รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475

รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร


ครั้งที่ ๑
(สมัยสามัญ)
วันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕


ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๑/๒๔๗๕
เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรเชิญกระแสพระบรมราชโองการมาอ่านเพื่อเปิดการประชุม
รายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ตั้ง
๑–๕
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำคำปฏิญาณพร้อมกันว่า จะซื่อสัตย์ และจะช่วยกันรักษาหลัก ๖ ประการ
๖–๗
เจ้าพระยามหิธรได้อ่านพระกระแสรับสั่งเปิดประชุม
คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารมอบอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎร
เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
๘–๙
เลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
๑๐
เลือกประธานคณะกรรมการราษฎร
๑๐–๑๑
เลือกกรรมการคณะราษฎร
๑๑–๑๒
ตั้งอนุกรรมการให้ร่างรัฐธรรมนูญ
๑๓–๑๔

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๑/๒๔๗๕
วันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เริ่มประชุมเวลา ๑๔ นาฬิกา

ก่อนเสนาบดีกระทรวงมุระธาธรเชิญกระแสพระบรมราชโองการมาอ่านเปิดการประชุม กรรมการคณะราษฎรอ่านรายนามบุคคลซึ่งคณะผู้รักษาพระนครได้ตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร

หลวงประดิษฐมนูธรรมได้อ่านรายนามคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร คือ

