บทที่ ๔
คณะรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี
(The Ministry and Cabinet)

ตามรัฐธรรมนูญบริติช คณะรัฐบาล (Ministry) กับรัฐมนตรี (Cabinet) นั้นต่างกัน ยังมีผู้เข้าใจสับสนกันอยู่มาก ความจริงนั้นมีความหมายต่างกันในสาระสำคัญสองประการ คือ (๑) ส่วนประกอบ และ (๒) หน้าที่

คณะรัฐบาล (The Ministry) ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทุกคนที่เข้าบริหารงานโดยมีกำหนดเวลา ไม่ใช่งานประจำ และซึ่งเป็นสมาชิกของสภาขุนนางหรือสภาสามัญ และรับผิดชอบต่อสภาสามัญ และอยู่ในตำแหน่งตราบเท่าที่มีคะแนนเสียงส่วนมากของสภาสามัญสนับสนุนอยู่ บุคคลเหล่านี้มีหลายประเภท อาทิ รัฐมนตรี (Cabinet Minister) เจ้ากระทรวง (Minister) ซึ่งไม่มีสิทธิเข้าประชุมในคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ปลัดกระทรวงฝ่ายรัฐสภา (Parliament Undersecretary) และเลขานุการรัฐมนตรีฝ่ายรัฐสภา (Parliamentary Secretary) ซึ่งเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว มีประมาณ ๖๐ ถึง ๗๐ นาย

รัฐมนตรี (Cabinet Ministers) คือ เจ้ากระทรวง (Ministers) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเลือกให้มีสิทธิเข้ามาประชุมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (Cabinet meeting) ได้ ทั้งนี้ มิใช่หมายความว่า นายกรัฐมนตรีจะเลือกตามชอบใจ ย่อมปฏิบัติตามประเพณี คือ ตำแหน่งที่เคยอยู่ในคณะรัฐมนตรี ก็ต้องเลือกผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้น โดยมาก ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญ ๆ เป็นตำแหน่งที่เคยอยู่ในคณะรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการคลัง ประธานสภาองคมนตรี (Lord President of the Council) ประธานสภาขุนนางและศาลสูงสุด (Lord High Chancellor) รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการมุรธาธร รัฐมนตรีว่าการอาณานิคม รัฐมนตรีว่าการอินเดีย และรัฐมนตรีประสานการป้องกันราชอาณาจักร รัฐมนตรีว่าการทหารเรือ รัฐมนตรีว่าการกลาโหม รัฐมนตรีว่าการอาหาร ฯลฯ

เจ้ากระทรวง (Ministers) คือ สมาชิกแห่งสภาขุนนางหรือสภาสามัญที่ดำรงตำแหน่งการเมืองในตำแหน่งสูง ซึ่งต้องลาออกในเมื่อคณะรัฐมนตรีลาออก และไม่มีสิทธิเข้านั่งประชุมในคณะรัฐมนตรี เช่น เจ้ากระทรวงว่าการสกอตแลนด์ การขนส่ง กรรมกร หรือปละดกระทรวงฝ่ายรัฐสภา

คณะรัฐมนตรี นั้น ก็คือ ส่วนหนึ่งของคณะรัฐบาลนั่นเอง แต่มีลักษณะแตกต่างกันดังต่อไปนี้ คณะรัฐมนตรีเป็นคณะซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของรัฐบาลนั่นเอง แต่สมาชิกของคณะรัฐมนตรีนั้นมีจำนวนน้อยกว่า โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า สมาชิกแห่งคณะรัฐมนตรีทุกคนต้องเป็นเจ้ากระทรวง (Ministers) แต่เจ้ากระทรวงไม่ได้เป็นรัฐมนตรีทุกคนดังกล่าวแล้ว ใครบ้างที่จะได้เป็นรัฐมนตรี ก็ได้กล่าวแล้ว แต่บางคราวถ้าจำเป็น นายกฯ อาจตั้งเพิ่มขึ้นก็ได้

