พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๕๑

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพ.ศ. ๒๕๕๑

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๕๑”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” หมายความว่า วิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม” หมายความว่า วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขานิวเคลียร์ สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์และการควบคุมมลพิษ สาขาการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย และสาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์และการใช้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

“ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมจากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นสมาชิกขององค์กรตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น และผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศหรือระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

มาตรา ๕ ให้วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับการส่งเสริม ครอบคลุมกลุ่มวิชา ดังต่อไปนี้

(๑) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

(๒) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

(๓) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร

(๔) กลุ่มวิชาสหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใดอยู่ในกลุ่มวิชาใดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา ๖ การกำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเพิ่มเติมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แก้ไข

มาตรา ๘ ให้มีสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคล

มาตรา ๙ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยการศึกษา การค้นคว้าการทดลอง การวิเคราะห์ และการวิจัย

(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสเข้าเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๓) ส่งเสริมความสามัคคี และผดุงเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

(๔) ควบคุมดูแลความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

(๕) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ความรู้ และสร้างจิตสำนึกทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน

(๖) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาด้านวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มาตรา ๑๐ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กระทำกิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรา ๙

(๒) กำหนดแผนการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นที่สนใจแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๓) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

(๔) พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

(๕) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดกลุ่มวิชาของวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรา ๕ และการเพิ่มเติมสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามมาตรา ๖

(๖) ออกข้อบังคับว่าด้วย

(ก) การรับสมัครสมาชิก ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสมาชิก
(ข) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก
(ค) การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต
(ง) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓
(จ) จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
(ฉ) การอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณ
(ช) มาตรฐานการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม
(ซ) การฝึกอบรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(ฌ) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา ๓๙
(ญ) การประชุมของที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(ฎ) การเลือกตั้ง การสรรหา และการแต่งตั้งบุคคลตามมาตรา ๒๗
(ฏ) กิจการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

ข้อบังคับนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

(๗) ดำเนินกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มาตรา ๑๑ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

(๓) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๔) ผลประโยชน์จากการจัดการเงินและทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)

(๖) รายได้อื่น ๆ

มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒ สมาชิก

แก้ไข

มาตรา ๑๓ สมาชิกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสามประเภท ดังนี้ (๑) สมาชิกสามัญ

(๒) สมาชิกวิสามัญ

(๓) สมาชิกกิตติมศักดิ์

มาตรา ๑๔ สมาชิกสามัญต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ หรือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

(๒) มีสัญชาติไทย

(๓) มีความรู้ในวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้รับปริญญาประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรเทียบเท่าปริญญาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับรอง

(๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(๕) ไม่เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(๖) ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคตามที่กำหนดในข้อบังคับสมาชิกวิสามัญต้องเป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์หลักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรงหรือเกี่ยวข้องกับงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับ สมาชิกกิตติมศักดิ์ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่งตั้ง

มาตรา ๑๕ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก หรือมีการเลิกสมาคม

(๓) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ สำหรับกรณีสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ

(๔) ที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีมติเพิกถอนการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

(๕) ไม่ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง หรือค่าธรรมเนียม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(๖) สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีมติเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๕๗

มาตรา ๑๖ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกมีดังต่อไปนี้

(๑) แสดงความคิดเห็นในการประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๒) ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๓) ขอให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด อันเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

(๕) ชำระค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(๖) เลือก รับเลือกตั้ง หรือรับแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาชิกวิสามัญหรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ เว้นแต่ สิทธิและหน้าที่ตาม (๒) (๓) และ (๖)

มาตรา ๑๗ ให้มีการประชุมสมาชิกเป็นการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้งการประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นการประชุมใหญ่วิสามัญ

มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่จำเป็นสมาชิกสามัญอาจขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ ในการนี้ ให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันรับคำร้องขอ มาตรา ๑๙ ในการประชุมใหญ่สามัญและการประชุมใหญ่วิสามัญ ถ้าสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบจำนวนสองร้อยคน และการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิกให้งดประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้ร้องขอ ให้เลื่อนการประชุมนั้นออกไปโดยให้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งภายในสี่สิบห้าวัน และการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ไม่จำต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมครบจำนวนสองร้อยคน

ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญหรือประชุมใหญ่วิสามัญในฐานะเป็นสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุม

สมาชิกรายหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ในการประชุมใหญ่สามัญและการประชุมใหญ่วิสามัญ ให้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในที่ประชุม

ถ้านายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและอุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

มาตรา ๒๐ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี กิจการอันพึงกระทำได้แก่

(๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนการดำเนินงานประจำปีของคณะกรรมการ

