รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12/2475

รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๑๒
(สมัยสามัญ)
วันจันทร์ที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๑๒/๒๔๗๕
ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๑๑/๒๔๗๕
๗๕
ญัตติของคณะกรรมการราษฎร ว่าด้วยร่างกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
๗๕–๗๘
ญัตติของคณะกรรมการราษฎร ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช ๒๔๗๕
๗๘–๘๓

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๑๒/๒๔๗๕
วันจันทร์ที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เปิดประชุมเวลา ๑๖.๑๕ น.

สมาชิกมาประชุม ๖๕ นาย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า รายงานการประชุม ครั้งที่ ๑๑ ซึ่งได้วางให้อ่านตามข้อบังคับแล้วนั้น หากไม่มีผู้ใดคัดค้านประการใด เป็นอันถือว่า ที่ประชุมนี้ได้รับรองรายงานการประชุมฉะบับนั้น ไม่มีผู้ใดคัดค้าน อนึ่ง ประธานคณะกรรมการราษฎรได้เสนอญัตติว่าด้วยร่างกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ กับร่างพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช ๒๔๗๕ ขึ้นมาเพื่อให้ที่ประชุมนี้วินิจฉัย ดั่งที่ได้คัดสำเนาแจกไปทั่วกันแล้ว บัดนี้ จะได้เริ่มพิจารณาปรึกษาร่างกฎมนเทียรบาล พุทธศักราช ๒๔๗๕ ก่อน หากที่ประชุมไม่ปรารถนาอย่างอื่นแล้ว จะถือว่า ให้ประชุมพิจารณาปรึกษาเพียงครั้งเดียว และขอเปลี่ยนภาวะแห่งที่ประชุมนี้เป็นชุมนุมอนุกรรมการเต็มสภา

ประธานคณะกรรมการราษฎรแถลงว่า เรื่องกฎมนเทียรบาลนี้เป็นกระแสพระราชดำริอยู่ก่อนเปลี่ยนการปกครองแล้ว ครั้นมาเปลี่ยนการปกครองขึ้น ก็พระราชทานพระราชดำริมาให้คณะกรรมการราษฎรปรึกษา พระราชประสงค์นั้น คือว่า เจ้านายที่ทำการสมรสผิดกฎมนเทียรบาลเก่ามีโทษอาชญา จึ่งมีพระราชประสงค์อยากจะให้เลิกโทษอาชญาเสีย เพื่อให้สมแก่ความเป็นไปของบ้านเมืองตามสมัย ในข้อโทษนั้น ก็ไม่มีพระราชประสงค์ให้เป็นไปอย่างอื่น นอกจากว่า ถ้าทำผิด ก็ให้ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์เจ้านาย หลักทางการ (Principle) ก็มีอยู่ดั่งนี้ และเรื่องนี้ คณะกรรมการก็ได้พิจารณาหารือกับกรมร่างกฎหมายขอให้ร่างเป็นรูปกฎหมายขึ้น ดั่งที่ปรากฏนี้ นอกจากนี้ ก็ไม่มีอะไร เพราะความในกฎหมายนี้ก็สั้นและได้ความดีอยู่แล้ว

พระยาปรีดานฤเบศร์กล่าวว่า ตามข้อความที่ร่างไว้ในกฎมนเทียรบาลนี้ มีความไม่ชัดสำคัญอยู่หลายอย่าง ดั่งในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ เป็นต้น สองมาตรานี้ปัญหาจะมีว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตจะได้หรือไม่ และจะเป็นผัวเมียกันตามกฎหมายหรือไม่ และเพื่อป้องกันการโต้เถียงระวางศาล เห็นสมควรจะแก้ไขเพิ่มความขึ้นอีกมาตราหนึ่งว่า "แม้ชายหญิงนั้นจะได้ทำการสมรสกันโดยขัดขืนต่อพระบรมราชประสงค์ก็ตาม ให้ถือว่า หญิงชายนั้นเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายบ้านเมือง"

