พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 1/บท 22
๏สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า พระชนม์ได้ ๓๕ พระพรรษา ขึ้นเสวยราชสมบัติ ดำรัศให้สมเด็จพระอนุชาเปนพระมหาอุปราช แล้วแต่งการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระราชบิดาเสร็จแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศแก่มุขอำมาตย์ว่า แผ่นดินกรุงกัมพุชประเทศกุรุราฏฐนั้น ผู้ใดครองสมบัติ จิตรมักเปนสันดานพาลทุจริต เหมือนพระยาแลวกบิดานักพระสุโท นักพระสุทัน เมื่อศึกกรุงหงษาวดียกมาคราวแรกครั้งสมเด็จพระไอยกาธิราชเจ้าผ่านพิภพใหม่นั้น พระยาแลวกก็ยกทัพเข้ามาพลอยซ้ำตีกวาดเอาอพยพชาวเมืองปราจิณบุรีไป จนสมเด็จพระบรมราชไอยกาต้องเสด็จยกพยุหโยธาออกไปปราบ จึงถวายนักพระสุโท นักพระสุทัน ราชบุตร เข้ามา แล้วนักพระสัฏฐาผู้น้องไปเอาทัพญวนมาตีฆ่าบิดานักพระสุโท นักพระสุทัน เสีย นักพระสัฏฐาได้สมบัติกรุงกัมพูชาธิบดีเปนพระยาแลวก ครั้นแผ่นดินเปนของพระราชบิดาเรา ก็ยกทัพจู่มาถึงวัดสามพิหาร จนเสียพระจำปาธิราชลูกชาย ก็ยังหาเข็ดหลาบไม่ มีศึกหงษามาติดพระนครครั้งใด ก็มีแต่ยกทัพมาพลอยซ้ำตีกวาดเอาประชาราษฎรข้าขอบขัณฑเสมาไปทุกครั้ง แล้วกลับแต่งทูตานุทูตมาขอเปนทางพระราชไมตรี สมเด็จพระบรมราชบิดาเรามิได้มีพระไทยอาฆาฏเพื่อมิให้เสียธรรมราชประเพณี จนปันเขตรแดนปักศิลาจาฤก ครั้นศึกพระเจ้าเชียงใหม่ยกมา พระยาแลวกแต่งให้น้องชายมาช่วยงานพระราชสงคราม น้องนายนั้นมิได้มีสติสัมปชัญญดุจหนึ่งสิงคาลชาติโบดก ฝ่ายพระยาแลวกก็ปราศจากวิจารณปัญญา มีแต่พาลทุจริตในสันดานละสัจสุจริตธรรมเสีย กลับยกทัพมาตีประจันตชนบทอิกเล่า ความแค้นของเราดังว่าเสี้ยนยอกอยู่ในอุรไม่หายเลย แลครั้งนี้ แผ่นดินเปนของเราแล้ว เราจะยกไปแก้แค้นเอาโลหิตพระยาแลวกล้างบาทาเสียให้จงได้ ตรัศแล้วสั่งให้เกณฑ์ทัพสกรรจ์ลำเครื่องสิบหมื่น ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย น้ำลงแห้งเท้าช้างเท้าม้าแล้ว จะยกไป.
๏ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีแจ้งข่าวไปว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาดับสูญทิวงคตแล้ว ตรัศแก่พระมหาอุปราชาว่า เจ้ากับมหาราชเจ้าพระนครเชียงใหม่จงยกทัพลงไปฟังอึงกิตาการดู พระนครศรีอยุทธยาผลัดแผ่นดินใหม่ เสนาพฤฒามาตย์ราษฎรทั้งปวงจะเปนจลาจลประการใดบ้าง ถ้าพอจะทำได้ ให้ทำ อย่าให้เสียที พระมหาอุปราชากราบทูลพระราชบิดาว่า โหรทายว่า ชัณษาข้าพระพุทธเจ้าร้ายนัก สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า พระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีบุตร การสงครามไม่พักให้พระบิดาใช้เลย ต้องห้ามเสียอิก แลซึ่งเจ้าว่า เคราะห์ร้ายอยู่แล้ว ก็อย่าไปเลย เอาผ้าสัตรีนุ่งเสียเถิด จะได้สิ้นเคราะห์ พระมหาอุปราชาได้ฟังรับสั่งดังนั้น กลัวพระราชอาชญาพระราชบิดา ก็มาตรวจเตรียมรี้พลแลมีพระราชกำหนดไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ให้ยกมา พระเจ้าเชียงใหม่แจ้งพระราชกำหนดแล้ว ก็ยกทัพมากรุงหงษาวดี.
๏ลุศักราช ๙๔๑ ปีเถาะ เอกศก พระมหาอุปราชา พระเจ้าเชียงใหม่ ยกพลห้าสิบหมื่น ช้างเครื่องเจ็ดร้อย ม้าสามพัน มาข้ามเมืองเมาะตะมะมาโดยทางแม่กระษัตรเข้าทางพระเจดีย์สามองค์.
๏ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า ครั้นถึงณวัน ๑ ๖ฯ ๑ ค่ำ มีพระราชดำรัศให้เกณฑ์หัวเมืองปักษ์ใต้ทัพหนึ่งเสร็จแล้ว กำหนดพระฤกษ์จะยกไปเอาเมืองแลวก ครั้นณวัน ๗ ๑๒ ฯ ๑ ค่ำ จึงมีพระราชโองการสั่งมุขมนตรีผู้ใหญ่ให้รักษาพระนครว่า ทัพพระเจ้าหงษาวดีแตกไปครั้งนี้เปนทัพซึ่งจะบำรุงช้างม้ารี้พลแลจะกลับในน้ำลงปีนี้เห็นจะไม่ทัน แต่ทว่า จะไว้ใจมิได้ เกลือกจะคลั่งสงครามยกมา ถ้ายกมา ก็ให้รักษาเมืองไว้ท่าเราเดือนหนึ่งให้ได้ สั่งแล้วพอเวลาเย็น มีหนังสือเมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามาว่า ทัพพระมหาอุปราชา พระเจ้าเชียงใหม่ ยกมาถึงเมืองกาญจนบุรี ทำสพานข้ามอยู่แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบดังนั้นก็ดำรัศว่า เราเทียบรี้พลช้างม้าไว้ จะยกไปเอาเมืองแลวก บัดนี้ ทัพหงษาวดียกมาอิกเล่า จำจะยกออกไปเล่นสนุกกับมอญเสียก่อน แล้วมีพระราชกำหนดไปให้พระอมรินทรฦๅไชยเจ้าเมืองราชบุรีแต่งฅนห้าร้อยขึ้นไปซุ่มอยู่ ถ้าข้าศึกข้ามสพานได้แล้ว ให้ล้างสพานเผาเสียจงได้.
๏ฝ่ายพระมหาอุปราชาเสด็จยกทัพหลวงถึงกาญจนบุรี เห็นเมืองร้างเปล่าไม่มีฅน ก็เข้าพระไทยว่า ชาวพระนครรู้การ เทครัวอพยพเข้าเมืองสิ้น เสด็จประทับแรม ณ เมืองกาญจนบุรี ให้เที่ยวลาดจับฅนจะถามกิจการก็มิได้ ส่วนพระยาจิตตองกองน่าก็เร่งทำสพานข้ามพลเสร็จ รุ่งขึ้น พระมหาอุปราชาก็เสด็จกรีธาทัพหลวงมาโดยมารควิถีถึงตำบลพนมทวนเพลาชายแล้วสามนาฬิกา บังเกิดวายุเวรัมพวาตพัดหวนหอบธุลีฟุ้งผันเปนกงจักรกระทบมหาเสวตรฉัตรซึ่งกั้นมาหลังพระคชาธารนั้นหักทบลง พระมหาอุปราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ตกพระไทย ให้โหรสำหรับทัพทำนาย ถวายพยากรณ์ว่า เหตุนี้ถ้าเช้าในเที่ยงร้าย นี่ชายแล้ว เห็นเปนศุภนิมิตรที่พระองค์จะมีไชยได้พระนครศรีอยุทธยา สมเด็จพระราชบิดาจะเลื่อนพระองค์ขึ้นจากที่เสวตรฉัตรมหาอุปราชเถลิงถวัลยราชราไชสวรรยาในกรุงหงษาวดีเปนมั่นคง พระมหาอุปราชาตรัศได้ทรงฟังนั้น ก็ยังมิวางพระไทย จนเสด็จถึงตำบลพังตรุแดนสุพรรณบุรี ให้ตั้งทัพไชยโดยขบวน แล้วตรัศให้กองม้าสามร้อยลาดมาดูถึงตำบลเอกราช บางกทิง ว่า ทัพชาวพระนครมาตั้งรับอยู่ตำบลใดบ้าง.
๏ส่วนสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าตรัศปฤกษาแก่มุขมาตยาทั้งปวงว่า ศึกมหาอุปราชยกมาครั้งนี้ เราจะกรีธาพลออกต่อยุทธนาการกลางแปลงดีฤๅ ๆ จะตั้งมั่นรับในพระนครดี มุขมนตรีกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าทราบอยู่ว่า พระมหาอุปราชาเกรงพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จไปช่วยงานพระราชสงครามกรุงหงษาวดีตีเมืองรุม เมืองคัง ครั้งหนึ่งแล้ว แลครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีกับพระมหาอุปราชาคิดการเปนลับลวงให้เสด็จขึ้นไปจะทำร้าย ทำมิได้ จนทัพหลวงกวาดเอามหาเถรคันฉ่อง พระยาพระราม พระยาเกียรติ์ ญาติโยมครัวอพยพในชนบทประเทศขอบขัณฑเสมากรุงหงษาวดีมาข้ามฝั่งน้ำสโตง พระมหาอุปราชาตามทันฅนละฝั่งฟาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงปืนนกสับยิงข้ามฝั่งมหานทีอันกว้าง ต้องสุรกำมานายกองน่าตาย พระมหาอุปราชาแลท้าวพระยาสมิงรามัญก็ขยาดฝีพระหัตถ์เกรงพระเดชเดชานุภาพเปนสองครั้งแล้ว แลซึ่งพระมหาอุปราชายกมาครั้งนี้ปลาดนัก ด้วยศึกพ่ายเดือนเจ็ดยังไม่ทันบำรุงช้างม้ารี้พลถึงขนาด แลเดือนยี่ยกมาถึงพระนครนี้เห็นเร็วนัก ดีร้ายจะได้ข่าวว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต คิดว่า แผ่นดินเปนจลาจล จึงรุดมาโดยทำนองศึก ครั้นจะรับมั่นในกรุง ข้าศึกจะได้ใจ ขอเชิญเสด็จทัพหลวงออกตั้งรับนอกพระนคร แต่งกองทัพเข้าปะทะฟังกำลังดู ถ้าศึกหนัก จึงทัพหลวงเสด็จหักต่อภายหลัง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทรงฟังมุขมนตรีทูลดังนั้น ชอบพระไทยนัก แย้มพระโอฐดำรัศว่า ซึ่งปฤกษาการสงครามครั้งนี้ต้องความดำริห์เรา บัดนี้ ทัพเตรียมอยู่ณทุ่งบางขวดพร้อมอยู่แล้ว ให้ยกไปตั้งปากโมก เอาแต่ทัพหัวเมืองตรีจัตวายี่สิบสามหัวเมืองเปนฅนห้าหมื่น ให้พระยาศรีไสยณรงค์เปนแม่กอง ให้พระยาราชฤทธานนต์เปนยุกรบัตร ยกไปขัดรับน่าข้าศึกอยู่ตำบลทุ่งหนองสร่าย พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาราชฤทธานนต์ กราบถวายบังคมลาออกมาจัดแจงไพร่พลยกทัพไปโดยพระราชบัญชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศให้โหราหาฤกษ์ พระโหราธิบดี หลวงโลกทีป ขุนเทพากร คำนวณพระฤกษ์ถวายว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จตุรงคโชคสรรพสฤษดิพร้อมมีไชยข้าศึก ขอเชิญเสด็จจากพระนครณวัน ๑ ๑๑ ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาห้าบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้สมุหนายกกำหนดทัพหลวงจะเสด็จโดยชลมารคไปตั้งทัพไชยปากโมก สมุหนายกก็แจกพระราชกำหนดทูลข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือนเตรียมการอันจะเสด็จพระราชดำเนินนั้นเสร็จ ถึงณวัน ๑ ๑๑ ฯ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาห้าบาท ได้ศุภมหุติมหาวิไชยฤกษ์ สมเด็จพระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงเครื่องสำหรับพิไชยยุทธสงครามเสร็จ ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน อันอลังการรจนาด้วยมหาเสวตรบวรฉัตร ขนัดเครื่องอภิรุมชุมสายพรายพรรณ บังรวิวรรณบังแทรกสลอนสลับ สรรพด้วยกันชิงกลิ้งกลดจามรมาศดาษดา ดูมเหาฬารเลิศนิพันฦก อธึกด้วยกระบี่ธุชธงฉานธงไชย แลสว่างไสวไพโรจด้วยเรือจำนำท้าวพระยามุขมนตรีราชเรียงรายเปนรยะ โดยขบวนพยุหบาตราน่าหลังทั้งปวงพร้อมเสร็จ พออุดมฤกษ์ พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย ราชครูทวิชาจารย์เป่ามหาสังข์ทักขิณาวัฏประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีฆ้องกลองก้องนี่สนั่นมหาอรรณพนที เคลื่อนเรือขบวนพยุหบาตราโดยชลมารค ถึงที่ประทับขนานน่าพลับพลาไชยปากโมกเพลาชายแล้วสองนาฬิกาสี่บาท เสด็จจัดทัพประทับแรมอยู่ที่นั้น กำหนด ๑๑ ทุ่ม ๓ บาท ทัพหลวงจะเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อเพลา ๑๐ ทุ่ม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตรว่า น้ำนองท่วมป่ามาฝ่ายประจิมทิศ เสด็จลุยชลธีเที่ยวไปพบมหากุมภีล์ตัวใหญ่ ได้สัปรยุทธยุทธนาการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประหารกุมภีล์ตาย ประธมตื่น ขณะนั้น ตรัศให้โหรทาย พระโหราธิบดีทูลทำนายว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง จะได้ถึงซึ่งมหายุทธหัตถี แต่ท่วา พระองค์จะมีไชย จะลุยไล่ประหารปัจจามิตรข้าศึกดุจพระสุบินว่า เที่ยวลุยกระแสน้ำฉนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟัง ดีพระไทยนัก ทรงเครื่องสำหรับราชรณยุทธสรรพเสร็จ เสด็จยังเกยคอยฤกษ์ ทอดพระเนตรเห็นพระสาริริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหารช่วงเท่าผลส้มเกลี้ยงมาแต่ทักษิณทิศเวียนเป็นทักขิณาวัฏแล้วเสด็จผ่านไปอุดรทิศ ทรงพระปีติซ่านไปทั้งพระองค์ ยกพระหัตถ์ถวายทัศนัขสโมธานอธิฐานขอสวัสดีมีไชยแก่ปรปักษ์ พระโหราธิบดีก็ให้ประโคมแตรสังข์ดุริยางคดนตรีพร้อมกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างต้นเจ้าพระยาไชยานุภาพติดน้ำมันน่าหลังเปนราชพาหนะ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรติดน้ำมันน่าหลังเปนราชพาหนะ พร้อมด้วยช้างท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวง เสด็จพยุหบาตราทัพโดยแถวสถลมารคไปเข้าที่เสวยตำบลบ้านสะแก้วสะเลา แล้วเสด็จยกไปตามท้องทุ่ง เพลาเที่ยง พระอาทิตย์ทรงกรดร่มช้างพระที่นั่งไปจนบ่ายสามโมง พอกะทั่งกองน่าซึ่งตั้งอยู่ตำบลหนองสร่าย เสด็จประทับเกยใต้ฉายาไม้ประดู่ใหญ่อันสถิตเหนือจอมปลวก เอาเปนนิมิตรครุธนามไชยภูมิ สั่งให้เร่งตั้งค่ายกองน่าหลังปีกซ้ายขวาเปนขบวนประทุมพยุห
๏ฝ่ายสมิงจคราน สมิงเป่อ สมิงทรายม่วน นายกองม้าคอยเหตุ เห็นกองทัพน่าแลทัพหลวงดังนั้น ก็ขับม้าวางใหญ่กลับไปค่ายพังตรุ เอาคดีนั้นทูลแด่พระมหาอุปราชาทุกประการ พระมหาอุปราชาแจ้งดังนั้น ก็ทรงพระดำริห์ว่า ชรอยจะเปนทัพพระนเรศวร มิดังนั้น จะเปนทัพเอกาทศรฐน้องชายยกมาเปนมั่นคง แล้วตรัศถามสมิงนายกองม้าว่า คเนพลประมาณเท่าใด สมิงจคราน สมิงเป่อ สมิงทรายม่วน กราบทูลว่า พลประมาณสิบเจ็ดสิบแปดหมื่น พระมหาอุปราชาได้ฟังดังนั้น จึงตรัศปฤกษาแก่นายทัพนายกองว่า ทัพพระนครศรีอยุทธยายกมาครานี้ก็เปนทัพใหญ่อยู่แล้ว แต่ทว่า น้อยกว่าเราสองเท่าสามเท่า จำจะยกเข้าทุ่มตีเอาทัพแรกนี้ให้แตกฉานยับเยินแล้ว ภายหลังก็จะเบามือลง เห็นจะได้พระนครศรีอยุทธยาโดยง่าย นายทัพนายกองก็เห็นโดยพระราชบัญชา พระมหาอุปราชากำหนดแก่นายทัพนายกองให้เตรียมพลแต่ในเพลาสามยามให้พร้อม ตีสิบเอ็จทุ่มจะยก เอารุ่งไว้น่า นายทัพนายกองก็จัดแจงขบวนทัพเทียบไว้ตามรับสั่งทุกประการ
๏ครั้นเพลาสิบเอ็จทุ่ม พระมหาอุปราชาก็สอดฉลองพระองค์ทรงเกราะสุวรรณประดับพลอยสพักสังวาลมรกฎสามสาย ทรงสุวรรณรัตนมหามงกุฎอย่างขัติยราชรามัญ ยอดเงื้อมไปน่าดุจเศียรวาสุกรี แล้วทรงเครื่องสำหรับกันสรรพาวุธพร้อมเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายพัทกอสูงหกศอกคืบห้านิ้วติดน้ำมันน่าหลังเปนพระคชาธารกั้นเสวตรฉัตร สมิงนันทมางเปนกลางช้าง เจ้าเมืองมล่วนเปนควาญ พร้อมด้วยแวงจัตุลังคบาท แลน่าช้างพระมหาอุปราชานั้นทวนทองสี่ร้อย ถัดออกมานั้นวางปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับกระแบงแก้วดาบโล่ห์ดาบดั้งสิ่งละห้าร้อย แลมางจาชโรพี่เลี้ยงพระมหาอุปราชานั้นเปนกองนำขี่ช้างพลายพัชเนียงสูงหกศอกคืบสองนิ้วติดน้ำมันน่าหลัง สมิงปราบศึกเปนกลางช้าง สมิงมือเหล็กเปนควาญ พระมหาอุปราชาให้แต่งช้างชนะงาผูกคชาธารมีเสวตรฉัตรทั้งสิบหกช้างพรางไว้ แลจัดสมิงรามัญที่เข้มแขงขี่ประจำครบอยู่น่าช้างมางจาชโรพระพี่เลี้ยง แลมีช้างกันแทรกแซงเปนขนัด แล้ววางปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับหามแล่นแลพลดาบโล่ห์ดาบดั้งดาบสองมือสิ่งละพันเปนชั้น ๆ ออกไป แล้วช้างท้าวพระยารามัญเกียกกายกองน่าแลพลเดินเท้ายี่สิบหมื่น พลม้าสามพันแซงสองฟากทุ่ง ทัพหลังนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ขี่ช้างพลายชมพูทัตสูงหกศอกคืบนิ้วหนึ่งติดน้ำมันน่าหลัง พระยาเชียงแก้วหลานเปนกลางช้าง แสนหาญใจศึกเปนควาญ กอบไปด้วยช้างดั้งกันแทรกแซงแลพลเดินเท้าสิบหมื่น พระมหาอุปราชาจัดทัพเปนสัตตเสนาเจ็ดแถว ๆ ละเจ็ดกองเปนสี่สิบเก้ากองพร้อมพลาพลทวยหาญ ให้ลั่นฆ้องใหญ่ฆ้องกะแตตีรับตามหมวดกองยกจากค่ายพังตรุครั้งนั้นสนั่นนฤนาทด้วยศัพทสำเนียงเสียงช้างม้าพลาพลเดินสท้านสเทือนดุจแผ่นพสุธาจะถล่มลง
๏ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า ขณะเมื่อเสด็จประทับอยู่ณฉายาไม้ประดู่ เร่งให้ตั้งค่ายมั่น ทอดพระเนตรเห็นม้ารามัญตามชายทุ่งควบกลับไป ก็ตรัศแก่มุขมนตรีว่า พลม้าซึ่งกลับไปนั้นเห็นทีพระมหาอุปราชาให้มาคอยเอาเหตุไปแจ้ง ดีร้ายเพลาพรุ่งนี้จะได้ยุทธใหญ่ ให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ พระยาราชฤทธานนต์ เร่งยกไปแต่ในเพลาตีสิบเอ็จทุ่มปะทะน่าข้าศึกฟังกำลังดู แลในกองทัพหลวงก็ให้ตรวจเตรียมพร้อมไว้แต่เพลาย่ำรุ่ง ท้าวพระยานายทัพนายกองก็ตรวจเตรียมโดยพระราชกำหนด ครั้นอรุณรุ่งแสงสุริโยภาษ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จยังเกย ตรัศให้ท้าวพระยาในกองทัพหลวงยกออกตั้งขวบเบญจเสนาห้าทัพ ให้พระยาสีหราชเดโชขี่ช้างพลายโจมไตรภพถือพลหมื่นหนึ่งเปนกองน่า พระยาพิไชยรณฤทธิขี่ช้างพลายจบไตรจักถือพลห้าพันเปนปีกขวา พระยาพิชิตณรงค์ขี่ช้างพลายจู่โจมทัพถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย พระยาเทพวรชุณขี่ช้างพลายจับโจมยุทธถือพลหมื่นหนึ่งเปนเกียกกาย พระยาพิไชยสงครามขี่ช้างพลายฝ่าพลแมนถือพลห้าพันเปนปีกขวา พระยารามกำแหงขี่ช้างพลายแสนพลพ่ายถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย แลน่าพระคชาธารออกไปปลายเชือกนั้น ขุนโจมจัตุรงค์ขี่ช้างพลายกุญชรไชย ขุนทรงเดชขี่ช้างพลายไกรสรเดชถือพลเขนทองข้างละห้าร้อย พระราชมนูขี่ช้างพลายหัศดินพิไชยถือพลปี่กลองชนะซ้ายขวาข้างละห้าร้อย แลหลวงพิเดชสงครามขี่ช้างพลายบุญยิ่ง หลวงรามพิไชยขี่ช้างพลายมิ่งมงกุฎถือพลดาบโล่ห์ดาบดั้งข้างละห้าร้อย พระราชวังสรรค์ขี่ช้างพลายแก้วมาเมืองถือพลอาสาจามห้าร้อย พระเสนาภิมุขขี่ช้างพลายเฟื่องภพไตรถือพลอาสายี่ปุ่นห้าร้อย ถัดนั้น ทหารทลวงฟันคู่พระไทยร้อยสามสิบหกฅนถือดาบเขนยี่สิบสองฅน ถือดาบโล่ห์สี่สิบสองฅน ถือดาบสองมือเจ็ดสิบสองฅน น่าพระคชาธารนั้นหัวหมื่นพันทนายสี่พระตำรวจล้วนดาบสพายแล่งถือทวนทองห้าร้อย กำหนดทั้งทัพหลวงเป็นพลแสนหนึ่ง ให้เอาพลายภูเขาทองขึ้นระวางสพัดชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ สูงหกศอกคืบสองนิ้ว ติดน้ำมันน่าหลัง ผูกคชาภรณ์เครื่องมันปักมหาเสวตรฉัตรเปนพระคชาธาร เจ้ารามราคพเปนกลางช้าง นายมหานุภาพเปนควาญ แลแวงจัตุลังคบาทนั้น พระมหามนตรีอยู่เท้าน่าฝ่ายขวา พระมหาเทพอยู่เท้าน่าฝ่ายซ้าย หลวงอินทรเทพอยู่เท้าหลังเบื้องขวา หลวงพิเรนทรเทพอยู่เท้าหลังเบื้องซ้าย แลพระคชาธารสมเด็จพระอนุชาธิราชนั้น พลายบุญเรืองขึ้นระวางสพัดชื่อ เจ้าพระยาปราบไตรจักร สูงหกศอกคืบติดน้ำมันน่าหลัง ผูกคชาภรณ์เครื่องมั่นปักบวรเสวตรฉัตร หมื่นภักดีศวรเปนกลางช้าง ขุนศรีคชคงเปนควาญ แลปีกทัพหลวงนั้น เจ้าพระยามหาเสนาขี่ช้างพลายมารประไลยถือพลหมื่นห้าพันเปนปีกขวา เจ้าพระยาจักรีขี่ช้างพลายไฟภัทกัลปถือพลหมื่นห้าพันเปนปีกซ้าย พระยาพระคลังขี่ช้างพลายจักรมหิมาถือพลหมื่นหนึ่งเปนยุกรบัตร พระราชสงครามขี่ช้างพลายสังหารคชสีห์ถือพลห้าพันเปนปีกขวา พระรามรณภพขี่ช้างพลายมณีจักรพรรดิถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย พระยาท้ายน้ำขี่ช้างพลายสวัสดิพิไชยถือพลหมื่นหนึ่งเปนกองหลัง หลวงหฤไทยขี่ช้างพลายทรงภูบาลถือพลห้าพันเปนปีกขวา หลวงอภัยสุรินทรขี่ช้างพลายสารภูธรถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย ลำดับด้วยหมู่หมวดคชินทรดั้งกันแทรกแซงสลับค่ายค้ำพังคาโคดแล่นล้วนสารชาญยุทธดูมหิมา อันท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาทวยหาญแสนยาพลากรพลพฤนท์พร้อมพรั่งตั้งตามขบวนเบญจยุทธเสนางคนิกรเสร็จ พระมหาราชครูพราหมณโหราธิบดีก็อัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์สรงมุรธาภิศกถวายอาเศียรพาทอวยไชย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องประดับสำหรับบรมราชกระษัตริย์สู่สมรภูมิสงคราม วันนั้นวันอาทิตย์ ทรงพระแสงธนู แล้วเสด็จขึ้นเกยคอยฤกษ์ แลชีพ่อพราหมณ์ตั้งโขลนทวารลว้าเส้นไก่ ขุนมหาวิไชยตัดไม้ข่มนาม เสร็จแล้ว พอได้ยินสำเนียงปืนยิงยุทธแย้งสุดเสียง ตรัศให้หมื่นทิพเสนาเอาม้าเร็วไปฟังราชการ เห็นทัพน่าพ่ายเปนอลหม่าน หมื่นทิพเสนาพาเอาขุนหมื่นในกองน่าเข้ามาเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศถามว่า เหตุใดจึงพ่ายข้าศึก ขุนหมื่นกราบทูลพระกรุณาว่า ยกขึ้นมาปะทะตีกันถึงตลุมบอน ศึกหนักกว่าทุกครั้ง จึงพ่าย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศดูความคิดมุขมนตรีว่า ทัพน่าพ่ายดังนี้จะคิดประการใด เสนาบดีมนตรีมุขกราบทูลว่า ขอเชิญเสด็จตั้งมั่นอยู่ก่อน แต่งทัพไปรับหน่วงไว้ ต่อได้ทีแล้วจึงยกทัพหลวงออกทำยุทธหัตถี เห็นจะได้ไชยชำนะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เห็นด้วย ดำรัศว่า ทัพน่าแตกฉานมาแล้ว แลจะแต่งทัพออกรับ จะมาปะทะกันเข้า จะพลอยให้แตกเสียอิก ชอบให้เปิดลงมาทีเดียว ให้ข้าศึกไล่ละเลิงใจเสียขบวนมา เราจึงยกทัพออกยอข้าศึก เห็นจะได้ไชยชำนะโดยง่าย ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงกราบถวายบังคมพร้อมกันเห็นโดยพระราชดำริห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้หมื่นทิพเสนา หมื่นราชามาตย์ ขี่ม้าเร็วขึ้นไปประกาศแก่นายทัพนายกองพลทหารทั้งปวงอย่าให้รอรับเลย ให้เปิดลงมาทีเดียว.
๏ฝ่ายทัพรามัญเห็นทัพชาวพระนครพ่ายมิได้ตั้งรับ ก็ยิ่งมีใจกำเริบ ไล่ระส่ำระสายมิได้เปนกระบวน สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จคอยฤกษ์ ทอดพระเนตรเห็นมหาเมฆตั้งขึ้นมาแต่ทิศพายัพ แล้วกลับเกลื่อนคืนกระจายอันดรธานไป พระสุริยเทวบุตรจรัสแจ่มดวงในนภาดลอากาศ พระมหาราชครูพระครูปโรหิตาจารย์โหราธิบดีลั่นฆ้องไชยดำเนินธง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จทรงช้างต้นเจ้าพระยาไชยานุภาพเปนพระคชาธาร สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถราชอนุชาเสด็จทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรเปนพระคชาธาร พลทหารก็โห่สนั่นบันฦๅศัพท์แตรสังข์เสียงประโคมฆ้องกลองชนะกลองศึกสท้านสเทือนประหนึ่งแผ่นดินจะไหว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ยาตราพระคชาธารเปนบทย่างสะเทินมาบ่ายน่าต่อข้าศึก เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ได้ยินเสียงพลแลเสียงฆ้องกลองศึกอึงคนึง ก็เรียกมันครั่นครื้นกางหูชูหางกิริยาป่วนเดินเปนบาทย่างใหญ่เร็วไปด้วยกำลังน้ำมัน ช้างท้าวพระยามุขมนตรีแลโยธาหาญซ้ายขวาน่าหลังนั้นตกลงไปมิทันเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ใกล้ทัพน่าข้าศึก ตรัศทอดพระเนตรเห็นพลพม่ารามัญยกมานั้นเต็มท้องทุ่งเดินดุจคลื่นในพระมหาสมุท พลข้าศึกไล่พลชาวพระนครมาครั้งนั้นสลับซับซ้อนกันมิได้เปนกระบวน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ขับพระคชาธารเข้าโจมแทงช้างม้ารี้พลปรปักษ์ไล่ส่ายเสยถีบฉัดตลุมบอน พลพม่ารามัญล้มตายเกลื่อนกลาด ช้างข้าศึกได้กลิ่นน้ำมันพระคชาธารก็หกหันตลบปะกันไปเปนอลหม่าน พลพม่ารามัญก็โทรมยิงธนูน่าไม้ปืนไฟรดมเอาพระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ แลธุมาการก็ตระหลบมืดเปนหมอกมัวไปมิได้เห็นกันประจักษ์ พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าจึงตรัศประกาศแก่เทพยดาทั้งปวงว่า ให้บังเกิดมาในประยุรมหาเสวตรฉัตร จะให้บำรุงพระบวรพุทธสาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า พอตกพระโอฐลง พระพายก็พัดควันอันเปนหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเห็นช้างเสวตรฉัตร ๑๖ ช้าง มีช้างดั้งช้างกันยืนอยู่เปนอันมาก แต่มิได้เห็นพระมหาอุปราชา ครั้นเหลือบไปฝ่ายทิศขวาพระหัดถ์ ก็เห็นช้างเสวตรฉัตรช้างหนึ่งยืนอยู่ณฉายาไม้ข่อย มีเครื่องสูงแลทหารน่าช้างมาก ก็เข้าพระไทยถนัดว่า ช้างพระมหาอุปราชา พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ขับพระคชาธารตรงเข้าไป ทหารน่าช้างข้าศึกก็วางปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับตระแบงแก้วรดมยิง มิได้ต้องพระองค์แลพระคชาธาร สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าตรัศร้องเรียกด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า พระเจ้าพี่เรา จะยืนอยู่ไยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกันให้เปนเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายน่าไปไม่มีกระษัตริย์ที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว พระมหาอุปราชาได้ฟังดังนั้น ลอายพระไทย มีขัติยราชมานะ ก็บ่ายน่าพระคชาธารออกมารับ เจ้าพระยาไชยานุภาพเห็นช้างข้าศึก ก็เร็วไปด้วยฝีน้ำมันมิทันยั้งเสียที พลายพัทกอได้ล่างแบกรุนมา พระมหาอุปราชาจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเบี่ยงพระมาลารับ พระแสงของ้าวมิได้ต้องพระองค์ เจ้าพระยาไชยานุภาพสบัดลงได้ล่างแบกถนัด พลายพัทกอเพลี่ยงเบนไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าได้ทีจ้วงฟันด้วยพระแสงพลพ่ายต้องพระอังสาเบื้องขวามหาอุปราชาตลอดลงมาจนปัจฉิมุราประเทศซบลงกับฅอช้าง แลนายมหานุภาพควาญพระคชาธารพระนเรศวรเปนเจ้านั้นต้องปืนข้าศึกตาย ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าชนช้างด้วยพระมหาอุปราชาเจ้านั้น เจ้าพระยาปราบไตรจักรซึ่งเปนพระคชาธารสมเด็จเอกาทศรฐเข้าชนด้วยพลายพัชเนียงช้างมางจาชโร เจ้าพระยาปราบไตรจักรได้ล่าง พลายพัชเนียงเสียทีแปรไป สมเด็จเอกาทศรฐจ้วงฟังด้วยพระแสงของ้าวต้องฅอมางจาชโรขาดตายกับฅอช้าง หมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จเอกาทศรฐนั้นต้องปืนข้าศึกตาย ขณะเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทำคชสงครามได้ไชยชำนะพระมหาอุปราชาแลมางจาโชร แลบรรดาท้าวพระยามุขมนตรีนายทัพนายกองซ้ายขวาน่าหลังทั้งปวงขึงมาทันเสด็จ ได้เข้ารบพุ่งแทงฟันข้าศึกเปนสามารถ แลพลพม่ามอญทั้งนั้นก็แตกกระจัดกระจายไป เพราะพระเดชเดชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกไปตามจับข้าศึกแล้วเสด็จคืนมายังพลับพลา พระราชทานชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพเปนเจ้าพระยาปราบหงษา บรรดามุขมนตรีนายทัพนายกองซึ่งยกตามข้าศึกไปนั้นได้ฆ่าฟันพม่ามอญโดยทางไปถึงกาญจนบุรี อาศพเกลื่อนไปแต่ตะพังตรุนั้นประมาณสองหมื่นเศษ จับได้เจ้าเมืองมล่วนแลนายทัพนายกองกับไพร่เปนอันมาก ได้ช้างใหญ่สูงหกศอกสามร้อย ช้างพลายพังรวางเพรียวห้าร้อย ม้าสองพันเศษ มาถวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศให้ก่อพระเจดียฐานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ตำบลตะพังตรุ ขณะนั้น โปรดพระราชทานช้าง ๆ หนึ่งกับหมอแลควาญให้เจ้าเมืองมล่วนขึ้นไปแจ้งแก่พระเจ้าหงษาวดี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จคืนเข้าพระนครแล้วดำรัศว่า เจ้ารามราคพกลางช้างกับขุนศรีคชคงควาญซึ่งได้ผจญข้าศึกจนมีไชยชำนะด้วยพระองค์นั้น ก็ปูนบำเหน็จพระราชทานยศถาศักดิ์เครื่องอุปโภคบริโภคเสื้อผ้าเงินทอง ฝ่ายนายมหานุภาพควาญช้าง หมื่นภักดีศวรกลางช้าง ได้โดยเสด็จงานพระราชสงครามจนถึงสิ้นชีวิตรในท่ามกลางศึกมีความชอบ ให้เอาบุตรภรรยามาชุบเลี้ยง พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเงินทองเสื้อผ้าโดยสมควร เสร็จแล้วพระราชดำรัศให้ปฤกษาโทษนายทัพนายกองว่า ข้าศึกยกมาถึงพระนคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตั้งพระไทยจะรักษาพระพุทธสาสนาแลสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎร มิได้คิดเหนื่อยยากลำบากพระองค์ ทรงพระอุสาหเสด็จยกพยุหโยธาทัพออกไปรณรงค์ด้วยข้าศึก แลนายทัพนายกองกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระราชอาชญามิได้โดยเสด็จพระราชดำเนินให้ทัน ละแต่พระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ให้เข้าอยู่ท่ามกลางข้าศึก จนได้กระทำยุทธหัตถีมีไชยแก่พระมหาอุปราชาเสร็จ โทษนายทัพนายกองทั้งนี้จะเปนประการใด พระมหาราชครูปโรหิตทั้งปวงปฤกษาใส่ด้วยพระไอยการศึกกับพระราชกฤษฎีกาว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามแลเกณฑ์ผู้ใดเข้ากระบวนทัพแล้ว แลมิได้โดยเสด็จให้ทันยุทธนาการ ท่านว่า โทษผู้นั้นเปนอุกฤษฐ์ให้ประหารชีวิตรเสีย อย่าให้ผู้อื่นดูเยี่ยงอย่าง เอาคำพิพากษากราบทูล มีพระราชดำรัศสั่งให้เอาตามลูกขุนปฤกษา แต่ทว่า บัดนี้ จวนวันจาตุททสีบัณณรสีอยู่ ให้เอานายทัพนายกองจำเรือนตรุไว้ก่อนสามวัน พ้นแล้วจึงให้สำเร็จโทษโดยพระไอยการศึก.
๏ครั้นณวัน ๑ ๑๔ฯ ๒ ค่ำ สมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้วแลพระราชาคณะยี่สิบห้ารูปก็เข้ามาถวายพระพรถามข่าวซึ่งเสด็จงานพระราชสงครามได้กระทำยุทธหัตถีมีไชยแก่พระมหาอุปราชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็แถลงการซึ่งปราบปัจจามิตรให้ฟังทุกประการ สมเด็จพระพนรัตนจึ่งถวายพระพรถามว่า พระราชสมภารมีไชยแก่ข้าศึก เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึ่งต้องราชทัณฑ์เล่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งตรัศบอกว่า นายทัพนายกองเหล่านี้อยู่ในกระบวนทัพโยม มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้แต่โยมสองฅนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชามีไชยชำนะแล้วจึ่งได้เห็นน่ามัน นี่หากว่าบารมีของโยม หาไม่แผ่นดินจะเปนของชาวหงษาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุดังนี้ โยมจึ่งให้ลงโทษโดยพระไอยการศึก สมเด็จพระพนรัตนจึ่งถวายพระพรว่า อาตมภาพพิเคราะห์ดูข้าราชการเหล่านี้ ที่จะไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้นหามิได้ แลเหตุทั้งนี้จำเปนที่จะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้าเปนมหัศจรรย์ เหมือนสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์ใต้ควงพระมหาโพธิณเพลาสายัณห์ครั้งนั้น เทพยเจ้ามาเฝ้าพร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาล แลพระยาวัศวดีมารยกพลาพลเสนามารมาผจญครั้งนั้น ถ้าได้เทพยเจ้าเปนบริวารมีไชยแก่พระยามาร ก็หาสู้เปนมหามหัศจรรย์นักไม่ นี่พรรเอิญให้หมู่อมรอินทร์พรหมทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น ยังแต่พระองค์เดียวอาจสามารถผจญพระยามาราธิราชกับพลเสนามารให้ปราไชยพ่ายแพ้ได้ จึ่งสมเด็จพระบรมโลกนารถเจ้าได้พระนามว่า พระพิชิตมารโมฬีศรีสรรเพชดาญาณ เปนมหามหัศจรรย์ดาลดิเรกทั่วอนันตโลกธาตุเบื้องบนตราบเท่าถึงภวัคพรหม เบื้องต่ำตลอดถึงอโธภาคอเวจีเปนที่สุด ก็เหมือนพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยเสนางคนิการโยธาทวยหาญมากแลมีไชยแก่พระมหาอุปราชา ก็หาสู้เปนมหัศจรรย์แผ่พระเกียรติยศปรากฎไปในนา ๆ ประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งนั้นไม่ พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระราชปริวิตกน้อยพระไทยเลย อันเหตุที่เปนนี้เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสำแดงพระเกียรติยศดุจอาตมภาพถวายพระพรเปนแท้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตนถวายวิสัชยากว้างขวาง ออกพระนามสมเด็จพระบรมอรรคโมฬีโลกครั้งนั้น รฦกถึงพระคุณนามอันยิ่ง ก็ทรงพระปีติโสมนัศตื้นเต็มพระกระมลหฤไทยปราโมทย์ ยกพระกรประนมเหนือพระอุตมางคศิโรตม์นมัสการแย้มพระโอฐว่า สาธุ สาธุ พระผู้เปนเจ้าว่านี้ควรหนักหนา สมเด็จพระพนรัตนเห็นว่า พระมหากระษัตริย์คลายพระโกรธแล้ว จึ่งถวายพระพรว่า อาตมภาพพระราชคณะทั้งปวงเห็นว่า ข้าราชการซึ่งเปนโทษเหล่านี้ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่า ได้ทำราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมราชไอยการแลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลทำราชการมาใต้ลอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมา ดุจพุทธบริสัชสมเด็จพระบรมครูก็เหมือนกัน ขอพระราชทานบิณฑบาตโทษฅนเหล่านี้ไว้ครั้งหนึ่งเถิด จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป สมเด็จพระเจ้าอยู่ตรัศว่า พระผู้เปนเจ้าขอแล้วโยมก็จะให้ แต่ทว่า จะให้ไปตีเอาเมืองตนาวศรีเมืองทวายแก้ตัวก่อน สมเด็จพระพนรัตนถวายพระพรว่า การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นสุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ ใช่กิจสมณะ แล้วสมเด็จพระพนรัตนพระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรลาไป.
๏สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้ท้าวพระยาพระหัวเมืองมุขมนตรีพ้นโทษ พระราชกำหนดให้พระยาจักรีถือพลห้าหมื่นไปตีเมืองตนาวศรี ให้พระยาพระคลังถือพลห้าหมื่นยกไปตีเมืองทวาย พระยาจักรี พระยาพระคลัง นายทัพนายกอง ก็ถวายบังคมลายกไปโดยพระราชกำหนด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัศว่า ซึ่งเราทิ้งเมืองฝ่ายเหนือเสียเลิกครอบครัวลงมานั้นก็หาสิ้นทีเดียวไม่ ครั้งนี้ ศึกหงษาวดีก็ถอยกำลังแล้ว ถึงมาทว่าจะมีมาก็ไม่เกรง เราจะบำรุงเมืองทั้งนี้ให้เปนเกียรติยศไว้ตราบเท่ากัลปาวสาน จึ่งดำรัศสั่งให้พระยาไชยบูรณเปนเจ้าพระยาสุรสีห์ครองเมืองพระพิศณุโลก ให้พระศรีเสาวราชไปรักษาเมืองศุโขไทย ให้พระองค์ทองไปรักษาเมืองพิไชย ให้หลวงจ่าไปรักษาเมืองสวรรคโลก บรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงก็ให้เจ้าเมืองกรมการแต่งไปเรียกร้องรวบรวมไพร่พลซึ่งแตกฉานซ่านเซนอยู่ป่าดงนั้นทุกหัวเมือง.
๏ฝ่ายเจ้าเมืองมล่วนชาวหงษาซึ่งสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าจับได้ให้ปล่อยกลับไปนั้น ก็พบนายทัพนายกองพม่ามอญซึ่งแตกฉานซ่านเซนโดยด่านโดยทางไปรวบรวมกันได้ ก็พากันกลับไปกรุงหงษาวดี เข้าเฝ้ากราบทูลประพฤติเหตุซึ่งพระมหาอุปราชาเสียชนมชีพกับฅอช้างนั้นให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีแจ้งดังนั้นก็เสียพระไทยโทมนัศคิดอาไลยถึงพระราชบุตร แล้วทรงพระโกรธแก่นายทัพนายกองว่า นเรศวรกับเอกาทศรฐน้องชายเข้ามารบแต่สองช้าง กับฅนกลางฅนควาญช้างหกฅนเท่านั้น ทัพเราถึงห้าสิบหมื่น ถึงมาทว่าจะมิถือสาตราวุธเลยจะประหารด้วยก้อนดินแต่ฅนละก้อนก็ไม่คณนามืออิก นี่ละให้เสียราชโอรสแห่งเรา ไหนจะเลี้ยงต่อไปได้ ให้ลงพระราชอาชญาทั้งนายทั้งไพร่แล้วจำใส่เรือนตรุไว้ อยู่ประมาณหกวันเจ็ดวัน พระเจ้าหงษาวดีทรงพระราชดำริห์ว่า นเรศวรทำการศึกว่องไวหลักแหลมองอาจนัก จนถึงยุทธหัตถีมีไชยแก่มหาอุปราชา เอกาทศรฐเล่าก็มีไชยแก่มางจาชโร เห็นพี่น้องสองฅนนี้จะมีใจกำเริบยกมาตีพระนครเราเปนมั่นคง แต่ทว่า จะคิดเอาเมืองตนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวาย ก่อน จำจะให้นายทัพนายกองแลไพร่ซึ่งไปเสียทัพมานี้ให้ยกลงไปรักษาเมืองตนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวาย ไว้ให้ได้ ศึกจึงจะไม่ถึงกรุงหงษาวดี ครั้นทรงดำริห์แล้ว เพลารุ่ง ก็เสด็จออก ตรัศสั่งให้ถอดนายทัพนายกองออกจากสังขลิกพันทนาการ แล้วให้เร่งยกลงไปรักษาเมืองตนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวาย ไว้ให้ได้ ถ้าเสียเมืองตนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวาย แก่ข้าศึก จะเอานายทัพนายกองแลไพร่ทั้งนี้ใส่เล้าเผาเสียให้สิ้นทั้งโคตร นายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลายกกองทัพไปจากกรุงหงษาวดี.
๏ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แจ้งอึงกิดาการในกรุงเทพมหานครขึ้นไปเสร็จสิ้นทุกประการ ก็เกรงพระเดชเดชานุภาพ จึงตรัศแก่แสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า บัดนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาถึงแก่สวรรคต สมเด็จพระนเรศวรราชบุตรได้ครองราชสมบัติ พระมหาอุปราชายกลงมาได้ทำคชยุทธถึงแก่พิราไลยกับฅอช้าง แล้วทัพกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาก็ยกออกไปตีเมืองมฤท เมืองทวาย อยู่แล้ว อันหมู่ปรปักษ์ที่จะเข้าไปรอต่อยุทธด้วยกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานั้นดุจหนึ่งฝูงมิคชาติอันจะเข้าไปต่อศักดาเดชพระยาไกรสรสีหราช ถ้ามิฉนั้น ดุจหนึ่งโลมชาติสกุณปักษาอันเข้าไปรอเปลวเพลิง มีแต่พินาศฉิบหายลงทุกที บัดนี้เล่า พิเคราะห์ดูพระเจ้าหงษาวดีเสียพระมหาอุปราชาราชบุตรเหมือนหนึ่งพระกรขวาขาด สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเล่าทรงพระราชกฤษฎาเดชานุภาพทวีขึ้นดุจหนึ่งพระทินกรสถิตย์ลอยอยู่เหนืออากาศปราศจากเมฆขณะเมื่อเพลาเที่ยง แสงรัศมีมีแต่กล้าขึ้นไป ที่ไหนกรุงหงษาวดีจะพ้นเงื้อมพระหัดถ์ จำเราจะลงไปอ่อนน้อมถวายราชบรรณาการพึ่งพระเดชเดชานุภาพจึ่งจะพ้นไภยอันตราย แสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงได้ฟังพระราชบัญชาก็มีความยินดีดุจหนึ่งมัณฑุกชาติอันพ้นจากปากอสรพิศม์ พระเจ้าเชียงใหม่จึ่งให้แต่งลักษณพระราชสาสนให้นันทะพะยะกับแสนหลวงจำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการมาโดยด่านเมืองจาก พระยากำแพงเพ็ชรก็แต่งขุนหมื่นกรมการคุมทูตลงมาถึงพระนครศรีอยุทธยา อรรคมหาเสนาธิบดีจึ่งเข้ากราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จออกพระที่นั่งมังคลาภิเศกพร้อมด้วยหมู่มุขอุไภยสมุหมนตรีกระวีราชปโรหิตาโหรจารย์เฝ้าพระบาทบงกชมาศดาษดาดั่งดวงดารากรรายรอบพระรัชนิกรเทวบุตร จึงดำรัศสั่งให้เบิกทูตานุทูตเข้าเฝ้า พระศรีภูริปรีชาอ่าน ในลักษณพระราชสาสนนั้นว่า พระเจ้าเชียงใหม่ผู้เปนอธิปไตยในมลาวประเทศข้อน้อมศิโรดมถวายวันทนประณามมหา แทบพระบวรบาทยุคลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ด้วยข้าพระบาทแต่ก่อนขัดพระราชอาชญาท่านผู้เปนอิศราธิบดีในรามัญประเทศมิได้ จำยกพยุหโยธามากระทำจลาจลแก่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนหลายครั้งให้เคืองใต้เบื้องบาทบงกชมาศ ขอพระองค์จงทรงพระมหาการุญภาพ บัดนี้ ข้าพระบาทจะขอเอาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพอภินิหารบารมีปกเกษเกล้าดุจหนึ่งปริมณฑลร่มมหาโพธิ ถ้าพระองค์จะเสด็จยกพยุหโยธาทัพไปแห่งใด จะขออาสาโดยเสด็จงานพระราชสงครามกว่าจะสิ้นกำลัง ข้าพระองค์ให้นันทะพะยะ กับแสนหนังสือ แสนหลวง จำทูลพระราชสาสนเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการลงมาจำเริญทางพระราชไมตรี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟัง ทรงพระโสมนัศ จึงมีพระราชปฏิสันถารปราไสแก่ทูตานุทูตสามนัด แล้วดำรัศสั่งให้พระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่ทูตานุทูตโดยถานานุกรม แล้วแต่งตอบพระราชสาสนส่งทูตานุทูตกลับไป ฝ่ายนันทะพะยะ กับแสนหนังสือ แสนหลวง ขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่ ทูลราชกิจเสร็จสิ้นทุกประการ พระเจ้าเชียงใหม่ก็โสมนัศ ดุจหนึ่งผู้เดินมาตามสถลรัถยากันดารไกลในเพลาเที่ยง ร้อนกระวนกระวายด้วยแสงภาณุมาศกล้า แลมีผู้เอาน้ำอันเย็นใสมาโสรดสรงกายาให้เย็นสบาย.
๏ขณะนั้น พอมีหนังสือบอกเมืองเชียงแสนมาว่า ชาวด่านเมืองเชียงแสนกับชาวด่านเมืองล้านช้างไปตรวจตระเวนด่าน พบกันเข้า วิวาทฆ่าฟันกันตาย บัดนี้ พระเจ้าล้านช้างแต่งให้พระยาหลวงเมืองแสนเปนแม่ทัพ พลประมาณเจ็ดพัน ยกตีขึ้นมาถึงเมืองเชียงแสน ได้รบพุ่งกันอยู่แล้ว ขอให้พระเจ้าพื้นบาทหอคำลงมาช่วยค้ำ พระเจ้าเชียงใหม่ได้ทราบ ก็ให้กองทัพไปช่วย แล้วแต่งหนังสือบอกลงไปให้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวว่า กองทัพล้านช้างยกลงมาตีเมืองเชียงแสน ขอให้กองทัพกรุงขึ้นมาช่วย แต่งแล้วส่งให้พระยาหลวงเมือง แก้วหมื่นโยธา กับไพร่ ๒๐ คน ถือลงไป ครั้นถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยา อรรคมหาเสนาธิบดีนำหนังสือบอกเข้ากราบบังคมทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศทราบ จึงดำรัศให้พระยาราชฤทธานนต์ถือพลห้าพัน สรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธใหญ่น้อย ช้างเครื่อง ๕๐ ม้า ๒๐๐ เอาพระรามเดโชซึ่งเปนชาวเชียงใหม่ขึ้นไปด้วย แล้วจึงดำรัศสั่งพระยาราชฤทธานนต์ว่า ถ้าสำเร็จราชการแล้ว ให้พระราชเดโชอยู่ช่วยราชการพระเจ้าเชียงใหม่ พระยาราชฤทธานนต์กราบถวายบังคมลายกทัพขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ ครั้นถึง เข้าเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแจ้งราชการโดยควรแล้ว ก็ยกไปตั้งณเมืองเชียงแสน ฝ่ายกองทัพกรุงเทพมหานครยกขึ้นไป ก็งดการรบไว้ พระยาราชฤทธานนต์ กับพระยาหลวงเมืองแสนแม่ทัพล้านช้าง เจรจาความเมืองกัน พระยาหลวงเมืองแสนเกรงพระเดชเดชานุภาพ ก็เลิกทัพกลับไปเมือง พระยาราชฤทธานนต์ก็ให้พระรามเดโชอยู่ช่วยราชการเมืองเชียงแสนโดยพระราชกำหนด พระยาราชฤทธานนต์ก็เลิกทัพกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร กราบทูลซึ่งได้ไประงับกองทัพล้านช้างกับกองทัพเมืองเชียงแสนเสร็จสิ้นทุกประการ.
๏ฝ่ายทัพพระยาจักรีก็ถึงเมืองตนาวศรี ทัพพระยาคลังถึงเมืองทวาย เจ้าเมืองตนาว เจ้าเมืองทวาย ก็บอกหนังสือขึ้นไปณเมืองหงษาวดี ฝ่ายนายทัพนายกองรามัญก็ยกมาถึงเมืองเมาะตมะ พอเรือถือหนังสือบอกเมืองตนาว เมืองมฤท เมืองทวาย ไปถึงเมืองเมาะตมะ บอกว่า กองทัพไทยยกไปตีเมืองตนาว เมืองมฤท เมืองทวาย ชาวเมืองกับกองทัพได้รบพุ่งกันเปนสามารถ แลทัพไทยครั้งนี้หักหาญ ชาวเมืองตนาว เมืองมฤท เมืองทวาย รับกลางแปลงมิหยุด บัดนี้ ได้แต่รักษาน่าที่อยู่ แลกองทัพไทยเข้าล้อมเมืองตนาวได้ ๙ วัน ล้อมเมืองทวายได้ ๗ วันแล้ว ขอกองทัพเร่งลงไปช่วยโดยเร็ว เมืองตนาว เมืองมฤท เมืองทวาย จึงจะพ้นเงื้อมมือข้าศึก เจ้าเมืองเมาะตมะบอกข้อราชการขึ้นไปกรุงหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีแจ้งดังนั้น ก็แต่งให้ข้าหลวงลงไปเร่งกองทัพให้รีบยกไปช่วยให้ทัน ฝ่ายพระยาจักรียกมาถึงแดนเมืองตนาวศรี ตีบ้านรายทางกวาดผู้คนได้เปนอันมาก แล้วก็เข้าล้อมเมืองตนาวศรี ชาวเมืองรบป้องกันเปนสามารถสิบห้าวัน พระยาจักรีก็แต่งทหารเข้าปล้นเมืองในเพลาตีสิบเอ็จทุ่ม พอรุ่งขึ้นเช้า เพลาประมาณโมงเศษ ก็เข้าเมืองได้ ฝ่ายกองทัพพระยาพระคลังยกตีแดนเมืองทวาย ชาวทวายยกออกมารับก็แตกเสียเครื่องสาตราอาวุธล้อมตายเปนอันมาก พระยาพระคลังก็ยกเข้าไปพักพลตั้งค่ายริมน้ำฟากตวันออกเหนือคลองละห่าหมั้น แล้วก็ยกข้ามไปล้อมเมืองไว้อยู่ถึงยี่สิบวัน ทวายจ่าเจ้าเมืองทวายเห็นเหลือกำลังจะรักษาเมืองไว้มิได้ ก็แต่งให้เจตองหวุ่นทกออกไปขอออกเปนข้าขอบขัณฑเสมาถวายดอกไม้เงินทอง.
๏ขณะเมื่อพระยาจักรีได้เมืองตนาวศรีนั้นคิดว่า ทัพเมืองหงษาวดี เมืองเมาะตมะ จะยกทุ่มเทลงมาช่วยเมืองทวาย จึงจับสลุบลูกค้าฝรั่งลำหนึ่ง แขกสองลำ เรือรบร้อยห้าสิบลำ ให้หลวงเทพวรชุณเปนแม่กองเรือ ถือพลหมื่นหนึ่ง ยกขึ้นไปเมืองทวายโดยทางชเล ให้พระยาศรีไสยณรงค์คุมไพร่หมื่นหนึ่งอยู่รักษาเมืองตนาวศรี แลพระยาจักรีก็ยกพลสามหมื่นขึ้นไปเมืองทวายทางบก.
๏ฝ่ายหลวงเทพวรชุณซึ่งเปนแม่ทัพเรือนั้นยกขึ้นมาถึงตำบลบ้านการบ่อแดนเมืองทวาย พอพบทัพเรือสมิงอุบากอง สมิงพระตะบะ ยกมาแต่เมืองเมาะตมะ เรือรบเรือบรรทุกสองร้อยลำ พลประมาณหมื่นหนึ่ง จะลงไปช่วยเมืองตนาว ได้รบกันแต่เช้าจนเพลาเที่ยง พอคลื่นหนัก ก็ทอดรอยิงกันอยู่.
