หนังสือราชกิจจานุเบกษา/เล่ม 1/แผ่นที่ 7

ราชกิจจานุเบกษา
กรุงเทพมหานคร
 

เล่มที่ ๑
แผ่นที่ ๗
วันจันทร เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ปีจอฉศก

หนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง จะออกเดือนละ ๔ ครั้งตามกำหนดทุกเดือน ราคาตลอดปี ๔๘ ฉบับ สองตำลึง ครึ่งปี ๒๔ ฉบับ ราคาห้าบาท สามเดือน ๑๒ ฉบับ ราคาสามบาท ใบหนึ่งจนถึงสามใบ ๆ ละสลึงเฟื้อง ถ้าต้องไปส่งถึงบ้าน ปีหนึ่งค่าจ้างกึ่งตำลึง ครึ่งปีหกสลึง สามเดือนบาทหนึ่ง ถ้าผู้ใดจะต้องการ ก็ให้มาที่โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวังเทอญ ๚ะ

ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๒๓๕ กุกุฏสังวัจฉระกะติกะมาศกฤษณปักษพาระสีดิถีรวิวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเดจพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัต วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสดจออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมหัยสวริยพิมานโดยสฐานอุตราภิมุข พระบรมวงษานุวงษแลท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนเฝ้าพร้อมกันโดยลำดับ จึ่งมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาททรงประกาศแก่พระบรมวงษานุวงษแลข้าทูลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่ได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติมา ก็ตั้งพระราชหฤไทยที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มีความศุกความเจริญแก่พระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งสมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริห์จะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป ด้วยได้ทรงพระราชดำริหเหนว่า ในมหาประเทศต่าง ๆ ซึ่งเปนมหานครอันใหญ่ในทิศตวันออกตวันตกในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตวันออก คือ ประเทศจีน ประเทศญวน ประเทศยี่ปุ่น แลฝ่ายตวันตก คือ อินเดิย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ประเทศเหล่านั้นก็ได้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมนั้นหมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว การที่เขาได้พร้อมกันเลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้น ก็เพราะเพื่อจะให้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใดเมืองใดที่ได้ยกธรรมเนียมที่เปนการกดขี่ซึ่งกันแลกัน ประเทศนั้นเมืองนั้น ก็เหนว่ามีแต่ความเจริญมาทุก ๆ เมืองโดยมาก ก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เปนการกดขี่แก่กันอันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้นก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่างหลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง แต่การที่จะจัดผลัดเปลี่ยนธรรมเนียมจะให้แล้วไปในครั้งเดียวคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ควรแก่กาลที่จะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึ่งจะได้มีความเจริญสมบูรณยิ่งขึ้นไป แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้นได้ความเหน็จเหนื่อยลำบากเพราะจะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้นก็ต้องทนลำบากอยู่ จนสิ้นวาระของตนแล้วจึ่งจะได้ออกมาพ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้แล เหนว่าเปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้น จึ่งจะต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย ด้วยทรงพระมหากรุณาที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความศุข ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลานเหมือนอย่างแต่ก่อน แลธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนยืนเปนเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมแลกราบไหว้นั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนก้มสีสะ ธรรมเนียมที่ยืน ที่เดิน แลก้มสีสะนี้ไช้ได้เหมือนกับธรรมเนียมที่หมอบคลานถวายบังคมแลกราบไหว้ บางทีท่านผู้ที่มีบันดาศักดิ์ซึ่งชอบธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ตามเดิมเหนว่าดีนั้น จะมีความสงไสยสนเท่ห์ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมหมอบคลานให้ยืนให้เดินจะเปนการเจริญแก่บ้านเมืองด้วยเหตุไร ก็ให้พึงรู้ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่เลิกหมอบคลานให้ยืนให้เดินนั้น เพราะจะให้เหนเปนแน่ว่าจะไม่มีการกดขี่แก่กันในการที่ไม่เปนยุติธรรมอีกต่อไป เมืองใดประเทศใดผู้ที่เปนใหญ่มิได้ทำการกดขี่แก่ผู้น้อย เมืองนั้นประเทศนั้นก็คงมีความเจริญเปนแน่ ตั้งแต่นี้สืบไปพระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งจะเฝ้าทูลอองธุลีพระบาทในพระที่นั่งแลที่เสดจออกแห่งหนึ่งใด จงประพฤติตามพระราชบัญญัติที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดไว้เปนข้อบัญญัติสำรับข้าราชการต่อไปจงทุกข้อทุกประการ จึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ สมันตพงษพิสุทธ มหาบุรุศย์รัตโนดม ผู้สำเรจราชการแผ่นดิน ตั้งเปนข้อพระราชบัญญัติไว้สำรับแผ่นดินต่อไปดังนี้ ๚ะ

