๒) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและอธิการบดี

(๑๓) ออกระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงาน การเงิน การจัดหารายได้และผลประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

(๑๔) ออกระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการระดมทุนและทรัพยากร ส่งเสริมการจัดตั้งและการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาของชุมชนในท้องถิ่น

(๑๕) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย

(๑๖) พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามอบหมาย

(๑๗) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย

(๑๘) พิจารณาและให้ความเห็นชอบในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยตามที่อธิการบดีเสนอ และอาจมอบหมายให้อธิการบดีปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยได้

(๑๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ

มาตรา ๒๐ การประชุมสภามหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๒๑ ให้มีสภาวิชาการ ประกอบด้วย ประธานสภาวิชาการและกรรมการสภาวิชาการ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในทางวิชาการหรือวิชาชีพ

ให้สภาวิชาการแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภาวิชาการโดยคำแนะนำของอธิการบดี

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานสภาวิชาการและกรรมการสภาวิชาการ ตลอดจนการประชุมสภาวิชาการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๒๒ สภาวิชาการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอแนะการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงต่อสภามหาวิทยาลัย

(๒) เสนอความเห็นและให้คำปรึกษาด้านวิชาการต่อสภามหาวิทยาลัย

(๓) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเปิดสอน การรวม และการยกเลิกสาขาวิชาของมหาวิทยาลัย ต่อสภามหาวิทยาลัย

(๔) ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานราชการ และผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในทางวิชาการหรือวิชาชีพ เพื่อการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง

(๕) เสนอแนะนโยบายการวิจัยและส่งเสริมการวิจัย

(๖) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลเพื่อดำเนินการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาการ

มาตรา ๒๓ ให้มีสภาคณาจารย์และข้าราชการ ประกอบด้วย ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ และกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ ซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ ข้าราชการ และพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ และกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ ตลอดจนการประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๒๔ สภาคณาจารย์และข้าราชการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำในกิจการของมหาวิทยาลัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยต่ออธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัย

(๒) หาแนวทางร่วมกันเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานในหน้าที่ จรรยาบรรณวิชาชีพและการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และพนักงานราชการ

(๓) จัดประชุมคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และพนักงานราชการ เพื่อพิจารณากิจกรรมของมหาวิทยาลัย และนำเสนอความคิดเห็นต่อสภามหาวิทยาลัย

(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

มาตรา ๒๕ ให้มีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และให้มีรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการตามที่อธิการบดีมอบหมาย

มาตรา ๒๖ อธิการบดีนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๘

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และพนักงานราชการ

อธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๘

(๔) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดตามมาตรา ๒๗

(๕) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(๖) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๗) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๘) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

รองอธิการบดีนั้น ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยคำแนะนำของอธิการบดีจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๙

ผู้ช่วยอธิการบดีนั้น ให้อธิการบดีแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๙

เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา ๒๗ ให้สภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี เมื่อครบสองปีนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาผลการประเมินผลตามวรรคสอง และถ้าสภามหาวิทยาลัยมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้อธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๒๘ อธิการบดีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ หรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณบดีหรือเทียบเท่า มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งวาระ รวมทั้งมีคุณสมบัติอื่นและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๒๙ รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง รวมทั้งมีคุณสมบัติอื่นและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับมหาวิทยาลัย

รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีอาจแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้ แต่ต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดี แล้วแต่กรณี

มาตรา ๓๐ ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิการบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิการบดีหลายคน ให้รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าอธิการบดีมิได้มอบหมาย ให้รองอธิการบดีซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาราชการแทน ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือไม่มีผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา หรือผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในทางวิชาการหรือวิชาชีพ โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๙ เป็นผู้รักษาราชการแทน แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

มาตรา ๓๑ อธิการบดีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัย รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

(๒) ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัย

(๓) จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย และปฏิบัติตามนโยบายและแผนงาน รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

