พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560
พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560
แก้ไขสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1
แก้ไขพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560”
มาตรา 2
แก้ไขพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]
มาตรา 3
แก้ไขในพระราชบัญญัตินี้
- ยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่า ยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
- แผนแม่บท หมายความว่า แผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
- คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
- คณะกรรมการปฏิรูป หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน และให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศสำหรับกรณีที่มีการแยกด้านออกเป็นเรื่องตามมาตรา 8 วรรคสาม ด้วย
- กรรมการปฏิรูป หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูป
- ที่ประชุมร่วม หมายความว่า การประชุมร่วมกันตามมาตรา 17
- หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า หน่วยงานที่เป็นของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือในรูปแบบอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการหรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ
- หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้
- (1) หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้อำนวยการหรือผู้บริหารสูงสุดที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน หรือหัวหน้าหรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่น สำหรับหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหาร
- (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือหัวหน้าหน่วยงาน สำ หรับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในกำกับของประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี
- (3) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับองค์กรฝ่ายตุลาการ
- (4) คณะกรรมการหรือคณะบุคคลที่เป็นองค์กรอิสระและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำหรับองค์กรอิสระ
- (5) อัยการสูงสุด สำหรับองค์กรอัยการ
- สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- เลขาธิการ หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
มาตรา 4
แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด 1
แก้ไขการปฏิรูปประเทศ
มาตรา 5
แก้ไขการปฏิรูปประเทศต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
- (1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ
- (2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
- (3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขการปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ
มาตรา 6
แก้ไขให้มีแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อกำหนดกลไก วิธีการ และขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ แต่ละด้านตามมาตรา 8 รวมทั้งผลอันพึงประสงค์ ของการปฏิรูปประเทศในด้านนั้น ๆ ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน จะทำเป็นแผนเดียวกันหรือแยกเป็นแผนแต่ละด้านหรือหลายด้านรวมกันก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับแผนแม่บท และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับต่อไป
หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะกำกับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคสาม
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ การกำกับดูแลตามวรรคสี่ ให้หมายความถึงการประสาน การปรึกษา หรือเสนอแนะต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าว
มาตรา 7
แก้ไขแผนการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
- (1) แผน ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และผลอันพึงประสงค์ในด้านที่จะดำเนินการปฏิรูป ซึ่งต้องสอดคล้องกับผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ
- (2) กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามลำดับในลักษณะที่เป็นการบูรณาการและตัวชี้วัดผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน
- (3) การกำหนดหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่รับผิดชอบการดำเนินการตาม (1) และ (2)
- (4) วงเงินที่คาดว่าจะใช้ในการดำเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านหรือแต่ละเรื่องตามมาตรา 8 แล้วแต่กรณี รวมตลอดทั้งประมาณการของแหล่งที่มาของเงิน
- (5) ผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่คาดหวังว่าจะบรรลุภายในระยะเวลาห้าปี
- (6) การเสนอให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ
การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาความเร่งด่วนของการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านเพื่อกำหนดลำดับขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศ และต้องคำนึงถึงความพร้อมทางด้านบุคลากรและการเงินการคลังของประเทศด้วย
มาตรา 8
แก้ไขให้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศในด้าน ดังต่อไปนี้
- (1) ด้านการเมือง
- (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
- (3) ด้านกฎหมาย
- (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม
- (5) ด้านการศึกษา
- (6) ด้านเศรษฐกิจ
- (7) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- (8) ด้านสาธารณสุข
- (9) ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ
- (10) ด้านสังคม
- (11) ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ที่ประชุมร่วมโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจะแยกด้านตามวรรคหนึ่ง นอกจากด้านตาม (5) ออกเป็นเรื่องต่าง ๆ ก็ได้
ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านเพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย ในกรณีที่มีการแยกด้านใดออกเป็นเรื่องตามวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศสำหรับเรื่องนั้นเป็นคณะแยกจากกันในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามมาตรา 258 ง. (4) และด้านการศึกษาตามมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ของรัฐธรรมนูญ
ให้คณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 260 หรือมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญแล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการ
การจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ที่ประชุมร่วมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ อย่างน้อยต้องกำหนดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 11 วรรคสอง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะขององค์กรฝ่ายตุลาการมาใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรฝ่ายตุลาการด้วย
มาตรา 9
แก้ไขในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านอื่นใด ตามมาตรา 8 (11) ให้ส่งเรื่องให้ที่ประชุมร่วมกำหนดผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศในด้านดังกล่าว และดำเนินการตามมาตรา 11 ต่อไป
มาตรา 10
แก้ไขการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- (1) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 8
- (2) ให้ที่ประชุมร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตาม (1) แล้วเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในสิบห้าวัน และ
- (3) ให้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศตามกระบวนการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 11
มาตรา 11
แก้ไขการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- (1) ให้คณะกรรมการปฏิรูปจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 10 (2) แล้วเสนอที่ประชุมร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวัน
- (2) เมื่อที่ประชุมร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ให้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่าง
- (3) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านการพิจารณาแล้วต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวัน และดำเนินการตามมาตรา 6 วรรคสองต่อไป
ในการดำเนินการตาม (1) ให้คณะกรรมการปฏิรูปเชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศในด้านนั้น เข้าร่วมชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการดำเนินการ รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้โดยสะดวกและทั่วถึง ทั้งนี้ ต้องมีการแสดงข้อมูลที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปคณะใดภายหลังพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 10 (2) การนับเวลาตามที่กำหนดไว้ใน (1) ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปคณะนั้นระยะเวลาการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปก็ได้ตามความจำเป็น
มาตรา 12
แก้ไขการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและด้านการศึกษาตามมาตรา 8 วรรคสี่ ให้คณะกรรมการตามมาตราดังกล่าวดำเนินการโดยอิสระตามแนวทางที่เห็นสมควร และให้ส่งข้อเสนอแนะหรือร่างกฎหมายในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อดำเนินการตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) หรือ จ. ด้านการศึกษา ของรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนความสอดคล้อง และบูรณาการกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยพลัน ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่มาตรา 260 หรือมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้แล้วแต่กรณี
มาตรา 13
แก้ไขในกรณีมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านใดเพราะมีการแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บทหรือเพราะเหตุอื่นใด ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการปฏิรูปด้านนั้นดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านนั้นโดยเร็ว โดยให้นำความในมาตรา 11 มาใช้บังคับโดยอนุโลม การแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ
หมวด 2 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
แก้ไขมาตรา 14
แก้ไขภายใต้บังคับมาตรา 8 วรรคสามและวรรคสี่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านประกอบด้วยคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยแต่ละคณะให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการปฏิรูปคนหนึ่ง และกรรมการปฏิรูปจำนวนไม่เกินสิบสามคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านที่จะดำเนินการปฏิรูปโดยคำนึงถึงความหลากหลายของผู้มีประสบการณ์ในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการปฏิรูปและเลขานุการคนหนึ่งตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการและให้เลขาธิการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความเหมาะสม กรรมการปฏิรูปต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่เกินเจ็ดสิบห้าปี
มาตรา 15
แก้ไขกรรมการปฏิรูปมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีให้กรรมการปฏิรูปซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการปฏิรูปซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่กรรมการปฏิรูปซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา 16
แก้ไขนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการปฏิรูปพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
- (1) ตาย
- (2) ลาออก
- (3) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14 วรรคสาม
- (4) ดำเนินการตามมาตรา 11 ไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา
- (5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
มาตรา 17
แก้ไขให้มีการประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ เพื่อพิจารณาแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านให้เกิดการบูรณาการและสอดคล้องกับแผนแม่บท และดำเนินการอื่น
ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมายเป็นประธานของที่ประชุมร่วม
ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความเหมาะสมประธานกรรมการปฏิรูปตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงประธานคณะกรรมการตามมาตรา ๘ วรรคสี่
มาตรา 18
แก้ไขเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ให้ที่ประชุมร่วมมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- (1) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
- (2) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 (1)
- (3) กำหนดวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ
- (4) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอแนะต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ
- (5) กำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศใช้ในการประเมินผล
- (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย
มาตรา 19
แก้ไขให้คณะกรรมการปฏิรูปมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยคณะกรรมการปฏิรูปในการดำเนินการตามมาตรา 18 (3) ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกำหนด มาตรา 20
การประชุมของที่ประชุมร่วม คณะกรรมการปฏิรูป และคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมร่วมกำหนด
มาตรา 21
แก้ไขให้ประธานของที่ประชุมร่วม ประธานกรรมการปฏิรูป กรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการตามมาตรา 19 ได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 22
แก้ไขในกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปจำเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใดจะขอให้สำนักงานจ้างบุคคล สถาบันการศึกษา หรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัยเพื่อดำเนินการศึกษาค้นคว้าและจัดทำรายงานเรื่องดังกล่าวก็ได้
วิธีการจ้าง ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอื่นของบุคคลหรือสถาบันตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมร่วมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
มาตรา 23
แก้ไขให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่
สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูป โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- (1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะอนุกรรมการ
- (2) ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลและความเห็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณากำหนดแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งจัดหาและพัฒนาข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปและคณะอนุกรรมการ
- (3) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
- (4) ดำเนินการให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตามมาตรา 11 วรรคสอง
- (5) เผยแพร่แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ
- (6) รับผิดชอบในการดำเนินการให้มีการประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและการจัดทำรายงานตามมาตรา 25 มาตรา 27 และมาตรา 28 วรรคสอง
- (7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะกรรมการปฏิรูปหรือที่ประชุมร่วมมอบหมายในการดำเนินการตาม (2) ให้นำความในมาตรา 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด 3 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล
แก้ไขมาตรา 24
แก้ไขให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการการติดตามการตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ข้อเสนอแนะในการวางระเบียบตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติประสานและปรึกษากับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวด้วย
มาตรา 25
แก้ไขเพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานภายในเวลาและตามรายการที่สำนักงานกำหนด
ให้สำนักงานจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีเสนอต่อที่ประชุมร่วมเพื่อให้ความเห็นชอบ และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้สำนักงานเสนอรายงานต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง และรัฐสภาทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานตามวรรคหนึ่ง
รายงานตามวรรคสองอย่างน้อยต้องระบุความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศ ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา
มาตรา 26
แก้ไขในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการปฏิรูปคณะใดว่าการดำเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- (1) ในกรณีที่เป็นหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหาร ให้คณะกรรมการปฏิรูปคณะนั้นประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐดังกล่าวหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือที่กำกับดูแลเพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้คณะกรรมการปฏิรูปแจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา และเมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีมติประการใดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น
- (2) ในกรณีที่เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง ให้คณะกรรมการปฏิรูปคณะนั้นประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง เพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น และให้ดำเนินการตามที่ตกลงร่วมกัน แล้วรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทราบ
มาตรา 27
แก้ไขในกรณีที่มีปัญหาอุปสรรคไม่อาจดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศได้และเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือในกรณีมีเหตุอื่นใดเป็นการเร่งด่วนเฉพาะเรื่อง ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง รายงานปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสองหรือรัฐสภาทราบโดยด่วน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
มาตรา 28
แก้ไขให้สำนักงานเผยแพร่รายงานที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐและรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามมาตรา 25 และรายงานเป็นการเฉพาะเรื่องตามมาตรา 27 ให้ประชาชนทราบทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงาน
เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สำนักงานจัดให้มีวิธีการที่ประชาชนซึ่งพบหรือเห็นว่าหน่วยงานของรัฐหน่วยใดไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ สามารถแจ้งเหตุดังกล่าวให้สำนักงานทราบได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
บทเฉพาะกาล
แก้ไขมาตรา 29
แก้ไขในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 8 ให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างการจัดทำ ร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 ในวาระเริ่มแรก
หากคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้กรรมการปฏิรูปผู้ใดพ้นจากตำแหน่งได้โดยมิให้นำมาตรา 16 (5) มาใช้บังคับ
มาตรา 30
แก้ไขเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ประชุมร่วมตามมาตรา 10 (2)
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่ยังไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้ที่ประชุมร่วมตามมาตรา 17 ประกอบด้วยประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง โดยให้ประธานกรรมการปฏิรูปเลือกกันเองให้ประธานกรรมการปฏิรูปคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
มาตรา 31
แก้ไขเพื่อให้การดำ เนินการเป็นไปตามกำ หนดเวลาที่บัญญัติไว้ในหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ การกำหนดระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านตามมาตรา ๗ ต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุภายในระยะเวลาห้าปีด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น
ในวาระเริ่มแรก การขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 วรรคสี่ ให้คำนึงถึงระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
มาตรา 32
แก้ไขให้นำรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้วย และให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการปฏิรูปประเทศที่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐและประชาชน
เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 วรรคสอง
มาตรา 33
แก้ไขในระหว่างระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีต้องแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการ ตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือนตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานในการจัดทำรายงานดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีไม่ช้ากว่าสิบวันก่อนครบกำหนดสามเดือนดังกล่าว
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[2]
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ
แก้ไขเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ |
อ้างอิง
แก้ไข- ↑ เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560
- ↑ วิกิพีเดีย ประยุทธ จันทร์โอชา