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เท่าที่เกี่ยวกับตัวบุคคล คณะรัฐบาล (The Ministry) และคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ต่างกันก็เพียงคณะรัฐมนตรี ก็คือ สมาชิกคณะรัฐบาลนั่นเอง แต่อยู่วงใน (inner circle) อีกชั้นหนึ่ง ส่วนหน้าที่นั้นต่างกัน คือ เจ้ากระทรวง (Minister) ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะรัฐบาล (Ministry) มีหน้าที่บริหารในกระทรวงของตน หรือหน้าที่อื่นใดซึ่งไม่สำคัญนัก แต่รัฐมนตรีมีพันธกรณีร่วมกัน กล่าวคือ ประชุมร่วมกันพิจารณาและวินิจฉัยในนโยบาย และมีหน้าที่สำคัญในฐานะเป็นผู้นำในพรรคการเมือง

ปัญหาต่อไปที่จะต้องพิจารณา ก็คือ การพิจารณาแต่งตั้งเจ้ากระทรวงและรัฐมนตรี หน้าที่อันนี้ตกอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาเพื่อกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง ตามทฤษฎี นายกมีสิทธิเต็มที่ และรัฐสภา (Parliament) ไม่มีสิทธิจะควบคุมอย่างใดว่า จะต้องให้ผู้นั้นผู้นี้ดำรงตำแหน่งใด แต่ในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีจะต้องคำนึงถึงระเบียบแบบแผนที่เคยปฏิบัติมา คำนึงถึงพรรคของตน และฐานะทั่ว ๆ ไปในประเทศและประชาชน จะนึกชอบหรือไม่ชอบผู้นั้นผู้นี้เป็นส่วนตัวไม่ได้ ตรงกันข้าม นายกรัฐมนตรีจะต้องปรึกษาพรรค ต้องขอให้สมาชิกในพรรคชั้นผู้นำอธิบายกับผู้ที่นึกว่า ตัวควรจะได้เข้าเป็นสมาชิกในรัฐบาล แต่ไม่ได้เข้า มีผู้กล่าวว่า การจัดรัฐบาลในบริเตนใหญ่นั้นสำเร็จเพราะผลแห่งการปราณีประนอมแทบทุกครั้ง แต่โดยปกติ ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คณะพรรคมักเตรียมระบุตัวไว้เสร็จแล้ว ฉะนั้น การจัดตั้งรัฐบาลในบริเตนใหญ่จึงมักจะเสร็จเร็ว ต่างกับประเทศอื่นในภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศสซึ่งมีหลายพรรค

ข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ มีหลักเกณฑ์หรือนิติประเพณีอย่างใดบ้างในการคัดเลือกผู้มาเป็นเจ้ากระทรวงหรือรัฐมนตรี ข้อแรก ก็คือ เจ้ากระทรวงหรือรัฐมนตรีทุกคนต้องเป็นสมาชิกในสภาขุนนางหรือสภาผู้แทน แต่ก็เคยมีกรณียกเว้น เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ (ค.ศ. ๑๙๓๕) นายแมลคอลม์ แมคโดนัลด์ และนายแรมเซย์ แมคโดนัลด์ บิดา ไปเลือกตั้งแพ้ แต่ก็คงอยู่ในคณะรัฐมนตรีจน พ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖) จึงได้รับเลือกตั้ง แต่วิธีนี้ สภาสามัญไม่สู้ชอบนัก และมักจะแสดงการคัดค้าน ในทางปฏิบัติ จึงหาทางออกอีกทางหนึ่ง คือ ถ้านายกรัฐมนตรีรู้สึกว่า จำเป็นจะให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในสภาใดสภาหนึ่งเข้าเป็นเจ้ากระทรวงหรือรัฐมนตรีแล้ว ก็อาจทำได้โดยแต่งตั้งเป็นการชั่วคราว แล้วให้ไปสมัครรับเลือกตั้งแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงตั้งให้เป็นขุนนาง การให้ไปสมัครรับเลือกตั้งนั้น นายกฯ จะต้องปรึกษากับพรรคให้สมาชิกในพรรคคนใดคนหนึ่งลาออก แล้วตกลงกับพรรคฝ่ายค้านไม่ให้ไปแข่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกในรัฐบาลนี้เข้ารับเลือกโดยไม่มีผู้แข่งขัน

ข้อที่สอง ก็คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องคำนึงถึงการเป็นปึกแผ่นของคณะพรรค (party solidarity) ฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ จะต้องพยายามเลือกจากผู้ที่อยู่ในคณะพรรคเดียวกัน หรือจากผู้ที่มีนโยบายใหญ่ ๆ ตรงกัน และเต็มใจที่จะร่วมมือตามนโยบายที่จะแถลง ทั้งนี้ เพราะทางปฏิบัติได้พิศูจน์ให้เห็นแล้วว่า การรวมพรรคต่าง ๆ มาเข้าเป็นรัฐบาลชุดเดียวกันนั้นไม่เป็นการราบรื่นในการบริหาร เว้นไว้แต่ในกรณีวิกฤติการสำคัญ บ้านเมืองอยู่ในสถานะสงคราม เช่น มหาสงครามครั้งที่ ๑ และมหาสงครามครั้งนี้

ข้อที่สาม นายกรัฐมนตรีจะต้องคำนึงถึงหลักซึ่งสำคัญมาก กล่าวคือ สมาชิกในพรรคซึ่งเคยเป็นเจ้ากระทรวงหรือรัฐมนตรีมาแล้ว ถ้ายังแข็งแรงอยู่และปรารถนาที่จะเข้ารับตำแหน่ง จะต้องได้รับการพิจารณาก่อนผู้อื่น เพราะพวกนี้จะโกรธมากในเมื่อพรรคซึ่งเขาเป็นสมาชิกอยู่ได้เป็นรัฐบาลทั้งที ตนเองกลับไม่ได้รับการพิจารณา นอกจากนี้ ก็มีสมาชิกหนุ่ม ๆ ในพรรคซึ่งได้ทำชื่อเสียงเด่นในสภาแล้ว ก็คงร้องว่า ตนควรได้รับการพิจารณา และจะต้องคำนึงถึงสมาชิกในพรรคซึ่งเป็นผู้แทนจังหวัดต่าง ๆ ให้ทั่วถึง ไม่ใช่เลือกจากสมาชิกในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งโดยฉะเพาะ เช่น ต้องคำนึงจากสมาชิกในอังกฤษ ในสก๊อตแลนด์ ไอร์แลนด์ และเวลส์ ทั่ว ๆ ไป โดยพยายามให้เสมอหน้าเท่าที่จะทำได้ แม้ในพรรคเดียวกันเองก็จะต้องคำนึงถึงความเห็น เพราะมีหลายแนวด้วยกัน เช่น ซ้าย ขวา กลาง และผู้ที่จะรับเลือกจะต้องเป็นผู้อภิปรายเก่ง และเป็นที่นิยมชมชอบของผู้เลือกตั้งด้วย

ข้อสุดท้าย ก็คือ ผู้ที่จะเป็นเจ้ากระทรวงหรือรัฐมนตรีจะต้องมีคุณสมบัติสามประการ (๑) ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty); (๒) ไม่เป็นผู้ที่อาจซื้อได้ (incorruptibility); และ (๓) มีประสิทธิภาพดี (Eifficiency)