(๔) รักษาระเบียบวินัย จรรยาบรรณ และมารยาทแห่งวิชาชีพของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

(๕) เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยในกิจการทั่วไป

(๖) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัย

(๗) แต่งตั้งและถอดถอนผู้ช่วยอธิการบดี รองคณบดี รองผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสำนัก รองหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และอาจารย์พิเศษ

(๘) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสภาวิชาการ สภาคณาจารย์และข้าราชการและส่งเสริมกิจการนักศึกษา

(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศมหาวิทยาลัย หรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

มาตรา ๓๒ ในคณะหรือวิทยาลัย ให้มีคณบดีเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของคณะหรือวิทยาลัย และให้มีรองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดี เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการตามที่คณบดีมอบหมาย

คณบดีนั้น ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่งและวรรคสาม

รองคณบดีนั้น ให้อธิการบดีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณบดีจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๓ วรรคสองและวรรคสาม

รองคณบดี อาจแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้ แต่ต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนรองคณบดีที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด

คณบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้ และให้นำความในมาตรา ๒๖ วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่การพ้นจากตำแหน่งคณบดีก่อนครบวาระโดยอนุโลม

เมื่อคณบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองคณบดีและผู้ช่วยคณบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย

ให้นำมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับแก่การรักษาราชการแทนคณบดีโดยอนุโลม

มาตรา ๓๓ คณบดีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์

รองคณบดีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์

นอกจากคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง คณบดีและรองคณบดีต้องมีคุณสมบัติอื่นและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๔ ในคณะหรือวิทยาลัย ให้มีคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ประกอบด้วยคณบดีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกจำนวนหนึ่ง

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ตลอดจนการประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๕ คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) วางนโยบายและแผนงานของคณะหรือวิทยาลัยให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย

(๒) พิจารณาหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสำหรับคณะหรือวิทยาลัยเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๓) พิจารณาออกระเบียบและข้อบังคับภายในคณะหรือวิทยาลัยตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายหรือเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๔) จัดการวัดผล ประเมินผล และควบคุมมาตรฐานการศึกษาของคณะหรือวิทยาลัย

(๕) ส่งเสริมงานวิจัย งานบริการวิชาการแก่สังคม และงานทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

(๖) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อคณบดี

(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือบุคคลเพื่อดำเนินการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย

(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของคณะหรือวิทยาลัยหรือตามที่อธิการบดีมอบหมาย

มาตรา ๓๖ ในสถาบัน สำนัก หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้มีผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน สำนัก หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และจะให้มีรองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ คนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการตามที่ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะมอบหมายก็ได้

การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองของตำแหน่งดังกล่าวและการรักษาราชการแทน ให้นำความในมาตรา ๓๒ วรรคสอง วรรคสาม วรรคห้า วรรคหก และวรรคเจ็ดมาใช้บังคับโดยอนุโลม

คุณสมบัติของผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองของตำแหน่งดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๗ ในสถาบัน สำนัก หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้มีคณะกรรมการประจำสถาบัน สำนัก หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ แล้วแต่กรณี คณะหนึ่ง

องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ และการประชุมคณะกรรมการประจำสถาบัน สำนักหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และการจัดระบบบริหารงานในสถาบัน สำนักหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๘ วิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณบดี ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๙ ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าและรองหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งในขณะเดียวกันมิได้ ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง จะรักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามวรรคหนึ่งได้อีกเพียงหนึ่งตำแหน่ง แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

มาตรา ๔๐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่อธิการบดีจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามในเรื่องการมอบอำนาจไว้ อธิการบดีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีเฉพาะในราชการของส่วนราชการนั้นได้ ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ตามที่อธิการบดีกำหนด การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย

มาตรา ๔๑ ให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนตามมาตรา ๔๐ หรือผู้รักษาราชการแทนตามมาตรา ๓๐ มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๖ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน ในกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทน ทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในระหว่างที่รักษาราชการแทนด้วย แล้วแต่กรณี


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"