ภูมิแผนที่พระนครศรีอยุธยา
ภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา
กรุงศรีอยุธยานั้น ตั้งอยู่ข้างฟากตะวันออกของกรุงเทพทวาราวดี คงจะอยู่ทางสเตชั่นรถไฟเก่า ออกไปในแถวที่วัดสมณโกษ วัดกุฎีดาว และวัดศรีอโยธยา ซึ่งมาภายหลังเรียกกันว่าวัดเดิม เมืองคงจะหันหน้าไปทางตะวันออกลงแม่น้ำหันตรา แต่กำแพงป้อมปราการเห็นจะไม่ใช่ก่อด้วยอิฐ คงเป็นเชิงเทินดิน เมื่อเมืองร้างแล้วก็มีคนถากถางเกลี่ยทำเป็นไร่นา และทั้งปราสาทราชฐานก็คงจะเป็นเครื่องไม้ จึงมิได้มีสิ่งใดเหลือ
กรุงเทพทวาราวดี
กรุงเทพทวาราวดีซึ่งเป็นเมืองหลวงภายหลัง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโสน ซึ่งเป็นที่แผ่นดินแหลมแม่น้ำลพบุรี ด้านเหนือด้านใต้ด้านตะวันตกจดแม่น้ำ แต่ด้านตะวันออกเป็นพื้นดินเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างกรุงแล้วจึงได้ปรากฏว่า ด้ารตะวันออกนี้มีแต่คู หาแม่น้ำมิได้ คูนี้เป็นคูแยกจากแม่น้ำลพบุรีแต่ตำบลหัวรอ ไปบรรจบแม่น้ำบางกะจะ ป้อมเพ็ชร์เรียกว่าคูขื่อหน้า แต่ชั้นเดิมคงจะแคบ มาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ปี จึงโปรดให้ขุดขยายออกไปเป็นกว้าง ๑๐ วา ลึก ๓ วา เพราะเข็ดเมื่อครั้งในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช คูขื่อหน้าแคบ ทัพหงสาวดีจึงถมถนนข้ามเข้ามาตีกรุงได้
กำแพงเมือง
กำแพงพระนครในชั้นแรกสร้างกรุงเห็นจะยังไม่ได้ก่อด้วยอิฐ เข้าใจว่าจะเป็นแต่เชิงเทินดิน ใช้ขุดดินทางริมน้ำกับข้างใยขึ้นถม คูที่ขุดเอาดินขึ้นมาทางข้างในกำแพงเดี๋ยวนี้ยังปรากฏอยู่ กำแพงอิฐจะมาก่อขึ้นต่อหลัง เพราะรากกำแพงอิฐที่พบในเวลานี้อยู่บนเชิงเทินดิน สูงกว่าระดับดินธรรมดาตั้งแต่วาหนึ่งถึง ๖ ศอก ตัวเชิงเทินดินที่เป็นพื้น ตั้งกำแพงกว้างอย่างน้อยราว ๘ วา กำแพงหนา ๒ วาเศษ ก่ออิฐ ๒ ข้างไว้ช่องกลางถมดินกับอิฐหัก ส่วนสูงตั้งแต่เชิงกำแพงถึงปลายใบเสมา คะเนว่าบางแห่งถ้าในที่ต่ำคงจะราว ๓ วา ถ้าที่สูงคงจะราว ๑๐ ศอกเศษ เพราะพบเศษกำแพงที่เหลือจากรื้ออยู่ที่วัดท่าทรายแห่งหนึ่ง สูงจากพื้นดิน ๙ ศอกเศษเกือบคืบ กับที่ใต้วัดจีนเยื้องหน้าวัดสุวรรณมีประตูช่องกุฏอยู่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง ตรงนั้นเป็นที่ดอนกำแพงสูง ๖ ศอกคืบมีเศษ ที่คิดว่ากำแพงตอนนั้นสูงเท่านี้ก็เพราะด้วยกำแพงที่เหลืออยู่นั้น สูงพ้นหลังประตูช่องกุฏขึ้นไปอีกศอกเศษ ซึ่งคะเนว่าเกือบจะถึงที่ตั้งใบเสมา เพราะธรรมดาประตูช่องกุฏก็อยู่ไล่เลี่ยหรือต่ำกว่าพื้นเชิงเทินำปเพียงนิดน้อย พ้นเชิงเทินขึ้นไปไม่กี่มากน้อยก็ถึงที่ตั้งเสมา กับได้ขุดพบเสมากำแพงเมืองยังเป็นรูปดีอยู่เสมาหนึ่ง กว้างศอกคืบ หนา ๒ ศอก สูง ๒ ศิกคืบ ถ้าเอาส่วนของใบเสมาบวกเข้ากับกำแพงตรงวัดท่าทราย ก็คงได้ราว ๓ วา กำแพงใต้วัดจีนราว ๑๐ ศอก ถึงจะยิ่งหย่อนกว่านี้ไปบ้างก็ไม่สู้มากนัก แต่ถ้าคิดเอาส่วนสูงของกำแพง ตั้งแต่ระดับดินไปจนขาดปลายเสมา คงจะสูงเสล ๔ วาทั้งหมด แนวกำแพงพระนครวัดได้ ๓๑๐ เส้น ในเมืองวัดตามกว้างในที่คอดได้ ๔๐ เส้น ตามยาวได้ ๙๘ เส้น
