พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
พระราชพงษาวดาร |
กรุงเก่า |
ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ |
พิมพ์ครั้งแรก |
๕๐๐ ฉบับ |
ปี ร.ศ. ๑๒๖ |
โรงพิมพ์ไทย |
หนังสือพงษาวดารฉบับนี้ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ เปรียญ) ไปได้มาจากบ้านราษฎรแห่งหนึ่ง เอามาให้แก่หอสมุดวชิรญาณเมื่อณวันที่ ๑๙ มิถุนายน ร,ศ, ๑๒๖
ได้อ่านดูหนังสือพงษาวดารฉบับนี้ ได้ความว่า เรียบเรียงไว้แต่เมื่อจุลศักราช ๑๐๔๒ ในแผ่นดินพระนารายน์ ข้อความคล้ายกับพงษาวดารย่อตอนต้นฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส แต่ฉบับนี้มีข้อความแปลกและต่างไปหลายแห่ง บางแห่งเห็นว่าเปนหลักถานจะถูกต้องดีกว่าพงษาวดารฉบับอื่นที่ได้เห็นแล้ว ยกตัวอย่างดังตอนแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถ พงษาวดารฉบับอื่นว่า เสวยราชสมบัติอยู่ณกรุงเก่า ทรงสร้างวิหารวัดจุฬามณี แล้วเสด็จออกทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น ๘ เดือนจึงลาผนวช ความข้อนี้ได้ค้นคว้าหาวัดจุฬามณีในกรุงเก่ากันนักแล้วยังไม่ได้ความว่าวัดจุฬามณีอยู่ที่ไหนจนทุกวันนี้ มาได้ความตามพงษาวดารฉบับนี้ว่า พระบรมไตรโลกนารถเสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติอยู่ณเมืองพิศณุโลก สร้างวิหารวัดจุฬามณีที่นั่น ทรงผนวชที่นั่น และสวรรคตที่นั่น วัดจุฬามณีที่เมืองพิศณุโลกมีจริง ๆ ด้วย จึงเห็นว่าเปนหลักถานอยู่อย่างหนึ่ง ยังอิกแห่งหนึ่งซึ่งควรจะสังเกตในเรื่องศึกพระเจ้าหงษาวดีครั้งแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์ พงษาวดารฉบับอื่นไม่มีพระนามพระเจ้าหงษาวดี ทำให้เข้าใจว่า พระเจ้าหงษาวดีที่มาตีกรุงเก่า คือพระเจ้าหงษาวดีลิ้นดำพระองค์เดียว แต่ความในพงษาวดารพม่าเขาว่า ๒ พระองค์ พงษาวดารฉบับนี้มีพระนามพระเจ้าหงษาวดีปรากฎเปน ๒ พระองค์ตรงกับพงษาวดารพม่า แปลกกับฉบับอื่น ๆ ในข้อนี้ด้วย และยังมีที่แปลกอีกหลายแห่ง
หนังสือพงษาวดารฉบับนี้เปนสมุดไทย เขียนตัวรง ลายมือเขียนหนังสือดูเหมือนจะเปนฝีมือครั้งกรุงเก่าตอนปลายหรือครั้งแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ของเดิมเห็นจะเปน ๒ เล่มจบ แต่ได้มาแต่เล่ม ๑ เล่มเดียว
กรรมการหอสมุดวชิรญาณเห็นว่า หนังสือพงษาวดารฉบับนี้ เมื่อได้ตรวจพิจารณาดูแล้ว ทั้งลายมือที่เขียนและโวหารที่แต่ง เห็นว่าเปนหนังสือเก่า ไม่มีเหตุอย่างใดจะควรสงไสยว่าได้มีผู้แก้ไขแซกแซงให้วิปลาตในชั้นหลังนี้ จึงได้สั่งให้ลงพิมพ์ไว้ให้ปรากฎ ป้องกันมิให้หนังสือเรื่องนี้สาบสูญไปเสีย ในการที่พิมพ์นั้น แห่งใดหนังสือในต้นฉบับเส้นรงเลือนพอสังเกตเห็นตัวหนังสือได้ก็ดี ที่สังเกตเห็นไม่ได้ทีเดียวก็มีบ้างแห่ง ได้วงเล็บมือไว้เปนสำคัญในที่ตัวหนังสือลบเลือนนั้นทุก ๆ แห่ง
ศุภมัสดุ ๑๐๔๒ ศก วอกนัก(ษัตร ณวัน ๔) ๑๒ ฯ ๕ ค่ำ ทรงพระ(กรุณาโปรด)เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโ(หราเขียน)ไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้น ให้คัดเข้าด้วยกันเปนแห่งเดียว ให้รดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้.
จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าเจ้าพแนงเชิง
ศักราช ๗๑๒ ขาลศก วัน (๖ ๖ฯ ๕) ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุทธยา.
ศักราช ๗๓๑ รกาศก แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระ(ราเม)ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ครั้นเถิงศักราช ๗๓๒ จอศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบูรีขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา แลท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบูรี.
ศักราช ๗๓๓ กุญศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเหนือ แลได้เมืองเหนือทั้งปวง.
ศักราช ๗๓๔ ชวดศก เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่าแลเมืองแสงเชรา ได้เมือง.
ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก เสด็จไปเมืองชากัง(ราว แลพระญา)ใสแก้วแลพระญาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระญา)ใสแก้วตาย แลพระญาคำแหงแลพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ แลทัพ(หลวง)เสด็จกลับคืนมา.
ศักราช ๗๓๖ ขาลศก สมเด็จพระบรมราชา(ธิราช)เจ้าแลพระมหาเถรธรรมากัลญานแรกสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุฝ่ายบูรพทิศน่าพระบันชั้นสิงห์สูงเส้น ๓ วา.
ศักราช ๗๓๗ เถาะศก เสด็จไปเอาเมืองพิศณุโลก แลได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองแลครัว(อพ)ยพมาครั้งนั้นมาก.
ศักราช ๗๓๘ มโรงศก เสด็จไปเอาเมือง(ชากังราว)เล่า ครั้งนั้น พระญาคำแหงแลท้าวผ่าคองคิดด้วยกันว่าจะยอทัพ(หลวง แลจะ)ทำมิได้ แลท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี แลจึงเสด็จยกทัพหลวงตาม แลท้าวผ่าคองนั้นแตก แลจับได้ตัวท้าวพระญาแลเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน.
ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น มหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเปนสามารถ แลเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม.
ศักราช ๗๔๘ ขาลศก เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ แลให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นจึงออกมาถวายบังคม แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน.
ศักราชได้ ๗๕๐ มะโรงศก เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนักแลเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน แลจึงเจ้าทองลันพระราชกุมารท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยาได้ ๗ วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบูรีขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา แลท่านจึงให้พิฆาฏเจ้าทองลันเสีย.
