พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 3/ภาคผนวก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเปนปฐมในพระบรมราชวงษ์พระองค์นี้มีพระนามปรากฎต่อมาในภายหลังว่า พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรีบรมนารถ นเรศวรราชวิวัฒนวงษ์ ปฐมพงษาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ประสูตรณวันพุฒ เดือนสี่ แรมห้าค่ำ ปีมโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๐๙๘ ณกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา มีนิวาศฐานอยู่ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพ็ชร์ ครั้นปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๑๙ พระชนมายุครบ ๒๑ ปี เสด็จออกทรงพระผนวชเปนภิกษุอยู่วัดมหาทลายพรรษา ๑ แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเปนมหาดเล็กหลวงในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓ ซึ่งปรากฎพระนามเรียกเปนสามัญว่าขุนหลวงดอกมะเดื่อนั้น ครั้นต่อมาพระองค์ได้วิวาหมงคลกับธิดาในตระกูลเศรษฐีที่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทสงคราม อยู่ต่อพรมแดนเมืองราชบุรี จึงเสด็จออกไปรับราชการอยู่ในเมืองราชบุรี ได้เปนตำแหน่งหลวงยกรบัตรเมื่อพระชนมพรรษา ๒๕ ปี.
ครั้นเมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว เจ้าตาก (สิน) ตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเปนราชธานี จึงเสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีเมื่อปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ พระชนม์ได้ ๓๒ พรรษา ได้เปนตำแหน่งที่พระราชรินทร์ในกรมพระตำรวจ ได้รับราชการเปนกำลังของเจ้ากรุงธนบุรีทำการศึกสงครามต่อมา คือ ครั้งที่ ๑ ในปีชวด สัมฤทธิศกนั้น ได้เสด็จมาคุมกองทัพกอง ๑ ไปตีด่านขุนทด แขวงเมืองนครราชสีมา ซึ่งเจ้าพิมายให้พระยาวรวงษาธิราชมาตั้งรับทัพกรุงธนบุรีอยู่ ตีด่านขุนทดแตกแล้ว ยกตามพระยาวรวงษาธิราชลงไป ตีได้เมืองนครเสียมราฐอิกเมือง ๑ เมื่อเสร็จศึกเมืองนครราชสีมาครั้งนั้น ได้เลื่อนตำแหน่งยศเปนพระยาอไภยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ โดยความชอบ ครั้งที่ ๒ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ ได้เปนแม่ทัพเสด็จไปตีเมืองเขมร ตีได้เมืองพระตะบองแลเมืองนครเสียมราฐแล้ว กำลังทำการศึกค้างอยู่ พอได้ข่าวเล่าลือว่าเจ้ากรุงธนบุรีทิวงคต จึงยกกองทัพกลับมา ครั้งที่ ๓ ปีขาน โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ โดยเสด็จเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบปรามเจ้าพระฝาง มีไชยชนะ ได้เลื่อนตำแหน่งยศเปนพระยายมราช ว่าที่สมุหนายก เมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ครั้งที่ ๔ ปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓ พระชนมพรรษา ๓๕ พรรษา ได้เลื่อนตำแหน่งยศเปนเจ้าพระยาจักรี เปนแม่ทัพยกลงไปตีเมืองเขมรพร้อมกับเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเสด็จไปทางทเล ตีได้เมืองบันทายเพ็ชรแลเมืองบาพนม ครั้งที่ ๕ ปีมเมีย จุลศักราช ๑๑๓๖ เปนแม่ทัพน่าของเจ้ากรุงธนบุรียกไปตีเมืองนครเชียงใหม่ ตีได้เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน แล้วเสด็จอยู่จัดการบ้านเมือง ได้เมืองน่านมาเปนข้าขอบขัณฑเสมาอิกเมือง ๑ ครั้งที่ ๖ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองราชบุรี ในปีนั้นเสด็จยกกองทัพจากเมืองนครเชียงใหม่ลงมาช่วยทัพหลวง รบพม่าได้ไชยชนะ ครั้งที่ ๗ ปีมแม สับตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ พม่ายกมาตีเมืองนครเชียงใหม่ เสด็จเปนแม่ทัพยกขึ้นไปช่วย แต่พม่าทราบข่าวถอยทัพไปเสียก่อน หาได้รบไม่ พออะแซวุ่นกี้ยกทัพพม่าเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ จึงเสด็จลงมาตั้งรับกองทัพอะแซวุ่นกี้ที่เมืองพิศณุโลก นับเปนครั้งที่ ๘ ศึกพม่าครั้งนั้นเปนศึกใหญ่ ยกมาหลายทัพหลายทาง ตั้งล้อมเมืองพิศณุโลกไว้ทุกด้าน แต่กองทัพไทยต่อรบป้องกันเมืองเปนสามารถ พม่าเข้าตีหักเอาหลายครั้งก็ไม่ได้เมืองพิศณุโลก จนอะแซวุ่นกี้ แม่ทัพพม่า ขอดูพระองค์ แลสรเสริญพระปรีชาสามารถที่ทรงต่อรบรักษาเมืองในครั้งนั้น ต่อมาพม่าตั้งล้อมเมืองพิศณุโลกไว้ แลคอยตัดลำเลียงจากกองทัพหลวงมิให้ส่งเสบียงเข้าไปในเมืองพิศณุโลกได้ แต่รักษาเมืองมาถึง ๓ เดือนเศษจนเสบียงอาหารในเมืองหมดลง ผู้คนอดอยากระส่ำระสาย จึงจำเปนต้องทิ้งเมืองพิศณุโลก ตีหักค่ายพม่าออกไปได้ทางด้านตวันตก ไปชุมนุมทัพอยู่ที่เมืองเพ็ชร์บูรณ์ ครั้งที่ ๙ ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ เสด็จเปนแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองลาวตวันออก ได้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองสีทันดร เมืองอัตปือ แลได้เมืองเขมรป่าดงหลายเมือง คือ เมืองตลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังข เมืองขุขัน เปนต้น ได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก พิฦกมหิมา ทุกนคราระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงษ์ องค์บาทมุลิกากร บวรรัตนปรินายก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ในปีรกา นพศก จุลศักราช ๑๑๓๙ พระชนม์ได้ ๔๑ พรรษา ครั้งที่ ๑๐ เมื่อปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๔๐ เสด็จเปนแม่ทัพยกไปตีเมืองล้านช้าง ตีได้เมืองเวียงจันทน์แลเมืองขึ้น แลได้เมืองหลวงพระบางมาเปนข้าขอบขัณฑเสมาด้วย ในครั้งนี้ได้ทรงเชิญพระพุทธปฏิมาแก้วมรกฎแลพระบางลงมากรุงธนบุรี ครั้งที่ ๑๑ เสด็จเปนแม่ทัพออกไปปราบปรามจลาจลในเมืองเขมร ทำการยังไม่ทันตลอด พอได้ทรงทราบข่าวว่า เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี ด้วยเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระสติ กระทำการกดขี่สมณะแลข้าราชการอาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนร้ายแรง ราชการผันแปรป่วนปั่นไปทั้งพระนคร ก็เสด็จยกกองทัพกลับจากเมืองเขมรเข้ามาถึงกรุงธนบุรีเมื่อณวันเสาร์ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ ปีขาน จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปี มุขมนตรีแลประชาราษฎรเปนอันมากพร้อมกันกราบทูลอัญเชิญพระองค์ให้เสด็จดำรงศิริราชสมบัติ ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเศกเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือนแปด ขึ้นสี่ค่ำ ปีขาน จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีนั้นพระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา.
ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ทรงพระอุสาหะครอบครองแผ่นดินโดยขัติยานุวัตร ต่อสู้ข้าศึกซึ่งบังอาจมาย่ำยีให้ปราไชยพ่ายแพ้ไปทุกครั้ง ทั้งปราบปรามศัตรูหมู่ร้ายทั้งภายในแลภายนอกราบคาบ แผ่พระราชอาณาจักรกว้างขวางยิ่งกว่าแผ่นดินใด ๆ ในครั้งกรุงเก่าแต่ก่อนมา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาแลประชาชนทั่วพระราชอาณาจักรเปนอเนกประการ ดังข้อความพิศดารที่ได้กล่าวมาในพระราชพงษาวดารนี้.
๑เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ข้าหลวงเดิม ได้เปนที่พระอักขระสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทยครั้งกรุงธนบุรี ได้ตามเสด็จการสงครามมีความชอบหลายครั้ง แลได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมา มิได้มีความผิด โปรดให้เปนที่สมุหนายกเมื่อปราบดาภิเศก อสัญญกรรมในรัชกาลที่ ๑.
๑เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) บุตรพระยากระลาโหมคลองแกลบกรุงเก่า ได้เปนพระยาเพ็ชร์บูรณ์ครั้งกรุงธนบุรี ได้ตามเสด็จการสงครามมีความชอบด้วยกล้าหาญในการศึก โปรดให้เปนสมุหพระกระลาโหมเมื่อปราบดาภิเศก อสัญญกรรมในกลางศึกที่เมืองทวายในรัชกาลที่ ๑.
๒เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) เปนข้าหลวงเดิมรับราชการมาในพระองค์ เปนกำลังช่วยกรมพระราชวังหลังปราบปรามจลาจลในกรุงธนบุรีมีความชอบ ได้เปนพระยาพลเทพเมื่อปราบดาภิเศก แล้วจึงเลื่อนเปนที่สมุหพระกระลาโหม แล้วเลื่อนเปนเจ้าพระยาอไภยราชา ผู้กำกับราชการ อสัญญกรรมในรัชกาลที่ ๒.
๓เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก) เปนบุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า เปนสามีเจ้าคุณนวน ขนิษฐภคินีกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ รับราชการมาในพระองค์ ได้ตามเสด็จการสงครามหลายครั้งมีความชอบ ได้เปนพระยาอุไทยธรรมเมื่อปราบดาภิเศก แล้วเปนพระยายมราช แล้วจึงเปนที่สมุหพระกระลาโหม อสัญญกรรมในรัชกาลที่ ๑.
๑เจ้าพระยาพระคลัง (สน) เปนพระยาพิพัฒน์โกษาครั้งกรุงธนบุรี ได้เปนเจ้าพระยาพระคลังเมื่อก่อนปราบดาภิเศก อยู่มาสติปัญญาฟั่นเฟือนไป ลงไปสำเภาหลวงข้ามสันดอน มีใบบอกเข้ามาขอศีศะสุกรแลบายศรี รับสั่งว่า เลอะเทอะหนักแล้ว โปรดให้ถอดเสีย ภายหลังได้เปนพระยาศรีอรรคราช ช่วยราชการในกรมท่า.
๒เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเปนหลวงสรวิชิต มีความชอบที่ไ้ดนำข้อราชการไปกราบทูลถึงด่านพระจารึก ได้เปนพระยาพระคลังเมื่อปราบดาภิเศก ภายหลังได้เลื่อนเปนเจ้าพระยาพระคลัง เปนจินตกระวี แต่งหนังสือหลายเรื่อง อสัญญกรรมในรัชกาลที่ ๑.
๓พระยาพระคลัง (กุน) เปนพระราชประสิทธิ์ครั้งกรุงธนบุรี ได้เปนพระยาศรีพิพัฒน์เมื่อปราบดาภิเศก แล้วจึงเลื่อนเปนพระยาพระคลัง ท่านผู้นี้ว่าเปนเศรษฐีค้าสำเภา เปนที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒.
๑พระยายมราช ชื่อไม่ปรากฎ ครั้งกรุงธนบุรีเปนหลวงอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เปนผู้รู้ขนบธรรมเนียมกรมพระนครบาลมาก มีความชอบเมื่อตามเสด็จในการสงคราม ได้เปนพระยายมราชเมื่อปราบดาภิเศก ครั้นเมื่อศึกพม่าครั้งที่ ๑ ได้เปนแม่ทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี ไม่เอาใจใส่ราชการสงคราม มีความผิด ถูกถอด ภายหลังได้เปนพระยามหาธิราช ช่วยราชการในกรมพระนครบาล.
๒พระยายมราช (บุนนาก) คือ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก)⟨.⟩
๓พระยายมราช (บุญมา) บุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า เปนพี่ต่างมารดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก) เดิมรับราชการในพระองค์ ได้เปนพระยาตะเกิงเมื่อปราบดาภิเศก แล้วจึงได้เลื่อนเปนพระยายมราช เปนที่สมุหพระกระลาโหมในรัชกาลที่ ๒.
๑เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) เชื้อพราหมณ์พฤฒิบาศ เปนบุตรพระยามณเฑียรบาลกรุงเก่า เปนพระยาธรรมาธิกรณ์ครั้งกรุงธนบุรี เปนผู้คุ้นเคยรักใคร่ในพระองค์ แลได้มีความชอบเมื่อตามเสด็จการสงคราม แลรู้แบบแผนการกรมวังมาก จะย้ายไปกรมอื่นไม่ได้ จึงได้เลื่อนเปนเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เมื่อปราบดาภิเศก ครั้นเมื่อศึกพม่าครั้งที่ ๑ เปนแม่ทัพออกไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี ไม่เอาใจใส่ในราชการ มีความผิด ถูกถอด ภายหลังได้เปนพระยาศรีธรรมาธิราช ช่วยราชการในกรมวัง ในรัชกาลที่ ๒ เลื่อนเปนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อสัญญกรรมในรัชกาลที่ ๒.
๒พระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) รับราชการในพระองค์ ได้เปนจมื่นศรีสรรักษ์เมื่อปราบดาภิเศก แล้วเลื่อนเปนพระยาพิพัฒน์โกษา แล้วจึงได้เปนพระยาธรรมาธิกรณ์ อสัญญกรรมในรัชกาลที่ ๑.
๓พระยาธรรมาธิกรณ์ (สด) เปนข้าหลวงเดิมในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เปนพระยามณเฑียรบาลเมื่ออุปราชาภิเศก แล้วจึงเลื่อนเปนพระยาธรรมาธิกรณ์ อสัญญกรรมในรัชกาลที่ ๒.
๑พระยาพลเทพ (ปิ่น) คือ เจ้าพระยามหาเสนาที่เลื่อนเปนเจ้าพระยาอไภยราชา.
๒เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) เดิมอยู่บ้านแม่ลา กรุงเก่า ต้นคิดตีกรุงธนบุรี ได้เปนเจ้าพระยาไชยวิชิต ผู้รักษากรุงเก่า เมื่อปราบดาภิเษกแล้วเลื่อนเปนเจ้าพระยาพลเทพ เปนโทษต้องประหารชีวิตในรัชกาลที่ ๒.
๏ตำแหน่งเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑ อรรคมหาเสนาธิบดีมหาดไทยแลกระลาโหมเปนเจ้าพระยา แต่เสนาบดีตำแหน่งจตุสดมภ์เมือง, วัง, คลัง, นา, นั้น ในหนังสือครั้งรัชกาลที่ ๑ ที่ได้พบเห็น ปรากฎเปนแต่พระยาโดยมาก ที่ได้พบหลักฐานแน่นอนว่าเปนเจ้าพระยานั้น คือ เจ้าพระยาธรรมดา (บุญรอด) ๑ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ๑ เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) ๑ นอกจากนั้นยังไม่พบหลักฐานนอกจากที่กล่าวในพงษาวดารซึ่งเรียบเรียงขึ้นภายหลัง.