มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยาม
๑ | ว่าด้วยเหตุที่จะแสดงปาฐกถาเรื่องนี้ | หน้า | ๑ | |||
๒ | ว่าด้วยพระรัตนตรัยอันเปนหลักพุทธสาสนา | " | ๒ | |||
๓ | ว่าด้วยประวัติการสร้างพุทธเจดีย์และ | |||||
อนุสาวรีย์เจดีย์ | " | ๔ | ||||
ว่าด้วยประวัติการสืบต่อพระธรรมวินัย | " | ๖ | ||||
ว่าด้วยประวัติพระสงฆ์ | " | ๙ | ||||
ว่าด้วยสำนักสงฆ์ครั้งพุทธกาลและต่อมา | " | ๑๐ | ||||
๔ | ว่าด้วยพระพุทธสาสนามาประดิษฐาน | |||||
ในประเทศสยาม | " | ๑๒ | ||||
ว่าด้วยลัทธิและวัตถุสถานของพวกมหายาน | ||||||
และหีนยาน | " | ๑๒ | ||||
๕ | ว่าด้วยการสร้างวัดในสมัยศรีวิชัย | " | ๑๕ | |||
๖ | ว่าด้วยการสร้างวัดในสมัยทวาราวดี | " | ๑๘ | |||
๗ | ว่าด้วยการสร้างวัดสมัยเมื่อ | |||||
ลัทธิลังกาวงศ | หน้า | ๒๑ | ||||
เทียบสังฆกรรมกับสมาคมในปัจจุบัน | " | ๒๑ | ||||
ว่าด้วยลักษณะสร้างวัดในสมัยลพบุรี | ||||||
สมัยเชียงแสน และสมัยสุโขทัย | " | ๒๓ | ||||
๘ | ว่าด้วยลักษณะสร้างวัดในสมัยศรีอยุธยา | " | ๒๖ | |||
๙ | ว่าด้วยลักษณะสร้างวัดในสมัย | |||||
กรุงรัตนโกสินทร | " | ๒๘ | ||||
๑๐ | ว่าด้วยลักษณะสร้างวัดในสมัย | |||||
กรุงรัตนโกสินทร ซึ่งเริ่มด้วยสร้าง | ||||||
สำนักสงฆ์ก่อน | " | ๓๐ | ||||
๑๑ | ว่าด้วยเหตุอันเปนมูลชื่อของวัด | " | ๓๑ | |||
๑๒ | ว่าด้วยการบำรุงรักษาวัด | " | ๓๖ | |||
๑๓ | ว่าด้วยคตินิยมการสร้างวัดในปัจจุบัน | " | ๓๘ |
๑เมื่อข้าพเจ้ามาแสดงปาฐกถาในสามัคยาจารย์สถานคราวก่อน ได้แสดงลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ ปาฐกถานั้น ข้างตอนท้ายกล่าวถึงประเพณีการปกครองคณะสงฆ์ ข้าะเจ้าได้คิดใคร่จะแสดงถึงเรื่องสร้างวัดด้วย แต่ในเวลานั้น ยังไม่สดวกใจ ด้วยมีข้อสงสัยในมูลเหตุแห่งการสร้างวัดอยู่บางข้อ คิดค้นหาอธิบายยังไม่ได้ จึงต้องระงับไว้ ครั้นถึงระดูแล้งเมื่อตอนปลายปีที่ล่วงมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสขึ้นไปถึงเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๓ ไปคราวนี้ ประจวบเวลาเขาถางที่โบราณสถานต่าง ๆ ไว้อย่างเกลี้ยงเกลาตั้งแต่เตรียมรับเสด็จฯ อาจตรวจพิจารณาดูได้ถนัดกว่าเมื่อไปแต่หนหลัง เป็นเหตุให้เข้าใจว่า ได้ความรู้ข้อซึ่งยังสงสัยอยู่แต่ก่อน พอจะประกอบอธิบายมูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยามได้ตลอดเรื่อง คิดว่า จะแต่งหนังสือแสดงเรื่องนี้เสนอต่อเพื่อนนักเรียนโบราณคดี ก็พอพระองค์เจ้าธานีนิวัติเสด็จมาชวนข้าพเจ้าให้แสดงปาฐกถาที่สามัคยาจารย์ในปีนี้อีก เห็นเป็นโอกาสอันสมควร จึงได้นำเรื่องสร้างวัดในประเทศสยามมาแสดงเป็นปาฐกถาให้ท่านทั้งหลายฟังในวันนี้.
๒ตามตำนานของพระพุทธสาสนาว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระสักกยมุนีศรีสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าประกาศพระพุทธสาสนาแล้ว ทรงส่งสอนเวไนยสัตว์ในมัชฌิมประเทศอยู่นั้น ผู้ที่ถือพระพุทธสาสนานับถือวัตถุทั้ง ๓ ว่า เป็นหลักของพระสาสนา คือ "พระพุทธเจ้า" ๑ "พระธรรม" ๑ และ "พระสงฆ์" ๑ เพราะวัตถุทั้ง ๓ นี้ประกอบกัน ถ้าขาดแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ก็ไม่มีพระพุทธสาสนาได้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมนำมาสั่งสอนแก่คนทั้งหลาย ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีใครพบพระธรรม หรือแม้ในปัจจุบันนี้ ถ้าพากันลืมพระพุทธเจ้าเสีย พระธรรมก็จะตกต่ำ ไม่เป็นสาสนา ถ้าหากไม่มีพระธรรม พระพุทธเจ้าก็ไม่มีขึ้นได้ หรือแม้ในปัจจุบันนี้ ถ้าพากันเลิกนับถือพระธรรมเสีย พุทธเจดีย์ทั้งหลายก็จะกลายเป็นอย่างศาลเจ้า พระสงฆ์จะผิดกับบุคคลสามัญเพียงที่นุ่งห่มผ้าเหลือง หาเป็นสาสนาไม่ ถ้าขาดพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม ก็จะได้ประโยชน์แต่พระองค์ ไม่สามารถจะประกาศตั้งสาสนาให้เป็นประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย หรือถ้าว่าอย่างทุกวันนี้ ถ้าไม่มีพระสงฆ์รักษาพระสาสนาสืบมาแล้ว ชาวเราก็จะหารู้จักพระพุทธสาสนาไม่ วัตถุทั้ง ๓ อาศัยกันดังกล่าวมา จึงเรียกรวมกันว่า "พระไตรสรณคมน์" แปลว่า วัตถุที่ควรระลึกถึง ๓ อย่าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พระรัตนตรัย" แปลว่า ดวงแก้วทั้ง ๓ เพราะเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังอธิบายมา.
๓ก็แต่วัตถุทั้ง ๓ นั้นมีสภาพผิดกัน พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีบุคคลผู้อื่นจะเป็นแทนได้ พระธรรมนั้นเล่า ถ้าไม่มีผู้ศึกษาทรงจำไว้ได้ ก็เป็นอันตรธานไป ส่วนพระสงฆ์นั้น ก็คงอยู่มาได้ด้วยมีผู้บวชสืบสมณวงศ์ต่อมา เพราะสภาพต่างกันอย่างว่ามานี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงเกิดมีเจดียวัตถุในพระพุทธสาสนาสำหรับสักการบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้าขึ้นก่อน พุทธเจดีย์มีหลายอย่าง จะกล่าวแต่ที่เป็นตัวมูลเหตุแห่งการสร้างวัด คือ ตามประเพณีอันมีมาในอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ถ้าผู้ทรงคุณธรรมในสาสนาถึงมรณภาพลง เมื่อเผาศพแล้ว ย่อมเก็บอัฐิธาตุบรรจุไว้ในสถูป (ที่เรามักเรียกกันว่า พระเจดีย์) สร้างขึ้นตามกำลังของเจ้าภาพ มีตั้งแต่เพียงเป็นกองดินขึ้นไปจนถึงสร้างเป็นปึกแผ่นแน่นหนาโดยประณีตบรรจง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนิพพาน ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์แลมหาพราหมณ์อันเป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ ซึ่งนับถือพระพุทธเจ้าขอแบ่งพระบรมธาตุไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ให้มหาชนในเมืองของตนสักการบูชา ๘ แห่งด้วยกัน ครั้นต่อมา เมื่อถึงสมัยพระเจ้าอโศกได้เป็นพระเจ้าราชาธิราช ทรงเลื่อมใสทำนุบำรึงพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองแพร่หลายในอินเดียตลอดจนถึงนานาประเทศ พระเจ้าอโศกมหาราชให้รวบรวมพระบรมธาตุมาจากที่ซึ่งบรรจุไว้แต่เดิม เอามาแบ่งเป็นส่วนละน้อย ๆ แจกประทานไปให้สร้างพระสถูปบรรจุไว้เป็นที่สักการะบูชาตามบรรดาบ้านเมืองและประเทศที่นับถือพุทธสาสนา ในตำนานกล่าวว่า ถึง ๘๔,๐๐๐ แห่ง ซึ่งควรสันนิษฐานแต่ว่า มากจนนับไม่ถ้วนว่ากี่แห่ง และพึงสันนิษฐานได้ต่อไปว่า เมื่อเกิดมีพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้นณะที่ใด ที่แห่งนั้นพวกพุทธสาสนิกชนก็ย่อมพากันไปสักการบูชา และช่วยกันพิทักษ์รักษาอยู่เนืองนิจ ทั้งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาก่อสร้างเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มพูนขึ้นตามกำลังของประชุมชนณะที่แห่งนั้น ๆ จึงเริ่มเกิดวัดขึ้นณะที่ต่าง ๆ ด้วยประการฉะนี้ วัดชั้นเก่าที่สุดที่ปรากฎในประเทศสยามนี้ เช่น พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น ก็เกิดมีขึ้นโดยปริยายอย่างแสดงมา.
ส่วนประวัติของพระธรรมนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์พุทธสาวกที่เป็นผู้ใหญ่ชวนกันประชุมทำการ "สังคายนา" รวบรวมร้อยกรองพระวินัยและพระธรรมซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติตรัสสอน ท่องบ่นทรงจำไว้ แล้วสั่งสอนสานุศิษย์ให้ทรงจำต่อกันมา ก็แต่การรักษาพระธรรมนั้น เพราะชั้นเดิมใช้วิธีท่องจำ มิได้จดลงเป็นตัวอักษร ท่านผู้เป็นพุทธสาวกที่ได้เคยฟังพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนย่อมเข้าใจพระบรมพุทธาธิบายอยู่ การท่องจำและสวดสาธยายพระธรรมวินัย เป็นแต่เหมือนอย่างจำหัวข้อไว้มิให้ลืม ครั้นจำเนียรกาลนานมา เมื่อท่านผู้เคยเป็นพุทธสาวกหมดตัวไป พระสงฆ์ชั้นสานุศิษย์ได้เป็นคณาจารย์สั่งสอนสืบต่อกันหลายชั่วบุรุษมา ความเข้าใจอธิบายพระธรรมวินัยก็เกิดแตกต่างกัน ได้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง ความเห็นก็ไม่ปรองดองกันได้ พระสงฆ์ในอินเดียจึงเกิดถือคติต่างกันเป็น ๒ จำพวก คติของจำพวกหนึ่งได้นามว่า "เถรวาท" คือ ถือลัทธิแต่ที่เชื่อว่า พระเถรผู้เป็นพุทธสาวกได้ทำสังคายนาเมื่อครั้งแรก ไม่ยอมถืออธิบายของคณาจารย์ในชั้นหลัง คติของอีกจำพวกหนึ่งในนามว่า "อาจริยวาท" คือ ถือทั้งลัทธิเดิมและอธิบายของอาจรย์ ด้วยพระสงฆ์จำพวกหลังมีหลายคณะจำนวนมากกว่าพวกก่อน จึงได้นามว่า "มหาสังฆิกะ" อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธสาสนานั้น ทรงเลื่อมใสพระสงฆ์ที่ถือลัทธิเถรวาท มีพระราชประสงค์จะกำจัดพวกถือลัทธิอาจริยวาทเสีย แต่กำจัดไม่ได้หมด ด้วยมีมากนัก พระเจ้าอโศกจึงให้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยตามลัทธิเถรวาทอีกครั้ง ๑ นับเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งพระสงฆ์ท่องบ่นทรงจำไว้ในภาษาบาลี ครั้นเมื่อล่วงรัชชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชมาประมาณ ๖๐๐ ปี มีพระเจ้าแผ่นดินครองคันธารราฐข้างฝ่ายเหนือแห่งประเทศอินเดีย ทรงพระนามว่า พระเจ้ากนิษกะ ได้เป็นพระเจ้าราชาธิราช แลอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธสาสนาคล้ายกับพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ไปทรงเลื่อมใสพระสงฆ์ซึ่งถือลัทธิอาจริยวาท ให้ชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยอีกครั้ง ๑ แล้วให้แปลงพระธรรมวินัยจากภาษาบาลีเป็นภาษาสันสกฤตด้วย การถือพระพุทธสาสนาในอินเดียจึงแยกกันเป็น ๒ ลัทธิเด็ดขาดแต่นั้นมา ลัทธิซึ่งเกิดขึ้นทางฝ่ายเหนือได้นามว่า "มหายาน" ถือตามคติอาจริยวาท และรักษาพระธรรมวินัยไว้เป็นภาษาสันสกฤต ลัทธิเดิมซึ่งเกิดขึ้นข้างฝ่ายใต้ได้นามว่า "สาวกยาน" หรือ "หีนยาน" ถือลัทธิอย่างครั้งพระเจ้าอโศก และคงรักษาพระธรรมวินัยมาในภาษาบาลี ครั้นต่อมา พระสงฆ์ทั้ง ๒ จำพวกต่างเขียนพระธรรมวินัยลงเป็นตัวอักษร จัดเป็น ๓ ปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร และพระปรมัตถ์ เรียกรวมกันว่า "พระไตรปิฎก" มีทั้งเป็นภาษาสันสกฤตแลภาษาบาลีสืบมา.
ประวัติส่วนพระสงฆ์นั้น เมื่อครั้งพุทธกาล บรรดาผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุล้วนจำนงจะบวชอยู่จนตลอดชีวิตทั้งนั้น ที่ประสงค์จะออกบวชแต่ชั่วคราวหามีไม่ การที่สึกหาลาพรตในชั้นพุทธกาลล้วนแต่ด้วยเกิดเหตุให้จำเป็น นาน ๆ จึงมีสักครั้งหนึ่ง วัตตปฏิบัติของพระสงฆ์ในครั้งพุทธกาลก็อนุวัติตามพุทธประเพณี คือ ไม่อยู่ประจำณะที่แห่งหนึ่งแห่งใด ในระดูแล้ง เวลาเดินทางได้สดวก ก็ชวนกันแยกย้ายไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธสาสนาตามบ้านเมืองน้อยใหญ่ หรือมิฉะนั้น ก็หลีกไปเที่ยวหาที่สงัดบำเพ็ญวิปัสนาญาณชำระจิตของตนให้ผ่องใสพ้นกิเลส ต่อถึงระดูฝน จะเดินทางไม่ได้สดวก จึงรวมกันเข้าวัสสาหยุดพักอยู่ในบ้านในเมืองจนกว่าจะถึงระดูแล้งก็เที่ยวไปใหม่ อาศัยประเพณีเช่นว่ามา จึงมีผู้ศรัทธาถวายที่ "อาราม" (แปลว่า สวน) เช่นที่เรียกว่า "เชตวนาราม" และ "บุพพาราม" เป็นต้น ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์พุทธสาวกสำหรับจะได้ยับยั้งอยู่ในบ้านเมืองเมื่อระดูฝน หาเป็นที่อยู่ประจำของพระสงฆ์เหมือนอย่างวัดในประเทศของเราทุกวันนี้ไม่ อันวัดเป็นที่พระสงฆ์อยู่ประจำเกิดมีขึ้นในอินเดียต่อชั้นหลัง ว่าตามโบราณวัตถุที่ตรวจพบ มักสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นในบริเวณมหาพุทธเจดียสถาน ดังเช่นที่ในบริเวณพระธรรมิกเจดีย์ณะตำบลมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศานั้น เป็นต้น หรือมิฉะนั้น ก็ทำเป็นที่สำหรับบำเพ็ญสมณธรรมไว้ในถ้ำ เช่น ที่ถ้ำแอลลอราในแขวงไฮดาระบัด เป็นต้น ในที่เช่นกล่าวมา มีรอยรากกุฏิและห้องที่สำนักสงฆ์ปรากฎอยู่เป็นอันมาก ในประเทศสยามนี้ก็มีคล้ายกัน เช่น ที่ลานพระปฐมเจดีย์ ข้าพเจ้าได้ลองให้ขุดเนินดินดูแห่งหนึ่งที่ริมถนนขวาพระ ก็พบรากห้องกุฏิพระสงฆ์แต่โบราณ ถ้ำสำหรับบำเพ็ญสมณธรรมก็มีในประเทศนี้ เช่น ที่ถ้ำเขางู จังหวัดราชบุรี และถ้ำคูหาสวรรค์ ถ้ำเขาอกทลุ ในจังหวัดพัทลุง เป็นต้น ในอินเดีย มีที่พระสงฆ์อยู่รวมกันแต่โบราณอีกอย่างหนึ่ง (เห็นจะเกิดขึ้นเมื่อชั้นเขียนพระไตรปิฎกลงเป็นตัวอักษรแล้ว) เป็นทำนองมหาวิทยาลัยสำหรับเรียนธุระในพระพุทธสาสนา เช่น ที่เรียกว่า สำนักนาลันทะ อยู่ในแขวงเมืองปาตลีบุตร เป็นต้น ถึงกระนั้น ก็สันนิษบานว่า เป็นแต่ที่พระสงฆ์อาศัยสำนักอยู่ชั่วคราวทุกแห่ง ที่จะอยู่ประจำในที่แห่งนั้นตั้งแต่บวช หรือว่า มาจากที่อนแล้วเลยอยู่ประจำในที่แห่งนั้นจนตลอดอายุ หามีไม่ พระสงฆ์ยังคงถือวัตตปฏิบัติอย่างในครั้งพุทธกาล คือ เที่ยวจาริกไปเพื่อสอนพระพุทธสาสนา หรือแสวงหาโมกขธรรม ไม่อยู่ประจำที่ต่อมาอีกช้านาน.
๔การที่พระพุทธสาสนามาประดิษฐานยังประเทศสยามนี้ มีหลักฐานปรากฎว่า มาหลายคราว ชั้นเดิม ประมาณว่า เมื่อก่อนพุทธศักราช ๕๐๐ ปี พวกชาวมัชฌิมประเทศ (คือ อินเดียตอนกลาง) ได้เชิญพระพุทธศาสนาลัทธิหีนยานอย่างครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมาเป็นประถม ความข้อนี้รู้ได้ด้วยภาษาที่จารึกพระธรรม เช่น ปรากฎอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ ใช้ภาษาบาลี และเจดียวัตถุ เช่น พระพุทธรูป และพระธรรมจักร ก็เป็นแบบอย่างในมคธราฐอันเป็นที่ตั้งลัทธินั้น ต่อมาเมื่อเกิดลัทธิมหายานขึ้นในคันธารราฐเมื่อครั้งพระเจ้ากนิษกะแล้วเจริญแพร่หลายในอินเดียเมื่อราว พ.ศ. ๙๔๒ ก็มีพวกชาวอินเดียเชิญพระพุทธสาสนาอย่างลัทธิมหายานมาสั่งสอนทางประเทศเหล่านี้ มีหลักฐานปรากฎว่า ลัทธิมหายานเข้ามาสู่ประเทศสยาม ๒ ทาง คือ มาจากกรุงกัมพูชาทาง ๑ มาจากกรุงศรีวิัชยในเกาะสุมาตราแผ่มาทางเมืองนครศรีธรรมราชทาง ๑ ข้อที่กล่าวนี้มีจารึกพระธรรมเป็นภาษาสันสกฤตและรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเกิดขึ้นในลัทธิมหายานปรากฎอยู่เป็นหลักฐาน ชาวประเทศสยามดูเหมือนจะนับถือทั้ง ๒ ลัทธิด้วยกัน หรือนับถือลัทธิมหายานเป็นสำคัญยิ่งกว่าลัทธิหีนยานซึ่งมาก่อนอยู่ช้านานหลายร้อยปี ข้อนี้มีหลักฐานที่พุทธเจดีย์ต่าง ๆ ซึ่งสร้างในประเทศนี้เมื่อสมัยที่กล่าวมา สร้างตามคติมหายานแทบทั้งนั้น พระธรรมก็ใช้อัตถ์ภาษาสันสกฤตจนแพร่หลาย ครั้นถึงสมัยเมื่อพระพุทธสาสนาที่ในอินเดียเสื่อมทรามลงด้วยแผ่นดินตกอยู่ในอำนาจพวกถือสาสนาอื่น นานาประเทศที่นับถือพระพุทธสาสนาก็เริ่มขาดการคมนาคมน์ในกิจสาสนากับประเทศอินเดียซึ่งเป็นครูเดิม ใช่แต่เท่านั้น เหล่าประเทศทางตวันออกอันตั้งอยู่ริมชายทเลตั้งแต่แหลมมลายูข้างตอนใต้ไปจนเกาะสุมาตรา เกาะชะวา ตลอดจนเมืองจามซึ่งเคยถือพระพุทธสาสนามาแต่ก่อน ก็ถูกพวกแขกอาหรับมาบังคับชวนให้ไปเข้ารีตถือสาสนาอิสลามเสียโดยมาก ประเทศที่ถือพระพุทธสาสนาในแถวนี้จึงยังเหลืออยู่แต่ประเทศลังกา พม่า มอญ ถือลัทธิอย่างหีนยาน ส่วนประเทศสยามกับประเทศกัมพูชาถือลัทธิอย่างมหายาน ต่างพวกต่างถือมาตามลำพังตน มาจนราว พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชได้ครองประเทศลังกา ทรงทํานุบำรุงพระพุทธสาสนา ให้ประชุมพระสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยในภาษาบาลีตามลัทธิหีนยาน แล้วจัดการปกครองสงฆ์มณฑลให้ศึกษาพระธรรมวินัยเฟื่องฟูขึ้น เกียรติคุณอันนั้นเลื่องลือมาถึงประเทศทางนี้ มีพระภิกษุสงฆ์ ทั้งเขมร ไทย มอญ พะม่า พากันไปศึกษาพระสาสนาในลังกาทวีป แล้วบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์ นำลัทธิหีนยานอย่างลังกามาประดิษฐานยังประเทศเดิมของตนเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๐๐ แต่นั้นมา ประเทศสยามและกัมพูชาก็นับถือพระพุทธสาสนาอย่างลัทธิหีนยานลังกาวงศ์ กลับใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีเ⟨ป็⟩นหลักพระธรรมวินัยสืบมาจนทุกวันนี้.
๕ได้กล่าวถึงตำนานการที่พระพุทธสาสนามาประดิษฐานในประเทศสยามแล้ว ทีนี้ จะว่าถึงเรื่องสร้างวัดในประเทศสยามต่อไป มีความสำคัญข้อ ๑ ซึ่งผู้แต่งหนังสือแต่โบราณมิใคร่จะเอาใจใส่ คือ ข้อที่มนุษย์พูดภาษาผิดกัน หนังสือที่แต่งแต่โบราณมักจะสมมติว่า มนุษย์แม้จะต่างชาติต่างเมืองกันก็พูดเข้าใจกันได้ จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่น เรื่องตำนานว่าด้วยการที่พระพุทธสาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ ดังปรากฎอยู่ในหนังสือเรื่องสาสนวงศกล่าวว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสอนพระพุทธสาสนาตาม นานาประเทศนั้น ทรงอาราธนาให้พระเถระ ๒ องค์ ชื่อว่า พระโสณะ องค์ ๑ พระอุตตระ องค์ ๑ มาสอนพระสาสนาทางประเทศเหล่านี้ พระเถระ ๒ องค์นั้น เมื่อมาถึง มาแสดงพรหมชาลสูตรแก่ชาวประเทศนี้ ก็พากันเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ข้อนี้เมื่อมาคิดดูว่า พระเถระทั้ง ๒ ท่านเป็นชาวอินเดีย (อุปมาเหมือนอย่างแขก แรกเข้ามายังพูดภาษาไทยไม่ได้) จะมาแสดงเทศนาแก่ชาวประเทศนี้ด้วยภาษาอันใด คิดดูเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่า เรื่องเช่นกล่าวในหนังสือสาสนวงศ์ไม่เป็นแก่นสาร ก็แต่หลักฐานมีอยู่อีกฝ่าย ๑ ด้วยโบราณวัตถุมีอยู่เป็นว่า ชาวอินเดียได้มาสอนพระพุทธสาสในประเทศนี้แต่ในกาลใกล้ต่อสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เช่น ปรากฎอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ดังกล่าวแล้ว จึงน่าสันนิษฐานว่า เมื่อก่อนรัชชสมัยของพระเจ้าอโศกนั้น จะมี พวกชาวอินเดียมาตั้งภูมิลำเนาหรือประกอบการค้าขายอยู่ในประเทศสยามนี้มากอยู่แล้ว ทูตที่มาสอนพระพุทธสาสนาคงมาสอนพวกชาวอินเดียก่อน ด้วยพูดเข้าใจภาษากัน พวกชาวอินเดียเหล่านั้นรู้ภาษาสยาม เมื่อเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาแล้ว จึงสอนหรือเป็นล่ามในการสอนพระพุทธสาสนาแก่พวกชาวสยาม ในสมัยนั้นต่อมา ครั้นมีพุทธสาสนิกชนขึ้นเป็นอันมากแล้ว จึงไปขอพระบรมธาตุและคณะสงฆ์มาจากอินเดีย แล้วสร้างพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ และผู้ที่ศรัทธาจะบวช ก็ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสงฆ์ซึ่งมาจากอินเดีย จึงเกิดวัดแลมีสงฆมณฑลขึ้นในประเทศสยามด้วยประการฉะนี้ ชั้นเดิม พระพุทธสาสนาคงจะรุ่งเรืองแต่ที่ในบ้านเมืองก่อน แล้วจึงแผ่ออกไปถึงที่อื่นโดยลำดับ ด้วยเหตุนี้ วัดในชั้นดึกดำบรรพ์ซึ่งยังปรากฎอยู่ จึงมักอยู่ในท้องที่อันเป็นเมืองเก่าและในเมืองอันเคยเป็นราชธานีโดยฉะเพาะ ห่างออกไปหาใคร่จะมีไม่ จะยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นที่เมืองนครปฐม นอกจากพระปฐมเจดีย์ ยังปรากฎวัดซึ่งมีพระเจดีย์ใหญ่ ๆ สร้างไว้อีกหลายแห่ง ว่าแต่ที่พอจะเห็นได้ง่าย ๆ ในเวลานี้ เช่น วัดพระงาม และวัดพระประโทน เป็นต้น ข้าพเจ้าได้เคยคิดสงสัยว่า พระปฐมเจดีย์มีเป็นที่สักการบูชาแทนพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เหตุใดจึงมีผู้สร้างพระเจดีย์องค์อื่น ๆ ต่อออกไปในที่ใกล้ ๆ กันแต่เพียงนั้น เมื่อได้ตรวจดูตามเมืองอื่นประกอบกับอ่านเรื่องตำนานพระพุทธสาสนาในอินเดีย จึงคิดเห็นว่า มูลเหตุที่สร้างวัดเห็นจะเป็น ๒ อย่างต่างกันตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา คือ อย่าง ๑ สร้างเป็นพุทธเจดียที่บรรจุพระบรมธาตุ ถือว่า เป็นหลักพระพุทธสาสนาในที่แห่งนั้น อีกอย่าง ๑ นั้น คือ ในเวลาท่านผู้ทรงคุณธรรมในพระสาสนา เช่น ชั้นครูบาอาจารย์ที่นับถือกันว่า เป็นบุรุษพิเศษ ถึงมรณภาพลงเผาศพแล้ว ผู้ที่นับถือก็ช่วยกันก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุตามประเพณีในอินเดีย แต่อุทิศให้เป็นเรือนพระพุทธสาสนาด้วย จึงได้เกิดมีวัดอื่น ๆ อยู่ในที่ใกล้ ๆ กัน วัด ๒ อย่างดังกล่าวมาเป็นต้นของเจตนาในการสร้างวัดชั้นหลังสืบมา จะสมมติเรียกโดยย่อต่อไปในอธิบายว่า วัดพุทธเจดีย์ อย่าง ๑ วัดอนุสาวรีย์ อย่าง ๑
๖วัดในสมัยทวาราวดี คือ เมื่อเมืองนครปฐมเป็นราชธานีของประเทศสยามนั้น ดูเหมือนจะมีแต่พระสถูปเจดีย์เป็นสิ่งสำคัญ บางทีจะมีวิหารสำหรับเป็นที่ประชุมสงฆ์และสัปรุษด้วยอีกอย่าง ๑ แต้โบสถห์หาปรากฎว่ามีไม่ เพราะพระสงฆ์ยังมีน้อย การทำสังฆกรรมไม่ขัดข้องด้วยเขตต์สรมา กุฎีพระก็ดูเหมือนจะมีแต่ที่วัดพระพุทธเจดีย์ แต่พระสงฆ์ก็มิได้อยู่ประจำ ยังถือประเพณีอย่างพุทธสาวก เที่ยวสอนศาสนาไปในที่ต่าง ๆ เป็นกิจวัตต์ ไม่อยู่ประจำณะที่แห่งใด ข้อนี้ยังมีเค้าเงื่อนสืบมาจนทุกวันนี้ ในใบพระราชทานที่ผูกพัทธสีมาวัด ยังมีทำว่า ให้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ "อันมาแต่จาตุรทิศ" ดังนี้ ถึงสมัยเมื่อชาวประเทศนี้ถือลัทธิมหายาน พิเคราะห์ดูเจดียสถานที่สร้างทางฝ่ายตวันออกเนื่องมาจนตอนกลางประเทศสยาม เช่น โบราณวัตถุที่ปรากฎอยู่ณเมืองพิมายและเมืองลพบุรี เป็นต้น ได้แบบอย่างมาจากประเทศกัมพูชา พึงเห็นได้ เช่น ทำพระปรางค์แทนพระสถูปเจดีย์ และมักมีพระระเบียงล้อมรอบ โบราณวัตถุที่สร้างทางข้างใต้เช่น ที่เมืองไชยาเก่า มักทำเป็นรูปมณฑป ทำรูปพระสถูปเจดีย์เป็นยอด เช่นเดียวกับพวกมหายานสร้างทางเกาะชะวา สันนิษฐานว่า มาถึงสมัยชั้นนี้ พระบรมธาตุจะหายากกว่าแต่ก่อน ประกอบด้วยเกิดมีพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตว์สำหรับบูชากันแพร่หลาย จึงเปลี่ยนความนิยมสร้างพระสถูปที่บรรจุพบรมธาตุไปเป็นปรางค์และมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์เป็นหลักสำหรับวัด นอกจากนั้น สังเกตดูไม่เห็นมีอันใดแปลก เป็นต้นว่า โบสถ์ก็ยังไม่มี ด้วยพระสงฆ์ฝ่ายมหายานก็เห็นจะยังมีจำนวนน้อยเช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่ถือลัทธิหินยานมาแต่ก่อน ถ้าจะผิดกันก็ที่ข้อวัตตปฏิบัติไม่เสื่อมทรามเหมือนพวกพระสงฆ์ลัทธิหีนยาน จึงเป็นเหตุให้มีผู้นับถือมาก แต่มีหลักฐานปรากฏเป็นข้อสำคัญอีกอย่าง ๑ ว่า การที่ถือลัทธิมหายานในประเทศนี้แผ่ขึ้นไปเพียงเมืองสวรรคโลกเป็นที่สุดข้างฝ่ายเหนือ แต่ในมณฑลพายัพ หามีเค้าเงื่อนว่า ศาสนาลัทธิมหายานได้เคยไปตั้งไม่ คงถือลัทธิหีนยานอย่างเดียวกับเมืองมอญ เมืองพะม่า มาจนลัทธิลังกาวงศเข้ามาถึง.
๗วัดในประเทศสยามทุกวันนี้ เค้ามูลเกิดขึ้นแต่เมื่อรับลัทธิพระพุทธสาสนาหีนยานอย่างลังกาวงศ์มาถือมีหลายอย่าง อย่างหนึ่ง คือ กลับสร้างพระสถูปที่บรรจุพระบรมธาตุเป็นหลักวัดตามเดิม ด้วยพวกลังกาตั้งตำราพระธาตุ ว่าอาจจะรู้ได้ด้วยลักษณะและพึงหาได้ในลังกาทวีป เป็นเหตุให้กลับหาพระบรมธาตุได้ง่ายขั้น ก็เกิดนิยมกันแพร่หลาย อิกอย่างหนึ่ง เกิดมีโบสถ์และมีพัทธสีมา เหตุด้วยพระสงฆ์ก็มีหลายหมู่หลายคณะ และถือลัทธิต่าง ๆ กัน เป็นข้อรังเกียจที่จะทำสังฆกรรมร่วมกัน ตรงนี้ จะกล่าวความเป็นอธิบายแทรกลงด้วยเรื่องสังฆกรรม ซึ่งน่าพิศวงด้วยเป็นอย่างเดียวกับการตั้งสมาคมในปัจจุบันนี้นั้นเอง กล่าวคือ บรรดาผู้ซึ่งได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ นับว่า เป็นสมาชิกในสงฆสมาคม เมื่อจะทำการอันใดในนามของสงฆสมาคมทั่วไป เช่นว่า จะรับผู้สมัครเข้าบวชเป็นพระภิกษุ เป็นต้น ก็ต้องประชุมพระสงฆ์ทั้งหมดให้เลือกเหมือนอย่างเลือกสมาชิกแห่งสมาคมในปัจจุบันนี้ ต่อเห็นชอบพร้อมกันจึงรับได้ สังฆกรรมอย่างอื่น เช่น ทำอุโบสถ หรือแม้จนรับกฐิน ก็ต้องประชุมทำนองเดียวกัน เมื่อมีจำนวนพระภิกษุสงฆ์มากขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล จะเรียกมาประชุมพร้อมกันให้ได้หมดเป็นการลำบาก จึงได้เกิดกำหนดสีมา เช่น เอาท้องที่อำเภอหนึ่งเป็นเขตต์ เวลามีการประชุม ก็เรียกแต่พระสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตต์อำเภอนั้นประชุมพร้อมกัน พระสงฆ์ที่ไปอยู่ในอำเภออื่นใด ก็ประชุมพร้อมกันในอำเภอนั้น ๆ ครั้นพระพุทธสาสนารุ่งเรือง มีจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น ก็ต้องร่นเขตต์สีมาให้เล็กเข้าเพื่อสดวกแก่การประชุม จนถึงกำหนดเขตต์สีมาในวัดอันหนึ่งอันเดียว สร้างโบสถ์เป็นที่ทำสังฆกรรม ดังนี้ อีกอย่างหนึ่ง กลับใช้ประเพณีสร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุผู้ทรงคุณธรรมในสาสนา ทั้งที่เป็นบรรพชิต และต่อออกไปจนถึงคฤหัสถ์ที่มีคุณแก่พระสาสนา วัดโบราณในประเทศนี้ซึ่งสร้างในสมัยเมื่อแรกถือลัทธิลังกาวงศ์ ก็มีมากอยู่ในที่อันเป็นเมืองใหญ่และเป็นราชธานี นับแต่ข้างเหนือลงมา เช่น เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพ็ชร์ เมืองลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และเมืองนครศรีธรรมราช เหล่านี้เป็นสำคัญ ว่าถึงลักษณะวัดโบราณที่สร้างในสมัยนี้ พิเคราะห์ดูก็เป็นลักษณะเดียวกับอย่างเดิม คือ เป็นวัดพุทธเจดีย์ อย่าง ๑ วัดอนุสาวรีย์ อย่าง ๑ ต่อบางวัดจึงมีโบสถ์ ชั้นแรกมักทำเป็นหลังเล็ก ๆ เหมือนอย่างว่าอาศัยปลูกไว้ในที่ซึ่งไม่มีกีดขวาง สิ่งสำคัญของวัดมีแต่พระสถูปเจดีย์กับวิหาร วัดเช่นพรรณนามานี้ ที่จะพึงเห็นเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดียังมีอยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี มีพระสถูปเจดีย์เป็นศูนย์กลาง ข้างหน้ามีพระวิหารหลวงหลังใหญ่ ๙ ห้อง แต่ส่วนโบสถ์นั้นไปสร้างไว้ที่มุมกำแพงข้างหลังวัดเป็นหลังน้อย ดูเหมือนพระสงฆ์จะนั่งได้เพียงสัก ๑๐ รูปเป็นอย่างมาก แต่ต่อมาในสมัยเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้นเอง ชอบทำโบสถ์ขยายให้ใหญ่ขึ้นแลถือเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ในวัด สันนิษฐานว่า จะเป็นเพราะเกิดมีพวกผู้ดีบวชมากขึ้น ญาติโยมใคร่จะเห็นพระสงฆ์ทำอุปสมบทกรรมให้ชื่นใจ หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะประเพณีการทอดกฐินถือเป็นพิธีสำคัญขึ้น ถึงพระเจ้าแผ่นดินเสด็จโดยกระบวนแห่ ดังปรากฎอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามกำแหงมหาราชผู้ที่สร้างแลปฏิสังขรณ์วัด จึงถือเอาการสร้างพระอุโบสถเป็นสำคัญขนอีกอย่าง ๑ ยังมีข้อสำคัญในการสร้างวัดเกิดขึ้นในสมัยที่กล่าวนี้ ด้วยเกิดนิยมในฝ่ายคฤหัสถ์ว่า ที่บรรจุอัฐิธาตุของวงศ์ตระกูลควรจะสร้างเป็นเจดียวัตถุอุทิศต่อพระสาสนา เวลาผู้ต้นตระกูลถงมรณภาพ เผาศพแล้ว จึงมักสร้างพระสถูปแล้วบรรจุเจดียวัตถุ เช่น พระพุทธรูป หรือพระธาตุ ไว้เบื้องบน ใต้นั้นทำเป็นกรุบรรจุอัฐิธาตุของผู้มรณภาพนั้น แลสำหรับบรรจุอัฐิของเชื้อสายในวงศ์ตระกูลต่อมา ข้างหน้าพระสถูปสร้างวิหารไว้หลังหนึ่งเป็นที่สำหรับทำบุญ จึงเกิดมีวัดอนุสาวรีย์ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็ก ๆ ขึ้นไปจนขนาดใหญ่ตามกำลังของตระกูลที่จะสร้างได้ ส่วนราชตระกูลนั้นสร้างเป็นวัดขนาดใหญ่ และสร้างพระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิเรียงรายไปในวัดเดียวนั้นก็มี ที่สร้างเป็นวัดต่างหากก็มี ในวัดจำพวกซึ่งสร้างเปนอนุสาวรีย์ดังกล่าวมา ที่ปรากฎอยู่ในเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย หามีอุโบสถแลหามีที่สำหรับพระสงฆ์อยู่ไม่ ความที่กล่าวข้อนี้มีตัวอย่างซึ่งจะเห็นได้ถนัดดีอยู่ที่กลางเมืองสวรรคโลกเก่า มีวัดหลวงใหญ่ ๆ สร้างไว้ถึง ๕ วัด มีเขตต์ที่สร้างกุฎีพระสงฆ์อยู่แต่วัดเดียวเท่านั้น ที่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย มีวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งสร้างเป็นวัดอนุสาวรีย์มีเรี่ยรายไปตามระยะทางมากกว่ามาก ล้วนมีแต่พระเจดีย์องค์ ๑ กับวิหารหลัง ๑ แทบทุกวัด ความที่กล่าวมานี้เป็นอธิบายแก้สงสัยข้อที่ว่า ทำไมคนแต่โบราณจึงสร้างวัดไว้มากกว่ามากนัก.
๘มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คติการถือพระสาสนาก็เหมือนอย่างเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย มีพระอารามหลวงที่สำคัญก็คือวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์สร้างขึ้นในบริเวณพระราชวัง เหมือนอย่างวัดมหาธาตุที่เมืองสุโขทัย เป็นที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายในราชสกุล และมีวัดอื่นทั้งของหลวงและของราษฎร์สร้างไว้อีกมากมาย จนเป็นคำกล่าวกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ว่า "เมื่อครั้งบ้านเมืองดี เขาสร้างวัดให้ลูกเล่น" ที่จริงนั้นคือใครตั้งวงศสกุลได้เป็นหลักฐาน ก็สร้างวัดเป็นอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของวงศสกุล มักสร้างเจดีย์ขนาดเขื่องสององค์ไว้ข้างหน้าโบสถ์ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุหรืออุทิศต่อบิดาองค์หนึ่ง มารดาองค์หนึ่ง ส่วนสมาชิกในสกุลนั้น เมื่อใครตายลง เผาศพแล้ว ก็สร้างสถูปเจดีย์ขนาดย่อมลงมาเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุรายไปรอบโบสถ์ เรียกกันว่า พระเจดีย์ราย ครั้นถึงเวลานักขัตตฤกษ์ เช่น ตรุษสงกรานต์ ก็พากันออกไปทำบุญให้ทานอุทิศเปตพลีที่วัดของสกุล พวกชั้นเด็ก ๆ ได้โอกาสออกไปด้วย ก็ไปวิ่งเล่นในลานวัดเมื่อเวลานักขัตตฤกษ์เช่นนี้ จึงเกิดคำที่กล่าวว่า สร้างวัดให้ลูกเล่น.
แต่การสร้างวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตดูเห็นว่า ผิดกับเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยบางอย่าง คือ อย่างหนึ่ง ในบรรดาวัด เหมือนจะมีโบสถ์แทบทั้งนั้น เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยา การที่บวชเรียนมา ถือเป็นประเพณีว่า ผู้ชายทุกคนควรจะต้องบวช เป็นเหตุให้มีจำนวนพระสงฆ์มากมายขึ้นหลายเท่า จึงต้องมีโบสถ์แลกุฎีที่พระสงฆ์อยู่ตามวัดโดยมาก อีกอย่างหนึ่งนั้น ในเรื่องบรรจุอัฐิวงศ์สกุล มักสร้างเป็นพระสถูปเจดีย์รายในลานวัดดังกล่าวมาแล้วแทนบรรจุรวมกันในกรุใต้พระเจดีย์ใหญ่อย่างครั้งสุโขทัย อีกประการหนึ่ง เมื่อประเพณีที่บวชเรียนแร่หลาย ย่อมมีผู้บวชแต่ชั่วคราวโดยมาก ถือเอาการศึกษาเป็นสำคัญของการที่บวช การเล่นเรียนจึงเจริญขึ้นตามวัด วัดจึงได้เป็นที่ศึกษาสถาน ผู้ปกครองมักพาเด็กไปฝากเพื่อให้เล่าเรียนทำนองเดียวกับโรงเรียนประชาบาลทุกวันนี้.
๙มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร ในเรื่องการสร้างวัด สาสนาก็ถือตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาต่อมา แต่มามีข้อสำคัญที่แปลกเปลี่ยนบางอย่าง เป็นต้นว่า กรุงรัตนโกสินทรสร้างขึ้นในสมัยเมื่อพะม่าทำลายกรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิม และบ้านเมืองเป็นจลาจล พึ่งพยายามก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ ได้ยินว่า ท่านผู้เป็นบุรพการีของเราทั้งหลายปรารภถึงภัยอันตรายซึ่งอาจมีแก่บ้านเมืองในเวลาเมื่อยังตั้งไม่ได้มั่นคง จึงงดประเพณีที่บรรจุอัฐิไว้ในวัดเสียชั่วคราว มักรักษาอัฐิวงศ์สกุลไว้ที่บ้านเรือน ยังเป็นประเพณีอยู่แพร่หลายจนทุกวันนี้ การที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ก็มีน้อยลง เพราะเหตุนั้น แม้วัดหลวงในรัชชกาลที่ ๑ ก็ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่แต่ ๒ วัด คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทรวัด ๑ ถึงปลายรัชชกาล ทรงเริ่มสร้างวัดสุทัศน์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเชิญลงมาจากเมืองสุโขทัยอีกวัด ๑ นอกจากนั้น บรรดาวัดที่ทรงสร้างในรัชชกาลที่ ๑ เช่น วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดสุวรรณาราม เป็นต้น แลวัดที่พระมหาอุปราชทรงสร้าง เช่น วัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม เป็นต้น แม้จนวัดที่ผู้อื่นสร้าง เช่น วัดราชบุรณะ นี้ ที่โปรดฯ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษทรงสร้าง ก็บุรณะวัดเก่าที่มีมาแล้วแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ถึงรัชชกาลที่ ๒ ทรงสร้างวัดอรุณฯ ก็เป็นวัดเก่าที่มีมาแล้ว ถึงรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุดหนุนในการสร้างวัดมาก ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้กรุงรัตนโกสินทรรุ่งเรืองอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมักเรียกกันว่า "ครั้งบ้านเมืองดี" แต่เมื่อพิเคราะห์ดู ก็เป็นการปฏิสังขรณ์วัดเก่ามากกว่าที่สร้างขึ้นใหม่ การสร้างวัดขึ้นใหม่ ถือกันว่า ต่อมีเหตุจำเป็นจึงสร้าง จำนวนวัดที่ในกรุงรัตนโกสินทรจึงน้อยกว่าราชธานีแต่ก่อน
๑๐วัดที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทรก็คงเป็น ๒ อย่างดังกล่าวมาข้างต้น คือ สร้างเป็นวัดพุทธเจดีย์ อย่าง ๑ และสร้างเป็นวัดอนุสสาวรีย์ อย่าง ๑ แต่ลักษณะวัดที่สร้างในชั้นกรุงรัตนโกสินทร ถ้าเป็นวัดภายนอกพระราชวัง ย่อมมีพระสงฆ์อยู่ทั้งนั้น วัดพุทธเจดีย์ซึงสร้างขึ้นตามตำบลบ้านที่ตั้งใหม่ เมื่อราษฎรปรารภกันจะใคร่มีวัด ก็มักไปเที่ยวเลือกหาพระภิกษุ แล้วอาราธนาให้อำนวยการสร้างวัด จึงมักเริ่มสร้างกุฎีพระสงฆ์อยู่ก่อน แล้วสร้างศาลาการเปรียญเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแลให้ราษฎรประชุมกันฟังเทศน์ทำบุญในแห่งเดียวกันนั้น ต่อมาจึงสร้างสิ่งอื่น ๆ ขึ้นตามกำลังเป็นลำดับมา โบสถ์มักสร้างต่อภายหลังสิ่งอื่น เว้นแต่เป็นวัดอนุสสาวรีย์ซึ่งผู้มีทรัพย์สร้าง จึงได้คิดสร้างโบสถ์ขึ้นแต่แรก ส่วนพระสถูปเจดีย์และวิหาร ซึ่งตามแบบโบราณถือว่า เป็นหลักของการสร้างวัดนั้น ชั้นหลังมาหาถือว่าจำเป็นจะต้องสร้างไม่ น่าจะเป็นเพราะคิดเห็นว่า พระสถูปเจดีย์สร้างไว้แต่โบราณก็มีอยู่มากมายหลายแห่ง (แทบเหลือกำลังที่จะรักษา) อยู่แล้ว ส่วนวิหารอันแบบเดิมเป็นที่สำหรับประชุมทำบุญ เมื่อมาใช้กาญจนเปรียญแทน ก็หาจำเป็นจะสร้างวิหารไม่ แต่กิจที่จะสร้างพระสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิบุคคลที่ตายยังมีอยู่ จึงมักสร้างแต่เป็นพระเจดีย์ราย ถึงกระนั้น ก็สร้างน้อยลง ด้วยมักรักษาอัฐิไว้ที่บ้านเรือนดังกล่าวมาแล้ว
๑๑ประเพณีการสร้างวัด ดูประหลาดอยู่อย่าง ๑ คือ ที่วัดทั้งปวงมักไม่มีชื่อ เว้นแต่ที่เป็นพระอารามหลวง คำที่เรียกเปนชื่อวัดมักเกิดจากคำคนทั้งหลายสมมตเรียกตามนามตำบล เช่นว่า "วัดบางลำภู" หรือ "วัดปากน้ำ" เป็นต้น อย่าง ๑ หรือเรียกนามตามสิ่งสำคัญซึ่งมีอยู่ในวัด เช่นว่า "วัดโพธิ์" หรือ "วัดโบสถ์" เป็นต้น อย่าง ๑ เรียกตามนามของผู้สร้าง เช่นว่า "วัดพระยาไกร" หรือ "วัดจางวางพ่วง" เป็นต้น อย่าง ๑ เมื่อพิเคราะห์ดูก็ชอบกล แม้วัดที่ปรากฎชื่อในครั้งพุทธกาล ก็ดูเหมือนจะเป็นชื่อตามที่คนทั้งหลายเรียก เช่น คำบาลีว่า "เชตวัน" "เวฬุวัน" "อัมพวัน" "อโศการาม" "บุบผาราม" เหล่านี้ ถ้าเป็นในเมืองไทย ก็คงเรียกว่า "ป่า (เจ้า) เชต" "ป่าไผ่" "ป่ามะม่วง" "สวน (อ) โศก" "สวนดอก (ไม้)" ดังนี้ ว่าฉะเพาะประเทศสยามนี้ พิเคราะห์ดูเหตุที่ไม่ตั้งชื่อวัด สันนิษฐานว่า เห็นจะเกิดแต่ไม่มีความจำเป็น คือ เมื่อราษฎรไปรวบรวมกันตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นหลักแหล่งในตำบลใด แล้วชวนกันสร้างวัดขึ้น คนในตำบลนั้นก็คงเรียกกันแต่ว่า "วัด" เพราะมีวัดเดียว ย่อมเข้าใจได้ แต่เมื่อเรียกวัดตำบลอื่น ก็จำต้องเอาชื่อตำบลเพิ่มเข้าด้วย เช่น เรียกวัดที่บางยี่เรือว่า "วัดบางยี่เรือ" จึงจะเข้าใจได้ อันนี้เป็นมูลที่จะเรียกชื่อวัดตามนามตำบล ถ้าในตำบลอันเดียวกัน มีผู้สร้างวัดเพิ่มขึ้นเป็นสองวัดหรือสามวัด ความจำเป็นจะต้องเรียกชื่อให้ผิดกันเกิดมีขึ้น ก็มักเรียกวัดซึ่งสร้างทีหลังว่า "วัดใหม่" บ้าง หรือมิฉะนั้น ก็เรียกว่า "วัดเหนือแลวัดใต้" บ้าง ถ้าวัดใหม่ยังมีขึ้นอิก ก็หาคำเรียกชื่อให้แปลกออกไป เอาสิ่งสำคัญอันมีในวัดนั้น เช่น ต้นโพธิ์หรือโบสถ์ เรียกเป็นนามวัดว่า "วัด (ต้น) โพธิ์" หรือ "วัดโบสถ์" ฉะนี้บ้าง มิฉะนั้น ก็เอาชื่อผู้สร้างเติมลงไป เช่น เรียกว่า "วัดใหม่เจ้าขรัวหง" แล "วัดใหม่พระพิเรนทร" ดังนี้บ้าง ครั้นนานมา ทิ้งคำต้นเสีย คงเรียกแต่คำปลายเป็นนามวัด เช่น เรียกว่า "วัดหงส์" แล "วัดพิเรนทร์" ดังนี้มีเป็นตัวอย่าง มีบางวัดก็ให้ชื่อวัดโดยอาศัยเหตุอื่น พระมักเป็นผู้ให้ เช่น เรียกว่า "วัดช่องลม" แล "วัดสว่างอารมณ์" เป็นต้น วัดหลวงแต่โบราณจะขนานนามโดยอาศัยหลักฐานอย่างใดบ้างทราบไม่ได้ ด้วยวัดใหญ่ ๆ ในเมืองสวรรคโลก สุโขทัย ก็ดี ในพระนครศรีอยุธยาก็ดี เป็นวัดร้างมาเสียช้านาน ราษฎรเรียกชื่อตามชอบใจ จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่นวัดที่มีพระปรางค์เป็นหลักอยู่เมืองสวรรคโลก (เก่า) ราษฎรเรียกว่า "วัดน้อย" หากพบนามในจารึกของพระเจ้ารามคำแห่งมหาราช จึงได้ทราบว่า เดิมเรียกว่า "วัดพระศรีรัตนธาตุเมืองชะเลียง" ดังนี้ ยังมีวัดสำคัญอยู่ที่กลางเมืองสวรรคโลกเก่าอิก ๒ วัด วัดหนึ่งมีเรื่องตำนานปรากฎอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชว่า ทรงสร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ที่กลางพระนคร แต่ทุกวันนี้ราษฎรเรียกชื่อว่า "วัดช้างล้อม" เพราะมีรูปช้างรายรอบพระสถูป อิกวัดหนึ่งอยู่ใกล้กัน มีพระเจดีย์ใหญ่น้อยมากมายหลายองค์ คงเป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุราชวงศพระร่วง แต่ราษฎรเรียกกันว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถว" พึงเห็นได้ว่า เดิมคงมีนามขนานทั้ง ๒ วัด แต่ศูนย์เสียแล้ว ถึงวัดในพระนครศรีอยุธยาก็เป็นทำนองเดียวกัน แต่ยังมีจดหมายเหตุพอรู้นามเดิมได้มากกว่า พิเคราะห์ดูเกณฑ์ที่ขนานนามวัดหลวง ดูเหมือนจะเอาสิ่งสำคัญซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดนั้นเป็นนามอย่างหนึ่ง เช่น "วัดมหาธาตุ" เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ "วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์" "วัดมงคลบพิตร" เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงพระนามอย่างนั้น เป็นตัวอย่าง อิกอย่างหนึ่ง ใช้นามผู้สร้าง หรือสร้างอุทิศต่อผู้ใด ใช้นามผู้นั้นเป็นนามวด เช่น "วัดราชบุรณะ" "วัดราชประดิษฐาน" "วัดพระราม" "วัดวรเชษฐาราม" เป็นตัวอย่าง อิกอย่างหนึ่ง เอาเหตุการณ์อันเป็นศุภนิมิตต์ใช้เปนชื่อวัด เช่น "วัด (ใหญ่) ชัยมงคล" "วัดชัยวัฒนาราม" "วัดชุมพลนิกายาราม" "วัดชะนะสงคราม" เป็นต้นอย่าง เกณฑ์อิกอย่างหนึ่งนั้น มักเอาชื่อวัดสำคัญอันเคยมีแต่โบราณมาใช้ เช่น "วัดพระเชตุพน" "วัดมเหยงคณ์" "วัดจักรวรรดิ" "วัดระฆัง" "วัดสระเกศ" เป็นตัวอย่าง ที่เรียกว่า วัดหลวง นั้น ไม่ใช่หมายความว่า เป็นวัดพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างทั้งนั้น ถึงวัดผู้อื่นสร้าง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงรับบำรุง ก็เรียกว่า เป็นวัดหลวง มีตัวอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ นี้เป็นอันมาก เช่น "วัดประยูรวงศ" "วัดพิชัยญาติ" แล "วัดกัลยาณมิตร์" เป็นต้น วัดหลวง จึงหมายความว่า วัดซึ่งตั้งมั่นคงสำหรับพระนคร หรือถ้าจะว่าอิกอย่างหนึ่ง คือ เป็นวัดซึ่งรัฐบาลรับบำรุง เป็นประเพณีแต่เดิมมาจนกาลบัดนี้
