พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 10) พุทธศักราช 2484
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญาบางมาตรา
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉะบับที่ ๑๐) พุทธศักราช ๒๔๘๔”
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยกเลิกความในหมวดที่ ๓ ความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร ของส่วนที่ ๑ ว่าด้วยความผิดประทุษฐร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอาณาจักร แห่งกฎหมายลักษณะอาญา ตั้งแต่มาตรา ๑๐๕ ถึงมาตรา ๑๑๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ความผิดฐานขบถ
ภายนอกพระราชอาณาจักร
มาตรา ๑๐๕ ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป มีความผิด ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา ๑๐๕ ทวิ คนไทยคนใดกระทำการรบต่อประเทศ หรือเข้าร่วมเป็นข้าศึกของประเทศ มีความผิด ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา ๑๐๕ ตรี ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันเป็นการอุปการะแก่การปฏิบัติการรบของข้าศึก มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
ถ้าการอุปการะนั้นเป็นการ
(๑)ทำให้ป้อม ค่าย สนามบิน ยานรบ ยานพาหนะ ทางคมนาคม สิ่งที่ใช้ในการสื่อสาร อาวุธยุทธภัณฑ์ สะเบียงอาหาร อู่เรือ อาคาร หรือสิ่งอื่นใดสำหรับใช้เพื่อการสงคราม เสียไป ใช้ไม่ได้ หรือตกไปอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก
(๒)ยุยงทหาร ตำรวจ หรือเจ้าพนักงาน ให้ละเลยหน้าที่ ให้ขาดหนี หรือให้ละเมิดวินัย
(๓)กระทำจารกรรม นำ หรือแนะทางให้ข้าศึก หรือ
(๔)กระทำให้ข้าศึกได้เปรียบในการยุทธ
ผู้กระทำมีความผิด ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา ๑๐๕ จัตวา ผู้ใดรับหรือตกลงจะรับทรัพย์หรือประโยชน์อย่างใด ๆ สำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากต่างประเทศ เพื่อกระทำการใด ๆ อันเป็นปฏิปักข์ต่อรัฐ มีความผิด ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ผู้ให้หรือตกลงจะให้ทรัพย์หรือประโยชน์ มีความผิด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา ๑๐๕ เบ็ญจ ผู้ใดปลอม กักไว้ ซ่อนเร้น ปิดบัง ยักย้าย หรือทำให้ศูนย์ไปซึ่งหนังสือ แบบ หรือเอกสารใด ๆ อันเกี่ยวกับส่วนได้เสียในทางการเมืองระหว่างประเทศ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงห้าพันบาท
มาตรา ๑๐๖ ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อความ หนังสือ หรือสิ่งใด ๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๑๐๗ ผู้ใดเผยข้อความ หนังสือ หรือสิ่งใด ๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถ้าความผิดนั้นได้กระทำในระหว่างที่ประเทศอยู่ในการรบหรือการสงคราม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
ถ้าความผิดดั่งกล่าวมาในสองวรรคก่อนได้กระทำเพื่อให้รัฐต่างประเทศได้ประโยชน์ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา ๑๐๘ ผู้ใดได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้กระทำกิจการของรัฐกับรัฐบาลต่างประเทศ ไม่ปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย และการปฏิบัตินั้นกระทำไปโดยทุจจริต มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท
มาตรา ๑๐๙ ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงห้าพันบาท
ถ้าเหตุร้ายเกิดขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา ๑๑๐ ผู้ใดตระเตรียมหรือพยายามกระทำความผิดใด ๆ ในหมวดนี้ มีความผิด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
มาตรา ๑๑๑ ผู้ใดเป็นผู้สมรู้ในความผิดใด ๆ ในหมวดนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ๆ”
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
เนื่องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายลักษณะอาญาปัจจุบันเกี่ยวกับความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร อันอยู่ในหมวดที่ ๓ ของส่วนที่ ๑ ว่าด้วยความผิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๐๕ ถึงมาตรา ๑๑๑ นั้น มีข้อความยังไม่บริบูรณ์ เช่น ในเวลารบพุ่ง ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่กระทำไว้ต่อทางราชการ หรือเข้ารับผลประโยชน์จากต่างประเทศ และดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายของรัฐ เป็นต้น ยังมิได้บัญญัติให้ถือเป็นความผิดโดยฉะเพาะ ฉะนั้น ในการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉะบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้ เพื่อแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักรให้บริบูรณ์ และวางโทษให้หนักขึ้น สมกับที่เป็นความผิดอย่างร้ายแรง
บรรณานุกรม
แก้ไข- "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 10) พุทธศักราช 2484". (2484, 11 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 58, ตอน 0 ก. หน้า 1136–1149.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"