พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558



เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๖๖ ก

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
หน้า ๔๙
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิก

(๑)พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑

(๒)พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

"มหาวิทยาลัย" หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"สภามหาวิทยาลัย" หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย" หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ" หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"คณะกรรมการนโยบายวิชาการ" หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"สภาอาจารย์" หมายความว่า สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"สภาพนักงานมหาวิทยาลัย" หมายความว่า สภาพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"พนักงานมหาวิทยาลัย" หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย" หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ และลูกจ้างของส่วนราชการซึ่งปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ และลูกจ้างของมหาวิทยาลัย

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตราให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัตินี้ และเป็นนิติบุคคล

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

มาตราให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


มาตราให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์ในการสร้าง พัฒนา ประมวล และประยุกต์องค์ความรู้ทั้งมวล ดำเนินการให้มีการเรียนรู้ในองค์ความรู้ จัดการศึกษา เผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการส่งเสริม และพัฒนาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง การบริหารจัดการ ศาสนา ศีลธรรม ภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยมีปณิธานมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำร่วมนำสังคมไปในแนวทางที่ถูกต้องดีงามและพึงปรารถนา เสริมสร้างให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ มีความสามารถในการทำงาน และดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีคุณธรรม มีจิตใจเสียสละ ใฝ่รู้และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ

มาตราเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการโดยยึดหลัก ดังต่อไปนี้

(๑)เสรีภาพทางวิชาการ

(๒)ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา

(๓)ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

(๔)ความมีคุณธรรมและจริยธรรม

(๕)การนำความรู้สู่สังคม

(๖)ความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ

(๗)ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

(๘)การบริหารงานที่มีธรรมาภิบาล

(๙)การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและนักศึกษา

มาตรามหาวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนงาน ดังต่อไปนี้

(๑)สำนักงานสภามหาวิทยาลัย

(๒)สำนักงาน

(๓)คณะ

(๔)วิทยาลัย

(๕)สถาบัน

(๖)สำนัก

มหาวิทยาลัยอาจให้มีส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน คณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ อีกได้

การจัดตั้ง การรวม การเปลี่ยนแปลง การยุบเลิกส่วนงาน และการแบ่งส่วนงานตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๐ส่วนงานตามมาตรา ๙ ให้มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)สำนักงานสภามหาวิทยาลัย มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย

(๒)สำนักงาน มีหน้าที่สนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัย

(๓)คณะและวิทยาลัย มีหน้าที่จัดการศึกษา ทำการวิจัย นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และให้บริการทางวิชาการ

(๔)สถาบัน มีหน้าที่ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการ หรือจัดการศึกษา

(๕)สำนัก มีหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการทางวิชาการ

(๖)ส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น มีหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙ วรรคสาม

การเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของส่วนงานตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๑ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ มหาวิทยาลัยอาจรับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยก็ได้ และมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใดแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันสมทบนั้นได้

การรับเข้าสมทบ การยกเลิกการสมทบ และการควบคุมสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๒ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ มหาวิทยาลัยอาจจัดการศึกษาหรือดำเนินการวิจัยร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศหรือขององค์การระหว่างประเทศได้โดยในการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใดร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันนั้นแก่ผู้สำเร็จการศึกษาได้

การจัดการศึกษาหรือการยกเลิกการจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๓กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

มาตรา๑๔มหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑)ซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนและจำหน่าย หรือทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย หรือมีสิทธิในหรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และจำหน่ายทรัพย์สินทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุดหนุนหรืออุทิศให้

การจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัย ให้กระทำได้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามมาตรา ๑๗

(๒)ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการให้การศึกษาและบริการทางวิชาการ

(๓)รับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งทำความตกลงหรือกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการนั้น

(๔)ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งของรัฐหรือของเอกชน หรือกับองค์การหรือหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗

(๕)กู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้นเข้าเป็นหุ้นส่วนและลงทุนหรือร่วมลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย

การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วน การลงทุนหรือการร่วมลงทุน ถ้าเป็นจำนวนเงินเกินวงเงินที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อน

(๖)ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(๗)กำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ รวมทั้งสวัสดิการ สิทธิประโยชน์และประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

(๘)จัดให้มีการพัฒนาทางวิชาการและการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการนำผลงานทางวิชาการ ผลการวิจัย และทรัพย์สินทางปัญญาออกเผยแพร่และไปใช้ให้เป็นประโยชน์

