คำนำ
ว่าด้วยตำนานหนังสือพระราชพงษาวดาร

หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขานี้ เนื้อความบริบูรณ์กว่าฉบับอื่น ๆ ต้นฉบับที่หอพระสมุดวชิรญาณได้มาเปนฉบับหลวง มีพระราชหัดถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขไว้บ้าง พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้บ้างในที่หลายแห่ง กรรมการหอพระสมุดจึงเห็นควรเรียกว่า "พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา" เพื่อมิให้พ้องกับหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่น.

หนังสือพระราชพงษาวดารที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยมากมาแต่ก่อน คือ หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับ ๒ เล่มสมุดฝรั่ง ที่หมอบรัดเลลงพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๒๕ แลโรงพิมพ์อื่น ๆ ได้พิมพ์ต่อมาอิกหลายครั้ง เข้าใจกันมาแต่ก่อนว่า หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับ ๒ เล่มนั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่งขึ้น (ด้วยอาไศรยเก็บข้อความจากหนังสือเรื่อง ๑ ซึ่งสมเด็จพระวันรัตนได้แต่งไว้เปนภาษามคธ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า มหายุทธการ ตอน ๑ จุลยุทธการ ตอน ๑) จึงเรียกหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่มนั้นว่า พระราชพงษาวดาร ฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ผู้ศึกษาพงษาวดารได้อาไศรยแต่หนังสือฉบับ ๒ เล่มนั้นเปนตำราจนแทบเข้าใจกันทั่วไปว่า หนังสือพระราชพงษาวดารกรุงเก่ามีแต่ฉบับนั้นฉบับเดียว.

ความรู้เรื่องหนังสือพระราชพงษาวดารพึ่งมากว้างขวางออกไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดหอพระสมุดวชิรญาณเปนหอสมุดสำหรับพระนครเมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ แลต่อมาได้ทรงตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ กรรมการหอพระสมุดพยายามหาหนังสือเก่ามารวบรวมไว้ในหอพระสมุดได้มาก แลผู้ที่เปนสมาชิกในโบราณคดีสโมสรหลายคนได้ช่วยกันตรวจสอบหนังสือพระราชพงษาวดารที่หอพระสมุดรวบรวมไว้ ถ้ามีข้อสงไสย ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ หารือ แลได้รับพระราชทานกระแสพระบรมราชวินิจฉัยมาเนือง ๆ จนที่สุดได้รับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องหนังสือพระราชพงษาวดารในเวลาก่อนพระองค์เสด็จสวรรคตเพียง ๒ เดือนเศษ ดังแจ้งอยู่ในสำเนาพระราชหัดถเลขาที่พิมพ์ไว้ต่อไปนี้.

ที่ ๙๙/๗๗๓
สวนดุสิต
วันที่ ๘ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
 

ถึง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ

ได้รับหนังสือลงวันที่ ๕ เดือนนี้ว่า หอพระสมุดได้หนังสือพงษาวดารแปลกอิก ๒ ฉบับ เปนฉบับเขียนเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ แลฉบับทรงชำระในจุลศักราช ๑๑๕๗ ความเดียวกันกับฉบับพิมพ์ แต่ฉบับเขียนเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ ถ้อยคำขาด ๆ เกิน ๆ ครุคระ ผิดกับฉบับพิมพ์ ได้คัดเทียบไว้ตอนหนึ่ง ส่งต้นหนังสือพระราชพงษาวดาร ๒ เล่มกับที่ได้คัดเทียบความไว้มาให้ดู เธอตีความไม่ออกว่า ฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ จะเปนหนังสือกรุงเก่าแผ่นดินใดหรือหนังสือกรุงธนบุรีแต่ง ได้ลองพิจารณาดูความในหนังสือพงษาวดาร ฉบับพิมพ์เล่ม ๒ หาหัวต่อยังไม่ได้นั้น ทราบแล้ว.

พงษาวดารว่ากันด้วยฉบับพิมพ์ เห็นว่า มีอยู่ ๕ ฝีปาก

ตอนแรกจะเปนคัดจากจดหมายท้ายปูม (ตอนที่ ๒) ขึ้นหัวต่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง ตอนนี้เข้าใจว่า ได้แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช หลักที่จะแต่งได้มาจากไหน คือ จดหมายรายวันทัพ อย่างเช่น จดหมายรายวันทัพครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งฉันได้คัดลงไว้ในพระราชวิจารณ์บางตอนนั้น.

ตอนที่ ๓ เริ่มตั้งแต่แผ่นดินพระนารายน์ลงมาจนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ เข้าใจว่า จะแต่งโดยรับสั่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ แต่ในระยะนั้นไม่มีจดหมายรายวันทัพ จึงคัดลงไป เช่นกับได้ผูกสำนวนคำให้การอีแก่น ก็คัดลงไปทั้งดุ้นเลื้อยเจื้อย เพราะเก็บข้อความไม่เปนเสียแล้ว.

ตอนที่ ๔ ข้อความตั้งแต่ในแผ่นดินพระบรมโกษท่อนปลายมาจนเสียกรุง อาจที่จะเปนพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้จดหมายขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ ข้อความจึงแตกกันอยู่เปน ๒ แปลง.

ตอนที่ ๕ เปนตอนซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงเก็บตามรายวันทัพนั้นเอง ซึ่งมีสมุดรายวันอาจจะสอบกับพงษาวดารได้ว่า ท่านเก็บอย่างไร ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้.

ข้อซึ่งหนังสือ ๒ เล่มอ้างว่า ทรงชำระเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ แล ๑๑๕๗ ฉันเห็นว่า จะเปนแต่ชำระตรวจสอบถ้อยคำแลดัดแปลงสำนวนบ้าง ไม่ใช่แต่งหรือเก็บความขึ้นร้อยกรองใหม่ เคยสังเกตใจว่า สำนวนพงษาวดารนั้นแบ่งเปนตอน ๆ เช่นนี้ ได้ส่งสมุดดำทั้ง ๒ เล่มนั้นคืนออกมาด้วย.

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจพระบรมราชาธิบายในพระราชหัดถเลขานี้ชัดเจน จำจะต้องเล่าแม้โดยย่อพอให้ทราบก่อนว่า หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับต่าง ๆ ที่หอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมไว้ได้มีต่างกันอย่างไรบ้าง.

หนังสือพระราชพงษาวดารที่กรรมการหอพระสมุดหาต้นฉบับได้ในรัชกาลที่ ๕ มีอยู่ ๕ ความ คือ.

(๑) หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ข้างต้นมีบานแพนกว่า "ศุภมัสดุ ๑๐๔๒ ศก วอกนักษัตร ณวันพุฒ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้น ให้คัดเข้าด้วยกันเปนแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้" ดังนี้ คือว่า หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้สมเด็จพระนารายน์มหาราชมีรับสั่งให้แต่งขึ้น ต้นฉบับที่หอพระสมุดได้มาจะเขียนในครั้งกรุงเก่าหรือเมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทรไม่แน่ ได้มาแต่เล่ม ๑ เล่มเดียว ความขึ้นต้นแต่สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าพแนงเชิงเมื่อปีชวด จุลศักราช ๖๘๖ แลสร้างกรุงศรีอยุทธยาเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๑๒ มาจนปีมโรง จุลศักราช ๙๖๖ ปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร หมดเล่ม ๑ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้ความกล่าวย่อ ๆ เข้าใจว่า จะมีเล่ม ๒ อิกเล่มเดียว หรืออย่างมากก็ไม่เต็ม ๓ เล่มจบ.