(๒) พิจารณาอนุมัติงบดุลประจำปีของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๓) รับรองรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา

(๔) ตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี

หมวด ๓ คณะกรรมการ

แก้ไข

มาตรา ๒๑ ให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกอบด้วย

(๑) นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งสมาชิกเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญเป็นประธานกรรมการ

(๒) กรรมการซึ่งสมาชิกเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ จำนวนสิบสองคนและต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมอย่างน้อยหนึ่งในสาม

(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการตาม (๑) (๒) และ (๓) จากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนสี่คน

มาตรา ๒๒ เมื่อมีนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการตามมาตรา ๒๑ แล้วให้สภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการภายในสามสิบวัน และให้ถือว่าวันประชุมดังกล่าวเป็นวันเริ่มวาระของการอยู่ในตำแหน่งกรรมการ

มาตรา ๒๓ ให้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลือกกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒) เพื่อดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการ และเหรัญญิก ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอำนาจให้อุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการ และเหรัญญิกพ้นจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด

มาตรา ๒๔ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

(๒) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

มาตรา ๒๕ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒) และ (๔) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ให้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๕

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔

(๕) รัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๖๒

(๖) สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำ นวนสมาชิกที่มาประชุม เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

(๗) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้นำเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งตาม (๑) (๒) (๕) (๖) และ (๗) มาใช้บังคับแก่กรรมการตามมาตรา ๒๑ (๔) ด้วย

มาตรา ๒๖ เมื่อนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒) หรือ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้มีการเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือเลือกตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒) หรือแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๔) แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าวาระของผู้นั้นเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทนหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทนในกรณีที่ตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือกรรมการว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

มาตรา ๒๗ การเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒) การสรรหากรรมการตามมาตรา ๒๑ (๔) การแต่งตั้งอุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการ และเหรัญญิกตามมาตรา ๒๓ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารและดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๒) กำหนดแผนการดำเนินงานและงบประมาณของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๓) สอดส่องดูแลการดำเนินงานของสมาชิกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๔) ออกระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล การเงิน การบัญชี การดำเนินงานของสำนักงานสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการใด ๆ ตามที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

(๕) วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณตามมาตรา ๕๕

มาตรา ๒๙ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการ และเหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอำนาจหน้าที่

(ก) เป็นผู้แทนสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
(ข) เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ
(ค) ดำเนินกิจการของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๒) อุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามที่นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมอบหมายและเป็นผู้ทำการแทนนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

(๓) เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่

(ก) กำกับการปฏิบัติงานของสำนักงานสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(ข) เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(ค) ดำเนินการตามที่นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมอบหมาย

(๔) เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการบัญชี การเงินและการงบประมาณ ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจมอบหมายให้อุปนายกสภาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการ เลขาธิการ หรือเจ้าหน้าที่ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด ๔ การดำเนินการของคณะกรรมการ

แก้ไข

มาตรา ๓๐ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ให้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสภาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอุปนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการ ที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๓๑ สภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเข้าร่วมการประชุม และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังสภาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเรื่องใด ๆ ก็ได้ มาตรา ๓๒ ในการดำเนินการของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการดำเนินงาน ประจำปีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๙ และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณชน ประกอบด้วย เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว จึงจะดำเนินงานได้

ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานของคณะกรรมการในปีที่ล่วงมา คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย พร้อมด้วยงบดุลและบัญชีรายได้และรายจ่ายประจำปีซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรอง เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน และให้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับรองแล้ว

มาตรา ๓๓ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องใด ตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ การประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๔ ให้มีสำนักงานสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำหน้าที่ธุรการต่าง ๆ ให้แก่คณะกรรมการและสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มาตรา ๓๕ ให้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงาน สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมติของคณะกรรมการจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดค่าจ้าง และเงื่อนไขอื่นในการทำงานของ หัวหน้าสำนักงานสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๖ หัวหน้าสำนักงานสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ควบคุมรับผิดชอบงานธุรการทั่วไปของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๒) บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นตรง ต่อเลขาธิการ

(๓) ดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ได้รับอนุญาต และทะเบียนอื่น ๆ ของสภาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๔) ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือเลขาธิการมอบหมาย

หมวด ๕ การกำหนดข้อบังคับของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แก้ไข

มาตรา ๓๗ ร่างข้อบังคับจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะกรรมการหรือสมาชิกสามัญ การเสนอร่างข้อบังคับของสมาชิกจะกระทำได้เมื่อมีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า สองร้อยคนรับรอง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับที่มีการเสนอตามความเหมาะสมแก่กรณี การพิจารณาร่างข้อบังคับจะเสนอ

