พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภความกตัญญูในพระมารดา จึงตรัสคำว่า นตฺถิ สจฺจํ สมํ ปุญฺญํ ดังนี้ ความมีอยู่ว่า วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งสรรเสริญความกตัญญูของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ในโรงธรรม พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจะได้เป็นกตัญญูบุคคลแต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ ถึงในกาลก่อน เราก็ได้เป็นกตัญญูบุคคลเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่ อันภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ในโกศลรัฐ กุฎุมพีคนหนึ่งมีแม่โคตัวหนึ่ง ชื่อพหลาคาวี นางโคพหลาคาวีนั้น มีลูกน้อยอยู่ตัวหนึ่ง ในคราวหนึ่ง นางพหลาคาวีนั้นออกจากคอกโคไปแสวงหาหญิงกับลูกน้อยของตนกับฝูงโคทั้งหลาย นางโคพหลาคาวีนั้น เข้าไปในป่าแต่ตัวเดียว ส่วนลูกโคไปกับฝูงโค ในกาลนั้น ในป่านั้น มีเสือโคร่งอยู่ตัวหนึ่ง เสือโคร่งนั้น ได้เห็นนางโคกินหญ้าอยู่ คิดว่า เราจักจับนางโคตัวนี้กิน จึงเข้าไปใกล้นางโคนั้น นางโคนั้นเงยหน้าขึ้นแลเห็นเสือโคร่งแล้วจึงพูดว่า ข้าแต่เสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ ท่านมาเพื่อต้องการอะไร เสือโคร่งตอบว่า ข้าจะมาจับเจ้ากินเป็นอาหาร นางโคจึงตอบว่า ข้าแต่เสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ ท่นจงงดกินข้าพเจ้าไว้ก่อนเถิด ข้าพเจ้ามีลูกน้อยอยู่ตัวหนึ่ง จะไปให้ลูกกินนมก่อนแล้วจะมาให้ท่านกินเป็นอาหาร เสือโคร่งจึงกล่าวว่า ถ้ำคำของเจ้าจักเป็นจริงไซร้ ข้าจะงดโทษให้เจ้า นางพหลาคาวีลาเสือโคร่งไปหาลูก พูดกับลูกว่า ลูกรัก เจ้าจงรีบกินนมแม่เร็วๆ เถิด แม่จะไปให้เสือโคร่งกินเป็นอาหาร ลูกโคน้อย จึงถามว่า เหตุไฉน แม่จึงมาพูดอย่างนี้ แม่อย่าไปให้เสือโคร่งกินเลย ลูกจะไปให้เสือโคร่งกินแทนคุณแม่ แม่โคพูดว่า ลูกรัก แม่ได้ให้ปฏิญาณแก่เสือโคร่งไว้ว่าจะให้เสือโคร่งกินแล้วจึงมา คำของแม่เป็นคำจริง ถึงร่างกายของแม่จะพินาศไป แม่ก็จะไม่ละทิ้งสัจธรรมคำจริง เวลานั้น ลูกโคน้อยเดินร้องไห้ตามแม่ไปยืนอยู่ข้างหลัง ได้พูดกับเสือโคร่งว่า ท่านเสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ ท่านจงอนุเคราะห์กินตัว้า จงให้ชีวิตแก่แม่ข้าเถิด เสือโคร่งพูดว่า ข้างดโทษให้เจ้า ข้าไม่กินเจ้าทั้งสองแล้ว ด้วยเดชานุภาพแห่งสัจจะขันติและกตัญญู ภพของท้าวสักกเทวราชจึงแสดงอาการร้อนขึ้น ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการ ครั้นทราบเหตุนั้นแล้ว จึงลงมาจากสวรรค์ เข้าไปใกล้สัตว์ทั้งสามนั้น แล้วพาสัตว์ทั้งสามนั้นไปยังเทวโลก ประทานทิพยพิมานอันเดียรดาษไปด้วยนางเทพอัปสรพันหนึ่ง พรั่งพร้อมไปด้วยโภคสมบัติทิพย์ กึกก้องไปด้วยการฟ้อนรำขับร้อง กึกก้องดุริยางดนตรีมีองค์ห้าประการ เกลื่อนกลาดไปด้วยธงชายและธงปฎากเป็นอันมาก สำเร็จไปด้วยกามคุณเป็นของทิพย์ให้แก่สัตว์ทั้งสามนั้น สัตว์ทั้งสามนั้น ก็สละอัตาพของตนเสีย แล้วได้อัตภาพเป็นเทวบุตรในสำนักท้าวสักกเทวราชแล้วก็เสวยทิพยสุขอยู่ในเทวโลก เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระดำรัสเป็นต้นว่า บุญกุศลส่วนดีงามซึ่งจะเสมอด้วยสัจจะความจริง ขันติความอดทน และกตัญญูความรูัจักคุณที่ผู้อื่นกระทำไว้แก่ตนทั้งสามประการนี้ เป็นบุญราศีอย่างสูงสุดอย่างประเสริฐ นี้เป็นผลของสัจจะขันติและกตัญญตา พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ประมวลชาดกว่า ท้าวสักกเทวราชกลับชาติมาเป็นพระอนุรุทธะในกาลนี้ เสือโคร่งผู้เป็นใหญ่ที่เที่ยวไปในป่า กลับชาติมาเป็นพระเจ้าสุทโธทนมหาราชพุทธบิดาในกาลนี้ นางพหลาคาวีกลับชาติมาเป็นพระนางสิริมหามายาพุทธมารดาในกาลนี้ ลูกโคกลับชาติมาเป็นพระบรมโลกนาถในกาลนี้ ท่านทั้งหลาย จงทรงจำชาดกนี้ไว้ ด้วยประการฉะนี้