๑๒การบำรุงรักษาวัดซึ่งสร้างขึ้นไว้ ถือว่า เป็นการสำคัญอย่างหนึ่งตั้งแต่โบราณมา พิเคราะห์ตามที่ปรากฎในศิลาจารึกแลจดหมายเหตุ ทั้งกฎหมายอย่างธรรมเนียมที่ยังปรากฏอยู่จนชั้นหลัง ลักษณะจัดการบำรุงมีเป็น ๓ อย่าง คือ
อย่างที่๑ถวายกัลปนา คือ พระเจ้าแผ่นดินทรงอุทิศผลประโยชน์ของหลวงซึ่งได้จากที่ดินแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง มีค่านาเป็นต้น ให้ใช้บำรุงพระอารามใดอารามหนึ่ง จะพอยกเป็นตัวอย่างดังเช่นเมื่อพบรอยพระพุทธบาทในรัชชกาลพระเจ้าทรงธรรม ทรงพระราชอุทิศที่ดินโยชน์หนึ่งโดยรอบรอยพระพุทธบาทให้เป็นที่กัลปนาสำหรับบำรุงรักษาวัดพระพุทธบาท ดังนี้ ที่กัลปนายังมีอยู่บ้าง แต่ประเพณีถวายที่กัลปนาเลิกมาช้านานแล้ว
อย่างที่๒ถวายข้าพระ คือ พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ยกเว้นหน้าที่ราชการแก่บุคคลจำพวกใดจำพวกหนึ่งตลอดจนวงศวารของบุคคลจำพวกนั้น ให้ไปทำการบำรุงรักษาวัดใดวัดหนึ่ง บุคคลผู้มีศักดิ์สูงหรือมีทรัพย์มากอุทิศทาสของตนถวายเป็นข้าพระสำหรับบำรุงวัดก็มี ประเพณีถวายข้าพระเลิกในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยเลิกประเพณีทาสกรรมกร
อย่างที่๓ถวายธรณีสงฆ์ คือ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น ที่เรือกสวนไร่นา ถวายเป็นของสงฆ์วัดใดวัดหนึ่งสำหรับเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด อย่างนี้ยังมีมาก
ส่วนพนักงานจัดการบำรุงวัด ดูเหมือนจะช่วยกันเป็น ๒ ฝ่ายมาแต่โบราณ คือ พระสงฆ์ซึ่งเป็นอธิการวัดเป็นผู้ดูแลและคิดอ่านการบำรุงรักษาวัด ฝ่ายคฤหัสถ์เป็นกำลังรับช่วยทำการให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น ความเจริญรุ่งเรืองของวัดจึงสำคัญอยู่ที่พระสงฆ์ผู้เป็นอธิการ ถ้าเป็นผู้ทรงคุณธรรมแลเอาใจใส่บำรุงรักษาวัด ก็อาจชักชวนคฤหัสถ์ให้ศรัทธาหากำลังบำรุงวัดได้มาก ถ้าหากสมภารวัดเป็นผู้เกียจคร้านโลเล วัดก็ทรุดโทรม
๑๓การสร้างวัด ถ้าว่าตามคติที่นิยมกันอยู่ในเวลานี้ ทั้งรัฐบาลและเถรสมาคมมีความเห็นเป็นยุตติต้องกันว่า การที่สร้างวัดขึ้นใหม่มีทั้งคุณและโทษ ที่เป็นคุณนั้น ดังเช่น สร้างขึ้นในที่ประชุมชนอันตั้งหลักแหล่งแปลงที่เป็นตำบลบ้านขึ้นใหม่ ยกตัวอย่างดังเช่นแถวคลองรังสิตอันยังไม่มีวัด ถ้าสร้างวัดขึ้น ย่อมเป็นคุณฝ่ายเดียว เพราะราษฎรในที่นั้นจะได้ประพฤติกิจในพระสาสนา เช่น ทำบุญให้ทานเป็นการกุศล และถือศีลเจริญธรรมปฏิบัติ ตลอดจนเป็นที่ศึกษาสถานสำหรับลูกหลานราษฎรในท้องที่นั้น ๆ แต่ถ้าสร้างวัดขึ้นใหม่ในท้องที่อันมีวัดเดิมอยู่แล้ว ย่อมเกิดโทษมากกว่าคุณ เป็นต้นแต่พระสงฆ์อันย่อมต้องอาศัยเลี้ยงชีพด้วยปัจจัยทานซึ่งชาวบ้านในที่แห่งนั้นอุดหนุนเลี้ยงดู มีวัดเดียวพอขบฉัน ถ้าเป็น ๒ วัด ก็พากันฝืดเคือง ยังอีกสถานหนึ่ง วัดที่สร้างใหม่ แม้ผู้สร้างจะเป็นเศรษฐีคฤหบดีมีทุนมาก อาจบำรุงรักษาให้รุ่งเรืองอยู่ได้ เมื่อสิ้นเจ้าของไปแล้ว กำลังที่จะบำรุงก็ลดลงโดยลำดับ จนถึงต้องเป็นภาระของพวกราษฎรชาวบ้านในที่แห่งนั้น เมื่อกำลังไม่พอจะบำรุงรักษาได้หลายวัด ก็จำต้องทิ้งให้บางวัดชำรุดทรุดโทรมไปจนถึงเป็นวัดร้างเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้ ผ้ที่ศรัทธาทำบุญในการบำรุงวัด จะเป็นพระก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ทั้งที่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองทุกวันนี้ จึงมักนิยมปฏิสังขรณ์วัดเก่าซึ่งมีอยู่แล้ว ยิ่งกว่าที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ และมีพระราชบัญญัติด้วยว่า การที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ ต่อวัดใดสร้างสมควรแก่ภูมิประเทศ และเห็นว่า จะรุ่งเรืองอยู่ได้ถาวร จึงพระราชทานที่วิสุงคามสีมา ถ้าเป็นวัดสักแต่ว่าสร้างขึ้น ให้เรียกว่า สำนักสงฆ์ อาจจะมีขึ้นและจะเลิกได้เมื่อใด ๆ เหมือนอย่างบ้านเรือนราษฎร ความประสงค์อันเป็นสาธารณะในปัจจุบันนี้ไปข้างทางบำรุงการศึกษาและสั่งสอนพระธรรมวินัยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรประกอบกัน ให้พระพุทธสาสนาสถิตสถาพรจิรฐิติกาล ซึ่งเราทั้งหลายควรจะเห็นว่า เป็นกุศโลบายและรัฏฐาภิบาลโนบายอันชอบอย่างยิ่ง.
บรรณานุกรม
แก้ไข- ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยา. (2471). มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยาม. พระนคร: ม.ป.พ. (พิมพ์แจกในงานพระกฐินพระราชทานพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม พ.ศ. 2471).
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก