มติมหาเถรสมาคม ที่ 558/2567

ตราครุฑ
ตราครุฑ
มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ ๑๙/๒๕๖๗
สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม

มติที่ ๕๕๘/๒๕๖๗
เรื่อง เสนอความเห็นของคณะกรรมการพิจารณากรณีของพระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ

ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๙/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า อนุสนธิมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม มติที่ ๕๒๙/๒๕๖๗ ในการประชุมครั้งที่ ๑๘/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ รับทราบการที่ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหนังสือสำนักพระราชวัง ที่ พว ๐๒๐๒.๒/๑๐๕๖๗ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗ กราบทูลสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ความสรุปว่า ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งพระสังฆาธิการ จำนวน ๘ รูป เพื่อพิจารณากรณีพระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ ทั้งนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงทราบและมีพระบัญชาโปรดให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่สนองพระราชกระแสในการพิจารณาดำเนินการ สรุปผลเพื่อพิจารณา และนิมนต์พระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ มารับทราบต่อไป

คณะกรรมการได้มีการประชุมเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และได้พิจารณาทั้ง ๔ ประเด็น สรุปได้โดยสังเขปดังนี้

ประเด็นที่ ๑ กรณีการกล่าวถึงพระไตรปิฎกว่า เชื่อถือได้ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เชื่อถือไม่ได้
ข้อพิจารณาในประเด็นที่ ๑

๑.๑ พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระภิกษุย่อมมีหน้าที่ในการธำรงรักษาพระไตรปิฎก ผู้ที่คัดค้านพระไตรปิฎกย่อมชื่อว่าทำความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกฉบับเถรวาท เป็นคัมภีร์ที่ผ่านการสังคายนาคือเรียบเรียงสอบทานโดยพระอรหันต์บูรพาจารย์อันเป็นการส่งต่อและสืบทอดปณิธานมาโดยลำดับจวบถึงยุคปัจจุบัน การจัดพิมพ์หรือเผยแพร่พระไตรปิฎกให้พุทธศาสนิกชนจำนวนมากได้ศึกษาเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นข้อยืนยันแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และเป็นไปตามคตินิยมดงัที่ปรากฏคาถาในคัมภีร์สัทธัมมสังคหะและตอนท้ายการจารคัมภีร์ต่าง ๆ มีสาสนวังสัปปทีปิกาเป็นต้น ดังนี้ว่า

อกฺขรํ เอกเมกญฺจ พุทฺธรูปสมํ สิยา
ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส ลิเขยฺย ปิฎกตฺตยํ
แปลความว่า อักษรหนึ่งตัว เทียบเท่ากับพระพุทธรูปหนึ่งองค์เหตุนั้น บัณฑิต จึงควรสร้างพระไตรปิฎก
๑.๒ การกล่าวว่าพระไตรปิฎกประมาณร้อยละ ๒๐ เชื่อถือไม่ได้ โดยไม่ได้ระบุว่าหมายถึงปิฎกใดจะทำให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงสงสัย หากหมายถึงพระวินัยปิฎก จะเกิดข้อคำถามว่า ในสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ มีข้อใดที่เชื่อไม่ได้ ปาราชิก ๔ ที่ภิกษุล่วงละเมิดแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ นับเข้าในร้อยละ ๒๐ นั้นหรือไม่ และย่อมเป็นการขัดแย้งกับมติที่ประชุมพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นองค์ประธานในครั้งปฐมสังคายนา โดยปรากฏหลักฐานในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ดังนี้

"สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ ... สงฺโฆ อปฺปญฺญาตํ น ปญญาเปติ ปญฺญาต น สมุจฺฉินฺทติ ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺตติ ขมติ สงฺฆสุส ตสฺมา ตุณหี เอวเมตํ ธารยามิ แปลความว่า ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า...สงฆ์ ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่เพิกถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้ว สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว สงฆ์เห็นชอบมติดังกล่าวนี้ ดังนั้น จึงนิ่งเฉย ข้าพเจ้าขอทรงจำมติสงฆ์เห็นชอบนี้ไว้ ด้วยอาการอย่างนี้"

หากหมายถึงพระสุตตันตปิฎก ก็จะเกิดข้อคำถามและข้อขัดแย้งลักษณะเดียวกันกับพระวินัยปิฎก

