พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567

สารบัญ
พระราชบัญญัติ
คำปรารภ
บททั่วไป
  1. นามพระราชบัญญัติ
  2. วันเริ่มใช้บังคับ
การแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 1
การแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 5
  1. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1435
  2. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1437
  3. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1439
  4. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1440
  5. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1441
  6. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1442–1443
  7. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1445–1446
  8. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1447/1
  9. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1448–1450
  10. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1452–1453
  11. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1458
  12. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1460
  13. การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อหมวด 3 แห่งลักษณะ 1
  14. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1461
  15. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1462
  16. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1463
  17. การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อหมวด 4 แห่งลักษณะ 1
  18. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1465
  19. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1469–1470
  20. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1475
  21. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1476
  22. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1476/1
  23. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1477
  24. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1479
  25. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1481
  26. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1482–1484/1
  27. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1485
  28. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1486–1487
  29. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1488–1489
  30. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1490
  31. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1491
  32. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1492
  33. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1492/1
  34. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1493
  35. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1498
  36. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1499
  37. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1504
  38. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1508
  39. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1510
  40. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1515
  41. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1516
  42. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1517
  43. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1520
  44. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1522
  45. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1523
  46. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1530
  47. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1532–1533
  48. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1536
  49. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1537
  50. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1538
  51. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1539
  52. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1541
  53. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1542–1543
  54. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1544
  55. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1545
  56. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1598/15
  57. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1598/17
  58. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1598/38
การแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 6
บทเฉพาะกาล
หมายเหตุ


เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๘ ก

๒๔ กันยายน ๒๕๖๗
หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๔)
พ.ศ. ๒๕๖๗

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๗"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๔๓ภูมิลำเนาของคู่สมรสได้แก่ถิ่นที่อยู่ที่คู่สมรสอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส เว้นแต่คู่สมรสฝ่ายใดได้แสดงเจตนาใก้ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาแยกต่างหากจากกัน"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙๓/๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๙๓/๒๒อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่สมรส ถ้าจะครบกำหนดก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนด จนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง"

มาตราให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๔๓๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๓๕การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลและบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๓๗การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น

เมื่อหมั้นแล้ว ให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายผู้หมั้นให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายผู้รับหมั้น แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ผู้รับหมั้นยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ผู้รับหมั้น หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายผู้รับหมั้นต้องรับผิดชอบ ทำให้ผู้หมั้นไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น ฝ่ายผู้หมั้นเรียกสินสอดคืนได้

ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๑๒ ถึงมาตร ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยลาภมิควรได้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๓๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๓๙เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายผู้รับหมั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายผู้หมั้นด้วย"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๔๐ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(๑)ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งผู้หมั้นหรือผู้รับหมั้นนั้น

(๒)ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(๓)ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

ในกรณีที่ผู้รับหมั้นเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้นนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่ผู้รับหมั้นพึงได้รับ หรือศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้นนั้นก็ได้"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๔๑ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าผู้หมั้นหรือผู้รับหมั้นตาย ผู้รับหมั้นหรือฝ่ายผู้รับหมั้นไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายผู้หมั้น"

มาตรา๑๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๒ และมาตรา ๑๔๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๔๒ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ผู้รับหมั้น ทำให้ผู้หมั้นไม่สมควรสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น ผู้หมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้ผู้รับหมั้นคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้น

มาตรา๑๔๔๓ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ผู้หมั้น ทำให้ผู้รับหมั้นไม่สมควรสมรสกับผู้หมั้นนั้น ผู้รับหมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ผู้หมั้น"

มาตรา๑๑ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๕ และมาตรา ๑๔๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๔๕คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน หรือผู้ซึ่งกระทำกับคู่หมั้นของตนเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้นหรือคู่หมั้นของตน โดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้วตามมาตรา ๑๔๔๒ หรือมาตรา ๑๔๔๓ แล้วแต่กรณี

มาตรา๑๔๔๖คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น"

มาตรา๑๒ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๑๔๔๗/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๕ และมาตรา ๑๔๔๖ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผู้หมั้นหรือผู้รับหมั้นรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทน และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ผู้อื่นนั้นได้กระทำการดังกล่าว"