เป็นวาระจรไม่ได้แต่ต้องกำหนดเป็นวาระในหนังสือนัดประชุมให้ชัดเจนและแนบร่างข้อบังคับที่เสนอ ไปพร้อมกันด้วย

มาตรา ๓๘ เมื่อที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีมติให้ความเห็นชอบ ร่างข้อบังคับด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุม ให้นายกสภาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอร่างข้อบังคับต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจยับยั้ง ร่างข้อบังคับนั้นได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด ในกรณีที่มิได้ยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ให้ถือว่าสภานายกพิเศษ แห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับนั้น ถ้าสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ การยับยั้ง ในการประชุมครั้งหลังนี้ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิก ที่มาประชุมครั้งก่อน ให้ถือว่าร่างข้อบังคับนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว

หมวด ๖ การส่งเสริมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แก้ไข

มาตรา ๓๙ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและผู้ประกอบวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมอาจได้รับสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าศึกษาอบรมเกี่ยวกับวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีจัดขึ้น

(๒) ได้รับทุนการศึกษา การค้นคว้า การทดลอง การวิเคราะห์ และการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

(๓) ได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมประชุมและการสมัครเป็นสมาชิกองค์การวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ หน้า

(๔) สิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

การขอรับสิทธิประโยชน์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน ข้อบังคับ

มาตรา ๔๐ เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเข้าศึกษาอบรมเกี่ยวกับวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี

การเข้าศึกษาอบรม สถาบันที่จัดการศึกษาอบรม หลักสูตร ค่าใช้จ่าย และการออกหนังสือรับรอง ว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาอบรม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด ๗ การควบคุมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

แก้ไข

มาตรา ๔๑ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมหรือ กระทำด้วยวิธีใด ๆ ที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคุมโดยมิได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เว้นแต่เป็นการกระทำ ในอำนาจหน้าที่ในฐานะข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มาตรา ๔๒ การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต และการเพิกถอน ใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๔๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด ในข้อบังคับ

ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นสมาชิกสามัญของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และถ้าขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

มาตรา ๔๔ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมให้เข้ารับการฝึกอบรม การปฏิบัติงานเกี่ยวกับวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเพิ่มเติมตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๔๕ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมต้องประพฤติตน ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมและบุคคลซึ่งได้รับ ความเสียหาย มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมซึ่งประพฤติ ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยแจ้งเรื่องต่อสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ประกอบวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมผู้กล่าวหาหรือผู้ได้รับความเสียหายรู้เรื่องการประพฤติ ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติ ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

การถอนเรื่องกล่าวหาที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๗ เมื่อสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับเรื่องกล่าวหาตามมาตรา ๔๖ แล้ว ให้เลขาธิการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณโดยไม่ชักช้า

มาตรา ๔๘ ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ประกอบด้วยประธานกรรมการจรรยาบรรณ และกรรมการจรรยาบรรณจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งประธานกรรมการจรรยาบรรณและกรรมการจรรยาบรรณตามมติของ ที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากสมาชิกสามัญ และต้องมีคุณสมบัติและ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา ๔๙ คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ วิธีพิจารณาและวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๕๐ คณะกรรมการจรรยาบรรณอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการในเรื่องใดแทนคณะกรรมการจรรยาบรรณได้ การประชุมของคณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณให้นำความในมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๕๑ การดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ให้นำความในมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๕๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการ จรรยาบรรณ ให้กรรมการจรรยาบรรณและอนุกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา แต่ถ้า เป็นการมีคำสั่งต่อบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมจะต้องได้รับ ความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือผู้ซึ่งสภานายกพิเศษ แห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมอบหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจรรยาบรรณหรืออนุกรรมการ จรรยาบรรณเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๕๓ ให้ประธานกรรมการจรรยาบรรณมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมทั้งส่งสำเนา เรื่องที่กล่าวหาให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมซึ่งถูกกล่าวหาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า สิบห้าวันก่อนเริ่มพิจารณา ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิทำคำชี้แจงหรือนำหลักฐานใด ๆ ส่งให้คณะกรรมการจรรยาบรรณหรือ คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณซึ่งทำหน้าที่สอบสวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ประธานกรรมการจรรยาบรรณ หรือภายในเวลาที่คณะกรรมการจรรยาบรรณกำหนด

มาตรา ๕๔ คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ยกข้อกล่าวหา ในกรณีที่วินิจฉัยว่าผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม มิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา

(๒) ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ในกรณีที่วินิจฉัยว่าผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีควบคุมได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา

(ก) ว่ากล่าวตักเตือน
(ข) ภาคทัณฑ์
(ค) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสองปี
(ง) เพิกถอนใบอนุญาต