(๒) หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ (คือ ต้นฉบับที่ได้มาเขียนเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทรได้ปี ๑) ฉบับนี้ความพิศดารอย่างฉบับที่พิมพ์เปน ๒ เล่ม แต่จะขึ้นต้นที่ไหน ลงท้ายที่ไหน แลกี่เล่มจบ ทราบไม่ได้ เพราะหาต้นฉบับได้แต่ ๒ เล่ม รู้ได้ว่า ความหนึ่งต่างหาก ที่สำนวนผิดกับฉบับอื่น ๆ

(๓) หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๕๗ มีบานแพนกว่า "ศุภมัสดุ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก สมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัวผ่านถวัลยราชกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาเถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงษาวดาร" ดังนี้ เข้าใจได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงชำระหนังสือพระราชพงษาวดารในปีนั้น แลในต้นฉบับเขียนบอกในที่บางแห่งว่า ตรงนั้นทรงแทรกเข้าใหม่ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้ได้ต้นฉบับเขียนครั้งรัชกาลที่ ๑ ไว้เพียง ๓ เล่ม มีฉบับจำลองอิก ๔ เล่ม รวม ๗ เล่ม คงจะเริ่มความแต่เมื่อสร้างกรุงศรีอยุทธยา แต่จะจบเพียงไร แลจะเปนสมุดไทยกี่เล่ม ยังทราบไม่ได้.

(๔) หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับเมืองเพ็ชรบุรี (คือ ได้ต้นฉบับมาจากเมืองเพ็ชรบุรี) ฉบับ ๑ ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) จานลงใบลานผูกไว้เปนคัมภีร์ฉบับ ๑ ทั้ง ๒ ฉบับนี้เทียบโวหารดู ความตรงกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่มที่ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่ง แต่ไม่มีพระราชพงษาวดารสังเขปเรื่องนายแสนปม แลพระราชพงษาวดารย่อข้างต้น เรื่องพระราชพงษาวดารสังเขปที่พิมพ์ไว้ข้างต้นฉบับ ๒ เล่มนั้น ตามฉบับที่มีในหอพระสมุดมีบานแพนกข้างต้นว่า "ศุภมัสดุ จุลศักราช ๑๒๐๒ ปีจอ โทศก ค่ำ พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออกณพระที่นั่งอำมรินทรวินิจฉัย มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอรณพมาเผดียงกรมหมื่นนุชิตชิโนรสวัดพระเชตุพนให้เรียบเรียงพระราชพงษาวดารลำดับกระษัตริย์กรุงเก่าแต่โดยสังเขปทูลเกล้าฯ ถวาย" ดังนี้ เปนอันเข้าใจได้ว่า เปนหนังสือซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงเรียบเรียงขึ้นทีหลังเปนเรื่อง ๑ ต่างหาก หมอบรัดเลเห็นจะได้ฉบับมาพร้อมกับพระราชพงษาวดารความพิศดาร จึงพิมพ์ตอนสังเขปลงไว้ข้างน่า ส่วนพระราชพงษาวดารย่อต่อตอนสังเขปนั้นก็คงเปนเรื่อง ๑ ต่างหากเหมือนกัน บางทีกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จะได้ทรงเรียบเรียงขึ้นในคราวทรงเรียบเรียงพระราชพงษาวดารสังเขปนั้นก็จะเปนได้ ส่วนเนื้อความพิศดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ข้าพเจ้าได้สอบดูกับฉบับหลวงประเสริฐ ข้างตอนต้นทั้งความแลถ้อยคำตรงกับฉบับหลวงประเสริฐ เห็นได้ว่า ผู้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพิศดารได้คัดพระราชพงษาวดารฉบับที่แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชมาลงไว้ในฉบับพิศดารนี้หลายแห่ง แลเพิ่มเติมขยายความออกให้กว้างขวางตั้งแต่ตอนแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาลงมา มีที่ปลาดอยู่หน่อยที่ศักราชซึ่งลงไว้ในฉบับพิมพ์ ๒ เล่มตรงกับฉบับที่ลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐเพียงในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง ต่อนั้นมาผิดศักราชกันตั้งแต่ ๔ ปีถึง ๒๐ ปีก็มี.

(๕) หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ที่พิมพ์นี้ฉบับ ๑ ฉบับกรมหลวงมหิศวรินทร์ฉบับ ๑ ๒ ฉบับนี้ความต้องกัน ไม่มีพระราชพงษาวดารสังเขปเรื่องนายแสนปมแลพระราชพงษาวดารย่อข้างต้นอย่างฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม แต่เนื้อเรื่องได้สอบกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม (ตามเวลาเท่าที่มีพอทำได้ ไม่สู้เลอียดนัก) ความตอนต้นตรงกัน ความมามีผิดกันตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ความในฉบับพระราชหัดถเลขาเพิ่มเติมบริบูรณ์ขึ้นหลายแห่ง ที่เปลี่ยนความฉบับพิมพ์ ๒ เล่มเสียทีเดียว (เช่น เรื่องสมิงทอเมืองหงษาวดี เปนตัวอย่าง) ก็มี ตัดความออกเสียจากฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม (เช่น ความที่กล่าวสรรเสริญเยินยอสมเด็จพระเจ้าบรมโกษแลพระเจ้ากรุงธนบุรี เปนต้น) ก็มี ที่แก้ไขถ้อยคำของฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม (เช่น ความในตอนจวนจะเสียกรุงเก่า แลตอนก่อนจะตั้งกรุงธนบุรี เปนต้น) ก็มี ความฉบับพระราชหัดถเลขาบริบูรณ์ดีกว่าฉบับพิมพ์ ๒ เล่มมาก เข้าใจว่า พระราชพงษาวดารฉบับนี้จะได้โปรดให้ชำระใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อชำระแล้วนำต้นฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฉบับ ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจ เห็นว่า ยังไม่เรียบร้อยดี ทรงแก้ไข จึงปรากฎพระราชหัดถเลขาอยู่ในต้นฉบับ หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา นี้ หอพระสมุดได้มาแต่ ๒๒ เล่ม แต่เคราะห์ดีที่ได้ฉบับกรมหลวงมหิศวรินทร์มาประกอบกัน ได้เนื้อความบริบูรณ์เปนหนังสือ ๔๒ เล่มสมุดไทย กล่าวความแต่สร้างกรุงศรีอยุทธยามาจนถึงในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร จบเพียงจุลศักราช ๑๑๕๒

หนังสือพระราชพงษาวดารที่หอพระสมุดได้มามีต่างกันเปน ๕ ความดังนี้ ทำให้รู้ได้แน่ว่า หนังสือพระราชพงษาวดารมีอยู่ก่อนกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ๆ มิได้ทรงแต่งพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ขึ้นใหม่ดังที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงเปนเหตุให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ หารือว่า หนังสือพระราชพงษาวดารนี้จะแต่งในครั้งใดบ้างแน่ จึงได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ดังแจ้งอยู่ในพระราชหัดถเลขานั้น.

ครั้นต่อมาในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ นายเสถียรรักษา (กองแก้ว) ให้หนังสือพระราชพงษาวดารแก่หอพระสมุดอิกฉบับ ๑ ต้นฉบับเขียนครั้งกรุงธนบุรีเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ สำนวนยังเก่ากว่าฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ ขึ้นไปอิก หนังสือฉบับนี้หอพระสมุดได้ไว้แต่เล่มเดียว ทราบไม่ได้ว่า จะขึ้นต้นลงท้ายเพียงไร แลกี่เล่มจบ แต่ได้ความรู้เติมขึ้นอิกชั้นหนึ่งว่า หนังสือพระราชพงษาวดารความพิศดารมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าแน่ ฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ แต่งหรือชำระครั้งกรุงธนบุรี จึงผิดสำนวนกับฉบับนี้ น่าเสียดายที่ไม่ได้หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ มาทันถวายเมื่อกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้าได้ทอดพระเนตรเห็น จะต้องพระราชหฤไทย แลบางทีจะได้รับพระราชทานพระบรมราชาธิบายพิศดารออกไปอิก.

หนังสือพระราชพงษาวดารทุก ๆ ฉบับที่หอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับมา น่ายินดีที่บังเอิญมีข้อความตอนพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตคืนพระศรีสวัสดิแก่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิด้วยกันทุกฉบับ ข้อนี้เปนหลักพอที่จะคัดเทียบให้เห็นได้ว่า สำนวนหนังสือพระราชพงษาวดารเหล่านี้ต่างฉบับผิดกันอย่างไร หรือถ้าจะว่าโดยทางสันนิฐาน คือ หนังสือพระราชพงษาวดารนี้ของเดิมแต่งไว้อย่างไร แลได้แก้ไขโวหารผิดกันเปนชั้น ๆ โดยลำดับมาอย่างไร จึงได้คัดเทียบโวหารลงไว้ต่อไปนี้ เพื่อให้เปนประโยชน์แก่ความสังเกตของผู้ศึกษาพงษาวดาร.

ความฉบับหลวงประเสริฐ

"ศักราช ๙๒๖ ชวดศก พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีลงมาส่งยังพระนครศรีอยุทธยา แลว่า จะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้านั้น แลจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง" นี่เปนสำนวนในฉบับเก่าที่สุดที่หาได้.

ความฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖

"ในขณะพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีพระเจ้าช้างเผือกปราสาททองเธอส่งให้ไปถวายแก่พระยาล้านช้างนั้น ครั้นพระแก้วฟ้าราชบุตรีไปถึงเมืองล้านช้าง พระยาล้านช้างก็ว่า เราจำเภาะใช้ให้ไปขอพระเพทกระษัตรี แลพระแก้วฟ้าราชบุตรีนี้เรามิได้ให้ไปขอ แลเราจะส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนไปยังพระนครศรีอยุทธยา แลจะขอพระเทพกระษัตรีซึ่งจำเภาะแต่ก่อนนั้น ครั้นเสร็จการศึกช้างเผือก พระยาล้านช้างก็แต่งพระยาแสน ๑ พระยานคร ๑ พระยาทิพมนตรี ๑ ให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรี แลพระยาล้านช้างให้แต่งราชสาสนมาถวายว่า จะขอพระเทพกระษัตรี พระเจ้าช้างเผือกก็ตรัสบัญชาตาม จึงตกแต่งการที่จะส่งพระเทพกระษัตรีไปแก่พระยาล้านช้าง ครั้นถึงเดือน ๕ ปีชวด ฉศก ศักราช ๙๒๖ พระเจ้าช้างเผือกตรัสให้พระยาแมนไปส่งพระราชธิดาไปแก่พระยาล้านช้างอันมานั้น ส่งไปโดยทางสมอสอ" สำนวนนี้แต่งใหม่ทีหลัง ความตรงกับฉบับหลวงประเสริฐแต่เนื้อเรื่องกับศักราช.

ความฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕

"ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า ใช่องค์พระเทพกระษัตรี ก็เสียพระไทยหนัก จึงตรัสว่า เดิมเราจำนงขอพระเทพกระษัตรีซึ่งเปนพระราชธิดาพระสุริโยไทยอันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับฅอช้าง เปนตระกูลวงษ์กระตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เปนทูตานุทูตให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังพระนครศรีอยุทธยา แลมีพระราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก ในลักษณพระราชสาสนนั้นว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กฤติศัพท์นี้ก็ทั่วไปในนิคมชนบทขอบขัณฑเสมากรุงศรีสัตนาคนหุตสิ้นแล้ว บัดนี้ พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีเปลี่ยนไปแทนนั้น ถึงมาทว่า พระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์กว่าพระเทพกระษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกฤติศัพท์พระเทพกระษัตรีเสียได้ ก็เปนอัปยศทั่วกาลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วฟ้าราชธิดาคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีแก่ข้าพระองค์ดุจมีพระราชสาสนอนุญาตมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งในลักษณพระราชสาสนแลส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดังนั้นก็ลอายพระไทยนัก พอพระเทพกระษัตรีหายประชวรพระโรค จึงตบแต่งการที่จะส่งพระราชธิดาแลจัดเถ้าแก่กำนัลสาวใช้ทาษชายห้าร้อยหญิงห้าร้อย ครั้นถึงเดือน ๕ ศักราช ๙๑๓ ปีกุญ ตรีนิศก จึงมีพระราชโองการดำรัสให้พระยาแมนคุมไพร่พันหนึ่งไปส่ง พระยาแมนกับทูตานุทูตก็เชิญเสด็จพระเทพกระษัตรีขึ้นทรงสีวิกากาญจนยานุมาศไปโดยสถลมารคสมอสอ" สำนวนนี้เห็นได้ว่า เอาฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ มาตกแต่งความให้ไพเราะห์ แก้แต่ศักราชให้เร็วเข้า ๑๓ ปี.

ความฉบับจุลศักราช ๑๑๕๗

"ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า ใช่องค์พระเทพกระษัตรี ก็เสียพระไทยนัก จึงตรัสว่า เดิมเราจำนงขอพระเทพกระษัตรีซึ่งเปนพระราชธิดาพระสุริโยไทยอันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับฅอช้าง เปนวงษ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เปนทูตานุทูตให้ลงมาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระนครศรีอยุทธยา แลมีพระราชสาสนเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกด้วย ในลักษณพระราชสาสนนั้นว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กฤติศัพท์นี้ก็ทั่วไปในนิคมชนบทขอบขัณฑเสมาเมืองกรุงศรีสัตนาคนหุตสิ้นแล้ว บัดนี้ พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีเปลี่ยนไปแทนนั้น ถึงมาทว่า พระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์ยิ่งกว่าพระเทพกระษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกฤติศัพท์พระเทพกระษัตรีเสียได้ ก็เปนที่อัปยศชั่วกัลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วฟ้าราชธิดาคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีแก่ข้าพระองค์ดุจมีพระราชสาสนอนุญาตมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งในลักษณพระราชสาสนแลส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดังนั้นก็ลอายพระไทยนัก พอพระเทพกระษัตรีหายประชวรพระโรค จึงตกแต่งการที่จะส่งพระราชธิดาแลจัดเถ้าแก่กำนัลสาวใช้ทาษชายห้าร้อยหญิงห้าร้อย ครั้นถึงเดือน ๕ ศักราช ๙๑๓ ปีกุญ ตรีนิศก จึงมีพระราชโองการดำรัสให้พระยาแมนคุมไพร่พันหนึ่งไปส่ง พระยาแมนกับทูตานุทูตก็เชิญเสด็จพระเทพกระษัตรีขึ้นทรงสีวิกากาญจนยานุมาศไปโดยสถลมารคสมอสอ" สำนวนนี้เปนแต่แก้ไขถ้อยคำฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ เล็กน้อย.

ความฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม

"ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า ใช่องค์พระเทพกระษัตรี ก็เสียพระไทยนัก จึงตรัสว่า เดิมเราจำนงขอพระเทพกระษัตรีซึ่งเปนพระราชธิดาพระสุริโยไทยอันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับฅอช้าง เปนตระกูลวงษ์กระษัตริย์อันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เปนทูตานุทูตมาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงศรีอยุทธยา แลมีพระราชสาสนเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกด้วย ในลักษณพระราชสาสนว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กฤติศัพท์นี้รู้ทั่วไปในนิคมชนบทขอบขัณฑเสมากรุงศรีสัตนาคนหุตสิ้นแล้ว บัดนี้ พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีเปลี่ยนให้แทนนั้น ถึงมาทว่า พระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์ยิ่งกว่าพระเทพกระษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกฤติศัพท์พระเทพกระษัตรีเสียได้ ก็เปนอันอัปยศชั่วทั่วกาลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วฟ้าราชธิดาคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีแก่ข้าพระองค์ดุจมีพระราชสาสนอนุญาตมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งในลักษณพระราชสาสนแลส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดังนั้นก็ลอายพระไทยนัก พอพระเทพกระษัตรีหายประชวรพระโรค จึงตบแต่งการที่จะส่งพระราชธิดาแลเถ้าแก่กำนัลสาวใช้ทาษชายห้าร้อยหญิงห้าร้อย ครั้นถึงเดือน ๕ ศักราช ๙๑๓ ปีกุญ ตรีศก จึงมีพระราชโองการดำรัสให้พระยาแมนคุมไพร่พันหนึ่งไปส่ง พระยาแมนกับทูตานุทูตก็เชิญเสด็จพระเทพกระษัตรีขึ้นทรงสีวิกากาญจนยานุมาศไปโดยสถลมารคสมอสอ" สำนวนนี้เกือบจะเหมือนกับฉบับจุลศักราช ๑๑๕๗ เชื่อว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ไม่ได้ทรงแก้ไข ที่มีคำผิดกันอยู่บ้างคำหนึ่งสองคำเห็นจะแก้เมื่อพิมพ์.