(๙)จัดให้มีกองทุนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ กองทุนเพื่อการจัดการศึกษาในสาขาวิชาที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองในทางการเงินได้ กองทุนเพื่อกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งจัดให้มีทุนเพื่อการศึกษาและทุนเพื่อการวิจัย

(๑๐)ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา จัดการ ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยและที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ

(๑๑)จัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล รวมตลอดถึงลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลใด เพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของมหาวิทยาลัยหรือนำผลการค้นคว้าวิจัยไปเผยแพร่หรือหาประโยชน์เพื่อเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย

หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานตาม (๑) (๒) (๕) (๖) (๙) และ (๑๑) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๕รายได้ของมหาวิทยาลัย มีดังต่อไปนี้

(๑)เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี

(๒)เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัย

(๓)เงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว

(๔)ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ ค่าบริการต่าง ๆ และเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บตามอำนาจหน้าที่ หรือที่ได้จากสัญญาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

(๕)รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนหรือการร่วมลงทุนและจากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

(๖)รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ที่ราชพัสดุหรือจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซึ่งมหาวิทยาลัยปกครอง ดูแล ใช้ หรือจัดหาประโยชน์ รวมถึงที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย

(๗)รายได้หรือผลประโยชน์อื่น

เงินอุดหนุนทั่วไปตาม (๑) นั้น รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรงเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และในการพัฒนาการอุดมศึกษานานาชาติได้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพของการศึกษาให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับระดับนานาชาติได้

ในกรณีที่รัฐบาลได้ปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดให้แก่ข้าราชการ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกันเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย

รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น

ในกรณีที่รายได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของมหาวิทยาลัยและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม และมหาวิทยาลัยไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐบาลพึงจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยตามความจำเป็นของมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๖มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมและสนับสนุนผู้ซึ่งมหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและนักศึกษาซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงให้มีโอกาสเรียนจนสำเร็จปริญญาตรี

หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาว่าผู้ใดขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๗บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่มหาวิทยาลัยได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ หรือได้มาโดยการซื้อด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย หรือได้มาด้วยวิธีอื่น ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๘ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา การวิจัยการบริการทางวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและการบังคับทางปกครอง

บุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้

มาตรา๑๙บรรดารายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗

เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัยต้องจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมจากผู้อุทิศให้หรือทายาท หากไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ปรากฏต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย


มาตรา๒๐ให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

(๑)นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

(๒)อธิการบดี นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานสภาอาจารย์และประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย

(๓)กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งคนจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี

(๔)กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนสองคนจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีและหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และวิทยาลัย

(๕)กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งคนจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน และสำนัก

(๖)กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนสองคนจากคณาจารย์ประจำ ผู้ซึ่งทำการสอนในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕)

(๗)กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งคนจากพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ ผู้ซึ่งปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕)

(๘)กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบห้าคน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกโดยคำแนะนำของนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗)

ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย เมื่อนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและในกรณีที่อุปนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ให้เลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งคนจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ กรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม (๖) มีได้ส่วนงานละไม่เกินหนึ่งคน

ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัย

มาตรา๒๑นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๘) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้

กรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจดำรงตำแหน่งอีกได้

มาตรา๒๒นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๑ นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)ตาย

(๒)ลาออก

(๓)ขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยในประเภทนั้น

(๔)เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕)เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖)สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอน

(๗)ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณีที่ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่าที่มีอยู่

ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หรือได้มีการดำเนินการให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน แต่ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่าเก้าสิบวัน จะไม่ดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้

ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งตามวาระแต่ยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิหรือยังมิได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยอื่นขึ้นใหม่ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือได้มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยอื่นขึ้นใหม่แล้ว

มาตรา๒๓สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑)กำหนดเป้าหมาย วางนโยบาย และแนวทางในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

(๒)ออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และอาจมอบหมายให้ส่วนงานใดในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อบังคับ ระเบียบและประกาศสำหรับส่วนงานนั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้

(๓)ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย

(๔)ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

(๕)อนุมัติการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรดุษฎีบัณฑิต ประกาศนียบัตรมหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร ทั้งของมหาวิทยาลัยและที่มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่น รวมทั้งอนุมัติการให้ปริญญากิตติมศักดิ์

(๖)อนุมัติการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิกส่วนงานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙ รวมทั้งการแบ่งหน่วยงานภายในของส่วนงานดังกล่าว

(๗)พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอน นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ

(๘)แต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และตำแหน่งทางวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่น

(๙)แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ และหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น

(๑๐)ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของอธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานต่าง ๆ

(๑๑)อนุมัติการรับเข้าสมทบ การจัดการศึกษาร่วม หรือการยกเลิกการสมทบ การยกเลิกการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่น การอนุมัติหลักสูตรการศึกษาและการเปิดสอน รวมทั้งการปรับปรุง การยุบรวม หรือการยกเลิกหลักสูตรการศึกษา

(๑๒)กำหนดนโยบายและวิธีการเกี่ยวกับการจัดหารายได้ การจัดหาแหล่งทุนและทรัพยากรอื่น

(๑๓)อนุมัติการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงิน การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วนและการลงทุนหรือการร่วมลงทุนตามมาตรา ๑๔ (๕) วรรคสอง

(๑๔)อนุมัติการจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคลหรือยกเลิกนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๔ (๑๑)

(๑๕)อนุมัติการตั้งงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายของมหาวิทยาลัย

(๑๖)รับรองรายงานกิจการประจำปีของมหาวิทยาลัย และเสนอรายงานนั้นต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบ

(๑๗)แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งมอบอำนาจให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือบุคคลดังกล่าวทำการแทนแล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ

(๑๘)สร้างเสริมและตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

(๑๙)ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ

มาตรา๒๔การประชุมและวิธีดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๒๕ให้มีสภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ผู้แทนสมาคมวิชาชีพในสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยหรือสังคม

สภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี เกี่ยวกับการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยและสังคมโดยรวม

(๒)สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยระดมความคิดเห็นและทรัพยากรในด้านต่าง ๆ จากประชาคมธรรมศาสตร์ ศิษย์เก่า และสาธารณชนทั่วไป

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของสภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๒๖ให้มีคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย อธิการบดีเป็นประธาน รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะวิทยาลัย สถาบัน หรือสำนัก ประธานสภาอาจารย์ และประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ

ให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีคนหนึ่งเป็นเลขานุการโดยคำแนะนำของอธิการบดี

มาตรา๒๗คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแผนพัฒนามหาวิทยาลัย พิจารณากลั่นกรองข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย พิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้ง การรวม การเปลี่ยนแปลง การยุบเลิกส่วนงาน และการแบ่งหน่วยงานภายในส่วนงาน ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่อธิการบดี ทั้งนี้ ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๒๘การประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๒๙ให้มีคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ประกอบด้วย ประธานและกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ทำหน้าที่พิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัย

จำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานและกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๓๐ให้มีคณะกรรมการนโยบายวิชาการ ประกอบด้วย ประธานและกรรมการ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง

คณะกรรมการนโยบายวิชาการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)เสนอแนะเป้าหมาย นโยบาย แนวทางในการพัฒนาและแผนพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัยต่ออธิการบดี

(๒)เสนอแนะต่อสภามหาวิทยาลัยในการอนุมัติหลักสูตรการศึกษาและการเปิดสอน รวมทั้งการปรับปรุง การยุบรวม และการยกเลิกหลักสูตรการศึกษา

(๓)เสนอแนะต่อสภามหาวิทยาลัยในการอนุมัติการรับเข้าสมทบ การจัดการศึกษาร่วมหรือการยกเลิกการสมทบ การยกเลิกการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยอื่น

(๔)ดำเนินการเกี่ยวกับวิชาการของมหาวิทยาลัยตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานและกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายวิชาการให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๓๑ให้มีสภาอาจารย์ ประกอบด้วย ประธานและกรรมการซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการเลือก วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานและกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของสภาอาจารย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๓๒สภาอาจารย์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีในการบริหารกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัย

(๒)ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับคณาจารย์ประจำ และระหว่างคณาจารย์ประจำด้วยกัน

(๓)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย

มาตรา๓๓ให้มีสภาพนักงานมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ประธานและกรรมการซึ่งเลือกจากพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ

จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการเลือก วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานและกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของสภาพนักงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๓๔สภาพนักงานมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีในการบริหารกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัย

(๒)ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ และระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการด้วยกัน

(๓)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย

มาตรา๓๕ให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดี หรือจะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมายก็ได้

มาตรา๓๖อธิการบดีนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๗ โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)ตาย

(๒)ลาออก

(๓)ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๗

(๔)เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕)เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖)สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือมีการกระทำใดอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง

(๗)ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่งโดยคำแนะนำของอธิการบดี

ให้อธิการบดีแต่งตั้งผู้ช่วยอธิการบดีจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง และให้มีอำนาจถอดถอนผู้ช่วยอธิการบดีด้วย

เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีพ้นจากตำแหน่งด้วยและให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีด้วยโดยอนุโลม

มาตรา๓๗อธิการบดีต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑)สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

(๒)สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาแล้วรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี

มาตรา๓๘รองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑)มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับอธิการบดี

(๒)สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และมีประสบการณ์ทางการบริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(๓)เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และเคยปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

(๔)คุณสมบัติอื่นตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยอธิการบดีต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง

มาตรา๓๙อธิการบดีเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั้งปวง และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย รวมทั้งวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัย ในการนี้ ให้มีอำนาจออกระเบียบ คำสั่ง และประกาศได้

(๒)บริหารบุคลากร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย

(๓)จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย และดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงาน รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

(๔)จัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์และปณิธานของมหาวิทยาลัย และจัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๕)แต่งตั้งและถอดถอนรองคณบดีและอาจารย์พิเศษโดยคำแนะนำของคณบดี

(๖)แต่งตั้งและถอดถอนหัวหน้าภาควิชา หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา รองผู้อำนวยการ และรองหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสำนัก

(๗)ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบันผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น

(๘)เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัย

(๙)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัยหรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

มาตรา๔๐ในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีเป็นผู้รักษาการแทน ถ้ามีรองอธิการบดีหลายคน ให้รองอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมอบหมายเป็นผู้รักษาการแทน ถ้าอธิการบดีมิได้มอบหมายให้รองอธิการบดีผู้ใดรักษาการแทน ให้รองอธิการบดีที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้รักษาการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี หรือไม่มีผู้รักษาการแทนอธิการบดีตามวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๓๗ เป็นผู้รักษาการแทน

ให้ผู้รักษาการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา๔๑ในคณะและวิทยาลัย ให้มีคณบดีเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของคณะและวิทยาลัย และจะให้มีรองคณบดีตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่คณบดีมอบหมายก็ได้

คณบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

คณบดีนั้น ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๒

รองคณบดีนั้น ให้อธิการบดีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณบดีจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๓

เมื่อคณบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองคณบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย

การรักษาการแทนคณบดี ให้นำมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ในกรณีสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้รักษาการแทน ต้องแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๒

มาตรา๔๒คณบดีต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

มาตรา๔๓รองคณบดีต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑)มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับคณบดี

(๒)สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และมีประสบการณ์การทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

มาตรา๔๔ในคณะและวิทยาลัย ให้มีคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ประกอบด้วย คณบดีเป็นประธาน และกรรมการ

องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๔๕คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)วางนโยบายและแผนงานของคณะหรือวิทยาลัยให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย

(๒)วางระเบียบและออกประกาศทางการศึกษาของคณะหรือวิทยาลัย ทั้งนี้ โดยไม่ขัดต่อข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย รวมทั้งวางระเบียบและออกประกาศอื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

(๓)พิจารณาหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสำหรับคณะหรือวิทยาลัยเสนอคณะกรรมการนโยบายวิชาการ เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๔)วางหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการวัดผล ประเมินผล และควบคุมมาตรฐานการศึกษาของคณะหรือวิทยาลัย

(๕)ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อคณบดี

(๖)พิจารณางบประมาณของคณะและวิทยาลัยเพื่อเสนออธิการบดี

(๗)เสนอแนะเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์พิเศษและการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์เกียรติคุณต่อคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๘)กำกับดูแลการบริหาร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของคณะหรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย

(๙)แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย

(๑๐)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย

มาตรา๔๖ในกรณีที่มีการแบ่งภาควิชาหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าให้มีหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของภาควิชา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๔๗ในสถาบัน สำนัก และส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ให้มีผู้อำนวยการหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสถาบัน สำนักหรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า และจะให้มีรองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นมอบหมายก็ได้

คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และรองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

เมื่อผู้อำนวยการหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นพ้นจากตำแหน่ง ให้รองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นพ้นจากตำแหน่งด้วย

การดำเนินงานของสถาบัน สำนัก และส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

การรักษาการแทนผู้อำนวยการและหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้นำมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๔๘ในสถาบัน สำนัก และส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ให้มีคณะกรรมการประจำสถาบัน สำนัก หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น แล้วแต่กรณี เป็นประธานและกรรมการ

องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ อำนาจหน้าที่ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการประจำสถาบัน สำนัก หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๔๙ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก และหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลาและจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งในขณะเดียวกันมิได้

ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งอยู่หนึ่งตำแหน่งแล้ว ให้รักษาการแทนตำแหน่งอื่นได้อีกเพียงหนึ่งตำแหน่ง แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

มาตรา๕๐การได้มาซึ่งอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๕๑ในสำนักงานสภามหาวิทยาลัยและสำนักงาน ให้มีผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงานสภามหาวิทยาลัยและสำนักงาน

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๕๒เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงาน คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักหรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า อธิการบดีจะมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าส่วนงานดังกล่าว ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีเฉพาะในส่วนงานนั้นก็ได้

คณบดี ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าส่วนงานซึ่งได้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีอาจมอบอำนาจต่อให้รองคณบดี รองผู้อำนวยการ หรือรองหัวหน้าส่วนงานนั้นปฏิบัติหน้าที่ที่รับมอบอำนาจมานั้นแทนได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิการบดี และให้ผู้รับมอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจต่อมีอำนาจหน้าที่ตามที่อธิการบดีกำหนด

มาตรา๕๓นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ การรักษาการแทน การมอบอำนาจให้ปฏิบัติการแทน ตลอดจนการมอบอำนาจช่วงให้ปฏิบัติการแทนของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

ในกรณีที่มีกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง หรือกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการ อนุกรรมการ หรือมีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาการแทนหรือผู้ปฏิบัติการแทนทำหน้าที่กรรมการ อนุกรรมการ หรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในระหว่างที่รักษาการแทนหรือปฏิบัติการแทนด้วย แล้วแต่กรณี เว้นแต่ผู้มอบอำนาจจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในคำสั่งมอบอำนาจ


มาตรา๕๔ให้มหาวิทยาลัยจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๕๕เมื่อครบสี่ปีนับแต่วันจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙ ให้มหาวิทยาลัยจัดให้มีการประเมินส่วนงานดังกล่าว โดยผู้ประเมินซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิใช่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย แล้วรายงานสภามหาวิทยาลัยและประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป และให้มีการประเมินดังกล่าวทุกสี่ปี

การประเมินส่วนงานตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยให้ใช้หลักการตามมาตรา ๘ และนโยบายที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดตามมาตรา ๒๓ (๑}}เป็นเกณฑ์ในการประเมิน โดยอาจหาข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย นักศึกษา ศิษย์เก่า บุคคลซึ่งเป็นนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาของศิษย์เก่าและบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย

รายงานตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุด้วยว่าส่วนงานดังกล่าวควรปรับปรุงการดำเนินการใดหรือควรมีส่วนงานนั้นหรือหน่วยงานในส่วนงานนั้นต่อไปหรือไม่ด้วย

มาตรา๕๖ให้คณะกรรมการนโยบายวิชาการจัดให้มีการประเมินหลักสูตรการศึกษา การเรียนการสอน และการวัดผลตามหลักสูตรนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง (๒)

มาตรา๕๗ให้สภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๕๘ให้อธิการบดีจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย


มาตรา๕๙ให้มหาวิทยาลัยวางและรักษาไว้ซึ่งระบบบัญชีอันถูกต้อง แยกตามส่วนงานของมหาวิทยาลัย มีสมุดบัญชีลงรายการแยกตามประเภทของสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ และค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบภายในเป็นประจำ

การบันทึกรายการในสมุดบัญชีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป

มาตรา๖๐มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และรายงานผลการตรวจสอบต่อนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

การตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย

องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๖๑ให้มหาวิทยาลัยจัดทำรายงานการเงินส่งผู้สอบบัญชีของมหาวิทยาลัยภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

วันเริ่มและวันสิ้นปีบัญชีของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย

มาตรา๖๒ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของมหาวิทยาลัย และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของมหาวิทยาลัยทุกรอบปีบัญชี

มาตรา๖๓ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามอธิการบดีและผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและเรียกให้ส่งสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยเป็นการเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

มาตรา๖๔ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงินเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี เพื่อสภามหาวิทยาลัยเสนอต่อรัฐมนตรี

มาตรา๖๕ให้มหาวิทยาลัยจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในปีที่ล่วงมา เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย

ให้มหาวิทยาลัยเผยแพร่รายงานประจำปีของปีที่สิ้นไปนั้น แสดงรายงานการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว พร้อมทั้งแสดงผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในปีที่ล่วงมาและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป

มาตรา๖๖ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต


มาตรา๖๗รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่มีปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม ให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อคณะรัฐมนตรีวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะรัฐมนตรี

มาตรา๖๘บรรดาเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัตินี้ให้รัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ


มาตรา๖๙คณาจารย์ประจำมีหน้าที่ในการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการ และให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา

ให้คณาจารย์ปฏิบัติหน้าที่และดำรงตนตามประมวลจริยธรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด

มาตรา๗๐คณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งทางวิชาการ ดังต่อไปนี้

(๑)ศาสตราจารย์

(๒)รองศาสตราจารย์

(๓)ผู้ช่วยศาสตราจารย์

(๔)อาจารย์

ศาสตราจารย์นั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย

สภามหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีตำแหน่งทางวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้โดยทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๗๑ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษและพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิด สภามหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาที่ศาสตราจารย์ผู้นั้นมีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศได้

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์เกียรติคุณ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๗๒ศาสตราจารย์พิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งอาจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ หรือรองศาสตราจารย์พิเศษซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์พิเศษ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๗๓สภามหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยเป็นรองศาสตราจารย์พิเศษหรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ

อธิการบดีอาจแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยเป็นอาจารย์พิเศษได้โดยคำแนะนำของคณบดี

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนรองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๗๔บุคคลใดได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์พิเศษ หรือได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ หรือตำแหน่งทางวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามมาตรา ๗๐ วรรคสาม ให้มีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวเป็นคำนำหน้านามเพื่อแสดงวิทยฐานะได้ตลอดไป

การใช้คำนำหน้านามตามความในวรรคหนึ่งให้ใช้อักษรย่อ ดังต่อไปนี้

(๑) ศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ศ.
(๒) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ใช้อักษรย่อ ศ. (เกียรติคุณ)
(๓) ศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ศ. (พิเศษ)
(๔) รองศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ รศ.
(๕) รองศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ รศ. (พิเศษ)
(๖) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใช้อักษรย่อ ผศ.
(๗) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ผศ. (พิเศษ)

การใช้คำนำหน้านามและการใช้อักษรย่อคำนำหน้านามสำหรับตำแหน่งทางวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย


มาตรา๗๕พนักงานมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

(๑)พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งดังต่อไปนี้

(ก)ศาสตราจารย์

(ข)รองศาสตราจารย์

(ค)ผู้ช่วยศาสตราจารย์

(ง)อาจารย์

(จ)ตำแหน่งทางวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามมาตรา ๗๐ วรรคสาม

(๒)พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ ได้แก่ตำแหน่งซึ่งกำหนดไว้ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

นอกจากพนักงานมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่งแล้ว มหาวิทยาลัยอาจให้มีลูกจ้างเพื่อปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยอีกได้

มาตรา๗๖นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่นการพัฒนาบุคลากร การบรรจุ การแต่งตั้ง การให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากงาน วินัย การดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้าง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๗๗สภามหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ หรือตำแหน่งอื่น ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ มีผลงาน และมีคุณภาพของงานในหน้าที่ที่แสดงถึงการใช้วิชาชีพหรือระดับความสามารถ

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่ง และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๗๘พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างผู้ใดถูกลงโทษทางวินัยให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างผู้ใดเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ยกเว้นการสั่งลงโทษหรือการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ให้ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งถึงการกระทำหรือได้รับทราบคำสั่ง

มาตรา๗๙ให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์

องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ อำนาจหน้าที่ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย


มาตรา๘๐ปริญญามีสามชั้น คือ

ปริญญาเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ด.
ปริญญาโท เรียกว่า มหาบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ม.
ปริญญาตรี เรียกว่า บัณฑิต ใช้อักษรย่อ บ.