มาตรา ๕๕ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมซึ่งคณะกรรมการ จรรยาบรรณวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๕๔ (๒) อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดต่อคณะกรรมการได้ภายใน สามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้ทำเป็นคำสั่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาดและให้ถือเป็นที่สุด

มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมซึ่งอยู่ในระหว่าง ถูกพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดกระทำด้วยวิธีใด ๆ ที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะประกอบวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมนับแต่วันที่ทราบคำสั่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้พักใช้ใบอนุญาต

มาตรา ๕๗ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่ง พักใช้ใบอนุญาตผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๕๖ ให้คณะกรรมการมีมติเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นั้น นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๕๘ ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมซึ่งถูกสั่งเพิกถอน ใบอนุญาตจะยื่นขอรับใบอนุญาตอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

หมวด ๘ การกำกับดูแล

แก้ไข

มาตรา ๕๙ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำกับดูแลการดำเนินงานของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการประกอบ วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

(๒) สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

(๓) สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และจะให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมของคณะกรรมการก็ได้

(๔) สั่งเป็นหนังสือให้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระงับหรือแก้ไขการกระทำใด ๆ ที่ปรากฏว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กฎหมาย หรือข้อบังคับ

มาตรา ๖๐ เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งของรัฐมนตรีตามมาตรา ๕๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา และมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานในสำนักงาน สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือในสถานที่ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคุมได้ในระหว่างเวลาทำการ หรือให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องชี้แจงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ร้องขอ

ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ตามสมควร

มาตรา ๖๑ ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคล ที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๖๒ เมื่อปรากฏว่าสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ รัฐมนตรีตามมาตรา ๕๙ หรือมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่านายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกรรมการผู้ใดกระทำการอันผิดวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือ กระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงแก่สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้รัฐมนตรี โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกรรมการ ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง

ในกรณีที่รัฐมนตรีจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีควบคุมจำนวนห้าคนเป็นคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนต้องรีบทำ การสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการ

คำสั่งของรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด

มาตรา ๖๓ ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา ๖๒ ให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเป็นกรรมการชั่วคราวแทน กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันกับวันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการชั่วคราวตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเพียงเท่าที่จำเป็นและดำเนินการ ให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามมาตรา ๒๑ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการชั่วคราว

เมื่อกรรมการใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว ให้กรรมการชั่วคราวซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง

หมวด ๙ บทกำหนดโทษ

แก้ไข

มาตรา ๖๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๕๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณหรือคณะอนุกรรมการ จรรยาบรรณตามมาตรา ๕๒ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล

แก้ไข

มาตรา ๖๖ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง คณะกรรมการคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการก่อตั้ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา ๖๗ ให้คณะกรรมการก่อตั้งตามมาตรา ๖๖ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) ออกระเบียบชั่วคราวว่าด้วยการรับสมัครสมาชิกและค่าลงทะเบียนสมาชิกและดำเนินการ รับสมัครสมาชิกภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

(๒) จัดทำระเบียบชั่วคราวว่าด้วยการเลือกตั้ง การสรรหา และการแต่งตั้งบุคคลตามมาตรา ๒๗

(๓) จัดให้มีการประชุมสมาชิกภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ครบกำ หนดระยะเวลา หนึ่งร้อยแปดสิบวันตาม (๑) เพื่ออนุมัติระเบียบชั่วคราวตาม (๒)

(๔) เลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามมาตรา ๒๑ (๑) กรรมการ ตามมาตรา ๒๑ (๒) และสรรหากรรมการตามมาตรา ๒๑ (๔) ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ที่ประชุมสมาชิกอนุมัติระเบียบชั่วคราวตาม (๓)

(๕) ปฏิบัติการอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการก่อตั้งพ้นจากหน้าที่ เมื่อได้มาซึ่งกรรมการตาม (๔) ครบถ้วนแล้ว

มาตรา ๖๘ ในวาระเริ่มแรก มิให้นำมาตรา ๒๔ (๑) และ (๓) มาใช้บังคับกับการเลือกตั้ง นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการตามมาตรา ๒๑ (๒)

มาตรา ๖๙ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ ดำเนินการขอรับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในหนึ่งปีนับแต่ วันที่มีข้อบังคับว่าด้วยการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวมิให้นำมาตรา ๔๑ มาใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

(๑) ใบอนุญาต ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท

(๒) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท

(๓) การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันความเจริญก้าวหน้า ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาและขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีที่มีใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ สมควรจัดตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการประกอบวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อ้างอิง

แก้ไข

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๓๑ ก ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ หน้า ๔-๒๕


 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"