พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481
- พระราชบัญญัติ
- คำปรารภ
- มาตรา
- ภาค 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
- ภาค 2 สถานะและความสามารถของบุคคล
- ภาค 3 หนี้
- ภาค 4 ทรัพย์
- ภาค 5 ครอบครัว
- ความสมบูรณ์ของการหมั้น
- เงื่อนไขของการสมรส
- ความสมบูรณ์ของการสมรส
- ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
- ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
- ผลของการได้สัญชาติอื่นในภายหลัง
- สัญญาก่อนสมรส: ความสามารถในการทำสัญญา
- สัญญาก่อนสมรส: สาระสำคัญของผลแห่งสัญญา
- การหย่าโดยความยินยอม
- การหย่าโดยคำพิพากษา
- การเพิกถอนการสมรส
- ความชอบด้วยกฎหมายของบุตร
- สิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตร
- การรับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
- ความปกครอง
- การถอนอำนาจปกครอง
- การฟ้องบุพพการี
- บุตรบุญธรรม
- การอุปการะเลี้ยงดู
- ภาค 6 มฤดก
- พระราชบัญญัติ
- ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย
- พุทธศักราช ๒๔๘๑
- ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
- อาทิตย์ทิพอาภา
- พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
- ตราไว้ณวันที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑
- เป็นปีที่ ๕ ในรัชชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑"
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓เมื่อใดไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยามที่จะยกมาปรับกับกรณีขัดกันแห่งกฎหมายได้ ให้ใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
มาตรา๔ถ้าจะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ และตามกฎหมายต่างประเทศนั้น กฎหมายที่จะใช้บังคับ ได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ มิใช่กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายสยามว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย
มาตรา๕ถ้าจะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ให้ใช้กฎหมายนั้นเพียงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศสยาม
มาตรา๖ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไปอันได้รับมาเป็นลำดับ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้ายบังคับ
ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไปอันได้รับมาคราวเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
ในกรณีใด ๆ ที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่กฎหมายแห่งประเทศสยาม
สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ
ถ้าในการใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ จะต้องใช้กฎหมายท้องถิ่น กฎหมายเหล่าประชาคม หรือกฎหมายศาสนา แล้วแต่กรณี ก็ให้ใช้กฎหมายเช่นว่านั้นบังคับ
มาตรา๗ในกรณีมีที่การขัดกันในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคล สัญชาติของนิติบุคคลนั้น ได้แก่ สัญชาติแห่งประเทศซึ่งนิติบุคคลนั้นมีถิ่นที่สำนักงานแห่งใหญ่หรือที่ตั้งทำการแห่งใหญ่
มาตรา๘ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิศูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยาม
มาตรา๙นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้น
อย่างไรก็ดี กฎหมายของประเทศที่ทรัพย์สินตั้งอยู่ย่อมใช้บังคับแก่แบบที่จำเป็นเพื่อความสมบูรณ์แห่งสัญญา เอกสาร หรือนิติกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
มาตรา๑๐ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่า บุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมฤดก
ในกรณีที่เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ความสามารถของบุคคลที่จะทำนิติกรรมเช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
มาตรา๑๑ถ้าคนต่างด้าวในประเทศสยามได้ไปเสียจากภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่ตามเงื่อนไขซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๕๓ และ ๕๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ศาลสยามจะสั่งการให้ทำพลางตามที่จำเป็นนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายสยาม
คำสั่งให้คนต่างด้าวดังกล่าวแล้วเป็นคนสาบสูญ และผลแห่งคำสั่งนั้น เท่าที่ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสยาม ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคนต่างด้าวนั้น
มาตรา๑๒เหตุที่ศาลสยามจะสั่งให้คนต่างด้าวซึ่งมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศสยามอยู่ในความอนุบาลหรืออยู่ในความพิทักษ์ได้นั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น อย่างไรก็ดี มิให้ศาลสยามสั่งให้บุคคลเช่นว่านั้นอยู่ในความอนุบาลหรืออยู่ในความพิทักษ์โดยอาศัยเหตุซึ่งกฎหมายสยามมิได้ยอมให้กระทำ
ผลของการให้อยู่ในความอนุบาลหรือให้อยู่ในความพิทักษ์ดังกล่าวแล้ว ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศซึ่งศาลที่สั่งให้บุคคลเช่นว่านั้นเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถสังกัดอยู่
มาตรา๑๓ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับ ก็ได้แก่ กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น
ถ้าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ถิ่นที่ถือว่าสัญญานั้นได้เกิดเป็นสัญญาขึ้น คือ ถิ่นที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ถ้าไม่อาจหยั่งทราบถิ่นที่ว่านั้นได้ ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น
สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลแห่งสัญญานั้น
มาตรา๑๔หนี้ซึ่งเกิดจากการจัดการงานนอกสั่งหรือลาภมิควรได้ ให้บังคับตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เกิดหนี้นั้นได้เกิดขึ้น
มาตรา๑๕หนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิด ให้บังคับตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ข้อเท็จจริงซึ่งทำให้เป็นการละเมิดนั้นได้เกิดขึ้น
ความในวรรคก่อนไม่ใช้แก่บรรดาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งไม่เป็นการละเมิดตามกฎหมายสยาม
กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ต้องเสียหายจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือทางแก้อย่างใดไม่ได้ นอกจากที่กฎหมายสยามยอมให้เรียกร้องได้
มาตรา๑๖ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินตั้งอยู่บังคับแก่สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดี ในกรณีการส่งสังหาริมทรัพย์ออกนอกประเทศ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของเจ้าของทรัพย์บังคับแก่ทรัพย์นั้นตั้งแต่เวลาส่งทรัพย์ออกนอกประเทศ
มาตรา๑๗สังหาริมทรัพย์ใด ๆ ซึ่งได้ย้ายที่ไปในระหว่างฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ให้คงบังคับตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ในขณะยื่นฟ้อง
มาตรา๑๘ความสามารถที่จะทำการหมั้นหรือเพิกถอนการหมั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่หมั้นแต่ละฝ่าย ผลของการหมั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศซึ่งศาลที่พิจารณาและพิพากษาคดีสังกัดอยู่
มาตรา๑๙เงื่อนไขแห่งการสมรส ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย
มาตรา๒๐การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้นย่อมเป็นอันสมบูรณ์
การสมรสระหว่างคนในบังคับสยาม หรือคนในบังคับสยามกับคนต่างด้าว ซึ่งได้ทำในต่างประเทศโดยถูกต้องตามแบบที่กฎหมายสยามกำหนดไว้ ย่อมเป็นอันสมบูรณ์
มาตรา๒๑ถ้าคู่สมรสมีสัญชาติอันเดียวกัน หรือถ้าภริยาได้มาซึ่งสัญชาติแห่งสามีโดยการสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สมรส
ในกรณีที่ภริยามิได้ได้มาซึ่งสัญชาติแห่งสามีโดยการสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามี
มาตรา๒๒ถ้ามิได้มีสัญญาก่อนสมรส ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติ
ถ้าสามีและภริยามีสัญชาติแตกต่างกัน ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามี
อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
มาตรา๒๓ผลแห่งการสมรสดั่งบัญญัติไว้ในสองมาตราก่อน ย่อมไม่ถูกกะทบกะทั่ง หากว่าภายหลังการสมรสคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายได้มาซึ่งสัญชาติแตกต่างกับที่มีอยู่หรือที่ได้มาขณะทำการสมรส
มาตรา๒๔ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ถ้าทำสัญญาก่อนสมรส ความสามารถที่จะทำสัญญา ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งคู่สัญญาแต่ละฝ่าย
มาตรา๒๕ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญและผลแห่งสัญญาก่อนสมรส ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญและผลแห่งสัญญาก่อนสมรสเช่นว่านั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งคู่สัญญาเจตนาหรือพึงสันนิษฐานได้ว่าได้มีเจตนาที่จะยอมอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายนั้น ถ้าไม่มีเจตนาเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่สมรสตั้งภูมิลำเนาครั้งแรกหลังจากการสมรส
อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
มาตรา๒๖การหย่าโดยความยินยอมย่อมสมบูรณ์ ถ้ากฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้
มาตรา๒๗ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้
เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า
มาตรา๒๘การเพิกถอนการสมรส ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่เงื่อนไขแห่งการสมรส
อย่างไรก็ดี ความสำคัญผิด กลฉ้อฉล หรือการข่มขู่อันจะเป็นเหตุให้เพิกถอนการสมรส ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ได้กระทำการสมรส
มาตรา๒๙การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามีของมารดาในขณะที่บุตรนั้นเกิด ถ้าหากในขณะที่กล่าวนั้น สามีได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของสามีในขณะที่ถึงแก่ความตาย
ให้ใช้กฎหมายเช่นเดียวกันบังคับการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร
มาตรา๓๐สิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดา
ในกรณีที่เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย สิทธิและหน้าที่ระหว่างมารดากับบุตร ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของมารดา
มาตรา๓๑การรับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดาในขณะที่รับเป็นบุตร ถ้าหากในขณะนั้นบิดาได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดาขณะที่ถึงแก่ความตาย
มาตรา๓๒กรณีที่จะจัดผู้เยาว์ซึ่งไม่มีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองให้อยู่ในความปกครองก็ดี หน้าที่และอำนาจของผู้ปกครองก็ดี กรณีที่ความปกครองสิ้นสุดลงก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้เยาว์ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ อำนาจของผู้ปกครองที่จะจัดการกับทรัพย์สินเช่นว่านั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
ส่วนผู้เยาว์ซึ่งมีสัญชาติต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศสยาม จะจัดให้อยู่ในความปกครองตามกฎหมายสยามก็ได้ ถ้าปรากฏจากพฤติการณ์แห่งกรณีว่า ตามองค์การและระเบียบจัดการแห่งความปกครองซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายต่างประเทศนั้นไม่เป็นอันคุ้มครองประโยชน์ได้เสียของผู้เยาว์ให้เป็นผลตามสมควรได้
มาตรา๓๓การถอนอำนาจปกครอง ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศซึ่งศาลที่สั่งถอนอำนาจปกครองสังกัดอยู่
มาตรา๓๔สิทธิที่จะฟ้องบุพพการีเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้สืบสันดาน
มาตรา๓๕ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมมีสัญชาติอันเดียวกัน การรับบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น ๆ
ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมมีสัญชาติแตกต่างกัน ความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย แต่ผลแห่งการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้รับบุตรบุญธรรม
สิทธิและหน้าที่ระหว่างบุตรบุญธรรมกับครอบครัวของตนตามกำเนิดนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุตรบุญธรรม
มาตรา๓๖หน้าที่อุปการะเลี้ยงดู ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลซึ่งถูกเรียกร้องให้อุปการะเลี้ยงดู
อย่างไรก็ดี บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจะเรียกร้องเกินกว่าที่กฎหมายสยามอนุญาตไม่ได้
มาตรา๓๗มฤดกเท่าที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
มาตรา๓๘ในส่วนที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ มฤดกโดยสิทธิโดยธรรมหรือโดยพินัยกรรม์ ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามฤดกในขณะที่เจ้ามฤดกถึงแก่ความตาย
มาตรา๓๙ความสามารถของบุคคลที่จะทำพินัยกรรม์ ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติในขณะที่ทำพินัยกรรม์
มาตรา๔๐บุคคลจะทำพินัยกรรม์ตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ก็ได้ หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรม์กำหนดไว้ก็ได้
มาตรา๔๑ผลและการตีความพินัยกรรม์ก็ดี ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรม์ หรือข้อกำหนดพินัยกรรม์ก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรม์ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรม์ถึงแก่ความตาย
มาตรา๔๒การเพิกถอนพินัยกรรม์หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม์ ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรม์ในขณะที่เพิกถอนพินัยกรรม์
การตกไปแห่งพินัยกรรม์หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม์ ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรม์ในขณะที่ถึงแก่ความตาย
- พิบูลสงคราม
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- "พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481". (2481, 20 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55, ตอน 0 ก. หน้า 1021–1036.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"