ปัญหามีต่อไปว่า รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงจะทำการค้าได้หรือไม่ ธรรมเนียมที่ปฏิบัติในอังกฤษนั้น รัฐมนตรีมีหุ้นส่วนในบริษัทการค้าได้ แต่ห้ามเป็นกรรมการบริษัท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๖) รัฐบาลของเซอร์เฮนรี แคมเบล เบนเนอรแมน (Sir Henry Campbell Bannerman) ได้วางหลักไว้ว่า รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงที่เคยเป็นกรรมการบริษัทอยู่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ต้องลาออกจากกรรมการนั้น ๆ เว้นไว้แต่เป็นกรรมการกิติมศักดิ์ในองค์การการกุศล และกรรมการในบริษัทเอกชน (private companies) คำว่า บริษัทเอกชน นี้ เซอร์เฮนรีขยายความว่า หมายถึง ถ้ารัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงมีผลประโยชน์ส่วนได้เสียเหมือนกันสาระสำคัญอย่างผู้ถือหุ้นทั่วไปในร้านค้าขาย โดยไม่มีสิทธิพิเศษอย่างอื่น ซึ่งหมายความว่า ถ้าเป็นกรรมการ แต่มีสิทธิพิเศษยิ่งไปกว่าผู้ถือหุ้นแล้ว เป็นไม่ได้ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖) นายบอลด์วิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งบัดนี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ล ได้แถลงยืนยันหลักดังกล่าวนี้ และแถลงเพิ่มเติมว่า เท่าที่ท่านทราบ คณะรัฐมนตรีชุดก่อน ๆ ซึ่งท่านร่วมอยู่ด้วย ได้ปฏิบัติตามนี้ และท่านเชื่อว่า แม้ในคณะรัฐมนตรีชุดก่อนที่ท่านไม่ได้ร่วมอยู่ด้วยก็ดี ได้ถือหลักว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาถึงปัญหาหนึ่งใดซึ่งรัฐมนตรีผู้นั้นมีส่วนได้เสียอยู่ด้วย รัฐมนตรีผู้นั้นมักจะแถลงให้ที่ประชุมทราบว่า ตนมีส่วนได้เสียอยู่ด้วย และบางคราว ไม่อภิปรายด้วย หรือถ้าอภิปรายด้วย ก็โดยเพื่อนร่วมคณะทราบฐานะดี โดยปกติ รัฐมนตรีที่ไม่ได้ลาออกจากกรรมการตามหลักข้างต้น จะไม่ยอมรับค่าป่วยการ โบนัส หรือเงินใด ๆ จากบริษัทเนื่องจากตนเป็นกรรมการ นอกจากผลกำไรในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นธรรมดาเท่านั้น หลักซึ่งวางไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๖) ดังกล่าวมาแล้วนี้ ยังคงใช้อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

นายแอสควิท (Mr. Asquith) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นลอรด์ออกสฟอร์ด (Lord Oxford) ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แถลงในสภาสามัญเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓) ว่า รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงไม่ควรจะเข้าทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเป็นเงินเป็นทองอาจจะเกิดขัดแย้งกันขึ้นกับหน้าที่ในทางราชการ และรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงใดจะแก้ตัวไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ในการที่ถือประโยชน์เอาข้อความซึ่งทราบจากทางราชการซึ่งได้มาเพราะเป็นรัฐมนตรีเพื่อกำไรส่วนตัวของตนเองหรือเพื่อนฝูง รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงไม่ควรยอมให้ตนเองเข้าไปอยู่ในฐานะซึ่งอาจใช้อิทธิพลในตำแหน่งของตนเพื่อสนับสนุนโครงการณ์หรือส่งเสริมการทำสัญญาใด ๆ ซึ่งตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยส่วนตัวซึ่งไม่มีใครทราบ ยิ่งกว่านี้ ไม่ควรรับผลประโยชน์ใด ๆ จากบุคคลที่เข้ามาเจรจาเพื่อทำสัญญากับรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินทอง รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงไม่ควรลงทุนเพื่อเก็บหากำไรในกิจการซึ่งตนอาจรู้มาเพราะเป็นรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวง เพราะเป็นการได้เปรียบบุคคลอื่นซึ่งไม่อยู่ในฐานะเช่นนั้น นอกจากนี้ ลอร์ดปาล์เมอร์สตัน (Lord Palmerston) ยังได้วางหลักไว้อีกว่า รัฐมนตรีไม่ควรรับของกำนัลอันมีค่า

รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อรัฐสภา และร่วมกันรับผิดชอบในนโยบายทั่วไปของรัฐบาล

หลักดังกล่าวนี้ตรงกับรัฐธรรมนูญของเรา การที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนนั้นไม่มีปัญหา เมื่อมีหน้าที่แล้ว ก็ต้องมีทั้งสิทธิและความรับผิดชอบไปในตัว แต่ในเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปนั้นเป็นข้อที่ควรพิจารณา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ (ค.ศ. ๑๘๗๘) ลอร์ดชอลสบุรีให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ มติของคณะรัฐมนตรีทุกเรื่อง สมาชิกของคณะรัฐมนตรีทุกคนซึ่งไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งภายหลังที่มีมตินั้น ๆ ต้องรับผิดชอบอย่างเด็ดขาด แม้จะขอปลีกตัวว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ตนไม่เห็นด้วย ก็ไม่ได้ และไม่มีสิทธิจะไปเที่ยวพูดต่อไปว่า ตนตกลงด้วยเพื่อเป็นการปราณีประนอมหรือถูกเพื่อนร่วมคณะชักจูง หลักในเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีต่อรัฐสภาจะมั่นคงอยู่ได้ก็โดยใช้หลักการอันเดียวนี้เท่านั้นที่ว่า สมาชิกแห่งคณะรัฐมนตรีทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันอย่างเด็ดขาดภายหลังที่มีมติไปแล้วและยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป หลักนี้เป็นหลักสำคัญที่สุดหลักหนึ่งของการที่ให้มีความรับผิดชอบต่อรัฐสภา

เมื่อมีหลักอยู่เช่นนี้ รัฐมนตรีซึ่งไม่พร้อมที่จะช่วยแก้ข้อหาใด ๆ อันเกิดจากมตินั้นต้องลาออก และได้มีตัวอย่างมากหลายซึ่งรัฐมนตรีได้ลาออกเพราะเหตุนี้

แต่ถ้ารัฐมนตรีไม่ลาออก ก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะว่าในสภาสามัญนั้น นโยบายใด ๆ ที่รัฐมนตรีเจ้าของเรื่องยืนยันจะดำเนินให้ได้ ถ้าแพ้คะแนนเสียง ต้องถือว่า รัฐบาลแพ้ด้วย ข้อเสนอใด ๆ ของรัฐมนตรี ไม่ว่าข้อเสนอนั้นคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถือว่า เป็นข้อเสนอของรัฐบาล อย่างไรก็ดี หลักนี้มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ถึงแม้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในข้อเสนอใด ๆ ของรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อห้ามให้รัฐบาลโอนอ่อนผ่อนตามเสียงของรัฐสภา และเคยมีตัวอย่างแล้วเช่นเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้ ถ้ารัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงเจ้าของเรื่องเห็นว่า เป็นการเสื่อมเสียแก่ตน ก็ควรลาออก นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องความผิดพลาดฉะเพาะตัวของรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวง เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๑) ลอร์ดเอลเลนบราฟ (Lord Ellenborough) รัฐมนตรีว่าการเกี่ยวกับอินเดีย ได้อนุมัติให้มีการพิมพ์โฆษณาคำสั่งราชการฉะบับหนึ่งซึ่งมีถึงลอร์ดแคนนิง (Lord Canning) ผู้สำเร็จราชการอินเดีย ซึ่งยังไม่ควรเปิดเผย เมื่อลอร์ดเอลเลนบราฟเห็นว่า รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยเปล่า ๆ จึงรีบลาออก

ความรับผิดชอบร่วมกันนี้กินไปถึงการต้องช่วยกันสนับสนุนรัฐบาลด้วย อาทิ ในสภาขุนนางก็ดี สภาสามัญก็ดี รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงต้องชี้แจงสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีที่ร่วมคณะด้วย จะไปพูดว่าไม่เห็นด้วยไม่ได้ ในสภาฯ เมื่อเวลาออกเสียง ก็ต้องออกเสียงร่วมกันทุกคน แต่เคยมีกรณีที่เกิดขัดความเห็นกันขึ้น และรัฐมนตรีข้างฝ่ายน้อยจะลาออก แต่รัฐบาลได้ขอให้อยู่ต่อไปโดยอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย แต่กรณีเช่นนี้ ในสมัยปัจจุบัน ไม่ค่อยทำกัน แต่การไม่ออกเสียงลงคะแนนสนับสนุนนโยบายนั้นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับออกเสียงลงคะแนนค้าน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ (ค.ศ. ๑๘๘๑) แกลดสโตน นายกรัฐมนตรี ได้ออกความเห็นว่า สำหรับสมาชิกในรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นรัฐมนตรี (หมายความถึง เจ้ากระทรวง) นั้น การไม่ออกเสียงให้รัฐบาลในเรื่องที่สำคัญนั้นไม่เป็นเรื่องร้ายแรง แต่ถ้าว่าตามหลักการเฉียบขาดแล้ว ต้องขออนุญาตก่อน แต่ในกรณีรัฐมนตรีนั้น ไม่มีข้อสงสัย รัฐมนตรีต้องออกเสียงให้ทุกกรณี นอกจากไม่สามารถมาประชุมได้จริง ๆ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ (ค.ศ. ๑๙๑๑) รัฐบาลบริติชได้ตั้งคณะกรรมาธิการกลไกของรัฐบาล (Machinery of Government Committee) ขึ้นชุดหนึ่ง คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้รายงานว่า หน้าที่สำคัญของคณะรัฐมนตรี คือ

(๑)กำหนดนโยบายขั้นสุดท้ายสำหรับเสนอต่อรัฐสภา ตามนี้หมายความว่า กิจการใด ๆ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย และต้องมีกฎหมายสนับสนุน หรือเรื่องสำคัญใด ๆ ที่จะแถลงต่อสภา คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จะต้องเตรียมและวินิจฉัย

(๒)การควบคุมฝ่ายบริหารแห่งชาติ (national executive) ให้เป็นไปตามนโยบายซึ่งได้รับาวามไว้วางใจจากรัฐสภา

(๓)การประสานงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ระหว่างกระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ

เมื่อคณะรัฐมนตรีมีนโยบายอันใดอันหนึ่ง ปัญหาที่ว่า จะต้องมีกฎหมายสนับสนุนอย่างใดหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเทฆนิค คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จะตัดสินนโยบายเท่านั้น เจ้าหน้าที่เทฆนิคจะต้องเป็นผู้อธิบายแก่คณะรัฐมนตรีว่า จำเป็นต้องออกกฎหมายหรือไม่ เมื่อจำต้องออกกฎหมาย กระทรวงเจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ไปจัดร่างพระราชบัญญัติเสนอรัฐสภาต่อไป

คณะรัฐมนตรีเป็นองค์การควบคุมทั่ว ๆ ไป โดยปกติ ประชุมกันสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ครั้งละสองชั่วโมง และประชุมกันฉะเพาะในนโยบายหรือหลักการ รายละเอียดไม่พิจารณา เพราะปัญหาซึ่งไม่ใช่เป็นปัญหาสำคัญในทางนโยบายนั้นเป็นที่เข้าใจกันระหว่างรัฐมนตรีว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือเจ้ากระทรวง จะต้องใช้ดุลยพินิจของตนเองว่า เรื่องใดจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีหรือไม่ รัฐมนตรีที่เสนอเรื่องแทบทุกเรื่องเป็นรัฐมนตรีที่อ่อน แต่รัฐมนตรีที่แทบไม่เสนอเลยก็มีอันตราย ยกตัวอย่างเมื่อรัชชกาลควีนวิคตอเรีย ลอร์ดปาล์เมอร์สตันเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ มักจะวินิจฉัยเรื่องการต่างประเทศโดยพลการ แม้นายกรัฐมนตรี ลอร์ดปาล์เมอร์สตันก็ไม่ปรึกษา จนกระทั่งเพื่อนร่วมคณะนอนไม่หลับด้วยวิตกว่า จะผิดพลาด แต่ก็ไม่กล้าขัด เพราะเกรงใจ โดยที่ลอร์ดปาล์เมอร์สตันมีพวกมากทั้งในสภาขุนนางและสภาสามัญ ในที่สุด ทางรัฐบาลก็แนะนำให้ปาล์เมอร์สตันออกจนได้ แต่ภายหลังเพียง ๓ สัปดาห์ ปาล์เมอร์สตันได้ชวนพวกไม่ลงมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐบาลเสนอ รัฐบาลต้องลาออก

ลอร์ดออกสฟอร์ดกล่าวว่า โดยปกติ การกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์พระราชทานอภัยโทษ การแต่งตั้งข้าราชการ ไม่ต้องปรึกษาในคณะรัฐมนตรี เว้นไว้แต่เป็นกรณีพิเศษ เรื่องการพระราชทานอภัยโทษเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยปกติ รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/40หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/41หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/42หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/43หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/44