พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2507 ฉบับที่ 2

พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507

แก้ไข

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2507
เป็นปีที่ 19 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสภาวิจัยแห่งชาติ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1

แก้ไข

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507”

มาตรา 2

แก้ไข

[1] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 5  ให้มีสภาวิจัยแห่งชาติประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน และกรรมการอื่น ๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งขึ้น ให้เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงและปลัดบัญชาการเป็นที่ปรึกษาสภาวิจัยแห่งชาติ”

มาตรา 4

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 6 สภาวิจัยแห่งชาติมีหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยตามที่คณะรัฐมนตรีจะได้มอบหมาย และพิจารณาข้อเสนอของสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติเกี่ยวกับการที่สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติเสนอตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้วทำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรี กับมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในกิจการเกี่ยวกับการวิจัยตามที่นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาดำเนินการ”

มาตรา 5

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 7 กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งคณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้
  เมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติแล้ว และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นอีก ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว”

มาตรา 6

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 11 ให้มีสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ และให้มีเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติคนหนึ่งและรองเลขาธิการสองคน เลขาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไป ซึ่งราชการของสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ และบังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ
  สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
  (1) เสนอแนะแนวนโยบายและโครงการส่งเสริมการวิจัยซึ่งเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีต่อสภาวิจัยแห่งชาติ
  (2) พิจารณาจัดตั้งสาขาวิชาการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในมาตรา 17 แล้วเสนอต่อสภาวิจัยแห่งชาติ
  (3) พิจารณาวิธีการหาทุนบำรุงการวิจัยและเสนอแนะสภาวิจัยแห่งชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งทุนเพื่อการวิจัย
  (4) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานการวิจัยต่อสภาวิจัยแห่งชาติ
  (5) ส่งเสริมและจัดให้มีการวิจัยและสถาบันการวิจัย
  (6) ประสานงานวิจัยของสาขาวิชาการต่าง ๆ
  (7) ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยส่วนราชการและส่วนบุคคล
  (8) จัดให้มีทะเบียนนักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาการต่าง ๆ
  (9) มอบหมายให้ผู้รับมอบปฏิบัติการเฉพาะอย่างเกี่ยวกับการวิจัย
  (10) พิจารณาจัดตั้งงบประมาณเกี่ยวกับการวิจัย
  (11) จัดสรรเงินอุดหนุนและเงินรางวัลเกี่ยวกับการวิจัย
  (12) ติดต่อและส่งเสริมการร่วมมือกับสถาบันการวิจัยและนักวิจัยในต่างประเทศ
  (13) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติหรือสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ”


มาตรา 7

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 13 ให้มีกรรมการบริหารคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการสาขาวิชาการทุกสาขา เลขาธิการและรองเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ และบุคคลอื่นไม่เกินห้าคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ มีอำนาจและหน้าที่ตามที่สภาวิจัยแห่งชาติจะได้มอบหมาย และกำกับการปฏิบัติงานของสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติตามมาตรา 11 วรรคสอง
  ให้คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการประธานกรรมการอยู่ในตำแหน่งได้คราวละสามปี ประธานกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกอีกได้
   ให้คณะกรรมการบริหารที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่”

มาตรา 8

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

   “มาตรา 14 กรรมการบริหารซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
   เมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารแล้ว และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการบริหารขึ้นอีก ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการบริหารซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว”


มาตรา 9

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 18  คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสาขาวิชาการจากกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติตามความเหมาะสม
  ให้คณะกรรมการสาขาวิชาการแต่ละสาขาคัดเลือกประธานกรรมการหนึ่งคน”

มาตรา 10

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

   “มาตรา 19 ประธานกรรมการและกรรมการสาขาวิชาการอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
   ประธานกรรมการและกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอีกได้”

มาตรา 11

แก้ไข

ให้ยกเลิกความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 23 ในกรณีที่สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติมอบหมายให้ผู้รับมอบปฏิบัติการใด ๆ สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติจะโอนเงินไปตั้งจ่ายทางผู้รับมอบเช่นว่านั้นเพื่อใช้จ่ายตามรายการที่อนุมัติในงบประมาณของสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติก็ได้”


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ

แก้ไข
   เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดหน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติและสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำต้องแก้ไขพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 เสียใหม่

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81/ตอนที่ 88/หน้า 616/15 กันยายน 2507