พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)/ตอน 1

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)

ศุภมัศดุ ศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ เพลา ๓ นาฬิกา ๙ บาท สถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา[1] ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบบาต ได้สังข์ทักขิณาวรรตใต้ต้นหมันใบหนึ่ง แล้วสร้างพระที่นั่งไพฑูริย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไพรชน[2] มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทองค์หนึ่งแล้ว

(๑) รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

พระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ[3] ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามชื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ จึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรขึ้นไปครองราชสมบัติในเมืองลพบุรี

ครั้งนั้น พระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันตะบูร เมืองพิษณุโลก เมือง สุโขไทย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์

แล้วให้ขึ้นไปเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรลงมาแต่เมืองลพบุรี ทรงพระกรุณาตรัสว่า ขอมแปรพักตร จะให้ออกไปกระทำเสีย พระราเมศวรได้ฤกษ์ยกพลห้าพันไปเถิงกรุงกัมพูชาธิบดีเพลาพลบค่ำ พระยาอุปราชบุตรพระเจ้ากัมพูชาธิบดีทูลว่า ทัพซึ่งยกมายังเลื่อยล้าอยู่ ยังมิได้พร้อมมูล จะขอออกโจมทัพ พระเจ้ากัมพูชาธิบดีเห็นด้วย พระยาอุปราชก็ออกโจมจับ[4] ทัพหน้ายังไม่ทันตั้งค่ายก็แตกฉานมาประทะทัพหลวง เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ชาวกัมพูชาธิบดี มีข่าวเข้ามาเถิงพระนคร มีพระราชโองการให้ขุนตำรวจออกไปอัญเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าผู้เป็นพระเชษฐาอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ครั้นเสด็จเข้ามาถึงพระนครแล้ว พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ให้อัญเชิญท่านออกไปช่วยหลานท่าน สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าจึงยกทัพรีบออกไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดี ได้รบเอาชัยชำนะได้ ให้กวาดข้าวถ่ายครัว[5] ชาวกรุงกัมพูชาธิบดีเข้าพระนครเป็นอันมาก

ศักราชได้ ๗๑๕ ปีมะเส็ง เบญจศก วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ เพลาสองนาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้น ให้สถาปนาพระวิหารแลพระมหาธาตุเป็นพระอาราม แล้วให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์ ม้าขุนสุวรรณพินิจจัยตกลูกศีรษะเดียว ตัวเป็นสองตัวแปดเท้า เดินชิงศีรษะกัน ไก่พระศรีมโหสถฟักฟองตกลูกตัวเดียวสองศีรษะ

ศักราช ๗๒๕ ปีเถาะ เบญจศก ทรงพระกรุณาตรัสว่า เจ้าแก้วเจ้าไทออกอหิวาตกโรคตาย ให้ขุดขึ้นเผาเสีย ที่ปลงศพนั้น ให้สถาปนาพระเจดีย์แลวิหารเป็นพระอาราม แล้วให้นามชื่อว่า วัดป่าแก้ว

ศักราช ๗๓๑ ปีระกา เอกศก สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี


  1. ฉบับกรมตำราว่า กรุงเทพพระมหานคร
  2. ฉบับพระราชหัตถเลขา, ฉบับพันจันทนุมาศ, ฉบับกรมตำรา ว่า พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท
  3. ฉบับพระราชหัตถเลขามีข้อความละเอียดออกไป เช่น กล่าวว่า พระชนม์ได้ ๓๗ พระพรราา แล้วโปรดให้ขุนหลวงพงั่วซึ่งเป็นพี่พระมเหสีไปครองราชสมบัติ ณ เมืองสุพรรณบุรี
  4. ฉบับพันจันทนุมาศว่า "ก็ออกโจมทัพ…"
  5. ฉบับพันจันทนุมาศว่า "ให้กวาดเอาครัว…" และฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "ให้กวาดครัว…"