คำนำ

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการเมื่อ ร,ศ, ๑๑๔ ได้ทรงตั้งหลักสูตร์สำหรับการสอบไล่วิชาภาษาไทยตามพระราบัญญัติ์การสอบวิชา ร,ศ, ๑๐๙ แบ่งประโยคออกเปนประโยคละ ๓ ชั้น มาเมื่อ ร,ศ, ๑๑๘ ประโยค ๓ แบ่งเปน ๔ ชั้น ในประโยค ๒ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ใช้พระราชพงษาวดารพิสดาร เล่ม ๑ เล่ม ๒ เปนหนังสืออ่าน แต่ประโยค ๓ ชั้น ๑ นั้นยังไม่มีหนังสือสำหรับอ่าน จึงโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระราชพงษาวดารพิสดารออกเปน ๓ ภาค ๆ ละเล่ม ๆ ละชั้น เล่ม ๓ ใช้ในประโยค ๓ ชั้น ๑ ตามหลักสูตร์ของกรมศึกษาธิการ ในเล่ม ๑ นั้นแบ่งตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอยู่หัวอู่ทองมาจนแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพที่ ๗ พระศรีสุธรรมราชา เล่ม ๒ ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ พระนารายน์มหาราช จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ในเล่ม ๓ ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ พระเจ้าตากสิน แลมาจนแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์

แต่หนังสือพระราชพงษาวดารพิสดารนั้นเปนหนังสือเก่า ยังไม่ได้ชำระต้นฉบับ ซึ่งใช้อักษรเคลื่อนคลาดขาดตกบกพร่องมาก พาให้ฟั่นเฟือนแก่นักเรียนจะเขียนอ่าน กรมศึกษาธิการจึ่งได้ชำระตรวจแก้อักษรที่ผิดแลขาดตกบกพร่องนั้นให้ตรงตามวิธีเรียนของกรมศึกษาธิการ แลศัพท์ที่ยากก็แปลกำกับไว้ข้างท้ายพอเปนทางเข้าใจของนักเรียน กับได้เทียบเคียงบางเรื่องที่เคลื่อนคลาดให้ตรงตามพระราชพงษาวดารสังเขปที่กรมศึกษาธิการได้ชำระแล้วนั้น

การที่จะเรียนหนังสือพระราชพงษาวดารนี้มีความรู้ที่จะชี้ไว้ให้ครูฝึกหัดนักเรียน ใช่แต่อ่านอย่างเดียว ใช้เขียนตามคำบอกก็ได้

ครูจะหัดให้นักเรียนเรียงความก็ได้ ถ้าอ่านถึงเรื่องตรงใดซึ่งมีลักษณเปนใบบอก ครูจงให้นักเรียนแต่งเปนใบบอกราชการขึ้นบ้าง ตามตัวอย่างที่วางไว้ข้างท้ายเล่ม ๒ เล่ม ๓ นั้น

ถ้าเรื่องที่จะทำนั้นจะเปนวิธีรายงาน ก็ให้ทำเปนรายงานระยะทาง, หรือวิธีชมนกชมไม้แลชมสัตว์หรือมัจฉาชาติ์โดยลำนำต่าง ๆ ก็ได้ ซึ่งใช้เกี่ยวไปในสยามเวยยากรณ์ฉันทลักษณ์นั้น

ถ้าถึงที่ข้าศึกขบขันเข้าก็ดี หรือมีพระราชศาสน์ศุภอักษรมาก็ดี ครูควรตั้งคำถามให้ศิษย์ตอบคำหารือแก้กระบวนศึกแลแต่งตอบราชศาสน์ศุภอักษรด้วยก็ได้

ครูต้องหาเรื่องในพระราชพงษาวดารนี้มาตั้งคำถามให้มาก ๆ "เช่น ตัวอย่างว่า ปืนใหญ่บอกหนึ่งหนักมากเหลือกำลังที่จะชักรอกขันกว้านขึ้นชั่งให้รู้ว่าหนักเท่าไรนั้น นักเรียนจะคิดอย่างไรจึ่งจะรู้น้ำหนักปืนได้" ดั่งนี้เปนต้น หรือในคำปฤกษาหารือพระราชโองการดำรัสถามก็ดี แม่ทัพหารือก็ดี ควรถามสำหรับให้เด็กตอบได้จำเรื่องแม่นเปนตอน ๆ แล้วก็จะต่อเรื่องกันง่าย ให้ดูหมายเหตุ์เบ็ตเล็ดข้างท้ายแล้วเล่าเรื่องหรือแต่งเรื่องบ้าง ตามแต่ครูคิดเห็นว่าข้อใดควร

อนึ่ง เปนนิยมอย่างหนึ่งที่นักเรียนทุกคนจะถือไว้ในใจด้วยจะเปนนักเลงอ่านหนังสือ คือว่า ถ้าพบหนังสือหรือจะอ่านเมื่อใดก็ดี ต้องดูหนังสือหรือเรื่องแลคำนำบานพแนกสารบานเรื่องหมายเหตุ์ของหนังสือให้จงได้ หนังสือพระราชพงษาวดารนี้ เราย่อมนับถือว่า เปนหนังสือสำหรับชาติ์ของเรา ๆ จะไม่รู้กันเลยนั้น เท่ากับเราไม่รู้จักตัวของเราเอ็ง ก็ตัวของเราเอ็งไม่รู้จักแล้ว เราจะรู้จักคนอื่นอย่างไรได้ ฯลฯลฯ

  • หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปลัดกรม ๆ ศึกษาธิการ
  • ร,ศ, ๑๒๐