พระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน (รสช.)

พระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๔


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่การยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กระทำเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความเป็นธรรมในการปกครองประเทศ ความสามัคคีของชนในชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความผาสุกของประชาชนชาวไทย และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงเป็นการสมควรที่จะให้มีนิรโทษกรรมแก่บรรดาบุคคลซึ่งได้กระทำการเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๔”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น รวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กระทำเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความเป็นธรรมในการปกครองประเทศ ความสามัคคีของชนในชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความผาสุกของประชาชนชาวไทย และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่บรรดาบุคคลซึ่งได้กระทำการเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น จึงสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในครั้งนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"