มาตรา๑๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๘ มาตรา ๑๔๔๙ และมาตรา ๑๔๔๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๔๘การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

มาตรา๑๔๔๙การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา๑๔๕๐บุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิตโดยไม่คำนึงว่าะจเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่"

มาตรา๑๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๕๒ และมาตรา ๑๔๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๕๒บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา๑๔๕๓หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่

(๑)คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

(๒)สมรสกับคู่สมรสเดิม

(๓)มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ

(๔)มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้"

มาตรา๑๕ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๕๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๕๘การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย"

มาตรา๑๖ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๔๖๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๖๐เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้เพราะบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวะการรบหรือสงคราม ถ้าบุคคลทั้งสองนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทำการสมรสของบุคคลทั้งสองนั้นไว้เป็นหลักฐาน และต่อมาบุคคลทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทำการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทำการสมรส และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส ให้ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทำการสมรสต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนแล้ว"

มาตรา๑๗ให้ยกเลิกชื่อหมวด ๓ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"หมวด ๓
ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส"

มาตรา๑๘ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๖๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๖๑คู่สมรสต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส

คู่สมรสต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน"

มาตรา๑๙ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๖๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๖๒ในกรณีที่คู่สมรสไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรสโดยปกติสุขได้ หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ไม่สามารถจะอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรสโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุกอาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งเสียให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้"

มาตรา๒๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๖๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๖๓ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้"

มาตรา๒๑ให้ยกเลิกชื่อหมวด ๔ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"หมวด ๔
ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส"

มาตรา๒๒ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๔๖๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๖๕ถ้าคู่สมรสมิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้"

มาตรา๒๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๖๙ และมาตรา ๑๔๗๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๖๙สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่คู่สมรสได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นคู่สมรสกันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นคู่สมรสกันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นคู่สมรสกันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา๑๔๗๐ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส"

มาตรา๒๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๗๕ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้"

มาตรา๒๕ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๗๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๗๖คู่สมรสต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(๒)ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(๓)ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(๔)ให้กู้ยืมเงิน

(๕)ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(๖)ประนีประนอมยอมความ

(๗)มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(๘)นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง"

มาตรา๒๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๗๖/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๗๖/๑คู่สมรสจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔๖๕ และมาตรา ๑๔๖๖ ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส"

มาตรา๒๗ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๗๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๗๗คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่คู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกัน"

มาตรา๒๘ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๗๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๗๙การใดที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำ ซึ่งต้องรับความยินยอมร่วมกัน และถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ"

มาตรา๒๙ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๘๑คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้"

มาตรา๓๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๒ มาตรา ๑๔๘๓ มาตรา ๑๔๘๔ และมาตรา ๑๔๘๔/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๘๒ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวตามสมควรแก่อัตภาพได้ ค่าใช้จ่ายในการนี้ย่อมผูกพันสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวเป็นที่เสียหายถึงขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจนี้เสียได้

มาตรา๑๔๘๓ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว ถ้าคู่สมรสฝ่ายนั้นจะกระทำหรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการสินสมรสอันพึงเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายถึงขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้กระทำการนั้นได้

มาตรา๑๔๘๔ถ้าคู่สมรสฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส

(๑)จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด

(๒)ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง

(๓)มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส

(๔)ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(๕)มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส

อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ

มาตรา๑๔๘๔/๑ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจในการจัดการสินสมรสของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๑๔๘๒ มาตรา ๑๔๘๓ หรือมาตรา ๑๔๘๔ ถ้าต่อมาเหตุแห่งการนั้นหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ห้ามหรือจำกัดอำนาจจัดการสินสมรสนั้นได้ ในการนี้ศาลจะมีคำสั่งใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้"

มาตรา๓๑ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๘๕คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้ ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า"

มาตรา๓๒ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๖ และมาตรา ๑๔๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๘๖เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดตามความในมาตรา ๑๔๘๒ วรรคสอง มาตรา ๑๔๘๓ มาตรา ๑๔๘๔ มาตรา ๑๔๘๔/๑ หรือมาตรา ๑๔๘๕ อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องขอ หรือตามมาตรา ๑๔๙๑ มาตรา ๑๔๙๒/๑ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๑๗ หรือเมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส

มาตรา๑๔๘๗ในระหว่างที่เป็นคู่สมรสกัน ฝ่ายใดจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เว้นแต่เป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินในคดีที่ฟ้องร้องเพื่อการปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาสิทธิระหว่างคู่สมรสตามที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายนี้ หรือที่ประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้คู่สมรสฟ้องร้องกันเองได้ หรือเป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังมิได้ชำระตามคำพิพากษาของศาล"

มาตรา๓๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๘ และมาตรา ๑๔๘๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๘๘ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

มาตรา๑๔๘๙ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย"

มาตรา๓๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๙๐หนี้ที่คู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(๑)หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(๒)หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(๓)หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งคู่สมรสทำด้วยกัน

(๔)หนี้ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน"

มาตรา๓๕ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๙๑ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น"

มาตรา๓๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๙๒เมื่อได้แยกสินสมรสตามมาตรา ๑๔๘๔ วรรคสอง มาตรา ๑๔๙๑ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๑๗ วรรคสองแล้ว ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา ๑๔๗๔ (๒) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายละครึ่ง"

มาตรา๓๗ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๒/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๙๒/๑ในกรณีที่มีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล การยกเลิกการแยกสินสมรสให้กระทำได้เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิก แต่ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายคัดค้านศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสได้ต่อเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว

เมื่อมีการยกเลิกการแยกสินสมรสตามวรรคหนึ่ง หรือการแยกสินสมรสสิ้นสุดลง เพราะคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่ง หรือในวันที่พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไปตามเดิม"

มาตรา๓๘ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๙๓ในกรณีที่ไม่มีสินสมรสแล้ว คู่สมรสต้องช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน"

มาตรา๓๙ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๙๘การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส"

มาตรา๔๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๔๙๙การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ ไม่ทำให้ผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ

การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง"

มาตรา๔๑ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนบุคคลทั้งสองมีอายุครบตามมาตรา ๑๔๔๘ หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิง เมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบตามมาตรา ๑๔๔๘ ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส"

มาตรา๔๒ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕๐๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ในกรณีที่ผู้มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้บุคคลซึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา ๒๘ ขอเพิกถอนการสมรสได้ด้วย แต่ถ้าผู้มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ บุคคลดังกล่าวจะร้องขอเพิกถอนการสมรสก็ได้ แต่ต้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถพร้อมกันด้วย ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลดังกล่าวนั้นเสียด้วย"

มาตรา๔๓ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕๑๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิง เมื่อหญิงมีครรภ์"

มาตรา๔๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๑๕เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว"

มาตรา๔๕ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๑๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๑๖เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(๑)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่สมรส เป็นชู้หรือมีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ หรือกระทำกับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนหรือผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๒)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก)ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข)ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นคู่สมรสของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป

(ค)ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสมาคำนึงประกอบ

อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๓)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔/๑)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นคู่สมรสกันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔/๒)คู่สมรสสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีหรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๕)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๖)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสมาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๗)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๘)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๙)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๑๐)คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีหรือไม่อาจกระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้"

มาตรา๔๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๑๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๑๗เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) และ (๒) ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑๐) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตามมาตรา ๑๕๑๖ (๘) นั้น ถ้าศาลเห็นว่า ความประพฤติของคู่สมรสอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้"

มาตรา๔๗ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๒๐ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้คู่สมรสทำความตกลงเป็นหนังสือว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด"

มาตรา๔๘ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๒๒ถ้าคู่สมรสหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่า คู่สมรสทั้งสองฝ่าย หรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด"

มาตรา๔๙ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๒๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๒๓เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง และจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนองชู้สาว หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้"

มาตรา๕๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๓๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๓๐ขณะคดีฟ้องหย่าอยู่ในระหว่างพิจารณา ถ้าฝ่ายใดร้องขอ ศาลอาจสั่งชั่วคราวให้จัดการตามที่เห็นสมควร เช่น ในเรื่องสินสมรส ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส และการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตร"

มาตรา๕๑ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๓๒ และมาตรา ๑๕๓๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๓๒เมื่อหย่ากันแล้ว ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของคู่สมรส

แต่ในระหว่างสมรส

(ก)ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของคู่สมรสตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า