พระยาวิชัยราชสุมนตร์รับรองและแถลงว่า ตามกฎมนเทียรบาลแต่ก่อน เข้าใจว่า เป็นข้อบังคับของในหลวงภายในพระราชฐาน ไม่เกี่ยวกับกฎหมายบ้านเมือง คือ จะออกกฎหมายให้ใช้ในพระราชฐานฉะเพาะก็ได้ หรือออกให้ราษฎรใช้ทั่วไปก็ได้ เพราะตามธรรมเนียม พระเจ้าแผ่นดินจะออกฎหมายฉะนั้นในเรื่องนี้ ก็แปลว่า ต้องบังคับคนทั่วไปด้วย จึ่งเห็นว่า ควรแก้ไขให้ได้ความชัดเจนเพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันในระวางราษฎรทั่วกัน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ก่อนที่จะลงมติให้แก้หรือไม่นั้น ขอถือโอกาสแถลงในเรื่องนี้ ถ้าจะพูดไปแล้ว ก็เกี่ยวด้วยคำสำนวนน่าใช้ ความจริง ชั้นเดิมก็เคยดำริว่า ถ้าหากจะเอาใส่ไว้ว่า แม้สมรกสันขัดขืนต่อพระบรมราชประสงค์แล้ว ก็ไม่ให้ถือว่า เป็นการลบล้างกฎหมายบ้านเมือง แต่ถ้าจะใส่ไว้เช่นนั้น ประเทศเราก็ยังมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่ คล้ายกับว่า ยอมให้คนทำผิดกฎมนเทียรบาลแล้วลบล้างด้วยกฎหมายบ้านเมือง ความจริง ที่ท่านประธานคณะกรรมการราษฎรได้กล่าวมาแล้ว และความประสงค์ของสภานั้น มีว่า ไม่ประสงค์ให้กฎมนเทียรบาลลบล้างกฎหมายบ้านเมือง อีกประการหนึ่ง แม้คดีจะถึงศาลก็ดี ก็เห็นว่า ไม่เป็นไร เพราะมีตัวอย่างที่เคยตัดสินมาแล้ว และที่เสนอมานี้ ก็เพื่อให้สภาทราบว่า ปัญหานี้งามหรือไม่เท่านั้น ส่วนความประสงค์อยู่ในจุดอันเดียวกัน

พระยานิติศาสตร์ฯ รับรองและแถลงว่า กฎหมายบ้านเมืองนั้นใช้ทั่วไป ส่วนกฎมนเทียรบาลนั้นใช้ฉะเพาะหมู่เหล่า ฉะนั้น กฎมนเทียรบาลจึ่งไม่มีอำนาจที่จะไปลบล้างกฎหมายบ้านเมือง จึ่งเห็นว่า ที่พระยาปรีดานฤเบศร์เสนอควรแก้ไขเพิ่มเติมความอีกมาตราหนึ่งนั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เห็นไปว่า ให้กฎมนเทียรบาลนี้ลบล้างแก้ไขกฎหมายบ้านเมืองได้

ประธานของสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ มีความเห็นแตกต่างกัน โดยมีสมาชิกผู้หนึ่งขอแปรญัตติว่า ให้เติมข้อความลงอีกมาตราหนึ่งว่า "แม้ชายหญิงนั้นจะได้ทำการสมรสกันโดยขัดขืนต่อพระบรมราชประสงค์ก็ตาม ก็ให้ถือว่า หญิงชายนั้นเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายบ้านเมือง" หากสมาชิกผู้ใดเห็นพ้องด้วยคำแปรญัตตินี้ ให้ยกมือขึ้น ในที่สุด มีผู้ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำแปรญัตตินี้ ๖๒ นาย ประธานได้เอาญัตติเดิมออกให้ลงมติต่อไปทันที และที่ประชุมได้ลงมตรับรองร่างกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ และให้นำออกประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ จะได้ปรึกษาต่อไปถึงร่างพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระราชบัญญัติฉะบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ ฉะนั้น ที่ประชุมจะปรึกษาครั้งเดียวหรือสามครั้ง ด้วยข้อบังคับของสภามีอยู่ว่า ถ้าเป็นร่างไม่สำคัญ ให้ปรึกษาครั้งเดียวได้ เว้นไว้แต่จะมีสมาชิกผู้ใดขอให้ปรึกษาเป็นสามครั้งโดยมีผู้รับรอง เมื่อเป็นดั่งนี้ ที่ประชุมจะเห็นอย่างไร อนึ่ง เวลานี้ ที่ประชุมยังอยู่ในภาวะอนุกรรมการเต็มสภา ถ้าหากไม่มีคำขอเป็นอย่างอื่น ก็จะได้พิจารณาอย่างชุมนุมอนุกรรมการเต็มสภาต่อไปเป็นครั้งที่ ๒ ในร่างพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย

พระยานิติศาสตร์ฯ แถลงว่า ควรพิจารณาครั้งเดียว เพราะพระราชบัญญัตินี้ กรมร่างกฎหมายได้ร่างมาแล้วเป็นเทฆนิค และไม่น่าจะมีการโต้เถียงกันมาก

