พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ พ.ศ. 2535

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทบัญญัติลักษณะ ๒๓ สมาคม ของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ และบรรพ ๓ ดังต่อไปนี้

(๑)ให้ยกเลิกบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ และบรรพ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๘

(๒)ให้ยกเลิกลักษณะ ๒๓ สมาคม ของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๑

(๓)ให้ใช้บทบัญญัติท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่

มาตราเอกสารที่มีการใช้ตราประทับแทนการลงลายมือชื่อตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีผลสมบูรณ์เสมือนกับลงลายมือชื่อต่อไป

มาตราบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการให้กู้ยืมเงินที่ผู้เสมือนไร้ความสามารถได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตราผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ที่ศาลได้ตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากยังมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่หรือจัดทำยังไม่แล้วเสร็จ ให้จัดทำให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำมาตรา ๕๒ และมาตรา ๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ

มาตราให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นทบวงการเมืองตามความหมายของมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัตินี้ คงมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่อไป

มาตราให้บรรดาสมาคมที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสมาคมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

สมาคมใดที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิได้ใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า "สมาคม" ประกอบกับชื่อของสมาคมให้ยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของสมาคมให้ถูกต้องตามมาตรา ๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตราสมาคมตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง สมาคมใด มีวิธีจัดการโดยไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมตามมาตรา ๗๙ (๖) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ถ้าสมาคมนั้นไม่ดำเนินการยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของสมาคมและจัดให้มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียน

มาตรา๑๐สมาคมตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง สมาคมใดมีสมาชิกไม่ถึงสิบคน หากสมาคมนั้นไม่ได้จัดให้มีจำนวนสมาชิกตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียนตามมาตรา ๑๐๒ (๕) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๑๑ให้บรรดามูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นมูลนิธิตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และ ให้ถือว่า ตราสารก่อตั้งมูลนิธิดังกล่าวเป็นข้อบังคับของมูลนิธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มูลนิธิใดที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิได้ใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า “มูลนิธิ” ประกอบกับชื่อของมูลนิธิ ให้ยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา๑๒บรรดามูลนิธิที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมิได้เป็นนิติบุคคล ถ้าประสงค์จะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและใช้คำว่า "มูลนิธิ" ประกอบชื่อของตนต่อไป ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนตามมาตรา ๑๑๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา๑๓มูลนิธิตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง มูลนิธิใด มีข้อบังคับที่กำหนดให้มีผู้จัดการของมูลนิธิไม่ถึงสามคนในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามูลนิธินั้นไม่ดำเนินการยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิเพื่อให้มีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลไม่น้อยกว่าสามคนเป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา ๑๒๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้เพื่อสั่งการให้แก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ถ้าปรากฏว่า มูลนิธิใดไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็ให้นายทะเบียนร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิตามมาตรา ๑๓๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๑๔บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และที่บัญญัติไว้ในลักษณะ ๒๓ สมาคม ของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ

มาตรา๑๕ให้แก้เลขมาตราตามที่มีอยู่ในมาตราต่าง ๆ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเลขมาตราตามบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ดังต่อไปนี้

(๑)"มาตรา ๙ วรรคสองและวรรคสาม" ในมาตรา ๑๖๖๖ ให้แก้เป็น "มาตรา ๙ วรรคสอง"

(๒)"มาตรา ๒๙" ในมาตรา ๑๔๖๔ และมาตรา ๑๕๑๙ ให้แก้เป็น "มาตรา ๒๘"

(๓)"มาตรา ๓๔" ในมาตรา ๑๖๑๐ และมาตรา ๑๖๑๑ ให้แก้เป็น "มาตรา ๓๒"

(๔)"มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓" ในมาตรา ๑๕๗๗ ให้แก้เป็น "มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๖๐"

(๕)"มาตรา ๖๕" ในมาตรา ๑๖๐๒ ให้แก้เป็น "มาตรา ๖๒"

(๖)"มาตรา ๖๖" ในมาตรา ๑๖๐๒ ให้แก้เป็น "มาตรา ๖๓"

(๗)"มาตรา ๘๑" ในมาตรา ๑๖๗๖ ให้แก้เป็น "มาตรา ๑๑๐"

(๘)"มาตรา ๘๕" ในมาตรา ๑๖๗๗ ให้แก้เป็น "มาตรา ๑๑๔"

(๙)"มาตรา ๑๓๐ วรรคสอง" ในมาตรา ๓๖๐ ให้แก้เป็น "มาตรา ๑๖๙ วรรคสอง"

(๑๐)"มาตรา ๑๘๙" ในมาตรา ๒๔๘ และมาตรา ๑๗๕๔ ให้แก้เป็น "มาตรา ๑๙๓/๒๗"

มาตรา๑๖บทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นที่อ้างถึงบทบัญญัติในบรรพ ๑ หรือลักษณะ ๒๓ ในบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงบทบัญญัติที่มีนัยเช่นเดียวกันในบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๑๗บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๙๗ และมาตรา ๑๒๙๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๑๘ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และบรรพ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และบทบัญญัติหลายประการล้าสมัย ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"