(ข)ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

มาตรา๑๕๓๓เมื่อหย่ากัน ให้แบ่งสินสมรสให้คู่สมรสแต่ละฝ่ายได้ส่วนเท่ากัน"

มาตรา๕๒ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๓๖เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นคู่สมรสกับชาย หรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรส หรือเคยเป็นคู่สมรส แล้วแต่กรณี"

มาตรา๕๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๓๗ในกรณีที่หญิงทำการสมรสใหม่นั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๓ และคลอดบุตรภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กที่เกิดแต่หญิงนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรสคนใหม่ และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา ๑๕๓๖ ที่ว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรสเดิม มาใช้บังคับ ทั้งนี้ เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่า เด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรสคนใหม่นั้น"

มาตรา๕๔ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๑๕๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๓๘ในกรณีที่บุคคลสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรสซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง

ในกรณีที่หญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่า เด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรสซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง ให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา ๑๕๓๖ มาใช้บังคับ"

มาตรา๕๕ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๓๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๓๙ในกรณีที่สันนิษฐานว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสตามมาตรา ๑๕๓๖ มาตรา ๑๕๓๗ หรือมาตรา ๑๕๓๘ ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์ คือ ระหว่างร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น"

มาตรา๕๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๔๑ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา ๑๕๓๙ ไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว"

มาตรา๕๗ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔๒ และมาตรา ๑๕๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๔๒การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันเด็กเกิด แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่า เด็กมิใช่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นคู่สมรสคนใหม่ตามมาตรา ๑๕๓๗ หรือชายผู้เป็นคู่สมรสในการสมรสครั้งหลังตามมาตรา ๑๕๓๘ ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา ๑๕๓๖ ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ให้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา๑๕๔๓ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสได้ฟ้องคดีที่ไม่รับเด็กเป็นบุตรแล้วและตายก่อนคดีนั้นถึงที่สุด ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็กนั้น จะขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่หรืออาจถูกเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสก็ได้"

มาตรา๕๘ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๑๕๔๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๔๔การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็กอาจฟ้องได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรสจะพึงฟ้องได้

(๒)เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรส

การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๑) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นคู่สมรส การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๒) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก"

มาตรา๕๙ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๑๕๔๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๔๕เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงต่อเด็กว่าตนมิได้เป็นบุตรสืบสายโลหิตของชายผู้เป็นคู่สมรสของมารดาตน เด็กจะร้องขอต่ออัยการให้ฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นก็ได้

การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเด็กได้รู้ข้อเท็จจริงก่อนบรรลุนิติภาวะว่าตนมิได้เป็นบุตรของชายผู้เป็นคู่สมรสของมารดา ห้ามอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าเด็กรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวหลังจากบรรลุนิติภาวะแล้ว ห้ามอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กรู้เหตุนั้น"

มาตรา๖๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๙๘/๑๕ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ และคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา ๑๕๖๗ (๒) และ (๓)"

มาตรา๖๑ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๑๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๙๘/๑๗ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ และศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสอีกฝ่ายเป็นผู้อนุบาล และตั้งบิดา หรือมารดา หรือบุคคลภายนอก เป็นผู้อนุบาล ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้"

มาตรา๖๒ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๕๙๘/๓๘ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณี"

มาตรา๖๓ให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๑๖๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๓)ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามฤดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นคู่สมรส หรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง"

มาตรา๖๔ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๑๖๒๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๑)ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการหย่าโดยยินยอมทั้งสองฝ่าย อันมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ในมาตรา ๑๖๓๗ และ ๑๖๓๘ และโดยเฉพาะ ต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๕๑๓ ถึง ๑๕๑๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ แต่การคิดส่วนแบ่งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสได้สิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น"

มาตรา๖๕ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖๒๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา๑๖๒๘คู่สมรสที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไปซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน"

มาตรา๖๖ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ใช่บังคับแก่กรณีที่มีกฎหมายกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ

มาตรา๖๗บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่า อ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ด้วย

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา หรือสามีภริยาไว้แตกต่างกัน

มาตรา๖๘ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีภริยา หรือคู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรสด้วย

ให้หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการทบทวนตามวรรคหนึ่งเสนอผลการทบทวนพร้อมทั้งร่างกฎหมายในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

มาตรา๖๙ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"