ศักราช ๗๕๗ กุญศก สมเด็จพระราเมศวรเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านเจ้าพระญารามเสวยราชสมบัติ.
ศักราช ๗๗๑ ฉลูศก สมเด็จพระรามเจ้ามีความพิโรธแก่เจ้าเสนาบดี แลท่านให้กุมเจ้าเสนาบดี ๆ หนีรอด (แลข้ามไป)อยู่ฟากปท่าคูจามนั้น แลเจ้าเสนาบดีจึงให้ไปเชิญสมเด็จ(พระอินท)ราชาเจ้ามาแต่เมืองสุพรรณบูรี ว่าจะยกเข้ามาเอาพระนครศรีอยุทธยาถวาย ครั้นแลสมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสด็จมาเถิงไซ้ จึงเจ้าเสนาบดียกพลเข้าไปปล้นเอาพระนครศรีอยุทธยาได้ จึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าขึ้นเสวยราชสมบัติ แลท่านจึงให้สมเด็จพระญารามเจ้าไปกินเมืองปท่าคูจาม.
ศักราช ๗๘๑ กุญศก มีข่าวมาว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน แลเมืองเหนือทั้งปวงเปนจลาจล แลจึงเสด็จขึ้นไปเถิงเมืองพระบาง ครั้งนั้น พระยาบาลเมืองแลพระยารามออกถวายบังคม.
ศักราช ๗๘๖ มะโรงศก สมเด็จพระอินทราชาเจ้าทรง(ประ)ชวรนฤพาน ครั้งนั้น เจ้าอ้ายพระญาแลเจ้าญี่พระญาพระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกันณสพานป่าถ่านเถิงพิราไลยทั้ง ๒ พระองค์ที่นั้น จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระญาได้เสวยราชสมบัติพระนครอยุ(ทธยา ทรงพระ)นามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์สวมที่เจ้าพระญาอ้ายแลเจ้าพระญาญี่ชนช้างด้วยกันเถิง(อนิจ)ภาพตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้น ท่านสถาปนาวัดราชบุณ.
ศักราช ๗๙๓ กุญศก สมเด็จพระบรมราชาเจ้าเสด็จไปเอาเมือง(นครหลวง)ได้ แลท่านจึงให้พระราชกุมารท่านพระนครอินทร์เจ้าเสวยราชสมบัติณเมืองนครหลวงนั้น ครั้งนั้นท่านจึงให้พระญาแก้ว พระญาไทย แลรูปภาพทั้งปวง มายังพระนครศรีอยุทธยา.
ศักราช ๘๐๐ มะเมียศก ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมะเหยงคณ์เสวยราชสมบัติแลสมเด็จพระราเมศวร(เจ้าผู้เปน)พระราชกุมารท่านเสด็จไปเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้น เห็นน้ำพระเนตร์พระพุทธเจ้าพระชินราชตกออกมาเปนโลหิต.
ศักราช ๘๐๒ วอกศก ครั้งนั้น เกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียร.
ศักราช ๘๐๓ รกาศก ครั้งนั้น เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข.
ศักราช ๘๐๔ จอศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ แลเข้าปล้นเมืองมิได้ พอทรงพระประชวรแลทัพหลวงเสด็จกลับคืน.
ศักราช ๘๐๖ ชวดศก เสด็จไปปราบพรรค แลตั้งทัพหลวงตำบลปะทายเขษม ครั้งนั้น ได้เชลย ๑๒๐๐๐๐ ทัพหลวงเสด็จกลับ(คืน).
ศักราช ๘๑๐ มโรงศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า.
ศักราช ๘๑๓ มะแมศก ครั้งนั้น มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้ แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขไทย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลิกทัพกลับคืน.
ศักราช ๘๑๖ จอศก ครั้งนั้น คนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก.
ศักราช ๘๑๗ กุญศก แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมลากา.
ศักราช ๘๑๘ ชวดศก แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิสบทีน ครั้งนั้น เสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโคน.
ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก ครั้งนั้น เข้าแพงเปนทนานแล ๘๐๐ เบี้ย เมื่อคิดเสมอเบี้ยเฟื้องแล ๘๐๐ นั้น เกียนหนึ่งเปนเงินสามชั่งสิบบาท.
ศักราช ๘๒๐ ขาลศก ครั้งนั้น ให้บุณพระสาสนาบริบูรณ์ แลหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ์.
ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก เล่นการมหรศพฉลองพระ แลพระราชทานแก่สงฆ์แลพราหมณ์แลพรรณิพกทั้งปวง ครั้งนั้น พระญาซเลียงคิดเปนขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช.
ศักราช ๘๒๓ มะเสงศก พระญาซเลียงนำมหาราชมาจะเอาเมืองพิศณุโลก เข้าปล้นเมืองเปนสามารถ มิได้เมือง แลจึงยกทัพเปร่อไปเอาเมืองกำแพงเพชร์ แลเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง แลมหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่.
ศักราช ๘๒๔ มะเมียศก เมืองนครไทยพาเอาครัวอพยบหนีไปนาน แลให้พระกลาโหมไปตามได้คืนมา แล้วพระกลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขไทย ได้เมืองคืนดุจเก่า.
ศักราช ๘๒๕ มะแมศก สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก แลตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนามสมเด็จบรมราชา ครั้งนั้น มหาราชท้าวลูกยกพลมาเอาเมืองสุโขไทย จึงสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าแลสมเด็จพระอินทราชาเสด็จไปกันเมือง แลสมเด็จพระราชาเจ้าตีทัพพระญาเถียนแตก แลทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร แลท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร แลครั้งนั้นเปนโกลาหลใหญ่ แลข้าเศิกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียวนั้น ครั้งนั้น สมเด็จพระอินทราชาเจ้าต้องปืนณพระภักตร์ แลทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป.
ศักราช ๘๒๖ วอกศก สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี.
ศักราช ๘๒๗ รกาศก สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรงพระผนวชณวัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน แล้วลาพระผนวช.
ศักราช ๘๓๐ ชวดศก ครั้งนั้น มหาราชท้าวบุญชิงเอาเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก.
ศักราช ๘๓๓ เถาะศก ได้ช้างเผือก.
ศักราช ๘๓๔ มะโรงศก พระราชสมภพพระราชโอรสท่าน.
ศักราช ๘๓๕ มะเสงศก หมื่นนครได้ลอดเอาทองพระเจ้าลงมาหุ้มดาบ.
ศักราช ๘๓๖ มะเมียศก เสด็จไปเอาเมืองซเลียง.
ศักราช ๘๓๗ มะแมศก มหาราชขอมาเปนไมตรี.
ศักราช ๘๓๙ ระกาศก แรกตั้งเมืองนครไทย.
ศักราช ๘๔๑ กุญศก พระสีหราชเดโชเถิงแก่กรรม.
ศักราช ๘๔๒ ชวดศก พระยาล้านช้างเถิงแก่กรรม แลพระราชทานให้อภิเศกพระยาซ้ายขาวเปนพระยาล้านช้างแทน.
ศักราช ๘๔๔ ขาลศก ท่านให้เล่นการมหรศพ ๑๕ วันฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงพระราชนิพนธ์มหาชาติ์คำหลวงจบบริบูรณ์.
ศักราช ๘๔๕ เถาะศก สมเด็จพระบรมราชาเจ้าเสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย.
ศักราช ๘๔๖ มะโรงศก สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าแลสมเด็จพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระผนวชทั้ง ๒ พระองค์.
ศักราช ๘๔๗ มะเสงศก พระราชโอรสท่านลาพระผนวช แลประดิษฐานพระองค์นั้นไว้ในที่พระมหาอุปราช.
ศักราช ๘๔๘ มะเมียศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าไปวังช้างตำบลสำฤทธิบูรณ์.
ศักราช ๘๔๙ มะแมศก ท้าวมหาราชลูกพิราไลย.
ศักราช ๘๕๐ วอกศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองทวาย แลเมื่อจะเสียเมืองทวายนั้นเกิดอุบาทว์เปนหลายประการ โคตกลูกตัวหนึ่งเปนแปดเท้า ไก่ฟักไข่ออกตัวหนึ่งเปนสี่เท้า ไก่ฟักไข่สามค่องออกลูกเปนหกตัว อนึ่ง เข้าสานงอกเปนใบ อนึ่ง ในปีเดียวนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกเสด็จนฤพานณเมืองพิศณุโลก.
ศักราช ๘๕๒ จอศก แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิไชย.
ศักราช ๘๕๓ กุญศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี.
ศักราช ๘๕๔ ชวดศก ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกแลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า.
ศักราช ๘๕๘ มะโรงศก ท่านประพฤติการเบญจาพิธพระองค์ท่านแลให้เล่นการดึกดำบรรพ์.
ศักราช ๘๕๙ มะเสงศก ท่านให้ทำการปฐมกรรม.
ศักราช ๘๖๑ มะแมศก แรกสร้างพระวิหารวัดศรีสรรเพชร์.
ศักราช ๘๖๒ วอกศก สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าแรกให้หล่อพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชร์ แลแรกหล่อในวัน ๑ ๘ฯ ๖ ค่ำ ครั้นเถิงศักราช ๘๖๕ กุญศก วัน ๖ ๑๑ ฯ ๘ ค่ำ ฉลองพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชร์ คณนาพระพุทธเจ้านั้นแต่พระบาทเถิงยอดพระรัศมีนั้นสูงได้ ๘ วา พระภักตรนั้นยาวได้ ๔ ศอก กว้างพระภักตรนั้น ๓ ศอก แลพระอุระนั้นกว้าง ๑๑ ศอก แลทองหล่อพระพุทธเจ้านั้นหนัก ๕ หมื่น ๓ พันชั่ง ทองคำหุ้มนั้นหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง ข้างน่านั้นทองเนื้อ ๗ น้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อ ๖ น้ำสองขา.
ศักราช ๘๗๗ กุญศก วัน ๓ ๑๕ ฯ ๑๑ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๘ ชั้น ๓ ฤกษ ๙ ฤกษ์ สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จไปเมืองน(คร)ลำ(ภาง ได้)เมือง.
ศักราช ๘๘๐ ขาลศก ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างพระศรีสรรเพชร์ เสวยราชสมบัติ แรกตำราพิไชยสงคราม แลแรก(ทำสารบาญ)ชีพระราชสำฤทธิทุกเมือง.
ศักราช ๘๘๖ วอกศก (ครั้ง)นั้น เห็น(งา)ช้างต้นเจ้าพระญาปราบแตกข้างขวายาวไป อนึ่ง ในเดือน(นั้น มีผู้ทอดบัตร)สนเท่ห์ (ครั้งนั้น ให้)ฆ่าขุนนางเสียมาก.
ศักราช ๘๘๗ (ระกาศก ... ... ...)สิ้นทั้งปวง อนึ่ง แผ่นดินไหวทุกเมืองแล้วแลเกิดอุบาทว์เปนหลายประการ ครั้นรุ่งปีขึ้นศักราช ๘๘๘ จอศก (เข้าสารแพง)เปน ๓ ทนานต่อเฟื้องเบี้ยแปดร้อย เกียนหนึ่งเปนเงินชั่งหกตำลึง ครั้งนั้น ประดิษฐานสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช แลให้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก.
ศักราช ๘๙๑ ฉลูศก เห็นอากาศนิมิตร์เปนอินท์ธนูแต่ทิศหรดีผ่านอากาศมาทิศพายัพมีพรรณขาว วัน ๑ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จพระที่นั่งหอพระ ครั้นค่ำลงวัน(นั้น) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระอาทิตยเจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนามสมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร.
ศักราช ๘๙๕ มะเสงศก สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระราชกุมารได้เสวยราชสมบัติ.
ครั้นเถิงศักราช ๘๙๖ มะเมียศก พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า.
ศักราช ๙๐๐ จอศก แรกให้พูนดินณวัดชีเชียง ในเดือนหกนั้น แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าแลพระเจดีย์ เถิงเดือน ๑๑ เสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน เถิงเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาค่ำประมาณยามหนึ่ง เกิดลมพยุพัดหนักหนา แลฅอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมานั้นหัก แลเรือไกรแก้วนั้นทลาย อนึ่ง เมื่อเสด็จมาแต่เมืองกำแพงเพ็ชร์นั้นว่า พระญานารายน์คิดเปนขบถ แลให้กุมเอาพระญานารายน์นั้นฆ่าเสียในเมืองกำแพงเพ็ชร์.
ศักราช ๙๐๗ มะเสงศก วัน ๔ ๔ฯ ๗ ค่ำ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเชียงใหม่ ให้พระญาพิศณุโลกเปนทัพหน้า แลยกพลออกตั้งทัพไชยตำบลบางบาน ณวัน ๗ ๑๔ ฯ ๗ ค่ำ จึงยกทัพหลวงจากที่ทัพไชยไปเมืองกำแพงเพ็ชร์ เถิงณวัน ๓ ๙ฯ ๗ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพไชยณเมืองกำแพงเพ็ชร์ ณวัน ๑ ๑๔ฯ ๗ ค่ำ ยกทัพไปตั้งเชียงทอง แล้วยกไปตั้งณเมืองเชียงใหม่ เถิงณวัน ๑ ๔ฯ ๙ ค่ำ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนจากเมืองเชียงใหม่ เถิงวัน ๕ ๑๕ ฯ ๙ ค่ำ ทัพหลวงเถิงเมืองกำแพงเพ็ชร์ แล้วจึงเสด็จมายังพระนครศรีอยุทธยา ฝ่ายพระนครศรีอยุทธยานั้น ในวัน ๔ ๔ฯ ๓ ค่ำ เกิดเพลิงไหม้เถิง ๓ วันจึงดับได้ แลจึงมีบาญชีเรือนเพลิงไหม้นั้น ๑๐๐๕๐ เรือน ณวัน ๑ ๑๑ ฯ ๒ ค่ำ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเมืองเชียงใหม่ แลให้พระญาพิศณุโลกเปนทัพหน้า แลยกทัพหลวงเสด็จไปเมืองกำแพงเพ็ชร์ แรมทัพหลวงอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร์นั้นเดือนหนึ่ง เถิงณวัน ๕ ๖ฯ ๓ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพไชย เถิงณวัน ๑ ๙ฯ ๓ ค่ำ จึงยกทัพหลวงเสด็จไปเมืองเชียงใหม่ แลณวัน ๓ ๓ฯ ๔ ค่ำ ได้เมืองลำพูนไชย วัน ๖ ๑๓ ฯ ๔ ค่ำ มีอุบาทว์ เห็นเลือดติดอยู่ณประตูบ้านแลเรือนแลวัดทั้งปวงในเมืองแลนอกเมืองทั่วทุกตำบล เถิงณวัน ๒ ๑๕ฯ ๔ ค่ำ ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเชียงใหม่มายังพระนครศรีอยุทธยา.
ศักราช ๙๐๘ มะเมียศก เดือน ๖ นั้น สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าพระราชกุมารท่านเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา ในปีนั้นแผ่นดินไหว.
ศักราช ๙๑๐ วอกศก วัน ๗ ๕ฯ ๕ ค่ำ เสด็จออกสนาม ให้ชนช้าง แลงาช้างพระญาไฟนั้นหักเปน ๓ ท่อน อนึ่ง อยู่ ๒ วัน ช้างต้นพระฉัททันต์ไล่ร้องเปนเสียงสังข์ อนึ่ง ประตูไพชยนต์ร้องเปนอุบาทว์ เถิงวัน ๑ ๕ฯ ๘ ค่ำ สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเปนเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ ๔๒ วัน แลขุนชินราชแลแม่ญั่วศรีสุดาจันทร์เปนเหตุ จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ แลครั้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน พระยาหงษาปังเสวกียกพลมายังพระนครศรีอยุทธยาในเดือน ๔ นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงษานั้น สมเด็จพระองคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย แลเมื่อได้รบศึกหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเปนโกลาหลใหญ่ แลสมเด็จพระองคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าเศิกเถิงสิ้นชนม์กับฅอช้างนั้น แลเศิกหงษาครั้งนั้นเสียสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร ไปแก่พระยาหงษา แลจึงเอาพระยาปราบแลช้างต้นพระยานุภาพตามไปส่งให้พระยาหงษาเถิงเมืองกำแพงเพ็ชร์ แลพระยาหงษาจึงส่งพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า สมเด็จพระราเมศวรเจ้า มายังพระนครศรีอยุทธยา.
ศักราช ๙๑๑ รกาศก ณวัน ๗ ๑๐ ฯ ๒ ค่ำ ได้ช้างเผือกพลายตำบลป่าตนาวศรี สูง ๔ ศอกมีเศษ ชื่อปัจจัยนาเคนทร์ ครั้งนั้น แรกให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุทธยา.
ศักราช ๙๑๒ จอศก เดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้าตำบลท่าแดง พระกรรมวาจาเปนพฤฒิบาศ พระพิเชฏฐ์เปนอัษฎาจารย์ พระอินโทรเปนกรมการ.
ศักราช ๙๑๔ ชวดศก ครั้งนั้น ให้แปลงเรือแซเปนเรือไชยแลหัวสัตว.
ศักราช ๙๑๕ ฉลูศก เดือน ๗ นั้น แรกทำการพระราชพิธีมัธยมยกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ตำบลไชยนาทบูรี.
ศักราช ๙๑๖ ขาลศก เสด็จไปวังช้างตำบลบางลมุง ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง อนึ่ง ในเดือน ๑๒ นั้น ได้ช้างพลายเผือกตำบลป่ากาญจนบูรี สูง ๔ ศอกมีเศษ ชื่อพระคเชนโทรดม.
ศักราช ๙๑๗ เถาะศก วัน ๒ ๗ฯ ๗ ค่ำ ได้ช้างเผือกพลายตำบลป่าเพ็ชรบูรี สูง(สี่ศอกคืบหนึ่งช้าง ชื่อพระ)แก้วทรงบาตร์
ศักราช ๙๑๘ มะโรงศก เดือน ๑๒ (แต่งทัพไปละแวก) พระยาองคสวรรคโลกเปนทัพหลวง ถือพล ๓(๐๐๐๐ ให้พระ)มหามนตรีถืออาชญาสิทธิ์ พระมหา(เทพถือวัวเกียน ๑๑ ... ... ...) ฝ่ายทัพเรือไซ้ พระญาเยาวเปนนายกอง ครั้งนั้นลมพัดขัด ทัพเรือมิทันทัพบก แลพระญารามลักษณ์(ซึ่ง)เกณฑ์เข้าทัพบกนั้นเข้าบุกทัพในกลางคืน แลทัพพระญารามลักษณ์นั้นแตกมาปะทัพใหญ่ ครั้งนั้น เสียพระญาองคสวรรคโลกนายกองแลช้างม้ารี้พลมาก.
ศักราช ๙๑๙ มะเสงศก วัน ๑ ๑ฯ ๔ ค่ำ เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังมาก อนึ่ง ในเดือน ๓ นั้น ทำการพระราชพิธีอาจาริยาภิเศกแลทำการพระราชพิธีอินทราภิเศกในวังใหม่ อนึ่ง เดือน ๔ นั้น พระราชทานสัตดกมหาทาน แลให้ช้างเผือกพระราชทานมีกองเชิงเงิน ๔ เท้าช้างนั้นเปนเงิน ๑๖๐๐ บาท แลพระราชทานรถ ๗ รถเทียมด้วยม้า แลมีนางสำหรับรถนั้นเสมอรถ ๗ นาง อนึ่งในเดือน ๗ นั้นเสด็จไปวังช้างตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง.
ศักราช ๙๒๑ มะแมศก เสด็จไปวังช้างตำบลแสนตอ ได้ช้างพลายพัง ๔๐ช้าง.
ศักราช ๙๒๒ วอกศก เสด็จไปวังช้างตำบลวัดไก่ ได้ช้างพลายพัง ๕๐ ช้าง อนึ่ง อยู่ในวัน ๗ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ ได้ช้างเผือก แลตาช้างนั้นมิได้เปนเผือก แลลูกติดมาด้วยตัวหนึ่ง.
ศักราช ๙๒๓ รกาศก พระศรีศิลป์บวชอยู่วัดมหาธาตุ แล้วหนีออกไปอยู่ตำบลม่วงมดแดง แลพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์ให้เข้ามาเข้าพระราชวังณวัน ๗ ๑ฯ ๙ ค่ำ ครั้งนั้น พระญาสีหราชเดโชเปนโทษรับพระราชอาชญาอยู่ แลพระญาสีหราชเดโชจึงให้ไปว่าแก่พระศรีศิลป์ว่า ครั้นพ้นวันพระแล้ว จะให้ลงพระราชอาชญาฆ่าพระญาสีหราชเดโชเสีย แลขอให้เร่งยกเข้ามาให้ทันแต่ในวันพระนี้ แลพระศรีศิลป์จึงยกเข้ามาแต่ในวัน ๕ ๑๔ฯ ๘ ค่ำ เพลาเย็นนั้น มาแต่กรุง ครั้นรุ่งขึ้นในวันพระนั้น พระศรีศิลป์เข้าพระราชวังได้ ครั้งนั้น ได้พระศรีศิลป์มรณภาพในพระราชวังนั้น ครั้นแลรู้ว่าพระสังฆราชป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์เปนแม่นแล้วไซ้ ก็ให้เอาพระสังฆราชป่าแก้วไปฆ่าเสีย.
ศักราช ๙๒๔ จอศก เสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลายพัง ๗๐ ช้าง.
ศักราช ๙๒๕ กุญศก พระเจ้าหงษานิพัตรยกพลลงมาในเดือน ๑๒ นั้น ครั้นเถิงวัน ๑ ๕ฯ ๒ ค่ำ พระเจ้าหงษาได้เมืองพิศณุโลก ครั้งนั้น เมืองพิศณุโลกเข้าแพง ๓ สัดต่อบาท อนึ่ง คนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมาก แล้วพระเจ้าหงษาจึงได้เมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง แล้วจึงยกพลลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา ครั้งนั้น ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุทธยาออกเปนพระราชไมตรี แลสมเด็จพระมหากระษัตรเจ้าทั้งสองฝ่ายเสด็จมาทำสัตยาทิษฐานหลั่งน้ำสิโนทกตำบลวัดพระเมรุ์ แล้วจึงพระเจ้าหงษาขอเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรเจ้าแลช้างเผือก ๔ ช้างไปเมืองหงษา ครั้งนั้น พระญาศรีสุรต่านพระญาตานีมาช่วยการเศิก พระญาตานีนั้นเปนขบถ แลคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวัง ครั้นแลเข้าในพระราชวังได้ เอาช้างเผือกมาขี่ยืนอยู่ณท้องสนาม แล้วจึงลงช้างออกไปณทางตะแลงแกง แลชาวพระนครเอาพวนขึงไว้ต่อรบด้วยชาวตานี ๆ นั้นตายมาก แลพระญาตานีนั้นลงสำเภาหนีไปรอด ในปีเดียวนั้น พระเจ้าล้านช้างให้พระราชสารมาถวาย ว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้า แลทรงพระกรุณาพระราชทานแก่พระเจ้าล้านช้าง แลครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้าทรงพระประชวร จึงพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีให้แก่พระเจ้าล้านช้าง.
ศักราช ๙๒๖ ชวดศก พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีลงมาส่งยังพระนครศรีอยุทธยา แลว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้านั้น แลจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง ครั้งนั้น พระเจ้าหงษารู้เนื้อความทั้งปวงนั้น จึงแต่งทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง แลออกชิงเอาสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าได้ไปถวายแก่พระเจ้าหงษา อนึ่ง ในปีนั้น น้ำณกรุงพระนครศรีอยุทธยานั้นน้อยนัก.
ศักราช ๙๓๐ มะโรงศก ในเดือน ๑๒ นั้น พระเจ้าหงษายกพลมาแต่เมืองหงษา ครั้นเถิงวัน ๖ ๑ฯ ๑ ค่ำ พระเจ้าหงษามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุทธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพลี แลเมื่อเศิกหงษาเข้าล้อมพระนครศรีอยุทยานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้าทรงพระประชวรนฤพาน แลครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราชตรัสมิได้นำพาการเศิก แต่พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นตรัสเอาพระไทยใส่ แลเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าตรัสรู้ว่าพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้น ก็มิไว้พระไทย ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่าเสียณวัดพระราม.
ครั้งนั้น การเศิกซึ่งจะรักษาพระนครนั้นก็คลายลง ครั้นเถิงศักราช ๙๓๑ มะเสงศก ณวัน ๑ ๑๑ฯ ๙ ค่ำ เพลารุ่งแล้วประมาณ ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุทธยาแก่พระเจ้าหงษา ครั้นเถิงวัน ๖ ๖ฯ ๑๒ ค่ำ ทำการปราบดาภิเศกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุทธยา อนึ่ง เมื่อพระเจ้าหงษาเสด็จกลับคืนไปเมืองหงษานั้น พระเจ้าหงษาเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าขึ้นไปด้วย.
ศักราช ๙๓๒ มะเมียศก พระยาละแวกยกพลมายังพระนครศรีอยุทธยา พระยาละแวกยืนช้างตำบลสามพิหาร แลได้รบพุ่งกัน แลชาวในเมืองพระนครยิงปืนออกไปต้องพระญาจัมปาธิราชตายกับฅอช้าง ครั้งนั้น เศิกพระญาละแวกเลิกทัพกลับคืนไป ในปีนั้น น้ำณกรุงพระนครศรีอยุทธยามาก.
ศักราช ๙๓๓ มะแมศก น้ำน้อย อนึ่ง สมเด็จพระนารายน์บพิตรเปนเจ้าเสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก.
ศักราช ๙๓๔ วอกศก น้ำน้อยนัก.
ศักราช ๙๓๕ รกาศก น้ำน้อยเปนมัธยม.
ศักราช ๙๓๖ จอศก น้ำมากนัก ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระประชวรทรพิษ.