๑.ม.อ.อ. เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์

๒.ม.อ.อ. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

๓.ม.อ.อ. เจ้าพระยาพิชัยญาติ

๔.ม.อ.ท. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี

๕.ม.อ.ท. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

๖.ม.อ.ต. พระยามานวราชเสวี

๗.ม.อ.ต. พระยาศรีวิสารวาจา

๘.ม.อ.ต. พระยาไชยยศสมบัติ

๙.ม.อ.ต. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์

๑๐.ม.อ.ต. พระยามนธาตุราช

๑๑.นายพลตรี พระยาอินทรวิชิต

๑๒.นายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม

๑๓.นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ

๑๔.ม.อ.ต. พระยาปรีชานุสาสน์

๑๕.นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี

๑๖.ม.อ.ต. พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์

๑๗.ม.อ.ต. พระยาวิชัยราชสุมนตร์

๑๘.ม.ส.ต. พระยาปรีดานฤเบศร์

๑๙.นายพันเอก พระยาวิชิตชลธี

๒๐.นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช

๒๑.นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเณย์

๒๒.นายพันตำรวจเอก พระยาบุเรศร์ผดุงกิจ

๒๓.อำมาตย์เอก พระยาอนุมานราชธน

๒๔.อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล

๒๕.นายนาวาเอก พระประพิณพนยุทธ

๒๖.นายนาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์

๒๗.อำมาตย์เอก พระสุธรรมวินิจฉัย

๒๘.นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์

๒๙.นายพันตำรวจโท หลวงแสงนิติศาสตร์

๓๐.อำมาตย์โท พระวุฒิศาสตร์เนติญาณ

๓๑.นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย

๓๒.นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย

๓๓.นายพันตรี หลวงสินาดโยธารักษ์

๓๔.นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม

๓๕.อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

๓๖.อำมาตย์ตรี หลวงคหกรรมบดี

๓๗.เสวกตรี หลวงนฤเบศร์มานิต

๓๘.นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

๓๙.รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์

๔๐.รองอำมาตย์เอก หลวงดำริอิศรานุวรรต

๔๑.รองอำมาตย์เอก หลวงสุนทรเทพหัสดิน

๔๒.รองอำมาตย์เอก หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์

๔๓.รองอำมาตย์เอก หลวงบรรณกรโกวิท

๔๔.รองอำมาตย์เอก หลวงอรรถสารประสิทธิ์

๔๕.รองอำมาตย์เอก หลวงอรรถกิตติกำจร

๔๖.รองอำมาตย์เอก หลวงชำนาญนิติเกษตร์

๔๗.รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์

๔๘.รองอำมาตย์เอก หลวงอภิรมย์โกษากร

๔๙.รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม

๕๐.รองอำมาตย์เอก ประจวบ บุนนาค

๕๑.รองอำมาตย์เอก หม่อมหลวงอุดม สนิทวงษ์

๕๒.รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี

๕๓.รองอำมาตย์โท ทวี บุณยเกตุ

๕๔.รองอำมาตย์โท จรูญ สืบแสง

๕๕.รองอำมาตย์โท ชุณห์ ปิณฑานนท์

๕๖.นายวิลาศ โอสถานนท์

๕๗.นายแนบ พหลโยธิน

๕๘.นายดิเรก ชัยนาม

๕๙.นายวิเชียร สุวรรณทัต

๖๐.นายยล สมานนท์

๖๑.นายสงวน ตุลารักษ์

๖๒.นายซิม วีระไวทยะ

๖๓.นายหงวน ทองประเสริฐ

๖๔.นายมานิต วสุวัต

๖๕.นายจรูญ ณบางช้าง

๖๖.นายเนตร์ พูนวิวัฒน์

๖๗.นายมังกร สามเสน

๖๘.นายซุ่นใช้ คูตระกูล

๖๙.นายสวัสดิ์ โสตถิทัต

๗๐.นายบรรจง ศรีจรูญ

แต่พระยาวิชิตชลธีได้บอกป่วย ไม่สามารถรับตำแหน่งได้ จะขอให้ที่ประชุมเลือกตั้งผู้อื่นแทนต่อไป พระยาประมวญวิชาพูลเสนอว่า เมื่อปรากฏว่า มีผู้ป่วย ไม่สามารถรับตำแหน่งได้แล้ว เห็นว่า พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้หนึ่งที่เริ่มการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครอง และได้ลงมือกระทำการอันเต็มไปด้วยความเสียสละ นับว่า เป็นผู้มีคุณแก่ราษฎรมาก ควรสภาผู้แทนราษฎรจะได้ไว้เป็นสมาชิกด้วยอีกผู้หนึ่ง

พระยาปรีชานุสาสน์ พระยาวิชัยราชสุมนตร์ รับรอง

พระยาพหลพลพยุหเสนาทัดทานว่า ไม่มีความปรารถนาในข้อนี้มาแต่ไร ๆ เลย หวังแต่เพียงจะถากถางให้เพื่อประโยชน์ของราษฎร ๑๒ ล้านเท่านั้น

พระยาประมวญวิชาพูลคัดค้านข้อทัดทานของพระยาพหลพลพยุหเสนาว่า พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้กระทำประโยชน์แก่ราษฎรมามากแล้ว ขอได้โปรดรับตำแหน่งนี้เพื่อราษฎรต่อไปอีกสักครั้งด้วย

พระยาวิชัยราชสุมนตร์รับรอง

พระยาพหลพลพยุหเสนาจึ่งว่า ถ้ากระนั้น เพื่อประโยชน์ของราษฎร ๑๒ ล้านจะยอมรับ ที่ประชุมลงมติรับเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งสิ้น

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแถลงว่า สมาชิกทั้งหลายจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อราษฎรในข้อสำคัญหลายประการ เพราะฉะนั้น ขอท่านสมาชิกได้พร้อมกันทำคำปฏิญาณกันเสียก่อน แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนำปฏิญาณ และสมาชิกได้ปฏิญาณพร้อมทั่วกันว่า

ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณ) ขอให้คำปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎรและจะช่วยรักษาหลัก ๖ ประการของราษฎรไว้ให้มั่นคง

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกสารในการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดหยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดั่งกล่าวแล้วข้างต้น

๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

เสร็จแล้ว เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรได้เชิญพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเปิดประชุมว่า

"วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่า เป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ" ที่ประชุมน้อมรับพระกระแสนี้ใส่เกล้าฯ

จบแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมกันต่อไป

๑.มอบอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอว่า บัดนี้ ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบการงานปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไปแต่บัดนี้

๒.เลือกประธานผู้แทนราษฎร หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า บัดนี้ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินก็ได้สร้างขึ้นและประกาศใช้แล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้แทนราษฎรก็ได้เข้าประจำตำแหน่งแล้ว เป็นอันว่า สภานี้เป็นสภาอันทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ มีอำนาจที่จะประชุมปรึกษาการใด ๆ กันได้แล้ว บัดนี้ จะได้เริ่มกระทำการปรึกษาหารือข้อสำคัญชั้นต้นตามธรรมนูญนั้น แต่ระเบียบการประชุมนี้ยังมิได้บัญญัติขึ้นไว้โดยฉะเพาะ และตามธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ให้ใช้ระเบียบการประชุมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองคมนตรีไปพลางก่อนเพียงที่ไม่ขัดกัน ฉะนั้น การประชุมนี้จะได้ดำเนิรให้เป็นไปตามระเบียบนั้นเท่าที่จะเป็นไปได้

การประชุมบั้นต้นนี้มีว่า จะต้องเลือกผู้เป็นประธานขึ้นประจำที่ประชุมตามธรรมนูญ มาตรา ๒๒ เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายได้ปรึกษาหารือกันเลือกตั้งผู้เป็นประธานขึ้นณบัดนี้

๓.นายสงวน ตุลารักษ์ เสนอเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเพื่อรับเลือก อ้างเหตุว่า ท่านผู้นี้มีความรู้ความสามารถดี เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการอันเป็นตำแหน่งสำคัญมาแล้ว และเป็นผู้ใหญ่ เหมาะสำหรับจะรักษาระเบียบการประชุมให้ดำเนิรเรียบร้อยไปได้ด้วยดี ควรที่จะได้รับตำแหน่งประธานแห่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

พระยามานวราชเสวีรับรอง

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์เสนอพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาพหลพลพยุหเสนาปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ และรับรองว่า ควรได้แก่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์เสนอพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ๆ ทัดทานว่า ปรารถนาจะได้โอกาสทำงานเพื่อชาติเพื่อราษฎรให้เต็มกำลังความสามารถ การเป็นผู้แทนราษฎรเพียงเท่านี้พอจะมีโอกาสทำประโยชน์แก่ราษฎรได้มากกว่าการเป็นประธาน ด้วยว่า การเป็นประธานไม่มีหน้าที่จะโต้เถียงแสดงเหตุผลในที่ประชุม

ในที่สุด ที่ประชุมลงมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ปราศจากเสียงค้าน พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อัญเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีขึ้นนั่งณบัลลังก์ผู้เป็นประธาน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแถลงว่า ขอบใจผู้แทนราษฎรทั่วไปเป็นอันมากที่ได้จงใจเลือกขึ้นเป็นประธานแห่งที่ประชุม ขอรับหน้าที่ประจำตำแหน่งประธานแห่งที่ประชุมสภาราษฎรต่อไป และโดยหน้าที่ของผู้เป็นประธาน จึ่งไม่ควรให้การประชุมวันนี้โอ้เอ้ล่าช้าต่อไป และการประชุมของที่ประชุมจำเป็นต้องมีเลขาธิการสำหรับจดรายงานและอื่น ๆ ข้าพเจ้าเห็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมทำหน้าที่นี้อยู่แล้วตั้งแต่เริ่มประชุม ถ้าท่านทั้งหลายไม่ขัดข้อง ข้าพเจ้าขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเป็นเลขาธิการต่อไป

พระยาศรีวิสารวาจาคัดค้านว่า ถ้าจะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขาธิการประจำแล้ว ขัดข้อง เพราะเห็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังมีงานอื่นที่จะต้องทำสำคัญกว่านี้ ถ้าจะเป็นเลขาธิการชั่วคราวแล้ว ไม่ขัดข้อง

พระยาวิชัยราชสุมนตร์รับรอง

๔.การเลือกรองประธาน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า ระเบียบวาระต่อไปนี้เป็นระเบียบวาระที่จะต้องเลือกรองประธาน ท่านทั้งหลายเห็นควรแก่ใคร ขอได้เสนอความเห็นขึ้นมา พระยาศรีวิสารวาจาเสนอพระยาเทพวิทุรฯ พระยามนธาตุราชรับรอง

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์เสนอหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ๆ ขอถอนจากการเป็นผู้สมัคร์รับเลือก และขอเสนอพระยาอินทรวิชิต พระยาศรีวิสารวาจา พระยาวิชัยราชสุมนตร์ พระยามานวราชเสวี รับรอง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า เราจะต้องทำการงานที่กะไว้สำหรับวันนี้ให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว ฉะนั้น ไม่ควรให้เสียเวลา ขอให้ที่ประชุมลงมติกันเสียทีเดียว ที่ประชุมลงมติเลือกพระยาอินทรวิชิตเป็นรองประธานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยปราศจากเสียงค้าน

พระยาพหลพลพยุหเสนาได้นำพระยาอินทรวิชิตขึ้นนั่งบัลลังก์รองประธานผู้แทนราษฎร

๕.ประธานคณะกรรมการราษฎร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า บัดนี้ มาถึงระเบียบวาระที่จะต้องเลือกประธานคณะกรรมการราษฎรตามธรรมนูญ มาตรา ๓๓ เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายได้ปรึกษาหารือกันเลือกตั้งประธานคณะกรรมการราษฎรกันณบัดนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่า เป็นผู้มีองค์คุณควรแก่ตำแหน่งนี้ด้วยประการทั้งปวง พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์รับรอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดาแถลงว่า รู้สึกเป็นเกียรติยศอย่างใหญ่ยิ่ง แต่ก็รู้สึกหนักใจเป็นอันมากหากว่าจะรับตำแหน่งนี้ เพราะมิใช่ทำเล่น เป็นงานใหญ่โตที่จะต้องรับผิดชอบในความมั่งมียากจนของคนไทยตั้ง ๑๒ ล้าน การจะพอรับไหวหรือไม่นั้น จะขอปรึกษาและสอบถามพระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมดูสัก ๕ นาฑีก่อน จึ่งจะตอบให้ทราบได้ ผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้ท่านทั้งสามได้มีโอกาสสอบถามและปรึกษากัน เสร็จแล้ว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาตกลงรับ ที่ประชุมลงมติเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร พระยามโนปกรณ์นิติธาดากล่าวรับตำแหน่งว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติยศ แต่ก็รู้สึกหนักอกเป็นอันมาก ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยคิดว่า จะได้รับตำแหน่งเช่นนี้ แต่มาคิดเห็นประโยชน์ของคน ๑๒ ล้าน ข้าพเจ้าก็ควรทำ และจะทำอย่างดีที่สุด"

๖.กรรมการคณะราษฎร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า บัดนี้ ถึงระเบียบวาระต่อไปที่สภาจะต้องตั้งคณะกรรมราษฎรอีก ๑๔ นาย โดยประธานคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้เลือกเสนอ แล้วสอบถามพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่า จะเลือกผู้ใดเป็นกรรมการบ้าง ให้เลือกเสนอณบัดนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเลือกบุคคลต่อไปนี้

๑.นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ

๒.มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา

๓.นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

๔.นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช

๕.นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์

๖.อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล

๗.นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์

๘.นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม

๙.นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย

๑๐.อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

๑๑.รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์

๑๒.รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม

๑๓.รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี

๑๔.นายแนบ พหลโยธิน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีสอบถามสมาชิกผู้แทนราษฎร แล้วให้สมาชิกลงมติคะแนนเลือก มีสมาชิกลงคะแนนเลือกกรรมการชุดนี้ มี (ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)๐ คะแนน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีชี้ขาดว่า จำนวนนี้สูงเกินครึ่งแล้ว บัดนี้ เป็นอันสมบูรณ์ตามธรรมนูญ มาตรา ๒๓ เป็นอันว่า ผู้ถูกเลือกเหล่านั้นได้เป็นคณะกรรมการราษฎรตามธรรมนูญ มาตรา ๓๓ ต่อไป

.เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า บัดนี้ ถึงระเบียบวาระที่จะต้องตั้งอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแถลงต่อไปว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉะบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะว่า เราได้สร้างขึ้นด้วยเวลาฉุกละหุกกระทันหัน อาจจะยังมีที่บกพร่องอยู่บ้างก็ได้ จึ่งควรที่จะได้มีผู้มีความรู้ความชำนาญในการนี้เป็นอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอให้ท่านเลือกผู้ควรเป็นอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง แล้วจะได้มอบให้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

ที่ประชุมเลือก

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

พระยาเทพวิทุร

พระยามานวราชเสวี

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์

หลวงปรีดานฤเบศร์

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

หลวงสินาดโยธารักษ์

๗ นายนี้ เป็นอนุกรรมการ

ปิดประชุมเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ธรรมศักดิ์ ผู้จดรายงาน

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"