๏ฝ่ายพระยาพระคลังได้เมืองทวายแล้วคิดว่า พระยาจักรีตีเมืองตนาว เมืองมฤท จะได้ฤๅมิได้ก็ยังไม่รู้ จึงแต่งให้พระพิไชยสงคราม พระรามกำแหง คุมไพร่ห้าพันบรรจุเรือรบร้อยลำยกไปช่วยพระยาจักรี ขณะเมื่อพระพิไชยสงคราม พระรามกำแหง ยกออกมาพ้นปากน้ำเมืองทวายไปแล้ว พอได้ยินเสียงปืนรบกัน จึงให้ขุนโจมจัตุรงค์กับเรือรบกองน่าสามลำลงไปสืบ ขุนโจมจัตุรงค์ก็ไปถึงหลวงเทพวรชุณแล้วกลับขึ้นมาแจ้งราชการทุกประการ พระพิไชยสงคราม พระรามกำแหง แจ้งดังนั้นก็ตีกระหนาบเข้าไป ฝ่ายหลวงเทพวรชุณก็ตีกระทบขึ้นมา วางปืนกำปั่นไปต้องสมิงอุบากองตาย เรือสมิงพระตะบะแตก จมน้ำตายทั้งนายแลไพร่ กองทัพมอญทั้งนั้นแตกกระจัดกระจาย บ้างหนีเข้าฝั่งชักใบกลับไป ตายในน้ำแลต้องปืนตายเปนอันมาก ได้เรือบรรทุกเรือรบปืนใหญ่ปืนน้อยแลเครื่องสาตราวุธต่าง ๆ จับได้เปนประมาณห้าร้อยเศษ ก็แจ้งว่า กองทัพบกมาช่วยเมืองทวายด้วย พระพิไชยสงคราม พระรามกำแหง หลวงเทพวรชุณ ก็พากันเข้าไปณเมืองทวาย พอพระยาจักรีก็ยกมาถึง นายกองทัพเรือทั้งสามคนก็เอามอญเชลยแลเรือรบปืนใหญ่ปืนน้อยเครื่องสาสตาวุธนั้นเข้าไปให้พระยาจักรี พระยาพระคลัง แล้วแจ้งว่า กองทัพบกยกมาช่วยเมืองทวาย บัดนี้ ข้ามแม่น้ำเมาะตมะแล้ว พระยาจักรี พระยาพระคลัง แจ้งดังนั้นก็แต่งทัพเปนสองทัพ ทัพพระยาจักรีเดินฟากตวันออก ทัพพระยาพระคลังเดินฟากตวันตก ไปซุ่มอยู่ทั้งสองฟากโดยทางทัพมอญจะยกมา ฝ่ายท้าวพระยารามัญนายทัพนายกองยกมาใกล้เมืองกลิอ่อง มิได้รู้เหตุว่า เมืองตนาว เมืองทวาย เสียแล้ว ก็แยกทัพกัน เจ้าเมืองมล่วนเดินทางกลิอ่องมาเสือข้ามฟากตวันออก ทัพเจ้าเมืองกลิดตองปุเดินทางริมชเลฟากตวันตกมาถึงตำบลป่าเหนือบ้านหวุ่นโพะ ทัพไทยซึ่งตั้งอยู่ทั้งสองฟากเห็นทัพพม่ารามัญยกถลำลงมาก็ออกโจมตี ทัพมอญมิทันรู้ก็แตกกระจัดกระจายไป กองทัพไทยทั้งสองฟากจับได้ช้างพลายร้อยเศษ ม้าพันเศษ มอญพม่าสี่ร้อยเศษ เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก ได้นายทัพนายกอง ๑๑ คน พระยาจักรี พระยาพระคลัง บอกข้อราชการเข้ามาให้กราบทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ดีพระไทย ตรัศให้ตอบออกไปให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่รั้งเมืองตนาว ให้เอาทวายจ่าเจ้าเมืองทวายเข้ามาเฝ้า พระยาจักรี พระยาพระคลัง จัดแจงบ้านเมืองเสร็จแล้วก็ให้ยกกลับเข้ามาเถิด พระยาจักรี พระยาพระคลัง แจ้งดังนั้นก็ลงไปเมืองตนาวตามพระราชบรรหารทุกประการ แลให้ทวายจ่าเปนเจ้าเมืองทวายอยู่ดังเก่า ให้จัดชาวทวายเปนที่ปลัดชื่อ ออพะปลัด ผู้หนึ่ง ให้เปนยุกรบัตรชื่อ ออลังปลัด ผู้หนึ่ง เปนที่นาชื่อ ออละนัด ผู้หนึ่ง เปนที่วังชื่อ คงปลัด ผู้หนึ่ง เปนที่คลังชื่อ ออแมงจะคี ผู้หนึ่ง เปนที่สัสดีชื่อ คงแวงทัด คงจ่าเปนที่เมือง ครั้นตั้งแต่งขุนหมื่นผู้ใหญ่ผู้น้อยแลจัดบ้านเมืองเปนปรกติเสร็จแล้ว ครั้นณเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระยาจักรี พระยาพระคลัง ก็พาเอาตัวทวายจ่าเจ้าเมืองทวายกับผู้มีชื่อซึ่งตั้งไว้ ๖ คนนั้นเข้ามาด้วย ขณะนั้น ยกกองทัพมาโดยถม่องส่วยถึงตำบลเขาสูงช่องแคบแดนพระนครศรีอยุทธยากับเมืองทวายต่อกัน หาที่สำคัญมิได้ จึงให้เอาปูนในเต้าไพร่พลทั้งปวงมาประสมกันเข้าเปนใบสอก่อพระเจดียฐานสูง ๖ ศอก พอหุงอาหารสุกก็สำเร็จ แล้วยกเข้ามาถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยา เข้าเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยประพฤดิเหตุทั้งปวง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทราบดังนั้นก็มีความยินดี จึงโปรดให้พระยาจักรี พระยาพระคลัง แลนายทัพนายกองทั้งปวงพ้นโทษ แล้วมีพระราชบริหารกำหนดให้ชุมท้าวพระยามุขมนตรีกระวีราชปโรหิตาจารย์ทุกหมู่ทุกกระทรวง ครั้นถึงวันพระราชกำหนด สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จออกไปเบิกแขกเมืองทวายจ่ากับขุนนาง ๖ คนเข้ามาเฝ้า แลพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วตรัศให้พระราชโอวาท โปรดให้ทวายจ่ากับขุนนาง ๖ คนกลับออกไปรักษาเมืองทวาย.
๏ลุศักราช ๙๔๓ ปีมเสง ตรีนิศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า เมืองตนาว เมืองมฤท เมืองทวาย เมืองเชียงใหม่ นั้นเปนของเราอยู่แล้ว เห็นศึกหงษาวดีจะห่างลง จำจะยกไปแก้แค้นพระยาแลวกให้ได้ น้ำลงแห้งเท้าช้างม้าแล้วจะยกไป.
๏ครั้นถึงณวัน ๗ ๕ฯ ๒ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศให้เทียบพลทุ่งหารตราสกรรจ์ลำเครื่องแสนหนึ่ง ช้างเครื่อง ๘๐๐ ม้าพันห้าร้อย ให้พระราชมนูถือพลห้าพันเปนกองน่า ครั้นได้ศุภวารฤกษ์ ก็ยกทัพหลวงเสด็จไปโดยทางสถลมารคล่วงด่านพระจาฤกออกไป.
๏ฝ่ายพระยาแลวกแจ้งข่าวว่า ทัพกรุงศรีอยุทธยายกออกมา ก็ให้พระยาแสนท้องฟ้าคุมพลหมื่นหนึ่งไปตั้งอยู่ณเมืองโพธิสัตว ให้พระยาบวรนายกคุมพลหมื่นห้าพันไปตั้งอยู่ณเมืองปัตบอง ขณะเมื่อพระยาแสนท้องฟ้า พระยาบวรนายก ไปตั้งอยู่นั้น ก็แต่งให้พระยาราชดึงษา กับพระยามโนไมตรีเจ้าเมืองปัตบอง คุมพลห้าพันไปตั้งซุ่มอยู่ณป่าระนามตำบลพาด ฝ่ายทัพหลวงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยกไปตามลำน้ำโตนดเข้าป่าระนามช่องแคบ พระยาราชดึงษาเห็นกองทัพถลำขึ้นไปก็โจมตี ทัพพระราชมนูก็แตกลงมาถึงน่าช้างพระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ให้แยกทัพตีกระหนาบขึ้นไป กองทัพเขมรแตกรี้พลล้มตายเปนอันมาก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงพระพิโรธว่า พระราชมนูเปนกองน่าให้เสียทีแก่ข้าศึกจนพะทัพหลวงดังนี้ ตรัศให้ลงโทษถึงชีวิตร สมเด็จพระเอกาทศรฐผู้เปนพระอนุชาธิราชกราบทูลว่า พระราชมนูเปนนายกองทัพน่าพ่ายข้าศึกลงมาประทะทัพหลวงนั้นโทษถึงสิ้นชีวิตร แต่ทว่า ได้โดยเสด็จงานพระราชสงครามก็มาก ประการหนึ่ง การศึกก็ยังมีอยู่ ขอพระราชทานโทษไว้ให้ทำราชการแก้ตัวครั้งหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็บัญชาโดยพระอนุชาธิราช แล้วดำรัศให้พระราชมนูเร่งยกไปตีเมืองปัตบอง เมืองโพธิสัตว ให้แตกฉาน ทัพหลวงก็เสด็จยกตาม พระราชมนูก็ยกไปตีเมืองปัตบอง เมืองโพธิสัตว แตกฉานทั้งสองตำบล ได้ผู้คนแลเครื่องสาตราวุธมาถวายเปนอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยกพยุหบาตราทัพไปถึงเมืองแลวก ตรัศให้มุขมนตรีนายทัพนายกองเข้าล้อมเมือง แต่งทหารเข้าหักเอาเมือง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันเปนสามารถ เข้ามิได้ แต่ล้อมเมืองอยู่ถึงสามเดือนเศษ ไพร่พลในกองทัพหลวงขัดเสบียงอาหาร แต่งให้ออกลาดหาเสบียงก็มิได้ เข้าเปนทนานละบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศว่า เรายกมาครั้งนี้หมายจะได้เข้าในท้องนาก็หาสมคิดสมคเนไม่ ฝ่ายกรุงกัมพูชาธิบดีเล่า ฝนก็แล้ง เข้าต้นในท้องนาก็ได้ผลน้อย ประการหนึ่ง มิได้มีทัพเรือลำเลียงมาด้วย กองทัพจึงขัดสนเสบียงแลเสียทีมิได้เมือง ถึงดังนั้นก็ดี พอรู้จักกำลังศึกหนักมือเบามืออยู่แล้ว จำเปนจะถอยทัพกลับไปก่อน ครั้นณวัน ๓ ๓ฯ ๔ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เลิกทัพกลับยังพระนคร ตรัศให้บำรุงช้างม้ารี้พลไว้ ปีน่าจะยกไปเอากรุงกัมพูชาธิบดีให้ได้.
๏ลุศักราช ๙๔๔ ปีมเมีย จัตวาศก เดือน ๑๒ ข้างแรม พระเจ้าหงษาวดีเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน จึงตรัศปฤกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงว่า ในปีมเสงนั้น เห็นประหนึ่งทัพนเรศวรจะถึงกรุงหงษาวดีแลสงบอยู่มิได้มานั้น ราชการข้างพระนครศรีอยุทธยาจะเปนประการใด จำจะแต่งกองทัพไปตรวจด่าน จะได้ฟังอึงกิดาการแห่งเมืองไทยให้ตระหนักด้วย ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงก็พร้อมโดยพระราชบริหาร สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็ตรัศให้พระเจ้าแปรถือพลห้าหมื่น ช้างเครื่อง ๒๐๐ ม้า ๕๐๐ ยกไปตรวจด่านทางแลให้ฟังกฤดิศัพท์ดู ถ้าแผ่นดินพระเจ้านครศรีอยุทธยายังเปนของพระนเรศวรอยู่ อย่าให้ล่วงด่านแดนเข้าไป แต่หญ้าเส้นหนึ่งก็อย่าได้ทำอันตรายเลย ครั้นได้ศุภวารดิถีอุดมฤกษ์ พระเจ้าแปรก็ถวายบังคมลายกช้างม้ารี้พลไปตรวจทางตระเวนด่านโดยสถลมารค ครั้นมาถึงด่านต่อแดนก็แจ้งว่า แผ่นดินยังเปนของพระนเรศวร พระเจ้าแปรมิได้อยู่ในพระราชบัญญัติพระเจ้าหงษาวดี คิดกำเริบจะเอาความชอบ ก็ยกล่วงด่านเข้ามาตั้งอยู่ตำบลสังขล่า เจ้าเมืองกาญจนบุรีรู้ข่าวก็ตรวจตรารักษาค่ายคูประตูหอรบไว้มั่น แล้วก็บอกเข้าไปให้กราบทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทราบดังนั้นก็ตรัศว่า จะไปเล่นตรุศเมืองแลวกสิสงกรานต์ชิงมาก่อนเล่า จำจะยกออกไปเล่นสงกรานต์กับมอญให้สนุกก่อน แล้วกำหนดให้เกณฑ์พลสกรรจ์ลำเครื่องแสนหนึ่ง ช้างเครื่อง ๘๐๐ ม้า ๑๕๐๐ ให้ตั้งพิธีโขลนทวารตัดไม้ข่มนามตำบลลุมพลี ตั้งทัพไชยทุ่งภูเขาทอง.
๏ครั้นณวัน ๑ ๑๑ ฯ ๑ ค่ำ ได้เพชรฤกษ์อันอุดม สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงช้างต้นพลายโจมจักรพาฬเปนพระคชาธารสรรพด้วยคชาภรณ์เครื่องมั่น สมเด็จเอกาทศรฐทรงช้างต้นพลายศัตรูพินาศเปนพระคชาธารประดับเครื่องคชาภรณ์ เสด็จยกพยุหแสนยากรทวยหาญ ให้พระยาสีหราชเดโชถือพล ๕๐๐๐ เปนกองน่า ยกไปโดยทางเมืองสุพรรณบุรี ครั้นเสด็จถึงเมืองกาญจนบุรี เสด็จหยุดประทับแรม จึงมีพระราชบริหารดำรัศสั่งพระมหาเทพให้ถือพล ๕๐๐๐ ยกไปตั้งซุ่มอยู่ที่ทางทัพพระเจ้าแปรยกมา ถ้าทัพข้าศึกแตกถอยไป ก็ให้ออกโจมตีซ้ำเติมให้แตกฉานยับเยิน พระมหาเทพก็ยกไปซุ่มอยู่ตามรับสั่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จยกพยุหบาตราทัพจากเมืองกาญจนบุรีไปถึงตำบลสังขล่า ก็ตั้งค่ายประชิดแล้วให้ทหารขึ้นไปร้องน่าทัพว่า อ้ายมอญเหล่านี้หาเกรงพระเดชเดชานุภาพไม่ฤๅ ล่วงแดนเข้ามาไย บัดนี้ พระกาลเสด็จมาจะประหารชีวิตรเองทั้งปวงแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็แยกพระคชาธารพร้อมด้วยทแกล้วทหารซ้ายขวาน่าหลังกระโจมตีฆ่าฟันพม่ามอญแตกฉานล้มตายเปนอันมาก พระเจ้าแปรเห็นเหลือกำลังจะทานมิได้ก็รุดหนี ทหารกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาก็ยกตามไป ฝ่ายทัพพระมหาเทพซึ่งไปซุ่มอยู่นั้นเห็นได้ที ก็ยกออกโจมตีแทงฟันข้าศึกตายลำบากเกลื่อนไปโดยทางชายป่าชายดงจนพระเจดีย์สามองค์ จับได้มอญแลช้างม้าเครื่องสาตราวุธมาถวายเปนอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เลิกทัพกลับเข้าพระนคร.
๏ครั้นณวัน ๕ ๖ฯ ๓ ค่ำ ก็ปูนบำเหน็จมุขมนตรีนายทัพนายกองทั้งปวงโดยสมควร แล้วมีพระราชบริหารสั่งพระยานครนายก พระยาปราจิณ พระวิเศษเมืองฉเชิงเทรา พระสุระบุรี ๔ หัวเมือง ให้พระยานครนายกเปนแม่กองใหญ่ คุมพลหมื่นหนึ่งออกไปตั้งค่ายขุดคูปลูกยุ้งฉางถ่ายลำเลียงไว้ตำบลทำนบรักษาให้มั่นอย่าให้เสียทีแก่ข้าศึก ฝ่ายพระยานครนายก พระยาปราจิณ พระวิเศษฉเชิงเทรา พระสุระบุรี กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปทำตามพระราชบัญชาสั่ง.
๏ฝ่ายพระเจ้าแปร เมื่อแตกหนีมาถึงเมืองหงษาวดี เหลือรี้พลช้างม้าประมาณกึ่งหนึ่ง พระเจ้าหงษาวดีทรงพระพิโรธ ตรัศว่า พระเจ้าแปรล่วงพระราชบริหารให้เสียรี้พลช้างม้าดังนี้ ให้ประหารชีวิตรเสีย ท้าวพระยามุขอำมาตย์ทั้งปวงกราบบังคมทูลขอชีวิตรไว้ พระเจ้าหงษาวดีก็โปรดพระราชทานให้ถอดเสียจากที่ถานาศักดิ์.
๏ลุศักราช ๙๕๕ ปีมแม เบญจศก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า ครั้นเสร็จการพระราชพิธีอาศวยุชแล้ว มีพระราชบริหารสั่งให้เกณฑ์ทัพเตรียมไว้ แลพลสกรรจ์ลำเครื่องแสนหนึ่ง ช้างเครื่อง ๘๐๐ ม้า ๑๕๐๐ กำหนดเดือนอ้ายจะยกไปตีกรุงกัมพูชาธิบดี ให้เกณฑ์ทัพเมืองนครราชสิมาหมื่นหนึ่ง ยกตีลงทางตะพานทิพ ตะพานแสง ไปเอาเมืองเสียมราบ ตีไปฟากตวันออกตั้งกะพงสวาย แลให้เกณฑ์ทัพเรือเมืองปากใต้ ๒๕๐ ลำ ให้พระยาเพ็ชรบุรีเปนแม่ทัพ เกณฑ์เรือลำเลียงเมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองไชยา ๒๐๐ ลำบรรทุกเข้าลำเลียงให้ได้ ๒๐๐๐ เกวียน ทั้งทัพเรือแลทัพลำเลียงเปนคนหมื่นหนึ่ง สรรพไปด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิว ไปตีเอาเมืองป่าสักทัพหนึ่ง ให้กองทัพอาสาจามแลกองทัพเมืองจันทบุรีคุมเรือรบ ๑๕๐ ลำ พลรบพลแจวหมื่นหนึ่ง สรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิว ให้พระยาราชบังสรรเปนแม่ทัพตีไปทางปากน้ำพุทไธมาศ แลทัพบกทัพเรือหัวเมืองนี้กำหนดเดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ให้ยกพร้อมวันทัพหลวงเสด็จ ท้าวพระยาพระหลวงหัวเมืองก็จัดแจงทัพบกทัพเรือไว้โดยพระราชกำหนด.
๏ครั้นณวัน ๖ ๑ฯ ๑ ค่ำ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศให้ไปตั้งพิธีชุมพลตำบลทุ่งหารตรา ถึงณวัน ๓ ๕ฯ ๑ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาห้าบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเครื่องอาภรณวิจิตรอลงการประดับสำหรับพิไชยยุทธเสร็จ ครั้นได้เพ็ชรฤกษ์มงคลอันประเสริฐ พระโหราลั่นฆ้องไชยชีพ่อพราหมณ์ถวายเสียงสังข์ สมเด็จพระนเรศวรบรมเชษฐาธิราชทรงช้างต้นเจ้าพระยาไชยานุภาพเปนพระคชาธาร สมเด็จเอกาทศรฐทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรเปนพระคชาธาร เข้าโขลนทวาร พระสงฆ์ราชาคณะประน้ำพระพุทธมนต์ พระยานนท์ตัดไม้ข่มนามโดยสาตร พร้อมด้วยเสนามาตยนิกรทวยหาญแห่แหนริ้วรายโดยกระบวนพยุหบาตราเปนขนัด ประดับด้วยเสวตรฉัตรชุมสายวาลวิชนีบังพระสุริยาอลงการ์โกลาหล ศัพทสำเนียงแตรสังข์ฆ้องกลองอึงอล เสด็จกรีธาพลเดินโดยสถลมารคทางด่านพระจาฤก ประทับร้อมแรมไปตามรยะ ก็ถึงตำบลค่ายทำนบ.
๏ฝ่ายพระยานครนายก พระยาปราจิณ พระวิเศษเมืองฉเชิงเทรา พระสุระบุรี ผู้รักษาค่ายฉาง เข้ามาเฝ้าทูลข้อราชการแลจำนวนเข้าเสร็จสิ้นทุกประการ จึงดำรัศให้พระสุระบุรีคุมพลพันหนึ่งอยู่รักษาค่ายฉางเข้า แล้วให้แต่งกองออกไปลาดตระเวนฟังราชการให้ถึงทัพหลวง แต่พระยานครนายก พระยาปราจิณ พระวิเศษ กับพล ๙๐๐๐ ให้ยกไปเข้ากระบวนทัพหลวง แลทัพหลวงตั้งตำบลพะเนียดทางร่วมที่จะไปเมืองปัตบองแลเมืองนครเสียมราบ จึงมีพระราชบริหารให้พระราชมนูเปนกองน่า คุมพลสองหมื่นห้าพันยกไปแก้ตัวตีเอาเมืองปัตบองแลเมืองโพธิสัตว พระราชมนูนายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลาแล้วก็ยกไปตามพระราชกำหนด รุ่งขึ้นวันหนึ่ง กองทัพหลวงก็เสด็จยกพยุหโยธาทหารไปตาม.
๏ฝ่ายพระยาแลวก ขณะเมื่อเดือนสิบเอ็จเดือนสิบสอง แต่งคนให้มาสอดแนมเอาข่าวราชการ ได้เนื้อความว่า กรุงพระนครศรีอยุทธยาน้ำแห้งเท้าช้างเท้าม้าจะยกทัพบกทัพเรือออกมาตีกรุงกัมพูชาธิบดี ก็ให้จัดแจงแต่งการพระนครเปนสามารถ ฝ่ายหัวเมืองรายทางที่ค่ายคูหอรบปรักหักพังนั้นก็ซ่อมแปลงขึ้นมั่นคงทุกเมือง แลเมืองปัตบองนั้นมีพลทหารราบหมื่นหนึ่ง ให้พระยามโนไมตรีเปนแม่ทัพ เมืองโพธิสัตวให้พระยาสวรรคโลกเจ้าเมืองเปนแม่ทัพ พลสองหมื่น แล้วให้พระศรีสุพรรณมาธิราชผู้เปนพระอนุชาถือพลทหารสามหมื่นออกมาตั้งรับอยู่ณเมืองบริบูรณ์ แล้วแต่งคนเร็วม้าใช้ผลัดเปลี่ยนกันสืบข่าวราชการณเมืองโพธิสัตว เมืองปัตบอง มิได้ขาด ทางเรือนั้นแต่งกองทัพเปนสองทัพ ให้พระยาวงษาธิราชคุมเรือกุไล่แง่ทรายร้อยห้าสิบลำ พลรบพลแจวหมื่นหนึ่ง สรรพไปด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิว ลงไปรักษาเมืองป่าสัก ให้พระยาภิมุขวงษาคุมเรือกุไล่แง่ทรายร้อยห้าสิบลำ พลรบพลแจวหมื่นหนึ่ง สรรพไปด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิว ลงไปรักษาเมืองจัตุรมุขปากกสังซึ่งกองทัพเรือข้าศึกจะมาทางพุทไธมาศนั้น ให้พระยาจีนจันตุยกเอาพลเมืองสำโรงทอง เมืองเชิงกระชุม เมืองกะปอด กะพงโสม เปนคน ๕๐๐๐ ไปรักษาปากน้ำเมืองพุทไธมาศ.
๏ฝ่ายพระราชมนูข้ามลำน้ำโตนดมาใกล้ตำบลลำพาดชายป่ารนามที่เขมรเคยซุ่มทัพแต่ก่อน ก็จัดพลพร้อมเสร็จเปนทัพฬ่อทัพตี ส่วนพระราชมนูขี่ช้างพลายจู่โจมทัพ มีทหาร ๓๐๐ ถือหอกเดินน่าช้าง ครั้นถึงป่ารนาม ก็มิได้เห็นกองทัพเขมร แล้วยกล่วงเข้าไป.
๏ฝ่ายพระยามโนไมตรีซึ่งรักษาเมืองปัตบองแจ้งว่า กองทัพไทยยกมา จึงปฤกษาแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า พระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จยกมาครั้งก่อนนั้นเปนทัพรุดรี้พลก็น้อย ประการหนึ่ง เข้าต้นในท้องนาเราก็เสีย ข้าศึกหาได้เปนกำลังไม่ จึงเลิกทัพถอยกลับไป ครั้งนี้ เห็นเปนเทือกเถาใหญ่หลวงนัก รี้พลช้างม้าก็มาก แล้วก็ตั้งยุ้งฉางถ่ายลำเลียงรายทางออกมา ซึ่งเราจะรับปะทะน่าศึกเหมือนครั้งก่อนนั้นเห็นไม่ได้ จะรักษาแต่เมืองให้มั่นไว้ดูกำลังข้าศึกก่อน ถ้าเห็นหนักเหลือกำลัง จึงจะบอกขอกองทัพมาช่วย นายทัพนายกองทั้งนั้นก็เห็นด้วยพระยามโนไมตรี จึงให้ตรวจน่าที่เชิงเทิน ตระเตรียมเครื่องสาตราวุธ ซ่อมแซมขวากหนามให้แน่นหนา แล้วให้ทำสพานเรือกข้ามแม่น้ำ ๓ สพานต่อหัวเมืองกลางเมืองท้ายเมือง แลตั้งค่ายกระหนาบต้นสพานข้างละ ๆ ค่าย ให้รักษาค่าย ๆ ละ ๕๐๐ แล้วแต่งให้หมื่นศรีสเหน็จคุมกองตระเวนแลม้าออกไปนั่งทางคอยเหตุ ถ้าข้าศึกยกมา ให้ยิงปืนเปนสำคัญ.
๏ฝ่ายทัพน่าพระราชมนูยกเดินมาแต่งเปนกองเสือป่าแมวเซา ๓ หอก ๗ หอกเล็ดลอดมาก่อน ยังทางประมาณร้อยเศษจะถึงเมืองปัตบอง พบเขมรกองตระเวน ได้รบยิงกัน จับได้ ๓ คน ส่งไปให้พระราชมนูถามแจ้งความเสร็จแล้วก็ตบมือหัวเราะจึงว่า ซึ่งพระยามโนไมตรีเจ้าเมืองปัตบองคิดรับเรากับเมือง ไม่ออกมารับกลางแปลงนั้น สำคัญว่ามั่นคงอยู่แล้วฤๅ เราเห็นว่าหามั่นไม่ จะรับเราได้แต่สักนาฬิกาหนึ่งก็เปนดี อุปมาเหมือนนุ่นแลสำลี ไหนเลยจะทานกำลังมหาวาตพยุใหญ่ได้ ว่าดังนั้นแล้วก็กำหนดนายทัพนายกองให้ยกเข้าตีเมืองปัตบองให้ได้แต่ในเพลานี้ ฝ่ายนายทัพนายกองพร้อมกันยกเข้าตีค่ายซึ่งกันรับต้นสพานทั้งหกค่าย ได้เขมรซึ่งแตกออกจากค่ายนั้นบ้าง วิ่งลงน้ำบ้าง บ้างข้ามสพานเข้าประตูค่ายเมืองคั่งกัน พระราชมนูเห็นดังนั้นก็ขับทหารไล่ไปตามสพาน แทงฟันเขมรล้มตายในน้ำบนบกเปนอันมาก หักเข้าเมืองได้ จุดไฟเผาเมืองขึ้น ครอบครัวชาวเมืองแตกตื่นวิ่งออกไปจากค่ายได้บ้าง จับได้พระยามโนไมตรี ครอบครัว ช้างพลายพังยี่สิบช้าง ม้าห้าสิบม้า ปืนใหญ่น้อย เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก พอทัพหลวงเสด็จถึง ตั้งตำบลปราสาทเอก พระราชมนูก็คุมตัวพระยามโนไมตรีมาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ถาม พระยามโนไมตรีให้การกราบทูลว่า พระยาแลวกให้พระศรีสุพรรณมาธิราชผู้เปนพระราชอนุชาถือพล ๓๐๐๐๐ ตั้งรับอยู่ณเมืองบริบูรณตำบลหนึ่ง ให้พระยาสวรรคโลกเจ้าเมืองโพธิสัตวถือพล ๒๐๐๐๐ ตั้งรับอยู่เมืองโพธิสัตวตำบลหนึ่ง ฝ่ายกองทัพไปตั้งรับอยู่ทางเรือนั้น ให้การกราบทูลเสร็จสิ้นทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงตรัศถามว่า ถ้าแลเมืองโพธิสัตวแลเมืองบริบูรณสองตำบลนี้แตกแล้ว เห็นกรุงกัมพูชาธิบดีจะเสียฤๅไม่ พระยามโนไมตรีให้การกราบทูลว่า ซึ่งเมืองจะเสียมิเสียนั้น จะกราบทูลเกรงจะเปนเท็จ สุดแต่พระราชดำริห์การเปนต้น แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า ซึ่งกองทัพรับอยู่สองตำบลนี้อุปมาเหมือนน่าสำเภา กรุงกัมพูชาธิบดีเปนท้ายสำเภา ถ้าน่าสำเภาต้องคลื่นแลพยุใหญ่แตกหักชำรุดรั่วอับปางลงแล้ว แลท้ายสำเภาจะรักษาไว้นั้นเปนอันยากนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทรงฟังดังนั้นแย้มพระโอฐแล้วตรัศว่า พระยาเขมรคนนี้พูดจาหลักแหลม ให้เอาไว้ใช้ ตรัศเท่าดังนั้นแล้วก็สั่งพระยานครนายกให้คุมพล ๓๐๐๐ อยู่รักษาเมืองปัตบอง เกลี้ยกล่อมเขมรให้เกี่ยวเข้าเก็บเข้าในท้องนาใส่ยุ้งฉางไว้ให้ได้จงมาก.
๏ขณะเมื่อเมืองปัตบองแตกนั้น พอคนเร็วม้าใช้เขมรเมืองโพธิสัตวออกมาฟังราชการมาถึงบ้านละลวด พอพบตละพาดพระยาพระเขมรนายหมวดนายกองแลไพร่กองทัพเมืองปัตบองแตกเข้ามา ก็พากันกลับไปเมืองโพธิสัตวแจ้งแก่พระยาสวรรคโลกทุกประการ พระยาสวรรคโลกแจ้งดังนั้น ก็บอกหนังสือส่งตัวพระยาพระเขมรทั้งปวงเข้าไปยังกรุงกัมพูชาธิบดี แล้วจึงปฤกษานายทัพนายกองว่า พระยามโนไมตรีมิได้แต่งกองทัพออกรับที่กล้าแลกองซุ่มกองโจรดูกำลังก่อน ละให้ศึกเข้ามาถึงเมืองจนเสียครอบครัวยับเยิน ข้าศึกก็มีน้ำใจกำเริบหนักขึ้น จะเอาเปนอย่างมิได้ เราจะยกออกไปรับกลางทาง นายทัพนายกองก็เห็นด้วย พระยาสวรรคโลกก็ให้ผ่อนครอบครัวออกเสียจากเมือง แล้วก็ยกออกไปตั้งรับลำน้ำลงกูบเอาน้ำไว้หลัง หมายจะมิให้ข้าศึกอาไศรยได้ จึงแต่งเปนกองโจรหกกอง ๆ ละ ๕๐๐ แล้วสั่งว่า ได้ทีจึงทำ ถ้ามิได้ที ให้หลีกเข้าป่า ถ้าเห็นศึกหนักเหลือกำลัง ให้ลาดถอยเข้ามา เราจึงจะยกออกยอ กองโจรก็ไปทำตามพระยาสวรรคโลกสั่ง.
