พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
สัญชาติ (ฉบับที่ ๕)
พ.ศ. ๒๕๕๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๕"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "คนไทยพลัดถิ่น" ระหว่างบทนิยามคำว่า "คนต่างด้าว" และบทนิยามคำว่า "คณะกรรมการ" ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘

""คนไทยพลัดถิ่น" หมายความว่า ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๙/๑ มาตรา ๙/๒ มาตรา ๙/๓ มาตรา ๙/๔ มาตรา ๙/๕ มาตรา ๙/๖ และมาตรา ๙/๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘

"มาตรา ๙/๑ ให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ประกอบด้วย

(๑)ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ

(๒)ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(๓)ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องมีนักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมการปกครองแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองอีกสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา ๙/๒ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙/๑ (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา ๙/๓ ให้คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)พิจารณาและให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น

(๒)เสนอแนะและให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงหรือการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๒๗

(๓)ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๙/๔ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการประชุมของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นโดยอนุโลม

มาตรา ๙/๕ ผู้ใดอ้างว่า เป็นคนไทยพลัดถิ่น ประสงค์จะได้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอแล้ว ให้เสนอคำขอนั้นต่อคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเพื่อพิจารณา

การพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๙/๖ ให้ผู้ซึ่งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

บุตรของคนไทยพลัดถิ่นซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เว้นแต่ผู้นั้นถือสัญชาติของประเทศอื่น

มาตรา ๙/๗ ให้นำมาตรา ๙/๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับบุตรของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งบุตรนั้นได้รับสัญชาติไทยมาก่อนที่คนไทยพลัดถิ่นได้รับการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา ๙/๖ วรรคหนึ่ง"

มาตราให้ถือว่า คนไทยพลัดถิ่นที่ได้แปลงสัญชาติเป็นไทยหรือได้สัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้มีสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย

มาตราในวาระเริ่มแรก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตราการดำเนินการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๙/๕ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตราให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขปัญหาสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นซึ่งเป็นคนเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย โดยให้สัญชาติไทยโดยการเกิดแก่บุคคลดังกล่าวที่ยังไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และเพื่อให้เป็นไปตามหลักสืบสายโลหิตตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ จึงกำหนดให้บุตรของคนไทยพลัดถิ่นที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยพระราชบัญญัตินี้ ที่ไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น หรือได้สัญชาติไทยแล้ว ก็ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"