พระยาปรีดาฯ รับรอง ทั้งที่ประชุมเห็นชอบด้วย

ประธานคณะกรรมการราษฎรแถลงว่า กฎหมายฉะบับนี้เป็นความคิดที่มีมานานแล้วตั้งแต่ปลายปีกลายนี้ แต่พึ่งจะได้ออกบัดนี้ การที่จะเก็บภาษีการธนาคารและประกันภัย ไม่ใช่เป็นของใหม่ เพราะบ้านเมืองอื่นทั้งหลายก็ได้ทำกันมาแล้ว แต่ที่ในประเทศเราไม่มีนั้น เพราะว่าช้าไป ทั้งเป็นการควรจะมีมาก่อนนี้นานแล้ว พระราชบัญญัตินี้ ก่อนที่จะร่างขึ้น ก็ได้ปรึกษาหารือที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษากรมร่างกฎหมายในฝ่ายเทฆนิคทางร่างกฎหมาย ทั้งกระทรวงพระคลังและกระทรวงการต่างประเทศก็เห็นชอบ, ในทางเก็บภาษีก็ง่าย และในทางต่างประเทศ ก็แน่ใจว่า คงไม่มีขัดข้องอย่างใด นอกจากนี้ ขอแถลงว่า เวลานี้ เราอยากจะได้เงินเร็วที่สุด เพราะว่าเงินในงบประมาณที่ได้ไม่เป็นที่พอใจนัก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ในมาตราหนึ่งซึ่งมิได้ถือตามที่เคย คือ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึง ๓๑ มีนาคม เพราะถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะเก็บภาษีครึ่งปีไม่ได้ และจะไม่ได้เงินในปีนี้ เพื่อประโยชน์ดั่งกล่าวแล้ว จึ่งได้ตั้งต้นด้วยวันที่ ๑ มกราคมถึงธันวาคมอย่างปีฝรั่ง แล้วเราก็จะได้ตั้งต้นเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป คือ วันนี้ เพราะฉะนั้น จึ่งอยากจะให้เร็วที่สุดที่สุดที่จะทำได้ และคิดว่า ปัญหาที่ ๆ ประชุมนี้ควรจะคิดเป็นข้อสำคัญนั้นมีอยู่ในมาตรา ๕ และถ้าหากที่ประชุมเห็นชอบด้วยในการที่จะควรเก็บภาษีนี้แล้ว ก็มีแต่ปัญหาว่า ควรจะเก็บเท่าใด และในการเก็บอย่างใด การเก็บเท่าใดนี้ ถ้าจะดูบ้านเมืองอื่นแล้ว จะเห็นว่า อัตราที่เราคิดเก็บนี้น้อยกว่าเขา เพราะพึ่งเป็นงานใหม่ที่เราจัดทำ ประการที่ ๒ การค้าขายที่แบงก์ในเมืองเราทำอยู่ก็น้อยกว่าเขา เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเก็บภาษีโดยอัตราสูง ก็จะมีเสียงร้อง จึ่งคิดเก็บโดยละมุนละม่อม และให้ได้เงินพอที่ควรจะได้ จึ่งกำหนดเก็บตามมาตรา ๕ และตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ นี้ ถ้าเราเก็บได้ปีหนึ่ง ก็จะได้เงินระวาง ๕ แสนถึง ๗ แสนบาท และในการที่เราจะรีบเร่งเก็บแต่เดือนนี้ ก็มีเวลาอีก ๕ เดือนสิ้นปี กะไว้ว่า จะได้เงินราว ๒ แสนบาทเศษ เพราะฉะนั้น ถ้าที่ประชุมเห็นว่า กฎหมายฉะบับนี้ซึ่งมีผู้ชำนาญการพิเศษได้ตรวจตรามามากมาย และทั้งฉะบับภาษาไทยก็ได้แปลมาเรียบร้อยจนใช้ได้ ก็อยากจะให้ผ่านไปโดยเร็ว เพื่อจะได้จัดพิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายออกใช้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป

พระยาปรีดานฤเบศร์ฯ กล่าวว่า อัตราภาษีที่จะเก็บ ๑/๔๘ แห่ง ๑ ใน ๑๐๐ นั้น ไม่มีความรู้ จึ่งขอมอบให้ไว้เป็นหน้าที่ของประธานคณะกรรมการราษฎร และจะไม่คัดค้าน แต่ขอแถลงว่า การที่จะเก็บภาษีเท่าใดก็ตาม ต้องระลึกว่า จะไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน การเก็บภาษีแบงก์นั้น มิใช่ว่า แบงก์จะชักเนื้อตัวเองเช่นก่อนแบ่งเงินปันผล ๑๐๐ เปอรืเซนต์ ครั้นต้องเสียภาษี มิใช่ว่า จะคงเหลือ ๙ เปอร์เซนต์ก็หาไม่ แบงก์ก็จะต้องไปเรียกเงินเพิ่มขึ้นจากลูกค้าเพื่อได้เงินมาชดเชยในส่วนที่เสียภาษีไป เหตุนี้ ข้อเดือดร้อนก็น่าจะตกอยู่กับราษฎรลูกค้าของแบงก์ ฉะนั้น จึ่งขอเสนอให้สภาระลึกข้อนี้ไว้ นอกจากนี้ ยังสงสัยอยู่อีก ๒–๓ ข้อ เช่น ในมาตรา ๕ (๔) วรรคที่ ๒–๓ ที่ว่า "เงินทุนทิไช้นั้น หมายความรวมทั้ง เงินทุนที่ผู้ถือหุ้นได้ส่งแล้ว กำไรที่ยังไม่ได้แบ่ง เงินเหลือ และเงินสำรอง

"แต่จำนวนเงินทุนซึ่งธนาคารรับฝากเงินอันเป็นสาขาแห่งธนาคารต่างประเทศไปในเดือนหนึ่ง ๆ เพื่อประโยชน์แห่งการประเมิน ให้ถือว่า เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐ ละ ๒๕ แห่งจำนวนถัวเฉลี่ยนของเงินที่รับฝากในเดือนเดียวกัน"

ถ้าอ่านตามความนี้ จะเข้าใจว่า สาขาแบงก์ต่างประเทศได้เปรียบกว่าแบงก์ที่ตั้งขึ้นเองในเมืองไทย ที่เข้าใจเช่นนี้ เพราะคำอธิบายที่ว่า "เงินทุนที่ใช้ หมายความรวมทั้ง เงินทุนที่ผู้ถือหุ้นได้ส่งแล้ว" อย่างแบงก์สยามกัมมาจลเวลานี้ เงินทุนที่ผู้ถือหุ้นได้ส่งแล้ว ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท ก็แปลว่า จะรวมเสียภาษีทั้งหมด แต่สาขาแบงก์ที่มาตั้งในเมืองไทย ให้ถือว่า เป็นจำนวนร้อยละ ๒๕ แห่งจำนวนถัวเฉลี่ยนของเงินที่รับฝากในเดือนเดียวกัน การเก็บอาศัยหลักอะไร และแปลว่า สำหรับแบงก์สยาม จะต้องเสียภาษีในวงเงินทุนรวมทั้งทุนสำรองด้วย แต่สาขาแบงก์ต่างประเทศ ถือเพียง ๒๕ เปอร์เซนต์ จึ่งอยากทราบคำอธิบาย

ประธานคณะกรรมการราษฎรแถลงว่า เงินทุกของแบงก์ที่เป็นสาขาต่างประเทศ โดยปกตินั้นจะเอามาใช้ทั้งหมดไม่ได้ และจะคิดเก็บภาษีเช่นเดียวกับแบงก์สยามก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เงินทุนของแบงก์ต่างประเทศเป็นก่อนใหญ่ ซึ่งรวมทุนทุก ๆ สาขา ถ้าจะเก็บภาษีในเงินทุนก้อนใหญ่นั้นแล้ว สาขาแบงก์มีหลายแห่งหลายประเทศ และเมื่อเก็บเช่นเดียวกัน ก็จะเป็นการเสียภาษีซ้ำหลายต่อ และเหตุใดจึ่งได้คิดเก็บ ๒๕ เปอร์เซนต์นั้น ก็เพราะเหตุว่า เท่าที่ได้ตัวเลขนี้ ก็เพราะผู้ชำนาญการพิเศษได้คำนวณมา และอาศัยความรู้จากแบงก์สยามด้วย อนึ่ง ได้ความว่า เงินทุนที่สาขาแบงก์ต่างประเทศนำมาหมุนรับซื้อขายเงินทอง (Exchange) นั้น อยู่ในระวาง ๑๗ ถึง ๒๗ เปอร์เซนต์ของเงินทุนก้อนใหญ่ เหตุฉะนี้ เราจึ่งได้คิดเก็บภาษีแต่ปานกลาง คือ ๒๕ เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นการสมควร ไม่มากไม่น้อย

ประธานสภา กล่าวว่า ตามที่ประธานคณะกรรมการราษฎรได้แถลงมาแล้วนั้น หากไม่มีผู้ใดมีความเห็นคัดค้านอย่างใด ก็จะได้ลงมติให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติที่พิจารณากันแล้วนั้นเป็นกฎหมายได้ต่อไป

ในที่สุด ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบพร้อมกันว่า ควรรับรองและอนุญาตให้นำร่างพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช ๒๔๗๕ ออกประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

เลิกประชุมเวลา ๑๗.๐๕ นาฬิกา

หลวงคหกรรมบดี
 ผู้จดรายงาน
พญ.
จรูญ นายมังกร
วุฒิศาสตร์ นศ.
ธรรมศักดิ์

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

บรรณานุกรม แก้ไข

  • สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12/2475 วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"