๏ฝ่ายพระราชมนู ครั้นพระยานครนายกอยู่รักษาเมืองปัตบองแล้ว ก็กราบถวายบังคมลายกเข้าไปเมืองโพธิสัตว กองทัพหลวงก็เสด็จตามเข้าไป ทัพน่าพระราชมนูยกเข้าไปถึงตำบลหนองจอก.
๏ฝ่ายเขมรกองโจรก็ออกรบทัพน่าก็ตีแตก แต่เขมรรับรายทางเข้าไปถึงหกตำบล พลเขมรต้องสาตราวุธป่วยตายเหลือกำลังแล้วก็ถอยเข้าไปหาทัพใหญ่ พระราชมนูก็ยกทหารหนุนเนื่องกันเข้าไป ฝ่ายพระยาสวรรคโลกได้ยินเสียงปืนรบสักครู่หนึ่ง พอเห็นเขมรแตกทัพไทยไล่ตีเข้ามา พระยาสวรรคโลกให้ตีกลองสัญญาโบกธงยกทหารออกไปรับ ได้รบกันกับทัพน่าพระราชมนูจนถึงตลุมบอนฟังแทง พระราชมนูเห็นดังนั้นก็แยกทหารแผ่ออกตีประดาเข้าไป ทัพเขมรรับที่กล้าไม่อยู่ ก็แตกล้มตายป่วยเจ็บเปนอันมาก พระยาสวรรคโลกขึ้นช้างข้ามน้ำหนีไปได้ ทัพไทยได้ช้างพลายพังห้าสิบช้าง ม้า ๑๐๐ ม้า กับเครื่องสาตราวุธ จับได้เขมรเปนอันมาก แล้วยกตามเข้าไปได้เมืองโพธิสัตว ก็บอกลงไปถึงทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าดีพระไทย เสด็จพระราชดำเนินยกเข้ามาตั้งน่าเมืองโพธิสัตว ฝ่ายพระราชมนูนายทัพนายกองเข้ามาเฝ้าพระบาทยุคลถวายช้างม้าเครื่องสาตราวุธแลเขมรเชลยทั้งปวง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการสั่งให้พระยาปราจิณกับพล ๓๐๐๐ ตั้งอยู่เก็บรวมเสบียงอาหารณเมืองโพธิสัตว แล้วตรัศปฤกษาราชการแก่สมเด็จพระอนุชาธิราชว่า เมืองโพธิสัตวปัตบองเราก็ได้แล้ว แต่เมืองบริบูรณนั้นพระยาแลวกให้น้องออกมาตั้งรับ รี้พลก็มาก เห็นจะพร้อมสามประการ ทั้งอาชญาก็จะกล้า ทหารก็จะแขงมือ เครื่องสาตราวุธก็จะพร้อม ถึงกระนั้นก็ดี อุปมาเหมือนพระยานาคราช ถึงแม้นมาทมีเดชานุภาพมากก็ดี ฤๅจะอาจมาทานกำลังพระยาครุธได้ เราจะหักเอาให้ได้แต่ในพริบตาเดียว ตรัศเท่าดังนั้นแล้วก็สั่งให้ทัพน่าเร่งยกล่วงเข้าไป อย่าให้พลทหารคั่งกัน ครั้นเพลาตีสามยาม ได้เพ็ชรฤกษ์ พระจันทรทรงกรดส่องสว่าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงเครื่องสำหรับพิไชยยุทธเสร็จ ก็เสด็จยกพยุหโยธาทัพจากเมืองโพธิสัตวไปเมืองบริบูรณ.
๏ฝ่ายพระยาสวรรคโลกแลนายทัพนายกองซึ่งแตกมานั้นก็ไปเมืองบริบูรณเข้าเฝ้าพระศรีสุพรรณมาธิราชทูลแจ้งข้อราชการซึ่งได้รบเสียแก่ข้าศึกทุกสิ่งทุกประการ พระศรีสุพรรณมาธิราชได้แจ้งดังนั้นก็ตกพระไทย จึงแต่งกองตระเวนเปนเสือป่าผลัดเปลี่ยนกันออกไปลาดคอยดูข้าศึกทั้งหลาย ให้จุดเผาเข้าต้นในท้องนาเสีย แล้วบอกข้อราชการเข้าไปณกรุงกัมพูชาธิบดี ฝ่ายพระยาแลวกแจ้งว่า เมืองโพธิสัตว ปัตบอง เสียแก่ข้าศึกแล้ว ก็เสียพระไทย จึงสั่งให้พระยาราชนเรศคุมพลหมื่นหนึ่งยกไปช่วยเมืองบริบูรณ.
๏ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จยกพยุหบาตราทัพร้อนแรมตามทางมาสามคืนก็ถึงชายป่าทุ่งนาเมืองบริบูรณ กองน่าพบเขมรกองตระเวนเข้า ได้รบยิงกัน เขมรแตกวิ่งเข้าเมือง พระศรีสุพรรณมาธิราชแจ้งดังนั้นก็ตรัศว่า ศึกไทยได้ทียกเข้ามา ครั้นจะแต่งกองทัพออกรับ เกลือกรับมิอยู่ ทหารก็จะเสียใจ ประการหนึ่ง ศึกก็ยังมั่นประชุมกันอยู่ ต่อเมื่อใดแผ่บางออกแล้ว เราจึงจะยกออกตีทีเดียว ให้แต่ตรวจตรารักษาน่าที่เชิงเทินไว้ให้มั่นคง อย่าให้ข้าศึกเข้าแหกหักออกได้ ตรัศเท่าดังนั้นแล้วก็มิได้แต่งทหารออกรบ.
๏ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเห็นทัพเขมรมิได้ยกออกมารบ พระองค์ก็มิได้ยั้งทัพ จึงมีพระราชบริหารกำหนดให้นายทัพนายกองเข้าล้อมเมืองรบหักเอาให้ได้ในเพลานี้ ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งปวงก็แบ่งปันกันเปนน่าด้านยกล้อมโอบรบเข้าไป ฝ่ายเขมรก็รบยิงธนูน่าไม้ปืนไฟออกมาเปนสามารถ กองทัพไทยก็มิได้ถอย ขุดมูลดินเปนสนามเพลาะบังตัวรุกเข้าไป พอเพลาพลบค่ำ ก็ประจบกันที่ชิด ก็เข้าถอนขวากหนามปีนค่ายเย่อค่ายจนถึงได้ฟันแทงกัน.
๏ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชเห็นศึกหนักเหลือกำลังจะรับมิอยู่ ขึ้นช้างพระที่นั่งได้ทหารหมื่นหนึ่งก็แหกเมืองออกไป ทัพไทยก็เข้าเมืองได้ ไล่ฟันแทงเขมรเจ็บป่วยล้มตาย กองทัพเขมรก็หนีรบาดกันออกทุกน่าที่ กองทัพไทยจับได้พระยาเสนาธิบดีเจ้าเมืองบริบูรณ พระหลวงขุนหมื่นไพร่เขมร ปืนใหญ่น้อย เครื่องสาตราวุธ เปนอันมาก ได้ช้างพลายพังใหญ่น้อย ๗๕ ช้าง ม้า ๒๐๐ เศษ.
๏ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชแหกออกจากค่ายได้ มิได้ยั้งพล รีบเดินในเพลากลางคืนถึงตำบลบ้านพังรอ พบทัพพระยาราชนเรศซึ่งพระยาแลวกให้ออกมาช่วย ก็พากันถอยเข้าเมืองขึ้นเฝ้าแจ้งราชการแก่พระยาแลวกทุกประการ พระยาแลวกได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระโกรธ ตรัศคาดโทษพระศรีสุพรรณมาธิราชแลนายทัพนายกอง แล้วจึงให้ตรวจตราป้อมค่าย เกณฑ์ผู้รักษาน่าที่เชิงเทินหอรบชั้นนอก ซ่อมแซมขวากหนาม เอาปืนใหญ่ขึ้นใส่ป้อม แลประตูเมืองน่าที่นั้นห่างสิบวาไว้ปืนหลักแก้วบอกหนึ่ง ถัดเชิงเทินเข้ามาไว้กองหนุนกองละสามร้อยห่างกันสามเส้น เชิงเทินชั้นกลางนั้นไว้กองขันสี่กอง ๆ ละสามพัน ให้พระศรีสุพรรณมาธิราชผู้เปนอนุชาอยู่ด้านเหนือ พระราชบุตรอยู่ด้านใต้ เจ้าฟ้าทะละหะอยู่ด้านตวันออก พระยาราชนเรศอยู่ด้านตวันตก เชิงเทินชั้นในไว้กองใหญ่สี่กอง ๆ ละห้าพันในขบวนทัพหลวง แล้วแต่งหนังสือให้พระยามนตรีเสน่หาถือไปเมืองญวนขอกองทัพมาช่วย.
๏ครั้นเพลาอุสาโยค พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จออกพร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตยราชปโรหิตนายทัพนายกองกราบถวายบังคมเฝ้าบาทยุคลเกลื่อนกลาด พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงสั่งให้คุมเอาตัวพระยาเสนาธิบดีเจ้าเมืองบริบูรณ พระหลวงขุนหมื่นนายทัพนายกองเขมร เข้ามาน่าพระที่นั่ง ให้ถามข้อราชการในเมืองแลวก แลพระยาเสนาธิบดีพระหลวงขุนหมื่นนายทัพนายกองทั้งปวงก็ให้การกราบทูลเสร็จสิ้นทุกประการ จึงมีพระราชโองการให้พระวิเศษเมืองฉเชิงเทราเปนพระยาวิเศษ ให้เปนนายกองทัพคุมพลสามพันตั้งอยู่ณเมืองบริบูรณ ปลูกยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารไว้เสร็จ แล้วเสด็จพระราชดำเนินยกพยุหบาตราทัพโดยลำดับมารควิถีสองคืนก็ถึงกรุงกัมพุชประเทศ ทัพหลวงตั้งค่ายมั่นไกลเมืองทางประมาณเจ็ดสิบเส้น ตรัศให้นายทัพนายกองตั้งค่ายล้อมประชิเมือง ให้พระราชมนูอยู่ด้านตวันตก พระยาสีหราชเดโชอยู่ด้านใต้ พระยาท้ายน้ำอยู่ด้านตวันออก พระยามหาโยธาอยู่ด้านเหนือ.
๏ขณะเมื่อทัพหลวงตีค่ายรายทางเข้ามาถึงเมืองโพธิสัตวนั้น กองทัพพระยาราชบังสรรเข้าตีได้เมืองพุทไธมาศ พระยาจีนจันตุแม่ทัพเขมรตายในที่รบ แล้วยกเข้ามาณปากกสัง ได้รบกับกองทัพเรือพระยาภิมุขวงษา ฝ่ายกองทัพพระยาเพ็ชรบุรีเข้าตีเมืองป่าสัก ได้รบกับกองทัพเรืองพระยาวงษาธิราช กองทัพเขมรแตก พลเขมรจมน้ำตายเปนอันมาก พระยาวงษาธิราชก็ต้องปืนใหญ่ตาย กองทัพไทยได้เมืองป่าสัก กับสำเภาจีนลูกค้าสิบห้าลำ สลุบฝรั่งสองลำ เรือรบเรือไล่ปืนใหญ่น้อยเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก พระยาเพ็ชรบุรีก็ยกรุดตามขึ้นมาถึงปากกสัง เห็นกองทัพพระยาราชบังสรรกับเขมรยังรบกันอยู่ พระยาเพ็ชรบุรีก็ยกตีขนาบเข้าไป กองทัพเขมรทานมิได้ก็แตก พระยาราชบังสรรกับพระยาเพ็ชรบุรีสองทัพบรรจบกันเข้า ก็รีบยกมาตีได้เมืองจตุรมุข แล้วยกขึ้นไปบรรจบกองทัพหลวงณเมืองแลวก.
๏ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยานครราชสิมาซึ่งตีเมืองนครเสียมราบฟากชเลสาบตวันออกก็ยกมาตั้งค่ายมั่นณเมืองกพงสวายพร้อมกันกับกองทัพเรือพระยาเพ็ชรบุรี พระยาราชบังสรร แลเจ้าพระยานครราชสิมา พระยาพระหลวงหัวเมืองนายทัพนายกอง ก็พากันขึ้นไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณค่ายเมืองแลวก กราบทูลซึ่งได้รบรายทางแลได้สำเภาจีนสลุบฝรั่งเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยเสร็จสิ้นทุกประการ.
๏พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัศ จึงดำริห์การที่จะเข้าหักเมือง แล้วมีพระราชโองการสั่งนายทัพนายกองค่ายล้อมทั้งปวงให้เร่งเดินค่ายประชิเข้าไปให้ใกล้ ห่างเมืองเส้นหนึ่งสามสิบวา ให้ตั้งป้อมพูนดินทั้งสี่มุม ๆ ละสองด้าน เอาปืนใหญ่ทัพเรือขึ้นจังกายิงกวาดตามเชิงเทิน บันดาประตูเมืองนั้นก็ให้ตั้งป้อมเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงด้วย น่าที่ใดทหารบางอยู่นั้นให้กองทัพเรือกองทัพเมืองนครราชสิมายกมาบรรจบเร่งทำการให้แล้วพร้อมแต่ในสามวัน ถ้าผู้ใดมิแล้วตามกำหนด จะตัดศีศะเสียบเสีย ฝ่ายนายทัพนายกองกลัวพระราชอาชญา กราบถวายบังคมแล้วก็เร่งทำตามพระราชบัญชาทั้งกลางวันกลางคืน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงให้แต่งหนังสือว่า หนังสือเราผู้เปนนายกพลากรทหารทัพน่าอันเปนสวามิประวาศบาทมุลิกากรบวรรัตนามาศดุจหนึ่งจักรแก้วอันอยู่ในใต้เบื้องบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาอันมีพระบุญเดชามากดุจดวงพระทินกรส่องโลก มายังพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีซึ่งเปนใหญ่ในกัมพุชประเทศ ด้วยแต่ก่อนกรุงกัมพูชาธิบดีเคยถวายหิรัญสุวรรณมาลาเครื่องราชบรรณาการ สองพระนครก็เปนสุวรรณปัถพีเดียวกัน สมณชีพราหมณอาณาประชาราษฎรก็ได้ความศุขานุศุข เปนไฉนพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีมิได้ตั้งอยู่ในสัตยานุสัตย์ คิดอหังการกลับเปนประจามิตรให้เคืองใต้พระบาทยุคล เอาโลหิตมาเปนน้ำล้างดาบทหารไทย จะให้เหลืออยู่แต่น้ำกับฟ้า ป่ากับดิน ดังนี้ก็ดูมิควร บัดนี้ ก็เสด็จพระราชดำเนินมาถึงพระนครแล้ว อันจะได้ไชยชำนะแลมิได้ไชยชำนะนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีหาเข้าพระไทยไม่ฤๅ ให้ออกมากราบถวายบังคมพระบาทยุคลถวายเสวตรฉัตร เห็นชีวิตรจะยืนยาวไปได้ ฤๅหมายจะได้ไชยชำนะ ก็ให้เร่งยกพลพยุหโยธาออกมาสงครามกันดูเล่นเปนขวัญตา ถ้ามิออกมาในสามวัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะให้ทหารเข้าพลิกแผ่นดินเสียแต่ในพริบตาเดียว ครั้นแต่งเสร็จแล้ว ก็ให้พระยาเสนาธิบดีเจ้าเมืองบริบูรณกับพระยาพระเขมรซึ่งทัพเรือจับได้มานั้นถือเข้าไป พระยาพระเขมรทั้งปวงกราบถวายบังคมแล้วก็นำหนังสือเข้าไปถวายแก่พระยาแลวก แล้วทูลซึ่งได้รบทั้งทางบกทางเรือเสร็จสิ้นทุกประการ พระยาแลวกได้แจ้งในหนังสือแลเสียกองทัพเรือ ก็ยิ่งเสียพระไทยนัก จึงตรัศว่า อ้ายเหล่านี้ให้ออกไปรบศึก กลับเปนพวกประจามิตรเปนทูตถือหนังสือเข้ามาอิกเล่า โทษมันถึงตาย ให้เอาไปจำมั่นไว้ ตรัศเท่าดังนั้นแล้วก็เสด็จเลียบพระนคร ทอดพระเนตรเห็นกองทัพไทยเดินค่ายประชิเข้ามาใกล้ จึงบัญชาสั่งให้จุดปืนใหญ่น้อยยิงรดมออกไปต้องพลข้าศึกตายเจ็บก็มาก ทำการเข้าไปมิได้ พระราชมนู พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยามหาโยธา เห็นดังนั้น ก็ให้ขุดดินถมขึ้นบังตัวเดิน เขมรยิงออกมาไม่ถูก แล้วเร่งให้ถมมูลดินเปนป้อมขึ้นสูงกว่าค่ายเมือง เอาปืนใหญ่ขึ้นจังกาสองวันสองคืนก็เสร็จ ฝ่ายพระยาแลวกเห็นดังนั้น ก็ให้ตั้งค่ายสอบค่ายเมืองสูงขึ้นเปนค่ายบังตาข้าศึก หลังเชิงเทินนั้นสามสิบวา ให้ชักปีกกาแล้วไว้ประตูลับแลเปนช่องเดิน เสียงปืนน้อยปืนใหญ่ยิงตอบโต้กันมิได้ขาดทั้งกลางวันกลางคืน พลเขมรซึ่งรักษาน่าที่เชิงเทินนั้นต้องปืนเจ็บป่วยล้มตายเปนอันมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเห็นการพร้อมพอจะหักเอาเมืองได้ จึงให้โหรหาฤกษ์ ได้ฤกษ์วัน ๖ ๒ฯ ๕ ค่ำ ปีวอก ฉศก เพลา ๑๐ ทุ่ม ๕ บาท จึงดำรัศพระราชกำหนดให้พระราชมนูขี่ช้างพลายจู่โจมทัพ คุมทหาร ๓๐๐๐ เข้าโดยถนนประตูด้านตวันตก ให้พระยาสีหราชเดโชขี่ช้างพลายจับโจมยุทธ คุมทหาร ๓๐๐๐ เข้าโดยถนนประตูด้านใต้ แลให้พระยาท้ายน้ำขี่ช้างพลายมารประไลย คุมทหาร ๓๐๐๐ เข้าโดยถนนประตูด้านตวันออก ให้พระยามหาโยธาขี่ช้างพลายไฟภัทกัลป คุมทหาร ๓๐๐๐ เข้าโดยถนนประตูด้านเหนือ ช้างนั้นให้ใส่น่าร่าหุ์เกือกเหล็ก ทหารหมื่นสองพันให้ใส่เกือกเสื้อหนังหมวกหนัง ฝ่ายค่ายประชิทั้งปวงนั้นให้รดมจุดปืนใหญ่เข้าไปตามประตูแลกวาดเชิงเทินแต่ตี ๓ ยามไปกว่าจะถึงฤกษ์ อย่าให้พลเขมรยกมาช่วยกันถนัดได้ แต่ทว่า เปนเพลากลางคืน เห็นจะไม่พร้อม ให้คอยดูดวงพลุแลฟังเสียงฆ้องกลองแตรสังข์เปนสำคัญฤกษ์ แล้วก็ให้ยกทหารเข้าหักเอาเมืองให้ได้จงทุกด้าน ถ้าผู้ใดมิเข้าได้ จะตัดศีศะเสียบเสีย นายทัพนายกองทั้งปวงแจ้งพระราชกำหนด กราบถวายบังคม แล้วก็ไปเตรียมการตามรับสั่ง ครั้นเพลาสามยาม เจ้าน่าที่ทั้งปวงก็รดมปืนเข้าไปในเมือง ต้องพลเขมรป่วยเจ็บล้มตายเปนอันมาก ฝ่ายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเครื่องสำหรับขัติยราชรณยุทธ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงช้างต้นเจ้าพระยาไชยานุภาพเปนพระคชาธาร สมเด็จเอกาทศรฐทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรเปนพระคชาธาร พร้อมด้วยโยธาข้าทหารเสร็จ เสด็จมายืนช้างพระที่นั่งตรงประตูอุดรทิศน่าที่พระยามหาโยธา ได้เพ็ชรฤกษ์ จึงให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์จุดเพลิงพลุขึ้นเปนสำคัญ พลทหารทั้งสี่ด้านเห็นสำคัญก็ให้โห่ขึ้นพร้อมกัน พระยามหาโยธา พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระราชมนู ก็ขี่ช้างนำน่ายกทหารเข้าไปจะทำลายประตูเมือง เขมรซึ่งรักษาน่าที่ริมประตูแลรักษาประตูก็ยิงธนูน่าไม้ปืนใหญ่น้อยออกมาทั้งสี่ด้าน พลทหารไทยเจ็บป่วยล้มตายก็มิได้ถอย พระยามหาโยธาก็ขับช้างเข้าไปให้แทงประตูถีบประตูเปนสามารถ พอรุ่งขึ้นณวัน ๗ ๓ฯ ๕ ค่ำ ศักราช ๙๔๖ ปีวอก ฉศก ประตูก็พังลง ทหารไทยก็กรูกันเข้าไปในเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันเขมรตายเปนอันมาก เขมรกองกลางทั้งสองชั้นก็มิได้รับ ทิ้งเครื่องสาตราวุธเสีย หนีกระจัดกระจายออกจากเมืองบ้าง ไปหาครอบครัวบ้าง พระราชบุตรนั้นก็หนีไปด้วย จับได้พระยาแลวก กับพระศรีสุพรรณมาธิราช แลญาติประยูรวงษ์สนมกรมในท้าวพระยาพระเขมรครอบครัวพลเมืองเปนอันมาก พลทหารก็คุมเอาพระยาแลวกพันธนาการเข้ามาถวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแย้มพระโอฐ แล้วมีพระราชโองการตรัศถามพระยาแลวกว่า ท่านเปนกระษัตริย์ขัติยราชดำรงแผ่นดินกรุงกัมพูชาธิบดี มีกุรุราฐเปนแว่นแคว้นขอบขัณฑเสมา ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็มีสยามราฐชนบทเปนแว่นแคว้น แลสองพระนครนี้ก็เปนราชธานีใหญ่ ถ้าจะใคร่ได้สมบัติในพระนครศรีอยุทธยาแผ่เสมามณฑลให้กว้างขวาง เหตุไฉนจึงมิยกเปนพยุหโยธาไปกระทำสงครามให้ต้องทำนองขัติยราชรณยุทธเปนที่บำเทิงหฤไทยกระษัตราธิราชแต่ก่อน จึงคอยแต่ข่าวศึกกรุงหงษาวดีมาติดพระนครศรีอยุทธยาครั้งใด ก็มีแต่ยกพลไปพลอยซ้ำเติมตีเอาเมืองชนบทประเทศกวาดเอาอพยพมาเมืองทุกครั้ง ทำศึกดุจกาอันลอบลักฟองสกุณปักษาฉนั้น ควรด้วยราชประเพณีแลฤๅประการใด ก็ครั้งนี้ถึงซึ่งปราไชยแก่เราแล้ว จะคิดฉันใดเล่า ให้ว่าไปตามสัจตามจริง จะได้เปนเยี่ยงอย่างกระษัตริย์สืบไปภายน่า พระยาแลวกกราบถวายบังคมแล้วทูลว่า ซึ่งข้าพระองค์เปนคนโลภเจตนา มิได้กระทำสงครามตามราชประเพณีกระษัตริย์ ไปลักลอบกระทำเปนเสี้ยนหนามแก่พระนครศรีอยุทธยานั้น โทษผิดถึงตาย ถ้าพระองค์พระราชทานชีวิตรไว้ กรุงกัมพูชาธิบดีจะได้เปนข้าขัณฑเสมากรุงเทพมหานคร ถ้ามิเลี้ยง ก็จะก้มหน้าตาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังพระยาแลวกดังนั้นจึงตรัศว่า เราได้ออกวาจาไว้แล้วว่า ถ้ามีไชยแก่ท่าน เราจะทำพิธีประถมกรรมเอาโลหิตท่านล้างบาทาเสียให้จงได้ ท่านอย่าอาไลยแก่ชีวิตรเลย จงตั้งหน้าหาความชอบในปรโลกนั้นเถิด บุตรภรรยาญาติประยูรวงษ์นั้นเราจะเลี้ยงไว้ให้มีความศุขดุจแต่ก่อน ตรัศดังนั้นแล้วก็มีพระราชบริหารแก่มุขมนตรีให้ตั้งการพิธีประถมกรรมโดยสาตร พระโหราธิบดีชีพ่อพราหมณก็จัดแจงการนั้นเสร็จ จึงเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนเกย เจ้าพนักงานองครักษ์เอาตัวพระยาแลวกเข้าใต้เกย ตัดเอาศีศะ เอาถาดรองโลหิตขึ้นไปชำระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย ชีพ่อพราหมณเป่าสังข์ประโคมดุริยดนตรีถวายมุรธาภิเศก ทรงอาเศียรพาทโดยสาตรพิธีเสร็จ เสด็จเข้าพลับพลา
๏รุ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงเครื่องสำหรับราชรณยุทธเสร็จ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงม้าพระที่นั่งเจ้าพระยาราชพาหนะสูงสามศอกคืบสองนิ้ว สมเด็จพระเอกาทศรฐทรงม้าพระที่นั่งพลาหกสูงสามศอกคืบ พร้อมด้วยม้าเสนางคนิกรโยธาหาญแห่โดยขบวนซ้ายขวาน่าหลัง เสวตรฉัตรบังพระสุริยชุมสายพัดโบกพัชนี มีฆ้องกลองแตรสังข์ประโคมนฤนาท พระบาทเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเลียบพระนคร ครั้นเพลาบ่ายแล้วสองนาฬิกา เสด็จกลับยังค่ายหลวง มีพระราชโองการสั่งเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงว่า บุตรภรรยาญาติวงษ์พระยาแลวกแลสมัคพรรคพวกครัวอพยพซึ่งจับไว้ได้มากน้อยเท่าใดให้มารวมไว้ ให้นายทัพนายกองหลังคุมล่วงไปก่อนเจ็ดวัน ทัพหลวงจึงจะเลิกไป ท้าวพระยาทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็มาตรวจจัดครัวพระยาแลวกแลไพร่พลในเมืองซึ่งได้ไว้นั้นเปนคนอพยพสามหมื่นเศษ แล้วแต่งกองหลังคุมล่วงไปโดยพระราชบัญชา ครั้นกองทัพซึ่งคุมครอบครัวยกไปได้เจ็ดวันแล้ว ครั้นณวัน ๓ ๕ฯ ๕ ค่ำ เพลาสิบเอ็จทุ่ม ห้าบาท สมเด็จพระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงเครื่องอลังการ์สรรพาภรณ์บวรวิภูสิตสรรพเสร็จ สมเด็จพระนเรศวรบรมบพิตรเปนเจ้าทรงพังเทพลิลาศ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐทรงพังเทศประภา ผูกพระที่นั่งหลังคาทองทั้งสองช้างราชพาหนะที่นั่งต้น อลงกฎด้วยเครื่องอภิรุมชุมสายพรายพรรณบังรวิวรรณแทรกสลอนสลับ สรรพด้วยโยธาทวยหาญแห่รวดริ้วรยะกรรกง พร้อมเสนางคพยุหดูมหิมาดาดาษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จจากกรุงศรียโสธรนครอินทรบรัตกุรุรัฐราชธานี ฝ่ายทัพพระยานครราชสิมาก็เลิกกลับไปโดยทางนครเสียมราบ แต่ทัพเรือนั้นรั้งอยู่สองวัน จึงล่องไปตามชลมารคออกปากน้ำพุทไธมาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จร้อนแรมมาโดยมารควิถีสิ้นแดนกัมพุชประเทศ ทัพรายทางนั้นก็เลิกโดยเสด็จมาเปนขบวนหลังสิ้น สิบสามวันทัพหลวงก็เสด็จถึงกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา แลบุตรภรรยาญาติวงษ์พระยาแลวกแลครัวพระยาพระเขมรมีชื่อนั้น ก็ทรงพระกรุณาให้จัดแจงตั้งบ้านเรือน แล้วพระราชทานเครื่องอัญมณีทั้งปวงให้โดยควร ครั้นนายทัพนายกองทัพบกทัพเรือถึงพระนครพร้อมเสร็จ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลโดยความชอบ แต่พระราชมนูนั้นโปรดให้เปนที่เจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหพระกระลาโหม พระราชทานพานทอง เต้าน้ำทอง เจียดทองซ้ายขวา กระบี่ฝักทอง เครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมากโดยถานาศักดิ์.
๏ครั้นณวัน ๓ ๒ฯ ๕ ค่ำ ปีจอ อัฐศก กรมการเมืองกุยบุรีบอกเข้ามาว่า พระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งให้ไปรั้งเมืองตนาวศรีเปนขบถ โกษาธิบดีกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณายังแคลงอยู่ จึงโปรดให้มีตราแต่งข้าหลวงออกไปหาพระยาตนาวศรีก็มิมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จพระราชดำเนินยกทัพออกไป แลทัพสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จออกไปครั้งนั้นพลสามหมื่น ช้างเครื่องสามร้อย ม้าห้าร้อย ทัพปากใต้เมืองไชยา เมืองชุมพร เมืองคลองวาน เมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพ็ชรบุรี หกเมืองคนหมื่นห้าพัน ชุมทัพตำบลบางสพาน เดินทัพกทั่งศิงขร.