ขยายกำแพงเมืองด้านตะวันออก
กำแพงเดิมก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้านเหนือตั้งแต่หน้าพระราชวัง คงจะไปตามแนวถนนป่ามะพร้าวแล้วไปเลี้ยวมรามุมใต้ประตูหอรัตนชัย วกลงไปข้างในห่างจากถนนรอบกรุงเดี๋ยวนี้ถึงป้อมเพ็ชร แต่ป้อมเพ็ชรมาตามทางริมน้ำทิศใต้ทิศตะวันตกบรรจบ ทิศเหนือจดคลองท่อ ที่ซึ่งเป็นวังจันทรเกษมเดี๋ยวนี้อยู่นอกพระนคร จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง
และเหตุที่กำแพงเดิมอยู่หังวังจันทร์เกษมห่างจากแม่น้ำเดี๋ยวนี้เข้าไปมากนั้น ก็เห็นจะเป็นด้วยครั้งแรกสร้างกรุงที่แถวนั้นจะเป็นหาดทรายและลำลาบลุ่มมาก เพราะในเวลานี้เมื่อขุดดินลงไปลึกสักศอกเศษ ก็พบพื้นล่างเป็นทราย ครั้นมาภายหลังที่ดอนขึ้น ชานพระนครกว้างออกไป จึงได้สร้างพะเนียดที่จับช้างขึ้นระหว่างวังจันทร์เกษม กับที่ซึ่งเป็นวัดขุนแสนวัดซองเดี๋ยวนี้ และบางทีก็จะได้ใช้เป็นที่ทอดปล่อยเลี้ยงช้างหลวงด้วย
ครั้นมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เกิดศึกหงสาวดีติดพระนคร คงจะทรงเห็นว่า การที่ไว้ชานพระนครกว้าง ปล่อยให้กำแพงกับคูห่างกัน ย่อมเป็นทางให้ข้าศึกข้ามคูเข้ามาถึงกำแพงได้ง่าย เพราะไกลทางปืน จึงโปรดให้ขยายกำแพงพระนครออกไปตั้งถึงขอบริมน้ำ แต่ครั้งนั้นเห็นจะยังไม่แล้วเสร็จ
มาเมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ปี ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงปรากฏว่าได้ทำกำแพงอีกคราวหนึ่ง ก็เห็นจะทำเพิ่มเติมกำแพงที่ค้างมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้นเอง กำแพงใหม่ตอนที่ยกออกมานี้ แยกจากกำแพงเก่าที่ท่าสิบเบี้ย วงเอาวัดราชประดิษฐานและที่ซึ่งภายหลังเป็นวัดขุนแสน วังจันทร์เกษมไว้ข้างใน แล้ววกลงไปบรรจบป้อมเพ็ชร ซึ่งเป็นถนนรอบกรุงที่ใช้เดินกันไปมาอยู่ทุกวันนี้ ส่วนกำแพงเดิมที่อยู่ภายในหลังวังจันทร์เกษมเข้าไปคงจะรื้อปราบลงเป็นถนนในพระนคร คงเป็นถนนป่ามะพร้าวข้างวัดพลับพลาชัยแน่
ขุนหลวงหาวัดก่อกำแพงหน้าวัด
อนึ่งกำแพงเมืองข้างวัดหลวงด้านริมน้ำ เดิมมีชั้นเดียว และตอนนี้ก่อผิดกว่าที่อื่น เชิงกำแพงมีลายบัวคว่ำด้วย ครั้งศึกพระเจ้าอลองพราญีติดพระนคร ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ข้าราชการไปเชิญเสด็จขุนหลวงหาวัดลาพระผนวช ออกช่วยทรงจัดการป้องกันรนักษากรุง ขุนหลวงหาวัดโปรดให้ก่อกำแพงที่ข้างวังลงในที่ริมแม่น้ำ ต่ำกว่าที่กำแพงเดิมอีกชั้นหนึ่ง กำแพงสายนี้ก็ตรวจพบแล้ว แต่อยู่ในที่น้ำท่วมต่ำมาก ครั้นขุดวังคราวนี้ตั้งใจจะถมชายตลิ่งหน้ากำแพงเก่า ให้เท่ากับระดับถนนหน้าจวนมหารใน จะเอากำแพงสายนี้ไว้ ก็จะต้องแหวกดินเป็นคูจึงจะเห็น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าดูแลอย่างไร จึงได้ถมเสีย
ป้อมตามกำแพงเมือง
ตามแนวกำแพงมีป้อมเป็นระยะรอบพระนคร ตามที่ตรวจพบแล้วในเวลานี้มี ๑๖ ป้อม เข้าใจว่าจะมีมากกว่านี้ แต่ไม่มีเวลาพอที่จะขุดค้นได้ตลอด ภายหลังเมื่อตรวจตราได้ความอย่างไร จะได้เพิ่มเติมต่อไป ป้อมรนั้นถ้าอยู่ในที่สำคัญ เช่นตรงแม่น้ำหรือทางร่วม ก็เป็นป้อมใหญ่ก่ออย่างแข็งแรง แต่ป้อมเดหล่านี้ยังเหลือพอที่จะเห็นซวดทรงสัณฐานได้ ๒ แห้งคือ ป้อมเพ็ชรแห่งหนึ่ง เป็นป้อมใหญ่ก่อสำหรับป้องกันข้าศึกที่จะมาทางน้ำตรงมุมพระนครด้านใต้ ป้อมนี้ก่อยื่นออกไปจากแนวกำแพงหนา ๓ วามีเศษ กลางป้อมเป็นพื้นดินว่าง มีบันไดอิฐขึ้นเทิงเชินในป้อม ตามเหลี่ยมป้อมที่พื้นดินมีประตูคูหาก่อเป็นรูปโค้ง มีรอยติดบานที่จะใช้เปิดปิดเข้าออกได้ คูหากว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก บนหลังคูหามีช่องกลวงตลอดขึ้นไปถึงเชิงเทิน
กับป้อมริมประตูข้าวเปลือกอีกแห่งหนึ่ง เป็นป้อมคู่ตั้งอยู่ ๒ ฟากคลอง แต่เล็กกว่าป้อมเพ็ชร ก่อย่อเหลี่ยมเข้าเป็นท่าบรรจบกัน บนป้อมเป็นพื้นอิฐ ตลอดตามเหลี่ยมป้อมมีประตูคูหาโค้งเหมือนป้อมเพ็ชร เข้าใจว่าเมื่อมีข้าศึกมาติดพระนคร คงจะลากปืนใหญ่ออกตั้งยิงป้องกันตามช่องคูหา แต่ถ้าเมื่อเห็นจะเสียท่วงที ก็คงลากถอยปืนใหญ่ไปในป้อมเอาไม้แก่นปักลงในช่องว่างเป็นระเนียดปิดช่องคูหากันหน้าบานประตู ส่วนบนป้อมก็คงจะตั้งปืนใหญ่ได้ ด้วยมีที่กว้าง
ชื่อป้อม
ป้อมตามกำแพงเมืองซึ่งมีชื่อในพระราชพงศาวดาร ก็มีแต่ป้อมมหาไชย ป้อมเพ็ชร หอราชคฤห์ ป้อมนายการ(เห็นจะเป็นป้อมในไก่) ป้อมซัดกบหรือป้อมท้ายกบ กับป้อมจำปาพลอีกป้อมหนึ่ง พงศาวดารไม่ได้กล่าวให้เป็นเข้าใจว่าอยู่ที่ใด แต่ป้อมมหาไชยนั้นได้ความแน่นอนแล้วว่า เป็นป้อมอยู่มุมวังจันทร์เกษม อยู่ในที่ซึ่งเป็นตลาดหัวรอ ป้อมนี้ก็ทีจะเป็นป้อมใหญ่อย่างแข็งแรงเหมือนกัน เพราะตั้งอยู่ในที่เลี้ยว จากแม่น้ำหน้าวัดสามพิหาร ซึ่งจะเป็นทางเข้าไปถึงข้างพระราชวังหลวง
เมื่อครั้งพระเจ้าตะเบงซวยตี้กษัตริย์กรุงหงสาวดียกทัพเข้ามาติดพระนคร ครั้งทรงช้างที่นั่งมายืนอยู่ที่วัดสามพิหาร เร่งให้แม่ทัพนายกองต้อนพลเข้าหักพระนคร พระยารามเอาปืนนารายณ์สังหารลงสำเภาไม้รักแม่นาง ยิงขึ้นไปถูกกิ่งโพธิใหญ่ ๓ กำ หักลงมาใกล้ข้างช้างที่นั่งพระเจ้าตะเบงซวยตี้ ขณะนั้นชาวป้อมมหาไชยก็ยิงปืนใหญ่น้อยสาดเข้าไปถูกรี้พลมอญพะม่าตายมาก ทัพหงสาวดีต้องถอย
อนึ่งเมื่อแรกพระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติ กบฏธรรมเสถียรขี่ช้างพาพวกเข้ายืนอยู่ที่ตรงรอทำนบฟากตะวันออก พระพุทธเจ้าเสือเมื่อยังเป็นกรมพระราชวังบวร เสด็จขึ้นไปบนป้อมมหาไชย ทรงจุดปืนใหญ่ยิงไปถูกช้างซึ่งขบถธรรมเสถียรขี่มาล้มลงตายในที่นั้น แต่ขบถธรรมเสถียรกับอ้ายกุลาทาษผู้เป็นควาญหาถูกปืนไม่ เป็นแต่ตกช้างลงมาก็เจ็บป่วยสาหัส จึงตามจับตัวได้
และป้อมเพ็ชรนั้น เป็นป้อมตั้งตรงมุมพระนครด้านใต้ตรงแม่น้ำบางกะจะ เป็นป้อมสำหรับต่อสู้ข้าศึกที่จะมาทางเรือจากข้างใต้ ต่อป้อมเพ็ชรขึ้นไปทางขื่อหน้าก็มีป้อมใหญ่รายเรียงขึ้นไปอีก ๒ ป้อมในระยะที่ใกล้กัน ป้อมกลางจะมีชื่อเสียงอย่างไรไม่ได้ความ แต่ป้อมเหนือที่ตั้งอยู่ข้างวัดจีนหน้าวัดสุวรรณตรงมุมเกาะแก้วนั้น คงเป็นชื่อหอราชคฤห์ ซึ่งพระมหาธรรมราชาเสด็จไปประทับทรงบัญชาการศึกป้องกันทัพพระยาละแวก ที่ยกเข้ามาปล้นกรุงคราวมาตั้งอยู่ที่ขนอนบางตะนาวศรี
ครั้งนั้นป้อมนายการ(ในไก่)ก็ได้ยิงต่อสู้ข้าศึกด้วย ป้อมในไก่นี้ทีจะอยู่เหนือและใกล้ๆกับป้อมเพ็ชรทางลำน้ำสำเถาล่ม คือกันไม่ให้ทัพเรือขึ้นไปทางเหนือได้
ป้อมซัดกบหรือท้ายกบ เป็นป้อมอยู่มุมพระนครตรงลำน้ำหัวแหลม คืออยู่ในแถวที่ข้างเหนือโรงทหารทุกวันนี้ ที่คิดว่าป้อมนี้เป็นป้อมซัดกบ ก็เพราะมีความในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพะม่ายกมาตีกรุงในครั้งหลัง พระศรีสุริยภาค(น่าจะเป็นพระศรีสุริยพาห)นายป้อมซัดกบประจุปืนมหากาฬมฤตยูราช ๒ สัด ๒ นัด ยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง เพราะหน้าป้อมนี้ก็ตรงไปทางลำน้ำภูเขาทองด้วย
ป้อมจำปาพลนั้น กรมขุนราชสีห์ลงไว้ในแผนที่ของท่านว่า ป้อมที่ออกชื่อมาว่าเป็นป้อมซัดกบนั้นเป็นป้อมจำปาพล แต่ในจดหมายเหตุอีกฉะบับหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นคำให้การขุนหลวงหาวัดว่า ป้อมจำปาพลอยู่ถัดประตูเข้าเปลือกเหนือวัดท่าทราย แต่เห็นว่าป้อมจำปาพลนี้หาใช่ป้อมตามกำแพงไม่ เป็นป้อมชั้นนอก
ข้อที่จะเห็นว่าป้อมนี้อยู่นอกพระนครนั้น คือมีความในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อครั้งพระเจ้ากรุงหงสาวดีตะเบงซวยตี้)ยกทัพเข้ามาติดพระนครในศักราช ๙๐๕ ปี ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้เจ้าพระยาจักรีออกไปตั้งค่ายตำบลลุมพลี เจ้าพระยามหาเสนาออกตั้งค่ายบ้านดอกไม้ป้อมท้องนาหันตรา พระยาพระคลังตั้งป้อมท้ายคู พระสุนทรสงครามตั้งค่ายป้อมจำปาพล ในการสงครามคราวนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพร้อมด้วยพระสุริโยทัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี และพระราเมศวร พระมหินทราธิราชราชโอรส ทรงช้างพระที่นั่งยกพลออกไปต่อยุทธกับพระเจ้าหงสาวดีที่ทุ่งภูเขาทอง ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีเบนให้หลังแก่ข้าศึก พระสุริโยทัยก็ขับช้างพระที่นั่งสอึกเข้ารับไว้ ช้างพระเจ้าแปรรับได้ล่างถนัด ช้างพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังษาพระสุริโยทัยตะพายแล่งมาถึงราวพระถันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวร พระมหินทราธิราชก็ขับช้างพระที่นั่งเข้ากันพระศพพระราชมารดาเข้าพระนครได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดให้เชิญพระศพพระสุริโยทัยมาไว้ที่สวนหลวง ครั้นรุ่งขึ้นพระมหาอุปราชาแต่งพลเข้าตีค่ายพระสุนทรสงครามแตก เสียค่ายและป้อมจำปาพล ครั้นเลิกการสงครามแล้ว จึงโปรดให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพพระสุริโยทัย และที่ซึ่งพระราชทานเพลิงนั้น โปรดให้สถาปนาเป็นพระอารามชื่อวัดสบสวรรค์ มีความดังนี้
ถ้าจะคิดว่าป้อมที่มุมพระนครตรงแม่น้ำหัวเเหลมเป็นป้อมจำปาพล ป้อมนั้นก็อยู่ข้างสวนหลวง ถ้าทัพหงสาวดีตีป้อมนี้ได้ก็คงเมืองแตก พระศพพระศรีสุริโยทัยก็คงจะไม่อยู่มาจนถึงเวลาพระราชทานเพลิง หรือจะคิดว่าป้อมเหนือวัดท่าทรายเป็นป้อมจำปาพล ตามที่จดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดกล่าว ก็ถ้าข้าศึกตีได้เมืองก็ต้องแตกอีก และทัพหงสาวดีคราวนี้ก็ตีพระนครไม่ได้ จึงเห็นว่าป้อมจำปาพลไม่ใช่ป้อมตามกำแพงเมือง เป็นป้อมนอกพระนคร คงจะเป็นป้อมที่อยู่ฟากตะวันตก เหนือวัดท่าวัดการ้องขึ้นไป ที่ตรงปากคลองภูเขาทองข้าม ซึ่งในเวลานี้ก็ยังมีซากป้อม และวัดที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ยังเรียกชื่อว่าวัดป้อมอยู่
ที่พระสุนทรสงครามออกไปตั้งอยู่ที่ป้อมนี้ ก็สำหรับจะป้องกันข้าศึกที่จะมาทางขนอนปากคู เป็นป้อมชั้นนอกพระนครด้านตะวันตก และที่เจ้าพระยาจักรีไปตั้งค่ายเป็นทางป้องกันทางฝ่ายเหนือ เจ้าพระยามหาเสนาตั้งที่ป้อมท้องนาหันตรา ก็คือไปตั้งสกัดต่อสู้ข้าศึกที่จะมาทางลำน้ำสักด้านตะวันออก พระยาพระคลังตั้งป้อมท้ายคู ก็คือตั้งที่ริมแม่น้ำตรงตำบลบางกะจะ เป็นกองป้องกันข้าศึกซึ่งจะขึ้นมาจากทางใต้ เป็นป้อมค่ายชั้นนอก ๔ ทิศพระนคร คล้ายกับป้อมป้องปัจจามิตร์ ป้อมปิดปัจจนึก ป้อมผลาญสัตรูราบ ป้อมปราบสัตรูพ่าย ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ ป้อมหักกำลังดัษกร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทรงสร้างขึ้นเป็นป้อมรายชั้นนอกที่กรุงเทพมหานครนั้น
ประตูเมือง
ประตูเมืองที่เป็นประตูใหญ่ทำลายหมด พอจะเห็นได้แต่ช่องข้างล่าง กว่างราว ๖ ศอกเศษ ในหนังสือโบราณกล่าวว่าประตูใหญ่เป็นประตูยอด รูปทรงมณฑปทาแดง และได้พบรูปภาพที่พนังอุโบสถวัดยม ซึ่งนักปราชญ์ในทางวิชาช่างรับรองว่าเป็นฝีมือที่เขียนไว้แต่ครั้งกรุงเก่านั้น ประตูเมืองก็เป็นรูปยอดมณฑปทาแดง เห็นจะพอเอาเป็นที่เชื่อได้ว่า ยอดประตูเมืองกรุงเก่าไม่ได้เป็นอย่างอื่น แต่ประตูช่องกุดระหว่างประตูใหญ่นั้น ยังเหลือเป็นรูปร่างชัดเจนอยู่ที่แนวกำแพงใต้วัดจีน ก่อเป็นรูปโค้งคูหากว้าง ๔ ศอกคืบ สูง ๕ ศอกเศษ เข้าใจว่าคงจะเป็นรูปดังนี้ทั่วทุกประตู
ถนนในเมือง
อนึ่งในพระนครนั้น มีถนนรีถนนขวางและถนนซอยมากมายหลายสาย ถนนเหล่านี้ต้องพูนดินสูงกว่าระดับดินเดิมตั้งแต่ ๒ ศอกถึง ๔ ศอก เพราะพื้นดินในพระนครเป็นที่ลุ่ม ถึงฤดูน้ำๆคงท่วมทุกปีเหมือนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องถมดินเสียชั้นหนึ่งแล้วปูอิฐตะแคง บางสายกว้าง ๖ วาบ้าง ๓ วาบ้าง ๑๐ ศอกบ้าง และที่เป็นแต่ถนนดินเปล่าไม่ได้ปูอิฐก็มี
จะออกชื่อฉะเพาะแต่ที่เป็นถนนอิฐสายใหญ่ คือถนนหน้าวัง เป็นถนนขวางไปหน้าศาลพระกาฬและป่าตอง ออกประตูชัยที่กำแพงพระนครด้านใต้ยาว ๕๐ เส้น ถนนสายนี้เป็นทางที่พระเจ้าปราสาททองครั้งยังเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ยกพลไปจับพระเชฏฐาธิราช และเป็นทางราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าถวายพระราชศาสน์ในวัง พระราชศาสน์คงจะแห่ด้วยกระบวนเรือ แต่เกาะเรียนหรือขนอนหลวงมาขึ้นบกที่ท่าประตูชัย เข้าวังที่ประตูข้างหน้าวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และที่พักราชทูตก็ให้อยู่ในย่านประตูเทพหมีใต้ประตูชัย ด้วยถนนรีคือถนนหน้าบางตรา ริมท่าสิบเบี้ยไปป่ามะพร้าวออกที่ประตูพระนครด้านตะวันออกใต้ประตูหอรัตนชัยยาว ๕๐ เส้น ถนนหน้าบางตรานี้เป็นที่ซึ่งเจ้าพระยามหาเสนาขี่ช้างเผือกเข้ารบกับพระศรีศิลป์ขบถในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ที่ข้างถนนแต่ท่าสิบเบี้ย ไปจนตรงข้างวัดพลับพลาชัย ข้างซ้ายมีแนวเนินโรงช้างยาวเรียงจตามถนนไป เห็นจะเป็นโรงช้างที่อยู่สุดหัวถนนป่ามะพร้าว ถัดเชิงสะพานช้างเข้ามาที่หมื่นราชสิทธิกรรม์บุตรปะขาวจันเพ็ชร์เจาะจั่ว เอาปืนใหญ่ตั้งยิงเข้าไปในวังจันทร์ถูกกิ่งสนหัก ในครั้งพระบรมโกศรบกับเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าบรเมศร์ และที่พลับพลาชัยข้างถนนนั้นเป็นที่เจ้าอ้ายพระยามาตั้งทัพคราวจะชิงราชสมบัติกับเจ้าญี่พระยา กับในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เมื่อครั้งรบกับพระศรีสุธรรมราชา และส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถานก็เสด็จทางนี้ แต่หัวถนนมาวัดพลับพลาชัยแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางชีกุน แต่พระเพทราชาเมื่อตกพระทัยที่ได้ข่าวขบถธรรมเสถียร ก็ทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลจักรพาฬเสด็จมาตามทาง ภายหลังทรงนึกถึงพระแสงขอเจ้าพระยาแสนพลพ่ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ชนช้างชะนะมหาอุปราชาหงสาวดี จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญมาถวายทันที่สะพานช้าง คงจะเสด็จเกือบตลอดถนน
ถนนตลาดเจ้าพรหมที่เจ้าอ้ายพระยาเจ้าญี่พระยาชิงกันจะเข้าวัง จนเกิดรบกันถึงสิ้นพระชนม์ลงทั้ง ๒ พระองค์ที่เชิงสะพานป่าถ่านนั้น หัวถนนอยู่ต่อกำแพงพระราชวัง ตรงหน้าพระที่นั่งจัรกวรรดิตรงไปป่าถ่าน ออกประตูพระนครด้านตะวันออกที่เหนือบางเอียนตรงวัดจันทร์ ซึ่งเป็นท่าสะเตชั่นรถไฟกรุงเก่ายาว ๕๐ เส้น ที่วัดจันทร์นี้แผ่นดินพระมหินทราชาธิราช ทัพหงสาวดีถมถนนข้ามคูมาเข้าพระนครได้ แต่เวลานั้นคูคงแคบ ถ้ากว้างลึกเหมือนอย่างทุกวันนี้ เห็นทีจะไม่สำเร็จ เว้นแต่จะมีอินยิเนียวิลันดามาด้วย
ถนนนอกเมืองและลำคลอง
ถนนนอกกำแพงพระนคร ที่ปูอิฐพบสายเดียวแต่ถนนหน้าจวนทหารในริมกำแพงด้านริมน้ำ ซึ่งเป็นส่วนข้างพระราชวัง นอกจากนี้ก็เห็นจะเป็นแต่ทางหลวง เป็นตรอกซอกพอเดินไปมาตามละแวกหมู่บ้านเท่านั้น คลองในเมืองและมีคลองเล็กใหญ่ในพระนครก็หลายคลอง คลองใหญ่คือคลองท่ออยู่ท้ายวัง ไปออกทางแม่น้ำด้านใต้ตรงหน้าวัดพุทไธสวรรย์ ปากคลองทางโน้นเรียกว่าคลองฉะไกรใหญ่ คลองประตูข้าวเปลือกที่ตำบลท่าทรายตรงไปออกแม่น้ำด้านใต้ ปากคลองทางโน้นเรียกว่าคลองประตูจีน คลองนี้เมื่อปลายแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในเวลาทรงพระประชวร พระบรมโกศกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าบรเมศร์ทำศึกชิงราชสมบัติกัน พระบรมโกศตั้งค่ายรายริมคลองฟากตะวันออก เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าบรเมศร์ตั้งค่ายรายริมคลองตะวันตก เอาคลองเป็นเขตกั้น คลองประตูหอรัตนชัยอยู่ใต้วังจันทร์เกษมด้านตะวันออกไปออกแม่น้ำริมป้อมเพ็ชร ปากคลองทางโน้นเรียกว่าคลองในไก่ และที่ใต้สะพานช้างมีคลองแยกจากคลองประตูข้าวเปลือกไปทะลุคลองหลังวังจันทร์ จะไปออกคลองหอรัตนชัยหรือคลองในไก่ก็ได้ ด้านใต้เหนือคลองในไก่ขึ้นไปถึงคลองประตูจีน พ้นคลองประตูจีนก็ถึงคลองประตูเทพหมี ตอนปากึคลองเลี้ยวหัวหน่อยหนึ่ง แล้วตรงไปในบึงชีขัน คลองประตูเทพหมีนี้ ว่าเรียกตามชื่อหลวงเทพอรชุณ(หมี)ผู้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่นั้น เหนือคลองประตูเทพหมีก็มีคลองฉะไกรน้อย ไปทางข้างวัดบรมพุทธารามถึงวัดป่าใน แล้วเลี้ยวผ่านคลองประตูเทพหมีคลองประตูจีนไปบรรจบคลองประตูในไก่ ทางด้านตะวันตกมีคลองประตูท่าพระตรงมาทางตะวันออก ผ่านคลองฉะไกรใหญ่มาบรรจบคลองฉะไกรน้อย และยังมีคลองซอยคลองแยก ตามระหว่างคลองใหญ่เป็นหลายสาย
บรรดาคลองใหญ่ซึ่งออกแม่น้ำนั้นเห็นว่า ตามปากคลองคงจะมีทำนบกั้นน้ำไว้สำหรับราษฎร ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครใช้สรอย เพราะว่ากรุงเก่าถึงจะเป็นเมืองลุ่มหน้าน้ำๆท่วมก็จริง แต่ถึงฤดูแล้งน้ำก็ลดต่ำกว่าตลิ่งลงไปเกือบ ๓ วา คลองในพระนครอย่างลึกก็คงจะ ๓ วาหรือไม่ถึง เมื่อเป็นเช่นนั้น ถึงหน้าแล้งน้ำในคลองในพระนครก็คงแห้งหมด จะมีน้ำใช้ก็แต่บึงชีขันแห่งเดียว
ข้อที่เห็นว่าจะมีทำนบกั้นน้ำตามปากคลองนั้น ก็ด้วยเมื่อครั้งหนึ่งมีผู้ขุดซ่อมคลองในไก่กับคลองหอรัตนชัย ได้พบไม้เต็งรังบ้าง ไม้ตะเคียนบ้าง หน้ากว้างราวคืบ ๔ เหลี่ยม ยาว ๖ ศอกบ้าง เกิน ๖ ศอกบ้าง จมขวางตามปากคลองเรียงไปตามแนวกำแพงอยู่เป็นอันมาก และทั้งมีเสาสั้นๆปักอยู่ด้วย จึงคิดว่าเสานั้นคงจะปักรายเต็มปากคลอง แล้วเอาไม้เหลี่ยมวางเรียงเป็นตับขึ้นไปทั้ง ๒ ข้าง ถมดินกลางให้แน่นเป็นทำนบ สูงเพียงสักครึ่งคลองถ้าถึงฤดูน้ำๆขึ้นมาท่วมเลยหลังทำนบ ก็ใช้เรือไปมาในพระนครได้ แต่เมื่อใดน้ำลดลงมาถึงทำนบก็เลิกใช้เรือ ขังน้ำไว้สำหรับราษฎรที่อยู่ในพระนครได้บริโภค
สะพานในเมือง
ตามข้างคลองเหล่านี้ ในที่ใดถ้ามีถนนผ่านมา ก็มีสะพานข้ามคลองทุกสาย ถ้าเป็นถนนใหญ่ก็เป็นสะพานเชิง ๒ ข้างก่ออิฐ กลางเห็นจะปูกระดาน เช่น สะพานป่าถ่าน สะพานชีกุน สะพานข้ามคลองในไก่ สะพานหน้าวัดบรมพุทธาราม สะพานรำเพย(เห็นจะเป็นสะพานหน้าหับเผย เพราะถนนนั้นมาหน้าคุก) แต่บางสะพาน เช่น สะพานประตูจีน สะพานประตูเทพหมีนั้น ก่ออิฐตลอด กลางคลองเจาะเป็นช่องโค้งคูหา กลางใหญ่ ๒ ข้างเล็ก เป็น ๓ ช่อง สำหรับให้เรือลอดไปมาได้
และยังมีอีกสะพานหนึ่งซึ่งว่าเป็นสะพานใหญ่ในพระนคร คือสะพานช้างต่อถนนป่ามะพร้าวข้ามคลองประตูข้าวเปลือก ตรงหน้าวัดพลับพลาชัย สะพานนี้เชิงก่อด้วยแลง และเมื่อครั้งพระนารายณ์เสด็จส่งพระเป็นเจ้า ว่าพวกวังหลังแอบซุ่มจะคอยทำร้ายในที่นี้ กับคราวเมื่อพระบรมโกศรบกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าบรเมศร์ ขุนศรีคงยศ พวกเจ้าฟ้าอภัยตั้งค่ายปิดเชิงสะพานฝั่งตะวันตกไว้ จะไม่ให้พวกวังหน้าข้ามไปได้
กับอีกสะพานหนึ่งซึ่งมีชื่อมีชื่อแปลกกว่าสะพานเหล่านี้ เป็นสะพานข้ามคลองท่อเข้ามาในวังตอนข้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตยาสน์ แต่เยื้องออกไปข้างเหนือ เรียกว่า สะพานสายโซ่ เชิง ๒ ข้างก่ออิฐ ตัวสะพานจะเป็นอย่างไรตำราไม่ได้กล่าวไปถึง แต่ลองคิดดูน่าจะเป็นสะพานหกได้ดอกกระมัง เพราะสะพานหกก็ใช้สายโซ่ และเห็นเข้าทีที่ว่าเป็นสะพานเข้าใกล้วัง ถ้าทำเป็นสะพานช้างตายตัวและมีเหตุการณ์ขึ้น สัตรูจะข้ามเข้าประชิดวังได้ง่าย ถ้าเป็นสะพานหกเปิดได้แล้ว ถึงจะเกิดสัตรูและถ้ารู้ล่วงหน้าก็จะชักสะพานนั้นออกเสีย ไม่ให้เป็นทางเดินเข้ามาประชิดวังได้ แต่สะพานข้ามคลองอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ เห็นจะเป็นสะพานไม้ เพราะไม่ได้พบรากอิฐที่เชิงสองข้างนั้น
บึงชีขัน
ภายในพระนครตอนหน้าพระราชวังด้านใต้มีบึงใหญ่ บึงตอนเหนือเรียกว่า บึงญี่ขัน ตอนใต้เรียกว่า บึงพระราม เห็นว่าชื่อทั้ง ๒ นี้คงจะเป็นชื่อเพี้ยนชื่อหนึ่ง ชื่อใหม่ชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงญี่ขัน นั้นคงจะเป็น ชีขัน ซึ่งมีชื่อมาในกฎมณเฑียรบาลอีกชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงพระราม นั้นก็คือเป็นบึงในบริเวณชีขันนั้นเอง แต่อยู่ตรงหน้าวัดพระราม แต่เดิมมาบางทีจะเรียกตอนนั้นว่า บึงหน้าวัดพระราม เพราะประสงค์จะให้เข้าใจที่ให้ง่ายขึ้น ภายหลังมาก็เรียกห้วนเข้าแต่ว่าบึงพระราม ทิ้งคำว่า หน้าวัด เสีย จึงเลยเป็นชื่อของบึงนั้นว่า บึงพระราม ต่อมา
บึงชีขันนี้พิเคราะห์ดูเห็นว่าเดิมจะเป็นหนองเป็นที่มีน้ำขังอยู่แล้ว หรือจะคิดให้สูงขึ้นไปจะว่าเป็นตัว "หนองโสน" ตามที่มีชื่อมาในพระราชพงศาวดารจะได้ดอกกระมัง แต่ไม่มีพะยานหลักฐานอะไรนอกจากลองนึกเดา บึงนี้เดิมทีก็จะเล็ก ต่อมาเมื่อสร้างกรุง คงจะขุดเอาดินในที่แถวนี้ขึ้นถมเป็นพื้นวังและพื้นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม จึงกลายเป็นใหญ่โตไป ดินที่เว้นไว้เป็นทางคนขนมูลดินเดิน ก็เลยทำเป็นถนนรีถนนขวางข้ามบึงปูอิฐตะแคงเสียทั้ง ๓ สาย เจาะช่องสำหรับให้เรือเดินไปมาได้ถึงกันตลอดบึง ตามหลังช่องนั้นคิดดูเห็นจะมีสะพานไม้ สำหรับให้คนเดินไปมาตามถนนได้ตลอด และมีทางน้ำที่จะเอาเรือนอกพระนครเข้าไปในบึงได้ ๒ ทาง ด้านใต้คลองประตูจีน คลองประตูเทพหมี คลองฉะไกรน้อย มารวมกันเข้าที่ข้างวัดสะพานนาคทางหนึ่ง ด้านตะวันออกเข้าช่องแยกจากคลองประตูข้าวเปลือก ข้างวัดมหาธาตุทางหนึ่งในบึงมีวัดอยู่ตามเกาะหลายวัด และตึกดินก็อยู่บนเกาะในบึงนี้ด้วย
ที่ขอบบึงตรงหน้าวัดพระรามออกไปมีตึกหลังหนึ่งเป็นตึกสองชั้น ตามช่องประตูหน้าต่างก่อเป็นโค้งคูหา มีทางขึ้นข้างหน้าและข้างๆตึก ตึกนี้ชาวบ้านบางคนว่าเป็นตึกพระราชาคณะผู้ครองอาวาสวัดพระราม แต่พิเคราะห์ดูเห็นจะไม่ใช่ของสำหรับวัด เพราะอยู่นอกกำแพงวัดเเละเป็นตึกสูง น่าจะเป็นพระที่นั่งสำหรับเสด็จขึ้นไปประทับทอดพระเนตรเรือ ซึ่งจะโปรดให้มีประชุมเล่นเพลงสักวาในคราวนักขัตฤกษ์ฤดูน้ำบ้างในบางปี