หากหมายถึงพระอภิธรรมปิฎก ก็จะขัดแย้งกับอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ ดังที่ปรากฏคำบาลีว่า อภิธมฺมํ ปฏิพาหนฺโต อิมสฺมึ ชินจกุเก ปหารนุเทติ สพฺพญฺญุตญาณํ ปฏิพาหติ สตฺถุ เวสารชฺชญาณํ ปฏินิวตฺเตติ โส ตุกามํ ปริสํ วิสํวาเทติ อริยมคฺเค อาวรณํ พนฺธติ อฏฺฐารสสุ เภทกรวตฺถูสุ เอเกกสฺมึ สนฺทิสฺสติ แปลความว่า ผู้คัดค้านพระอภิธรรม ชื่อว่าให้การประหารในชินจักรนี้ ชื่อว่าคัดค้านพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าดูหมิ่นเวสารัชชญาณของพระศาสดา ชื่อว่าหลอกลวงพุทธบริษัทผู้ประสงค์จะฟัง ชื่อว่าผูกเครื่องกั้นอริยมรรค จักปรากฏในเภทกรวัตถุ (เรื่องที่สร้างความแตกแยก) ๑๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง

๑.๓ คณะสงฆ์เถรวาท มีจารีตถือสืบต่อกันมาแต่ครั้งปฐมสังคายนาจวบถึงปัจจุบันว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญสูงสุด จะก้าวล่วงโดยประการใด ๆ มิได้ เพราะพระไตรปิฎกเปรียบเสมือนตัวแทนองค์พระบรมศาสดาเนื่องด้วยพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้ปรากฏโดยพระพุทธดำรัสว่า อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา นั้น ได้รับการสังคายนารวบรวมเรียบเรียงไว้ในคัมภีร์ที่เรียกว่าพระไตรปิฎก

๑.๔ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ทรงรับเป็นพระราชธุระในอันที่จะธำรงรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นหลักพระศาสนา กล่าวโดยเฉพาะในพุทธศักราช ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้น ในพุทธศักราช ๒๕๓๐ อันเป็นศุภวารดิถีมหามงคล ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ซึ่งในโอกาสนี้ได้จัดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ออกเป็นฉบับบาลีอักษรไทยและฉบับแปลเป็นภาษาไทย

ประเด็นที่ ๒ กรณีการกล่าวว่า พระอรหันต์และพระพุทธเจ้า ยังมีความโกรธอยู่
ข้อพิจารณาในประเด็นที่ ๒

๒.๑ ประเด็นดังกล่าว ปรากฏข้อความบาลีในจาตุมสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ ว่า เตน โข ปน สมเยน สารีปุตตโมคคลลานปุปมุขานิ ปญฺจมตฺตานิ ภิกฺขุสตานิ จาตุมํ อนุปฺปฺตตานิ โหนฺติ ภควนฺต ทสฺสนาย ฯ เต จ อาคนฺตุกา ภิกขู เนวาสิเกหิ ภิกฺขูหิ สทฺธึ ปฏิสมฺโมทมานา เสนาสนานิ ปญฺญาปยมานา ปตฺตจีวรานิ ปฏิสามยมานา อุจฺจาสทฺทา มหาสทฺทา อเหสุํ ฯ...คจฺฉถ ภิกฺขเว ปณาเมมิ โว น โว มม สนฺติเก วตฺถพุพนติ ฯ

แปลความว่า ก็สมัยนั้น ภิกษุประมาณห้าร้อยรูป มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประธาน เดินทางไปถึงหมู่บ้านจาตุมา เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับพวกภิกษุท้องถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวร จึงเกิดเสียงดังอื้ออึงขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไป เราประณามพวกเธอ พวกเธอไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา

อรรถกถาจาตุมสูตร อธิบายคำบาลีว่า ปณาเมมิ ไว้ดังนี้ว่า ปณาเมมีติ นีหรามิ น โว มม สนฺติ เก วตฺตพฺพนฺติ ตุเมฺห มาทิสสฺส พุทฺธสฺส วสนฏฺฐานํ อาคนฺตฺวา เอวํ มหาสทฺทํ กโรถ อตฺตโน ธมฺมตาย วสนฺตา กึ นาม สารุปฺปํ กริสฺสถ ตุมฺหาทิสานํ มม สนฺติเก วสนกิจจํ นตฺถีติ ทีเปติ

แปลความว่า บทว่า ปณาเมมิ แปลว่า ไล่ ข้อว่า น โว มม สนฺติเก วตฺตพฺพํ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า พวกเธอมาถึงที่อยู่ของพระพุทธเจ้าเช่นเราแล้ว ยังทำเสียงดังได้ขนาดนี้ เมื่ออยู่กันตามลำพังตนเอง จักทำเรื่องที่สมควรได้อย่างไร ภิกษุเช่นพวกเธอ ไม่มีความจำเป็นที่จะอยู่ในสำนักเรา

๒.๒ กรณีนี้ มีการกล่าวอ้างว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่ชอบใจเสียงนั้น ซึ่งมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าโกรธที่ภิกษุหลายร้อยรูปทำเสียงดังในที่ประทับของพระพุทธองค์ แต่จาตุมสูตรทั้งภาคบาลีอักษรไทยและภาคคำแปลเป็นภาษาไทย ไม่ปรากฏคำบาลีที่จะแปลได้ว่า "เราไม่ชอบใจเสียงนั้น" ทั้งไม่ปรากฏคำแปลเป็นภาษาไทยว่า "เราไม่ชอบใจเสียงนั้น" แต่อย่างใดทั้งสิ้น ปรากฏแต่เพียงคำบาลีว่า "ปณาเมมิ" ซึ่งแปลล้อศัพท์ว่า "ประณาม" แปลความว่า "ไล่"

๒.๒.๑ คำบาลีว่า "ปณาเมมิ" เป็นนโยบายในทางปกครองคณะสงฆ์ ดังปรากฏคำบาลีจาตุมสูตร หลังจากที่ทรงประณามภิกษุสงฆ์แล้ว ดังนี้ว่า อถ โข ภควา อายสุมนฺตํ มหาโมคฺคลฺลานํ อามนฺเตสิ กินฺติ เต โมคฺคลฺลาน อโหสิ มยา ภิกฺขุสงฺเฆ ปณามิเตติ ฯ เอวํ โข เม ภนฺเต อโหสิ ภควตา ภิกฺขุสงฺเฆ ปณามิเต อปฺโปสฺ สุกฺโกทานิ ภควา ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารํ อนุยุตฺโต วิหริสฺสติ อหญฺจทานิ อายสฺมา จ สารีปุตฺโต ภิกฺขุสงฆํ ปริหริสฺสามติ ฯ สาธุ สาธุ โมคฺคลฺลาน อหํ วา หิ โมคฺคลฺลาน ภิกฺขุสงฺฆํ ปริหเรยฺยํ สารีปุตฺตโมคฺคลฺลานา วาติ

แปลความว่า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานะมาถามว่า ดูกรโมคคัลลานะเมื่อเราประณามภิกษุสงฆ์แล้ว เธอคิดอย่างไร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงประณามภิกษุสงฆ์แล้ว ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาค จักทรงมีเวลาว่างประกอบปัจจุบันสุขวิหารธรรมประทับอยู่ ณ บัดนี้ เราและท่านพระสารีบุตร จักช่วยกันปกครองภิกษุสงฆ์พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ถูกต้อง ๆ โมคคัลลานะ ความจริง เรา โมคคัลลานะหรือสารีบุตรควรปกครองภิกษุสงฆ์

๒.๒.๒ คำบาลีว่า "ปณาเมมิ" เป็นวิธีลงโทษเพื่อให้ภิกษุเกิดสำนึกในความผิดแล้วแก้ไขปรับเปลี่ยนความประพฤติตน วิธีการใช้ ปณาเมมิ ปรากฏในพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์ลงโทษ พระสัทธิวิหาริกหรือพระอันเตวาสิกผู้ที่ไม่มีความรัก ไม่เลื่อมใส ไม่ละอาย ไม่เคารพ ไม่หวังดีต่อพระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์ ดังพระบาลีว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อสมฺมาวตฺตนฺตํ ปณาเมตุํ แปลความว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติมิชอบ" ขณะเดียวกัน หากพระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์ ไม่ประณามพระสัทธิวิหาริกหรือพระอันเตวาสิก ผู้ที่ประพฤติไม่ถูกต้อง ก็ต้องอาบัติทุกกฏดังพระบาลีว่า น จ ภิกฺขเว อสฺมมาวตฺตนฺโต น ปณาเมตพฺโพ โย น ปณาเมยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฎสส แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์จะไม่ประณามสัทธิวิหาริก ผู้ประพฤติมิชอบ ไม่ได้ อุปัชฌาย์รูปใด ไม่ประณาม อุปัชฌาย์รูปนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ การลงโทษโดยลดความสำคัญที่เรียกว่าประณาม เป็นข้อวัตรประการหนึ่งในพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นการแสดงออกหรือสะท้อนถึงความโกรธของผู้ที่ทำการประณาม แต่อย่างใด

๒.๓ สภาวะหรือคุณสมบัติแห่งจิตของพระอรหันต์ เป็นเช่นไรนั้น ปรากฏหลักฐานยืนยันอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ ปรมัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๕ เป็นต้น ดังนี้ว่า อรหโต ราคา จิตฺตํ มุตฺตํ วิมุตฺตํ สุวิมุตฺตํ ฯ โทสา จิตฺตํ มุตฺตํ วิมุตฺตํ สุวิมุตฺตํ ฯ โมหา จิตฺตํ มุตฺตํ วิมุตฺตํ สุวิมุตฺตํ โกธา อุปนาหา...

แปลความว่า จิตของพระอรหันต์ พ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว จากราคะ ความกำหนัด จากโทสะ ความขัดเคือง จากโมหะ ความหลง จากโกธะ ความโกรธ จากอุปนาหะ ความผูกโกรธ

๒.๔ สภาวะแห่งจิตของพระพุทธเจ้า เป็นเช่นไรนั้น ปรากฏหลักฐานยืนยันอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ อุปาลิเถราปทาน เป็นต้น ดังนี้ว่า

อุทเก อคฺคิ น สณฺฐาติ วีชํ เสเล น รูหติ
อคเท กิมิ น สณฺฐาติ โกโป พุทฺเธ น ชายติ
ยถา จ ภูมิ อจลา อปฺปเมยฺโย จ สาคโร
อนนฺตโก จ อากาโส เอวํ พุทฺธา อโขภิยา
ไฟไม่เกิดในน้ำ พืชไม่งอกบนแผ่นหิน เชื้อโรคไม่เกิดในยาฆ่าเชื้อ
ฉันใด ความโกรธ ย่อมไม่เกิดในพระพุทธเจ้า ฉันนั้น
อนึ่ง แผ่นดิน ไม่เคลื่อนที่ สมุทรสาคร ประมาณมิได้ และอากาศ
ไม่มีที่สุด ฉันใด พระพุทธเจ้า ก็ไม่มีใครทำให้ทรงโกรธได้ ฉันนั้น
เทวาทตฺเต จ วธเก โจเร จงฺคุลิมาลเก
ราหุเล ธนปาเล จ สพฺเพสํ สมโก มุนี
เอเตสํ ปฏิฆํ นตฺถิ ราโคเมสํ น วิชฺชติ
สพฺเพสํ สมโก พุทฺโธ วธกสฺโสรสสฺส จ
พระมุนีพุทธเจ้า มีจิตเสมอภาคต่อสรรพสัตว์ คือ ในพระเทวทัต
พลแม่นธนู โจรองคุลิมาล พระราหุล และในช้างธนบาล
พระพุทธเจ้าเหล่านี้ ย่อมไม่มีปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ไม่มีราคะ (ความกำหนัด) พระพุทธเจ้า มีจิตเสมอภาคต่อชนทั้งปวง คือต่อผู้ที่จะปลงพระชนม์และต่อพระโอรส

๒.๕ มิลินทปัญหา เป็นปกรณ์ที่ตอบโจทย์คำถามว่าพระพุทธเจ้ายังมีความโกรธอยู่หรือไม่ กล่าวคือ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๕ เคยมีผู้กล่าวทำนองว่า พระพุทธเจ้า น่าจะยังมีความโกรธหลงเหลืออยู่ โดยอ้างถึงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงประณามภิกษุสงฆ์ในจาตุมสูตร ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันนี้ ในกาลครั้งนั้น พระนาคเสนเถระถวายพระพรตอบพระราชาผู้ตรัสถาม สรุปความได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หาได้ทรงประณามภิกษุสงฆ์ด้วยความโกรธแต่อย่างใดไม่ หากแต่ทรงประณามเพราะเหตุคือความผิดของภิกษุสงฆ์เอง เปรียบเสมือนบุคคลเดิน ไม่ระวังแล้วสะดุดล้มลงที่พื้นปฐพี จะกล่าวหาพื้นปฐพี่ว่าแกล้งทำให้ตนล้ม หาได้ไม่ เพราะพื้นปฐพีไม่เคยมีความโกรธหรือความพอใจใคร ๆ และเปรียบเสมือนสมุทรสาครไม่ยอมอยู่ร่วมกับซากศพ แต่กลับพัดพาซากศพเข้าหาฝั่งทุกวันคืน จะกล่าวหาสมุทรสาคร ว่า เหตุใด จึงไม่เก็บซากศพไว้ หาได้ไม่ เพราะมหาสมุทรไม่เคยมีความโกรธหรือความพอใจใด ๆ ซึ่งสุดท้ายพระราชาตรัสยอมรับว่า "ท่านพระนาคเสน วิสัชนาได้ถูกต้องแล้ว" สำหรับชาวพุทธ ทั่วโลก ประเด็นปัญหาที่ว่าพระพุทธเจ้า ยังทรงมีความโกรธอยู่หรือไม่นั้น เป็นที่ยุติแล้วตามข้อวิสัชนาในมิลินทปัญหายุติแล้วเป็นเวลานาน ผ่านมากว่า ๒,๐๐๐ ปี

ประเด็นที่ ๓ กรณีการกล่าวว่า พุทธเจ้าบอกว่า สิ่งที่ควรค่าแก่การเคารพสักการะกราบไหว้ในฐานะชาวพุทธ มีเพียง ๓ เท่านั้น คือ
๑. ธาตุเจดีย์ ที่เรียกว่าพระบรมสารีริกธาตุ
๒. ปริโภคเจดีย์ คือต้นพระโพธิอันเป็นที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. อุทเทสิกเจดีย์ คือการแสดงธรรม
ข้อพิจารณาในประเด็นที่ ๓

๓.๑ ประเด็นที่ ๓ นี้ เป็นการนำคำแปลในอรรถกถากลิงคโพธิชาดก มากล่าวเป็นเชิงปฏิเสธว่าพระพุทธรูป ไม่ใช่อุทเทสิกเจดีย์ จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรกราบไหว้ ในอรรถกถากาลิงคโพธิชาดกนั้น ปรากฏข้อความบาลีว่า "อุทฺทิสิกมวตฺถุกํ มมายนมตฺตเมว โหติ" อุทฺทิสิกมวตฺถุกํ ตัดบทเป็น อุทฺทิสิกํ อวตฺถุกํ คำแปลที่ถูกนำมาอ้างอิงคือ อุทฺทิสกํ อุทเทสิกเจดีย์ อวตฺถุกํ ไม่มีวัตถุปรากฏ มมายนมตฺตํ เอว โหติ แต่เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยพระตถาคต ในประโยคนี้ สมควรแปลให้ถูกต้องว่า อุทฺทิสกํ อุทสิกเจดีย์ อวตฺถุกํ มิใช่สถานที่ หรือแปลว่ามิใช่วัตถุสิ่งของ มมายนมตฺตํ เอว โหติ เป็นเพียงสิ่งนับเนื่องด้วยเราตถาคตเท่านั้น การที่แปล อวตฺถุกํ ว่า มิใช่สถานที่ เป็นการแปลที่สอดคล้องกับประโยคช่วงต้นเรื่อง คือ เอกสฺส ปูชนียฏฺฐานสุส สกุกุเณยยภาวํ ชานาถ ซึ่งแปลความว่า ท่านโปรดรับรู้ถึงสถานที่สักแห่งซึ่งสามารถจะเป็นปูชนียสถาน (สถานที่รองรับการบูชา) ได้ และเป็นการแปลไปตามธาตุ คือ วสุ ธาตุ ในความอยู่ (นิวาเส) การแปลเช่นนี้ ไม่เป็นการปฏิเสธการกราบไหว้พระพุทธรูปและสมกันกับคำบาลีในอรรถกถานิธิกัณฑสูตร ที่ระบุว่า เอวํ ภควา ยสฺส ทาเนนาติ อิมาย คาถาย ปุญฺญสมฺปทาย ปรมตฺถ โต นิธิภาวํ ทสฺเสตฺวา อิทานิ ยตฺถ นิหิโต โส นิธิ สุนิหิโต โหติ ตํ วตถุํ ทสฺเสนฺโต อาห

เจติยมฺหิ จ สงฺเฆ วา ปุคฺคเล อติถีสุ วา
มาตริ ปิตริ จาปี อโถ เชฏฺฐมฺหิ ภาตรีติ

ตตฺถ จยิตพฺพนฺติ เจติยํ ปูเชตพฺพนฺติ วุตฺตํ โหติ จิตตฺตา วา เจติยํ. ตมฺปเนตํ ติวิธํ โหติ ปริโภคเจติยํ อุทฺทิสฺสกเจติยํ สธาตุกเจติยนฺติ. ตตฺถ โพธิรุกฺโข ปริโภคเจติยํ พุทฺธปฏิมา อุทฺทิสฺสกเจติยํ ธาตุคพฺภา ถูปา สธาตุกเจติยํ นาม.

แปลความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงว่าบุญสัมปทาเป็นขุมทรัพย์โดยปรมัตถ์ ด้วยพระคาถานี้ว่า ยสฺส ทาเนน เป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงวัตถุเป็นที่ที่บุคคลฝังขุมทรัพย์ไว้แล้วชื่อว่าฝังไว้ดี จึงตรัสพระคาถาว่า

ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี
ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี
ในพระคาถานั้น ที่ชื่อว่าเจติยะ (เจดีย์) เพราะหมายความว่า ควรก่อ อธิบายว่า ควรบูชา อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าเจติยะ (เจดีย์) เพราะว่าเป็นสิ่งที่ก่อเสร็จแล้ว
ก็ เจดีย์นี้นั้น มี ๓ ประเภท คือ บริโภคเจดีย์ อุทิสสกเจดีย์ สธาตุกเจดีย์ บรรดาเจดีย์ ๓ ประเภทนั้น ต้นโพธิ์ ชื่อว่าบริโภคเจดีย์ พระพุทธปฏิมา ชื่อว่าอุทิสสกเจดีย์ สถูปบรรจุพระธาตุ ชื่อว่าสธาตุกเจดีย์หรือที่ไทยเรียกว่าพระธาตุเจดีย์

อรรถกถานี้ เป็นการอธิบายพระพุทธคาถานิธิกัณฑสูตร ในพระไตรปิฎก ฉบับบาลี เล่มที่ ๒๕ คืออธิบายบทว่า "เจติยมฺหิ" ที่แปลว่า ในเจดีย์

๓.๒ ในการศึกษาอรรถกถาเพื่อนำคำบาลีมาอ้างอิงนั้น สมควรศึกษาให้ครบถ้วนทุกอรรถกถาที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันโดยศัพท์และความหมายของคำบาลีนั้น ๆ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาทุกเล่ม ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ว่า อุทิสสกเจดีย์หรืออุทเทสิกเจดีย์ หมายถึงผู้แสดงธรรมหรือการแสดงธรรม แต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนอยู่ในอรรถกถานิธิภัณฑสูตรว่า พระพุทธปฏิมา ชื่อว่าอุทิสสกเจดีย์ ซึ่งท่านพระอรรถกถาจารย์ อธิบายคำว่า เจดีย์ ไว้ว่า หมายถึงสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรก่อ (จยิตพฺพํ) และหมายถึงสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรบูชา (ปูเชตพฺพํ) ดังนั้น พระพุทธปฏิมา จึงอยู่ในฐานะเป็น ปูเชตพุพา พุทธศาสนิกชนควรบูชา ในอรรถกถากาลิงคโพธิชาดก ไม่มีคำอธิบายใด ๆ ที่เป็นการวิเคราะห์ศัพท์ อุทฺทิสิกํ หรือ อุทฺทิสฺสกํ ไว้ เนื่องจากท่านวิเคราะห์คำว่า เจติยํ (เจดีย์) ไว้ในอรรถกถานิธิกัณฑสูตรแล้วนั่นเอง

๓.๓ การแปล อวตฺถุกํ ว่า "ไม่มีวัตถุปรากฏ" สื่อความว่า อุทิสสกเจดีย์ ไม่มีรูปทรงใด ๆ ตามคำแปลนี้ อุทิสสกเจดีย์ จึงมิได้หมายถึงพระพุทธรูป หากแปล อวตถุกํ ว่า "ยังไม่มีวัตถุปรากฏ" จะมีความหมายตรงกันข้าม เพราะในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ยังไม่มีการปั้นหรือสร้างรูปพระพุทธองค์ จึงยังไม่มีวัตถุปรากฏ เช่นเดียวกันกับพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุเจดีย์ ในขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่จะยังไม่ปรากฏ ดังคำในอรรถกถาที่ระบุว่า อานนฺท สารีริกํ น สกฺกา ตมฺหิ พุทฺธานํ ปรินิพฺพุตกาเล โหติ (ดูกรอานนท์ ใคร ๆ ไม่อาจจะสร้างพระบรมสารีริกธาตุได้ เพราะพระบรมสารีริกธาตุนั้น จะมีได้ในเวลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว) หากแปลด้วยสำนวนปกตินิยม คือแปลว่า มิใช่สถานที่ หรือมิใช่วัตถุสิ่งของ จะเป็นการแปลที่ตรงกับรูปคำบาลีและรูปความมากที่สุด กล่าวคือแปลเป็น น บุพพบท กัมมธารยสมาส อันมีความหมายว่า อุททิสสกเจดีย์หรืออุทเทสิกเจดีย์ ไม่ใช่สถานที่ที่อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีขอให้มีไว้ และมีความหมายว่า พระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรสักการะเคารพบูชา จึงมีความสำคัญเกินคำว่าวัตถุสิ่งของไปไกลสุด คืออยู่ในฐานะเป็นเสมือนองค์แทนพระบรมศาสดาหรือเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธคุณ

๓.๔ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่ปรากฏคำว่า อุทฺเทสิกเจดีย์ ปรากฏแต่คำบาลีว่า อุทฺทิสฺสกเจติยํ และ อุทฺทิสฺสเจติยํ เท่านั้น การแปลคำบาลีเป็นคำไทย ร้อยคนแปล จะได้ร้อยสำนวนความ ดังนั้น การที่พระภิกษุยึดถือเพียงคำแปลบาลีในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาแล้วตีความพระธรรมวินัยไปตามคำแปลนั้น ๆ ซึ่งมีปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมไทยเป็นระยะ ๆ ตลอดมา นับว่าเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรง เนื่องจากความหมายแท้จริงของคำบาลีนั้น ๆ ไม่สามารถจะทราบได้ด้วยคำแปลเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องทราบความหมายของคำบาลีนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง เป็นหลักสำคัญเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าใจพระธรรมวินัยได้ตรงตามพระพุทธประสงค์ดุจเดียวกันกับคำแปลศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ซึ่งไม่สามารถที่จะนำไปอ้างอิงได้อย่างถูกต้องได้โดยที่ยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์ภาษาอังกฤษนั้น ๆ

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ มหาปรินิพพานสูตร ปรากฏพระพุทธดำรัสตรัสถึงถูปารหบุคคล ๔ (บุคคลผู้สมควรแก่สถูป) จึงเป็นข้อยืนยันได้ว่า การกราบไหว้สถูปหรือเจดีย์ด้วยจิตใจที่ศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งแก่ชาวพุทธทุกคน

ประเด็นที่ ๔ เรื่องการตักน้ำใส่แก้วไปวางบนหิ้งพระ ไม่ได้บุญ
ข้อพิจารณาในประเด็นที่ ๔

๔.๑ กรณีนี้ เป็นความเห็นในทำนองว่า การที่ชาวพุทธตั้งน้ำดื่มไว้บนหิ้งพระ เท่ากับเป็นการ ถวายน้ำให้พระพุทธรูป ซึ่งพระพุทธรูปรับหรือดื่มน้ำไม่ได้ จึงเป็นการให้หรือเป็นทานที่ไร้ผลอานิสงส์ ไม่ได้บุญแต่ประการใดทั้งสิ้น การที่มีความเห็นเช่นนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นเรื่องชาวพุทธกราบไหว้สิ่งใดได้บ้าง เมื่อไม่ทราบว่าพระพุทธรูป เป็นอุททิสสกเจดีย์ (อุทเทสิกเจดีย์) จึงทำให้ไม่ทราบว่าพระพุทธรูป เป็น ปูเชตพฺพํ คือเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรกราบไหว้บูชา ส่งผลให้มีความเห็นในเรื่องที่ชาวพุทธตั้งน้ำบูชาพระพุทธเจ้าไว้บนหิ้งพระว่าเป็นเรื่องไร้สาระสู้ตักน้ำให้สุนัขกินไม่ได้

๔.๒ การตั้งน้ำไว้บนหิ้งพระนั้น จัดเป็นการบูชาพระพุทธคุณด้วยอามิสบูชา เป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา มีพระพุทธคาถาเป็นหลักฐานรับรองในเรื่องนี้ ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ คาถาธรรมบท พุทธวรรค คือ

ปูชารเห ปูชยโต พุทฺเธ ยทิ จ สาวเก
ปปญฺจสมติกฺกนฺเต ติณฺณโสกปริทฺทเว
เต ตาทิเส ปูชยโต นิพฺพุเต อกุโตภเย
น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุํ อิเมตฺตมปิ เกนจิ ฯ
ใคร ๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคลผู้บูชาปูชารหบุคคล คือพระพุทธเจ้า
หรือสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ก้าวล่วงธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ผู้ข้ามความโศกเศร้าคร่ำครวญได้แล้ว ว่าบุญนี้ มีประมาณเท่านี้
ใคร ๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคลผู้บูชาปูชารหบุคคลเหล่านั้นผู้เช่นนั้น
ผู้นิพพานแล้ว ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ ว่าบุญนี้ มีประมาณเท่านี้

อรรถกถาบาลี เล่มที่ ๒๓ ธ.อ. อตฺต–โกธวคุค อธิบายพระพุทธดำรัส ปูชารเห ปูชยโต ไว้ว่า ตตฺถ ปูชิตุํ อรหา ปูชารหา. ปูชิตุํ ยุตฺตาติ อตฺโถ. ปูชารเห ปูชยโตติ อภิวาทนาทีหิ จ จตูหิ ปจฺจเยหิ ปูเชนฺตสฺส.