ความฉบับพระราชหัดถเลขา

"ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า ใช่องค์พระเทพกระษัตรี ก็เสียพระไทยหนัก จึงตรัสว่า เดิมเราจำนงขอพระเทพกระษัตรีซึ่งเปนพระราชธิดาพระสุริโยไทยอันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับฅอช้าง เปนวงษ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เปนทูตานุทูตให้ลงมาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลมีพระราชสาสนเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกด้วย ในลักษณพระราชสาสนนั้นว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กฤติศัพท์นี้ก็ทั่วไปในนิคมชนบทขอบขัณฑเสมาเมืองกรุงศรีสัตนาคนหุตสิ้นแล้ว บัดนี้ พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีเปลี่ยนไปแทนนั้น ถึงมาทว่า พระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์ยิ่งกว่าพระเทพกระษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกฤติศัพท์พระเทพกระษัตรีเสียได้ ก็เปนที่อัปยศทั่วกาลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วฟ้าราชธิดาคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีแก่ข้าพระองค์ดุจมีพระราชสาสนอนุญาตมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งในลักษณพระราชสาสนแลส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดังนั้นก็ลอายพระไทยนัก พอพระเทพกระษัตรีหายประชวรพระโรค จึงตกแต่งการที่จะส่งพระราชธิดาแลจัดเถ้าแก่กำนัลสาวใช้ทาษชายห้าร้อยหญิงห้าร้อย ครั้นถึงเดือน ๕ ศักราช ๙๑๓ ปีกุญ ตรีนิศก จึงมีพระราชโองการดำรัสให้พระยาแมนคุมไพร่พันหนึ่งไปส่ง พระยาแมนกับทูตานุทูตก็เชิญเสด็จพระเทพกระษัตรีขึ้นทรงสีวิกากาญจนยานุมาศไปโดยสถลมารคสมอสอ" สำนวนตรงกับฉบับจุลศักราช ๑๑๕๗ ไม่ได้แก้ไขอย่างไร.

เมื่อได้อ่านตัวอย่างสำนวนที่คัดเทียบไว้นี้ทุกฉบับแล้ว ผู้ศึกษาพงษาวดารจะสังเกตเห็นได้ว่า หนังสือพระราชพงษาวดารมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชเปนปฐมเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๐๔๒ ต่อนั้นมา ได้มีผู้หนึ่งผู้ใดเอาหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๐๔๒ มาขยายความแต่งเปนฉบับพิศดาร ดังตัวอย่างที่เห็นในฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ แลหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นี้เปนต้นของฉบับอื่น ๆ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่อมาจนถึงฉบับพระราชหัดถเลขาเปนที่สุด ความที่ว่าข้อนี้ไม่มีที่สงไสย เว้นไว้แต่จะมีหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่นที่แก่ขึ้นไปกว่าฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ ที่ยังไม่พบมาปรากฎขึ้นอิก เมื่อลงเนื้อเห็นดังนี้ ก็แลเห็นข้อน่าวินิจฉัยเกิดขึ้นอิกข้อ ๑ ว่า หนังสือพระราชพงษาวดารพิศดาร คือ ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นั้นใครแต่งแลแต่งเมื่อไร คำถามอันนี้ดูเหมือจะถามที่ตอบไม่ได้ แต่ที่จริงหลักฐานที่จะคิดค้นคำตอบมีอยู่หลายอย่าง ข้าพเจ้าจะลองตอบตามอัตโนมัติ ถ้าท่านผู้ใดไม่เห็นชอบด้วย ก็ขออภัยโทษ.

ความเห็นของข้าพเจ้าในข้อคำถามว่า ใครแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพิศดารนั้น ข้าพเจ้าตอบว่า หนังสือพระราชพงษาวดารทุก ๆ ฉบับเปนของที่พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้แต่ง ยกพยานเปนตัวอย่างตั้งแต่ฉบับหลวงประเสริฐเปนต้นลงมาจนทุก ๆ ฉบับในกรุงรัตนโกสินทร ไม่มีผู้อื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้แต่งหรือให้ชำระ จะลืมเสียไม่ได้ว่า ในครั้งโน้น การพิมพ์หนังสือยังไม่มี หนังสือเช่นพระราชพงษาวดารนอกจากในหอหลวงจะมีที่อื่นกี่ฉบับ ถึงผู้อื่นจะมี ผู้นั้นจะหาหลักฐานเครื่องประกอบการแต่งพระราชพงษาวดารได้อย่างไร.

คำถามข้อ ๒ ซึ่งว่า หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพิศดารอย่างฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นี้แต่งขึ้นเมื่อไร คำตอบจะต้องใช้คิดคาดคเนมากสักหน่อย แต่การศึกษาพงษาวดารเปนการที่ต้องใช้ความคิดคาดคเนอยู่แล้ว เสมอว่า การคาดคเนเปนน่าที่ของผู้ศึกษาพงษาวดาร ข้าพเจ้าจึงจะกล้าคาดคเนในข้อนี้ โดยสังเกตโวหารในหนังสือฉบับหลวงประเสริฐกับฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ เห็นไม่ห่างกันนักนี้เปนหลักว่า หนังสือพระราชพงษาวดารความพิศดารความฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นั้นเห็นจะแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ เพราะการแต่งหนังสือในครั้งกรุงเก่า สังเกตตามจำนวนเรื่องหนังสือที่มีอยู่จนทุกวันนี้ มีเปน ๓ ยุค คือ ยุคที่ ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แต่งหนังสือกันคราว ๑ เรื่องหนังสือที่ยังปรากฎอยู่ คือ มหาชาติคำหลวง แลยวนพ่าย เปนต้น เรื่องลิลิตพระลอก็เข้าใจว่า แต่งในคราวนั้นเหมือนกัน ยุคที่ ๒ แผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชแต่งหนังสือกันอิกคราว ๑ หนังสือที่ยังปรากฎอยู่ คือ หนังสือสมุทโฆษ กำสรวญ อนิรุท เปนต้น ต่อลงมาถึงยุคที่ ๓ ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ยังมีหนังสือบทกลอนต่าง ๆ ปรากฎอยู่เปนอันมาก หนังสือในระหว่างยุคที่กล่าวนี้ไม่ใคร่พบ ว่าโดยย่อ ยุคใดพระเจ้าแผ่นดินพอพระราชหฤไทยในการแต่งหนังสือ ก็มีกระวีเกิดขึ้นมากในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่า พระราชพงษาวดารฉบับพิศดารจะมีขึ้นในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ มีความที่น่าคิดคาดคเนอิกข้อ ๑ คือว่า หนังสือพระราชพงษาวดารนี้จำต้องแต่งเนื้อเรื่องเพิ่มเติมต่อกันมาเปนคราว ๆ แผ่นดินไหนจะได้แต่งเนื้อเรื่องลงมาเพียงใด ข้อนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตรวจเนื้อความตามฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยไว้ในพระราชหัดถเลขาเปนหลัก เมื่อตรวจสอบประกอบกับหนังสือพระราชพงษาวดารที่มีอยู่ทุก ๆ ฉบับ เห็นว่า น่าจะลงเนื้อเห็นได้อยู่.

การแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารที่กล่าวในที่นี้ต้องแยกเปน ๒ อย่าง เรียกว่า แต่ง คือ เอาเรื่องที่มีอยู่แล้วมาเรียบเรียงใหม่ทีเดียวก็ดี หรือพระราชพงษาวดารเดิมมีเรื่องแล้วเพียงใด มาแต่งเรื่องต่อตอนนั้นลงมาก็ดี ทำอย่างนี้เรียกว่า แต่ง อิกอย่างหนึ่งเรียกว่า ชำระ หมายความว่า เอาหนังสือพระราชพงษาวดารที่มีอยู่แล้วมาตรวจแก้ไขถ้อยคำหรือแทรกข้อความลงในที่บางแห่ง อย่างนี้เรียกว่า ชำระ การชำระหนังสือพระราชพงษาวดารในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้มีหลักฐานรู้ได้ว่า ได้ชำระในรัชกาลที่ ๑ ครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๔ ครั้ง ๑ แลบางทีในรัชกาลที่ ๓ ก็จะได้ชำระอิกครั้ง ๑ แต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทรขึ้นไปไม่มีหลักฐานที่จะรู้ จะวินิจฉัยในที่นี้เฉภาะการแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารในครั้งกรุงเก่า เห็นว่า จะแต่งเปน ๒ ครั้ง ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช แต่งหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เดินความย่อ ๆ อย่างเดียวกันลงมาจนรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาแต่งอิกครั้ง ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ให้แต่งพระราชพงษาวดารขึ้นใหม่เปนฉบับพิศดาร ตั้งความเริ่มแต่สร้างกรุงศรีอยุทธยา เห็นจะลงมาจบเพียงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช เหตุที่เห็นดังนี้แจ้งอยู่ในพระบรมราชาธิบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโดยมากแล้ว จะกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้แต่ว่า ข้าพเจ้าไม่คิดเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าบรมโกษจะแต่งพระราชพงษาวดารมีเรื่องเดินลงมากว่านั้น เพราะในหนังสือพระราชพงษาวดารความตอนแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาแลสมเด็จพระเจ้าเสือ มีข้อความซึ่งไม่เปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์นั้นผู้เปนบรรพบุรุษของสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ๆ ที่ไหนจะแต่งลงในพระราชพงษาวดารอย่างนั้น ถ้าจะแต่งก็คงกล่าวความเปนอย่างอื่น แต่ยังมีเหตุอื่นประกอบอิกอย่าง ๑ ซึ่งน่าสงไสยว่า หนังสือพระราชพงษาวดารที่แต่งเติมในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษเรื่องจะไม่ลงมาจนถึงสมเด็จพระนารายน์มหาราชสวรรคตด้วยซ้ำไป ด้วยพระราชพงษาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ตามที่แต่งไว้มีผิดข้อสำคัญอยู่ ๒ แห่ง คือ ที่ว่าเจ้าฟ้าอภัยทศเปนพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายน์ ความจริงเปนพระอนุชา สมเด็จพระนารายน์มหาราชหามีพระราชโอรสไม่ ข้อนี้บรรดาหนังสือที่ฝรั่งซึ่งเข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ มีราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาทั้ง ๒ คราวเปนต้น แต่งไว้กล่าวต้องกันทุกเรื่อง ที่สุดจนคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ว่า สมเด็จพระนารายน์มหาราชไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดา จึงเปนเหตุข้ออ้างว่า หลวงสรศักดิ์เปนราชโอรสลับ นี้ผิดข้อสำคัญแห่ง ๑ อิกแห่งหนึ่ง ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระนารายน์มหาราชสวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๔๔ แต่มีหนังสืออื่นตลอดจนปูมบอกไว้แน่นอนว่า สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๑๐๕๐ ผิดกันถึง ๖ ปี ข้อนี้ก็ผิดสำคัญอิก ก็ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษนั้น คนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ยังมีอยู่มาก แม้สมเด็จพระเจ้าบรมโกษเองก็สมภพในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ได้เปนหลายปี ถ้าหนังสือพระราชพงษาวดารตอนนั้นแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ที่ไหนจะผิดได้อย่างนั้น ข้าพเจ้าได้ตรวจพิเคราะห์ดูในหนังสือพระราชพงษาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่มแลฉบับพระราชหัดถเลขา เห็นว่า เรื่องพระราชพงษาวดารที่ได้แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษจะมาจบลงเพียงกองทัพเจ้าพระยาโกษา (ขุนเหล็ก) ชนะพม่าที่เมืองไทรโยคแล้วกลับมาพระนคร (เล่ม ๒ ฉบับพระราชหัดถเลขา น่า ๕๙) ความต่อนั้นที่กล่าวขึ้นเรื่องวิไชเยนทร์ดูต่อไม่สนิท แลข้อความในพระราชพงษาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ต่อนั้นมาก็อยู่ข้างจะคลาศเคลื่อน วันคืนก็ไม่ใคร่มี ดูเปนแต่เอาเรื่องที่เขาเล่ามาเรียงลง เช่น เรื่องเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ เรื่องหลวงสรศักดิ์ ตลอดจนเรื่องเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ไปเมืองฝรั่งเศส เรื่องราวแม้เท่าที่เรารู้ในเวลานี้ยังถ้วนถี่ถูกต้องกว่าที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร จึงเห็นว่า จะเปนผู้ที่เกิดทีหลังแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารตอนนั้นเปนแน่ จึงเลยผิดถึงปีสมเด็จพระนารายน์สวรรคตได้เปน ๖ ปี แต่ถ้าเรื่องพระราชพงษาวดารตั้งแต่ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราชไม่ได้แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษแล้ว จะได้แต่งเมื่อไร ความวินิจฉัยข้อนี้ ถ้าหนังสือพระราชพงษาวดารตอนนั้นจะได้แต่งในครั้งกรุงเก่า ก็มีแต่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริยาศน์อมรินทร์ ข้อนี้พระยาโบราณราชธานินทร์คัดค้านว่า ในรัชกาลนั้น บ้านเมืองไม่ปรกติ มีศึกสงครามจนตลอด ไม่เห็นมีโอกาศจะแต่งได้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องมาแต่งในครั้งกรุงธนบุรี แม้มีศึกสงครามมากเหมือนกัน ก็เปนข้างฝ่ายชนะ แลมีพยานอิกอย่าง ๑ ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระราชนิพนธ์บทลครรามเกียรติ์ยังปรากฎอยู่ ถ้ามีโอกาศพอจะทรงพระราชนิพนธ์บทลครได้ ก็เห็นจะมีโอกาศพอจะทรงพระราชพงษาวดารได้ ความที่ว่านี้ ถ้าพิเคราะห์ดูถ้อยคำในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ที่ติเตียนสมเด็จพระเจ้าท้ายสระแลยกย่องสมเด็จพระเจ้าบรมโกษมากจนเกินความคิดคนในชั้นหลังจะเห็นด้วยนั้นแล้ว ก็พอจะเห็นสม ด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีเองแลผู้หลักผู้ใหญ่ในครั้งกรุงธนบุรีโดยมากเปนข้าราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงเห็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงแต่งหนังสือพระราชพงษาวดาร (คือ ความฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕) ต่อที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกษได้ทรงค้างไว้ลงมาจบเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ เรื่องต่อนั้นลงมาจนเสียกรุงเก่าแก่พม่า เห็นจะแต่งเมื่อชำระหนังสือพระราชพงษาวดารในรัชกาลที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๑๑๕๗ เรื่องพระราชพงษาวดารตอนกรุงธนบุรีลงมาที่ปรากฎอยู่ในฉบับพิมพ์ ๒ เล่มนั้น รู้ได้แน่ว่า แต่งในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ให้ทรงแต่ง ขึ้นต้นที่แผ่นดินเจ้าตากสิน เชื่อมกับของเดิมไม่สนิท ยังพอสังเกตหัวต่อได้ มาในรัชกาลที่ ๔ ที่เห็นว่า ได้ชำระพระราชพงษาวดารอิกครั้ง ๑ เปนแน่นั้น เพราะฉบับพระราชหัดถเลขานี้ไม่ใช่แต่มีข้อความเพิ่มเติมขึ้นกว่าฉบับพิมพ์ ๒ เล่มเท่านั้น ยังตั้งรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาพระองค์ที่ ๒ ขึ้นอิกแผ่นดิน ๑ ในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งเปนข้อสงไสยอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่น แลได้เชื่อมหัวต่อตอนกรุงธนบุรีต่อกับกรุงเก่าให้ความกลืนกันสนิทดีด้วย แต่ชำระมาได้เพียงเรื่องในจุลศักราช ๑๑๕๒ (ขาดความฉบับพิมพ์ ๒ เล่มอยู่ ๖ น่าสมุดพิมพ์) ก็ยุติไว้เพียงนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ตำนานการแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารจะได้เปนดังแสดงมานี้ นี่ว่าตามความรู้ที่มีอยู่ในเวลานี้ แต่ถ้าต่อไปภายน่าไปพบหนังสือหรือสิ่งใดให้เห็นหลักฐานเปนอย่างอื่น ก็จะต้องเปลี่ยนความเห็นไปตามหลักฐานที่จะได้พบ เพราะฉนั้น ไม่ยืนยันว่า ความเห็นที่กล่าวมานี้ถูกต้องแน่นอนทีเดียว กล่าวไว้แต่พอให้เปนทางดำริห์ของผู้ศึกษาพงษาวดารด้วยกัน.

ถ้าจะมีคำถามในที่นี้ว่า เมื่อลงความเห็นอย่างนี้แล้ว จะว่าอย่างไรถึงเรื่องหนังสือพระราชพงษาวดารที่ว่า สมเด็จพระวันรัตนแต่งไว้เปนภาษามคธ ข้าพเจ้าขอตอบว่า เรื่องหนังสือพระราชพงษาวดารที่ว่า สมเด็จพระวันรัตนได้แต่งไว้เปนภาษามคธนั้น กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้เคยทรงสดับมาจากสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐว่า ท่านได้เคยเห็นหนังสือนั้น แลยังเล่าถึงที่เอาศัพท์ภาษาไทยไปแผลงเปนภาษามคธ เช่น จมื่นทิพเสนา ไปแผลงเปน จะมีโนทิพพะเสนา ดังนี้เปนต้น ส่วนตัวเข้าพเจ้าเองก็ได้เคยกราบทูลถามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า หนังสือเรื่องนั้นมีจริงดังเขาว่าหรืออย่างไร ท่านรับสั่งว่า ได้เคยทอดพระเนตรเห็นที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เข้าพระไทยว่า หนังสือนั้นจะยังอยู่ที่วัดพระเชตุพน จึงมีรับสั่งถามพระมงคลเทพ (เที่ยง) ซึ่งเคยเปนถานานุกรมในกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ พระมงคลเทพถวายพระพรต่อหน้าข้าพเจ้าว่า เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้เจ้าพนักงานไปรับหนังสือในหอไตรของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ บรรทุกช้างเข้าไปไว้ในพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น หามีหนังสือของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เหลืออยู่ที่วัดพระเชตุพนไม่ ข้าพเจ้าสืบได้ความแต่เพียงเท่านั้น ครั้นเมื่อจะแบ่งหนังสือหอพระมณเฑียรธรรมมารวมไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ กรรมการหอพระสมุดได้ให้ตรวจหาหนังสือมหายุทธการ จุลยุทธการ หนังสือ ๒ เรื่องนั้นแลพงษาวดารอย่างใด ๆ ก็หามีในหอพระมณเฑียรธรรมไม่ เปนสิ้นกระแสความที่สืบสวนมาเพียงเท่านี้ หนังสือเรื่องมหายุทธการแลจุลยุทธการนั้นมีเปนแน่ ถ้าจะลองคาดคเนดูว่า หนังสือ ๒ เรื่องนั้นเปนอย่างไร ก็เห็นหลักฐานทางที่จะคาดคเนมีอยู่บ้างว่า ตามชื่อที่เรียกหนังสือว่า มหายุทธการแลจุลยุทธการนั้น ต้องเข้าใจว่า หนังสือ ๒ เรื่องนั้นว่าด้วยการสงครามที่มีมาในพระราชพงษาวดารอันเปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดิน ถ้าไม่เปนพระเกียรติยศคงไม่แต่งอยู่เอง มหายุทธการว่าด้วยการสงครามคราวใหญ่ จุลยุทธการว่าด้วยการสงครามคราวน้อย (กว่ามหายุทธการ) เปนหนังสือแต่ง ๒ ยุค จึงเปน ๒ เรื่อง สงครามครั้งใดเล่าที่เปนสงครามใหญ่ในพระราชพงษาวดาร ต้องตอบทันทีว่า ครั้งไทยรบศึกหงษาวดีตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิลงมาสมเด็จพระนเรศวรชนะหงษาวดีจนได้เมืองมอญมาเปนข้าขอบขัณฑสิมาเปนอันมากนี้แลเปนคราวใหญ่ หนังสือมหายุทธการนั้นผู้แต่งคงจะแต่งเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระนเรศวร ที่ว่าเช่นนี้ยังมีหลักฐานประกอบ คือ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเก่า ๆ ที่ได้มา คือ ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ แลฉบับ ๑๑๔๕ ที่สุดฉบับจุลศักราช ๑๑๕๗ ได้มาล้วนแต่ความตอนมหายุทธการทุกฉบับ อิกอย่าง ๑ ถ้าพิเคราะห์ดูหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม หรือฉบับพระราชหัดถเลขานี้ จะเห็นได้ดังพระบรมราชาธิบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า เรื่องก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นไปกล่าวแต่ย่อ ๆ อย่างคัดจดหมายเหตุในปูมมาลง มาพิศดารเอาต่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิลงมา ผู้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษจะได้อาไศรยหนังสือมหายุทธการมาประกอบด้วยจะเปนได้ดอกกระมัง.

