พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565/พระราชบัญญัติ
- พระราชบัญญัติ
- คำปรารภ
- บทนำ
- หมวด 1 บททั่วไป
- หมวด 2 กระบวนการพิจารณาคดีความผิดทางพินัย
- เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจปรับ
- กรรมเดียวเป็นความผิดหลายบท
- กรรมเดียวเป็นความผิดทั้งทางพินัยและทางอาญา
- ความผิดทางพินัยหลายกรรม
- ความผิดหลายกรรมต่ บางกรรมเป็นทางพินัย บางกรรมเป็นทางอาญา
- การเริ่มดำเนินคดี
- วิธีสั่งปรับ
- รายละเอียดของคำสั่งปรับ
- ขอบเขตของมาตรา 19–21
- ผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือไม่ชำระค่าปรับ
- กรณีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจพบเห็นความผิดทางพินัย
- การฟ้องคดีความผิดทางพินัย
- การดำเนินคดีที่มีความผิดทางพินัยรวมอยู่ด้วย
- ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับครบถ้วนก่อนหรือระหว่างฟ้อง
- การพิจารณาและพิพากษาความผิดทางพินัย
- เขตอำนาจศาล
- ผู้ต้องคำพิพากษาไม่ชำระค่าปรับ
- การบังคับตามคำสั่งของศาล
- อุทธรณ์
- การยุติลงของความผิดทางพินัย
- การบันทึกประวัติอาชญากรรม
- การชําระค่าปรับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
- การบริหารจัดการค่าปรับ
- บทเฉพาะกาล
- การออกกฎหมายลำดับรอง
- คณะกรรมการกำกับดูแลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ
- การเปลี่ยนความผิดอาญาตามบัญชี 1 เป็นความผิดทางพินัย
- การเปลี่ยนความผิดอาญาตามบัญชี 2 เป็นความผิดทางพินัย
- ขอบเขตของการเปลี่ยนตามมาตรา 39 และ 40
- อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การเปลี่ยนความผิดอาญาตามบัญชี 3 เป็นความผิดทางพินัย
- อายุความของความผิดตามบัญชี 1–3
- การดำเนินคดีความผิดตามบัญชี 1–3
- สถานะของผู้กระทำความผิดตามบัญชี 1–3
- ประวัติอาชญากรรมของผู้กระทำความผิดตามบัญชี 1–3
- ความผิดทางปกครองที่เปลี่ยนมาเป็นความผิดทางพินัย
- หมายเหตุ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่า รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง กรณีจึงเป็นการสมควรกำหนดให้การกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง และโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง เป็นความผิดทางพินัย โดยไม่ถือเป็นความผิดอาญา และให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม โดยไม่ถือเป็นโทษอาญา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕"
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ในพระราชบัญญัตินี้
"ปรับเป็นพินัย" หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
"ความผิดทางพินัย" หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย
"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายทะเบียน คณะบุคคล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น บรรดาที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย หรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามมาตรา ๑๔
มาตรา๔ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา๕การปรับเป็นพินัยตามกฎหมายทั้งปวง ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ให้ถือว่า การปรับเป็นพินัยหรือคำสั่งปรับเป็นพินัยเป็นการกระทำทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครอง
การปรับเป็นพินัยไม่เป็นโทษอาญา
มาตรา๖ในกรณีพระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่า ได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้แล้ว
ในกรณีปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้กระทำความผิดทางพินัยไม่สามารถพูด หรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ ให้แจ้งหนังสือหรือเอกสารในรูปแบบที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยสามารถเข้าใจได้ หรือจะแจ้งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยทราบด้วยการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นก็ได้
ในกระบวนการพิจารณาความผิดทางพินัย หากผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานไม่สามารถพูด หรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานอัยการ หรือศาล จัดหาล่ามภาษามือให้ หรือจัดให้ถาม ตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร
มาตรา๗ผู้ใดกระทำความผิดทางพินัย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนดตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา๘ให้นำบทบัญญัติในภาคบทบัญญัติทั่วไป ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้ แก่ความผิดทั่วไป เฉพาะหมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา หมวด ๔ ความรับผิดในทางอาญา หมวด ๕ การพยายามกระทำความผิด และหมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้ด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ระเบียบดังกล่าว เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา๙ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย ให้พิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
(๑)ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนหรือสังคมจากการกระทำความผิดทางพินัย และพฤติการณ์อื่นอันเกี่ยวกับสภาพความผิดทางพินัย
(๒)ความรู้ผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม การกระทำความผิด และสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดทางพินัย
(๓)ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย
(๔)สถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดทางพินัย
ในการชำระค่าปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดทางพินัยร้องขอ และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดไม่อาจชำระค่าปรับในคราวเดียวได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลจะให้ผ่อนชำระก็ได้ และในกรณีเช่นนั้น หากผู้กระทำความผิดทางพินัยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้การผ่อนชำระเป็นอันยกเลิก และผู้กระทำความผิดต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยที่ยังค้างชำระอยู่ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนด หากไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๒๓ หรือมาตรา ๓๐ แล้วแต่กรณี
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยจะวางระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยตามวรรคหนึ่งและการผ่อนชำระตามวรรคสองเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้และระเบียบของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘ วรรคสอง ก็ได้
มาตรา๑๐ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยผู้ใดเป็นบุคคลธรรมดา และกระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทานหรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ผู้นั้นอาจยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยผู้ใดเป็นบุคคลธรรมดา และไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัยแทนค่าปรับเป็นพินัยได้ ผู้นั้นอาจยื่นคำร้องโดยแสดงเหตุผลอันสมควรเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้สั่งปรับเป็นพินัย และผู้นั้นไม่โต้แย้งคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป ถ้าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล การยื่นคำร้องให้ยื่นต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น ในกรณีที่ศาลเห็นว่า ผู้นั้นกระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทานหรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ศาลจะกำหนด ค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือจะว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่ปรับเป็นพินัย หรือหากผู้นั้นยินยอม จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ หรือในกรณีที่ศาลเห็นว่า ผู้นั้นไม่มีเงินชำระค่าปรับ จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ หากผู้นั้นยินยอม
ในกรณีที่ความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า มีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และผู้กระทำความผิดทางพินัยยินยอม ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งตามวรรคสาม
ในกรณีที่ความปรากฏต่อศาลในขณะที่พิพากษาว่า มีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ศาลมีอำนาจสั่งตามวรรคสามได้ แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้ยื่นคำร้องก็ตาม
ให้นำความในมาตรา ๓๐/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การสั่งของศาลตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม
หากผู้กระทำความผิดทางพินัยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนดในการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ศาลจะเพิกถอนคำสั่ง และออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ โดยให้หักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากค่าปรับเป็นพินัย
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา๑๑ในคดีความผิดทางพินัย ถ้ามิได้มีคำสั่งปรับเป็นพินัยหรือฟ้องภายในกำหนดสองปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ เว้นแต่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา๑๒เมื่อได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ผู้ใดชำระค่าปรับเป็นพินัย ถ้าผู้นั้นมิได้ชำระหรือชำระค่าปรับเป็นพินัยแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน และเกินห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว จะบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อผู้นั้นมิได้
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
มาตรา๑๓ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รัฐผู้สั่งปรับเป็นพินัยรายงานการสั่งปรับเป็นพินัยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดทราบ และให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการปรับเป็นพินัยของหน่วยงานนั้นแล้วเปิดเผยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนทราบเป็นประจำทุกปี
มาตรา๑๔เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจะมีอำนาจปรับเป็นพินัยตามกฎหมายใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยมิได้บัญญัติไว้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นประกาศกำหนด
ในการกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นใดที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ วรรคสาม และถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยก็ได้ แต่ถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงเกินหนึ่งหมื่นบาท ต้องกำหนดให้การปรับเป็นพินัยกระทำเป็นองค์คณะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่น้อยกว่าสามคน