ศักราช ๙๓๗ กุญศก พระญาละแวกยกทัพเรือมายังพระนครศรีอยุทธยา ในวัน ๗ ๑๐ ฯ ๑ ค่ำนั้น ชาวเมืองละแวกตั้งทัพเรือตำบลพแนงเชิง แลได้รบพุ่งกัน ครั้งนั้น เศิกละแวกต้านมิได้ เลิกทัพกลับไป แลจับเอาคนณเมืองปักษ์ใต้ไปครั้งนั้นมาก ในปีนั้น น้ำณกรุงศรีอยุทธยาน้อย.
ศักราช ๙๔๐ ขาลศก พระญาละแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพ็ชรบูรี มิได้เมือง และชาวละแวกนั้นกลับไป ครั้งนั้น พระญาจีนจันตุหนีมาแต่เมืองละแวกมาสู่พระราชสมภาร ครั้นอยู่มา พระญาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมืองศักราช ๙๔๒ มโรงศก รื้อกำแพงกรุงพระนครออกไปตั้งเถิงริมแม่น้ำ.
ศักราช ๙๔๓ มะเสงศก ญาณประเชียรเรียนสาตราคม แลคิดเปนขบถ คนทั้งปวงสมัคเข้าด้วยมาก แลยกมาจากเมืองลพบูรี แลยืนช้างอยู่ตำบลหัวตรี แลบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับฅอช้าง แลในปีนั้น มีหนังสือมาแต่เมืองหงษาว่า ปีมะเสง ตรีนิศกนี้ อธิกมาศมิได้ ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุทธยานี้มีอธิกมาศ อนึ่ง ในวัน ๗ ๙ฯ ๒ ค่ำ รู้ข่าวมาว่า พระเจ้าหงษานฤพาน อนึ่ง ในเดือน ๓ นั้น พระญาละแวกยกพลมาเมืองเพ็ชรบูรี ครั้งนั้น เสียเมืองเพ็ชรบูรีแก่พระญาละแวก.
ศักราช ๙๔๔ มะเมียศก พระญาละแวกแต่งทัพให้มาจับคนปลายด่านตวันออก.
ศักราช ๙๔๕ มะแมศก ครั้งนั้น เกิดเพลิงไหม้แต่จวนกลาโหม แลเพลิงนั้นลามไปเถิงในพระราชวัง แลลามไหม้ไปเมืองท้ายเมือง ครั้งนั้น รู้ข่าวมาว่า ข้างหงษาทำทางมาพระนครศรีอยุทธยา.
ศักราช ๙๔๖ วอกศก ครั้งนั้น สมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าเสวยราชสมบัติณเมืองพิศณุโลก รู้ข่าวมาว่า พระเจ้าหงษากับพระเจ้าอางวะผิดกัน ครั้งนั้น เสด็จไปช่วยการเศิกพระเจ้าหงษา แลอยู่ในวัน ๕ ๓ฯ ๕ ค่ำ ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลแลช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน แลงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย แลโหรทำนายว่า ห้ามยาตรา แลมีพระราชโองการตรัสว่า ได้ตกแต่งการนั้นสรัพแล้ว จึงเสด็จพยุหบาตราไป ครั้นเถิงณวัน ๔ ๙ฯ ๕ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพไชยตำบลวัดยมท้ายเมืองกำแพงเพ็ชร์ ในวันนั้น แผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปเถิงเมืองแกรง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนครศรีอยุทธยา ฝ่ายเมืองพิศณุโลกนั้น อยู่ในวัน ๔ ๘ฯ ๑๐ ค่ำ เกิดอัศจรรย์ แม่น้ำซายหัวเมืองพิศณุโลกนั้นป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก อนึ่ง เห็นสัตรีภาพผู้หนึ่ง หน้าประดุจหน้าช้าง แลทรงสัณฐานประดุจงวงช้าง แลหูนั้นใหญ่ นั่งอยู่ณวัดประสาทหัวเมืองพิศณุโลก อนึ่ง ช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ณท้องสนามนั้นอยู่ก็ล้มลงตายกับที่บัดเดี๋ยวนั้น อนึ่ง เห็นตักแตนบินมาณอากาศเปนอันมาก แลบังแสงพระอาทิตย์บดมา แล้วก็บินกระจัดกระจายสูญไป ในปีเดียวนั้น ให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา ในปีเดียวนั้น พระเจ้าหงษาให้พระเจ้าสาวถีแลพระญาพสิมยกพลลงมายังกรุงพระนคร แลณวัน ๔ ๒ฯ ๒ ค่ำ เพลาเที่ยงคืนแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้น เศิกหงษาแตกพ่ายหนีไป อนึ่ง ม้าตัวหนึ่งตกลูก แลศีรษะม้านั้นเปนศีรษะเดียว แต่ตัวม้านั้นเปน ๒ ตัว แลเท้าม้านั้นตัวละสี่เท้า ประดุจชิงศีรษะแก่กัน.
ศักราช ๙๔๗ ระกาศก พระเจ้าสาวถียกพลลงมาครั้งหนึ่งเล่า ตั้งทัพตำบลสะเกษ แลตั้งอยู่แต่ณเดือนยี่เถิงเดือนสี่ ครั้นเถิงวัน ๔ ๗ฯ ๕ ค่ำ เวลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกาบาท เสด็จพยุหบาตราตั้งทัพไชยตำบลหล่มพลี แลณวัน ๗ ๑๐ ฯ ๕ ค่ำ เสด็จจากทัพไชยโดยทางชลมารคไปทางป่าโมก มีนกกระทุงบินมาทั้งซ้ายขวาเปนอันมากนำหน้าเรือพระที่นั่งไป ครั้นเถิงวัน ๕ ๑๔ฯ ๕ ค่ำ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีปออกดาช้างม้าทั้งปวงอยู่ณริมน้ำ แลพระอาทิตย์ทรงกลด แลรัศมีกลดนั้นส่องลงมาต้องช้างพระที่นั่ง มีทรงสัณฐานประดุจเงากลดนั้นมากั้งช้างพระที่นั่ง ครั้งนั้น ตีทัพพระเจ้าสาวถีซึ่งตั้งอยู่ตำบลสะเกษนั้นแตกพ่ายไป ในปีเดียวนั้น มหาอุปราชายกพลมาโดยทางกำแพงเพ็ชร์ ตั้งทำนาอยู่ที่นั่น.
ศักราช ๙๔๘ จอศก ณวัน ๒ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ พระเจ้าหงษางาจีสยางยกพลลงมา เถิงกรุงพระนครณวัน ๕ ๒ฯ ๒ ค่ำ แลพระเจ้าหงษาเข้าล้อมพระนคร แลตั้งทัพตำบลขนอนปากคู แลทัพมหาอุปราชาตั้งขนอนบางตนาว แลทัพทั้งปวงนั้นก็ตั้งรายกันไปล้อมพระนครอยู่ แลครั้งนั้น ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ แลพระเจ้าหงษาเลิกทัพคืนไป ในศักราช ๙๔๙ นั้น วัน ๒ ๑๔ฯ ๕ ค่ำ เสด็จโดยทางชลมารคไปตีทัพมหาอุปราชาอันตั้งอยู่ขนอนบางตนาวนั้นแตกพ่ายลงไปตั้งอยู่ณบางกระดาน วัน ๖ ๑๐ฯ ๖ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนิรออกไปตีทัพมหาอุปราชาอันลงไปตั้งอยู่ณบางกระดานนั้นแตกพ่ายไป วัน ๕ ๑ฯ ๗ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนิรพยุหบาตราออกตั้งทัพไชยณวัดเดช แลตั้งค่ายขุดคูเปนสามารถ วัน ๕ ๘ฯ ๗ ค่ำ เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงเอาค่ายพระเจ้าหงษา ๆ ต้านมิได้ ก็เลิกทัพไปตั้งณป่าโมกใหญ่ วัน ๒ ๑๐ ฯ ๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนิรออกไปตีทัพข้าเศิก ๆ นั้นแตกพ่าย แลไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไปจนค่ายพระเจ้าหงษานั้น วัน ๓ ๑๐ฯ ๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนิรออกตั้งเปนทัพซุ่มณทุ่งหล่มพลี แลออกตีทัพข้าเศิก ครั้งนั้น ได้รบพุ่งตลุมบอนกันกับม้าพระที่นั่ง แลทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารตาย ครั้นข้าเศิกแตกพ่ายเข้าค่าย แลไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไปจนเถิงน่าค่าย วัน ๒ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ เพลานาฬิกาหนึ่งจะรุ่ง เสด็จยกทัพเรือออกไปตีทัพพระญานครซึ่งตั้งอยู่ณปากน้ำมุทุเลานั้น ครั้งนั้น เข้าตีทัพได้เถิงในค่าย แลข้าเศิกพ่ายหนีจากค่ายข้าเศิกเสียสิ้น แลพระเจ้าหงษาก็เลิกทัพคืนไป แลพระญาละแวกมาตั้งณบางซาย ครั้งนั้น เสด็จออกไปชุมพลทั้งปวงณบางกระดาน เถิงวัน ๕ ๑ฯ ๓ ค่ำ เพลาอุษาโยค เสด็จยุหบาตราจากบางกระดานไปตั้งทัพไชยณซายเคือง แล้วเสด็จไปละแวก ครั้งนั้น ได้ช้างม้าผู้คนมาก.
ศักราช ๙๕๐ ชวดศก ณวัน ๒ ๘ฯ ๑๒ ค่ำ แผ่นดินไหว.
ศักราช ๙๕๑ ฉลูศก เข้าแพงเปนเกียนละสิบตำลึง ปิดตราพระญานารายน์กำชับ ณวัน ๖ ๗ฯ ๒ ค่ำ แผ่นดินไหว.
ศักราช ๙๕๒ ขาลศก วัน ๑ ๑๓ฯ ๘ ค่ำ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน วัน ๓ ๒ฯ ๑๒ ค่ำ มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบูรี ครั้งนั้น ได้ตัวพระญาพสิมตำบลตะเข้สามพัน.
ศักราช ๙๕๔ มะโรงศก วัน ๖ ๒ฯ ๑๒ ค่ำ อุปราชายกมาแต่เมืองหงษา ณวัน ๗ ๑ฯ ๑ ค่ำ เพดาลช้างต้นพระญาไชยาณุภาพตกออกมาใหญ่ประมาณ ๕ องคุลี ครั้นเถิงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาเถิงแดนเมืองสุพรรณบุรี แต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ วัน ๑ ๙ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลม่วงหวาน แลณวัน ๔ ๑๒ ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยทางสถลมารค อนึ่ง เมื่อจะใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น เห็นพระสารีริกธาตุปาฏิหารไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น เถิงวัน ๒ ๒ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพระญาไชยานุภาพเสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้น มิได้ตามฤกษ์ แลฝ่าย(ฝ่า)ฤกษ์หน่อยหนึ่ง แลเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายน์บพิตรเปนเจ้าต้องปืนณพระหัดถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่ง เมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน แลเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้น มหาอุปราชาขาดฅอช้างตายในที่นั้น แลช้างต้นพระญาไชยานุภาพซึ่งทรงแลได้ชนด้วยมหาอุปราชาแลมีไชยชนะนั้น พระราชทานให้ชื่อเจ้าพระญาปราบหงษา.
ศักราช ๙๕๕ มะเสงศก วัน ๒ ๕ฯ ๑๐ ค่ำ เสด็จเถลิงพระมหาปราสาท ครั้งนั้น ทรงพระโกรธแก่มอญ ให้เอามอญเผาเสียประมาณ ๑๐๐ ณวัน ๖ ๑๐ ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๖ บาท เสด็จพยุหบาตราไปเอาเมืองละแวก แลตั้งทัพไชยตำบลบางขวด เสด็จไปครั้งนั้น ได้ตัวพระญาศรีสุพรรณในวัน ๑ ๑ฯ ๔ ค่ำนั้น.
ศักราช ๙๕๖ มะเมียศก ยกทัพไปเมืองสะโตง.
ศักราช ๙๕๗ มะแมศก วัน ๑ ๓ฯ ๑ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราไปเมืองหงษา ครั้งก่อน ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลม่วงหวาน เถิงวัน ๒ ๑๓ฯ ๔ ค่ำ เพลาเที่ยงคืนแล้ว เข้าปล้นหงษามิได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา.
ศักราช ๙๕๘ วอกศก วัน ๓ ๔ฯ ๖ ค่ำ ลาวหนี ขุนจ่าเมืองรบลาวตำบลตะเคียนด้วน แลณวัน ๕ ๖ฯ ๓ ค่ำ ฝนตกหนักหนาสามวันดุจฤดูฝน.
ศักราช ๙๖๑ กุญศก วัน ๕ ๑๑ ฯ ๑๑ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๘ บาท เสด็จพยุหบาตราไปเมืองตองอู ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลวัดตาล แลในเดือน ๑๑ นั้น สงกรานต์ พระเสาร์แต่(ราศีกันย์ไปราศี)ดุลย์ ครั้นเถิงวัน ๔ ๑๐ ฯ ๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนิรเถิงเมืองตองอู แลทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณ ๓๐ เส้น แลตั้งอยู่ที่นั้นสองเดือน ขาดอาหารพ้นกำลัง ไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอดอาหารเปนอันมาก ครั้นวัน ๔ ๖ฯ ๖ ค่ำ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนครศรีอยุทธยา.
ศักราช ๙๖๓ ฉลูศก เดือน ๗ เดือนเดียวนั้น มีสุรียุปราคา ในปีนั้น รับพระอิศวรแลพระนารายน์เปนเจ้าไปถวายพระพรพร้อมกันวันเดียวทั้ง ๔ คานหาม.
ศักราช ๙๖๔ ขาลศก เสด็จไปประพาสลพบูรี.
ศักราช ๙๖๕ เถาะศก ทัพพระ(เจ้า)ฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้.
ศักราช ๙๖๖ มะโรงศก วัน ๕ ( ๖ฯ ๒) ค่ำ เสด็จพยุหบาตราจากป่าโมกโดยทางชลมารค แลฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช ตั้งทัพไชยตำบลพระหล่อ วันนั้นเปนวันอุน แลเปนสงกรานต์ พระเสาร์ไปราศีธนูเปนองค์ษาหนึ่ง ครั้งนั้น ครั้นเสด็จพระราชดำเนิรเถิงเมืองหลวงตำบลทุ่งดอนแก้ว.
เมื่อกำลังพิมพ์พระราชพงษาวดารนี้อยู่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ประทานสำเนาอักษรจาฤกแผ่นศิลาหน้ามณฑปพระพุทธบาทจำลองวัดจุฬามณีเมืองพิศณุโลกแก่หอพระสมุดวชิรญาณ จึงได้คัดมาพิมพ์ไว้ในที่สุดนี้ เพื่อประกอบความเข้ากับพงษาวดาร ดังนี้
ลุศักราช ๘๒๖ ปีวอกนักษัตร อันดับน้นน สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนารถบพิตรเปนเจ้าให้สร้างอารามจุลามณีที่จะเสดจออกทรงมหาภิเนษกรม ขณะน้นน เอกราชทังสามเมือง คือ พระญาล้านช้าง แลมหาราชพระญาเชียงใหม่ แลพระญาหงษาวดี ชมพระราชศรัทธา ก็แต่งเครื่องอัษฐบริขารให้มาถวาย.
ลุศักราช ๘๒๗ ปีรกานักษัตร เดือนแปด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ครุเทพวาร สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนารถบพิตรเป็นเจ้าเสด็จทรงพระผนวช แลสมเด็จพระราชเอารสท่านกราบลงกับพระบาท แล้วก็สู่พระราเชนทรยาน แลท่านก็ให้บวชพระสงฆ์ปริวัตรก่อนห้าพระองค์ แล้วท่านจึงทรงเครื่องบรรพชิต แลพระสงฆ์บวชโดยเสด็จทั้งสี่คณะ ๒๓๔๘ พระองค์ แต่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนารถบพิตรเป็นเจ้าทรงพระผนวชอยู่ได้แปดเดือนสิบห้าวัน ครั้นเถิงเดือนห้า สมเด็จพระเอารสท่านแลพฤฒามาตย์ทั้งหลายถวายบังคมขออัญเชิญพระองค์เสด็จลาผนวชช่วยครองราษฎรกรรมทั้งปวง ท่านก็เสด็จปริวัตร แล้วก็ล่องลงมายังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา.
พุทธศักราชได้ ๒๒๒๒ ปีปลาย ๑๐ เดือนห้าวันวอกโทศก (จุลศักราช ๑๐๔๒) รุ่งแล้วห้าโมง หลวงสิทธิ์มหาดเล็กรับพระราชโองการ แลหมื่นราชสังฆการีรับหมายรับผ้าพระราชทาน ให้พระครูธรรมไตรโลกนารถราชมุนีสีลวิสุทธาจารย์อธิการณอารามจุลามณีทาบรอยพระพุทธบาท ด้วยพระเดชสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารธรรมิกราชาธิราชเจ้าผู้ประเสริฐในภพ มีพระโองการตรัสให้อนุญาตให้ไปประดิษฐานไว้ณอารามวัดจุลามณีเปนที่นมัสการแด่สมณะพราหมณาจารยแลประชาราษฎรอันมิได้มานมัสการพระพุทธบาท แลจึงพระราชทานแผ่นศิลาควร(ถุทุณา)พระพุทธบาทแลแผ่นศิลาแผ่นหนึ่งให้ลงจาฤกพระราชวงษาวดารแลพระราชตำราแลกัลปนาข้าพระจุลามณีอันประจุพระเกษาแลเปนข้าพระพุทธบาท ลุศักราช ๑๐๔๓ ปีรกา ตรีณิศก วันศุกร ขึ้นค่ำหนึ่ง ยามศุกร ๑๐ ชั้นฤกษ ๒๑ รับพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ในมณฑป.
ตำรานี้พิจารณาแล้วแลปิดตรามนุษถือสมุดพระศรีสุเรนทราธิบดีอภัยพิริยาพรหมเทพราชมาตยาธิบดีศรีกลาสมุดสมุหพระสุรัสวดีประจำอักษรไว้กลาง(ขหนบ วน)ศก เดือนอ้าย ขึ้นสิบเบ็จค่ำ รกานักษัตร ตรีณิศก จึงพระศรีสรรเพ็ชสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชเมศวรธรรมิกราชเดโชชัยบรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิมกุฏพุทธางกูรบรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาธิราชอันประเสริฐ เสด็จอยู่ในพระที่นั่งศรีสุริยาศน์อมรินทราชมหาสถานโดยอุตราภิมุข จึงพระพิมลธรรมอนันตญาณสุทธอุดมราชกระวีศรีสงฆบรินายกติปิฎกธรวรญาณคำภีรสธรรมราชมุณีบพิตรถวายพระพรทูลพระกรุณาว่า เมืองพิศณุโลกแต่ก่อนน้นน มีข้าพระเปนกัลปนาพระราชทานอุทิศไว้สำหรับพระอาราม แลบัดนี้ข้าพระทั้งปวงแตกฉานซ่านเซนอยู่ แลคนเปนเดิมข้าพระไปอยู่อื่นนั้นควรภิกษุ...(ศิลาชำรุด)...ทังสิบแปดคนนี้เปนข้าพระณอารามจุลามณี...(ชำรุด)...สิบแปดคนนี้แลถวายไว้ให้คงเปนข้าพระณอารามจุลามณีตามเดิมมาแต่ก่อนแล้ว ถ้าบุคคลผู้ใดแลเอาคนข้าพระสิบแปดคนอันพระกัลปนาพ...(ชำรุด)...ท่านไว้เปนข้าพระอารามพระจุลามณีไปใช้สอยกิจราชการ...(ชำรุด)...ไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...(ชำรุด) บุท...(ชำรุด)...จงไปตกนรกหมกไหม้ใต้บาดาลได้ทุกข์นิรันดร แล้วอย่าได้พบพระพุทธ์พระธรรมพระสงฆ์จงทุกชาติเลย ๚
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก