พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมลักษณกู้หนี้ยืมสิน รัตนโกสินทรศก ๑๑๐[1]

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ นำความขัดข้องขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ทุกวันนี้ การค้าขายเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเก่าก่อนโดยการที่มีเกี่ยวข้องกับนานาประเทศแล้ว แลมีวิธีเข้าหุ้นส่วนกันเปนพวกเปนเหล่า แลเจ้าทรัพย์สินทดลองทุนให้คนที่มีแรงทำการค้าขายเปนอเนกปริยายมาแล้ว แลธรรมดาการค้าขายก็ย่อมมีเวลาวัฒนะแลหายนะตามกาลสมัยเหมือนการงานอื่น ๆ บางคนบางพวกที่เคราะห์ร้ายทำการค้าขายไปก็ฃาดทุนโดยไม่ได้คิดฉ้อฉลผู้ใด เจ้าหนี้ผู้ที่ให้กู้ให้ยืมทรัพย์ไปเหนใจจริงของลูกหนี้ว่าเคราะห์ร้ายแล้วก็กรุณาลดหย่อนผ่อนเอาส่วนทรัพย์คืนแต่น้อยพอควรแก่กฎหมายแลธรรมเนียมยุติธรรมที่เปนอยู่ทั่วไปในประเทศอื่น ๆ เปนอันมากแล้วก็มี แต่เจ้าหนี้บางคนมีใจโลบเหลือเกิน เหนช่องที่กฎหมายเก่ามีอยู่ตามธรรมเนียมในโบราณกาล ก็คิดขัดขวางไม่ยอมลดหย่อนผ่อนผันแก่ลูกหนี้ จะขืนเอาตามความในกฎหมายเก่านั้น ทำให้เกิดคดีมีถ้อยความค้างโรงศาลอยู่เปนอันมาก ทั้งเปนที่เดือดร้อนแก่ลูกหนี้ผู้มีความยากไร้ยิ่งนัก ฉันใดจะเปนการดีที่เรียบร้อยต่อไปได้ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยไว้เปนแบบอย่างด้วย จึ่งทรงพระราชดำริห์เหนโดยทรงพระเมตตาพระกรุณาแก่อาณาประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้ทำมาหากินกันโดยสุจริตแลไม่ให้คิดฉ้อโกงซึ่งกันแลกันนั้นว่า ควรจะแก้ไขกฎหมายเก่าที่หนักแรงอยู่เหลือเกินนั้นให้เปนการยุติธรรมสมควรแก่กาลแลเวลา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัตินี้ไว้สืบไปว่า

มาตราบันดาข้อความทั้งปวงที่กล่าวไว้ในกฎหมาย อันประกอบกับความในลักษณกู้หนี้ถือสินหลายแห่ง สินล้นพ้นตัวแล้วให้ขายขาดค่าก็ดี ขายทอดตลาดก็ดี ดังนี้อยู่ในสามมาตรา (น่า ๒๑๘ น่า ๒๑๙ เล่ม ๑ ลงพิมพ์ปีจอ ฉอศก ๑๒๓๖) นั้น ให้ยกเลิกเสีย อย่าให้ใช้อีกต่อไป

มาตราบุทคลหลายคนเข้าหุ้นเข้าส่วนกันมีชื่อเปนบริษัทอันหนึ่งซึ่งคิดทำการค้าขายอันได้เปิดเผยประกาศโฆษนาให้คนรู้ทั่วแล้วว่า มีกำหนดหุ้นส่วนราคาเท่านั้น วางเงินไว้เปนกลางเปนทุนทำการของบริษัทนั้น แลมีราคาหุ้นส่วนซื้อขานกันได้ต่อไปฉนี้ ผู้ถือหุ้นส่วนนั้นไม่ต้องใช้หนี้ของบริษัทเช่นนี้อีก นอกจากจำนวนเงินหุ้นส่วนที่ต้องวางไว้เปนทุนของบริษัทนั้น

มาตราบริษัทเช่นกล่าวนี้ก็ดี ฤๅบุทคลผู้เปนลูกหนี้ก็ดี ถ้าสินล้นพ้นตัว ฤๅทำการไปไม่มีกำไรก็ดี จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งเจ้าพนักงานไปตรวจจัดการเพื่อที่จะให้บริษัทฤๅบุทคลนั้นได้ล้มละลายชำระหนี้สินกันเสียให้เสร็จสิ้น แล้วก็ให้ผู้พิภาคษาตระลาการมีอำนาจตั้งพนักงานไปตรวจตราจัดการเก็บทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของลูกหนี้แลบาญชีนั้นได้ เพื่อที่จะให้ศาลได้พิจารณาชำระหนี้นั้น

มาตราในเวลาที่พิจารณาความแลตรวจบาญชีนี้ ถ้าผู้พิภาคษาตระลาการเหนเปนมีเหตุที่สมควรจะต้องเรียกประกันตัวลูกหนี้ผู้ที่ขอล้มนั้น ก็เรียกได้ แต่อย่าให้กักขังจำจองไว้ในระหว่างชำระโดยไม่มีเหตุ เว้นเสียแต่มีผู้ร้องต่อศาล ฤๅศาลมีเหตุสมควรที่จะสงไสยว่า ลูกหนี้นั้นจะคิดหลบหนีไปก็ดี ฤๅจะคิดยักยอกทรัพย์สมบัติอย่างไรก็ดี จึ่งให้กักขังไว้ได้

มาตราเมื่อพนักงานผู้จัดการล้มละลายที่ศาลตั้งไปนั้นได้นำความเสนอต่อศาลเปนประการใดแล้ว ให้ผู้พิภาคษาตระลาการตัดสินแบ่งส่วนหนี้สินที่ชำระได้นั้นใช้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ที่ฟ้องร้องแลมีบาญชีถูกต้องกันนั้นตามส่วนจำนวนเงินหนี้ที่มีมากแลน้อย

มาตราเมื่อศาลได้พิจารณาความแล้วแลเหนว่า เปนการสุจริตของลูกหนี้ ไม่มีเหตุที่จะเหนว่า เปนการฉ้อโกงแลยักยอกปิดบังทรัพย์ไว้ แลได้ทรัพย์มาใช้หนี้สิ้นเชิงแล้ว ก็ให้ทำคำตัดสินว่า บริษัทฤๅบุทคลผู้เปนลูกหนี้นั้นได้ล้มละลายใช้หนี้สินเปนเสร็จชั้นหนึ่ง แล้วให้คดีอันนั้นเปนอันเลิกแล้วแก่กันไป ตำตัดสินนี้ให้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาให้ปรากฎชื่อผู้ล้มไว้ด้วย

มาตราแม้ว่าลูกหนี้จะได้รับคำตัดสินดั่งกล่าวมาแล้วนี้ก็ดี ถ้าการต่อไปภายน่าเจ้าหนี้สืบทราบว่า ลูกหนี้ทำการทุจริตปิดบังทรัพยสินไว้ฤๅคิดฉ้อโกงอย่างหนึ่งอย่างใดที่เจ้าหนี้ยังไม่ทราบในเวลาชำระแลยังไม่ได้มีผู้ร้องให้ศาลได้พิจารณามาแต่ก่อนแล้ว ฤๅลูกหนี้มีทรัพย์ขึ้นอีกภายหลัง เจ้าหนี้นั้นจะฟ้องร้องให้เรียกลูกหนี้นั้นมาพิจารณาอิกต่อไปก็ได้ ไม่เปนคดีที่ขัดขวางต่อลักษณรับฟ้องซึ่งว่า คดีเดียวกันก็ดี ฤๅคดีที่มีคำตัดสินแล้วก็ดี ไม่ให้พิจารณานั้นแล้ว ให้ศาลพิจารณาความเช่นนี้ได้อีกต่อไป

ประกาศมาณวันที่ ๖ มินาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ เปนวันที่ ๘๕๑๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้


  1. พ.ร.บ. นี้ยกเลิกแล้วโดย พ.ร.บ. ลักษณะล้มละลาย ร.ศ. ๑๓๐ (ดู ป.ช.ศ. เล่ม ๒๔ หน้า ๓๒๕)