ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงฯ พ.ศ. 2546

ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
ว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน
และแนวปฏิบัติในการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
และการเปลี่ยนสถานที่กักขัง พ.ศ. ๒๕๔๖

โดยที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๔ วรรคสาม และมาตรา ๓๐/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในกรณีที่ผู้นั้นไม่มีเงินชำระค่าปรับ และให้ประธานศาลฎีกากำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานของผู้ต้องโทษปรับที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ผู้ต้องโทษปรับ เพื่อให้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม และกำหนดให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงสถานที่กักขังผู้ต้องโทษกักขังหรือผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ หากมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยให้แก่ผู้ต้องโทษกักขังหรือผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ

เพื่อกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน และเพื่อให้การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการเปลี่ยนสถานที่กักขังตามคำสั่งศาลเป็นไปโดยเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐/๑ วรรคหก แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา ๕ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาออกระเบียบไว้ดังนี้

หมวด ๑
บททั่วไป


ข้อ  ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน และแนวปฏิบัติในการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการเปลี่ยนสถานที่กักขัง พ.ศ. ๒๕๔๖"

ข้อ  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นไป

หมวด ๒
จำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน


ข้อ  เพื่อประโยชน์ในการกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับตามมาตรา ๓๐/๑ วรรคหก แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ถือว่า

๓.๑ การทำงานช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวกหรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็กกำพร้าหรือผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล งานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา เช่น การสอนหนังสือ การค้นคว้าวิจัย หรือการแปลเอกสาร เป็นต้น จำนวน ๒ ชั่วโมง เป็นการทำงานหนึ่งวัน

๓.๒ การทำงานวิชาชีพ งานช่างฝีมือหรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น งานช่างฝีมือเครื่องยนต์ ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์หรือวิชาชีพอย่างอื่น เป็นต้น จำนวน ๓ ชั่วโมงเป็นการทำงานหนึ่งวัน

๓.๓ การทำงานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญหรืองานอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ เช่น งานทำความสะอาดหรือพัฒนาสถานที่สาธารณะ งานปลูกป่า หรือดูแลสวนป่าหรือสวนสาธารณะ งานจราจร เป็นต้น จำนวน ๔ ชั่วโมง เป็นการทำงานหนึ่งวัน

ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานตามวรรคหนึ่งให้ลดน้อยลงได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามข้อ ๗ และให้ระบุเหตุผลไว้โดยชัดแจ้งด้วย

หมวด ๓
แนวปฏิบัติในการมีคำสั่งให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์


ข้อ  ผู้ต้องโทษปรับซึ่งไม่มีเงินชำระค่าปรับอาจร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดี โดยระบุรายละเอียดและประวัติของผู้ร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้

ข้อ  ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท ศาลอาจสอบถามว่าผู้ต้องโทษปรับมีเงินชำระค่าปรับหรือไม่ และแจ้งให้ทราบถึงสิทธิที่จะขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้

ให้ศาลจัดให้มีการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกในการจัดทำและยื่นคำร้องตามข้อ ๔ ด้วย

ข้อ  ในการพิจารณาว่า สมควรให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับหรือไม่ ศาลควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดจากมาตรการบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ให้มาก และพึงให้ความสำคัญแก่ข้อมูลที่เกี่ยวกับฐานะการเงิน ประวัติ และสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับ และเพื่อการนี้ ศาลอาจสอบถามหรือไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการพิจารณาครบถ้วนรวมทั้งอาจขอความร่วมมือจากพนักงานอัยการหรือหน่วยงานอื่นในการสืบเสาะหาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้

ฐานะการเงินของผู้ต้องโทษปรับ ให้พิจารณาจากรายได้ ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ ภาระหนี้สินต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้นั้นมีเงินพอที่จะชำระค่าปรับในเวลาที่ยื่นคำร้องหรือไม่

ประวัติของผู้ต้องโทษปรับให้พิจารณาถึงประวัติการกระทำความผิด การศึกษา อาชีพ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ครอบครัว และสภาพแวดล้อม รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลประการอื่น

สภาพความผิด ให้พิจารณาถึงความหนักเบาแห่งข้อหา ความรุนแรงของการกระทำความผิด สภาวะทางจิตใจ การกระทำความผิดโดยเจตนาหรือประมาท ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิด สภาพความผิดที่ไม่ควรอนุญาตให้ทำงานแทนค่าปรับ ได้แก่ ความผิดที่ได้กระทำไปด้วยเจตนาร้ายหรือทุจริตฉ้อฉล อันมีผลกระทบต่อสาธารณชนส่วนรวม หรือความผิดที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษในทางทรัพย์สินต่อผู้กระทำผิดเพื่อมิให้ผู้นั้นได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิด เช่น ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการสถาบันการเงิน หรือความผิดตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น

ข้อ  กำหนดระยะเวลา สถานที่ และประเภทของการทำงานบริการสังคมหรือการทำงานสาธารณประโยชน์ นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐/๑ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ศาลควรพิจารณาด้วยว่า การทำงานนั้นต้องไม่ก่อความเสียหายแก่สังคมหรือบุคคลอื่น และต้องไม่ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ต้องโทษปรับ ทั้งนี้ ให้พิจารณาจากวิถีชีวิต การดำรงชีพ การศึกษาเล่าเรียน ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ระยะทางและความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน ความเป็นผู้ป่วยเจ็บหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง การติดยาเสพติดหรือสุราเรื้อรัง ประวัติในการกระทำผิดทางเพศ พฤติกรรมในทางก้าวร้าวรุนแรง ปัญหาทางอารมณ์หรือความบกพร่องทางจิตของผู้ต้องโทษปรับด้วย

ข้อ  ระยะเวลาการทำงานของผู้ต้องโทษปรับในแต่ละวัน ไม่ควรกำหนดให้เกินวันละ ๖ ชั่วโมง โดยพิจารณาจากลักษณะหรือประเภท และความเหมาะสมของงาน ความจำเป็นของผู้ต้องโทษปรับรวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นประกอบด้วย

เมื่อผู้ต้องโทษปรับทำงานครบจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ตามข้อ ๓ ก็ให้ถือว่า ได้ทำงานหนึ่งวันและให้นับเช่นนั้นไปจนครบจำนวนชั่วโมงที่ได้ทำงานทั้งหมดรวมกัน

ข้อ  ศาลจะกำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานติดต่อกันทุกวันหรือไม่ก็ได้ แต่ควรกำหนดให้ทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ วัน และไม่เกิน ๕ วันในแต่ละสัปดาห์ เว้นแต่มีพฤติการณ์พิเศษตามคำร้องขอของผู้ต้องโทษปรับ ศาลอาจกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

ข้อ ๑๐ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมติดต่อประสานงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน องค์กรส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์การซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริการสังคม การกุศลสาธารณะหรือสาธารณประโยชน์ เช่น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก หน่วยงานบริการข่าวสาร บริการสุขาภิบาล หน่วยงานควบคุมป้องกันอัคคีภัย ควบคุมมลภาวะ บรรเทาสาธารณภัย ดูแลรักษาหรือทำความสะอาด ดูแลรักษาสวนสาธารณะ จราจร หน่วยงานจัดทำโครงการฝึกอบรมหรือฝึกหัดงานแก่เยาวชน สถานศึกษา หรือโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ดูแลรักษาคนพิการ เด็ก คนชรา เป็นต้น เพื่อให้รับเป็นผู้ดูแลการทำงาน รวมทั้งให้จัดระบบการติดต่อประสานงานระหว่างศาลกับหน่วยงานดังกล่าว และกำหนดประเภทและลักษณะการทำงาน เพื่อให้ศาลนำมาตรการการทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อ ๑๑ เมื่อได้สั่งให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องโทษปรับปฏิบัติเพื่อแก้ไขฟื้นฟูหรือป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิดขึ้นอีกก็ได้ เช่น

๑๑.๑ การเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมทางศีลธรรมหรือฝึกวินัย หรือโครงการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร

๑๑.๒ การละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

๑๑.๓ การห้ามเสพสิ่งเสพติดทุกชนิด

ข้อ ๑๒ เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำงานแทนค่าปรับ ให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังผู้ที่ยินยอมรับดูแลและให้แจ้งด้วยว่าเมื่อการทำงานเสร็จสิ้นลงหรือมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ดูแลรายงานเกี่ยวกับการทำงานให้ศาลทราบด้วย

หมวด ๔
แนวปฏิบัติในการสั่งเปลี่ยนสถานที่กักขัง


ข้อ ๑๓ ในการใช้ดุลพินิจเปลี่ยนสถานที่กักขังตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา ศาลอาจขอความร่วมมือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ หรือหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ ในการสืบเสาะหาข้อมูลเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจ รวมทั้งความร่วมมือในการจัดหาสถานที่กักขังที่เหมาะสมและผู้ที่ยินยอมรับควบคุมดูแลก็ได้

ข้อ ๑๔ เพื่อให้การปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ศาลอาจกำหนดแนวทางปฏิบัติของแต่ละศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ เช่น ระบบการประสานงานกับหน่วยงานตามข้อ ๑๐ เป็นต้น

ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ต้องมีวิธีการใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนดวิธีการนั้น

  • ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖
  • อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ
  • ประธานศาลฎีกา

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"