พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502)/บทที่ 8

(๗) รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๒)

มุขมนตรีออกไปเฝ้าเจ้าสามพญา ทูลการซึ่งพระเชษฐาธิราชขาดคอช้างทั้งสองพระองค์ แล้วเชิญเสด็จเข้ามาในพระนครเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ท่านจึงให้ขุดเอาพระศพเจ้าอ้ายพญา เจ้าญี่พญา ไปถวายพระเพลิง[1]ที่ถวายพระเพลิงนั้น ให้สถาปนาพระมหาสถูปและพระวิหารเป็นพระอาราม แล้วให้นามชื่อว่าวัดราชบูรณะ ที่เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา ชนช้างกันถึงพิราลัย ให้ก่อพระเจดีย์สององค์ไว้ที่เชิงตะพานป่าถ่าน

ศักราช ๗๘๓ ปีฉลูตรีนิศก (พ.ศ. ๑๙๖๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองพระนครหลวงได้ ท่านจึงให้พระราชกุมารท่านพระนครอินท์เจ้าเสวยราชสมบัติณเมืองนครหลวง ท่านจึงให้เอาพระยาแก้วพระยาไทและครอบครัวกับทั้งรูปพระโครูปสิงห์สัตว์ทั้งปวงมาด้วย ครั้นถึงพระนครศรีอยุธยา จึงให้เอารูปสัตว์ทั้งปวงไปบูชาไว้ณวัดพระศรีมหาธาตุบ้าง ไว้วัดพระศรีสรรเพชญบ้าง

ศักราช ๗๘๖ ปีมะโรงฉศก (พ.ศ. ๑๙๖๗) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมเหยงคณ์ สมเด็จพระราเมศวรเจ้าผู้เป็นพระราชกุมารท่านเสด็จไปเมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นเห็นน้ำพระเนตรพระพุทธเจ้าพระชินราชตกออกเป็นโลหิต

ศักราช ๗๘๘ ปีมะเมียอัฐศก (พ.ศ. ๑๙๖๙) ครั้งนั้นเกิดเพลิงไหม้พระราชมนเทียรสถาน

ศักราช ๗๘๙ ปีมะแมนพศก ครั้งนั้นเกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข

ศักราช ๗๙๐ ปีวอกสัมเรทธิศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ แลเข้าปล้นเมืองมิได้ พอทรงพระประชวร ทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราช ๗๙๒ ปีจอโทศก เสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง แลตั้งทัพหลวงตำบลท้ายเกษม ครั้งนั้นได้เชลยแสนสองหมื่น ทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราช ๗๙๖ ปีขาลฉศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี


  1. ความตั้งแต่ตอนนี้จนจบตัวเอน ฉบับลานขาด ได้คัดจากฉบับพระราชหัตถเลขามาเติมลงให้ครบความ