๏ฝ่ายพระยาตนาวศรีรู้ว่า สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยกออกมา ก็คิดเกรงพระเดชเดชานุภาพเปนอันมาก จะหนีก็เห็นไม่พ้น จะแต่งทัพออกรบก็เหลือกำลัง จนความคิดแล้วก็นิ่งรักษามั่นไว้ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงเมืองตนาวศรี สั่งให้ตั้งค่ายล้อมไว้โดยรอบ แต่ทัพหลวงนั้นตั้งไกลเมืองห้าสิบเส้น จึงทรงแต่งเปนหนังสือรับสั่งเข้าไปว่า พระยาตนาวศรีเปนข้าหลวงเดิม สัจซื่อมั่นคง ได้ทำราชการโดยเสด็จงานพระราชสงคราม ความชอบแต่หลังมากมายนัก ซึ่งทรงพระมหากรุณาให้มากินเมืองตนาวศรีนี้ยังหาเสมอความชอบไม่อิก แต่จำเปนด้วยเหตุว่า เมืองตนาวศรีเปนน่าศึก ครั้นจะให้ผู้อื่นมาอยู่มิวางพระไทย จึงให้พระยาศรีไสยณรงค์ออกมาอยู่ต่างพระเนตรพระกรรณ เนื้อความข้อนี้ก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจ แลซึ่งข่าวเข้าไปว่า พระยาตนาวศรีคิดการขบถ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่เชื่อ จึงมีตราออกมาให้หา ก็มิเข้าไปเฝ้า เนื้อความจึงมากขึ้น ตรัศให้เราออกมา เรามีความเมตตานักอยู่ พระยาตนาวศรีผิดแต่ครั้งเดียวดอก ให้ออกมาหาเราเถิด จะกราบทูลขอโทษไว้ครั้งหนึ่ง ถ้าจะมา ก็ให้มาในวันนี้ ถ้ามิมา เห็นว่า จะรับทัพเราได้ ก็ให้แต่งป้องกันเมืองให้มั่นคง พระยาตนาวศรีแจ้งในหนังสือดังนั้นจึงคิดว่า เราได้ทำการล่วงเกินผิดถึงเพียงนี้แล้ว แลซึ่งมีหนังสือรับสั่งมาทั้งนี้เปนราชอุบายศึก ออกไปก็ในจะตาย ผิดชอบก็จะอยู่สู้ไป ถึงจะตายก็จะได้ปรากฎชื่อไว้ภายน่า พระยาตนาวศรีมิได้ออกมา เพลารุ่งแล้วนาฬิกาหนึ่ง สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเครื่องอลังการประดับสำหรับพิไชยยุทธเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรเปนพระคชาธาร พร้อมด้วยท้าวพระยาพลาพลทวยหาญเปนขนัดแน่น แสนเสโลห์โตมรมาศดูพันฦก อธึกทั้งทวนทองธงทิวเปนท่องแถวไสว อำไพด้วยมหาเสวตรฉัตรกลิ้งกลดบังทินกรบวรบังแทรกชุมสายพรายพรรณดาษดา ศัพทโกลากาหฬกึกก้องกลองชนะแตรสังข์สนั่นเนียรนาท พระบาทเสด็จกรีธาพลเลียบทอดพระเนตรดูท้องที่ซึ่งจะให้พลทหารเข้าปีนเมือง.
๏ฝ่ายพระยาตนาวศรีออกมายืนถือหอกกั้นสับประทนอยู่บนเชิงเทิน แลเห็นพลสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าดุจสายน้ำอันไหลหลั่งถั่งมาเมื่อวสันตฤดู แล้วได้ยินเสียงปี่กลองแตรสังข์ ตกใจตลึงไป หอกพลัดตกจากมือมิได้รู้ บ่าวไพร่ทั้งปวงเห็นดังนั้นก็เสียใจ พูดเล่ากันต่อไปว่า นายเราเห็นจะป้องกันเมืองไว้มิได้ พลทหารทั้งปวงก็ยิ่งครั่นคร้ามพระเดชเดชานุภาพเปนอันมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบดูรอบเมืองตนาวศรี เห็นน่าที่ด้านข้างอุดรทิศจะเข้าได้ เสด็จกลับมายังค่ายหลวง จึงมีพระราชกำหนดให้นายทัพนายกองทำบันไดร้อยอัน ปลายบันไดนั้นให้ผูกพลุเพลิงพเนียงจงครบ เพลาตีสิบทุ่ม ถ้าได้ยินเสียงปืนใหญ่สามนัดเปนสำคัญแล้ว ให้เอาบันไดพาดจุดพลุพเนียงปีนเอาเมืองให้ได้ ท้าวพระยามุขมนตรีนายทัพนายกองรับพระราชโองการแล้ว ก็มาจัดแจงการทั้งปวงไว้สรรพ กับพลทหารอาสาพันหนึ่งซึ่งจะเข้าปีนเอาเมืองพร้อมเสร็จ ครั้นเพลาสามยาม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนเกยคอยฤกษ์ เดชะพระบารมีสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถ้าจะมีไชยแก่ข้าศึกครั้งใด ก็ให้เห็นศุภนิมิตรประจักษ์ทุกครั้ง พอเพลาล่วงสามยามเจ็ดบาท พระสาริริกบรมธาตุใหญ่เท่าผลส้มเกลี้ยงเสด็จผ่านด่านเมืองตนาวศรีมาแต่ทิศอุดรไปเฉียงอาคเณย์ พระรัศมีสว่างวาบไปทั้งอากาศแลปัถพี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเห็นดังนั้น ทรงพระปีติโสมนัศ ถวายทัศนขสโมธานเหนือพระอุตมางคศิโรตม์ด้วยเบญจางคประดิษฐ แล้วสั่งปโรหิตาจารย์ทั้งหลายให้ประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีพิณพาทย์ฆ้องไชยในทันที ให้ฝรั่งแม่นปืนจุดจ่ารงค์คร่ำทองท้ายที่นั่งสามบอกไล่กันเปนสำคัญ.
๏ฝ่ายนายทัพนายกองได้ยินเสียงปืนใหญ่สำคัญ ก็ให้ทหารกรูกันเอาบันได้พาดกำแพงเมืองจุดพลุพเนียงเปนโกลาหล เจ้าน่าที่เห็นดังนั้นตกใจ ออกยืนรบพุ่งก็ทนเพลิงมิได้ ทิ้งน่าที่เสีย ฝ่ายทหารข้าหลวงก็เข้าเมืองได้ พอเพลารุ่งขึ้น ก็กุมเอาตัวพระยาตนาวศรีพันธนามาถวายยังค่ายหลวง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนยกหนึ่งสามสิบที แล้วบอกข้อราชการเข้ามายังกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าตรัศได้แจ้งว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าได้เมืองตนาวศรีแล้วจับได้พระยาศรีไสยณรงค์ดังนั้น ก็มีพระไทยปรีดา จึงทรงพระกรุณาให้มีตราตอบไปว่า อย่าให้ส่งเข้ามาณกรุงเลย ให้ตระเวนแล้วตัดศีศะเสียบประจานไว้ณเมืองตนาวศรี อย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่าง แล้วให้เอาพระยาราชฤทธานนต์เปนเจ้าพระยาตนาวศรี สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็กระทำตามพระบัญชาสมเด็จพระบรมเชษฐาทุกประการ ครั้นจัดแจงเมืองตนาวศรีเปนปรกติราบคาบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังกรุงเทพมหานคร เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐากราบทูลเสร็จสิ้นทุกประการ.
๏สมเด็จพระนเรศวรบรมบพิตรมีพระไทยโสมนัศตรัศชมพระกฤษฎาธิการสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเปนอันมาก.
๏ครั้นณวัน ๓ ๕ฯ ๑๒ ค่ำ มีหนังสือบอกพระยากาญจนบุรีส่งตัวสมิงอุบากองซึ่งถือหนังสือเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งเข้ามา สมุหนายกกราบบังคมทูล ในหนังสือนั้นว่า หนังสือพระยาพโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งขออวยศิริสวัสดิ์มาถึงพระยากาญจนบุรี ด้วยข้าพเจ้ากับพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะเกิดมหากลหะแก่กัน พระยาลาวจะยกมาตีเมืองข้าพเจ้า ๆ หาที่พึ่งมิได้ จะขอเอาพระเดชเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันมีพระบุญราษีกฤษฎาธิการมหิมาดุจหนึ่งสมเด็จพระเจ้ามันทาตุราชจาตุรงคทิปจักรพรรดิอันมีพระราชเดชาวราฤทธิอาณาจักรแผ่ไปในทวีปใหญ่ทั้งสี่มีทวีปน้อยสองพันเปนบริวารเปนฉัตรแก้วกั้นเกษ ขอกองทัพยกไปช่วยกันเมือง.
๏พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทราบดังนั้น ทรงพระโสมนัศ จึงพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่สมิงอุบากองโดยสมควร แล้วตรัศให้พระยาศรีไศลถือพลสองพันสรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธยกไปณเมืองเมาะลำเลิ่ง พระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะรู้ว่า กองทัพไทยยกมาตั้งอยู่ณเมืองเมาะลำเลิ่ง กลัวพระเดชเดชานุภาพ มิได้คิดอาฆาฏต่อไป ขณะเมื่อพระยาศรีไศลไปช่วยกันเมืองเมาะลำเลิ่งนั้น เจ้าฟ้าแสนหวีถึงแก่พิราไลย มีราชบุตรสองคนแต่ต่างมารดา พี่น้องทำยุทธกลหะชิงสมบัติกัน ผู้น้องสู้มิได้ กลัวพี่ชายจะฆ่าเสีย ครั้นรู้ว่า กองทัพไทยมาตั้งอยู่ณเมืองเมาะลำเลิ่ง ก็พาพรรคพวกบ่าวไพร่ประมาณร้อยเศษหนีลงมาหาพระยาศรีไศลณเมืองเมาะลำเลิ่ง พระยาศรีไศลก็บอกส่งตัวเจ้าฟ้าแสนหวีมายังกรุงเทพมหานคร.
๏พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงพระมหากรุณาภาพแก่เจ้าฟ้าแสนหวี แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก เลี้ยงไว้โดยถานาศักดิ์.
๏ลุศักราช ๙๔๙ ปีกุญ นพศก ราชบุตรนักพระสัฏฐาผู้เปนพระยาแลวก เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จไปปราบ ขณะเมื่อทหารข้าหลวงเข้าเมืองแลวกในเพลากลางคืนนั้น ราชบุตรมาอยู่น่าที่ ครั้นทัพไทยเข้าเมืองได้แล้ว ความกลัวก็มิได้ไปหาบิดา หนีออกจากน่าที่กับบ่าวประมาณ ๓๐ คนเข้าป่า พากันหนีไปถึงแดนเมืองล้านช้าง ครั้นรู้ข่าวว่า กองทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแล้ว ก็พากันกลับมาเมืองแลวก เสนาบดีที่เหลืออยู่กับสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจึ่งพร้อมกันยกพระราชบุตรท่านขึ้นราชาภิเศกเปนพระยาแลวกครอบครองแผ่นดินแทนพระบิดา พระยาแลวกครั้นได้ครองศิริราชสมบัติแล้ว ก็อุส่าห์บำรุงสมณพราหมณาจารย์โดยยุติธรรมราชประเพณีมาได้เดือนเศษ จึ่งตรัศปฤกษาเสนาบดีกระวีมุขทั้งหลายว่า แต่ก่อน พระราชบิดาเราไปกระทำเสี้ยนหนามต่อกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มิได้เกรงพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์อันทรงอิศรภาพดุจสุริยเทวบุตรอันมีรัศมีสว่างทั่วโลกธาตุ ความพินาศฉิบหายจึ่งถึงพระองค์แลญาติประยุรวงษ์ในกรุงกัมพูชาธิบดี แลครั้งนี้ เราจะทำดุจพระบิดานั้นมิได้ จำจะอ่อนน้อมขอพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาเปนที่พึ่งที่พำนัก ความศุขสวัสดีจะได้มีแก่เรา ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด เสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ดำรัศนี้ควรนัก ขอพระราชทานให้แต่งดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการมีพระราชสาสนไปอ่อนน้อมโดยราชประเพณีเมืองขึ้นเมืองออกกรุงเทพมหานครแล้ว ความศรีสวัสดิพัฒนมงคลก็จะบังเกิดมีไปตราบเท่ากัลปาวสาน พระยาแลวกได้ฟังดังนั้นยินดีนัก จึ่งให้แต่งดอกไม้ทองเงินจัดเครื่องราชบรรณาการเปนอันมาก แล้วแต่งลักษณราชสาสน ให้ออกยาวงษาธิบดี พระเสน่หามนตรี หลวงวรนายก เปนทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมา ครั้นถึงด่านปราจิณบุรี กรมการก็คุมทูตานุทูตเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร เสนาบดีนำเอากิจจานุกิจกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศให้เบิกทูตเข้าเฝ้าณมุขเด็จน่าพระที่นั่งมังคลาภิเศก ตรัศพระราชประฏิสันถาร ๓ นัด แล้วพระศรีภูริปรีชาก็อ่านพระราชสาสน ในลักษณนั้นว่า ข้าพระองค์ครองกรุงอินทรปัตกุรุรัฐราชธานี ขอถวายบังคมมาแทบพระบวรบาทบงกชมาศสมเด็จพระผู้จอมมกุฎกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน ด้วยพระบิดาข้าพระองค์มิได้รักษาขอบขัณฑเสมาโดยราชประเพณี กระทำพาลทุจริต มิได้รู้จักกำลังตนกำลังท่าน มาก่อการให้เกิดเปนปรปักษ์แก่กรุงเทพมหานคร อุประมาดั่งจอมปลวกมาเคียงเขาพระสิเนรุราชบรรพต มิดั่งนั้น ดุจมิคชาติตัวน้อยองอาจยุทธนาการด้วยพระยาราชสีห์อันมีมเหศรศักดานุภาพ ก็ถึงแก่กาลพินาศจากไอสูรย์สวรรยานั้น ก็เพื่อผลกรรมอันได้กระทำมาแต่ก่อน แลข้าพระองค์ครองแผ่นดินเมืองแลวกครั้งนี้ จะได้เอาเยี่ยงอย่างพระบิดานั้นหามิได้ จะขอเอาพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ปกเกล้าปกกระหม่อมดุจฉัตรแก้วแห่งท้าวมหาพรหมอันมีปริมณฑลกว้างขวางร่มเย็นไปทั้งจักรวาฬ ข้าพระองค์ขอถวายสุวรรณหิรัญรัตนมาลาบรรณาการมาโดยราชประเพณีสืบไปตราบเท่ากัลปาวสาน สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟัง ก็มีพระไทยเมตตาแก่พระสุธรรมราชาพระยาแลวกองค์ใหม่เปนอันมาก สั่งให้ตอบพระราชสาสนไปว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้อาฆาฏจองเวรแก่ราชบุตรนัดดานักพระสัฏฐาหามิได้ แลซึ่งบิดาท่านเปนไปจนถึงกาลพิราไลยนั้น ก็เพื่อเวรานุเวรแต่อดีตติดตามมาให้ผลเห็นประจักษ์ แลให้พระยาแลวกองค์ใหม่นี้ครอบครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรโดยยุติธรรมราชประเพณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนนั้นเถิด แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานตอบเครื่องราชบรรณาการ แลพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่ทูตานุทูตโดยสมควร อยู่สามวัน ทูตก็กราบถวายบังคมลาไปยังกรุงกัมพูชาธิบดี.
๏ครั้นเข้าเดือนห้า ปีชวด สำเรทธิศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศให้บำรุงช้างม้ารี้พลไว้ เดือนสิบสอง จะยกไปเมืองเมาะตมะ เมืองหงษาวดี.
๏ในเดือนห้านั้น มีหนังสือบอกพระยาศรีไศลเข้ามาว่า ซึ่งพระเจ้าแปรผู้เปนราชนัดดาเสียทัพกลับไปเมืองหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีเอาโทษถอดเสียจากที่ถานาศักดิ์ ไพร่พลรามัญซึ่งไปกับพระเจ้าแปรนั้นจับได้ใส่เล้าคลอกเสีย ที่แตกฉานซ่านเซนไปภายหลัง รู้เนื้อความดั่งนั้น กลัวตาย ก็มิได้เข้าบ้านเมือง คุมกันเปนพวกเปนเหล่าออกอยู่ป่า แต่งข้าหลวงไปจับก็ต่อรบ แลหัวเมืองทั้งปวงเห็นว่า พระเจ้าหงษาวดีถอดพระเจ้าแปรเสีย ก็เสียใจ พากันกระด้างกระเดื่องเปนอันมาก แลกรุงหงษาวดีเห็นจะเสียแก่มอญขบถ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทราบความดังนั้น จึ่งพระราชทานพระราชอาชญาสิทธิ์ให้เจ้าพระยาจักรีเปนนายทัพยกพล ๑๕๐๐๐ ช้างเครื่อง ๑๐๐ ม้า ๒๐๐ ออกไปตั้งมั่นปลูกยุ้งฉางทำไร่นาณเมืองเมาะลำเลิ่งไว้ท่าทัพหลวง จึ่งดำรัศให้เจ้าฟ้าแสนหวีไปด้วยเจ้าพระยาจักรี แล้วเกณฑ์ทัพเมืองทวาย ๕๐๐๐ ให้ขึ้นไปตั้งตำบลเกาะพะรอกเมืองวังราวขอบฝั่งชเลตวันตกหนุนทัพเจ้าพระยาจักรี ๆ จะได้ใช้ราชการสดวก แลกองทัพพระยาศรีไศลให้เอาไว้ แต่ตัวพระยาศรีไศลกับพรรคพวกนั้นให้กลับเข้ามารับราชการณกรุง.
๏ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีกราบถวายบังคมลายกไปถึงเมืองเมาะลำเลิ่ง แล้วตั้งค่ายขุดคูปลูกยุ้งฉาง กะเกณฑ์มอญชาวเมืองเมาะลำเลิ่งแลไทยกองทัพทำไร่นาแลตั้งทำเรือรบเรือไล่เปนอันมาก พระยาศรีไศลกับพรรคพวกก็กลับเข้ามารับราชการ.
๏ฝ่ายเจ้าเมืองเมาะตมะ เจ้าเมืองละเคิ่ง เจ้าเมืองขะลิก เจ้าเมืองบัวเผื่อน เจ้าเมืองพสิม เจ้าเมืองตองอู รู้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาให้กองทัพพระยาจักรียกมาตั้งทำไร่นาณเมืองเมาะลำเลิ่งไว้เปนเสบียง เดือนอ้ายปลายปี ทัพหลวงจะเสด็จยกไปตีเอาเมืองหงษาวดี ต่างคนต่างเกรงพระเดชเดชานุภาพ ก็แต่งพม่ามอญผู้ดีให้ถือหนังสือแลเครื่องบรรณาการลงมาณเมืองเมาะลำเลิ่ง เจ้าพระยาจักรีก็บอกส่งผู้ถือหนังสือแลเครื่องบรรณาการเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เสนาบดีเอากราบทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศให้เบิกพม่ามอญผู้ถือหนังสือเข้าเฝ้า แลในหนังสือเจ้าเมืองเมาะตมะ เจ้าเมืองพสิม เจ้าเมืองบัวเผื่อน เจ้าเมืองขะลิก ๔ เมืองนี้ว่า จะขอเปนข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพมหานครไปตราบเท่ากัลปาวสาน แต่หนังสือพระยาตองอู พระยาละเคิ่ง นั้นว่า จะขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปเอาเมืองหงษาวดีเมื่อใด พระยาตองอู พระยาละเคิ่ง จะขอยกพลมาควบทัพโดยเสด็จงานพระราชสงคราม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้แจ้งในลักษณอักษรทุกเมืองดังนั้น มีพระไทยโสมนัศ ตรัศให้พระราชทานรางวัลแก่พม่ามอญผู้มานั้นเปนอันมาก แล้วให้พระราชทานสิ่งของไปแก่เจ้าเมืองทั้งปวงโดยถานาศักดิ์ จึ่งให้ตอบหนังสือไปแก่ท้าวพระยารามัญทั้งปวง ผู้ถือหนังสือก็กราบถวายบังคมลาไปเมือง.
๏ขณะเมื่อผู้ถือหนังสือกลับไปถึงเมืองตองอูนั้น พระมหาเถรเสียมเพรียมเจ้าอธิการรู้ จึงเข้าไปหาพระยาตองอูแล้วถามว่า มหาบพิตรจะเอามอญไปเปนตะพุ่นหญ้าช้างกรุงศรีอยุทธยาฤๅ พระยาตองอูได้ฟังพระมหาเถรว่าก็สงไสยจึงถามว่า ไยพระผู้เปนเจ้าจึงว่าดังนี้ พระมหาเถรจึงว่า อาตมภาพแจ้งว่า มหาบพิตรมีหนังสือถวายเครื่องบรรณาการไปอ่อนน้อมว่า ถ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกมาตีเมืองหงษาวดีเมื่อใด มหาบพิตรจะยกไปโดยเสด็จงานพระราชสงคราม เพราเหตุฉนี้ อาตมภาพจึงว่า พระยาตองอูจึงตอบว่า พระผู้เปนเจ้าไม่รู้ฤๅว่า สมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตรเปนเจ้าแลสมเด็จเอกาทศรฐสองพระองค์นี้ทรงศักดานุภาพมากดุจหนึ่งพระสุริยเทเวศรส่องโลกเมื่อเพลามัชฌันติกไสมย ศึกหงษาลงไปกระทำครั้งใด มีแต่แตกฉานยับเยินขึ้นมาทุกครั้ง บัดนี้ พระเจ้าหงษาวดีก็สิ้นเขี้ยวศึกเขี้ยวสงครามอยู่แล้ว แล้วได้ข่าวมาว่า ปลายปีก็จะยกทัพมาเอาเมืองหงษา เมืองหงษาเห็นไม่พ้นเงื้อมพระหัดถ์ท่าน แล้วเมืองมอญทั้งปวงก็ไปอ่อนน้อมสิ้น โยมเห็นเหตุดังนี้ จึงมีหนังสือถวายเครื่องบรรณาการไปอ่อนน้อมบ้าง พระมหาเถรได้หังดังนั้นหัวเราะแล้วว่า อันพระนเรศวรสองคนพี่น้องมีศักดานุภาพเข้มแขงศึกสงครามนั้น อาตมาก็แจ้งอยู่สิ้น ถึงมีไชยแก่ชาวหงษาก็แต่ในแว่นแคว้นขัณฑเสมากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะได้ล้วงเกินถึงแดนนี้ก็หามิได้ แลอาตมภาพพิเคราะห์ดูลักษณราษีมหาบพิตร ก็เห็นจะได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศอยู่ ไฉนน้ำพระไทยมหาบพิตรกับลักษณจึงผิดกันนัก อันลักษณอย่างมหาบพิตรนี้ในตำราว่า องอาจ ดุจนิทานพระบรมโพธิสัตวเสวยพระชาติเปนกะแต อาจสามารถจะวิดน้ำในพระมหาสมุทให้แห้ง มิดังนั้น จะมีมานะเหมือนนกน้อยอันบินแข่งพระยาครุธข้ามมหาสาครชเลหลวงอันใหญ่ แลน้ำพระไทยมหาบพิตรมาอ่อนประดุจสัตรีกลัวปิศาจหลอกหลอนนั้น ตำราของอาตมภาพนี้ผิดเสียแล้ว เห็นจะเอาไว้มิได้ จำจะทิ้งน้ำเผาไฟเสีย ว่าแล้วพระมหาเถรทำลาลุกจะไป พระยาตองอูยิ้มแล้วยกมืออาราธนาว่า พระผู้เปนเจ้าอย่าเพ่อไปก่อน พระมหาเถรก็ทรุดนั่งลงดังเก่า พระยาตองอูจึงว่า อันตำราของพระผู้เปนเจ้าเห็นก็จะไม่ผิดกับใจของโยม แต่บัดนี้ โยมยังอ่อนปัญญาความคิดอยู่ อุประมาดังบุรุษอันหลงอยู่ในถ้ำอันมืด ถ้าผู้เปนเจ้าช่วยเอาแสงแก้วมาส่องให้สว่างเห็นหนทางแล้ว ก็จะเดินโดยทางได้สดวก พระมหาเถรจึงว่า การอันนี้ใช่กิจสมณะ แต่อาตมภาพเสียดายพระสาสนากับเอนดูอาณาประชาราษฎรในรามัญประเทศทั้งปวง ก็จะช่วยทำนุบำรุงไปตามสติปัญญา แลซึ่งมหาบพิตรว่า ยังอ่อนปัญญาความคิดอยู่นั้น จะคิดอย่างไรให้ว่าไปเถิด จะช่วยชี้แจงให้ พระยาตองอูได้ฟังดังนั้นดีใจกราบนมัสการพระมหาเถรแล้วว่า โยมประมาณดูรี้พลเมืองหงษาวดีแลเมืองขึ้นทั้งปวงจะมากกว่ากรุงพระนครศรีอยุทธยาอิก แต่ทว่า มากก็เหมือนน้อย ด้วยไปเข้าอ่อนน้อมต่อกรุงพระนครศรีอยุทธยามาก จะคิดอ่านให้กลับใจมาได้นั้นยากนัก พระมหาเถรหัวเราะแล้วว่า การเพียงนี้จะยากอะไรมี แม้จะแกงให้อร่อยหม้อหนึ่งเห็นจะยากกว่าอิก พระยาตองอูจึงว่า ถ้าพระผู้เปนเจ้าโปรดโยมให้ได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศสมคิดแล้ว จะสนองพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิตร พระมหาเถรยิ้มแล้วจึงว่า มหาบพิตรอย่าวิตกเลย อาตมภาพจะช่วย พระมหาเถรขยับมาให้ใกล้พระยาตองอูแล้วว่า มหาบพิตรก็เปนพระราชนัดดาพระเจ้าหงษาวดี หัวเมืองทั้งปวงก็นับถือมากมายอยู่ จงมีหนังสือไปประกาศแก่หัวเมืองทั้งปวงว่า กรุงหงษาวดีเปนราชธานีใหญ่แต่ครั้งพระเจ้าช้างเผือกตราบเท่าทุกวันนี้ ยังมิได้ไปเปนเชลยแก่เมืองใด แลครั้งนี้ แต่พระเจ้าแปรเสียทีมา สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเอาโทษถอดเสียจากที่ถานาศักดิ์ เราได้ยินข่าวว่า หัวเมืองทั้งปวงพากันลอบใช้คนถือหนังสือคุมเครื่องบรรณาการไปออกแก่กรุงพระนครศรีอยุทธยา เราก็ยังไม่เชื่อ จึงแสร้งแต่งคนถือหนังสือไปบ้าง หวังจะฟังอึงกิตาการให้แน่ ก็ได้ความประจักษ์ว่า เมืองเมาะตมะแลหัวเมืองทั้งปวงคิดกระบถ คนเหล่านี้หารักชีวิตรแลโคตรไม่ฤๅ ไม่เร่งบอกมา เราจะเอาความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี แล้วจะยกทัพไปจับฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร ถ้าแลเมืองทั้งปวงรู้สึกว่า ได้คิดผิดแล้วจะคืนหาความชอบ ก็จะงดความไว้ครั้งหนึ่งก่อน แต่ทว่า ให้คิดอ่านจับไทยกองทัพซึ่งมาตั้งอยู่เมืองเมาะลำเลิ่งส่งมาให้ได้บ้าง จึงจะเห็นจริง ถ้ามหาบพิตรมีหนังสือได้ดังนี้ ดีร้ายหัวเมืองทั้งปวงจะสดุ้งตกใจกลัว ก็จะกลับใจคิดอ่านจับไทย ก็จะเกิดอริวิวาทกับไทย ทางไมตรีก็จะขาดกัน เมื่อทัพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกมา ก็จะได้เปนรั้วขวากรั้วหนามกันให้ช้าลงไว้ ประการหนึ่ง มหาบพิตรจงบำรุงช้างม้าเอาใจรี้พลไว้ให้รื่นเริง ถ้าได้ข่าวว่า ทัพกรุงพระนครศรีอยุทธยายกล่วงแดนมาเมื่อใดแล้ว จงเร่งยกพลไปเมืองหงษาวดี ทำทีว่าจะมาช่วยงานพระราชสงครามให้ไว้ใจ แล้วเข้าปลอมปล้นเอาเมืองหงษาวดี เชิญเสด็จพระเจ้าหงษาวดีแลกวาดครัวอพยพไพร่พลเมืองเข้าปลาอาหารมาเมืองตองอูให้สิ้น ถึงมาทว่าทัพพระนเรศวรยกติตดามมาถึงเมืองตองอูก็ดี เมื่อแลเราตัดเสบียงอาหารเสียได้สิ้นแล้ว ก็ในจะเลิกทัพกลับเอง ถ้าศึกกลับไปแล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็อยู่ในเงื้อมพระหัดถ์ พระองค์ก็จะสิทธิขาดขึ้นกว่าเก่าร้อยเท่าพันทวี จะคิดประการใดก็จะสำเร็จ แลซึ่งอาตมภาพว่ามาทั้งนี้ มหาบพิตรจะเห็นดีชั่วประการใท พระยาตองอูมีความยินดี กราบนมัสการแทบบาทพระมหาเถรแล้ว ๆ เล่า ๆ แล้วว่า พระผู้เปนเจ้าคิดดังนี้ ดังเทพยดาเอาแว่นแก้วมาส่องให้สว่างเห็นทั้งกลางวันกลางคืน พระคุณนั้นหาที่สุดมิได้ พระมหาเถรจึงว่า มหาบพิตรเร่งมีหนังสือไปเถิด ถ้าขัดสนไปภายน่า จึงให้ไปบอก อาตมภาพจะช่วย แล้วพระมหาเถรก็ลาไปอาราม รุ่งขึ้น พระยาตองอูก็แต่งหนังสือตามถ้อยคำพระมหาเถรว่า ให้คนถือไปประกาศแก่หัวเมืองทั้งปวง.
๏ฝ่ายพระยารามัญหัวเมืองทั้งปวงแจ้งในหนังสือพระยาตองอูดังนั้นก็ตกใจกลัว ต่างคนต่างปฤกษากรมการนายบ้านนายอำเภอว่า เราคิดการครั้งนี้หมายจะลับก็ไม่ลับ พระยาตองอูรู้ความสิ้น จึงมีหนังสือมาว่ากล่าวทั้งนี้เพื่อเพราะเอนดูเราผู้เปนตระกูลรามัญ ครั้นจะขืนผันน่าจะพึ่งกรุงพระนครศรีอยุทธยาทีเดียว ก็เปนรยะท่าทางไกล จะต้องคำบุราณว่า กว่าถั่วจะสุกก็งาไหม้ ด้วยพระยาตองอูมีกำลังรี้พลมาก แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็นับถือว่า เปนเชื้อพระวงษ์ จะว่าประการใดก็สิทธิ์ขาด จำเราจะหาความชอบคืน จับเอาไทยส่งเข้าไปให้ได้ คิดกันดังนั้นก็แต่งหนังสือขึ้นไปถึงพระยาตองอูเปนใจความว่า ข้าพเจ้าหัวเมืองทั้งปวงขอน้อมเศียรเกล้าบังคมมาถึงใต้เบื้องบาทพระยาตองอู ด้วยข้าพเจ้าทั้งปวงเปนคนโมหคิดประทุษฐจิตรผิดไปนั้น พวกข้าพเจ้าทั้งปวงถึงที่ตาย ซึ่งโปรดให้มีหนังสือชี้แจงมาให้ข้าพเจ้าเห็นผิดแลชอบนั้น ดุจเทพยดามาชุบเอาชีวิตรข้าพเจ้าแลชีวิตรไพร่ฟ้าประชากรเปนคืนมานั้น พระคุณไม่มีที่จะเปรียบได้ ข้าพเจ้าจะขอกระทำตามโอวาทเอาเปนที่พึ่งที่พำนักสืบไป แล้วก็ส่งหนังสือให้ผู้ถือหนังสือกลับไปยังเมืองตองอู พระยาตองอูแจ้งในหนังสือดังนั้นก็มีความยินดี ตั้งแต่นั้นมา ก็บำรุงช้างม้าเอาใจไพร่พลในเมืองตองอูให้รักใคร่เปนอันมาก ฝ่ายพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะสั่งแก่พระยารามัญทั้งปวงให้คิดอ่านจับกองทัพไทยให้ได้ จะได้ส่งเข้าไปเมืองตองอูเอาความชอบ ท้าวพระยารามัญทั้งปวงก็คอยช่องจะจับไทยให้ได้
๏ครั้นณเดือนอ้าย เข้าเบาสุก เหล่าไทยออกไปเกี่ยวเข้าณทุ่งนาเมาะลำเลิ่ง แต่พวกขุนจบสิบห้าคนออกไปเกี่ยวเข้าอยู่ริมชายป่า สมิงสุระนายบ้านจอยยะกับพวกรามัญ ๑๐๐ คนลอบอยู่ในป่า ครั้นเห็นได้ที ก็วิ่งกรูกันเข้าจับขุนจบแลพวกไปได้ ๙ คน ไพร่ ๕ คนหนีได้ก็วิ่งไปบอกพวกกองทัพว่า มีรามัญประมาณ ๑๐๐ เศษมาจู่จับขุนจบกับไพร่ไป ๙ คน นายทัพนายกองแจ้งดังนั้นก็ให้จัดแจงกันไปตาม ๓๐๐ ทัน พวกรามัญได้รบกัน พวกรามัญป่วยตายหลายคนต้านทานมิได้ก็แตกไป กองทัพไทยก็ได้ตัวขุนจบกับไพร่ ๙ คนกลับมาแจ้งแก่เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีจึงหาตัวพระยาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งมาถามว่า เหตุผลทั้งนี้เปนประการใด เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งไม่รับว่า มิได้รู้ เจ้าพระยาจักรีมิฟัง จะให้จำพระยาพะโร ๆ เห็นความจะไม่พ้นตัวจึงอุบายว่า จะขอไปตามเอามอญเหล่าร้ายให้ได้ เจ้าพระยาจักรีมิทันพิเคราะห์สำคัญว่าจริงก็ปล่อยตัวไป พระยาพะโรจึงคิดกับกรมการว่า เราจะไปตามจับบ่าวของเรามากะไรเล่า ถึงจะแก้ไขประการใด ความอันนี้เห็นจะไม่ลับ จะนิ่งอยู่ดังนี้จะพากันตายเสียสิ้น จำจะหนีข้ามไปเมืองเมาะตมะ คิดเห็นพร้อมกันแล้ว ก็แต่งคนเร็วเอาการไปแจ้งแก่พระยาลาว ๆ ก็ให้เอาเรือมาคอยรับ ครั้นเพลาสองยาม พระยาพะโรก็พาครัวอพยพหนีออกจากเมือง พอรุ่งก็ลงเรือข้ามไปเมืองเมาะตมะ เพลารุ่งเช้า เจ้าพระยาจักรีรู้ว่า พระยาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งเทครัวหนีไปสิ้น ก็แต่งกองทัพตามมาถึงฝั่งน้ำไม่ทันก็กลับไป.
๏ฝ่ายพระยาพะโรก็แจ้งแก่พระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะทุกประการ พระยาลาวจึงว่า ซึ่งทำการมิได้ไทยมาเสียทีเสียครั้งหนึ่งแล้วก็แล้วไปเถิด แต่เราวิตกว่า ท่านอยู่ณเมืองเมาะลำเลิ่งนั้น อุประมาเหมือนหนึ่งฝูงมฤคชาติอันอยู่ในปากเสือ ซึ่งพากันอพยพมาได้สิ้นนั้น เรามีความยินดีนัก จึงค่อยคิดอ่านกันไปใหม่ จะเกรงอะไรแก่กองทัพไทยเท่านี้ แล้วเจ้าเมืองเมาะตมะแต่งกองทัพโจรกองละสองร้อยสามร้อยให้เที่ยวเปนเสือป่า ถ้าเห็นไทยออกเที่ยวท่องหากินแลเกี่ยวเข้าก็ให้ลอบฆ่าตี พอจับได้ก็ให้จับตัวมา ถ้าเห็นทำได้จึงให้ทำ ถ้าเห็นทำมิได้อย่าให้ทำ สุดแต่อย่าให้เสียที กองรามัญทั้งปวงแจ้งกำหนดดังนั้นแล้วก็ข้ามไปซุ่มอยู่ในป่าใกล้นา ครั้นเห็นไทยออกเกี่ยวเข้าก็ลอบยิงลอบแทง แต่ทำดังนี้เนือง ๆ นายทัพนายกองทั้งปวงก็เอาเหตุไปแจ้งแก่เจ้าพระยาจักรี ๆ เห็นมอญกลับเปนกระบถทำการกำเริบหนักขึ้น ก็บอกหนังสือเข้ามากราบทูลเสร็จสิ้นทุกประการ เสนาบดีก็นำเอาหนังสือบอกเจ้าพระยาจักรีขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบก็ทรงพระโกรธตรัศว่า เจ้าพระยาจักรีเปนผู้ใหญ่ ก็เคยทำศึกสงครามมา ยังว่าจะไปตีเอาเมืองเล่า นี่ก็หาได้ตีไม่ เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งเข้าสวามิภักดิ์ขอกองทัพออกไปรักษาเมือง ไพร่บ้านพลเมืองก็ปรกติอยู่สิ้น ฝ่ายเมืองเมาะตมะ เมืองละเคิ่ง เมืองบัวเผื่อน เมืองพสิม เมืองขะลิก เมืองตองอู เล่า ก็มาอ่อนน้อม ควรฤๅให้เปนได้ถึงเพียงนี้ ประการหนึ่ง เมืองเมาะลำเลิ่งก็อยู่ฟากตวันออก เหมือนอยู่ในกำมือ ก็ยังให้หลีกหนีไปได้ด้วยเล่า ทำศึกดุจทารกอมมือ ครั้นจะให้ฆ่าเสียก็เสียดายคมหอกดาบ ตรัศเท่าดังนั้นก็สั่งให้มีตราตอบภาคโทษออกไปว่า เจ้าพระยาจักรีจะตีเอาเมืองเมาะตมะได้ฤๅมิได้ ถ้าเห็นมิได้ให้รักษาแต่ค่ายเมาะลำเลิ่งไว้ให้มั่น ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินออกไปถึงจึงจะตีเอาเมืองเมาะตมะทีเดียว ผู้ถือหนังสือก็กลับไปแจ้งแก่เจ้าพระยาจักรีทุกประการ เจ้าพระยาจักรีแจ้งในท้องตรารับสั่งดังนั้น ก็กลัวพระราชอาชญาเปนอันมาก แลเร่งรัดให้นายทัพนายกองทำเรือรบเรือไล่ เสร็จแล้วก็ให้ลากลงไว้ในคลองน้ำ แลคิดแต่งกองทัพทั้งปวงให้เกี่ยวเข้า ๔ กอง ๆ ละ ๕๐๐ คอยสกัดตีเหล่ามอญขบถทุกวัน พวกมอญเห็นกองทัพไทยมากต้านทานมิได้ก็หลบหลีกเข้าในป่า นายทัพนายกองให้เร่งเกี่ยวเข้าเบาแลเข้าหนักในแขวงเมืองเมาะลำเลิ่งนวดขนเข้า ๆ ไว้ในฉางได้ประมาณ ๒๐๐๐ เกวียน.
๏ส่วนพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะแต่งชาวด่านให้มาประจำข่าวราชการอยู่ทางแม่ลำเมาทางตองอูทางแม่จันแม่กระษัตรให้รู้ว่า ทัพหลวงณกรุงพระนครศรีอยุทธยาจะยกมาฤๅ ๆ มิมา.
๏ฝ่ายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ครั้นให้หนังสือตอบมายังเมืองเมาะลำเลิ่งแล้ว ก็มีพระราชโองการแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงให้เตรียมทัพพร้อมเสร็จ กำหนดทัพหลวงจะเสด็จโดยทางชลมารคณวัน ๗ ๑ฯ ๓ ค่ำไปขึ้นบกเมืองกาญจนบุรี ให้กองทัพบกทั้งปวงล่วงไปคอยรับเสด็จให้พร้อม ท้าวพระยานายทัพนายกองก็ยกช้างม้ารี้พลไปยังเมืองกาญจนบุรีตามพระราชกำหนด.
๏ครั้นถึงณวัน ๗ ๑ฯ ๓ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ได้มหาอุดมฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเครื่องศิริราชอลังการสรรพาภรณ์วิไชยยุทธสรรพเสร็จ เสด็จลงสู่พระที่นั่งกนกรัตนวิมานมหานาวา อันรจนาด้วยกาญจนมณีชัชวาลทั้งคู่ดูพันฦก อธึกด้วยเรือจำนำท้าวพระยาสามนตราชฝ่ายทหารพลเรือนเรียงประจำจับฉลากสลอนสลับคับคั่งตั้งโดยขบวนพยุหบาตรา พระโหราราชครูธิบดีศรีพิชาจารย์ก็ลั่นฆ้องไชย ให้คลายเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์อันทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณบรรจุพระสาริริกบรมธาตุถวายพระนามสมญาพระไชยนั้นไปก่อน แล้วเรือขบวนน่าทั้งปวงไปโดยลำดับ เรือพระที่นั่งแลเรือแห่ซ้ายขวากระบวนหลังทั้งปวงก็โดยเสด็จดาดาษไปในท้องอรรณพมหานทีธาร ประทับร้อนแรมห้าเวนก็ถึงเมืองกาญจนบุรี เสด็จยังพลับพลาที่ประทับ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จแรมพักช้างม้ารี้พลจัดกองทัพสามเวน แลกองทัพหลวงเสด็จครั้งนั้น พลสกรรจ์ลำเครื่อง ๑๐๐๐๐๐ ช้างเครื่อง ๘๐๐ ม้า ๑๕๐๐.
๏ครั้นรุ่งขึ้น จะเสด็จในเพลาสิบทุ่ม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินว่า ยังมีสิงคาลตัวน้อยมาคาบลากเอาพระยาคชสารตัวใหญ่ไปสู่ประเทศแห่งตนได้ ในพระสุบินว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศเห็นปลาด เสด็จตามไปจะชิงเอาพระยาคชสารก็มิได้ ด้วยป่านั้นเปนทางทุรัศกันดารนัก เท่านั้นก็ประธมตื่น พอตี ๑๑ ทุ่มนั้น จึงตรัศให้พระโหราซ้ายขวาพยากรณ์ พระโหราธิบดีถวายพยากรณ์ทำนายว่า เสด็จพระราชดำเนินมาครั้งนี้เพื่อจะไปกระทำยุทธนาการด้วยพระเจ้าหงษาวดี เอาถานพระเจ้าหงษาวดีเปนที่ตั้งดังพระยาคชสาร ซึ่งว่ามีสิงคาลตัวน้อยมาขบคาบเอาพระยาคชสารไปได้ดังนั้น ดีร้ายจะมีปรปักษ์เมืองใดเมืองหนึ่งแต่ว่าเปนเมืองน้อยมาปลอมปล้นลดต่ำพระองค์พระเจ้าหงษาวดีลงเสียจากเสวตรฉัตรแล้วพาไปเมืองแห่งตน ทัพหลวงจะได้เสด็จติดตามไป แต่ทว่า เห็นจะมิได้พระเจ้าหงษาวดีคืนมา จะขัดสนด้วยเหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่งเปนแท้ พระสุบินนั้นเปนเทพสังหรณ์บอกเหตุ ใช่จะร้ายสิ่งใดหามิได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ครั้นตรัศได้ทรงฟังดังนั้นแล้ว จึงทรงพระกรุณาตรัศว่า ซึ่งทำนายทั้งนี้โดยลักษณพระสุบิน แต่เรามาเห็นว่า พระเจ้าหงษาวดีเปนใหญ่ในรามัญประเทศแต่ครั้งพระบรมราชบิดามา เปนปึกแผ่นมั่นคงดุจเขาพระสุเมรุราช แลซึ่งผู้ใดจะอาจเอื้อมทำอันตรายนั้น เห็นยังไม่ได้ก่อน จำเราจะยกไปแก้แค้นเมืองเมาะตมะแลหัวเมืองรามัญทั้งปวงซึ่งประทุษฐร้ายหมิ่นเราให้สากะใจ จึงค่อยคิดราชการต่อไป ตรัศแล้ว รุ่งขึ้น ๓ นาฬิกา ๖ บาท เพลาได้มหาเพชรฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเครื่องสำหรับพิไชยสงครามเสร็จ สมเด็จพระนเรศวรบพิตรเปนเจ้าเสด็จทรงช้างพระที่นั่งเจ้าพระยาปราบไตรจักรเปนพระคชาธาร สมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถเสด็จทรงช้างต้นพระยาจักรมหิมาเปนพระคชาธาร ประดับด้วยพิริยทวยหาญแห่เปนขนัดแน่นแสนสารสินธพพยุหดูพิฦกดาดาษด้วยธงทิวแถวทวนทองน่าพระคชาธาร อลงการด้วยเครื่องพระอภิรุมชุมสายพรายพรรณกลิ้งกลดจามรมาศบังบรมทิพากรอันจรัสส่อง อุโฆษด้วยเสียงกาหฬฆ้องกลองชนะนำเสด็จโดยมารควิถีแถวเถื่อนทุเรศ ประทับร้อนแรมหลายเวนบรรลุถึงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ เสด็จไปประทับแรมตั้งค่ายหลายลำน้ำแม่กระษัตร.
๏ฝ่ายชาวด่านรามัญซึ่งมาประจำฟังข่าวอยู่นั้นเห็นกองทัพยกมาก็ลอบดูในป่า ประจักษ์แจ้งว่า เปนกองทัพหลวงแล้ว ก็รีบเอาเนื้อความไปแจ้งแก่เจ้าเมืองเมาะตมะ ๆ จึงบอกข้อราชการไปเมืองหงษาวดีแลเมืองตองอู ขณะเมื่อหนังสือบอกเมืองเมาะตมะไปถึงนั้น พระเจ้าหงษาวดีทรงพระประชวรอยู่ จึงสั่งแก่เสนาบดีว่า ราชการครั้งนี้ เราป่วยทุพลภาพอยู่แล้ว ให้คิดกันรักษาพระนครให้ดี แล้วให้บอกไปถึงพระยาตองอูหลานเราให้ยกพลมาช่วยการสงคราม เสนาบดีก็บอกข้อราชการไปยังเมืองตองอูแลหัวเมืองทั้งปวงให้ยกมาช่วยป้องกันเมืองเมาะตมะ แลในเมืองหงษาวดีนั้นกะเกณฑ์ไพร่พลรักษาน่าที่เชิงเทินตามธรรมเนียม.
๏ฝ่ายพระยาตองอูจึงให้ไปอาราธนาพระมหาเถรเสียมเพรียมเข้ามาเรือน แล้วบอกประพฤดิเหตุให้พระมหาเถรฟังทุกประการ แล้วว่า พระผู้เปนเจ้าช่วยคิดให้โยมด้วย พระมหาเถรได้ฟังหัวเราะแล้วว่า มหาบพิตรกลัวพระนเรศวรหนักอยู่ฤๅ พระยาตองอูจึงว่า พระผู้เปนเจ้าช่วยทำนุบำรุงอยู่แล้ว โยมหากลัวไม่ พระมหาเถรยิ้มแล้วจึงว่า มหาบพิตรอย่าวิตกเลย ซึ่งทัพพระนเรศวรพี่น้องยกมาครานี้อุประมาเหมือนเทพยดาอันจรในจักรราษีมาอุดหนุนให้ชตามหาบพิตร โชคตกทวารลักษณ์จันทร์จะขึ้นนระอยู่แล้ว อย่าช้าเลย จงเร่งยกพลลงไปเมืองหงษาวดี แล้วแต่งม้าใช้ถือหนังสือไปถึงพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะว่า ให้เร่งกวาดไพร่พลหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองเมาะตมะเข้าไว้ในเมืองให้มั่นคง แล้วให้ตั้งค่ายคูให้มั่นคง จงช่วยกันเปนใจรบ อย่าให้กองทัพกรุงพระนครศรีอยุทธยาข้ามมาได้ ถ้าศึกหนักแน่นประการใด ให้บอกมา เราจะยกลงไปช่วย แต่บัดนี้ เราจะเข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีคิดราชการก่อน มหาบพิตรมีหนังสือไปเอาใจเมืองเมาะตมะดังนี้ แล้วจงแต่งม้าเร็ว ๒๐ ม้า ๓๐ ม้าให้ประจำฟังข่าวอยู่นั่น แล้วให้ผลัดเปลี่ยนกันเอาข่าวมาแจ้งจงเนือง ๆ ถ้าศึกไทยกับรามัญยังไม่ติดกันเข้า อย่าเพ่อทำ จะเสียการ ถ้าศึกติดตีกันเข้าเมื่อใดแล้ว ก็ให้ทำการใหญ่เถิด แลเมื่อจะเทเมืองหงษาวดีมาเมืองตองอูนั้น ให้จุดเผาบ้านเรือนเสบียงอาหารในเมืองหงษาวดีให้สิ้น กำลังศึกก็จะถอยลง ถ้าเห็นยังติดตามมา ก็ให้เอาของพระเจ้าหงษาวดีสิ่งหนึ่งสองสิ่งแต่งคนถือหนังสือไปถวายหน่วงทัพไว้แต่งการกันเมืองให้มั่นคง ถึงมาทจะเสียของไปนิดหนึ่งเท่านั้น ก็อย่าเสียดายเลย อุประมาเหมือนดอกไม้หล่นไปดอกหนึ่งสองดอก ถ้าต้นรากบริบูรณ์อยู่แล้ว ก็ในจะเพลดดอกออกผลสืบไป พระมหาเถรสั่งความแก่พระยาตองอูทุกประการแล้วก็ลาไปอาราม พระยาตองอูก็เกณฑ์ทัพ ๑๐๐๐๐๐ สรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธ พลเมืองนอกนั้นให้กวาดต้อนเข้าในเมืองสิ้น แลเกณฑ์ให้ขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทิน ครั้นได้พิไชยฤกษ์ดีแล้ว พระยาตองอูก็ยกพล ๑๐๐๐๐๐ ลงมายังเมืองหงษาวดี ตั้งกองทัพอยู่นอกเมือง พระยาตองอูเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีในพระราชวัง พระเจ้าหงษาวดีตรัศปราไสพระยาตองอูว่า ทัพพระนเรศวรยกมาครั้งนี้ใหญ่หลวง หลานเราจงช่วยคิดราชการป้องกันอย่าให้เมืองมอญไปเปนเชลยกรุงพระนครศรีอยุทธยาได้ พระยาตองอูกราบทูลว่า พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ข้าพเจ้าจะขอทำราชการฉลองพระคุณกว่าจะสิ้นชีวิตร ทูลแล้วพระยาตองอูก็ลาพระเจ้าหงษาออกมายังกองทัพ แต่พระยาตองอูเวียนเข้าไปเฝ้าเยือนพระเจ้าหงษาเนือง ๆ ชาวหงษาซึ่งรักษาน่าที่เชิงเทินประตูเข้าออกนั้นก็ไม่รังเกียจชาวตองอู ไว้ใจให้เข้าออกทั้งกลางวันกลางคืน.
๏ฝ่ายพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะ ครั้นแจ้งในหนังสือพระยาตองอูดังนั้น ก็สำคัญว่าจริง มิได้รู้ว่าเปนอุบาย ก็แต่งคนถือหนังสือไปขับต้อนเจ้าเมืองกรมการแลราษฎรบันดาเมืองขึ้นแก่เมืองเมาะตมะให้ยกกันเข้าไปในเมืองเมาะตมะให้สิ้น เจ้าเมืองกรมการแลราษฎรเมืองขึ้นแก่เมืองเมาะตมะ ๓๒ หัวเมืองที่คิดเห็นว่า เจ้าเมืองเมาะตมะจะสู้กองทัพกรุงได้ ก็ยกกันเข้ามา ที่เห็นว่า จะสู้ทัพกรุงมิได้ ก็ไม่เข้ามา ยกครอบครัวอพยพเข้าป่าไปเปนอันมาก ฝ่ายเจ้าเมืองเมาะตมะก็จัดตรวจรี้พลทหารปืนใหญ่น้อยประจำรักษาน่าที่ป้องกันเมืองเปนสามารถ.
๏ฝ่ายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จประทับแรมพักช้างม้ารี้พลณพระตำหนักตำบลแม่กระษัตรสามเวน ครั้นณวัน ๖ ๑ฯ ๓ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่ม บังเกิดไชยนิมิต บันดาลให้เสนางคนิกรโยธาทวยหาญในกองทัพรื่นเริงเปล่งออกซึ่งศัพทสำเนียงกึกก้องโกลาหล ครั้นเพลา ๑๑ ทุ่ม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงเครื่องสรรพนิลวัตถาลังการาภรณ์วิภูสิตสำหรับขัติยราชรณยุทธ แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเกย ทอดพระเนตรเห็นช้างพระที่นั่งทั้งสองซึ่งประทับอยู่นั้นยกงวงขึ้นปรามาศลูบงาเบื้องขวาแล้วร้องก้องโกญจนาทนี่สนั่นในพนัศเนินแนวศิขรเขตรเปนไชยนิมิตรสองประการทั้งศัพทสำเนียงเสนางคนิกรโยธาหาญ ก็ทรงพระโสมนัศปรีดา พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย พราหมณปโรหิตาจารย์เป่าสังข์ถวายไชยมงคล เสียงศัพทเภรีฆ้องกลองกาหฬประโคมกึกก้องนฤนาท สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จทรงช้างต้นพลายพนมจักรสูงห้าศอกสามนิ้วผูกพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ สมเด็จพระอนุชาทรงช้างต้นพลายแก้วอุดรสูงห้าศอกผูกพระที่นั่งหลังคาทอง ดำรัศให้เคลื่อนพลพหลโยธาหาญโดยขบวนซ้ายขวาน่าหลังประดับไปด้วยแถวทวนธงดูพันฦกอธึกมเหาฬาราดิเรกโกลาหลด้วยเสียงพลกุญชนชาติอาชาไนยเดินโดยสถลมารควิถี ประทับร้อนแรมหกเวนก็เสด็จถึงเมืองเมาะลำเลิ่ง เจ้าพนักงานประโคมฆ้องกลองแตรสังข์กึกก้องโกลาหล ก็เสด็จเปลื้องเครื่องศิริราชรณยุทธบนราชสัณฐาคารในค่ายที่เจ้าพระยาจักรีแลเจ้าพนักงานตั้งไว้รับเสด็จนั้น เจ้าพระยาจักรีแลมุขมัจจามหาอำมาตยกระวีราชโหราจารย์แลนายทัพนายกองทั้งปวงเฝ้าพระบาทยุคลดาษดา ดังดวงดารากรล้อมรอบพระรัชนิกรเทวราช เจ้าพระยาจักรีกราบทูลข้อราชการเสร็จสิ้นทุกประการ ก็เสด็จพักพลอยู่สามเวน พอหายเลื่อยล้าแล้ว ดำรัศให้โหรหาฤกษ์ ได้มหาเพชรฤกษ์ไชยณวัน ๕ ๑๒ฯ ๓ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๕ บาท จึงมีพระราชบริหารสั่งให้เจ้าพระยาจักรีเปนแม่ทัพ ให้พระยากาญจนบุรีเปนยุกระบัตร แลท้าวพระยาพระหัวเมืองพลทหารอาสา ๒๐๐๐๐ บรรจุเรือรบเรือไล่เตรียมไว้ ถึงฤกษ์ดีแล้ว จะให้ข้ามไปตีเอาเมืองเมาะตมะ.
๏ครั้นณวัน ๕ ๑๒ฯ ๓ ค่ำ เพลาย่ำรุ่งแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จทรงสรรพศิริราชอลงการยุทธสำหรับราชรณรงค์เสร็จ ก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่งไปยืนอยู่ณริมฝั่งน้ำเมาะลำเลิ่ง ครั้นเพลา ๕ บาท ได้มหาเพ็ชรฤกษ์ พระโหราธิบดีศรีพิชาจารย์ลั่นฆ้องไชยเปนสำคัญ เจ้าพระยาจักรีนายทัพนายกองก็ยกพลเรือรบแลเรือไล่ข้ามไปรบเอาเมืองเมาะตมะ พระยาลาวก็แต่งเรือรบเรือไล่ออกมารบก็พ่ายแก่พลทหารข้าหลวง ๆ ก็ไล่ส่ำรุกขึ้นป่ายปีนเมืองเมาะตมะนั้นได้ พระยาลาวแลท้าวพระยามอญขบถทั้งปวงก็พ่ายหนี แลพลทหารข้าหลวงไล่ฟันแทงมอญขบถหญิงชายทั้งปวงตายสิ้นทั้งเมืองเมาะตมะนั้น อนึ่ง มอญซึ่งหนีจากเมืองเมาะตมะไปซอกซ่อนอยู่ทุกตำบล แลทหารข้าหลวงตามไปไล่ฆ่าฟันแทงตายเปนอันมาก ส่วนตัวพระยาลาวไซ้ขึ้นช้างหนีไปประมาณสิบเส้น แลหมื่นสุดจินดาตามได้ตัวพระยาลาวเอามาถวาย แลได้ช้างม้าเครื่องสรรพายุทธในเมืองเมาะตมะนั้นก็มาก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ให้ลงพระราชอาญาแก่พระยาลาว แลไว้แต่ชีวิตร เพราะว่าจะเอามาประจานในกรุงพระมหานคร พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศให้ข้ามช้างม้าทั้งปวงเสร็จ ถึงณวัน ๖ ๑๓ฯ ๓ ค่ำ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จด้วยพระชลวิมานข้ามแม่น้ำเมาะลำเลิ่งไปตั้งทัพหลวงในเมาะตมะ.
๏ในขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัศทรงพระโกรธแก่เจ้าพระยาจักรี แลตรัศให้จำคงไว้ณเมืองเมาะลำเลิ่ง แลไว้พระยาธนบุรีนอกราชการแลขุนหมื่นทั้งปวงให้อยู่รั้งเมืองเมาะลำเลิ่งด้วยเจ้าพระยาจักรี แลมีพระราชกำหนดให้ซ่องเอามอญอันซ่านเซนทั้งปวงให้เข้าอยู่ในเมืองเมาะลำเลิ่ง ตรัศให้เจ้าพระยาสวรรคโลก แลพระยาพิไชย พระยากาญจนบุรี แลขุนหมื่นทั้งหลาย อยู่รั้งเมืองเมาะตมะ แลซ่องมอญอันซ่านเซนทั้งปวงเข้าอยู่เมืองเมาะตมะด้วย.
๏ถึงณวัน ๗ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ ก็ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเมาะตมะ ก็เสด็จโดยสถลมารถึงฝั่งน้ำสโตง.
๏ฝ่ายพระยาตองอูอยู่ในเมืองหงษาวดี ครั้นได้ยินข่าวว่า ทัพหลวงเสด็จไป พระยาตองอูแต่งให้ม้าประจำเอาข่าวเมืองเมาะตมะ ครั้นรู้ข่าวว่า เสียเมืองเมาะตมะแล้ว พระยาตองอูก็เทเมืองหงษาวดี แลให้เผาเย่าเรือนทั้งปวงเสีย แล้วก็พาพระเจ้าหงษาวดีรุดหนีไปยังเมืองตองอู.
๏ฝ่ายทัพหลวงไซ้ ครั้นถึงฝั่งแม่น้ำสโตง พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศใช้พระมหาเทพเปนนายกองทัพม้า ๒๐๐ ให้ยกไปก่อนทัพหลวง แล้วก็ตรัศใช้พระยาเพ็ชรบุรีให้ยกช้างม้าแลพล ๓๐๐๐ หนุนทัพพระมหาเทพไป จึงยกทัพหลวงข้ามแม่น้ำสโตง แลเสด็จถึงเมืองหงษาวดีในวัน ๗ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ ตั้งทัพหลวงในตำบลสวนหลวง จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จเข้าไปนมัสการพระมุตาวในเมืองหงษาวดี ในขณะนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาตองอูแต่งทูตานุทูตถือราชสาสนไปถึงพระนครขอเปนพระราชไมตรีด้วยเรา แลให้สัญญาอาณัติว่า ให้ยกทัพหลวงมา แลจะช่วยกันรบเอาเมืองหงษาวดี แล้วพระยาตองอูก็มิได้อยู่ท่าทัพหลวง แลยกทัพมาปล้นเอาเมืองหงษาวดีเอง อนึ่ง ครั้นรู้ว่า เรายกมายังเมืองหงษาวดี พระยาตองอูก็มิได้ตกแต่งทูตานุทูตมาสำหรับการพระราชไมตรี แลพระยาตองอูหนีไปเมืองตองอูนั้น เห็นว่า พระยาตองอูมิได้ครองโดยสัตยานุสัตย์ซึ่งเปนพระราชไมตรีด้วยเรานั้น ควรเราจะยกทัพหลวงไปหาพระยาตองอูถึงเมืองตองอู ให้รู้การซึ่งพระยาตองอูจะเปนไมตรีด้วยเราฤๅ ๆ พระยาตองอูมิได้เปนไมตรีด้วยเรา พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ตรัศให้พระจันทบุรีแลขุนเพ็ชรภักดีแลขุนหมื่นทั้งหลายอยู่รั้งเมืองหงษาวดี แล้วก็ยกทัพหลวงเสด็จไปจากเมืองหงษาวดี ยกไปโดยทางเมืองตองอู.
๏ส่วนพระยาละเคิ่งซึ่งใช้ให้ทูตานุทูตถือพระราชสาสนมาถวายบังคมขอเปนพระราชไมตรีแลว่า พระยาละเคิ่งจะยกช้างม้ารี้พลมาช่วยงานพระราชสงคราม แลเมื่อทัพหลวงเสด็จถึงเมืองหงษาวดีครานั้น พระยาละเคิ่งมิได้ยกทัพมาเองดุจมีพระราชสาสนมานั้น พระยาละเคิ่งก็ใช้แต่ท้าวพระยาให้ยกทัพเรือพล ๕๐๐๐ มาถึงตำบลมุตาว แลสั่งท้าวพระยาผู้มานั้นให้ยกพลขึ้นมาเข้าทัพหลวงโดยเสด็จงานพระราชสงคราม จึงพระยาผู้มาเปนนายกองนั้นก็ให้มาถึงพระยาพระรามให้กราบทูลพระกรุณาว่า จะขอมาถวายบังคม แลจะยกพลห้าพันนั้นมาเข้าทัพหลวงโดยเสด็จตามกำหนดพระยาละเคิ่งสั่งมานั้น.
๏พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาละเคิ่งให้สัตย์ประฏิญาณว่า จะยกมาเองช่วยการพระราชสงคราม แลพระยาละเคิ่งมิได้ยกทัพมาเองนั้น แล้วใช้แต่ท้าวพระยาให้ถือพลมาเข้าทัพเรานี้ แลเราจะเอาชาวละเคิ่งไปโดยเสด็จนั้นดูมิควร จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งแก่พระยาพระรามให้ห้ามชาวละเคิ่งมิให้โดยเสด็จ แลให้แต่งพระราชทานรางวัลให้แก่ท้าวพระยาชาวละเคิ่งผู้มานั้นโดยบันดาศักดิ์ แล้วก็ให้คืนลงไปยังทัพเรือ.
๏ส่วนพระยาตองอู ครั้นไปถึงเมืองตองอู จึงแต่งพม่าผู้ดีชื่อ มังรัดอ่อง แลคนประมาณสองร้อย ให้ถือหนังสือมาถวายกับพระธำมรงค์เพ็ชรสามยอดสำหรับพระเจ้าหงษาวดีทรงนั้น ให้มังรัดอ่องถือมาถวายโดยคลองพระราชไมตรี จึงพระมหาเทพยกทัพม้าไปเปนทัพน่า ยังประมาณสามคืนจะถึงเมืองตองอู ก็พบชาวตองอูซึ่งพระยาตองอูใช้มานั้น พระมหาเทพก็มิได้พิจารณาว่า ทูตานุทูต พระมหาเทพก็ใช้ชาวม้าให้ไล่จับเอาชาวตองอูอันมานั้น ได้ตัวมังรัดอ่องผู้ถือหนังสือพระยาตองอูนั้นจำคาส่งลงมาถวายถึงทัพหลวง พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระโกรธแก่พระมหาเทพว่า ซึ่งพระยาตองอูใช้มาเปนราชทูต แลพระมหาเทพให้จับเอามาเปนเชลยนั้นมิชอบ ก็ตรัสให้ลงพระราชอาชญาแก่พระมหาเทพ แล้วก็ให้ปล่อยมังรัดอ่องนั้นคืนเข้าไปยังเมืองตองอู ให้ว่าแก่พระยาตองอูว่า พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ยกทัพหลวงเสด็จมาครานี้ไซ้ จะเอาเมืองหงษาวดี แลซึ่งพระยาตองอูให้ราชทูตจำทูลพระราชสาสนไปว่า เชิญพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จมาเอาเมืองหงษาวดี แลพระยาตองอูจะยกพลมาช่วยแล้วไซ้ พระยาตองอูมิได้อยู่ท่าทัพหลวงแลชิงปล้นเอาเมืองหงษาวดีนั้น ได้ช้างดีม้าดีเท่าใดไซ้ ให้แต่งไปถวายโดยคลองพระราชไมตรี แลทรงพระกรุณาจะยกทัพหลวงเสด็จคืนไปยังพระนคร ครั้นมังรัดอ่องเข้าไปถึงเมืองตองอู พระยาตองอูก็ใช้มังรัดอ่องให้ออกมาเล่า แลให้กราบทูลพระกรุณาว่า จะขอให้ทัพหลวงตั้งอยู่แต่ในที่เสด็จถึงนั้น ขออย่าเพ่อยกเข้าไป แลพระยาตองอูจะแต่งราชสาสนแลเครื่องบรรณาการช้างม้าซึ่งได้ในเมืองหงษาวดีนั้นส่งออกมาถวาย จึงพระยาพระรามกราบทูลพระกรุณาว่า ซึ่งพระยาตองอูให้มากราบทูลพระกรุณาเชิญทัพหลวงงดอยู่นั้น เหตุพระยาตองอูจะแต่งการป้องกันเมืองยังไป่มิสรรพ จึงอุบายให้ออกมาห้ามประสงค์จะแต่งการที่จะรบพุ่งนั้นให้สรรพ ขออัญเชิญทัพหลวงเสด็จเข้าไป อย่าให้ทันพระยาตองอูตกแต่งบ้านเมืองให้มั่นคง พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศสั่งให้ส่งมัดรัดอ่องนั้นคืนเข้าไปยังเมืองตองอู ให้ว่าแก่พระยาตองอูว่า ถ้าพระยาตองอูมิได้เสียสัจจะเปนพระราชไมตรีไซ้ ให้แต่งท้าวพระยาผู้ใหญ่ออกมา ครั้นให้ส่งมังรัดอ่องเข้าไปแล้ว พระยาตองอูก็มิได้แต่งท้าวพระยาผู้ใด ๆ ออกมาหามิได้ ก็ยกทัพหลวงเสด็จเข้าไปถึงเมืองตองอูในวัน ๒ ๘ฯ ๔ ค่ำ ปีกุญนั้น ฝ่ายพระยาตองอูจัดแจงแต่งการกันเมืองไว้เปนสามารถ ก็มิได้แต่งให้ออกมาเจรจาความเมืองโดยคลองพระราชไมตรี
๏รุ่งขึ้น วัน ๓ ๙ฯ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปยืนพระคชาธาร ก็ให้พลทหารเข้าล้อมเมืองตองอู แลตั้งค่ายล้อมรอบเมืองตองอูสี่ด้าน น่าค่ายในด้านข้างทักษิณซึ่งทัพหลวงเสด็จอยู่นั้นไซ้เปนพนักงานพระยาศรีสุธรรม์ พระยาท้ายน้ำ หลวงจ่าแสน เมืองศรีสงคราม ขุนราชนิกูลนอกราชการ ขุนแผลงสท้าน พระยาแสนหลวง พระยานคร เปนนายกอง ในด้านข้างบูรพไซ้ พนักงานพระเพ็ชรบูรณ พระยาสุพรรณบุรี หลวงมหาอำมาตยาธิบดี เปนนายกอง ในด้านข้างอุดรไซ้ เปนพนักงานเจ้าพระยาพิศณุโลก พระยากำแพงเพ็ชร แลหมื่นภักดีศวร เปนนายกอง ในด้านข้างปัจจิมไซ้ เปนพนักงานพระยานครราชสิมา เมืองสิงคบุรี ขุนอินทรธิบาล แสนภูมโลกาเพ็ชร ส่วนการบังคับบัญชาในน่าค่ายทั้งสี่ด้านนั้นไซ้ ตรัศให้เจ้าพระยาพิศณุโลกแลขุนราชนิกูลนอกราชการตรวจจัดทั้งสี่ด้านนั้น แลพลับพลาไชยทัพหลวงไซ้ตั้งไกลค่ายล้อมมั่นประมาณสิบเส้น.
๏ในขณะนั้น พระยาตองอู เมื่อได้ยินข่าวว่า ทัพหลวงเสด็จไป พระยาตองอูให้ย้ายช้างใหญ่ทั้งปวงไปไว้นอกเมืองตองอู เอาไปไว้ถึงตำบลแม่ช้างใกล้แดนเมืองอังวะ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศใช้พระมหาเทพเปนนายกอง ขุนคชภักดี หมื่นคชโยธา แลขุนหมื่นอาสา ให้ไปลาด จึงพระมหาเทพแลข้าหลวงทั้งปวงยกไปถึงตำบลแก่นตอง แล้วยกไปถึงตำบลแม่ช้าง ได้ช้างพลายพังซึ่งพระยาตองอูให้เอาไปซ่อนไว้นั้น ๕๐ เศษ ในนี้แต่ช้างใหญ่ พลายรายปลอกกยอ หนึ่ง สูง ๗ ศอก พลายเทวนาคพินาย หนึ่ง สูงหกศอกคืบห้านิ้ว พลายปลองลูรายภัก หนึ่ง สูงหกศอกเจ็ดนิ้ว พลายลลุมแทง หนึ่ง สูงหกศอกหนึ่งนิ้ว พลายนิลาตอง หนึ่ง สูงหกศอกหกนิ้ว พลายรานนิกนาง หนึ่ง สูงหกศอกสามนิ้ว พลายปลอกหละเนียบผยู หนึ่ง สูงหกศอกแปดนิ้ว พลายหัศปิศาจ หนึ่ง สูงหกศอกห้านิ้ว พลายมัดต่อมู หนึ่ง สูงหกศอกแปดนิ้ว พลายเฉียดมรัดคาร หนึ่ง สูงหกศอกสามนิ้ว พลายยูมาตาง หนึ่ง สูงหกศอกสองนิ้ว พลายกลอรายชวา หนึ่ง สูงหกศอกสองนิ้ว พลายพิจิตร หนึ่ง สูงห้าศอกคืบหนึ่งนิ้ว พลายไชยมงคล หนึ่ง สูงหกศอกแปดนิ้ว พลายรายปลอกหละ หนึ่ง สูงหกศอก พลายรายเรียงนาง หนึ่ง สูงหกศอก พลายราชสังครำ หนึ่ง สูงหกศอก พลายชมภูทัต หนึ่ง สูงหกศอกสองนิ้ว พลายนักเป หนึ่ง สูงห้าศอกคืบห้านิ้ว พลายสีหนาท หนึ่ง สูงห้าศอกคืบสองนิ้ว พลายสวรรคโลก หนึ่ง สูงห้าศอกคืบสิบเอ็จนิ้ว พลายรายผอร หนึ่ง สูงห้าศอกคืบเจ็ดนิ้ว พลายรายภักปองกย่อ หนึ่ง สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว พลายสัพพางคุลาง หนึ่ง สูงห้าศอกคืบสิบเอ็จนิ้ว พลายเขมรรัศชวา หนึ่ง สูงหกศอกสี่นิ้ว พลายรายภักถันเลี้ยง หนึ่ง สูงหกศอกสี่นิ้ว พลายจำกยอ หนึ่ง สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว พลายอนันตโยธา หนึ่ง สูงห้าศอกคืบหนึ่งนิ้ว พลายรายภักกำยาง หนึ่ง สูงหกศอกสองนิ้ว พลายตมายพระยาแพร่ หนึ่ง สูงหกศอก พลายเขยกระมัดไป หนึ่ง สูงห้าศอกคืบหกนิ้ว พังมระพันคน หนึ่ง สูงสี่ศอกคืบ พังวมะหล่อม หนึ่ง สูงห้าศอกคืบสามนิ้ว แลได้ทั้งช้างโขลงพวกหนึ่งเอามาถวาย.
๏ถึงณวัน ๗ ๑๓ฯ ค่ำ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ตรัศให้พลทหารยกเข้าปีนกำแพงปล้นเมืองตองอู ชาวเมืองตองอูป้องกันเมืองเปนสามารถ การปล้นนั้น กลางวัน แลพลทหารป่วยเจ็บมาก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศให้ห้ามบมิให้ปล้น ก็ให้คลายพลคืนออกมาเข้าค่าย จึงตรัศให้แต่งไปลาดทุกตำบลทั่วจังหวัดเมืองตองอูจนถึงแดนเมืองอังวะ แลได้เสบียงเปนอันน้อยนัก เข้าแพงเปนทนานละสิบสลึงสามบาท ไพร่พลทั้งหลายมิได้อยู่เปนมั่วมูลในทัพหลวงแลน่าค่ายล้อมเมืองทั้งปวงนั้น ก็จ่ายออกไปลาดหากินทุกตำบล อนึ่ง ไพร่พลหลวงทั้งหลายขาดเสบียงล้มตายก็มากนัก.
๏ขณะนั้น พระเจ้าเชียงใหม่จะยกช้างม้ารี้พลไปโดยเสด็จไซ้ เหตุด้วยพระราชเดโช ชาวเชียงใหม่ ได้มาเปนข้าหลวงแต่ขณะก่อน แลเมื่อเจ้าพระยาตนาวศรียกทัพขึ้นไปเชียงใหม่ห้ามชาวล้านช้างนั้น พระรามเดโชเข้าทัพไปด้วยเจ้าพระยาตนาวศรี ๆ ก็แต่งพระรามเดโชให้มาอยู่ซ่องคนในเมืองเชียงราย เชียงแสน อันเปนเภทแก่พระเจ้าเชียงใหม่นั้นให้ขึ้นมาแก่พระเจ้าเชียงใหม่ตามประเพณี ครั้นพระรามเดโชไปถึงเมืองเชียงราย เชียงแสน ชาวเมืองทั้งสองเมืองนั้นก็สมัคด้วยพระรามเดโช เอาพระรามเดโชเปนเจ้าเมือง ก็มิได้มาออกแก่พระเจ้าเชียงใหม่ ส่วนท้าวพระยาหัวเมืองอันขึ้นแก่พระเจ้าเชียงใหม่ทั้งปวงก็มิได้มั่วมูลสมัคสมานด้วยพระเจ้าเชียงใหม่ ก็มาสมัคสมานด้วยพระรามเดโช ๆ ได้กำลังรี้พลมาก ก็คิดจะรบเอาเมืองเชียงใหม่ จึงพระเจ้าเชียงใหม่จะยกพลไปโดยเสด็จมิได้ แลแต่งพระทุลองอันเปนราชบุตร แลท้าวพระยาช้างม้ารี้พล ขึ้นไปตามทัพหลวงถึงเมืองตองอู.
๏ฝ่ายเจ้าเมืองแสนหวีถึงแก่กาลพิราไลย หาผู้จะครองเมืองมิได้ จึงเสนาบดีแต่งเครื่องราชบรรณาการไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณเมืองตองอู กราบทูลขอเจ้าฟ้าแสนหวีซึ่งมาเปนข้าเฝ้า ขณะนั้น ตรัศใช้พระยาศรีไปช่วยกันเมืองเมาะลำเลิ่งนั้นคืนไปเปนเจ้าเมืองแสนหวี.
๏ในขณะนั้น ทัพหลวงตั้งอยู่ล้อมเมืองตองอูถึง ๓ เดือน แลแต่งให้ไปลาดทุกตำบลไซ้ มิได้เสบียงอันจะมาเลี้ยงไพร่พลทั้งปวง ในทัพหลวงนั้นเข้าแพงเปนทนานละตำลึง อนึ่ง ก็จวนเทศกาลฟ้าฝน พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ยกทัพหลวงจากเมืองตองอูมาโดยทางกลอกหม้อ ครั้นทัพหลวงเสด็จถึงตำบลคับแค สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอัญเชิญพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวยังพลับพลาไชย ก็มีพระราชโองการดำริห์ด้วยกันว่า แผ่นดินเมืองเชียงใหม่เปนจลาจล เพื่อพระรามเดโช แลพระยาน่าน พระยาฝาง แลท้าวพระยาชาวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงอันขึ้นแก่พระเจ้าเชียงใหม่นั้น ชวนกันคิดร้ายแลจะรบพระเจ้าเชียงใหม่ดังนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็อัญเชิญพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเชียงใหม่ระงับท้าวพระยาทั้งปวงซึ่งคิดร้ายแก่พระเจ้าเชียงใหม่นั้น แลตรัศให้ทัพพระยากำแพงเพ็ชร ทัพพระยาท้ายน้ำ ทัพพระยาเพ็ชรบูรณ ทัพพระยานครสวรรค์ ทัพพระยาไชยนาท ไปโดยเสด็จ แลทัพพระทุลอง ทัพพระยาแสนหลวง ทัพพระยานคร เปนทัพน่า แล้วดำรัศให้เจ้าฟ้าแสนหวีไปโดยเสด็จด้วย ถ้าเสร็จราชการแล้ว จึงให้ส่งขึ้นไปยังเมืองแสนหวี จึงพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยกทัพหลวงเสด็จไปโดยทางเชียงใหม่ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จมาโดยทางแม่น้ำสโตงมายังเมาะลำเลิ่ง ส่วนข้าหลวงอันแต่งไว้ให้ซ่องมอญทั้งปวงนั้น ก็ซ่องมอญอันกระจัดพลัดพรายทั้งปวงให้เข้าอยู่ที่ภูมิ์ลำเนาในเมืองเมาะลำเลิ่งแลเมืองเมาะตมะนั้นได้มาก จึงตรัศให้พระยาทละอยู่ตั้งเมืองเมาะลำเลิ่งแลเมืองเมาะตมะนั้น แล้วก็ยกทัพหลวงเสด็จมายังกรุงพระมหานคร.
๏พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จถึงตำบลท่าหวดในวัน ๓ ๗ฯ ๗ ค่ำ แลแรมทัพอยู่ในตำบลท่าหวดนั้นสิบห้าวัน จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งแก่เจ้าพระยาสีหราชเดโชไชยอภัยพิริยพาหุให้แต่งข้าหลวงไปหาพระยาหลวงเมืองน่าน พระยาฝาง พระรามเดโช พระยาพลศึกซ้าย พระยาสาด พระยาแพร่ พระยาล่อ พระยาเชรียง พระยาเชียงของ พระยาพยาว พระยาพยาก พระยาเมืองยอง พระยาขวา แลหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงทุกเมือง แลแต่งข้าหลวงไปอยู่ประจำทุกเมือง จึงพระเจ้าเชียงใหม่ก็แต่งเครื่องบรรณาการให้นันทพยะเอามาถวาย แลให้กราบทูลพระกรุณาว่า ทัพหลวงเสด็จมานี้ พระเจ้าเชียงใหม่ก็ชื่นชมหนักหนา เห็นว่า กิจกังวลทั้งปวงก็จะสำเร็จบริบูรณ์ด้วยเดชะพระราชสมภาร แลว่า พระเจ้าเชียงใหม่ยกไปเอาเมืองเชียงรายไซ้ พระยาฝางทำเพโทบายว่า จะยกมาช่วยพระเจ้าเชียงใหม่ แลมากวาดเอาไพร่พลลูกค้ามาขายในแดนเมืองเชียงใหม่ทั้งปวงไปยังเมืองฝาง จึงพระเจ้าเชียงใหม่จะอยู่รบเอาเมืองเชียงรายมิได้ แลกลับคืนมาเมือง ขอเชิญทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองฝาง จึงพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่นันทพยะผู้มากราบทูลพระกรุณานั้นให้ไปทูลแก่พระเจ้าเชียงใหม่ว่า ทรงพระกรุณาตรัศใช้ข้าหลวงให้ไปหาพระยาฝางแลท้าวพระยาทั้งปวงแล้ว จะท่าฟังข่าวนั้นก่อน ถ้าเห็นว่า พระยาฝางมิได้สวามิภักดิ์ไซ้ จึงจะยกทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองฝาง ครั้นนันทพยะรับพระราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปทูลแก่พระเจ้าเชียงใหม่ ๆ ก็ให้หมื่นตองแลนายศรีนาดมากราบทูลพระกรุณาเล่าว่า ในเมืองเชียงใหม่เข้าแพงนัก ทรงพระกรุณาจะเสด็จอยู่ท่าฟังข่าวซึ่งข้าหลวงไปหาท้าวพระยาทั้งปวงนั้น เห็นจะช้านานนัก แลรี้พลทั้งปวงจะขาดเสบียง ขออัญเชิญเสด็จไปเมืองฝางเสียยังแล้ว เพราะเมืองฝางเปนเสี้ยนศัตรูใหญ่หลวงนัก ครั้นหมื่นตองนายศรีนาดมาถึงทัพหลวง ในวันนั้นพระยาพระฝางให้หมื่นหลวงซ้ายนำเอาเครื่องบรรณาการมาถวาย ส่วนพระยาน่านให้แสนเด็กชายนำเอาเครืองบรรณาการมาถวาย แลมาถึงพร้อมกัน จึงหมื่นหลวงซ้ายแลแสนเด็กชายกราบทูลพระกรุณาว่า พระยาฝางแลพระยาน่านแต่งดอกไม้เงินทองจะมาถวายบังคมในภายหลัง.
๏พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่หมื่นตองแลนายศรีนาดให้ไปทูลแก่พระเจ้าเชียงใหม่โดยเนื้อคดีซึ่งพระยาฝางแลพระยาน่านให้กราบทูลพระกรุณานั้น เมื่อทัพหลวงเสด็จแรมทัพอยู่ในตำบลท่าหวดนั้น เข้าแพงนัก พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศถามพระยาแสนหลวงว่า ไพร่พลขาดเสบียงดังนี้ จะขยับทัพหลวงไปตั้งแห่งใดดี จึงพระยาแสนหลวงกราบทูลพระกรุณาขอเชิญเสด็จยกทัพหลวงไปตั้งในตำบลเมืองเถิน เพราะที่นั้นใกล้ท่าเรือ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศใช้ขุนวิสุทธเสนาแลขุนราชสวนจันให้ไปทูลพระเจ้าเชียงใหม่ว่า ทัพหลวงจะเสด็จไปตั้งในตำบลเมืองเถิน.
๏วัน ๕ ๑ฯ ๖ ค่ำ สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยกพลพยุหจากท่าหวดไปตั้งในตำบลเมืองเถิน จึงพระยาฝางก็ให้แต่งเครื่องดอกไม้เงินทองแลเครื่องบรรณาการมาถวาย จึงพระยาหลวงเมืองน่านก็ให้พระยาไชยสงครามถือดอกไม้เงินทองแลเครื่องบรรณาการเอามาถวาย พระรามเดโชก็ให้พระยาสาดแลแสนวิชยามาตย์ถือดอกไม้เงินทองแลเครื่องบรรณาการมาถวาย จึงพระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้หมื่นหลวงกุมกามมากราบทูลพระกรุณาว่า พระเจ้าเชียงใหม่ใช้ฉางกองจ่าแลหมื่นหลวงกุมกามไปยังเมืองเขมราช กรายเมืองฝางไป พระยาฝางก็ให้กุมเอาตัวฉางกองจ่า แลหมื่นหลวงกุมกาม หมื่นฟองฝาง เกาะจำไว้ อนึ่ง พระเจ้าเชียงใหม่ เมื่อตั้งทัพอยู่ณเมืองเชียงราย แลใช้งะส่อ แสนท่าช้าง แสนขวาง ให้เอาช้างขึ้นไป พระยาฝางก็ให้จับเอาผู้มีชื่อทั้งนี้ฆ่าเสีย แลยังแต่งะส่อผู้เดียวให้เกาะไว้ แลบัดนี้ ด้วยเดชะพระราชสมภาร พระยาฝางให้ปล่อยฉางกองจ่า แลหมื่นกุมกาม แลงะส่อ มาด้วยหมื่นฟองฝางถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่หมื่นหลวงกุมกามให้ทูลพระเจ้าเชียงใหม่ว่า พระยาฝาง แลพระยาหลวงเมืองน่าน แลพระรามเดโช แต่งดอกไม้เงินทองมาถวายแล้ว ตัวจะลงมาถวายบังคมภายหลัง พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศให้ขุนทรงภาษาแลขุนศรีถือพระราชสาสนไปเมืองเขมราช จึงพระยาหลวงเมืองน่านแลท้าวพระยาแสนหมื่นชาวเมืองน่านก็ลงมาถวายบังคม แลพระยาหลวงเมืองน่านถวายช้างพลายหกศอกมีเศษ ถวายช้างพังสองช้าง ถวายม้าดียี่สิบม้า แลเครื่องบรรณาการก็มาก อนึ่ง ท้าวพระยาแสนหมื่นอันมาด้วยพระยาหลวงเมืองน่านนั้นถวายม้าแลเครื่องบรรณาการก็มาก อันดับนั้น พระยาฝางแลท้าวพระยาแสนหมื่นชาวเมืองก็ลงมาถวายบังคม พระยาฝางก็ถวายช้างพลายส้อมทองช้างหนึ่ง สูงหกศอกเศษ ช้างพังรูปดีสองช้าง ถวายม้าสามสิบม้า แลเครื่องบรรณาการก็มาก อนึ่ง ท้าวพระยาแสนหมื่นอันมาด้วยพระยาฝางนั้นก็ถวายม้าแลเครื่องบรรณาการก็มาก อยู่สามวัน พระรามเดโชแลท้าวพระยาแสนเมืองชาวเมืองเชียงแสน เชียงราย ก็มาถวายบังคม แลพระรามเดโชก็ถวายช้างพลายฉางพรสดึกช้างหนึ่ง สูงห้าศอกคืบเศษ ช้างพลายมรปอกนากหนึ่ง ถวายม้า ๕๐ ม้า แลเครื่องบรรณาการก็มาก อนึ่ง ท้าวพระยาแสนหมื่นอันมาด้วยพระรามเดโชนั้นถวายเครื่องบรรณาการก็มาก พระยาพลศึกซ้าย น้องพระยาหลวงเมืองน่าน ก็ลงมาถวายบังคม แลถวายช้างพลายบุญเรืองฤทธิหนึ่ง สูงห้าศอกคืบเศษ ถวายม้าแลเครื่องบรรณาการก็มาก พระยาแพร่ พระยาลอ พระยาเชรียง พระยาเชียงของ พระยาพยาว พระยาพยาก พระยาเมืองยอง แลท้าวพระยาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง ก็มาถวายบังคม แลถวายช้างม้าแลเครื่องบรรณาการก็มากนัก แลท้าวพระยาเสนาทั้งปวงนี้เอาช้างม้ารี้พลมาตั้งทัพอยู่ล้อมพระราชวังแลรับราชการ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศใช้หมื่นอินทรักษาให้ขึ้นไปทูลแก่พระเจ้าเชียงใหม่ว่า ท้าวพระยาทั้งปวงมาถวายบังคม แลได้รับราชการอยู่ในทัพหลวงแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่ก็ยินมลากยินดีหนักหนา เพราะท้าวพระยาทั้งนั้นกำลังรี้พลมั่งคั่งหนัก ถ้าแลทรงพระกรุณามิได้เสด็จไประงับไซ้ เห็นว่า พระเจ้าเชียงใหม่จะยืนแก่ท้าวพระยาทั้งนี้มิได้ แลด้วยเดชะพระราชสมภารเสด็จไป จึงแผ่นดินเมืองเชียงใหม่มิได้จลาจลคงอยู่แก่พระเจ้าเชียงใหม่.
๏อนึ่ง เมื่อทัพหลวงเสด็จอยู่เมืองเถินนั้น พลทหารล้อมวงเปนน้อยนัก เพราะเข้าแพง แลรี้พลทั้งปวงซ่านเซนไปหาอาหาร ยังอยู่ในทัพหลวงประมาณสามร้อยเศษ อนึ่ง ช้างม้าก็น้อยนัก ฝ่ายท้าวพระยาลาวทั้งปวงนั้นไซ้ก็ย่อมมีกำลังช้างม้ารี้พลมั่งคั่งทุกเมือง แลท้าวพระยาทั้งปวงมาราบคาบที่นี้ด้วยเดชานุภาพพระราชสมภาร จึงพระเจ้าเชียงใหม่ให้พระยาพยาวนำเอาช้างพลายมาณช้างหนึ่ง สูงเจ็ดศอกเศษ ลงมาด้วยหมื่นอินทรักษา เอามาถวายในตำบลเมืองเถิน แล้วพระเจ้าเชียงใหม่ก็แต่งเครื่องบรรณาการให้แสนหมื่นถือลงมาถวายเปนหลายครั้ง.
๏ฝ่ายพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จไประงับท้าวพระยาทั้งหลายในเมืองเชียงใหม่นั้นราบคาบแล้ว ก็ตรัศให้ส่งเจ้าฟ้าแสนหวีไปโดยทางเชียงใหม่ไปยังเมืองแสนหวี แลพระราชทานช้างม้าแลเครื่องกระยาประสาทไปแก่เจ้าฟ้าแสนหวีนั้นก็มาก.
๏อยู่มา พระมหาเทวีพระเจ้าเชียงใหม่ถึงแก่อนิจกรรม พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้แสนหนังสือแค่นลงมากราบทูลพระกรุณาขอพระทุลองขึ้นไปช่วยแต่งการยกศพระมหาเทวี แลแต่งพระไชยาธิป ผู้น้องพระทุลอง มาถวายบังคมอยู่เฝ้าจำนำพระบาทในทัพหลวง ในเมืองเชียงใหม่นั้นเร่งเกิดทรพิศม์ เข้าแพงนัก พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศใช้หลวงเทพเสนาบดีศรีสมุหพระกระลาโหมลงมายังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา เอาลำเลียงเข้าเสบียงขึ้นไปยังทัพหลวง แลพระราชทานให้ขึ้นไปแก่พระเจ้าเชียงใหม่ จึงได้เลี้ยงไพร่พลประชาราษฎรทั้งปวงในเมืองเชียงใหม่นั้น.
๏ส่วนขุนพรหมสุรินทร ข้าหลวงผู้ไปอยู่รั้งเมืองฝางนั้น เกิดเหตุการชาวเมืองฝางคิดร้ายก็ลอบทำร้ายแก่ขุนพรหมสุรินทร จึงมีข่าวลงมากราบทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศใช้พระยานครแลพระรามเดโชขึ้นไปอยู่รั้งเมืองฝาง ครั้นท้าวพระยาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงลงมาถวายบังคมเสร็จแล้ว ถึงเดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรก็มีพระราชโองการตรัศใช้หมื่นนนทบาลลงมากราบทูลพระกรุณาแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้หมื่นนนทบาลแถลงการซึ่งเสด็จขึ้นไประงับท้าวพระยาทั้งปวงราบคาบนั้นถวายแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง.
๏ในขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นมาแต่การพระราชสงคราม ก็มิได้เสด็จเข้ามายังกรุงพระมหานคร แลตั้งทัพหลวงเสด็จอยู่แต่เมืองสุพรรณบุรี ครั้นหมื่นนนทบาลมาถึงเมืองสุพรรณบุรีที่ทัพหลวงเสด็จอยู่นั้น หมื่นนนทบาลก็เอากิจจานุกิจทั้งปวงกราบทูลพระกรุณาแถลงถวายแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ๆ ก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่หมื่นนนทบาลให้ขึ้นไปกราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ขอเชิญเสด็จขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ ให้เอาท้าวพระยาทั้งปวงไปให้สมัคสมานด้วยพระเจ้าเชียงใหม่ ครั้นหมื่นนนทบาลขึ้นไปถึงทัพหลวง กราบทูลพระกรุณาโดยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชโองการตรัศนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศใช้ข้าหลวงขึ้นไปหาพระรามเดโชในเมืองฝางว่า ทัพหลวงจะเสด็จไปยังเมืองเชียงใหม่ แลให้พระรามเดโชลงมาถวายบังคมในเมืองเชียงใหม่ จึงตรัศใช้ข้าหลวงให้ขึ้นไปทูลแก่พระเจ้าเชียงใหม่ว่า ทัพหลวงจะเสด็จขึ้นไปตั้งในเมืองลำพูน แลให้พระเจ้าเชียงใหม่ออกมารับเสด็จในเมืองลำพูน จะเอาท้าวพระยาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงมอบแก่พระเจ้าเชียงใหม่ให้สมัคสมานด้วยกัน ขณะนั้น พระเจ้าเชียงใหม่รู้ข่าว ก็แต่งท้าวพระยาแสนเมืองให้ออกมาปลูกพระตำหนักรับทัพหลวง แล้วก็แต่งตำหนักที่พระเจ้าเชียงใหม่จะเสด็จออกมาอยู่เองนั้น.
๏ถึงณวัน ๑ ๑๑ ฯ ๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเถิน แลพระยาหลวงเมืองน่าน พระยาแสนหลวงพิงไชย พระยาฝาง แลท้าวพระยาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง แลพระไชยาธิป ลูกพระเจ้าเชียงใหม่ ก็ไปโดยเสด็จ จึงยกทัพหลวงเข้าไปตั้งเมืองลำพูน ในขณะนั้น ช้างม้ารี้พลฝ่ายท้าวพระยาลาวทั้งปวงพร้อมมูลในทัพหลวง แลช้างม้ารี้พลมากนัก พระเจ้าเชียงใหม่จะออกมารับทัพหลวงไซ้ ก็คิดสงไสยเกรงขาม แลมิได้ออกมารับเสด็จในเมืองลำพูนนั้น ส่วนพระรามเดโช ครั้นมีพระราชกำหนดขึ้นไปหา ก็ยกลงมาจากเมืองฝาง จะมายังทัพหลวงในเมืองลำพูน ก็เอาช้างม้ารี้พลเดินกรายเมืองเชียงใหม่มา พระเจ้าเชียงใหม่ก็แต่งทัพม้าไทยใหญ่ออกไปซุ่มไว้ซึ่งทางพระรามเดโชจะยกมานั้น ครั้นเช้ามืด ชาวม้าไทยใหญ่ก็ยกเข้าตีทัพพระรามเดโช พระรามเดโชมิทันรู้ตัวก็แตกฉาน พระรามเดโชจะลงมายังหลวงมิได้ คืนไปเมืองฝาง พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศรู้การซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่คิดสงไสยแลมิได้ลงมายังทัพหลวงนั้น จึงมีพระราชโองการศตรัศให้หาท้าวพระยาหัวเมืองมุขมนตรีทั้งหลายพิพากษาว่า ซึ่งทรงพระมหากรุณาให้เรายกพลากรมาทั้งนี้ เพราะเหตุว่าทรงพระเมตตาแก่พระเจ้าเชียงใหม่ เพื่อจะให้ระงับท้าวพระยาลาวหัวเมืองทั้งปวงอันกระด้างกระเดื่องเปนปัจจนึกแก่พระเจ้าเชียงใหม่ให้ปรกติราบคาบ ท้าวพระยาลาวทั้งปวงก็มาพร้อมกันณเมืองเถินสิ้น ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้ลงมา แต่งให้แต่แสนท้าวพระยาลาวคุมเครื่องบรรณาการลงมา เรื่องความทั้งนี้ทราบลงไปถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ดำรัศเห็นว่า เมืองเชียงใหม่ยังมิปรกติ จึงให้เรากลับขึ้นมาระงับเสียให้จงได้ พระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้ลงมา กลับแต่งทัพม้ามาซุ่มไว้ตีพระรามเดโชอันลงมาตามกำหนดอิกเล่า แลซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ทำดังนี้ ยังเห็นประการใด มุขมนตรีทั้งปวงปฤกษาว่า เดิมแผ่นดินเมืองเชียงใหม่เปนจลาจล พระเจ้าเชียงใหม่หาที่พึ่งมิได้ จึงให้ไปกราบทูลเบื้องบาทยุคล ขอเอาพระเดชเดชานุภาพปกเกล้าปกกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระมหากรุณาแก่พระเจ้าเชียงใหม่ จะให้คงอยู่ในเสวจรฉัตร จึงเชิญพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นมาในสมัยใช่ฤดูกาล ป่วยการรี้พลก็มาก ครั้นทัพหลวงเสด็จมาถึงท่าหวด ตรัศให้ข้าหลวงไปหาท้าวพระยาลาวอันกระด้างกระเดื่องมิอาจขัดแขงอยู่ได้ ก็พากันมากราบถวายบังคมเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ในทัพหลวงณเมืองเถินสิ้น แลพระเจ้าเชียงใหม่ก็หามาไม่ ด้วยมิได้เชื่อพระเดชเชานุภาพ มีแต่ความกลัวพระยาลาวทั้งปวงมากกว่าพระราชอาชญาอิก สมเด็จพระพุทธเจ้าหัวอยู่ก็มิได้ทรงพระโทมนัสเคืองพระไทย ต้องทรงพระอุสาหะเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมาถึงเมืองลำพูน กำหนดให้พระเจ้าเชียงใหม่มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทพร้อมกันกับพระยาลาวทั้งหลาย เพื่อจะพระราชทานพระราชโอวาทให้พระยาลาวสมัคสมานอ่อนน้อมต่อพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ ก็มิได้ลงมา กลับแต่งทัพม้าไทยใหญ่ซุ่มตีพระรามเดโชอันจะลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทนั้น จนพระรามเดโชมามิได้ กลับคืนไปเมืองฝาง แลพระเจ้าเชียงใหม่โมหจิตรมิได้เชื่อพระเดชเดชานุภาพแล้ว ซึ่งจะเสด็จอยู่โปรดอิกนั้นเหลือการ อนึ่ง ไพร่พลในทัพหลวงแลไพร่พลพระยาลาวทั้งปวงก็ขัดสนเสบียงอาหารนัก ขอเชิญเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงเสด็จกลับยังกรุงเทพพระมหานครจึงจะควร เอาคำพิพากษากราบทูลพระกรุณา จึงมีพระราชโองการตรัศว่า พระเจ้าเชียงใหม่เปนคนหลงอยู่แล้ว แลจะละเสียนั้นเหมือนไม่อนุกูลพระเจ้าเชียงใหม่ ประการหนึ่ง ก็จะเสียพระเกียรติยศสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐไป ทั้งพระองค์ก็จะทรงพระโกรธติโทษเราได้ ชอบให้ข้าราชการผู้มีสติปัญญาเข้าไปว่ากล่าวชี้แจงให้พระเจ้าเชียงใหม่ออกมาให้จงได้ แลให้ม้าตำรวจสามสิบม้าขึ้นไปหาพระรามเดโชลงมาสมัคสมานเสียจึงจะควร ฝ่ายท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมเห็นด้วยพระราชดำริห์ทุกประการ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้หมื่นอินทรักษา กับพระไชยาธิป โอรสพระเจ้าเชียงใหม่ เข้าไปยังเมืองเชียงใหม่ แลให้หมื่นเพ็ชรไพรี หัวหมื่นตำรวจสามสิบม้า ให้ไปหาพระรามเดโชณเมืองฝาง ครั้นหมื่นอินทรักษา ข้าหลวง กับพระไชยาธิป ไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ จึงทูลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา อุสาหเสด็จพระราชดำเนินยกทัพหลวงขึ้นมาถึงเมืองลำพูน กำหนดให้ลงไปเฝ้า ทรงพระกรุณาจะเอาท้าวพระยาลาวทั้งปวงสมัคสมานมอบให้ เหตุไฉนพระองค์จึงมิได้ลงไปเฝ้า แล้วลอบแต่งทัพม้าตีทัพพระรามเดโชอันจะลงไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทนั้นอิกเล่า พระองค์ทำดังนี้ควรอยู่แล้วฤๅ บัดนี้ พระเจ้าอยู่หัวขัดเคือง ให้เสนาพฤฒามาตย์ปฤกษา ๆ ให้เชิญเสด็จยกทัพหลวงกลับยังกรุงพระมหานคร แต่ทว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระอาไลยถึงพระองค์ว่า ถ้าทัพหลวงเสด็จกลับ เห็นว่า เมืองเชียงใหม่จะตั้งอยู่มิได้ เสียดายที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรมานพระองค์เสด็จมานั้น จึงให้ข้าพเจ้าเข้ามาทูล พระองค์อย่าได้วิตกเกรงขามท้าวพระยาลาวทั้งปวงเลย เปนภารธุระสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะระงับการกลีให้สงบจงได้ พระไชยาธิปทูลชี้แจงพระเดชเดชานุภาพที่ท้าวพระยาลาวเกรงขามให้ฟังทุกประการ พระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้งดังนั้น มีความยินดีนัก ครั้นเพลารุ่งเช้า พระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกช้างม้ารี้พลโดยสมควรลงมายังเมืองลำพูน เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลขอโทษที่มิได้ลงมาเฝ้าแลลอบทำร้ายพระรามเดโชทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังพระเจ้าเชียงใหม่กราบทูล แย้มพระโอฐ แล้วมีพระราชโองการตรัศว่า ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่มิได้มาตามกำหนดนั้น เพราะท่านมิได้เชื่อพระบวรบุญญานุภาพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผู้ทรงพระกฤษฎาภินิหารอันประเสริฐ ตรัศเท่าดังนั้นแล้ว ก็ให้หาท้าวพระยาลาวทั้งปวงเข้ามาเฝ้า จึงมีพระราชบริหารตรัศแก่พระยาน่าน พระยาฝาง แลท้าวพระยาแสนหลวงทั้งปวงว่า เมืองเชียงใหม่เปนเมืองกระษัตริย์สืบมาแต่บุราณราชประเพณี พระเจ้าเชียงใหม่เล่าก็เปนกระษัตริย์สืบสุริวงษ์มาหลายชั่วแล้ว แลซึ่งท่านทั้งปวงคบคิดกันเปนปรปักษ์ข้าศึกจะรบเอาเมืองเชียงใหม่นั้น ถึงมาทว่าจะได้สมบัติในเมืองเชียงใหม่ก็ดี ความทุรยศอันนี้ก็จะปรากฎอยู่ชั่วฟ้าแลดิน ดูมิบังควร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตากรุณาการุญภาพแก่ท่านทั้งปวงแลพระเจ้าเชียงใหม่ จึงดำรัศให้เราอุสาหะมา หวังจะให้ท่านทั้งปวงสามัคคีรศสุนทรภาพสโมสรสุจริตดุจกาลก่อน ท้าวพระยาลาวทั้งหลายจะว่าประการใด ท้าวพระยาแสนหลวงทั้งปวงกราบถวายบังคมพร้อมกันแล้วกราบทูลว่า พระเจ้าอยู่หัวโปรดประการใด จะกระทำตามทุกประการ พระเจ้าเชียงใหม่กราบทูลพระกรุณาว่า ท้าวพระยาทั้งปวงประนีประนอมแล้ว ข้าพระองค์มิได้มีอาฆาฏจองเวรแก่ท้าวพระยาทั้งหลาย จะถวายสัจปฏิญาณได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้น ดีพระไทยนัก ตั้งแต่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่กับท้าวพระยาแสนหลวงแสนเมืองทั้งปวงก็มิได้มีความพิโรธอาฆาฏแก่กันต่อไป พระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้กลับเข้าไปเมืองเชียงใหม่ อยู่ในทัพหลวงถึงแปดเวน ฝ่ายหมื่นเพ็ชร์ไพรีกับพระรามเดโชก็มาถึง เฝ้าพร้อมกันกับพระเจ้าเชียงใหม่ แสนหลวงแสนเมืองทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้พระราชโอวาทโดยยุติธรรมสามัคคีรส พระเจ้าเชียงใหม่กับพระรามเดโชก็สิ้นเวรพยาบาทแก่กัน ครั้นรุ่งขึ้น ก็เสด็จพระราชดำเนินพาพระเจ้าเชียงใหม่แลท้าวพระยาลาวเข้าไปในอารามพระมหาธาตุเมืองลำพูน ก็ให้ท้าวพระยาลาวทั้งปวงกระทำสัจปฏิญาณถือน้ำพิพัฒต่อพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ ก็ถวายสัจต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เฉภาะพระภักตรพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ซึ่งมิได้อาฆาฏจองเวรแก่ท้าวพระยาทั้งหลายเปนอันสุจริต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศให้โอวาทสั่งสอนพระเจ้าเชียงใหม่แลท้าวพระยาลาวทั้งหลายเปนอเนกบรรยายแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ามายังราชพลับพลาอาศน์ จึงดำรัสแก่พระเจ้าเชียงใหม่ แลพระรามเดโช ท้าวพระยาแสนหลวงแสนเมืองทั้งปวง ให้ไปอยู่รักษาเมืองดังเก่า บำรุงประชาราษฎรขอบขัณฑเสมาโดยยุติธรรมประเพณีให้ถาวรวัฒนาสืบไป.
๏ครั้นณวัน ๓ ๕ฯ ๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินยกพยุหโยธาทัพออกจากเมืองลำพูน แลพระเจ้าเชียงใหม่ แลพระรามเดโช ท้าวพระยาแสนหลวงแสนเมืองทั้งปวง ก็ตามมาส่งเสด็จถึงตำบลจอมทอง แล้วก็กราบถวายบังคมลายกแยกกันไปบ้านเมืองโดยพระราชกำหนด แต่พระไชยาธิป ลูกพระเจ้าเชียงใหม่ แลพระยาเด็กชาย แลนันทกยอสูนั้น ลงมาโดยสเด็จพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวด้วย ก็เสด็จลงมาถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มีพระราชหฤไทยปรีดาภิรมย์ยิ่งนัก แลสรรเสริญพระเดชเดชานุภาพพระราชสมภารพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จไประงับท้าวพระยาทั้งปวงให้ราบคาบนั้น.
๏ลุศักราช ๙๕๒ ปีขาล โทศก ในเมืองแลวกไซ้ เมื่อพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ยกทัพหลวงไปปราบราชศัตรูในเมืองแลวกแล้ว แลเทเอาครัวอพยพทั้งปวงเสด็จมายังกรุงพระมหานครแล้ว อยู่ภายหลังมา จึงลูกพระยาแลวกซึ่งหนีไปอยู่เมืองล้านช้างนั้นก็คืนมายังเมืองแลวก ประมูลไพร่พลทั้งปวง ได้เปนพระยาแลวกแล้ว แต่งดอกไม้เงินทองแลเครื่องบรรณาการมาถวายทุกปีมิได้ขาด ครั้นพระยาแลวกนั้นพิราไลยไซ้ หาผู้จะปกครองแผ่นดินเมืองแลวกนั้นมิได้ จึงสมณพราหมณาจารย์แลท้าวพระยามนตรีมุขทั้งปวงแต่งดอกไม้ทองเงินแลเครื่องบรรณาการมาถวายบังคมพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ขอพระศรีสุพรรณมาธิราช ผู้น้องพระยาแลวกก่อนนั้น ไปครองแผ่นดินเมืองแลวก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องราชูประโภคสำหรับพระมหากระษัตริย์ให้พระศรีสุพรรณมาธิราชไปเปนพระยาแลวก แลตรัศให้เจ้าพระยาสวรรคโลก พระยาพันธารา แลพลทหารสามพัน เอาพระศรีสุพรรณมาธิราชไปส่งถึงเมืองแลวกโดยทางเรือในปีขาล โทศกนั้น.
๏ลุศักราช ๙๕๓ ปีเถาะ ตรีนิศก พระศรีสุพรรณมาธิราช ผู้เปนพระยาแลวก ก็ให้พระยากระลาโหม ผู้ลูกเขย มากราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ว่า พระยาอ่อนอันหนีไปอยู่ด้วยชองพรรค์ในตำบลแสนสโทงนั้นประทูลชองพรรค์ทั้งปวงได้มากแล้ว ว่าจะยกมารบพระยาแลวก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศให้แต่งทัพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา แลช้างเครื่อง ๕๐ ช้าง ม้า ๑๐๐ พล ๑๐๐๐๐ แลเจ้าพระยาธรมาธิบดี เจ้าพระยาสวรรคโลก พระยากำแพงเพ็ชร พระยาศุโขไทย พระยาพันธารา ยกไปโดยทางโพธิสัตว แลมีพระราชกำหนดไปให้พระยาแลวกยกทัพออกมาบรรจบด้วยทัพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ แลให้ยกไปตีทัพพระยาอ่อนในตำบลแสนสโทงนั้น ครั้นตีทัพพระยาอ่อนแตกฉานแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ยกทัพคืนมาโดยทางพระนครหลวงมาถวายบังคมพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
๏เมื่อทัพหลวงเสด็จอยู่ในเมืองราชบุรีในปีเถาะ ตรีนิศกนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปประพาศทางชลมารค เสด็จด้วยพระชลวิมานอันอลังการรจนา ดูมหิมาดาดาษด้วยบริพารแสนศฤงฆารประดับสรรพเสร็จ เสด็จถึงเมืองพระพิศณุโลก ตั้งตำหนักในตำบลวัดไผ่ ฝ่ายพระคชาธารสารสินธพพาหนะแลช้างต้นม้าต้นทั้งปวงไซ้ ทรงพระกรุณาตรัศให้ไปโดยทางสถลมารครับทัพหลวงในเมืองพระพิศณุโลก พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปนมัสการพระชินราชในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในเมืองพระพิศณุโลกนั้น แล้วก็เสด็จไปประพาศในจังหวัดเมืองพระพิศณุโลกนั้นทุกตำบล ในขณะนั้น กรมการเมืองพระพิศณุโลกกราบทูลพระกรุณาว่า เสือร้ายนัก ย่อมมาบีฑาผู้คนถึงในเมืองพระพิศณุโลก ทรงพระกรุณาตรัศให้ข้าหลวงไปล้อมเสืออันร้ายทุกตำบล วันหนึ่ง ข้าหลวงไปล้อมเสือมาถวาย แลทรงพระกรุณาตรัศให้แต่งเปนคอกสูงประมาณสิบศอก แล้วเอาเสือปล่อยเข้าในคอกนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยช้างพระที่นั่ง แลเสด็จออกไปยืนช้างพระที่นั่งแทบคอกนั้น แล้วจะให้ทหารข้าหลวงเข้าพุ่งแทงไซ้ เสือนั้นใหญ่ กำลังสามารถ ก็วิ่งข้างคอกออกมาโดยน่าพระที่นั่ง ทรงพระกรุณา ก็เสด็จวางช้างพระที่นั่งตามเสือนั้นไป แลตรัศให้ข้าหลวงเข้าล้อมแทงเอาได้ในกลางแปลง แลข้าหลวงจะได้ป่วยเจ็บหามิได้ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระพิ⟨ศ⟩ณุโลกครานั้น แลเสด็จประพาศดังนี้เปนหลายครั้ง จึงมีพระราชโองการตรัศให้เอาทองนพคุณเครื่องราชูประโภคมาทำเปนทองประทาสี จึงเสด็จไปปิดพระพุทธปฏิมากรพระชินราชด้วยพระหัดถ์ เสร็จบริบูรณ์ก็แต่งการฉลอง แลให้เล่นมหรศพบูชาสักการแก่พระพุทธเจ้านั้นเจ็ดวันเจ็ดคืนเปนมหามเหาฬารหนักหนา จึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัศให้ข้าหลวงขึ้นไปกราบทูลพระกรุณาเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จลงมาจากเมืองพระพิศณุโลกในวัน ๔ ๖ฯ ๖ ค่ำในปีเถาะ ตรีนิศกนั้น.
๏ถึงเดือนเก้า พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จจากเมืองราชบุรีโดยสถลมารค เสด็จไปประพาศถึงตำบลสามร้อยยอด แลตั้งพระตำหนักแทบฝั่งพระมหาสมุท จึงเสด็จลงพระสุพรรณวิมานนาวาอันอลงกฎรจนาธิการ ประดับสรรพด้วยเครื่องพิไชยสรรพาวุธดูมหิมา แลเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาทหารโดยเสด็จแห่ห้อมล้อมดาษดาในท้องมหาอรรณพสาคร พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จออกไปประพาศภิรมย์ชมฝูงมัศยากรอันมีนานาพรรณในกลางสมุท ก็ทรงเบ็ดทอดได้ปลาฉลามแล้วก็เสด็จขึ้นมายังพระตำหนัก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จออกไปประพาศในกลางมหาสมุทดังนั้นได้สิบสี่วันวารแล้ว ก็มีพระราชโองการตรัศสั่งให้ไปแต่งพระตำหนักในริมฝั่งมหาสมุทตำบลโตนดหลวง ก็เสด็จลงพระสุพรรณวิมานมหานาวาอันเปนพิไชยพาหนะสำหรับประดับพลากรโดยขนัด เรือท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีพิริยโยธามาตย์ทั้งหลายแห่ห้อมล้อมดาษดา ดูมหิมาด้วยเครื่องสรรพายุทธ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จโดยชลมารคมหาสมุทมายังพระตำหนักในตำบลโตนดหลวง แลทอดอยู่แรมทัพในมหาสมุทสองคืน จึงเสด็จถึงพระตำหนักโตนดหลวงนั้น แลเสด็จออกไปประพาศในกลางมหาสมุทในตำบลโตนดหลวงนั้นเล่า อยู่ ๑๒ วันจึงเสด็จจากตำบลโตนดหลวง เสด็จโดยสถลมารคเข้ามายังเมืองเพ็ชรบุรี.
๏ลุศักราช ๙๕๔ ปีมโรง จัตวาศก เดือน ๑๒ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศให้บำรุงช้างม้ารี้พลทั้งปวงไว้สรรพ จะยกทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองตองอู จึงมีข่าวมาว่า พระยาอังวะยกมาเอาเมืองหน่าย แลได้เมืองหน่ายแล้ว แลพระยาอังวะจะยกไปเอาเมืองแสนหวีเล่า พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศว่า เมืองหน่ายแลเมืองแสนหวีไซ้ได้เปนข้าขอบขัณฑสิมาฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุทธยาแล้ว แลซึ่งพระยาอังวะมาเอาเมืองหน่ายแลเมืองแสนหวีดังนี้ ควรเราจะยกทัพหลวงไปเอาเมืองอังวะ จึงมีพระราชกำหนดแก่ท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงให้ตรวจเครื่องสรรพาวุธช้างม้ารี้พลทั้งปวงสรรพ แลจะยกทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองอังวะ ครั้นถึงมิคสิรมาศ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัศให้แต่งพระตำหนักในตำบลปากโมก ครั้นเสร็จ ก็เสด็จด้วยพระชลวิมานมาโดยทางชลมารค เสด็จเข้าตระพงพลในพระตำหนักปากโมกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพยุหบาตราจากตำบลปากโมก เสด็จโดยชลมารคขึ้นเหยียบไชยภูมิ์ในตำบลเอกราช ให้ขุนแผนสท้านฟันไม้ข่มนามโดยการพระราชพิธีไชยสงครามเสร็จ ก็เสด็จออกทัพไชยในตำบลพระหล่อ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพยุหบาตราโดยสถลมารค สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จทรงช้างต้นพลายศรีไชยศักดิ์เปนพระมหาคชาธาร สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงช้างต้นพระมหาศักดานุภาพเปนพระคชาธาร พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพยุหบาตราด้วยพระคชาธารทั้งสองอันประดับด้วยเครื่องคเชนทราลังการ อันพิจิตรด้วยกาญจนรัตนชัชวาล แลโอฬารด้วยเครื่องพระอภิรุมเสวตรฉัตรกลิ้งกลดชุมสายลายพิจิตรพิพิธรัตนพัดวาลวิชนีจามรบวรพรรณโอภาศ เดียรดาษด้วยท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีพิริยโยธาทหารแห่ห้อมล้อมเปนบริพารดูอธึก พันฦกด้วยพวกพลคเชนทรนิกรบวรมหาคชสารสินธพสมุหโยธาทั้งหลาย ดูพรรณรายด้วยเครื่องสรรพายุทธเกราะกรายย้ายกันแห่โดยขนัดซ้ายขวาน่าหลัง แลพลช้างเครื่อง ๘๐๐ พลม้า ๑๕๐๐ พลโยธาหาญ ๑๐๐๐๐๐ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพยุหบาตราโดยสถาลมารคไปโดยทางกำแพงเพ็ชร์ขึ้นไปยังเชียงใหม่ แลพระเจ้าเชียงใหม่ไปรบพระรามเดโชในเมืองเชียงแสน จึงตั้งทัพหลวงแทบเมืองเชียงใหม่อยู่ท่าพระเจ้าเชียงใหม่ แลแต่งข้าหลวงให้ไปหาพระรามเดโช แลเชิญพระเจ้าเชียงใหม่คืนมาด้วย ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่มาถึงทัพหลวงแล้ว แลพระเจ้าเชียงใหม่ก็เสด็จมาเคารพแก่พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ แล้วก็ถวายช้างม้าแลเครื่องบรรณาการเสร็จ ก็ตั้งตำหนักอยู่แทบทัพหลวง ในวันอัฐมีนั้น พระเจ้าเชียงใหม่ก็เชิญพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์ในเมืองเชียงใหม่นั้น แลทัพหลวงตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่นั้นเดือนหนึ่ง จึงยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเชียงใหม่ไปโดยทางอังวะ พระเจ้าเชียงใหม่แลลูกพระเจ้าเชียงใหม่ทั้งสามไปโดยเสด็จทัพหลวง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ยกพยุหโยธาทัพเสด็จไปโดยทางเมืองห้างหลวง พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยกทัพหลวงเสด็จไปโดยทางเมืองฝาง แลเสด็จถึงเมืองฝางในวัน ๕ ๑๑ฯ ๕ ค่ำ.
๏ฝ่ายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จถึงเมืองห้างหลวง แลตั้งทัพหลวงอยู่ตำบลทุ่งแก้ว แรมทัพในตำบลนั้น ส่วนพระยากำแพงเพ็ชรแลพระหัวเมืองขุนหมื่นทั้งหลายผู้เปนทัพน่าก็ยกช้างม้ารี้พลไปถึงแม่น้ำขง.
๏ในขณะนั้น สมเด็จพระพทุธเจ้าหลวงทรงพระประชวรหนัก ก็ตรัศใช้ข้าหลวงไปกราบทูลพระกรุณาถึงเมืองฝาง พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จจากเมืองฝางมายังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในเมืองห้างหลวง แลเสด็จถึงในวัน ๗ ๖ฯ ๖ ค่ำ ปีมเสง เบญจศกนั้น รุ่งขึ้น ณวัน ๒ ๘ฯ ๗ ค่ำ เพลาชายแล้วสองบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จสวรรคต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพรรษามโรง ฉศก เมื่อได้ราชสมบัตินั้น ศักราช ๙๔๐ ปีขาล สำเรทธิศก ในปีขาลนั้น พระชนม์ได้ ๓๖ พระพรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ พระพรรษา เมื่อเสด็จสวรรคตในเมืองห้างหลวง พระชนม์ได้ ๕๐ พรรษา.