หนังสือจุลยุทธการนั้น จะต้องคิดก่อนว่า การสงครามยุคใดแต่คราวรบศึกหงษาวดีมาแล้วจะควรเอาเปนเรื่องแต่งเทียบเคียงกับมหายุทธการได้บ้าง การสงครามที่เปนยุคมีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชยุค ๑ ได้รบพม่าแลเชียงใหม่หลายคราว แต่เนื้อเรื่องไม่น่าเทียบเคียงมหายุทธการเหมือนเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีรบชนะพม่าแลปราบปรามจลาจลจนตั้งกรุงธนบุรีเปนอิศรภาพได้ดังกรุงเก่า เนื้อเรื่องตอนนี้ดูใกล้กัน ดูชวนจะให้แต่งเฉลิมพระเกียรติยศพระเจ้ากรุงธนบุรีเทียบด้วยสมเด็จพระนเรศวร ถ้ามีผู้แต่งขึ้น ก็จะเปนที่พอพระราชหฤไทยของพระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่น้อย เพราะฉนั้น หนังสือเรื่องจุลยุทธการนี้จะแต่งในครั้งกรุงธนบุรีจะเปนได้หรือไม่ ถ้าแต่งในครั้งกรุงธนบุรีแล้ว ข้าพเจ้าแทบจะรับรบุตัวผู้แต่งได้ คือ พระธรรมธิราราชมหามุนี (ชื่น) วัดหงษ์ หรือที่เรียกกันว่า สมเด็จเจ้าชื่น นั้น ท่านองค์นี้ ตามเรื่องที่ปรากฎว่า เปนผู้รู้พระปริยัติธรรมแตกฉานมาก เปนผู้ฝากฝ่ายในพระเจ้ากรุงธนบุรีจนได้เปนสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด มาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ต้องลดยศลงมาว่าที่วันรัตน ที่เล่ากันมาแต่ก่อนว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงอาไศรยหนังสือพระราชพงษาวดารสมเด็จพระวันรัตนแต่งไว้เปนภาษามคธประกอบแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารนั้น บางทีจะได้ทรงอาไศรยหนังสือจุลยุทธการที่สมเด็จเจ้าชื่นแต่งนี้เองดอกกระมัง ขอให้สังเกตดูสำนวนพระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เมื่อขึ้นแผ่นดินเจ้าตากสินในฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม (ในฉบับพระราชหัดถเลขา สำนวนตรงนั้นแก้เปนอย่างอื่นเสียแล้ว) ว่า "ขณะเมื่อกรุงเทพมหานครยังมิได้เสียนั้น พระเจ้าอยู่หัวอันมีอภินิหารนับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้าตรัสทราบพระญาณว่า กรุงศรีอยุทธยาจะเปนอันตราย แต่เหตุที่อธิบดีเมืองแลราษฎรมิเปนธรรม จึงอุสาหด้วยกำลังพระกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์แลบวรพุทธสาสนาจะเสื่อมสูญ จึงชุมนุมพรรคพวกพลทหาร ฯลฯ ยกออกไปตั้งณวัดพิไชยอันเปนมงคลมหาสถาน ด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภาร เทพยเจ้าอภิบาลรักษาพระบวรพุทธสาสนาก็ส้องสาธุการบันดาลให้วรรษากาลห่าฝนตกลงมาเปนมหาพิไชยฤกษ์" ฯลฯ ดังนี้ น่าเชื่อนักว่า ตรงนี้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ท่านทรงแปลออกจากหนังสือจุลยุทธการ มิได้ทรงแต่งขึ้นเอง ดูไม่มีเหตุอันใดเลยที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จะต้องทรงยกย่องพระเจ้ากรุงธนบุรีถึงเปนหน่อเนื้อพุทธางกูร แต่สมเด็จเจ้าชื่นแต่งได้อย่างนั้น ไปพลิกดูความตรงนี้ที่ (แต่งในรัชกาลที่ ๑) กล่าวไว้เมื่อก่อนจะเสียกรุงเก่าว่า "ครั้นณเดือน ๑๒ แต่งทัพเรือให้พระยาตาก (คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี) พระยาเพ็ชรบุรี หลวงสุรเสนี ออกไปตั้งอยู่วัดใหญ่คอยสกัดเรือรบพม่า ฯลฯ พระยาเพ็ชรบุรียกออกตี (พม่า) ณวัดสังฆาวาศก็ตายในที่รบ พระยาตากกับหลวงสุรเสนีมาแอบดู หาช่วยหนุนไม่ แล้วไปตั้งอยู่ณวัดพิไชย" ดังนี้ ขอให้สังเกตดู ๒ ความนี้ผิดกันอย่างไร ที่ว่ามานี้เปนการคาดคเนแท้ ข้าพเจ้าไม่มีหลักฐานอย่างอื่นนอกจากที่แสดงมาแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่สิ้นความหวังใจที่จะได้หนังสือมหายุทธการแลจุลยุทธการในภายน่า แต่อย่างไรก็ดี หนังสือชนิดนั้นเปนแต่หนังสือประกอบพระราชพงษาวดาร ใช้สอบสวนในเวลาแต่งพระราชพงษาวดารดังปรากฎในบานแพนกพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เปนหลายอย่าง ในจำพวกหนังสือประกอบพระราชพงษาวดารนี้ ถ้าจะจำแนกก็มี ๔ ประเภท คือ หนังสือพระแต่งประเภท ๑ หนังสือโหรแต่งประเภท ๑ หนังสือราชการแต่งประเภท ๑ หนังสือบุคคลแต่งประเภท ๑

หนังสือพระแต่งนั้น มูลเหตุเดิมเห็นจะมาจากหนังสือเรื่องมหาวงษ์ในลังกาทวีป พระเถรองค์หนึ่งชื่อว่า มหานาม แต่งว่าด้วยประวัติของพระพุทธสาสนาที่มาประดิษฐานในลังกาทวีป เปนพงษาวดารสำคัญของลังกาแต่โบราณมา เมื่อครั้งราชธานีของสยามประเทศประดิษฐานอยู่ที่นครศุโขไทย มีพระภิกษุสงฆ์ทางประเทศนี้ออกไปศึกษาพระพุทธสาสนาในลังกาทวีป แลมีพระภิกษุสงฆ์ชาวลังกามาอยู่ทางประเทศนี้ ได้เปนมหาสวามีแลราชครูมาตั้งแต่ครั้งศุโขไทยแลนครเชียงใหม่เมื่อยังเปนเอกราช พวกลังกานำคติเรื่องแต่งหนังสือตามอย่างเรื่องมหาวงษ์เข้ามาแต่งตำนานพระสาสนาบ้าง ตำนานเจดียสถานบ้าง แต่งเปนภาษามคธ เช่น เรื่องชินกาลมาลินี แลรัตนพิมพวงษ์ เปนต้นบ้าง แต่งเปนหนังสือเทศน์ในภาษาไทย เช่น ตำนานพระมหาธาตุหริภุญไชย พระมหาธาตุนครศรีธรรมราช เปนต้นบ้าง หนังสือเหล่านี้ย่อมเนื่องด้วยเรื่องพระราชพงษาวดารในประเทศ จึงเปนเครื่องประกอบพระราชพงษาวดาร.

หนังสือที่โหรแต่งนั้น คือ โดยปรกติ ถ้ามีเหตุการณ์อย่างใด โหรก็จดลงไว้ในปดิทินวันนั้นทำนองจดไดเอรีเฉภาะวันที่มีเหตุการณ์ เมื่อนาน ๆ เข้า ก็รวมลงท้ายปูม หรือแยกออกเปนจดหมายเหตุเรียงเรื่องเหตุการณ์บอกวันกำกับไว้ เปนหนังสือประกอบพระราชพงษาวดารอิกอย่าง ๑ ในจำพวกนี้มักแน่นอนด้วยวันคืน.

หนังสือที่ราชการแต่งนั้น คือ รายวันราชการทัพ เปนต้น ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงชี้แจงให้แลเห็นชัดในพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ว่า ในตอนไรที่เปนการทัพศึก มักมีวันคืนเลอียด ตอนไรที่ไม่มีการทัพศึก วันคืนห่าง เห็นได้ตั้งแต่ตอนสมเด็จพระนเรศวรทำศึกกับหงษาวดีมาจนครั้งกรุงธนบุรีทำศึกกับพม่า เพราะเหตุว่ามีหนังสือรายวันทัพเปนหลักแก่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดาร นอกจากรายวันทัพ มีสำนวนความบ้าง จดหมายเหตุบ้าง ที่เปนของจดไว้ในราชการ เปนเครื่องประกอบพระราชพงษาวดารอิกอย่าง ๑ เรื่องจดหมายเหตุนี้มีธรรมเนียมเก่าเรียกว่า หอสาตราคม เปนน่าที่ของนายเสน่ห์แลนายสุจินดาหุ้มแพรมหาดเล็กที่จะต้องจดหมายเหตุการณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในหอสาตราคม ที่เรียกว่า "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" ตามบานแพนกฉบับหลวงประเสริฐ เห็นจะหมายความว่า หนังสือจดหมายเหตุในหอสาตราคมนี่เอง.

ที่บุคคลจดนั้น คือ ทำนองคำให้การ ในเวลาจะแต่งพระราชพงษาวดารหรือจะใคร่รู้ความเก่า ถามผู้เถ้าผู้แก่ที่รู้การงานมากจดมาประกอบ หนังสือจำพวกนี้ในรัชกาลที่ ๑ ได้ถามแบบแผนการงานครั้งกรุงเก่า มีการพระราชพิธีเปนต้น ไว้มาก ตลอดจนพระราชพิธีโสกันต์ใหญ่ ต้องถามเจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมโกษซึ่งอยู่มาในกรุงรัตนโกสินทรในรัชกาลที่ ๑ หนังสือความทรงจำของพระเจ้าไอยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องพระราชวิจารณ์นั้น ก็จะอยู่ในหนังสือจำพวกนี้เอง ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เห็นจะทูลถามให้ท่านจดประทานเมื่อคราวแต่งพระราชพงษาวดารในรัชกาลที่ ๓ นั้น.

