พระราชพงษาวดาร
1. เรื่องต้นพระราชพงษาวดาร
ดำเนินความ

จักดำเนินเรื่องต้นพระราชพงษาวดาร, โดยลำดับโบราณมหาราชครองราชสมบัติ์, สืบ ๆ กันมาในสยามประเทศนี้ว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งครองราชสมบัติ์, อยู่ณะเมืองเชียงรายโยนกประเทศ, เปนพระนครใหญ่. มีพระเจ้ามหาราชพระองค์หนึ่งครองราชสมบัติ์อยู่ณะเมืองสตอง ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงราย, ได้ทำสงครามแก่กัน, พระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้เสียเมืองแก่พระยาสตอง. จึ่งกวาดครอบครัวอพยพ, ชาวเมืองเชียงรายหนีฆ่าศึกมายังแว่นแคว่นสยามประเทศนี้, ข้ามแม่น้ำโพมาถึงเมืองแปป เปนเมืองร้าง. อยู่คนละฟากฝั่งกับเมืองกำแพงเพ็ชร์, ด้วยบุญญานุภาพของพระองค์เปนมหัศจรรย์, บันดานให้ร้อนถึงสมเด็จอำมรินทราธิราชเนรมิตร์พระกายเปนดาบศ, เสด็จลงมาประดิษฐานอยู่ตรงหน้าช้างพระที่นั่ง แล้วตรัสบอกว่า, ให้ตั้งพระนครในที่นี้, เปนที่ไชยมงคลพ้นไภยปัจจามิตร์. แล้วก็อันตรธานหายไปเฉพาะพระเนตร์. พระเจ้าเชียงรายก็ทรงพระโสมนัศตรัสว่า, พระดาบสองค์นี้ชรอยจะเปนสมเด็จอำมรินทราธิราชแสร้งจำแลงพระกายมาบอกให้เปนแท้. จึ่งให้ตั้งชมรมสำนักนิ์ไพร่พลอยู่ในที่นั้น. แล้วให้สร้างพระนครพร้อมด้วยเชิงเทินป้อมต้ายค่ายคูประตูหอรบครบบริบูรณ์. แล้วสร้างพระราชนิเวศน์สถาน, แลบ้านเรือนแสนท้าวพระยาลาวเหล่าอำมาตย์ราษฎรทั้งปวง, อาไศรยอยู่ในเมืองนั้นสำเร็จแล้ว. ให้นามเมืองว่า เมืองไตรยตรึงษ์. เหตุสมเด็จท้าวสหัสไนยน์มาชี้ที่ให้, ก็เสด็จครองราชสมบัติอยู่ในพระนครนั้น, ตราบเท่าทิวงคต. แลพระราชโอรสราชนัดดาได้ครองสมบัติสืบพระวงษต่อกันมาถึง ๔ ชั่วแผ่นดิน. ครั้งนั้น ยังมีชายเข็ญใจคนหนึ่ง, เปนปมเปาทั่วทั้งร่างกาย, คนทั้งหลายร้องเรียกชื่อว่า นายแสนปม, ๆ นั้นทำไร่ปลูกพริกมเขืออยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำใต้เมืองไตรยตรึงษลงไปทางวันหนึ่ง, เก็บผลพริกมเขือขายเลี้ยงชีวิตร์. แลมเขือต้นหนึ่งนั้นอยู่ใกล้ห้างที่อาไศรย. นายแสนปมไปถ่ายปัสสาวะลงที่ริมต้นนั้นเปนนิจ, มเขือนั้นออกผล, ผลหนึ่งใหญ่กว่ามเขือทั้งปวง. เหตุ์ทราบไปด้วยรศแห่งมูตร์, อันเจือไปด้วยสัมภวะราค. พอพระราชธิดาพระยาไตรยตรึงษ์อยากเสวยผลมเขือ, จึ่งใช้สาวใช้ไปเที่ยวซื้อ. ก็ได้ผลมเขือใหญ่นั้นมาเสวย, นางก็ทรงพระครรภ์. ทราบถึงพระราชบิดาตรัสไต่ถาม, ก็ไม่ได้ความว่า คบหาสมัคสังวาศกับด้วยบุรุษผู้ใด จนพระครรภ์แก่กำหนดทศมาศ ก็ประสูตร์พระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยบุญธัญลักษณ. พระญาติวงษ์ทั้งหลายบำรุงเลี้ยงพระราชกุมาร, จนทรงพระเจริญขึ้น พระชนม์ได้ ๓ ขวบ. สมเด็จพระไอยการทรงพระราชดำริห์จะทดลองเสี่ยงทายแสวงหาบิดาพระราชกุมาร, จึ่งให้ตีกลองป่าวร้องแต่บันดาชายชาวเมือง, ให้เข้ามาประชุมในน่าพระลานให้สิ้น, ให้ถือขนมแลผลไม้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาจงถ้วนทุกคน. แล้วจึ่งทรงพระสัตยาธิฐานว่า, ถ้าบุรุษผู้ใดเปนบิดาของกุมารนี้, ขอให้กุมารจงรับเอาสิ่งของในมือแห่งบุรุษผู้นั้น, มาบริโภคให้เห็นประจักษ์เถิด. แล้วให้นางนมอู้มพระราชกุมารออกไปสู่ที่ประชุมชนในพระลาน. ฝ่ายนายแสนปมนั้น, ได้แต่ก้อนเข้าเย็นถือก้อนหนึ่ง พระราชกุมารก็วิ่งเข้ากอดฅอนายแสนปม, แล้วรับเอาก้อนเข้าเย็นมาเสวย. คนทั้งปวงเห็นก็พิศวงชวนกันกล่าวติเตียนต่าง ๆ, พระเจ้าไตรยตรึงษ์ก็ลอายพระไทยได้ความอัปยศ. จึ่งประทานพระราชธิดากับทั้งพระนัดดานั้น, ให้แก่นายแสนปม, แล้วให้ลงแพลอยไปจากเมือง ครั้นแพลอยลงไปถึงที่ไร่มเขือ, นายแสนปมก็พาบุตร์ภรรยาขึ้นอยู่บนห้างอันเปนที่อาไศรย. ด้วยบุญญานุภาพของชนทั้งสาม, ก็บันดานร้อนถึงสมเด็จอำมรินทราธิราช, จึ่งนฤมิตร์พระกายเปนวานร, ถือเอากลองทิพย์มาส่งให้แก่นายแสนปม. แล้วตรัสบอกว่า ถ้าท่านจะปราถนาสิ่งใด, จงตีเภรีนี้ อาจให้สำเร็จความปราถนาทุกประการ. แล้ววานรก็หายไปในที่เฉพาะหน้า, นายแสนปมก็แจ้งว่า เทพยุดานำเอากลองทิพย์มาให้ มีความยินดีนัก จึ่งตีกลองเข้า ปราถนาจะให้รูปงาม, แลปมเปาทั้งปวงนั้นก็หายสิ้น, รูปกายก็งามบริสุทธิ์. จึ่งนำเอากลองทิพย์ไปสู่สำนักแล้วบอกเหตุ์แก่ภรรยา. นางนั้นก็มีความโสมนัศ, จึ่งตีกลองนฤมิตร์ทองธรรมชาติ์ให้ช่างทอง, ทำอู่ทองให้โอรสไสยาศน์. เหตุ์ดังนั้น พระราชกุมารจึ่งได้นามปรากฏ, ว่า เจ้าอู่ทอง จำเดิมแต่นั้นมา.

ลุศักราช ๖๘๑ ปีมแม เอกศก, จึงบิดาเจ้าอู่ทองราชกุมารก็ตีทิพย์เภรีนฤมิตร์เปนพระนครขึ้นในที่นั้น. มีทั้งปราการเชิงเทินป้อมต้ายค่ายคูประตูหอรบครบบริบูรณ์ทุกสิ่ง. พร้อมทั้งพระราชวังบวรนิเวศน์สถาน. จึงตั้งนามว่า. เมืองเทพนคร เหตุ์สำเร็จด้วยเทวานุภาพ. ครั้งนั้น ประชาชนทั้งหลาย. ชักชวนกันมาอาไศรยตั้งบ้านเรืออยู่. ในพระนครนั้นเปนอันมาก. เมืองนั้นก็มั่งคั่งสมบูรร์ด้วยอาณาประชาราษฎร. แลบิดาเจ้าอู่ทองก็ได้ครองราชสมบัติในเมืองเทพนครนั้น ทรงนาม สมเด็จพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน. บันฦๅพระเกียริยศปรากฎในสยามประเทศนี้. ๚ะ๛