พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2484
รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น
มีความปรารถนาเท่าเทียมกันในอันจะรักษาสันติภาพในเอเชียตวันออก
อาศัยเจตนารมณ์สันติและมิตรภาพซึ่งได้อำนวยการจัดทำสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และมีความปรารถนาจริงใจเท่าเทียมกันที่จะคงดำเนินในทางนี้
ใคร่จะยังเสถียรภาพให้แก่สัมพันธไมตรีซึ่งเพิ่งกลับสถาปนาขึ้นระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส
จึ่งได้ทำความตกลงกันดั่งต่อไปนี้
๑.รัฐบาลญี่ปุ่นให้ประกันแก่รัฐบาลไทย ในลักษณะเด็ดขาดและถอนคืนไม่ได้ แห่งความระงับการขัดกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส อันเปนผลสืบจากการไกล่เกลี่ยของรัฐบาลญี่ปุ่นเนื่องแต่อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และบันดาเอกสารภาคผนวก
๒.รัฐบาลไทยสนองรับหลักประกันของรัฐบาลญี่ปุ่นดั่งกล่าวแล้ว และจะพยายามรักษาสันติภาพในเอเชียตวันออก โดยฉะเพาะอย่างยิ่ง จะพยายามสถาปนาสัมพันธไมตรีแห่งเพื่อนบ้านที่ดี กับทั้งบำรุงเศรษฐสัมพันธ์อันสนิทระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น
รัฐบาลไทยแถลงไว้ด้วยว่า ไม่มีเจตนาที่จะทำความตกลงหรือความเข้าใจใด ๆ กับประเทศภายนอก เพื่อร่วมมือกันทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหาร ในสภาพที่จะให้รัฐบาลไทยขัดกับญี่ปุ่นโดยตรงหรือโดยทางอ้อม
๓.พิธีสารนี้จะได้รับสัตยาบัน และจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณะ โตกิโอ ภายในสองเดือนหลังจากวันลงนาม
พิธีสารนี้จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเปนต้นไป
เพื่อเปนพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เปนสำคัญ
ทำคู่กันเปนสองฉบับ เปนภาษาไทยและญี่ปุ่น ณะ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีสโยวาที่สิบหก
(ประทับตรา) | วรรณไวทยากร | |
(ประทับตรา) | ศรีเสนา | |
น.อ. ศิลปศัสตราคม | (ประทับตรา) | |
วนิช ปานะนนท์ | (ประทับตรา) |
(ประทับตรา) | มัตสุโอกะ โยสุเก | (อักษรญี่ปุ่น) | ||
(ประทับตรา) | มัตสุมิยะ ฮาจิเม | (อักษรญี่ปุ่น) |
บรรณานุกรม
แก้ไข- "ประกาศใช้พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจกันทางการเมือง ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2484". (2484, 5 กรกฎาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 58, ตอน 0 ก. หน้า 891–893.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"