พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗)
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า การประมวลกฎหมายแห่งบ้านเมืองได้ดำเนินมาถึงคราวที่ควรใช้บรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗”
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มบทบัญญัติบรรพ ๕ ตั้งแต่มาตรา ๑๔๓๕ ถึงมาตรา ๑๕๙๘ ตามที่ได้ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้นไป
มาตรา ๔ บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กะทบกระเทือนถึง
(๑) การสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ
(๒) การใช้อำนาจปกครอง ความปกครอง การอนุบาล การรับบุตรบุญธรรม ซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ หรือสิทธิและหนี้อันเกิดแต่การนั้น ๆ
มาตรา ๕ ฐานะของภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ อาจพิสูจน์ได้โดยบันทึกในทะเบียนตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้
มาตรา ๖ บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กะทบกระเทือนถึงกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ ในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัว
- นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม แก้ไข
- "พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477". (2477, 29 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 52. หน้า 474–528.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"