การแต่งพระราชพงษาวดารของเรายังไม่ได้ค้นคว้าออกไปยิ่งกว่าหนังสือต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วนี้ แต่อย่างไรก็ดี หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา นี้ เปนฉบับดีที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้ ควรบรรดาผู้ที่ได้อ่านจะขอบพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ที่ได้ทรงพิมพ์หนังสือฉบับนี้ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก แลทรงพิมพ์ในเวลาเมื่อหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพิมพ์แต่ก่อนกำลังวิปลาศคลาศเคลื่อนด้วยการพิมพ์ต่อ ๆ กันหลายครั้งมาแล้วนั้นด้วย.

เวลานี้ การศึกษาพงษาวดารมีผู้เอาใจใส่มากขึ้นตามความเจริญของการศึกษาในบ้านเมือง ส่วนความรู้พงษาวดารก็มีมากขึ้นด้วยได้สอบสวนหนังสือต่างประเทศ จาฤกศิลา แลหนังสือเครื่องประกอบพงษาวดาร ความรู้พงษาวดารในเวลานี้ถูกต้องดีกว่าที่ได้แต่งไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารหลายแห่ง หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ที่พิมพ์ครั้งนี้ ถ้าได้ทำคำอธิบายบอกไว้ว่า ความตรงนั้น หนังสืออื่นว่าเช่นนั้น หรือสอบสวนได้ความจริงเปนอย่างนั้น ถ้าทำได้อย่างว่านี้จะดีไม่น้อยเลย แต่การพิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้มีกำหนดเวลาจะต้องแล้ว การทำคำอธิบายเช่นว่าจะต้องมีผู้ศึกษาพงษาวดารช่วยกันทำหลายคนแลใช้เวลามาก จึงเปนอันพ้นวิไสยที่จะทำให้สมประสงค์ทันพิมพ์ครั้งแรกนี้ได้ แต่ข้าพเจ้าได้พยายามที่จะแก้ไขความลำบากของผู้ศึกษาพงษาวดารในการค้นเรื่องซึ่งรู้สึกมาด้วยกันแต่ก่อนทุกคน ได้ทำสารบานบอกเรื่องให้ค้นได้ง่ายแต่ต้นจนปลาย หวังใจว่า จะเปนประโยชน์แลเปนที่พอใจแก่ผู้อ่าน หนังสือพระราชพงษาวดารนี้ เมื่อมีสารบานเรื่องแล้ว ก็ไม่จำเปนจะต้องมีความสังเขปแลความย่ออย่างในฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ข้าพเจ้าจึงไม่ได้เอาพระราชพงษาวดารสังเขปแลพระราชพงษาวดารย่อที่มีอยู่ข้างต้นฉบับพิมพ์ ๒ เล่มอันมิใช่หนังสือเรื่องเดียวกันมาพิมพ์ไว้ในฉบับนี้ แต่เนื้อเรื่องพระราชพงษาวดารที่มีอยู่ในฉบับพระราชหัดถเลขานี้ไปหมดอยู่เพียงจุลศักราช ๑๑๕๒ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ดูค้างเขินอยู่ ข้าพเจ้าจึงตัดเอาความพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๑ ที่ข้าพเจ้าชำระมาลงต่อไว้ให้ไปจบเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑

ข้าพเจ้าขอโอกาศกล่าวแทรกคำอธิบายไว้ตรงนี้หน่อยหนึ่ง ด้วยเคยมีผู้ถามข้าพเจ้าเนือง ๆ แลเข้าใจว่า ยังจะมีผู้สงไสยเมื่อได้อ่านคำนำนี้ว่า เหตุใดจึงไม่เอาพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทรมาพิมพ์ต่อไว้ข้างท้ายด้วย ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีรับสั่งให้ข้าพเจ้าชำระพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ได้แต่งไว้ ข้าพเจ้าชำระตอนรัชกาลที่ ๑ จนเสร็จได้พิมพ์แล้ว ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๒ ต้นฉบับเดิมที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ได้ทำไว้ เนื้อความส่วนรัชกาลที่ ๒ มีเพียง ๗ เล่มสมุดไทย แลยังเปนเรื่องพงษาวดารพม่านำมาลงไว้ในนั้นเสียถึงเกือบ ๒ เล่มสมุดไทย คงมีเนื้อความพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ เพียง ๕ เล่มสมุดไทยกว่า ๆ ถ้าเรื่องราวในรัชกาลที่ ๒ มีเพียงเท่านั้น หนังสือจะสั้นยาวเท่าใดก็ไม่อัศจรรย์ แต่ความจริงที่ได้อ่านพบในหนังสืออื่น ๆ โดยมากเปนหนังสือต่างประเทศ ยังมีเรื่องราวที่ควรจะลงในพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ มีอยู่อิกมาก จะพิมพ์เพียงเท่าที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ได้จดไว้เปนการบกพร่องมากนัก จะสอบสวนหนังสืออื่นมาแต่งให้บริบูรณ์ก็ต้องการเวลามาก ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาพอจะให้ จึงค้างมาด้วยเหตุนี้.

การแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารเรื่องเรียกนามแผ่นดินเปนข้อสำคัญอย่าง ๑ ในฉบับพิมพ์ ๒ เล่มมักใช้พระนามพระเจ้าแผ่นดินตามที่คนทั้งหลายเรียกกันเมื่อภายหลัง ดังเช่น สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าบรมโกษ เปนต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์นามแผ่นดินไว้เปนระเบียบ จึงได้เอานามตามพระราชนิพนธ์มาใช้ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้ แต่เพราะคนทั้งหลาย รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเองด้วย เคยเรียกมาเสียอย่างเดิมช่ำชอง จะเปลี่ยนความเข้าใจไปได้โดยยาก จึงได้ลงพระนามตามที่เรียกกันมาแต่เดิมไว้ด้วย.

ระเบียบการพิมพ์พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา นี้ ได้แบ่งเปน ๓ เล่ม เพราะความมากกว่าฉบับที่พิมพ์แล้วแต่ก่อนประการ ๑ เพราะจะให้แปลกกับฉบับ ๒ เล่มที่พิมพ์แต่ก่อนด้วยประการ ๑ เล่ม ๑ จับแต่สร้างกรุงศรีอยุทธยาจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระอาทิตยวงษ์ซึ่งเปนพระองค์ที่สุดในราชวงษ์นั้น เล่ม ๒ ตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองเสวยราชย์จนเสียกรุงเก่าแก่พม่า เล่ม ๓ ความแต่เริ่มสร้างกรุงธนบุรีจนสิ้นรัชกาลที่ ๑ พระราชหัดถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไขหรือเพิ่มเติมแห่งใด ได้พิมพ์บอกไว้ทุกแห่ง เว้นเสียแต่ที่ทรงแก้ไขเพียงตัวอักษรเท่านั้น เห็นไม่จำจะต้องบอก.

ข้าพเจ้านึกวิตกอยู่ว่า หนังสือเรื่องนี้มาก แลเวลาพิมพ์ก็จำกัด บางทีถ้อยคำแลตัวอักษรในฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้จะยังวิปลาศมาก เพราะเวลาไม่พอจะตรวจฉบับให้ถ้วนถี่จริง ๆ ได้ พนักงานที่จัดการพิมพ์พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา นี้ พระราชวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ เปนผู้ตรวจฉบับ หลวงอนุชิตพิทักษ์ (ชาย) เป็นผู้ช่วยข้าพเจ้าทำสารบานเรื่อง ตลอดจนเขียนคัดคำนำนี้ นายชิด นายสำเภา พนักงานในหอพระสมุดวชิรญาณ เปนผู้คัดเขียนพิมพ์ สำเร็จตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอฯ เมื่อณวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรก ๑๓๑ ตรงกับณวัน ๑๔ ฯ  ค่ำ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๗๔ พระพุทธสาสนกาลล่วงแล้วได้ ๒๔๕๕ พรรษา.

หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทรก ๑๓๑
ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