แปลความว่า บุคคลทั้งหลายผู้สมควรเพื่อที่ใคร ๆ จะบูชา ชื่อว่าปูชารหบุคคลในพระคาถานั้น อธิบายว่า ผู้สมควรแล้วเพื่อการบูชา บาทพระคาถาว่า ปูชารเห ปูชยโต ความว่า ผู้บูชาอยู่ ด้วยการกราบไหว้ เป็นต้น และด้วยปัจจัย ๔

น้ำนั้น จัดอยู่ในปัจจัย ๔ การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกรณีนี้ แม้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วก็ยังมีอานิสงส์ผลบุญที่ใคร ๆ ไม่สามารถจะคณานับได้ ปรากฏคาถาเรื่องปีตวิมานในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ เป็นหลักฐานรับรอง คือ

ติฏฺฐนฺเต นิพฺพุเต วาปิ สเม จิตฺเต สมํ ผลํ
เจโตปณิธิเหตู หิ สตฺตา คจฺฉนฺติ สุคฺคติํ
แปลความว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี
นิพพานแล้วก็ดี เมื่อความตั้งใจเท่ากัน ผลย่อมเท่ากัน เพราะเหตุที่
ตั้งจิตคิดชอบ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไปสู่สุคติได้

อนึ่ง ในอรรถกถาพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ ปรากฏคำบาลีว่า "อุทกปูชํ กาตุํ" ซึ่งแปลว่า "ทำการบูชาด้วยน้ำ" จึงเป็นข้อยืนยันว่า หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว นอกเหนือจากพุทธบริษัทจะทำการบูชาพระพุทธคุณด้วยอามิสบูชามีเทียนธูปดอกไม้ของหอมเป็นต้น ดังคำบาลีว่า ทีปธูปปุปฺ ผคนฺธาทีหิ อเนกวิธํ ปูชํ กตฺวา (ทำการบูชาหลายอย่างต่างประการด้วยเทียนธูปดอกไม้และ ของหอมเป็นต้น) แล้ว ยังทำการบูชาด้วยอุทกคือน้ำด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เป็นไปตามคตินิยมดังที่ท่านพระอานนทเถระเคยถือปฏิบัติ ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วไม่นาน ปรากฏหลักฐานรับรองอยู่ในอรรถกถาพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ ดังนี้ว่า ทสพเลน วสิตคนฺธกุฏิยา ทฺวารํ วิวริตฺวา มญฺจปีฐํ นีหริตฺวา ปปฺโผเฏตวา คนฺธกุฎี สมฺมชฺชิตวา มิลาตมา ลากจวรํ ฉฑฺเฑตวา มญฺจปีฐํ อติหริตฺวา ปุน ยถาฏฐาเน ฐเปตฺวา ภควโต ฐิตกาเล วิย กรณียํ วัตฺตํ สพฺพมกาสิ ฯ แปลความว่าท่านพระอานนทเถระ เปิดประตูพระคันธกุฎีที่พระทศพลเคยประทับ แล้วนำเตียงและตั้งออกมาปัดเช็ดฝุ่น กวาดพระคันธกุฎี เก็บเศษซากดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งทิ้งเสีย แล้วนำเตียงและตั่งกลับเข้าไปตั้งไว้ในที่เดิมอีกได้ทำข้อวัตรที่ควรทำทุกอย่าง เหมือนในช่วงเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่.

คณะกรรมการได้พิจารณารายละเอียดทั้ง ๔ ประเด็นแล้ว มีมติเห็นชอบตามเอกสารสรุป และกรรมการทั้ง ๘ รูป ได้ลงนามรับรองไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

อนึ่ง ในการพิจารณาทั้ง ๔ ประเด็น ได้เปิดโอกาสให้พระทวีวัฒน์ จารุวณโณ ได้อธิบายแนวคิดของตน และคณะกรรมการได้อบรมแนะนำวิธีวิทยาเบื้องต้นเพื่อการตีความที่ถูกต้อง พร้อมกับเห็นควรให้แก้ไขแนวคิดและวิธีการเผยแผ่ เพื่อให้สอดคล้องตามหลักวิชาการพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาตลอดจนมติของบูรพาจารย์ พระทวีวัฒน์ จารุวณโณ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไขสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

๑. รับทราบผลการพิจารณาตามเอกสารที่คณะกรรมการเสนอ

๒. รับทราบคำมั่นของพระทวีวัฒน์ จารุวณโณ ที่จะปรับปรุงแก้ไขแนวทางการเผยแผ่ในส่วน ที่คลาดเคลื่อนให้ถูกต้องต่อไป

๓. ให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม


(นายอินทพร จั่นเอี่ยม)
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เลขาธิการมหาเถรสมาคม

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"