พระราชบัญญัติ์

ข้อว่า พระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลอองธุลีพระบาทในพระที่นั่งฤๅที่เสดจออกแห่งใด ๆ ก็ดี เมื่อเดินเข้าไปถึงน่าพระที่นั่งแล้ว ให้ก้มสีสะถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วจึ่งเดินไปยืนที่ตำแหน่งของตนเฝ้า เมื่อไปถึงที่ยืนเฝ้าแล้ว ให้ก้มสีสะถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง แล้วยืนให้เรียบร้อยเปนปรกติ ห้ามมิให้เดินไปเดินมาแลยืนหันหน้าหันหลังในเวลาที่เสดจออก แลมิให้ยืนเอามือไพล่หลัง แลท้าวเอว แลเอามือไปท้าวผนังแลเสาฤๅที่ต่าง ๆ แลสูบบูหรี่ หัวเราะพูดกันเสียงดัง ต่อน่าพระที่นั่ง ให้ยืนให้เรียบร้อยเปนลำดับตามบันดาศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย ถ้ามีกิจราชการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ให้เดินออกมาจากที่เฝ้า ยืนตรงน่าพระที่นั่ง ก้มสีสะถวายคำนับ แล้วจึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อสิ้นข้อความที่กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ให้ก้มสีสะลงถวายคำนับ จึ่งให้เดินถอยหลังมาที่ยืนเฝ้าอยู่ตามเดิม ถ้าจะถวายหนังสือฤๅสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหัถสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ถือสองมือเดินตรงเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งภอสมควร ก้มสีสะลงถวายคำนับก่อน จึ่งถวายของนั้นต่อพระหัถ ถ้าถวายของนั้นเสรจแล้ว ให้เดินถอยหลัง ถ้าเปนที่ใกล้ ให้ถอยหลัง ๓ เก้าฤๅ ๕ เก้าพอสมควร ถ้าเปนที่ไกล ให้ถอยหลังออกมา ๗ เก้า จึ่งกลับหน้าเดินไปยืนตามที่ ถ้าจะมีพระบรมราชโองการดำรัสด้วยผู้หนึ่งผู้ใดที่ยืนอยู่ในที่เฝ้านั้น ก็ให้ผู้นั้นยืนคงอยู่ตามที่ ก้มสีสะถวายคำนับ แล้วจึ่งรับพระบรมราชโองการ เมื่อรับพระบรมราชโองการ กราบบังคมทูลสิ้นข้อความแล้ว ก็ให้ก้มสีสะลงถวายคำนับ อนึ่ง พระบรมวงษานุวงษแลข้าทูลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงที่ได้เข้ามายืนเฝ้าในเวลาที่เสดจออกอยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานเก้าอี้ให้นั่ง จึ่งนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้น แลนั่งบนเก้าอี้ ฤๅนั่งที่แห่งใด ๆ ตามชอบใจในเวลาที่เสดจออกต่อน่าพระที่นั่ง แลผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าอยู่นั้น นั่งให้เปนปรกติ ห้ามมิให้ยกเท้าขึ้นภับบนเก้าอี้ แลไขว่ห้างเหยียดเท้าตะแคงตัวทำกิริยาหาความสบายให้เกินกิริยาที่นั่งเปนปรกติเปนอันขาด เมื่อเวลาเสดจขึ้น ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับให้พร้อมกัน แต่แขกเมืองประเทศราช เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลอองธุลีพระบาท ให้ทำกิริยาคาระวะตามเพศบ้านเมืองของตนก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ยืน จึ่งยืนได้ ๚ะ

ข้อพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวเสดจพระราชตำเนินออกประทับอยู่ที่แห่งใด ๆ ก็ดี ข้าราชการแลมหาดเลกซึ่งเฝ้าทูลอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้น ถึงเสดจออกประทับอยู่ช้าหลายชั่วโมง ก็ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเลกที่ยืนเฝ้าอยู่นั้นนั่งลงในที่แห่งใด ๆ เปนอันขาด เว้นไว้แต่เปนที่กำบังลับพระเนตรสมเดจพระเจ้าอยู่หัว จึ่งนั่งได้ แลในเวลาที่เสดจออก ทรงประทับอยู่ณที่แห่งใด ๆ นั้น ข้าราชการแลมหาดเลกยืนเฝ้าอยู่ในที่โดยลำดับแล้ว ผู้ซึ่งจะเข้ามาเฝ้าทูลอองธุลีพระบาทภายหลัง ที่มิได้มีราชการที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ห้ามมิให้เดินผ่านน่าพระที่นั่งแลเดินผ่านหน้าข้าราชการที่ยืนเฝ้าอยู่ก่อนนั้น ให้เดินหลีกเลี่ยงเข้ายืนตามตำแหน่งของตนที่ควรจะยืน เว้นไว้แต่ผู้ที่รับพระบรมราชโองการ จึ่งเดินผ่านหน้าเพื่อนข้าราชการไปมาได้ ๚ะ

ข้อสมเดจพระเจ้าอยู่หัวเสดจพระราชตำเนินไปทางสถลมารค์ ข้าราชการแลราษฎรชายหญิงที่จะมาคอยดูกระบวนเสดจพระราชตำเนินก็ดี จะทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅจะทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อเวลาเสดจพระราชตำเนินมาถึงน่าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวนเสดจพระราชตำเนินอยู่นั้น ให้คนเหล่านั้นก้มสีสะถวายคำนับจงทุกคน ห้ามมิให้นั่งมิให้ยืนดูกระบวนเสดจพระราชตำเนินบนชานเรือน บนน่าต่างเรือน แลบนที่สูง ที่ไม่ควรจะนั่งจะยืน ถ้าทรงม้า ทรงรถ ไม่มีกระบวนนำกระบวนตามเสดจพระราชตำเนิน ผู้ซึ่งอยู่บนเรือนแลบนที่สูง ไม่ทันรู้ว่าเสดจพระราชตำเนิน แต่ภอแลเหนว่าเปนรถพระที่นั่งฤๅม้าพระที่นั่ง ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับ ห้ามมิให้นั่งมิให้หมอบเปนอันขาด แลในเวลาที่เสดจพระราชตำเนินทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤๅทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดมาในทางสถลมารค์ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปบนหลังม้าฤๅไปบนรถ ภบปะกระบวนนำเสดจพระราชตำเนิน ก็ให้หยุดม้าหยุดรถริมทาง ถ้าเสดจพระราชตำเนินมาถึงตรงหน้าแล้ว ให้ถอดหมวกก้มสีสะถวายคำนับอยู่บนรถบนหลังม้า ไม่ต้องลงจากรถจากหลังม้า ต่อเสดจพระราชตำเนินไปสิ้นกระบวนแล้ว จึ่งให้ออกเดินรถเดินม้าต่อไป ถ้าเสดจพระราชตำเนินทางชลมารค์ ข้าราชการแลราษฎรชายหญิงที่อยู่แพอยู่เรือนริมน้ำ ให้ยืนขึ้นก้มสีสะถวายคำนับจงทุกคน ถ้ามาด้วยเรือ ภบกระบวนเสดจพระราชตำเนิน ถ้าเรือเลก ยืนไม่ได้ ก็ให้ถอดหมวกก้มสีสะถวายคำนับในเรือ ไม่ต้องยืน ถ้าเปนเรือใหญ่ ควรจะยืนได้ ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับตามธรรมเนียม ๚ะ

ข้อข้าราชการ เมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แลจะออกจากพระบรมมหาราชวัง ฤๅจะไปกิจธุระแห่งหนึ่งแห่งใดก็ดี ถ้าภบท่านผู้มีบันดาศักดิ์ที่ได้เคยทำคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้ทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ธรรมเนียมที่ยืนเหมือนกับนั่งเหมือนกับหมอบ ธรรมเนียมที่เปิดหมวกก้มสีสะเหมือนกับกราบไหว้อย่างแต่ก่อนนั้น ถ้าผู้หญิงจะไปในที่เฝ้าแลภบท่านผู้ใหญ่ ไม่ต้องเปิดหมวก เปนแต่ก้มสีสะลงคำนับ เมื่อกระทำคำนับแล้ว หมวกนั้นจะเปิดก็ได้ไม่เปิดก็ได้ แลผู้คนข้าทาษที่ไช้การงานอยู่ในบ้านเรือนนั้น ก็อย่าให้ท่านผู้ที่เปนเจ้าเปนนายบังคับให้ข้าทาษหมอบคลาน ให้บังคับให้ข้าทาษใช้ยืนใช้เดินตามพระราชบัญญัติซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งไว้นี้ ให้พระบรมวงษานุวงษข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนฝ่ายน่าฝ่ายในในพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวร ให้กระทำตามพระราชบัญญัติ์ประกาศนี้จงทุกประการ ประกาศมาณวันอาทิตย เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีรกาเบญจศก ๚ะ

พระบาทสมเดจพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยที่ปฤกษาราชการแผ่นดินว่า ในแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกเดินสวนตั้งแต่ปีฉลูสัปตศก ครั้นถึงปีมแ ตรีศก พระบาทสมเดจพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสดจเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้วเปนปีที่สี่ ในปีนั้นน้ำมาก ท่วมสวนฃองราษฎร ต้นผลไม้ของราษฎรเสียไปเปนอันมาก จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดข้าหลวงรังวัดไม้ตายสักหลังโฉนดไว้ครั้งหนึ่ง บัดนี้คิดตั้งแต่ปีฉลูสัปตศกมาจนถึงปีจอฉศกครบ ๑๐ ปี เปนประเพณีจะต้องจัดข้าหลวงออกเดินรังวัดสวนสำรวจไม้ตายไม้ขึ้นเปลี่ยนน่าโฉนดตราแดงใหม่ จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดข้าหลวงออกรังวัดสวนในปีจอฉศกนี้ แต่ธรรมเนียมเดิมมีท้องตราบังคับว่า ให้แต่งข้าหลวงรังวัดสวนแล้ว ราษฎรบังอาจตัดต้นผลไม้มีอากรซึ่งนายรวางประกาศป่าวร้องห้ามแล้วให้ขาดเงินอากรของหลวงไป ให้ปรับใหมอากรต้นหนึ่งเปนสามต้นสักหลังไว้ในโฉนดเปนไม้โทษ แล้วอย่าให้หักสิบลดให้แก่ราษฎรผู้กระทำผิดนั้นเลย ข้อบังคับเดิมมีอยู่ดังนี้ ทรงพระราชดำริห์เหนว่า ไม้ซึ่งราษฎรจะตัดฟันเสียนั้นก็แต่ที่ไม่มีผล กลัวจะต้องเสียเงินอากร จึ่งได้ลอบลักตัดฟัน จนต้องตั้งมาเปนธรรมเนียมดังนี้ ฝ่ายข้าหลวงไปเดินสวนเล่า ก็คิดแคะไค้จะหาความว่าราษฎรตัดฟันไม้ในระหว่างห้ามปราม ที่ราษฎรลักตัดจริงก็มี ที่ตัดแล้วหลายเดือนหลายปีก็มี เจ้าพนักงานก็ขลุมเอาว่าตัดในเวลาประกาศห้ามปราบทั้งสิ้น ขู่เขญให้ราษฎรกลัวต้องเสียเงินทองให้เปนผลประโยชน์แก่ตัว ก็เปนอันเลิกแล้วสูญกันไป ถ้าที่ราษฎรเจ้าของสวนกลัว ไม่อาจจะตัดฟันไม้ที่เสียลง ก็ทนเสียอากรตลอดไป ราษฎรจึ่งไม่อาจปลูกต้นไม้แซมขึ้นอิกได้ ครั้งนี้ทรงพระราชดำริห์ว่า สวนในกรุงเทพมหานครแลหัวเมืองเจริญขึ้นมาก ราษฎรทำสวนขึ้นใหม่อีกก็มาก ผลไม้ก็มีราคาแพง เปนสินค้าต่างประเทศได้บ้างก็มี ซึ่งราษฎรจะแกล้งตัดฟันต้นไม้ซึ่งมีผลเสียนั้นก็จะไม่เปน จะตัดฟันก็แต่ไม้ที่เสียไม่มีประโยชน์ หวังจะปลูกสร้างขึ้นใหม่ให้เปนประโยชน์แก่ตน ทรงพระราชดำริห์ว่า ถ้าจะยอมให้ราษฎรตัดฟันต้นแลผลไม้ เงินอากรจะตกลงมาน้อยเท่าใด ก็เหนว่าเปนคุณประโยชน์แก่ราษฎรเปนอันมาก จะได้มีใจอุสาหลูกสร้างปลูกสร้างต้นผลไม้ขี้นไหม่ให้มากเปนคุณประโยชน์แก่แผ่นดินอีก จึ่งมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทให้ประกาศพระบรมวงษานุวงษข้าทูลอองธุลีพระบาทผู้สำเรจราชการเมืองกรมการแลราษฎรเจ้าของสวนในกรุงแลหัวเมืองให้ทราบทั่วกัน ในปีจอฉศกนี้ จะโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกรังวัดสวนต้นผลไม้ สิ่งไรซึ่งไม่มีผล ราษฎรจะตัดฟันปลูกสร้างขึ้นใหม่นั้น โปรดเกล้าฯ ให้ยกเสีย ไม่ให้ปรับไหมสักหลังโฉนดเปนไม้โทษเหมือนอย่างแต่ก่อน ให้ราษฎรหมั่นปลูกสร้างต้นผลไม้ทำนุบำรุงเรือกสวนของตัวให้มีความเจริญเปนผลประโยชน์แก่ตนต่อไปเทอญ ๚ะ

ประกาศมาณวันอาทิตย ขึ้นค่ำหนึ่ง เดือนแปดปถมาสาธ ปีจอฉศก ศักราช ๑๒๓๖ เปนปีที่เจดในราชการปัตยุบันนี้ ๚ะ

ด้วยพระรัตนโกษาเจ้ากรมพระคลังสินค้าได้นำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ครั้นความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตีพิมพ์ประกาศบันดาขุนพัดนายบ่อนราษฎรไทจีนให้รู้ทั่วกันว่า เดิมปีวอกจัตวาศกมีพิกัดแต่ว่า ผู้ใดลักใส่บ่อนต่าง ๆ ถ้าขุนพัดจับได้ ปรับนายบ่อนผู้ลักใส่บ่อนเปนเงิน ๑๐ ตำลึง ให้ปรับนักเลงผู้เล่นเสมอคล ๗ ตำลึง ฝ่ายผู้ซึ่งลักใส่บ่อนแลนักเลงผู้เล่นก็หาเขดหลาบไม่ เพราะค่าปรับนั้นน้อยกว่าเงินที่เล่นได้กันเสียกัน ในจำนวนปีรกาเบญจศกนี้มีพระราชดำรัสสั่งโปรดให้เจ้าพนักงานจัดแก้พิกัดใหม่ ๚ะ

ถ้าบ่อนโปกำโปปั่น ให้ปรับนายบ่อนผู้ลักใส่บ่อนให้เสียเงินค่าสินบล ๒ ชั่ง ค่าปรับ ๓ ชั่ง รวมเปนเงิน ๕ ชั่ง ถ้าบ่อนถั่ว ให้ปรับนายบ่อนผู้ลักใส่บ่อนให้เสียเงินค่าสินบนชั่ง ๑ ค่าปรับ ๒ ชั่ง รวมเปนเงิน ๓ ชั่ง ถ้าบ่อนไพ่ผ่องเลก ไพ่ผ่องใหญ่ ไพ่ฮวนเจียว ไพ่ฮกเกี้ยน ๔ อย่างหน้า:Ratchakitcha Ratchakan Thi Ha (1).pdf/60หน้า:Ratchakitcha Ratchakan Thi Ha (1).pdf/61หน้า:Ratchakitcha Ratchakan Thi Ha (1).pdf/62หน้า:Ratchakitcha Ratchakan Thi Ha (1).pdf/63หน้า:Ratchakitcha Ratchakan Thi Ha (1).pdf/64หน้า:Ratchakitcha Ratchakan Thi Ha (1).pdf/65
Ramsay Wakefield & Company
แรมเสย แวกฟิลด์ แอนด์ กำปนี