พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช 2477

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรจะแก้ไขบทบัญญัติบางมาตราแห่งกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช ๒๔๗๖
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๒)”[1]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช ๒๔๗๖
มาตรา ๔ ความในมาตรา ๓๖๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา ให้เป็นดั่งนี้
“มาตรา ๓๖๘ ผู้ใดยังขืนเป็นสมาชิกของสมาคมอยู่ ทั้งที่ตนรู้ว่า สมาคมนั้นได้เลิกกันแล้วโดยคำสั่งศาล ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดยังขืนเป็นผู้จัดการของสมาคมเช่นนั้นอีกต่อไป ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินปีหนึ่ง หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ประกาศมาณวันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชชกาลปัจจุบัน
- นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
- นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช ๒๔๗๖ มาตรา ๓ มีความว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๖๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาชญา และให้ใช้ความดั่งต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๖๘ ผู้ใดยังขืนเป็นสมาชิกของสมาคมอยู่ ทั้งที่ตนรู้ว่า สมาคมนั้นได้เลิกกันแล้วโดยคำสั่งศาล หรือโดยนายทะเบียนขีดชื่อสมาคมออกจากทะเบียน ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน
ผู้ใดยังขืนเป็นผู้จัดการของสมาคมเช่นนั้นอีกต่อไป ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินปีหนึ่ง หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน”
บรรณานุกรม แก้ไข
- "พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช 2477". (2477, 2 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 51, ตอน 0 ก. หน้า 438–440.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"