มาตรา๘๑มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย และให้หรือร่วมให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรในสาขาวิชาที่มีการจัดการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นในประเทศหรือต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นใด และจะใช้อักษรย่อสำหรับสาขาวิชานั้นอย่างไร ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๘๒สภามหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาเกียรตินิยมได้

หลักเกณฑ์การให้ปริญญาเกียรตินิยม ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๘๓สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับของมหาวิทยาลัยกำหนดให้มีประกาศนียบัตรชั้นต่าง ๆ และอนุปริญญาได้ ดังต่อไปนี้

(๑)ประกาศนียบัตรดุษฎีบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งภายหลังที่ได้รับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าแล้ว

(๒)ประกาศนียบัตรมหาบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งภายหลังที่ได้รับปริญญาโทหรือเทียบเท่าแล้ว

(๓)ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งภายหลังที่ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าแล้ว

(๔)อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี

(๕)ประกาศนียบัตรประเภทอื่น ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหรือวิจัยเฉพาะวิชา

มาตรา๘๔มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสภามหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิและคุณธรรม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ แต่จะให้ปริญญาดังกล่าวแก่คณาจารย์ประจำ ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยในขณะดำรงตำแหน่งนั้นไม่ได้

ชั้น สาขาของปริญญา และหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๘๕มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรดุษฎีบัณฑิต ประกาศนียบัตรมหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร หรือคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยก็ได้

การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะและครุยประจำตำแหน่ง ให้ทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งจะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใดให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๘๖มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยได้ โดยทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ตามวรรคหนึ่งเพื่อการค้า หรือการใช้สิ่งดังกล่าวที่มิใช่เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยหรือกิจการของมหาวิทยาลัย ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากมหาวิทยาลัย

มาตรา๘๗มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีเครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายของนักศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยได้ โดยทำเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา๘๘ผู้ใดใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมายหรือเครื่องแต่งกายของนักศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยหรือสิ่งใดที่เลียนแบบสิ่งดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรดุษฎีบัณฑิต ประกาศนียบัตรมหาบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือมีตำแหน่งเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๘๙ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑)ปลอมหรือทำเลียนแบบซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะทำเป็นสีใดหรือทำด้วยวิธีใด ๆ

(๒)ใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยปลอมหรือซึ่งทำเลียนแบบ หรือ

(๓)ใช้หรือทำให้ปรากฏซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่วัตถุหรือสินค้าใด ๆ โดยฝ่าฝืนมาตรา ๘๖ วรรคสอง

ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (๑) เป็นผู้กระทำความผิดตาม (๒) ด้วย ให้ลงโทษตาม (๒) แต่กระทงเดียว

ความผิดตาม (๓) เป็นความผิดอันยอมความได้


มาตรา๙๐ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ งบประมาณ และรายได้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ มาเป็นของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๙๑ให้สภามหาวิทยาลัยและสภาอาจารย์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสภามหาวิทยาลัยและสภาอาจารย์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๙๒ให้ส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ และหน่วยงานที่สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติและจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีข้อบังคับของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙ วรรคสาม ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา๙๓ให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ประธานสภาอาจารย์และกรรมการสภาอาจารย์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ประธานสภาอาจารย์ และกรรมการสภาอาจารย์ตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีสภามหาวิทยาลัยและสภาอาจารย์ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา๙๔ให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระแต่ถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อครบกำหนดเวลาสามสิบวันตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้พ้นจากตำแหน่ง และให้นำความในวรรคสองของมาตรา ๙๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจะพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๙๕ให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการ หัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือภาควิชาตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการหัวหน้าภาควิชา หรือหัวหน้าส่วนงานหรือหน่วยงานดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือผู้ช่วยของผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งจะพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๙๖การนับวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีตามมาตรา ๓๖ คณบดีตามมาตรา ๔๑ ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามมาตรา ๔๗ ให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ด้วย

มาตรา๙๗ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการกองเลขานุการ คณะ เลขานุการสถาบัน เลขานุการสำนัก และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัย ให้คงดำรงตำแหน่งต่อไป แต่หากไม่แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ตำแหน่งดังกล่าวจะถูกยุบเลิกก่อนเวลาเช่นว่านั้น

มาตรา๙๘ให้โอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ มาเป็นข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้

เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ และพนักงานราชการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนราชการ และให้ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการและพนักงานราชการดังกล่าวรับเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่น ๆ ผ่านมหาวิทยาลัยโดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณแผ่นดิน งบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้างประจำ และเงินอื่นที่เกี่ยวข้องและให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างของส่วนราชการ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่การนำกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือระเบียบที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างของส่วนราชการหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการมาใช้บังคับตามวรรคสองไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้ หรือมีกรณีที่ไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ด้วยเหตุใด ๆ ให้การดำเนินการในส่วนที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้หรือในส่วนที่ไม่อาจนำกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือระเบียบดังกล่าวมาใช้ได้ เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๙๙ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการตามมาตรา ๙๘ ผู้ใด

(๑)แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย แล้วแต่กรณี ในทันที

(๒)แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ภายหลังกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อมหาวิทยาลัยได้ประเมินแล้วเห็นว่ามีความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้บรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องทดลองปฏิบัติงาน

(๓)แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ภายหลังกำหนดเวลาตาม (๒) ถ้ามหาวิทยาลัยเห็นว่าการรับบุคคลนั้นเข้าทำงานจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย และมีอัตราที่จะรับเข้าทำงานได้ ให้ดำเนินการตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

การแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และเมื่อได้ยื่นแสดงเจตนาแล้วจะถอนมิได้

มาตรา๑๐๐ผู้ซึ่งมหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙๔ มาตรา ๙๗ และมาตรา ๙๙ ให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ก่อนเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๐๑ข้าราชการซึ่งมหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙๔ มาตรา ๙๗ และมาตรา ๙๙ ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ นับแต่วันที่มหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

ลูกจ้างของส่วนราชการซึ่งมหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๙๙ ให้ถือว่าเป็นการออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่ง และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง

ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอยู่แล้ว ให้มีสิทธิขอเป็นสมาชิกต่อไปได้แม้จะออกจากราชการแล้ว ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าเป็นข้าราชการบำนาญ และมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะข้าราชการบำนาญแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ

มาตรา๑๐๒ในระหว่างที่ยังมีข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการตามมาตรา ๙๘ ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการดังกล่าวมีส่วนร่วมในกิจการสภามหาวิทยาลัย สภาอาจารย์ หรือสภาพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเท่าเทียมกับพนักงานมหาวิทยาลัย แล้วแต่กรณีด้วย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๐๓ให้คณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการประจำวิทยาลัย สถาบัน สำนัก ศูนย์ และกรรมการอื่นซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ หรือตามมติสภามหาวิทยาลัย ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงมีฐานะเป็นคณะกรรมการดังกล่าวต่อไปและทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารส่วนงานตามพระราชบัญญัตินี้ หรือทำหน้าที่ตามที่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งหรือเลือกคณะกรรมการขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา๑๐๔ให้ตำแหน่งศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ หรืออาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ หรืออาจารย์ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวคงดำรงตำแหน่งนั้นต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้จนครบกำหนดที่ได้รับแต่งตั้ง

มาตรา๑๐๕สิทธิในการเข้าสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือตำแหน่งอื่นใดของข้าราชการหรือพนักงานที่โอนมาตามมาตรา ๙๘ หรือเปลี่ยนสถานภาพตามมาตรา ๙๙ และสิทธิในการเลื่อนตำแหน่งของลูกจ้างของส่วนราชการ มิให้เสียไปเพราะเหตุที่โอนมาเปลี่ยนสถานภาพ หรือไม่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

มาตรา๑๐๖ในกรณีที่ตำแหน่งข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการในมหาวิทยาลัยว่างลงไม่ว่าจะว่างอยู่ก่อนหรือภายหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยุบเลิกตำแหน่งนั้นและให้โอนอัตราตำแหน่งและงบประมาณแผ่นดินประจำอัตรา รวมตลอดทั้งงบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้างประจำและเงินอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งตั้งไว้สำหรับตำแหน่งนั้นไปเป็นของมหาวิทยาลัยและให้ถือว่าการโอนงบประมาณดังกล่าวเป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา๑๐๗เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามความในบทเฉพาะกาลนี้ ให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจคณะหนึ่ง ประกอบด้วย นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิการบดี ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาข้าราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจำนวนสองคนเป็นกรรมการ

ให้อธิการบดีแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจทำหน้าที่ให้ความเห็นและกำหนดแนวปฏิบัติในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามบทเฉพาะกาล

ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจตามมาตรานี้ ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าการปฏิบัติตามบทเฉพาะกาลนี้ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นแล้ว

มาตรา๑๐๘ให้ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่ยังมิได้ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้นำพระราชกฤษฎีกา กฎทบวง ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้น สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"