พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 3/บท 1

ระหว่างเวลาจลาจล

ในขณะเมื่อกรุงยังไม่เสียแก่พม่านั้น ฝ่ายพระยากำแพงเพ็ชรยกทัพหนีไปจากกรุงแต่ในเดือนยี่ ปีจอ อัฐศก ได้รบกับพม่าซึ่งยกไปติดตามถึงสี่ครั้ง ครั้นพม่ายกกลับไปแล้ว จึงเดินทัพล่วงแขวงเมืองชลบุรีไปถึงตำบลนาเกลือ แขวงเมืองบางลมุง.

ขณะนั้นนายกลมเปนนายชุมนุมคุมไพร่พลอยู่ที่นั้น คอยสกัดจะต่อรบ แลพระยากำแพงเพ็ชร์ขึ้นขี่ช้างพลายถือปันนกสับรางแดง พร้อมด้วยพลทหารแห่แวดล้อมน่าหลัง ตรงเข้าไปในรวางพวกพลนายกลมซึ่งมาตั้งสกัดอยู่นั้น ด้วยเดชะบารมีบันดาลให้นายกลมเกรงกลัวเดชานุภาพ วางอาวุธเสียสิ้นทั้งพวกพล พากันเข้ามานอบนมอ่อนน้อมยอมเปนข้า แล้วนำทัพไปหยุดประทับณที่มีหนองน้ำ พระยากำแพงเพ็ชรจึงให้เงินตราห้าตำลึงเปนรางวัลแก่นายกลม แล้วให้โอวาทสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในยุติธรรมสุจริต.

ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ค่ำ นายกลมจึงคุมไพร่หมื่นหนึ่งนำทัพไปถึงตำบลทับยา หยุดทัพแรมอยู่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงเดินทัพมาถึงนาจอมเทียน แลทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ หยุดทัพแรมแห่งละคืน แล้วเดินทัพมาทางริมชายทเลถึงตำบลหินโขงแลน้ำเก่า เข้าแขวงเมืองระยอง หยุดทัพแรมแห่งละคืนตามรยะทางมา พระยากำแพงเพ็ชรจึงปฤกษากับนายทหารแลรี้พลทั้งปวงว่า กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเปนแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองตระวันออกทั้งปวงให้ได้มาก แล้วจะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเปนราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุกนิ์บำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบมิได้ให้ร่มเย็นเปนศุขานุศข แลจะยอยกพระบวรพุทธสาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด นายทหารแลไพร่พลทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงยกพระยากำแพงเพ็ชรขึ้นเปนเจ้า เรียกว่าเจ้าตากตามนามเดิม แล้วรับพระประสาทอย่างหัวเมืองเอก ขณะนั้นกิติศัพท์เลื่องฦๅไปทุกหัวเมืองว่า เจ้าตากเสด็จยกกองทัพออกมา จะช่วยคุ้มครองป้องกันประชาราษฎรในหัวเมืองตระวันออกทั้งปวงให้พ้นไภยพม่าข้าศึก บรรดาไทยจีนซึ่งเปนนายซ่องนายชุมนุมอยู่ในบ้านในป่าแขวงหัวเมืองทุกตำบลก็พาสมัคพรรคพวกเปนกอง ๆ มาสวามิภักดิ์เปนข้าขอพึ่งพระบารมีเปนอันมาก จึงโปรดตั้งตัวนายเปนที่ขุนนางตำแหน่งพระหลวงขุนหมื่นโดยควรแก่ถานานุรูปตามมีกำลังไพร่พลมากแลน้อย แลรี้พลก็มากมั่งคั่งขึ้น.

ฝ่ายพระระยองบุญเมืองได้แจ้งกิติศัพท์ ก็เกรงกลัวพระเดชานุภาพ พากรมการทั้งปวงออกมาเฝ้ากราบถวายบังคมต้อนรับ กราบทูลถวายเข้าสารเกวียนหนึ่ง แล้วนำเสด็จดำเนินทัพมาถึงท่าประดู่ จึงประทานปืนนกสับคาบศิลาแก่พระระยองบอกหนึ่ง แล้วเสด็จมาประทับแรมอยู่ณวัดลุ่มสองเวน มีพระประสาทสั่งให้นายทัพนายกองจัดแจงเสบียงอาหาร ให้ตั้งค่ายขุดคูล้อมแลปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมสรรพ.

ขณะนั้นนายบุญรอดแขนอ่อน นายหมวก นายบุญมา สามคนเปนน้องภรรยาพระยาจันทบูร เข้ามาถวายตัวเปนข้าขอทำราชการ จึงนำคุยห์รหัศเหตุมากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบความว่า หลวงพลแสนหาญหนึ่ง ขุนรามหนึ่ง ขุนจ่าเมืองด้วงหนึ่ง หมื่นซ่องหนึ่ง เปนกรมการเมืองระยอง กับนายทองอยู่น้อยเมืองชลบุรี คนเหล่านี้คบคิดกันคุมพรรคพวกประมารพันห้าร้อยเศษจะยกเข้ามาประทุษฐร้าย ครั้นได้ทราบก็ทรงพระโกรธ จึงมีพระประสาทให้หาพระระยองมาเฝ้า แล้วตรัศถามว่า ตัวกูมากระทำการทำนุกนิ์บำรุงแผ่นดินทั้งนี้ ด้วยมีการุญจิตรแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั้งปวง หวังจะช่วยคุ้มครองป้องกันปัจจามิตร มิได้คิดจะเบียดเบียนบีฑาผู้ใดให้ได้ความเดือดร้อน แลขุนหมื่นกรมการพรรคพวกของเองคบคิดกันจะประทุษฐร้ายแก่กูผู้มีกรุณาจิตรแก่คนทั้งปวงดังนี้ เองรู้ฤๅไม่ประการใด พระระยองไม่รับ กราบทูลว่ามิได้รู้ จึงทรงพิจารณาดูอากัปกิริยาพระระยอง เห็นสดุ้งสเทือนอยู่ มิได้ทรงเชื่อ จึงมีพระประสาทสั่งหลวงพรหมเสนาให้คุมตัวพระระยองจำไว้ แล้วตรัศให้ทแกล้วทหารทั้งปวงตระเตรียมตัวสรรพด้วยสรรพาวุธ แลผูกช้างม้าเอาปืนใหญ่น้อยจุกช่องจุกทางไว้ให้พร้อม.

ครั้นค่ำลงวันนั้น เพลาประมาณทุ่มเศษ อ้ายเหล่าร้ายยกพลเข้ามาตั้งล้อมค่ายหลวงได้สองด้าน แล้วขับพลโห่ร้องยิงปืนใหญ่น้อยรุกเข้ามาทำทีจะปล้นค่าย จึงตรัศสั่งให้ดับเพลิงเสีย จัดพลทหารประจำน่าที่รักษาค่ายไว้ทั้งรอบ แล้วเสด็จออกจากค่ายกับด้วยนายทหารไทยจีนพร้อมกัน แลนายทหารไทยนั้นคือพระเชียงเงิน พระท้ายน้ำ หลวงพล หลวงชำนาญไพรสณฑ์ หลวงพรหมเสนา นายศรีสงคราม พธำมรงอิ่ม นายบุญมี นายแสง นายนาก นายทองดี ล้วนถือปืนนกสับทุกคน แลทหารจีนนั้นคือหลวงพิพิธ หลวงพิไชย หลวงพรหม ขุนจ่าเมืองเสือร้าย หมื่นท่อง ล้วนถือง้าว เสด็จเที่ยวตรวจตรารอบค่ายดูท่าทางข้าศึกจะเข้ามาแห่งใด แลขุนจ่าเมืองด้วงพาทหารประมาณสามสิบคนลอบไต่สพานข้ามที่วัดเนินเข้ามาใกล้ค่ายหลวงประมาณห้าวาหกวา จึงตรัศสั่งให้ยิงปืนในค่ายพร้อมกัน ต้องขุนจ่าเมืองด้วงกับไพร่พลซึ่งเดิมตามกันข้ามสพานมานั้นตกสพานลงพร้อมกัน ตายบ้างเปนบ้าง จึงตรัศสั่งให้ทหารจีนเข้าไล่ตลุมบอนฟันแทงข้าศึกหักเอาค่ายได้ พวกอ้ายเหล่าร้ายล้มตายแตกหนีไป หมู่ทหารจีนไล่ติดตามไปทางประมาณหกสิบเส้นเจ็ดสิบเส้นเศษ จึงให้ลั่นฆ้องไชยสัญญาเรียกพลทหารให้กลับมาเข้าค่ายข้าศึกพร้อมกัน พวกทหารจุดเพลิงเผาค่ายขึ้น เก็บได้เครื่องสาตราวุธแลสิ่งของต่าง ๆ เปนอันมาก แลเสด็จยับยั้งอยู่บำรุงทแกล้วทหารแลอาณาประชาราษฎรณเมืองระยองประมาณเจ็ดวันแปดวัน จึงตรัศสั่งให้ประชุมนายทัพนายกองไทยจีนปฤกษาว่า เรากระทำการทั้งนี้จะได้คิดวิหิงษาการแก่ผู้ใดนั้นหามิได้ แลปราบปรามพวกศัตรูหมู่ร้ายหวังจะให้บ้านเมืองราบคาบ จะได้เปนประโยชน์แลศุขแก่สมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรทั้งปวง จะได้เปนเกียรติยศสืบไปภายน่า แลเมืองจันทบูรนั้นตั้งแขงอยู่มิได้มาอ่อนน้อมต่อเรา ครั้นจะยกพลโยธาหาญไปตี ก็คงจะพินาศฉิบหายดุจเมืองระยอง แต่เอนดูแก่ประชาชนทั้งหลายจะพลอยได้ความลำบากเดือดร้อน เราจะคิดให้ไปเจรจาเกลี้ยกล่อมโดยยุติธรรม ให้พระยาจันทบูรมาอ่อนน้อมยอมเข้าด้วยเราโดยดี อย่าให้ต้องลำบากแก่รี้พลทแกล้วทหารทั้งปวง จะได้ช่วยกันกู้แผ่นดินแก้แค้นพม่า แลจะเห็นผู้ใดที่มีสติปัญญาอัชฌาไศรยจะไปเจรจาความเมืองเล้าโลมพระยาจันทบูรได้ ขุนนางนายทัพนายกองทั้งปวงจึงกราบทูลพร้อมกันว่า เห็นแต่นายบุญมีมหาดเล็ก กับนายบุญรอด นายบุญมา น้องภรรยาพระยาจันทบูร ทั้งสามคนนี้จะไปเจรจาความเมืองให้สำเร็จราชการได้ จึงตรัศใช้สามนายนั้นไปณเมืองจันทบูรตามคำปฤกษาขุนนางทั้งปวง จึงนายเผือกญวนกับนักมาเขมรทูลรับอาสาพาข้าหลวงสามนายลงเรือไปทางทเล ใช้ใบไปห้าวันถึงปากน้ำเมืองจันทบูร จึงเข้าไปหาพระยาจันทบูร เจรจาความเมืองชักชวนโดยดี พระยาจันทบูรก็มีความยินดี สั่งให้ขุนจางวางต้อนรับเลี้ยงดูข้าหลวงทั้งสามนายโดยปรกติ แล้วยินยอมเข้าด้วย จึงว่าแก่ข้าหลวงว่า งดอิกสิบวัน ข้าพเจ้าจึงจะออกไปรับเสด็จกับทั้งกองทัพเข้ามาในเมือง ครั้นเพลาบ่ายจึงแต่งเรือรบลำหนึ่งมีพลแจวยี่สิบคนสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ พระยาจันทบูรจึงพาข้าหลวงมาลงเรือออกไปส่งณปากน้ำถึงเรือทอดอยู่นั้น แล้วพาข้าหลวงทั้งห้านายขึ้นบนศาลเทพารักษ์ ชวนกันกระทำสัตย์สาบาล แล้วจึงถามพวกข้าหลวงว่า เราได้สาบาลเปนมิตรร่วมชีวิตรกันแล้ว อย่าได้อำพรางกันเลย ซึ่งเจ้าตากให้มาหาเราไปนี้ เหตุผลร้ายดีประการใด จงบอกแก่เราแต่ตามจริงเถิด ข้าหลวงจึงตอบว่า ท่านอย่าคิดแคลงใจเลย อันเจ้าของเรานี้มีน้ำพระไทยตั้งอยู่ในสัตย์สุจริต จะตรัศสิ่งใดจะได้เปนกลอุบายมายาฬ่อลวงแก่ผู้ใดนั้นหามิได้ ถ้าผู้ใดมิได้ประทุษฐร้ายก่อนแล้ว ที่จะทำอันตรายแก่ผู้นั้นมิได้มีเปนอันขาด ท่านจงตั้งภักดีจิตร อย่ได้คิดรังเกียจสงไสยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย พระยาจันทบูรก็มีความยินดี จึงให้แต่งเครื่องเสวยฝากมาถวาย พวกข้าหลวงก็ลงเรือแล่นกลับมาถึงปากน้ำเมืองระยอง เข้าเฝ้านำเอาข้อความซึ่งเจรจากันนั้นขึ้นกราบทูลให้ทราบ.

ครั้นถึงกำหนดสิบวัน พระยาจันทบูรก็มิได้มาตามสัญญา ให้แต่กรมการเอาเข้าเปลือกบรรทุกเรือมาสี่เกวียนนำมาถวายณเมืองระยอง.

อยู่มาสองวันสามวัน จึงหลวงบางลมุงบุญเมืองกับไพร่ยี่สิบคนถือหนังสือพม่าออกมาถึงพระยาจันทบูร ใจความว่า ให้พระยาจันทบูรแต่งดอกไม้ทองเงินเข้าไปณค่ายโพธิ์สามต้น จะส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าอังวะ จึงแวะเข้าจะเฝ้าที่เมืองระยอง แลพระหลวงขุนหมื่นนายทัพนายกองได้แจ้งเหตุนั้น จึงกราบทูล ครั้นได้ทรงทราบก็มิได้ไว้พระไทย ตรัศว่า หลวงบางลมุงเปนพรรคพวกพม่า พม่าใช้มาเปนกลอุบาย มิใช่คนของเราซึ่งได้เคยติดตามใช้สอยมาแต่ก่อน จะไว้ใจให้อยู่ในกองทัพเรามิได้ ด้วยเอาใจออกหากจากกรุงเทพแล้ว แลนายบุญรอดแขนอ่อนจึงกราบทูลว่า จะขอเอาตัวไปประหารชีวิตรเสีย จึงตรัศขอชีวิตรไว้ แล้วให้หาตัวหลวงบางลมุงเข้ามาเฝ้า จึงตรัศประภาศด้วยพระราชธิบายปฤกษาขุนนางทั้งปวงว่า พม่ามาล้อมกรุงเทพครั้งนี้ ผู้ใดจะตั้งจิตรคิดเข้าด้วยพม่านั้นหามิได้ แต่ถึงกาลแล้วก็หากจำเปน อนึ่งหลวงบางลมุงก็มิได้เปนข้าใช้สอยของเรามาแต่ก่อน แต่เห็นว่าพอจะใช้ราชการได้อยู่ ให้เอาตัวไว้ใช้ แลราชการเมืองจันทบูรนั้นก็ยังไม่สำเร็จ เราแจ้งอยู่ว่า หลวงบางลมุงชอบพอกันอยู่กับพระยาจันทบูร เราจะใช้ให้เอาหนังสือพม่านี้ไปให้พระยาจันทบูร ๆ ก็จะมารับเราเข้าไปในเมืองคิดราชการด้วยกันตามคำปฏิญาณสัญญาไว้ แล้วจะได้แจ้งในความสัตย์สุจริตของเราด้วย อนึ่งพม่าซึ่งมาตั้งล้อมกรุงเทพอยู่นั้น ฝ่ายกรุงเทพได้มีหนังสือออกไปถึงองเชียงฉุนญวนซึ่งเปนพระยาราชาเศรษฐีครองเมืองพุทไธมาศ ขอกองทัพแลเสบียงอาหารเข้ามาช่วยกรุง พระยาราชาเศรษฐีญวนก็ได้แต่งกองทัพเรือลำเลียงเข้ามาช่วยถึงปากน้ำเมืองสมุทปราการ พม่าตั้งทัพสกัดอยู่ณเมืองธนบุรี ไปมิถึงกรุง พอสิ้นเสบียงก็กลับไป เห็นว่า ความชอบเมืองพุทไธมาศมีแก่กรุงอยู่ บัดนี้เราจะให้มีศุภอักษรไปถึงพระยาราชาเศรษฐีญวน ให้ยกทัพเรือเข้ามาช่วยกันกับเราไปตีทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองธนบุรี จึงจะเปนความชอบแก่เมืองพุทไธมาศยิ่งขึ้นไป ขุนนางนายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพระราชดำริห์พร้อมกัน จึงให้แต่งศุภอักษรให้พระพิไชยกับนายบุญมีสองนายถือออกไปถึงพระยาราชาเศรษฐีณเมืองพุทไธมาศ กับประทานเสื้ออย่างฝรั่งไปให้ด้วยตัวหนึ่ง ลงเรือแล่นไปทางทเลแต่ในแรมเดือนสี่ ปีจอ อัฐศกนั้น.

ฝ่ายขุนราม หมื่นซ่อง พวกอ้ายเหล่าร้ายซึ่งแตกหนีไปจากเมืองระยองนั้น คุมสมัคพรรคพวกไปตั้งอยู่ณบ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร ให้ไพร่พลลอบเข้ามาลักโคกระบือช้างม้าณกองทัพหลวงซึ่งตั้งอยู่ณเมืองระยองนั้นเนือง ๆ ครั้นได้ทรงทราบจึงตรัศว่า อ้ายเหล่านี้ยังคิดมาประทุษฐร้ายอยู่ จะละมันไว้มิได้ จำจะยกกองทัพไปปราบปรามเสียให้สิ้นเสี้ยนหนาม จึงเสด็จกรีธาทัพจากเมืองระยองไปถึงบ้านประแส บ้านไร่ บ้านตร่ำ เมืองแกลง ซึ่งอ้ายเหล่าร้ายสำนักนิ์อยู่นั้น ให้พลทหารยิงปืนใหญ่น้อยแล้วเข้าโจมตีไล่ตลุมบอนฟันแทง พวกอ้ายเหล่าร้ายก็ตื่นแตกหนีไป แลอ้ายขุนราม หมื่นซ่อง ตัวนายนั้น หนีไปอยู่ด้วยพระยาจันทบูร ๆ รับตัวไว้ จับได้แต่ทหาร คือ นายบุญมีบางเหี้ยหนึ่ง นายแทนหนึ่ง นายมีหนึ่ง นายเมืองพม่าหนึ่ง นายสนหมอหนึ่ง นายบุญมีบุตรนายสนหนึ่ง กับทั้งครอบครัวผู้คนช้างม้าโคกระบือแลเกวียนซึ่งอ้ายเหล่าร้ายลักเอาไปไว้แต่ก่อนเปนอันมาก จึงเสด็จเลิกทัพกลับมาณเมืองระยอง ตั้งบำรุงรี้พลทแกล้วทหารให้มีกำลัง แลเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรซึ่งแตกตื่นออกไปอยู่ป่าดงนั้นได้มาเปนอันมาก ก็เสด็จยั้งทัพคอยท่าพระยาจันทบูรอยู่.

ครั้นถึงณวัน ๑๔ ค่ำ ปีจอ อัฐศก จึงพระพิไชยแลนายบุญมีข้าหลวงก็ไปถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศ จึงนำเอาศุภอักษรกับเสื้ออย่างฝรั่งนั้นขึ้นไปให้พระยาราชาเศรษฐี แลเจรจาตามข้อความในศุภอักษรนั้น พระยาราชาเศรษฐีก็มีความยินดีจึงว่า ฤดูนี้จะเข้าไปยาก ขัดด้วยลมอยู่ จะไปมิทัน ต่อถึงเดือนแปดเดือนเก้า จึงจะยกทัพเรือเข้าไปช่วยราชการ ครั้นถึงณวัน ๑๔ ค่ำ ปีกุญ นพศก จึงให้องไกเรืองทหารจีนนำศุภอักษรตอบกับทั้งบรรณาการลงเรือลำหนึ่งมากับเรือข้าหลวงถึงปากน้ำเมืองระยอง ข้าหลวงทั้งสองนายก็นำองไกเรืองกับทั้งศุภอักษรตอบแลเครื่องบรรณาการขึ้นเฝ้าณค่ายท่าประตูเมืองระยอง กราบทูลถวายศุภอักษรแลเครื่องบรรณาการทั้งปวง จึงประทานสิ่งของตอบแทนไปแก่พระยาราชาเศรษฐีโดยสมควร แล้วองไกเรืองก็ทูลลากลับไปยังเมืองพุทไธมาศ.

ขณะนั้นได้ข่าวมาว่า นายทองอยู่น้อยซ่องสุมผู้คนอยู่ณเมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริตหยาบช้า ข่มเหงอาณาประชาราษฎรผู้หาที่พึ่งมิได้ แลผู้ใดซึ่งมีใจภักดีจะออกมาพึ่งพระบารมีก็มามิได้ นายทองอยู่เปนเสี้ยนหนามคอยสกัดตัดทางสัญจรฅนทั้งปวงไว้มิให้ไปมาโดยสดวก จึงมีพระประสาทสั่งให้ชุมนุมขุนนางนายทัพนายกองเข้าเฝ้าพร้อมกัน แล้วตรัศปฤกษาว่า เราคิดการครั้งนี้สู้เสียสละชีวิตร เพราะคิดกรุณาประชาราษฎรซึ่งหาที่พำนักบมิได้ แลแผ่นดินจะไม่เกิดจลาจลเปนศุขสมบูรณ์เปนที่ตั้งพระพุทธสาสนาได้นั้น เพราะปราศจากหลักตอเสี้ยนหนาม คือ คนอาสัจอาธรรม ควรเราจะไปสั่งสอนทรมานนายทองอยู่น้อยให้ละพยดอันร้าย ตั้งอยู่ในคลองธรรมสุจริตราบคาบก่อน สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะได้อยู่เย็นเปนศุข ขุนนางนายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบตามกระแสพระราชดำริห์พร้อมกัน จึงเสด็จดำเนินทัพกลับมายังแขวงเมืองชลบุรี ตั้งประทับอยู่ณบ้านหนองมน ให้ทหารไปสอดแนมดูได้เนื้อความว่า นายทองอยู่เตรียมพลจะคอยต่อรบ จึงเสด็จยาตราทัพเข้าไปหยุดประทับณวัดหลวงใกล้เมืองชลทางประมาณร้อยเส้น จึงตรัศใช้นายบุญรอดแขนอ่อนกับนายชื่นบ้านท่าไข่ซึ่งเปนมิตรสหายกับนายทองอยู่ให้เข้าไปเจรจาเกลี้ยกล่อมโดยดี นายทองอยู่ก็อ่อนน้อมยอมเข้าด้วยมิได้ขัดแขง นายบุญรอด นายชื่น จึงพานายทองอยู่ออกมาเฝ้าณวัดหลวง ขอสวามิภักดิกระทำความสัตย์สาบาลถวาย แล้วเชิญเสด็จเข้าไปณเมืองชล ประทับอยู่ณเก๋งจีนแห่งหนึ่ง จึงเสด็จทรงช้างที่นั่ง นายบุญมีมหาดเล็กเปนควาญท้าย นายทองอยู่ก็นำเสด็จไปเลียบเมือง ทอดพระเนตรเมืองชลบุรีทั่วแล้ว ก็เสด็จกลับยังที่ประทับ นายทองอยู่จึงพาขุนหมื่นกรมการทั้งปวงมาถวายบังคมพร้อมกัน จึงโปรดตั้งนายทองอยู่น้อยเปนพระยาอนุราฐบุรีศรีมหาสมุทครองเมืองชล แลตั้งขุนหมื่นกรมการครบที่ตามตำแหน่งถานานุศักดิ์ แล้วประทานรางวัลแก่พระยาอนุราฐ กระบี่บั้งเงินเล่มหนึ่ง เสื้อเข้มขาบดอกใหญ่พื้นแดงดุมทองเก้าดุมตัวหนึ่ง เข็มขัดประดับพลอยสายหนึ่ง แล้วโปรดประทานโอวาทสั่งสอนว่า แต่ก่อนท่านประพฤติการอาธรรมทุจริต ตั้งแต่นี้จงละเสียอย่าได้กระทำสืบต่อไป จงตั้งใจประพฤติกุศลสุจริตธรรมให้สมควรแก่ถานาศักดิ์แห่งท่าน พึงอุสาหทำนุกนิ์บำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรโดยยุติธรรม แล้วประทานเงินตราสองชั่งไว้สำหรับใช้สงเคราะห์สมณพราหมณาประชาชนผู้ยากไร้ขัดสนด้วยเข้าปลาอาหาร แล้วตรัศสั่งพระยาอนุราฐว่า ถ้าผู้ใดจงใจจะมาอยู่ในสำนักนิ์ท่าน ๆ จงโอบอ้อมอารีเลี้ยงดูไว้อย่าได้เบียดเบียนบีฑา ถ้าผู้ใดมีใจสวามิภักดิสมัคจะตามเราออกไป ท่านอย่าได้มีใจอิสสา จงกรุณาอย่าขัดขวาง ช่วยส่งผู้นั้นออกไปให้ถึงสำนักนิ์เราโดยสดวก อย่าให้เปนเหตุการสิ่งใดได้ แลท่านจงบำรุงพระพุทธสาสนา อนุเคราะห์แก่อาณาประชาราษฎรให้ทำมาหากินอยู่ตามภูมิลำเนา อย่าให้มีโจรผู้ร้ายเบียดเบียนแก่กันได้ แล้วประทานเงินตราแก่สัปเหร่อให้ขนทรากอาศพอันอดอาหารตายทิ้งเรื่ยรายอยู่นั้นเผาเสียให้สิ้น แล้วประทานบังสกุลทานแลแจกเงินตราอาหารกแก่ยาจกวรรณิพกณเมืองชลบุรีนั้นเปนอันมาก แล้วทรงอุทิศแผ่ผลกุศลไปแก่คนตายทั้งหลายอันไปสู่ปรโลก เพื่อจะให้เปนปัจจัยแก่พระโพธิญาณ แล้วเสด็จดำเนินทัพกลับมายังเมืองระยอง.

ฝ่ายพระยาจันทบูรซึ่งได้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะมารับเสด็จเข้าเมืองนั้น ก็มิได้มาตามสัญญา เพราะเหตุขุนราม หมื่นซ่อง ยุยงว่ากล่าวให้ต่อรบ จึงให้ตกแต่งป้อมค่ายประตูหอรบ เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นตั้งรายไว้รอบเมือง ตระเตรียมการพร้อมแล้ว จึงแสร้งคิดอุบายแต่งให้พระสงฆ์สี่รูปให้มาเชิญเสด็จเข้าไปณเมืองจันทบูร แล้วจึงจะกุมเอาพระองค์ แลพระสงฆ์สี่รูปมามิทันเสด็จไปเมืองชลบุรี จึงยั้งท่าอยู่ณเมืองระยอง ครั้นเสด็จกลับมาถึงเพลาเช้า จึงเข้าไปถวายพระพรตามคำพระยาจันทบูรสั่งมานั้น จึงทรงพระดำริห์ด้วยวิจารณญาณ ก็ทราบว่าเปนกลอุบาย เพื่อกรรมนิยมจะให้เมืองจันทบูรถึงพินาศฉิบหาย จึงพรรเอิญเปนไปตามเหตุ ก็ทรงนิ่งมัทยัดอยู่ มิได้ตรัศตอบประการใด ครั้นพระสงฆ์ออกไปแล้ว จึงตรัศปฤกษานายทัพนายกองทั้งปวงว่า ซึ่งพระยาจันทบูรให้พระสงฆ์มารับเรานี้ ใครจะเห็นร้ายดีประการใด นายทัพนายกองทั้งปวงปฤกษาพร้อมกันกราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงเห็นว่าพระยาจันทบูรจะคิดประทุษฐร้ายเปนแท้ จึงตรัศว่า เมื่อเหตุเปนดังนี้ ชอบจะไปฤๅอย่าไปประการใด นายทัพนายกองกราบทูลว่า ควรจะเสด็จไป จะได้ประโยชน์สองประการ คือ แม้นมาทว่าพระยาจันทบูรเสียสัตย์จะคิดประทุษฐร้าย ก็จะได้ทรมานให้เสียพยดอันร้าย ถ้าพระยาจันทบูรคงอยู่ในสัตย์ ก็จะได้ประทานโอวาทสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในยุติธรรมสุจริต ช่วยทำนุกนิ์บำรุงแผ่นดินสืบไปภายน่า ครั้นรุ่งขึ้นอิกวันหนึ่ง จึงเสด็จยกกองทัพออกจากเมืองระยอง ให้พระสงฆ์สี่รูปนำเสด็จไป ประทับร้อนแรมโดยระยะทางห้าวันถึงตำบลบางกระจะหัวแหวน จึงดำเนินทัพไปใกล้เมืองจันทบูร.

ฝ่ายพระยาจันทบูรจึงให้หลวงปลัดกับขุนหมื่นกรมการออกมานำทัพ คิดเปนกลอุบายจะให้กองทัพเลี้ยวไปข้างทางใต้เมือง จะให้ข้ามน้ำฟากตระวันออก แล้วจะยกพลทหารออกโจมตีในเมื่อข้ามน้ำ ครั้นทรงทราบจึงให้นายบุญมีมหาดเล็กขึ้นม้าควบไปห้ามกองน่ามิให้ไปตามทางหลวงปลัดนำนั้น ให้กลับมาตามทางฝ่ายขวาตรงจะเข้าประตูท่าช้าง เสด็จหยุดประทับพลตำบลวัดแก้วริมเมืองจันทบูร ให้พลทหารตั้งกองล้อมรอบวัดแก้วซึ่งเสด็จประทับอยู่นั้น แลพระยาจันทบูรก็ให้พลทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินรองเมือง จึงใช้ขุนพรหมธิบาล กับพระธำมรงพอน นายลิ่ม นายแก้วแขก นายแม้แขก ออกมาต้อนรับเชิญเสด็จเข้าเมือง จึงตรัศว่า ซึ่งพระยาจันทบูรเปนผู้น้อย ควรจะออกมากระทำสัมมาคารวะแก่เราอันเปนผู้ใหญ่ก่อนจึงจะชอบ แลซึ่งจะให้เราผู้ใหญ่เข้าไปหาผู้น้อยก่อนนั้นมิบังควร เรายังไม่เข้าไปก่อน จงไปบอกให้พระยาจันทบูรออกมาหาเรา เราจะได้แจ้งเนื้อความซึ่งข้องในใจเรา ด้วยขุนราม หมื่นซ่อง อันเปนศัตรูของเราเข้าไปอยู่ด้วยพระยาจันทบูร จะทำให้เราทั้งสองผิดหมองน้ำใจกัน แม้นพระยาจันทบูรจะมิออกมาหาเราก็ดี ส่งตัวขุนราม หมื่นซ่อง ออกมากระทำสัตย์ต่อเรา แล้วเราก็จะเข้าไปในเมือง ด้วยสิ้นความรังเกียจแก่กัน แลเรามีจิตรรักใคร่เอนดูพระยาจันทบูรดุจน้องร่วมอุธรเดียวกัน อย่าให้พระยาจันทบูรมีความรังเกียจเราเลย เพราะเหตุพระยาจันทบูรกับเราหามีข้อขัดเคืองสิ่งใดกันไม่ แล้วประทานรางวัลแก่ขุนพรหมธิบาลโดยสมควร แลขุนพรหมธิบาลกับผู้มีชื่อทั้งนั้นก็บังคมลากลับเข้าไปแจ้งความแก่พระยาจันทบูรตามข้อรับสั่ง พระยาจันทบูรจึงใช้ให้ธำมรงพอนกับคนมีชื่อทั้งนั้นกลับนำเอาเครื่องเสวยออกมาถวาย แล้วให้พระสงฆ์สี่รูปซึ่งนำเสด็จมานั้นออกมาถวายพระพรว่า พระยาจันทบูรให้เชิญเสด็จเข้าไปในเมือง จึงตรัศว่า ในเมืองจันทบูรไม่มีคฤหัสถ์ใช้แล้วฤๅ จึงใช้แต่สมณดังนี้ แล้วตรัศแก่พระสงฆ์ว่า ความเรื่องนี้โยมก็ได้สั่งไปแก่ขุนพรหมธิบาลแล้ว นิมนต์ผู้เปนเจ้าจงไปบอกแก่พระยาจันทบูรว่า อ้ายขุนราม หมื่นซ่อง มันยุยงพระยาจันทบูร ๆ หนุ่มแก่ความ จะฟังถ้อยคำอ้ายเหล่านี้ ก็จะเสียทีที่รักเอนดูกัน ถ้าพระยาจันทบูรตั้งอยู่ในสัตย์ จะเปนมิตรไมตรีกัน ก็จงส่งขุนราม หมื่นซ่อง ออกมาทำสัตย์ต่อโยมเถิด พระสงฆ์ก็ถวายพระพรลากลับเข้าไปแจ้งข้อรับสั่งแก่พระยาจันทบูร พระยาจันทบูรจึงใช้หลวงปลัดออกมากราบทูลว่า ซึ่งพระยาจันทบูรจะไม่ตั้งอยู่ในสัตย์สวามิภักดินั้นหามิได้ จะใคร่ส่งตัวขุนราม หมื่นซ่อง ออกมาถวายอยู่ แต่คนทั้งสองนั้นกลัวพระราชอาชญาด้วยตัวเปนคนผิด จะออกมาเฝ้ามิได้ จึงตรัศว่า พระยาจันทบูรมิได้ตั้งอยู่ในสัตย์ ไม่ยอมเปนไมตรีด้วยเราแล้ว เห็นว่า ขุนราม หมื่นซ่อง จะป้องกันเมืองไว้ได้ ก็ให้ตกแต่งบ้านเมืองให้มั่นคงเถิด เราคงจะตีเอาให้จงได้ แล้วตรัศสั่งนายทัพนายกองทแกล้วทหารทั้งปวงให้หุงอาหารกินพร้อมแล้ว เหลือนั้นให้สาดเสียเทเสียจงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้เร่งเข้าตีเอาเมืองจันทบูรให้จงได้ เข้าไปกินเข้าเข้าเอาในเมือง แม้นมิได้เมือง ก็จงตายเสียให้พร้อมกันทีเดียวเถิด ครั้นค่ำลงเพลาประมาณสามยาม จึงตรัศสั่งให้ยกทัพบ่ายหน้าต่อทิศอิสาณเข้าตีเมืองจันทบูร จัดพลทหารไทยจีนลอบเข้าไปประจำด้านอยู่ทุกด้าน กำหนดเวลาเมื่อจะเข้าอย่าให้โห่ร้องขึ้นก่อน ต่อเข้าเมืองได้แล้วจึงให้โห่ขึ้นพร้อมกัน จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งตั้งขนานนามพังคิรีบัญชรขับเข้าทำลายประตูเมือง พลชาวเมืองซึ่งรักษาประตูแลป้อมเชิงเทินนั้นก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกมาดังห่าฝน ด้วยเดชะพระบารมี กระสุนปืนหาถูกต้องรี้พลผู้ใดไม่ ควาญท้ายจึงเกี่ยวช้างพระที่นั่งให้ถอยออกมา ก็ทรงพระพิโรธ[1] เงื้อพระแสดงดาบขึ้นจะฟันควาญท้าย ควาญท้ายร้องทูลขอชีวิตร จึงทรงกฤชแทงช้างพระที่นั่งขับเข้าทำลายประตูเมืองพังลง ทหารน่าช้างเข้าไปในเมืองได้แล้วโห่ร้องขึ้นพร้อมกันตามสัญญา แลพวกพลชาวเมืองซึ่งรักษาน่าที่อยู่นั้นก็ตื่นแตกหนีออกจากเมือง พระยาจันทบูรก็พาบุตรภรรยาหนีออกจากเมือง ลงเรือแล่นไปณเมืองพุทไธมาศ พวกพลไทยจีนเข้าไปจับได้ครอบครัวแลได้ทรัพย์สินของทองเงินปืนใหญ่น้อยแลเครื่องสาตราวุธต่าง ๆ เปนอันมาก ก็เสด็จยับยั้งอยู่ในเมืองจันทบูร.

ฝ่ายหลวงนายศักดิ์เปนเชื้อแขกออกไปราชการณเมืองจันทบูรแต่ก่อนทัพพม่ายังไม่มาล้อมกรุงเทพมหานครนั้น ยังค้างอยู่ในเมือง จึงมาเฝ้าถวายตัวเปนข้าทำราชการสืบไป ก็โปรดเลี้ยงไว้ด้วยเปนข้าราชการเก่ารู้ขนบธรรมเนียม จะได้ปฤกษาราชกิจการงานทั้งปวง แล้วจึงตั้งที่ถานันดรตำแหน่งผู้ใหญ่แลผู้น้อยแก่ผู้มีความชอบตามสมควรแก่คุณานุรูปถ้วยทุกนาย[2] แล้วโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลสิ่งของทองเงินต่าง ๆ แจกทั่วกันแล้ว จึงเสด็จดำเนินทัพจากเมืองจันทบูรโดยทางสถลมารค[3] ออกไปเมืองตราด ดำรัศ[4] ให้พระรามพิไชยกับหลวงราชรินเปนแม่กองทัพเรือ เรือประมาณห้าสิบลำ ยกไปทางทเล ขณะเมื่อเสด็จยาตรา[5] ทัพบกยกไปครั้งนั้น ด้วยเดชะพระบารมี บันดาลฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืนตามระยะทางไปจนบรรลุถึงเมืองตราด เกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเปนศุข แล้วได้ทราบข่าวว่า สำเภาจีนลูกค้ามาทอดอยู่ณท้องทเลน่าปากน้ำเมืองตราดเปนหลายลำ จึงให้ข้าหลวงไปหาตัวนายสำเภาเข้ามาโดยดี แลนายสำเภาขัดแขงไม่มา กลับต่อรบยิงเอาเรือข้าหลวง ข้าหลวงกลับเข้ามากราบทูล ก็ทรงพระพิโรธ[6] จึงเสด็จลงเรือใหญ่ยกกองทัพเรือออกไปล้อมไว้คืนหนึ่ง พวกจีนนายสำเภายังไม่อ่อนน้อม ครั้นเพลารุ่งเช้าจึงตรัศสั่งนายทัพนายกองให้ยกเข้าตีสำเภา พวกจีนต่อรบยิงปืนโต้ตอบกันอยู่ประมาณกึ่งวัน พลข้าหลวงปีนขึ้นสำเภาได้ ไล่ฆ่าฟันจีนบนสำเภาตายเปนหลายคน พวกจีนลูกค้าก็พ่ายแพ้ เก็บได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินแลผ้าแพรเปนอันมาก แลจีนเจี้ยมผู้เปนใหญ่นายสำเภาทั้งปวงก็อ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ นำเอาบุตรหญิง[7] คนหนึ่งมาถวาย ในวันนั้นก็เสด็จกลับมาณเมืองจันทบูรโดยทางทเล ตั้งยับยั้งอยู่ต่อเรือรบณเมืองจันทบูรประมาณสามเดือน ได้เรือร้อยลำเศษ.

ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร เมื่อกองทัพพม่ายกกลับไปแล้ว จึงพระนายกองผู้อยู่รักษากรุงก็ใช้ผู้คนไปเที่ยวค้นหาพระเจ้าแผ่นดินทุกแห่งทุกตำบล จึงไปพบที่สุมทุมไม้ใกล้บ้านจิก อดอาหารมิได้เสวยถึงสิบเอ็จสิบสองวัน คนทั้งนั้นจึงหามพระองค์มาลงเรือรับขึ้นไปณค่ายโพธิ์สามต้น พอถึงก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ แลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์อยู่ในราชสมบัติเก้าปีก็เสียพระนคร รวมสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน[8] ซึ่งเสวยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานั้น ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองเปนประถม[9] แรกสร้างกรุงเทพมหานครนั้น ตราบเท่าถึงสมเด็จ[10] พระเจ้าอยู่หัว[11] ที่นั่งสุริยามรินทร์เปนพระองค์ที่สุด[12] เสียกรุงเทพมหานครศรีอยุธยานั้น นับกระษัตริย์ได้สามสิบสี่พระองค์ด้วยกัน แลอายุพระนครตั้งแต่แรกสถาปนาในศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก ตราบเท่าจนเสียในศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญ นพศกนั้น คิดอายุพระนครได้สี่ร้อยสิบเจ็ดปีโดยกำหนด.

ฝ่ายพระนายกองจึงให้เชิญพระศพไปฝังณโคกพระเมรุที่ถวายพระเพลิงในพระนครนั้น ต่อจัดแจงการบ้านเมืองราบคาบแล้วจึงจะคิดการถวายพระเพลิง.

ขณะนั้นแต่บรรดาประชาชนทั้งหลายซึ่งหนีพม่าเหลืออยู่นั้นต่าง ๆ คุมสมัคพรรคพวกครอบครัวอยู่เปนพวกเปนเหล่า ผู้ใดที่มีฝีมือเข้มแขงก็ตั้งตัวเปนนายชุมนุมซ่องสุมคุ้มครองผู้คนครอบครัวเปนอันมากตั้งชุมนุมอยู่แห่งหนึ่ง แต่ชุมนุมตั้งอยู่ดังนี้มีในจังหวัดแขวงกรุงแลแขวงหัวเมืองแลสวนแลหัวเมืองอื่นฝ่ายเหนือใต้เปนอันมากหลายแห่งหลายตำบล ขัดสนด้วยเข้าปลาอาหารแลเกลือไม่มีจะกิน ต่าง ๆ รบพุ่งชิงอาหารกัน ชุมนุมนี้ยกไปตีชุมนุมนั้น ชุมนุมนั้นไปตีชุมนุมโน้นต่อ ๆ กันไป ที่นายชุมนุมไหนเข้มแขงก็มีไชยชำนะ แลเกิดฆ่าฟันกันเปนจลาจลไปทั่วทั้งแผ่นดินในเขตรแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัลปแลทุพภิกขันดรกัลป แลพระราชวงษานุวงษ์[13] ซึ่งเหลืออยู่ พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ณค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง แลเจ้าฟ้าสุริยา ๑ เจ้าฟ้าพินทวดี ๑ เจ้าฟ้าจันทวดี ๑ พระองค์เจ้าฟักทอง ๑ ทั้ง ๔ พระองค์นี้เปนราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ แลเจ้ามิตร บุตรีกรมพระราชวัง ๑ หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร ๑ หม่อมเจ้ามณี บุตรีกรมหมื่นเสพภักดี ๑ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจีด ๑ เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกองณค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิม บุตรีสมเด็จพระไอยกานั้น พวกข้าไทยพาหนีออกไปณเมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้ แลเจ้าจุ้ย เจ้าศรีสังข์ บุตรกรมพระราชวังนั้น หนีออกไปอยู่เมืองพุทไธมาศ อนึ่งขุนนางข้าราชการซึ่งเหลืออยู่นั้น ที่ตกอยู่กับพระนายกองก็มีบ้าง ที่หนีไปอยู่หัวเมืองเหนือใต้ต่าง ๆ ก็มีบ้าง แลนายสุจินดา มหาดเล็กนั้น หนีออกไปสำนักนิ์อยู่ณเมืองชลบุรี ครั้นรู้ข่าวว่าเจ้าตากออกไปตั้งอยู่ณเมืองจันทบูร จึงพาพรรคพวกบ่าวไพร่เดินบกออกไปเข้าพึ่งอยู่ด้วยเจ้าตาก เจ้าตากก็รับไว้ชุบเลี้ยงตั้งเปนพระมหามนตรี เพราะ[14] รู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนกรุงยังไม่เสียนั้น.

ในขณะนั้นหัวเมืองตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นอิกหลายตำบล คือ เจ้าพระยาพิศณุโลกเรืองก็ตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นอิกตำบลหนึ่ง แลพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี นามเดิมชื่อมหาเรือน ชาติภูมิเปนชาวเหนือ แต่ลงมาเล่าเรียนพระไตรปิฎกณกรุง ได้เปนที่พระพากุลเถรราชาคณะอยู่ณวัดศรีโยทธยา ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งขึ้นไปเปนที่พระสังฆราชาณเมืองสวางคบุรีแต่ครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง แลมีสมัคพรรคพวกผู้คนนับถือมาก ครั้นรู้ว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้ว จึงซ่องสุมผู้คนเข้าด้วยเปนหลายเมือง ตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าอิกตำบลหนึ่ง แต่หาสึกออกเปนคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่าเจ้าพระฝาง บรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพระพิศณุโลกขึ้นไปก็กลัวเกรงนับถืออยู่ในอำนาจทั้งสิ้น แลเมืองเหนือครั้งนั้นมีเจ้าขึ้นสองแห่ง แบ่งแผ่นดินออกเปนสองส่วน ตั้งแต่เมืองพระพิศณุโลกลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์กับแควปากน้ำโพนั้นเปนอาณาเขตรข้างเจ้าพระพิศณุโลก ตั้งแต่เหนือเมืองพระพิศณุโลกขึ้นไปจนถึงเมืองปาดกระทั่งแดนลาวกับแควแม่น้ำปากพิงนั้นเปนอาณาเขตรข้างเจ้าพระฝาง เจ้าพระฝางตั้งแต่งนายทัพนายกองแต่พื้นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คือ พระครูคิริมานนท์ ๑ พระครูเพชรรัตน ๑ พระอาจารย์จัน ๑ พระอาจารย์ทอง ๑ พระอาจารย์เกิด ๑ แต่ล้วนเปนอลัชชีมิได้ลอายแก่บาปทั้งนั้น แล้วจัดแจงกองทัพยกลงมาตีเมืองพระพิศณุโลก ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากน้ำ แลเจ้าพิศณุโลกยกพลทหารออกต่อรบเปนสามารถ ทัพฝางจะหักเอาเมืองมิได้ แต่รบกันอยู่ประมาณหกเดือน ทัพฝางก็พากันเลิกกลับไปเมือง.

ฝ่ายแผ่นดินข้างปาก[15] ใต้ก็มีเจ้าขึ้นอิกตำบลหนึ่ง คือ เมื่อครั้งกรุงยังไม่เสียนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาราชสุภาวดีออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้หลวงนายสิทธิ์ออกไปเปนพระปลัด แลเจ้าพระยานครศรีธรรมราชนั้นถูกอุทธรณ์ต้องถอดกลับเข้ามาณกรุง จึงโปรดให้พระปลัดว่าราชการเมืองอยู่ ภายหลังยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองไม่ ครั้นพระปลัดรู้ข่าวว่า กรุงเทพมหานครเสียแก่พม่า หาพระเจ้าแผ่นดินมิได้แล้ว จึงตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าครองเมืองนครศรีธรรมราช คนทั้งหลายเรียกว่าเจ้านคร มีอาณาเขตรแผ่ไปฝ่ายข้างนอกถึงแดนเมืองแขก ข้างในถึงเมืองชุมพร เมืองปทิว แบ่งแผ่นดินออกไปอิกส่วนหนึ่ง แลราษฎรทั้งหลายในหัวเมืองปากใต้ฝ่ายตระวันตกก็นับถืออยู่ในอำนาจเจ้านครทั้งสิ้น แล้วตั้งแต่งขุนนางตามตำแหน่งเหมือนในกรุงเทพมหานครนั้น.

ฝ่ายเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธ กับพระยารัตนาธิเบศ แลขุนนางซึ่งหนีออกไปจากกรุงเปนหลายนาย พาสมัคพรรคพวกไพร่พลครอบครัวหนีพม่าไปแต่เมืองปราจิณ ขึ้นทางด่านช่องเรือ แตกไปณเมืองนครราชสิมาแต่ครั้งกรุงยังไม่เสียนั้น ไปตั้งอยู่ณด่านโคกพระยา พอพระยารัตนาธิเบศป่วยลงถึงแก่กรรม กรมหมื่นเทพพิพิธก็กระทำการ[16] ปลงศพในที่นั้น.

ฝ่ายพระพิมลสงคราม เจ้าเมืองนครนายก กับหลวงนรินทร์ พาไพร่พลแลครอบครัวชายหญิงประมาณสามร้อยหนีพม่าไปทางเขาพนมโยงขึ้นไปเมืองนครราชสิมา ไปตั้งอยู่ณด่านบ้านจันทึก แลพระยานครราชสิมาเปนอริกันอยู่แต่ก่อน จึงใช้ทหารให้ลงมาลวงฆ่าพระพิมลสงครามกับหลวงนรินทร์เสีย กวาดต้อนผู้คนครอบครัวเข้าไปไว้ในเมืองสิ้น.

ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้หลวงมหาพิไชยแลนายทองคำนำเอาหมวกฝรั่ง ๑ เสื้อกระบวนจีน ๑ ผ้าเกี้ยวลายสองผืน ไปประทานพระยานครราชสิมา ครั้นอยู่ประมาณสองสามวัน จึ่งหลวงพล กรมการ ออกมาเฝ้ากราบทูลว่า พระยานครราชสิมาเกณฑ์เขมรสี่ร้อย จะให้ออกมาจับพระองค์ส่งลงไปณกรุงเทพมหานคร กรมหมื่นเทพพิพิธตกพระไทย คิดการจะหนี แลหม่อมเจ้าประยงค์ผู้บุตรไม่เห็นด้วย ก็ทูลห้ามไว้ แล้วทูลขอเงินตราห้าชั่งกับผ้าน้ำกิ่งสิบพับ นำเอาไปเที่ยวแจกพันนายบ้านสิบสองตำบล เกลี้ยกล่อมคนพวกชาวบ้านมาเข้าด้วยได้คนสี่ร้อยห้าสิบเศษ ครั้นถึงณวัน ๑๔ ฯ  ๑๐ ค่ำ ปีจอ อัฐศก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้หม่อมเจ้าประยงค์กับหลวงมหาพิไชย หลวงปราบ คุมไพร่สามสิบเศษกับพวกชาวบ้านซึ่งเข้าด้วยนั้นยกลอบเข้าไปซุ่มอยู่ในเมือง พอรุ่งขึ้นเปนวันพระ สิบห้าค่ำ พระยานครราชสิมาไม่ทันรู้ตัว จะออกมาทำบุญที่วัดกลาง ก็ยกกรูกันเข้าไปล้อมจวน จับตัวพระยานครราชสิมาได้ ก็ฆ่าเสีย แต่หลวงแพ่งผู้น้องพระยานครราชสิมานั้นโดดขึ้นม้าหนีออกจากเมืองทัน หาจับตัวได้ไม่ หม่อมเจ้าประยงค์ให้ยิงปืนใหญ่ขึ้นเปนฤกษ์ แล้วเกณฑ์ให้คนออกมารับเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธเข้าไปในเมือง ประทับอยู่ที่จวน อยู่ประมาณห้าวันหลวงแพ่งไปชักชวนพระพิมายซึ่งเปนเมืองขึ้นแก่เมืองนครราชสิมายกกองทัพเข้ามาล้อมเมืองนครราชสิมาเข้าไว้ กรมหมื่นเทพพิพิธให้เกณฑ์คนชาวเมืองขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทิน ได้คนน้อยเพราะชาวเมืองไม่เต็มใจ หนีไปเสียมาก ผู้ซึ่งขึ้นอยู่รักษา[17] น่าที่กำแพงนั้นเบาบางนัก ต่อรบต้านทานอยู่ได้สี่วัน พวกกองทัพพระพิมาย หลวงแพ่ง ก็ปีนเข้าเมืองได้ข้างด้านป้อมวัดพายัพ จับได้ตัวหม่อมเจ้าประยงค์ เจ้าดารา เจ้าธารา บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ กับพระพิไชยราชา หลวงมหาพิไชย แลขุนหมื่นนายหมวดนายกอง ฆ่าเสียเปนหลายคน แลบุตรเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธที่เปนชายนั้นยังเหลืออยู่แต่หม่อมเจ้าที่น้อย ๆ กับหม่อมเจ้าหญิง แลนายแก่น พวกหลวงแพ่ง ได้หม่อมเจ้าอุบลไปเปนภรรยา นายย่นได้หม่อมเสน ห้ามกรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเปนภรรยา หลวงแพ่งจะให้ประหารชีวิตรกรมหมื่นเสีย พระพิมายขอชีวิตรไว้ จึงเชิญเสด็จไปอยู่ณเมืองพิมาย หลวงแพ่งก็ได้เปนเจ้าเมืองนครราชสิมา แลพระพิมายนั้นรักใคร่นับถือกรมหมื่นเทพพิพิธว่าเปนวงษ์ราชตระกูล[18] ช่วยทำนุบำรุงไว้ ครั้นรู้ข่าวว่า กรุงเสียแก่พม่าแล้ว พม่ากวาดเอาพระราชวงษานุวงษ์[19] ไปสิ้น จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดินสืบพระวงษ์พระเจ้าแผ่นดิน[20] ต่อไป เรียกว่าเจ้าพิมาย เจ้าพิมายจึงตั้งพระพิมายเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ผู้สำเร็จราชการ ตั้งนายสา บุตรผู้ใหญ่ เปนพระยามหามนตรี ตั้งบุตรผู้น้อยเปนพระยาวรวงษาธิราช เรียกว่าพระยาน้อย.

ในขณะเมื่อกรุงเสียแล้วนั้น พวกข้าราชการแลเชื้อวงษ์ผู้ดีณกรุงหนีขึ้นไปอยู่กับพระเจ้าพิมายเปนอันมาก จึงโปรดตั้งให้เปนขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่คุณานุรูป แต่ยังหาครบตามตำแหน่งไม่ แลเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์จึงคิดกับบุตรทั้งสองว่า จะจับหลวงแพ่ง เจ้าเมืองนครราชสิมา มาฆ่าเสียให้สิ้นหนาม ขณะนั้นหลวงแบ่งทำบุญ ให้มีลคร เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์กับพระยาทั้งสองผู้บุตรรู้ จึงพาทหารซึ่งมีฝีมือสิบคนกับไพร่พลห้าร้อยยกจากเมืองพิมายมาณเมืองนครราชสิมา ฝ่ายหลวงแพ่งไม่ทันรู้ตัวว่าเขาคิดร้าย ไว้ใจอยู่ว่าเปนมิตรกัน แลพระยาทั้งสามก็เข้านั่งดูลครด้วยกันกับหลวงแพ่ง ครั้นได้ที เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ก็ฟันหลวงแพ่ง พระยามหามนตรีฟันนายแก่น พระยาวรวงษาธิราชฟันนายย่น ตายทั้งสามคน พวกทหารเมืองพิมายก็ฆ่าฟันทหารเมืองนครราชสิมาตายเปนอันมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์จึงให้พระยาวรวงษาธิราชตั้งอยู่ณบ้านจ่อหอรักษาเมืองนครราชสิมา แล้วเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์แลพระยามหามนตรีก็กลับไปยังเมืองพิมาย ตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คน บำรุงอาณาประชาราษฎรแลทแกล้วทหารให้มีกำลังสมบุญบริบูรณ์ แลอาณาเขตรเมืองพิมายก็แบ่งออกเปนส่วนหนึ่ง ตั้งแต่แขวงหัวเมืองตระวันออกฝ่ายดอนไปกระทั่งถึงแดนกรุงศรีสัตนาคนหุตแลกรุงกัมพูชา ฝ่ายใต้ลงมาถึงเมืองสระบุรีตลอดลำน้ำแควป่าสัก แลแผ่นดินครั้งนั้นแบ่งออกเปนหลายส่วนหลายเจ้า ข้างฝ่ายเหนือก็เปนสองส่วน คือ เมืองพระพิศณุโลกส่วนหนึ่ง เมืองสวางคบุรีส่วนหนึ่ง ข้างฝ่ายใต้ก็เปนสองส่วน คือ เมืองจันทบูรฝั่งทเลฟากตระวันออกส่วนหนึ่ง เมืองนครศรีธรรมราชฝั่งทเลฟากตระวันตกส่วนหนึ่ง ข้างฝ่ายดอนด้านตระวันออกนั้น คือ เมืองพิมายส่วนหนึ่ง แลแผ่นดินส่วนกลางเปนของพระนายกองโพธิ์สามต้นส่วนหนึ่ง เปนหกแดนหกเจ้าด้วยกัน.

ในขณะนั้นฝ่ายเจ้าตากซึ่งตั้งอยู่ณเมืองจันทบูรต่อเรือรบสำเร็จ ได้ทราบข่าวว่า กรุงเทพมหานครเสียแก่พม่าแล้ว สมณพราหมณาจารย์แลราชตระกูลสูรย[21] วงษาเสนาอำมาตย์ประชาราษฎรถึงซึ่งพินาศฉิบหายพม่ากวาดเอาไปเปนอันมาก ที่เหลืออยู่ก็ได้ความทุกขลำบากอดอาหารล้มตายแลฆ่าฟันกันทุกแห่งทุกตำบล เพราะ[22] หาพระเจ้าแผ่นดินมิได้ พม่าตั้งพระนายกองไว้รั้งกรุงเทพมหานคร บรรดาหัวเมืองทั้งปวงก็คิดกำเริบก่อเกิดอหังการตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นเปนหลายเมือง แผ่นดินแบ่งออกเปนหลายส่วน เกิดจลาจลรบพุ่งกันเปนหลายพวก แลสมณพราหมณ์ไพร่ฟ้าประชากรได้ความเดือดร้อน[23] หาที่พึ่งมิได้ ทรงพระดำริห์จะปราบยุคเข็ญซึ่งเปนจลาจลให้สงบราบคาบแลจะก่อกู้กรุงเทพมหานครให้คืนคงเปนราชธานีมีพระราชอาณาเขตรปกแผ่ไปเปนแผ่นดินเดียวทั่วจังหวัดแว่นแคว้นแดนสยามประเทศเหมือนดังเก่า จึงดำรัศสั่งนายทัพนายกองทั้งปวงให้ตรวจเตรียมเรือรบครบด้วยพลโยธาสรรพาวุธปืนใหญ่น้อยแลเรือลำเลียงเสบียงอาหารให้พร้อมเสร็จ แล้วตั้งข้าหลวงเดิมผู้มีความชอบอยู่ครองเมืองจันทบูรแลเมืองระยองทั้งสองหัวเมืองนั้น.

ครั้นถึงณเดือนสิบเอ็จ ในปีกุญ นพศกนั้น จึงเสด็จยาตรา[24] พลทัพเรือร้อยลำเศษ พลทหารประมาณห้าพันยกจากเมืองจันทบูรมาทางทเล ได้ทราบข่าวว่า พระยาอนุราฐ เจ้าเมืองชล กับหลวงพล ขุนอินเชียง มิได้ละพยดอันร้าย กลับกระทำโจรกรรมออกตีชิงสำเภาแลเรือลูกค้าวานิชเหมือนแต่ก่อน มิได้ตั้งอยู่ในธรรโมวาทซึ่งมีพระประสาทสั่งสอนนั้น จึงให้หยุดทัพเรือนเข้าประทับณเมืองชลบุรี แล้วให้หาพระยาอนุราฐลงมาเฝ้าณเรือพระที่นั่ง ตรัศถามก็รับเปนสัตย์ จึงสั่งให้ขุนนางนายทหารไทยจีนจับพระยาอนุราฐประหารชีวิตรเสีย แลพระยาอนุราฐคงกระพันในตัว แทงฟันหาเข้าไม่ เพราะ[25] ด้วยสดือเปนทองแดง จึงให้พันธนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทเล ก็ถึงแก่กรรม แล้วให้จับหลวงพลแลขุนอินเชียงซึ่งร่วมคิดกระทำโจรกรรมด้วยกันนั้นประหารชีวิตรเสีย จึงตั้งผู้มีความชอบเปนเจ้าเมืองกรมการขึ้นใหม่ให้อยู่รักษาเมืองชลบุรี แล้วก็เสด็จยกพลทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเมืองสมุทปราการถึงเมืองธนบุรี.

ฝ่ายเจ้าทองอินซึ่งพม่าตั้งไว้ให้รักษาเมืองธนนั้นก็พาพวกพลออกต่อรบประมาณครู่หนึ่งก็แตกพ่าย พลข้าหลวงจับตัวได้ก็ฆ่าเสีย แลกรมการทั้งนั้นก็หนีไปในเพลากลางคืนขึ้นไปณค่ายโพธิ์สามต้นแจ้งความแก่สุกี้พระนายกอง พระนายกองจึงจัดพลทหารไทยมอญให้มองญาเปนนายทัพยกทัพเรือมาตั้งรับอยู่ณพเนียด ในเพลากลางคืนวันนั้นเรือรบพระยากระลาโหมซึ่งบรรทุกกระสุนดินดำมานั้นล่มลง จึงให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนพระยากระลาโหมแลขุนนางฝ่ายทหารเปนหลายคน แล้วตรัศสั่งให้เร่งรีบยกทัพเรือขึ้นไปณกรุงในเพลากลางคืน แลมองญา นายทัพโพธิ์สามต้นนั้น รู้ข่าวว่าทัพหลวงยกขึ้นมาถึงกรุงเทพแล้ว ก็เกรงกลัวพระเดชานุภาพ มิได้ตั้งอยู่สู้รบ ก็ถอยหนีไปณค่ายโพธิ์สามต้น.

ครั้นรุ่งเช้าเปนวันเดือนสิบสอง ข้างขึ้น เพลาสามโมงเศษ ให้พลทหารยกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นฟากตระวันออกแตก จึงตรัศสั่งให้ทำบันไดจะพาดเข้าปีนค่ายใหญ่ฟากตระวันตกซึ่งมีกำแพงที่พระนายกองอยู่นั้น แลกองพระยาพิพิธ พระยาพิไชย ทัพจีน เปนกองน่ายกเข้าตั้งค่ายประชิดณวัดกลางห่างค่ายใหญ่ประมาณเจ็ดเส้นแปดเส้น ครั้นรุ่งขึ้นอิกวันหนึ่งจึ่งดำรัศให้ทัพจีนกองน่ายกเข้าตีค่ายพระนายกอง พระนายกองก็คุมพลทหารออกต่อรบ รบกันตั้งแต่เช้าจนเพลาเที่ยง พวกพระนายกองพ่ายหนีเข้าค่าย ทัพจีนไล่ติดตามเข้าไปในค่าย พระนายกองสู้รบอยู่จนตัวตายในค่ายนั้น พวกพลทัพจีนไล่ฆ่าฟันพลทหารพระนายกองล้มตายในค่ายนั้นเปนอันมาก ที่เหลืออยู่ก็แตกหนีไปจากค่าย แต่มองญานั้นพาพรรคพวกทหารของตัวหนีขึ้นไปณเมืองนครราชสิมา ไปเข้าด้วยพระยาวรวงษาธิราชซึ่งตั้งอยู่ณด่านจ่อหอนั้น.

ฝ่ายเจ้าตากครั้นตีได้ค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว จึงเสด็จด้วยพลโยธาทหารแห่เข้าไปในค่าย ประทับอยู่ณจวนพระนายกอง จึงพระยาธิเบศบดี ขุนนางเก่าในกรุงเทพมหานครซึ่งตกอยู่ณค่ายโพธิ์สามต้นนั้นมากราบถวายบังคมต้อนรับ จึงตรัศสั่งมิให้พลทหารกระทำอันตรายแก่ผู้คนครอบครัวทั้งปวงอันอยู่ในค่าย แลได้ทรงเห็นราชตระกูล[26] แลข้าราชการเก่าในกรุงซึ่งได้ความทุกขทุรพลลำบาก ก็ทรงพระกรุณาสังเวช จึงพระราช[27] ทานทรัพย์แลสิ่งของต่าง ๆ แก่พวกขุนนางเก่ากับทั้งพระราชวงษานุวงษ์[28] ทั้งนั้น แล้วเสด็จเข้ามาตั้งพลับพลาประทับอยู่ในพระนคร ให้ไปขุดพระศพพระเจ้าแผ่นดินซึ่งพระนายกองฝังไว้นั้น กระทำพระโกษฐตามสังเขปใส่พระศพ แลให้ทำพระเมรุหุ้มด้วยผ้าขาว แล้วเชิญพระบรมโกษฐตั้งที่ในพระเมรุ ตั้งเครื่องบูชาสักการพอสมควร ให้เที่ยวนิมนต์พระสงฆ์ซึ่งเหลืออยู่บ้างนั้นมาสดัปกรณ์ ทรงถวายไทยทานตามสมควร แล้วก็ถวายพระเพลิง.

ครั้นปลงพระศพเสร็จแล้ว จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งไปเที่ยวประพาศทอดพระเนตรทั่วพระนครแลในพระราชวัง เห็นปราสาทแลตำหนักใหญ่น้อยที่ข้างน่าข้างในแลอาวาศบ้านเรือนทั้งปวงในกรุงนั้นเพลิงไหม้เสียบ้าง ยังดีอยู่บ้าง ก็ทรงพระสังเวช ดำริห์จะกระทำปฏิสังขรณ์บำรุงขึ้นให้ปรกติดีดังแต่ก่อน แล้วจะรวบรวมไพร่ฟ้าประชากรแลสมณพราหมณาจารย์เข้ามาอยู่ในพระนครตามเดิม จะเสด็จเข้าตั้งดำรงราชอาณาจักรสืบกระษัตริย์ครอบครองรักษาแผ่นดินต่อไป จะก่อกู้กรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาซึ่งถึงกาลประไลยแล้วนั้นให้กลับคืนคงเปนราชธานีดังเก่า ก็เสด็จเข้าประทับแรมอยู่ณพระที่นั่งทรงปืนที่เสด็จออก บรรธมอยู่คืนหนึ่งจึงทรงพระสุบินนิมิตรว่า พระมหากระษัตริย์แต่ก่อนมาขับไล่เสียมิให้อยู่ ครั้นรุ่งเช้าจึงตรัศเล่าพระสุบินให้ขุนนางทั้งปวงฟังแล้วจึงดำรัศว่า เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเปนป่า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด แล้วตรัศสั่งให้เลิกกองทัพกวาดต้อนราษฎรแลสมณพราหณาจารย์ทั้งปวงกับทั้งโบราณขัติยวงษ์ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น ก็เสด็จกลับลงมาตั้งอยู่ณเมืองธนบุรี แลให้ไปเที่ยวสืบหาพวกพระญาติพระวงษ์ของพระองค์ซึ่งพลัดพรากกันไป ไปได้มาแต่เมืองลพบุรี รับลงมาณเมืองธนบุรี แล้วให้ปลูกสร้างพระราชวังแลพระตำหนักข้างน่าข้างในใหญ่น้อยทั้งปวงสำเร็จบริบูรณ์.


  1. ที่มีเส้นขีดใต้บันทัดนั้น คือ ที่เปนลายพระราชหัดถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้.
    เดิมว่า โกรธ
  2. คน
  3. เดิมว่า บกยก
  4. เดิมไม่มี
  5. เดิมว่า กรีธา
  6. เดิมว่า โกรธ
  7. เดิมว่า บุตรี
  8. เดิมว่า สิริกระษัตริย์
  9. ประถมกระษัตริย์
  10. เดิมไม่มี
  11. เดิมว่า เปนปัจฉิมกระษัตริย์
  12. เดิมว่า ขัติยราชวงษ์
  13. เดิมว่า เหตุ
  14. เดิมว่า ปักษ์
  15. เดิมว่า ฌาปนกิจ
  16. เดิมไม่มี
  17. เดิมว่า กระษัตริย์
  18. เดิมว่า ขัติยราชวงษ์
  19. กระษัตริย์
  20. เดิมว่า ขัติย
  21. เหตุ
  22. เดือดร้อนนาถา
  23. เดิมว่า กรีธา
  24. เหตุ
  25. เดิมว่า ขัติยวงษา
  26. ประทาน
  27. ขัติยวงษา