มาตรา๑๕การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดทางพินัยหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดในการปรับผู้กระทำความผิดทางพินัย
ก่อนที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยจะชำระค่าปรับเป็นพินัย หากความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดทางพินัยตามกฎหมายอื่นที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงกว่าด้วย ให้ระงับการรับชำระค่าปรับเป็นพินัย และส่งสำนวนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดที่กฎหมายกำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงกว่า เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่งต่อไป
ในกรณีที่ได้มีคำสั่งปรับเป็นพินัยและชำระค่าปรับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในความผิดทางพินัยบทใดบทหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบทที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดหรือไม่ ให้ความผิดทางพินัยสำหรับการกระทำความผิดในบทอื่นเป็นอันยุติ
มาตรา๑๖การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดอาญา ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑)ถ้าความผิดอาญานั้นไม่อาจเปรียบเทียบได้ ให้ระงับการดำเนินการปรับเป็นพินัย และแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป
(๒)ในกรณีตาม (๑) ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปรับเป็นพินัยไปก่อนแล้ว การปรับเป็นพินัยดังกล่าวไม่เป็นการตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่จะดำเนินคดีอาญา และในกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ให้ความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ และให้ศาลในคดีอาญาสั่งคืนค่าปรับเป็นพินัยที่ได้ชำระแล้วให้แก่ผู้กระทำความผิด ในกรณีที่ศาลในคดีอาญาพิพากษาลงโทษปรับ ไม่ว่าจะลงโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลในคดีอาญาสั่งให้นำค่าปรับเป็นพินัยที่ชำระแล้วมาหักกลบกับโทษปรับ หากยังมีจำนวนเงินค่าปรับเป็นพินัยที่ชำระแล้วเหลืออยู่ ให้ศาลในคดีอาญาสั่งให้คืนเงินที่เหลือนั้นให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วย
(๓)ถ้าความผิดอาญานั้นเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับเป็นพินัย หรือทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยตามคำสั่งของศาลแล้ว ให้คดีอาญานั้นเป็นอันเลิกกัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของผู้กระทำความผิดนั้น
(๔)ถ้าความผิดอาญานั้นเปรียบเทียบได้ และได้มีการชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ความผิดทางพินัยนั้นเป็นอันยุติ
มาตรา๑๗ผู้ใดกระทำความผิดทางพินัยอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ปรับเป็นพินัยผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ภายใต้บังคับวรรคสาม ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการปรับเป็นพินัย และความผิดทางพินัยตามวรรคหนึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างหน่วยงานกัน ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปรับเป็นพินัยในความผิดที่อยู่ในอำนาจของตน และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจพิจารณาในความผิดทางพินัยอื่นทราบเพื่อดำเนินการต่อไปด้วย
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปรับเป็นพินัยตามวรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะวางระเบียบกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันหรือทำแทนกันในการดำเนินการปรับเป็นพินัยก็ได้ ระเบียบดังกล่าว เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา๑๘เมื่อปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ใดกระทำความผิดอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และบางกรรมเป็นความผิดทางพินัย บางกรรมเป็นความผิดอาญา ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปรับเป็นพินัยในกรรมที่เป็นความผิดทางพินัย และแจ้งให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินคดีอาญาสำหรับกรรมที่เป็นความผิดอาญาต่อไป
ในการสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิดอาญา หากพบว่า มีการกระทำความผิด ทางพินัยรวมอยู่ด้วย ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับเป็นพินัย
มาตรา๑๙เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย หรือมีการกล่าวหา หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่า มีการกระทำความผิดทางพินัย ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหานั้นตามสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา๒๐เมื่อดำเนินการตามมาตรา ๑๙ แล้ว และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพยานหลักฐานเพียงพอว่า ผู้ใดกระทำความผิดทางพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งปรับเป็นพินัยและส่งคำสั่งให้ผู้นั้นทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของผู้ถูกกล่าวหาหรือตามที่ได้แจ้งไว้ต่อหน่วยงานของรัฐ และให้ถือว่า ผู้นั้นได้รับแจ้งตั้งแต่วันครบสิบห้าวันนับแต่วันที่ปรากฏในทะเบียนตอบรับ
มาตรา๒๑คำสั่งปรับเป็นพินัยตามมาตรา ๒๐ ให้ทำเป็นหนังสือโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑)ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดทางพินัย
(๒)อัตราค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติ และจำนวนค่าปรับเป็นพินัยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกําหนดให้ต้องชำระ
(๓)ระยะเวลาที่ต้องชำระซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
(๔)กระบวนการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการต่อไป ถ้าผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนด
(๕)สิทธิในการขอผ่อนชำระตามมาตรา ๙ วรรคสอง หรือการยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา ๑๐
(๖)รายละเอียดอื่นใดที่เห็นสมควรอันจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจสภาพแห่งการกระทำความผิดหรือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา
มาตรา๒๒ความในมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ไม่ใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับความผิดทางพินัยที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะหรือแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
มาตรา๒๓ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๒๐ ปฏิเสธข้อกล่าวหา หรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลได้เอง เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจนําเนินการฟ้องคดีโดยไม่ต้องส่งให้พนักงานอัยการ
มาตรา๒๔ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพบการกระทำความผิดทางพินัย ให้มีหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกฎหมายนั้น ๆ เพื่อพิจารณาดำเนินการปรับเป็นพินัยต่อไป เว้นแต่เป็นความผิดทางพินัยที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีเช่นนั้น ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มาตรา๒๕เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีความผิดทางพินัยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ดำเนินการเพื่อฟ้องคดีต่อศาล โดยจะมีหรือไม่มีตัวผู้ถูกกล่าวหาไปศาลก็ได้
ในกรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ให้แจ้งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐทราบพร้อมทั้งเหตุผล หากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ทำความเห็นแย้งเสนอไปยังผู้ดำรงตำแหน่งเหนือพนักงานอัยการที่มีคำสั่งเพื่อชี้ขาด เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ให้พนักงานอัยการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือด้วย
ในการพิจารณาสำนวน พนักงานอัยการมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมทั้งมีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำได้ตามที่เห็นสมควร หรือจะสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการตามพระราชบัญญัตินี้และการกำหนดผู้มีอำนาจชี้ขาดความเห็นแย้ง ให้อัยการสูงสุดออกระเบียบให้พนักงานอัยการปฏิบัติได้ และเพื่อประโยชน์ในการประสานและร่วมมือกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับเขตอำนาจของพนักงานอัยการ อัยการสูงสุดจะมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทราบถึงแนวปฏิบัติในการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการในแต่ละท้องที่ก็ได้
มาตรา๒๖ในการพิจารณาสำนวนคดีความผิดทางพินัย หากพนักงานอัยการเห็นว่า เป็นความผิดทางอาญาหรือมีการกระทำความผิดทางอาญารวมอยู่ด้วย ให้พนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินคดีอาญาต่อไป
ในการพิจารณาสำนวนคดีความผิดทางอาญา หากพนักงานอัยการเห็นว่า เป็นความผิดทางพินัย หรือมีการกระทำความผิดทางพินัยรวมอยู่ด้วย ให้พนักงานอัยการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับเป็นพินัยต่อไป
มาตรา๒๗ถ้าผู้กระทำความผิดทางพินัยชำระค่าปรับเป็นพินัยครบถ้วนตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดก่อนฟ้องคดีต่อศาล ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยุติการดำเนินการฟ้องคดี หรือถ้าได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ก่อนศาลมีคำพิพากษา ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี
มาตรา๒๘ให้ศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลอาญาที่มีเขตอำนาจ หรือศาลชำนัญพิเศษ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางพินัย
วิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ข้อบังคับตามวรรคสองต้องคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เป็นภาระ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินสมควร และจะกำหนดให้ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยก็ได้ แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด จำเลยมีสิทธิแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับให้มาต่อสู้คดีแทนได้ โดยมิให้ถือว่า เป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย และในการส่งเอกสาร ให้กำหนดให้สามารถส่งทางอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นที่เหมาะสมได้ด้วย ในกรณีสมควร จะกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้ด้วยก็ได้ ข้อบังคับดังกล่าว เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา๒๙เมื่อความผิดทางพินัยเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่า เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ฟ้องที่ศาลนั้น แต่ถ้าความผิดทางพินัยเกิดขึ้นในหลายท้องที่ ให้ฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งได้
ในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่า ความผิดทางพินัยเกิดขึ้นในท้องที่ใด ให้ฟ้องต่อศาลที่ผู้กระทำความผิดมีที่อยู่ แต่ถ้าไม่ทราบที่อยู่ของผู้กระทำความผิด ให้ถือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หากมีผู้กระทำความผิดหลายคน ให้ฟ้องต่อศาลที่ผู้กระทำความผิดคนใดคนหนึ่งมีที่อยู่
มาตรา๓๐ผู้ใดต้องคําพิพากษาให้ชําระค่าปรับเป็นพินัย ไม่ชําระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกําหนด ให้ศาลมีอํานาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชําระค่าปรับเป็นพินัย
มาตรา๓๑ให้นําความในมาตรา ๒๙/๑ วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การบังคับคดีตามคําสั่งศาลตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๓๐ ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา๓๒ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาของศาลในปัญหาข้อเท็จจริงและจํานวนค่าปรับเป็นพินัย
ผู้กระทําความผิดทางพินัยมีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายตามเงื่อนไขที่กําหนดในข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๒๘ เงื่อนไขดังกล่าวต้องคํานึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้อุทธรณ์และสังคมโดยรวมในการรับภาระค่าใช้จ่ายประกอบกัน
คําพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา๓๓คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(๑)เมื่อมีการชําระค่าปรับเป็นพินัยหรือทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยครบถ้วนแล้ว
(๒)โดยความตายของผู้กระทําความผิดทางพินัย
(๓)เมื่อมีการเปรียบเทียบความผิดอาญาตามมาตรา ๑๖ (๔)
(๓)เมื่อคดีขาดอายุความตามมาตรา ๑๑ หรือพ้นกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๒ แล้วแต่กรณี
มาตรา๓๔ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐบันทึกการกระทําความผิดทางพินัยของบุคคลใดรวมไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรม หรือในฐานะเป็นประวัติอาชญากรรม
มาตรา๓๕เพื่อประโยชน์ในการอํานวยความสะดวกในการชําระค่าปรับเป็นพินัย จะกําหนดให้ชําระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวงก็ได้
มาตรา๓๖ค่าปรับเป็นพินัยให้นําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เว้นแต่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยหรือกฎหมายอื่นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา๓๗เมื่อพระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่และอํานาจในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามมาตรา ๘ วรรคสอง มาตรา ๙ วรรคสาม มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๗ วรรคสาม มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๕ วรรคสี่ มาตรา ๒๘ วรรคสอง และมาตรา ๓๕ ดําเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนวันพ้นกําหนดสองร้อยสีสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ และ ประกาศดังกล่าว ต้องไม่ใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา๓๘ในวาระเริ่มแรก ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีจํานวนตามที่เห็นสมควร เพื่อให้คําแนะนําและคําปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะการออกกฎกระทรวงและระเบียบตามมาตรา ๘ วรรคสอง และมาตรา ๑๗ วรรคสาม โดยให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทําหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการดังกล่าว และให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้งข้าราชการของสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
เมื่อครบห้าปีหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประเมินความจําเป็นในการให้มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยในกรณีมีความจําเป็นต้องมีคณะกรรมการต่อไปให้เสนอแนะหน่วยงานที่จะทําหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการต่อไปด้วย ในกรณีที่เห็นว่า ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการดังกล่าวต่อไป และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วย ให้คณะกรรมการดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติหรือวันที่คณะรัฐมนตรีกําหนด แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่เห็นควรมีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อไป คณะรัฐมนตรีจะกําหนดให้มี คณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นคราว ๆ หรือตลอดไปก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น การแต่งตั้งและวาระการดํารงตําแหน่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกําหนด
มาตรา๓๙เมื่อพันกําหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี ๑ ท้ายพระราชบัญญัตินี่ เป็นความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัตินี่ และให้ถือว่า อัตราโทษปรับอาญาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว เป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๔๐บรรดาความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี ๒ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ จะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ก่อนตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชกฤษฎีกานั้น ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้มีมติไม่เห็นชอบ ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไป
การตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง จะเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามกฎหมายที่ระบุไว้ในบัญชีบางมาตราหรือทุกมาตราแต่มีโทษปรับสถานเดียวสำหรับกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเดียวกันนั้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการเปลี่ยนไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้
มาตรา๔๑ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี ๑ และบัญชี ๒ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่รวมถึง
(๑)ความผิดที่มีโทษจำคุกหรือโทษที่สูงกว่าสำหรับกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำความผิด
(๒)ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวแต่มีเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับ เมื่อกระทำความผิดอีกหรือเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
มาตรา๔๒ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ไม่เกินที่กฎหมายนั้นกำหนด เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฉพาะในการกำหนดโทษปรับอาญาเป็นการปรับเป็นพินัยไม่เกินอัตราที่กำหนดสำหรับการกำหนดโทษปรับอาญา
บรรดาข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ยังใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้กำหนดความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้เปลี่ยนความผิดอาญานั้นเป็นความผิดทางพินัย และให้ถือว่า อัตราโทษปรับอาญาที่บัญญัติไว้ในข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าวเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๔๓เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายในบัญชี ๓ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ เป็นความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่า อัตราโทษปรับทางปกครองที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่กฎหมายตามวรรคหนึ่งได้กำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปรับทางปกครองไว้แล้ว ให้ถือว่า กฎหมายนั้นได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่กฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปรับทางปกครองไว้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๔ เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย
มาตรา๔๔บรรดาความผิดทางพินัยที่เปลี่ยนจากความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๒ หรือความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๔๓ ที่ได้กระทำก่อนวันที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย ให้มีอายุความตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยดังกล่าว ในกรณีที่กฎหมายที่มีโทษปรับทางปกครองใดไม่ได้กำหนดอายุความไว้ในกฎหมายนั้น ให้มีอายุความตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๔๕บรรดาความผิดอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๒
(๑)ถ้าอยู่ในระหว่างการดำเนินการของผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ให้ถือว่า ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ และดำเนินการปรับเป็นพินัยไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๒)ถ้าอยู่ในระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ส่งเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยเพื่อดำเนินการต่อไป
(๓)ถ้าอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ศาลพิจารณาปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๔๖ผู้ใดต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๒ ให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และให้ถือว่า ผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นยังถูกกักขังแทนค่าปรับอยู่ ก็ให้การกักขังนั้นสิ้นสุดลง และค่าปรับที่ยังไม่ได้ชำระ ให้เป็นอันพับไป
มาตรา๔๗บรรดาความผิดอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัตินี้ หากมีการบันทึกประวัติอาชญากรรมของบุคคลผู้กระทำความผิดหรือมีการบันทึกไว้ในฐานะเป็นประวัติอาชญากรรม ให้ประวัตินั้นเป็นอันสิ้นผล และจะนำไปใช้ยันบุคคลนั้นในทางที่เป็นโทษมิได้
เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๓๔ ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจจัดทำหรือจัดเก็บประวัติอาชญากรรมตามวรรคหนึ่งลบข้อมูลความผิดทางอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยของบุคคลที่ถูกบันทึกในประวัติอาชญากรรมสำหรับความผิดนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่ความผิดอาญานั้นเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย
มาตรา๔๘บรรดาความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้มีคำสั่งให้ปรับทางปกครองแล้วก่อนพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง การพิจารณาและการโต้แย้งคำสั่ง รวมทั้งการบังคับชำระค่าปรับ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิดต่อไปจนแล้วเสร็จ
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑ ผู้ใดกระทำความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองก่อนวันพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมิได้มีคำสั่งให้ปรับทางปกครองก่อนวันพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การดำเนินการต่อไป ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี