รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2475

รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร


ครั้งที่ ๓๔
(สมัยสามัญ)
วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕


ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕
ญัตติของคณะกรรมการราษฎร ว่าด้วยร่างประกาศจัดวางโครงการณ์กรมตำรวจ
๓๔๖–๓๕๕
ญัตติของคณะกรรมการราษฎร ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติราชองครักษ์ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
๓๕๕
การแถลงที่เกี่ยวกับการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ
๓๕๕–๓๕๘
คำแถลงประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
๓๕๙–๓๖๗
สำเนาลายพระราชหัดถเลขา เรื่อง เจ้านายเหนือการเมือง
๓๖๗–๓๖๘

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๓๔/๒๔๗๕ (วิสามัญ)
วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เปิดประชุมเวลา ๑๖.๑๕ น.

สมาชิกมาประชุม ๖๒ นาย

ประธานสภากล่าวว่า วันนี้ คณะกรรมการราษฎรได้เสนอญัตติเพื่อให้สภาวินิจฉัย ๒ เรื่อง คือ ๑) ประกาศจัดวางโครงการณ์กรมตำรวจ ๒) ร่างพระราชบัญญัติราชองครักษ์ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ๓) ร่างรัฐธรรมนูญราชอาณาจักร์สยาม บัดนี้ จะได้พิจารณาด้วยญัตติที่ ๑ ก่อน

พระยามานวราชเสวีแถลงแทนประธานคณะกรรมการราษฎรว่า เรื่องประกาศจัดวางโครงการณ์กรมตำรวจนี้ พึ่งได้รับอนุมัติให้พูดในที่นี้ กรมตำรวจแต่เดิมมา แบ่งเป็นหลายกรมหลายกอง ผู้บังคับการก็มาก การบังคับบัญชาไม่กระทัดรัดอย่างที่สมควรจะเปลี่ยนแปลงให้ทันความปรารถนาแห่งปัจจุบันสมัยนี้ ทางกระทรวงมหาดไทยได้ดำริที่จะดำเนิรการเปลี่ยนแปลงโครงการณ์กรมตำรวจให้กระทัดรัด ทำนองกระทรวงกลาโหมที่ได้ทำมาแล้ว ผลของการที่ได้คิดนี้ ก็รวมกรมกองให้แนบเนียน และคนใดที่ไม่จำเป็น ก็คัดออกเสียบ้างสำหรับชั้นหัวหน้า ส่วนชั้นรอง ๆ ไม่กะทบกระเทือน นอกจากว่ามีราคีมัวหมอง เพื่อให้ได้ผลสมความมุ่งหมาย จึ่งได้จัดให้มีประกาศจัดวางโครงการณ์ขึ้นดั่งที่เสมอมานี้ โดย ๑) เปลี่ยนชื่อ กรมตำรวจภูธร เป็น กรมตำรวจ ในกรมตำรวจนี้มีการงานมาก เพราะฉะนั้น เมื่อกรมนี้เป็นกรมใหญ่ จึ่งได้ให้เป็นกรมชั้นอธิบดี มีอธิบดีเป็นหัวหน้า มีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิขาด และเพื่อให้การดำเนิรไปโดยสวัสดิภาพ ให้มีผู้ช่วยคนหนึ่งมีตำแหน่งเป็นรองธิบดีสำหรับบัญชางานในเมื่ออธิบดีไม่อยู่ ๒) การงานตำรวจเมื่อก่อน มีตำรวจกองกลาง ตำรวจพิเศษ ตำรวจภูบาล ตำรวจประจำท้องที่ มีผู้บังคับบัญชามากมาย บัดนี้ ได้จัดรูปโครงการณ์ใหม่ ได้แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ กองบังคับการ ส่วนที่ ๒ ตำรวจนครบาล ส่วนที่ ๓ ตำรวจภูธร ส่วนที่ ๔ ตำรวจสันติบาลก์ ซึ่งแต่ก่อนมีผู้บังคับการหลายคน บัดนี้ เพื่อความกระทัดรัด จึ่งได้จัดให้มีเพียง ๔ คนเพื่อบังคับการสำหรับ ๔ ส่วนที่กล่าวแล้ว สำหรับตำรวจสันติบาลก์นั้น ก็คือ รวมตำรวจกองพิเศษ ตำรวจภูบาล และตำรวจกลาง และตำรวจสรรพากร เข้าเป็นส่วนเดียวกันเพื่อทำการสืบสวน เป็นกำลังช่วยเหลือ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง นอกจากนี้ ในประกาศข้อ ๓ ก็ได้ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจที่จะแบ่งแผนกงานรายย่อยออกไปตามสมควรแก่รูปการ และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการราษฎรแล้ว ก็ให้เป็นอันใช้ได้ เพราะฉะนั้น ประกาศนี้ แม้ที่สุดในอันจะจัดการงานให้เป็นอย่างใดก็ดี ก็อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการราษฎรซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่บริหารงารจะจัดการต่อไป ถึงแม้จะเป็นประกาศสั้น ๆ ก็พอสมความมุ่งหมายแล้ว

หลวงแสงนิติศาสตร์ขอเปลี่ยนภาวะที่ประชุมเป็นอนุกรรมการเต็มสภา

นายจรูญ สืบแสง รับรอง

ประธานสภาฯ อนุมัติ

หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า ประกาศจัดโครงการณ์ฉะบับนี้กล่าวข้อความไว้สั้นมาก ในกรมตำรวจ แบ่งออกเป็นสี่ส่วน แต่ในส่วนที่หนึ่งจะเป็นอะไรบ้างนั้นไม่ทราบ จริงอยู่ในข้อ ๑ ได้ให้อำนาจเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจัดแบ่งแผนกงานตามที่เห็นสมควรและซึ่งต้องรับอนุมัติจากคณะกรรมการราษฎร แต่ว่า กรมตำรวจเป็นกรมใหญ่กรมหนึ่งที่มีการงานเกี่ยวแก่การบังคับบัญชาผู้คนมาก เกี่ยวกับการปกครองผู้คนให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบิยบแบบแผนเพื่อความสุขแก่ประชาชนทั่วพระราชอาณาเขตต์ เพราะฉะนั้น ถ้าวิธีวางการเหล่านี้ไม่ได้วางไว้ให้ละเอียดสักหน่อยเพื่อสมาชิกทั้งหลายจะได้พิจารณาทั่วกันแล้ว บางทีอาจมีการบกพร่องก็ได้ เพราะฉะนั้น อยากขอให้กำหนดขั้นส่วนต่าง ๆ ให้ละเอียดพอสมควร เพื่อช่วยกันพิจารณาวา วิธีแบ่งเหมาะแก่รูปการตำรวจทั่วพระราชอาณาจักร์แล้วหรือยัง เพราะในวิธีจัดการในกระทรวงกลาโหมที่ได้ดำเนิรไปแล้วนั้นก็ยังแบ่งชั้นออกไปถึงเจ้ากรมและรองเจ้ากรม เพราะฉะนั้น โครงการณ์กรมตำรวจก็ควรจะอนุโลมให้เป็นไปเสมือนกับโครงการณ์ของกระทรวงกลาโหม ก็จะได้ประโยชน์แก่ราชการและประชาชน มิฉะนั้น เกรงว่า จะลำบากภายหลัง

พระยามานวราชเสวีตอบว่า ตามที่หลวงแสงฯ กล่าวมานั้น ก็เห็นใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่า กิจการตำรวจนั้นไม่เรียบร้อยอย่างทหารซึ่งมีรูปอยู่แล้ว พอเปลี่ยนแปลงก็วางจุดได้ทันที ส่วนตำรวจนั้นก็ได้เคยคิดจะให้เป็นไปอย่างหลวงแสงฯ ว่า แต่มีผู้ที่มีความคิดดีกว่าแนะนำว่า ควรจะวางไว้ดั่งที่เสนอมานี้ ต่อไปถ้าหากว่า กิจการดำเนิรไปได้ดี และถึงคราวสมควร จึงจะประกาศเสียอีกทีหนึ่งก็ได้ แต่เวลานี้ เรารวมส่วนใหญ่เสียก่อนว่ามีสี่ส่วน การจะได้ไม่ก้าวก่ายกัน เมื่อรู้ว่าส่วนใหญ่ติดต่อกันอย่างใดแล้ว ส่วนรายย่อยนั้นก็จะได้ประกาศในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ พระยาบุเรศฯ อธิบดีกรมตำรวจ ก็ได้เป็นเห็นชอบด้วยแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าไว้ใจในเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการราษฎรแล้ว ก็น่าจะเห็นว่าเพียงพอ และควรที่จะให้ผ่านไปได้ก่อน

พระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวสนับสนุนความเห็นของพระยามานวราชเสวีว่า แผนโครงการณ์กรมตำรวจนั้น เมื่อผู้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรได้ตั้งอนุกรรมการไปพิจารณา อนุกรรมการยังได้เรียกเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ในกรมตำรวจไปหารือด้วยแล้ว และตกลงที่จะวางโครงการณ์ตามแบบนี้ ในขณะที่วางโครงการณ์นี้ ได้ทำการโดยละเอียดละออ แต่ปรากฏว่า ทางฝ่ายตำรวจในขณะนั้นไม่มีคนใดทำการงานอย่างจริงจังโดยเกรงว่าจะถูกออก ถ้าหากว่ามัวชักช้าอยู่ งานในแผนกนั้นอาจจะชะงักได้ ฉะนั้น จึ่งเสนอว่า ควรจะรีบประกาศโครงการณ์นี้โดยเร็ว และจัดการต่อไปตามที่ได้ตกลงกันแล้ว มิฉะนั้น เกรงว่าจะเสียราชการได้

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังอภิปรายมาแล้ว มีความเห็นแตกต่างเป็นสองอย่าง คือว่า หลวงแสงฯ เสนอว่า ประกาศโครงการณ์นี้มีข้อความสั้นเกินไป สมควรจะขยายออกให้กว้าง ทางฝ่ายพระยามานวราชฯ ซึ่งมีพระยาพหลฯ รับรอง เห็นว่า ควรจะให้คงไว้สั้น ๆ ตามเดิม เพราะฉะนั้น จึ่งขอถามความเห็นของที่ประชุมว่า จะคงให้สั้นดั่งนี้ หรือต้องเขียนใหม่ สมาชกส่วนมากเห็นชอบตามพระยามานวราชฯ เป็นอันว่า ที่ประชุมตกลงให้ใช้ความเดิม ไม่ต้องขยายออกไปอีก

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ในส่วนที่สี่ เรื่อง ตำรวจสันติบาลก์ ว่า มีหน้าที่สืบสวน และเป็นกำลังช่วยเหลือตำรวจท้องที่ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ครั้นไปดูในส่วนที่สอง เรื่อง ตำรวจนครบาล มีหน้าที่รักษาการณ์ในมณฑลกรุงเทพฯ กับส่วนที่สาม เรื่อง ตำรวจภูธร มีหน้าที่รักษาการณ์ในมณฑลอื่นนอกจากกรุงเทพฯ รู้แล้วสึกว่า หน้าที่ยังแตกต่างลักลั่นกันอยู่ ถ้าหากว่าเกี่ยวกับศาลแล้ว จะเป็นการยุ่งยากในการที่พิจารณาหน้าที่ของตำรวจ เพราะถ้าดูตามส่วนที่สองและที่สามซึ่งว่า มีหน้าที่รักษาการณ์ ตามความเข้าใจก็เพียงแต่ที่จะรักษามิให้เหตุการณ์เกิดขึ้น หามีหน้าที่ที่จะต้องสืบสวนเพื่อจับกุมไม่ ส่วนหน้าที่สืบสวนคงตกอยู่แก่ตำรวจสันติบาลก์ซึ่งเป็นส่วนที่สี่ ตามความเข้าใจแล้ว ตำรวจมีหน้าที่จะไปสืบสวนจับกุมได้ทุกแห่ง ถ้ามีประกาศเช่นนี้ เกรงว่า จะทำให้สงสัยว่า ตำรวจประเภทที่ ๒ กับ ๓ นั้นมีหน้าที่แต่รักษาการณ์ หากไปสืบสวน ก็จะเป็นการนอกเหนือหน้าที่ไป อีกข้อหนึ่ง คำที่ว่า บาล บางคำก็มี ก. การันต์ บางทีก็ไม่มี สงสัยว่า ด้วยเหตุใด เช่น ตำรวจนครบาล ไม่มี ก. การันต์ ส่วนตำรวจสันติบาลก์ มี ก. การันต์

พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า คำที่ว่า มีหน้าที่รักษาการณ์ ก็หมายถึงความ ไต่สวน และสืบสวน ตลอดถึงการที่จับกุมผู้กระทำผิดด้วย ส่วนคำว่า บาลก์ นั้นก็ได้มาจากภาษาสันสกฤต

พระยาวิชัยราชสุมนต์กล่าวว่า มีความเห็นพ้องกับพระยานิติศาสตร์ฯ และว่า เมื่อไม่ได้กล่าวระบุการต่าง ๆ ไว้โดยละเอียด ก็เห็นควรจะตัดหน้าที่ออกเสีย เช่น กล่าวแต่เพียงว่า ส่วนที่ ๑ กองบัญชาการ ส่วนที่ ๒ ตำรวจนครบาล ส่วนที่ ๓ ตำรวจภูธร ส่วนที่ ๔ ตำรวจสันติบาลก์ ซึ่งจะมีหน้าที่อย่างใดนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่จะกำหนดลงไว้ว่ามีอย่างใด ก็จะหมดปัญหา

พระยาปรีดานฤเบศร์รับรองว่า จะเป็นการลำบากในเวลาขึ้นศาล และเห็นว่า หน้าที่ตามข้อความที่เขียนลงไปนี้น่าจะยังไม่พอ สมควรจะขยายออกไปให้ชัดเจน

หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าว เพราะว่า มีกฎหมายเก่าบ่งอยู่แล้วว่า ตำรวจภูธรและตำรวจนครบาลมีหน้าที่อย่างไร แม้จะตัดออก ก็อาศัยความในกฎหมายเก่าเป็นหลักปฏิบัติการได้

พระยาปรีดานฤเบศร์กล่าวว่า ถ้าแม้รับรองว่า หน้าที่ตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรมีบ่งไว้ในกฎหมายเก่าแล้ว ก็ไม่คัดค้าน แต่ต้องเป็นที่มั่นใจว่า มีแล้วจริง ๆ มิใช่เป็นว่า เป็นแต่เพียงเข้าใจว่ามี

พระยาบุเรศผดุงกิจกล่าวว่า ตำรวจนครบาลเท่าที่เป็นอยู่บัดนี้รักษาการณ์อยู่ฉะเพาะในกรุงเทพฯ ส่วนสมุทรปราการและนนทบุรีนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจภูธร เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำว่า รักษาการณ์มณฑลกรุงเทพฯ แล้ว ควรจะแก้

พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า ตามที่พระยาบุเรศฯ กล่าวนั้นเป็นความจริงสำหรับสมัยนี้ แต่ในการต่อไปภายหน้า ตำรวจนครบาลทำการรวมทั้งสมุทรปราการและนนทบุรีด้วย กล่าวคือ ให้มีหน้าที่ไต่สวนด้วย เพราะเวลานี้ ตำรวจภูธรมิได้ทำการไต่สวน หน้าที่ไต่สวนนั้นอยู่กับอำเภอ เพราะฉะนั้น ถ้าขยายการออกไปดั่งที่กล่าวแล้ว ก็จะให้ความสะดวกยิ่งขึ้น

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า ในส่วนที่ ๒ และที่ ๓ คือ ตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร ก็มีหน้าที่ไม่ผิดกัน นอกจากท้องถิ่น คือ หัวเมืองและในกรุงเทพฯ จึ่งสงสัยว่า ทำไมจึงต้องแบ่งเป็นสองส่วน จะรวมเป็นส่วนเดียว เรียกว่า ตำรวจเทศบาล จะไม่ดีหรือ

พระยามานวราชเสวีตอบว่า ตามที่นายจรูญ สืบแสง กล่าวนั้นเป็นความเห็นที่ดี แต่เวลานี้เรายังไม่มีเทศบาล อีกประการหนึ่ง ตำรวจนครบาลนั้นมีหน้าที่ไต่สวนด้วย ส่วนตำรวจภูธรนั้นเป็นกำลังช่วยเหลืออำเภอและเจ้าเมือง มิได้มีหน้าที่ไต่สวน ถ้าจะรวมเข้า จะผิดหลักการ

นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า สำหรับส่วนที่ ๔ เป็นกิจการใหม่ ฉะนั้น หน้าที่ของจำพวกที่ ๔ นี้ควรจะคงไว้

พระยาวิชัยราชสมุนตร์กล่าวว่า ตามความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว ควรจะตัดออกให้หมด เพื่อมิให้เป็นปัญหา และจะได้เข้ารูปกฎหมายเก่า

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า สำหรับตำรวจนครบาลและภูธรนั้น แม้จะตัดออก ก็อาศัยกฎหมายเก่าได้ ส่วนตำรวจสันติบาลก์นั้น ขอให้คงไว้ เพราะเป็นของใหม่

พระยาวิชัยราชสุมนตร์ยินยอมที่จะให้คงบ่งหน้าที่ตำรวจสันติบาลก์ไว้

พระยาบุเรศผดุงกิจกล่าวว่า ในหน้าที่ของตำรวจสันติบาลก์ ควรจะกล่าวว่า มีหน้าที่ไต่สวนสืบสวนด้วย เพราะว่าตำรวจภูธรนั้นไม่มีหน้าที่ไต่สวน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังในข้อที่โต้เถียงกันมาแล้ว เห็นว่า ในหน้าที่ตำรวจสันติบาล ก็ควรจะเป็นว่า มีหน้าที่เป็นกำลังช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร ก็คงจะสมความปรารถนา ส่วนคำว่า บาลก์ ก็ควรจะเอา ก์ ออกเสีย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับรอง

หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า ในส่วนที่ ๑ ที่ว่า กองบังคับการ มิฉะนั้น จะซ้ำกับกองบังคับการของส่วนต่าง ๆ เช่น ตำรวจนครบาล หรือตำรวจภูธร ก็ย่อมมีกองบังคับการประจำส่วนของตัว

พระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มคำว่า กรม อีก เพราะถ้าอ่านตั้งแต่ข้อ ๒ ที่ว่า กรมตำรวจแบ่งกิจการออกเป็น ๔ ส่วน คือ ๑–๒–๓ และ ๔ นั้นแล้ว ก็จะเข้าใจได้ดีว่า เป็นกองบังคับการเสมือนเงาตามตัว

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตามที่ได้อภิปรายกันมาแล้วในตอนหลัง มีผู้เสนอว่า หน้าที่ซึ่งระบุไว้ในส่วนที่ ๒ และ ๓ นั้นให้ตัดออก ส่วนที่ ๔ นั้นให้คงไว้และแก้ว่า ตำรวจสันติบาลมีหน้าที่เป็นกำลังช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร ฉะนั้น จึ่งขอถามความเห็นนี้ต่อที่ประชุมว่า ผู้ใดจะคัดค้านความเห็นที่สมาชิกบางท่านของแปรหรือไม่ และถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านแล้ว ขอให้ที่ประชุมนี้ลงมติว่า ประกาศฉะบับนี้จะนำออกประกาศใช้ได้หรือไม่ ไม่มีผู้ใดคัดค้านข้อความที่สมาชิกบางท่านขอแปร และที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติให้นำประกาศจัดวางโครงการณ์ตำรวจตามที่ได้แก้ไขแล้วนั้นออกประกาศได้

ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ จะได้พิจารณาถึงญัตติที่ ๒ ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติราชองครักษ์ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ต่อไป

พระยาราชวังสันแถลงแทนประธานกรรมการคณะราษฎรว่า เพื่อจะตัดการให้ง่าย เห็นว่า ไม่จำเป็นจะต้องอธิบาย เพราะการแก้ไขครั้งนี้เป็นแต่เพียงเปลี่ยนปลอกแขนมาเป็นตราครุธเชิญพระมหามงกุฎสีทองเท่านั้น

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดอภิปรายอย่างใดอีก ก็จะได้ลงมติต่อไป จึ่งขอถามความเห็นต่อที่ประชุม ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกทั้งหมดได้ลงมติเห็นชอบตามร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมา เป็นอันว่า ที่ประชุมนี้อนุมัติให้นำพระราชบัญญัติราชองครักษ์ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่เสนอนี้ นำออกประกาศได้

ประธานคณะกรรมการราษฎรแถลงอธิบายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม ดั่งคำแถลงที่แนบท้ายรายงานนี้ พร้อมด้วยสำเนาลายพระราชหัดถเลขา เรื่อง เจ้านายเหนือการเมือง

อนึ่ง เป็นความสุดท้ายที่จะขอกล่าว คือ รัฐธรรมนูญนี้ได้เสนอสภาวันนี้ ต่อไปอีก ๑๐ วัน เราจะประชุมกันใหม่ คือ ในวันศุกร์ที่ ๒๕ เดือนนี้ ฉะนั้น ถ้าสมาชิกผู้ใดจะมีข้อความที่อยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้ว ขอให้เสนอเป็นญัตติมายังประธานสภาฯ สามวันก่อนถึงวันประชุม

พระวุฒิศาสตร์ฯ ถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้จะถือเป็นความลับหรือไม่?

ประธานคณะกรรมการราษฎรตอบว่า ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะอิสสรภาพ สันติภาพ และเสรีภาพ ของราษฎร ๑๒ ล้าน อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ เพราะฉะนั้น จึ่งไม่อยากจะถือเป็นความลับ

นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า เมื่อกฎหมายนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งอันความสันติสุขของประชาชนทั้งสิ้นอยู่ในนี้แล้ว เห็นว่า ที่ให้เวลาไปพิจารณาเพียงถึงวันที่ ๒๕ เท่านั้นสั้นไป ควรจะผ่อนเวลาไปอีกสักอาทิตย์หนึ่ง เพื่อสมาชิกจะได้ตริตรองให้ดี แล้วจึ่งมาประชุมกัน เชื่อว่า ละเอียดละออและได้ผลดียิ่งขึ้น

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมตอบว่า ที่ประธานคณะกรรมการราษฎรได้กล่าวมาแล้่ว ได้กล่าวในฐานะที่เป็นอนุกรรมการของสภา (๙ คน) ซึ่งสภาได้มอบอำนาจไปร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้ มิใช่พูดในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร และการที่มาแสดงเช่นนี้ ก็โดยที่ว่า ก่อนที่จะแจกร่างรัฐธรรมนูญ สมควรจะอธิบายชี้แจงให้ทราบความเป็นเลา ๆ ไว้ก่อน และที่ว่า จะผ่อนเวลาออกไปอีกนั้น ก็จะช้าเกิน ส่วนที่ให้เวลา ๑๐ วันก่อนประชุมนั้น ก็เชื่อว่า สมาชิกทั้งหลายคงจะมีโอกาสได้ตริตรองเพียงพอแล้ว และการที่จะพิจารณานั้น เราก็จะได้ปรึกษากันไปเป็นมาตรา ๆ ไป

ประธานคณะกรรมการราษฎรกล่าวว่า เมื่อได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร์ ทรงมีรับสั่งว่า เป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนำว่า การประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ ๓ ฤกษ์ ฤกษ์ ๑ ตกวันที่ ๑ ธันวาคม ฤกษ์ ๒ ตกวันที่ ๑๐ ธันวาคม ฤกษ์ ๓ ไปตกกลางเดือนมกราคม จึ่งได้คิดว่า สำหรับฤกษ์ที่หนึ่งนั้น เวลากระชั้นเกินไป คงไม่ทัน จึ่งได้กำหนดไว้เป็นวันที่ ๑๐ ธันวาคม คือ ฤกษ์ที่ ๒ ส่วนฤกษ์ที่ ๓ นั้น เวลานานไป ฉะนั้น จึ่งอยากรีบเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันในวันที่ ๑๐ ธันวาคม โดยหวังว่า จะแล้วเสร็จจากสภาภายในวันที่ ๓๐ เดือนนี้ โดยเราประชุมกันตั้งแต่ ๔ โมงเช้าเรื่อย ๆ ไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จเพื่อให้แล้วก่อนวันฤกษ์ ๑๐ วัน โดยที่ทรงเห็นว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิและเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้น ต้องการจะเขียนใส่สมุดไทย ซึ่งจะกินเวลาหลายวัน ฉะนั้น จึ่งใคร่รีบประชุมเสียให้เสร็จก่อนกำหนดดั่งกล่าวแล้ว

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ที่หัวเรื่องเขียนว่า "ลับ" แต่เมื่อตะกี้นี้ ประธานคณะกรรมการราษฎรว่า "ไม่ลับ" ฉะนั้น จะให้ถือเอาข้างไหน จะให้แก่หนังสือพิมพ์ได้หรือไม่เมื่อเขามาขอรับ และจะส่งไปอ่านกระจายเสียงวิทยุหรือไม่ ซึ่งตามปกติเขามาขอรับเมื่อเสร็จประชุม

ประธานสภาฯ กล่าวว่า คำว่า ลับ ที่หัวเรื่องนั้น ได้พิมพ์ขึ้นก่อนที่จะนำเข้ามาสู่สภา และบัดนี้ ก็ได้กล่าวแล้วว่า ไม่ถือเป็นความลับ ส่วนการที่ว่าจะให้แก่หนังสือพิมพ์ได้หรือไม่นั้น ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้เป็นพนักงานในเรื่องนี้จะพิจารณาและตัดสินใจเอง

อนึ่ง ในวันศุกร์ที่ ๑๘ เดือนนี้ เราจะไม่มีประชุมดัน เพราะฉะนั้น เป็นอันงด และไปมีต่อในวันที่ ๒๕ เวลา ๑๐ นาฬิกา ซึ่งเราจะได้ปรึกษากันด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญนี้

เลิกประชุมเวลา ๑๘.๑๐ นาฬิกา

หลวงคหกรรมบดี
ผู้จดรายงานประชุม
รายงานฉะบับนี้ กรรมาธิการ ปรีชานุสาสน์
ได้ตรวจ และสภาผู้แทนราษฎร ๒๔ พฤศจิกายน ๗๕
ได้รับรองแล้ว นิติศาสตร์
พญ. วุฒิศาสตร์
นายมังกร
จรูญ

คำแถลงประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักร์สยาม

ในนามของกรรมการซึ่งสภานี้ได้ตั้งให้ไปพิจารณาร่างพระธรรมนูญ บัดนี้ ได้ทำสำเร็จแล้ว ดั่งที่เจ้าพนักงานได้แจกไปแล้วนั้น จึ่งนำมาเสนอต่อสภา เพราะเหตุที่ร่างใหม่นี้แลดูแต่เผิน ๆ แล้วจะเห็นว่า ผิดกับพระธรรมนูญฉะบับชั่วคราวที่ใช้อยู่บัดนี้มาก ๆ แต่ข้าพเจ้าขอเสนอว่า ถ้าอ่านไปจนตลอดแล้ว ในหลักการสำคัญนั้นไม่ได้มีข้อผิดเพี้ยนไปเลย กล่าวคือ ร่างใหม่นี้ก็เป็นรูปพระธรรมนูญอย่างราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราซฉะบับเดิม เว้นแต่ว่า ได้จัดรูปเสียใหม่ เติมข้อความลงไปบ้างที่เห็นว่าควรเพิ่มเติม ตัดข้อความออกเสียงบ้างที่เห็นว่าควรตัด ในการจัดตั้งรูปก็ตาม ในการเพิ่มเติมข้อความหรือตัดข้อความก็ตาม อนุกรรมการได้ค้นคว้าหาแบบแผนธรรมนูญที่เขาทำกันมาแล้วในนานาประเทศเพื่อเป็นแบบอย่างและดัดแปลงเสียบ้างในข้อที่เห็นว่าไม่เหมาะแก่ฐานะในเมืองเรา

อนึ่ง ข้าพเจ้าขอเสนอด้วยว่า ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วยอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก บัดนี้ ข้าพเจ้าขอโอกาสกล่าวถึงข้อความในรัฐธรรมนูญนี้บ้างเพียงเป็นข้อความนำความคิดของท่านทั้งหลายที่จะไปพิจารณาและจะได้มาโต้เถียงกันในวันหน้า

ความเบื้องต้น อนุกรรมการได้ตรึกตรองอยู่หนักหนา คือ รัฐธรรมนูญของเรานี้ควรจะบัญญัติให้มี ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาล่าง กับสภาบนอีกสภาหนึ่ง หรือจะควรมีสภาเดียว เมื่อได้ตรึกตรองโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า เราจะตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ไม่มีประเพณีที่จะบังคับเรา การมีสภาเดียวนั้นกิจการดำเนิรได้รวดเร็ว การมีสองสภานั้นอาจต่างกัน ชักช้าโตงเตง และกล่าวว่า ที่ข้าพเจ้าได้สังเกตและได้พบได้ยินมา บางประเทศที่มีสภา ๒ สภานั้นกิจการงานเดิรช้านัก แต่ว่ามีบางประเทศที่ต้องมี ๒ สภาเพราะเป็นประเพณีบังคับ แต่ในรัฐธรรมนูญใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นสมัยเร็ว ๆ นี้ก็มักจะมีแต่สภาเดียว เมื่อตกลงใจดั่งนี้ จึ่งได้ดำเนิรการในทางให้มีสภาเดียว อันเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราว

ใจความสำคัญของรัฐธรรมนูญแบ่งได้เป็น ๔ ภาค คือ ว่าด้วยอำนาจพระมหากษัตริย์ ภาคหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจในการออกกฎหมาย คือ อำนาจนีติบัญญัติ ภาคหนึ่ง อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ภาคหนึ่ง อำนาจศาล ภาคหนึ่ง นอกนั้นก็ข้อความประกอบ แต่ว่าในร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่เป็น ๗ หมวดนั้น เป็นวิธีเขียนเท่านั้นเอง

ขึ้นต้นด้วยบททั่วไป มาตรา ๑ ที่ว่า สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งจะแบ่งแยกออกจากกันมิได้ ประชาชนชาวสยาม ไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกันนั้น อาจเป็นข้อความที่สะกอดใจว่า ทำไมต้องเขียนดั่งนั้น ราชอาณาจักรก็เป็นราชอาณาจักรหนึ่งอยู่แล้ว ความคิดที่เขียนลงไป ก็เพราะเหตุว่า ราชอาณาจักรเป็นหนึ่งอยู่แล้วก็ดี แต่ว่าอยากจะล้างเสียซึ่งความรู้สึกในหมู่ประชาชนพลเมืองที่เห็นเป็นเขาเป็นเรา เช่น เรียกพวกเดียวกันว่าเป็นแขกเป็นลาว เป็นต้น ความรู้สึกในเรื่องศาสนาอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องชวนให้คนแบ่งพวกแบ่งหมู่ ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเขาเป็นเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเลย เราควรเป็นชาติหนึ่งชาติเดียวกัน เพื่อแสดงและย้ำข้อความว่า เราควรและต้องเป็นชาติหนึ่งชาติเดียวกัน อนุกรรมการจึ่งเห็นควรเริ่มรัฐธรรมนูญด้วยบทมาตรานี้ แสดงว่า ประชาชนในราชอาณาจักรนี้ ไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการถือศาสนานั้น มิอย่บริบูรณ์ดั่งบัญญัติในมาตรา ๑๓ เว้นแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นจักต้องเป็นพุทธมามกะและเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงให้ความอุปถัมภ์ศาสนาของชาวสยามอยู่โดยทั่ว ๆ ไป

มาตรา ๒ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตย อันที่จริง ความตอนต้นในมาตรานี้ ว่าโดยลักษณะสำคัญแล้ว ก็เป็นการยกเอาประเพณีของเราแต่โบราณขึ้นกล่าวซ้ำเท่านั้นเอง คือ ถ้าเราค้นดูหนังสือโบราณ พระนามพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม ขนบธรรมเนียมราชประเพณีราชาภิเศกก็ตาม จะปรากฏว่า ความตอนหนึ่งในพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีว่า อเนกนิกรสโมสรสมมต และในพิธีบรมราชาภิเศกก็มีพราหมณ์และข้าราชการผู้ใหญ่ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยประชาชนอัญเชิญเสด็จขึ้น หาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยพระราชอำนาจที่มาจากสวรรค์อย่างต่างประเทศบางแห่งเข้าใจไม่ ทั้งนี้ ก็เป็นการแสดงว่า อำนาจอธิปไตยนั้นมาแต่ปวงชน ความตอน ๒ ในมาตรานี้เป็นข้อความที่แสดงลักษณะของการปกครองว่า เป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งปวงชนทั้งหลายทรงใช้พระราชอำนาจแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ข้อความสำคัญในส่วนพระมหากษัตริย์ต่อไปอยู่ในมาตรา ๖, ๗, ๘ คือว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในทางนีติบัญญัติ คือ ออกกฎหมาย แต่โดยที่สภาผู้แทนราษฎรกราบบังคมทูลแนะนำและยินยอม พระราชอำนาจในทางบริหารก็จะทรงใช้แต่โดยทางคณะกรรมการราษฎรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในทางบริหาร พระราชอำนาจในทางตุลาการก็จะทรงใช้โดยทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย

ความสำคัญอีกมาตราหนึ่งในหมวดนี้ คือ มาตรา ๑๑ กล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ความข้อนี้ อนุกรรมการรู้สึกลำบากใจอยู่มากในตอนต้น กล่าวคือ พระบรมวงศานุวงศ์เป็นบุคคลที่ควรจะอยู่เหนือความติเตียนทั้งหลาย ควรอยู่แต่ในฐานะที่เป็นพระคุณทั้งสิ้น ควรอยู่ในฐานะอันประชาชนพึงเคารพนับถือ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะอยู่ในฐานะทางการเมือง เพราะเหตุว่า ในทางการเมืองนั้น ถ้ามีชมก็ย่อมมีติ หรือถ้ามีติก็ย่อมมีชม มีทั้งในทางพระเดชและทั้งในทางพระคุณ หลักการที่รู้สึกว่าถูกว่าควรมีอยู่ในใจดั่งนี้ แต่จะบัญญัติลงไป ก็มีความรู้สึกในความต่ำสูงอยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงได้นำความกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติ ก็ได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยลงมาว่า ทรงเห็นชอบด้วยตามหลักการที่ได้กราบบังคมทูลขึ้นไป อนุกรรมการรู้สึกโล่งใจ และรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

หมวด ๒ แสดงเสรีภาพ สิทธิ และหน้าที่ของชนชาวสยาม ข้อความในหมวดนี้ อันที่จริง ก็เป็นสิ่งที่รู้สึกกันอยู่แล้วในใจประชาชน แต่ว่าเป็นข้อสำคัญที่สมควรจะตราตรึงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อความเช่นนี้ ในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศก็มีเหมือนกัน

หมวด ๓ ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร ในหมวดนี้มีลักษณะสำคัญอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ลักษณะก่อให้เกิดขึ้นซึ่งสภา ความเป็นอยู่ของสภา สิทธิและหน้าที่ของสภา กำเนิดของสภามาแต่ราษฎรซึ่งแสดงอยู่ในชื่อแล้วว่า สภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนของตน ผู้แทนเหล่านั้นมารวมกันเข้า เรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ออกกฎหมายและควบคุมการงานของแผ่นดิน คณะกรรมการราษฎรผู้มีหน้าที่ในทางบริหารก็มาแต่สภานี้ นโยบายใด ๆ ของราชการก็อยู่ในความควบคุมของสภานี้ กรรมการราษฎรทั้งคณะจักต้องลาออกจากหน้าที่ในเมื่อสภาสิ้นความไว้วางใจ ดั่งปรากฏอยู่ในมาตรา ๔๐, ๔๐

หมวด ๔ ว่าด้วยคณะกรรมการราษฎรซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะกรรมการราษฎรเหล่านั้น ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจของสภาแล้ว จักต้องออกจากหน้าที่หมด เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะกล้าเข้ารับตำแหน่ง ก็คือ ผู้ที่สภาเห็นชอบด้วยเท่านั้นเอง ดั่งบทบัญญัติในมาตรา ๕๐ และ ๕๑ ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงมาตรา ๕๒ เป็นพิเศษ เพราะมีข้อความที่อาจสะกิดใจ คือ การออกกฎหมายในเมื่อสภามิได้ประชุมกัน ความข้อนี้จำเป็นต้องมี ทุกบ้านทุกเมืองเขาก็มี เพราะเหตุว่า ราชการดำเนิรอยู่ทุก ๆ วัน แต่สภาหาได้มีการประชุมทุก ๆ วันไม่ ในระวางที่สภามิได้ประชุม ถ้าหากจำเป็นจะต้องออกฎหมาย ก็ต้องมีวิธีที่จะออกได้ มิฉะนั้น อาจเป็นการเสียหายแก่การงานของแผ่นดิน แต่ว่าเมื่ออกไปแล้ว ถึงเวลาที่สภาประชุมกัน สภามีอำนาจบริบูรณ์ที่จะตัดสินว่า กฎหมายเหล่านั้นให้คงเป็นกฎหมายต่อไปหรือให้เลิกเสีย ความในมาตรานี้กำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้ดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในหมวดสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม ในหมวดคณะกรรมการราษฎรก็ตาม มีข้อความอยู่หลายมาตราที่กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติการต่าง ๆ เหล่านั้น หมายความว่า ทรงปฏิบัติด้วยคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร กำหนดในข้อนี้มีอยู่ในมาตรา ๕๗ ซึ่งบัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน กรรมการราษฎรจะต้องลงนามรับพระบรมราชโองการทุกเรื่องทุกรายไป

ในหลักการปกครองราชาธิปไตยอำนาจจำกัดนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดในกิจการใด ๆ เพราะฉะนั้น กรรมการราษฎรจึ่งต้องลงชื่อรับพระบรมราชโองการ แปลว่า เป็นผู้รับผิดชอบ

หมวด ๕ ว่าด้วยเรื่องอำนาจตุลาการในการพิพากษาอรรถคดี

หมวด ๖ ว่าด้วยข้อความที่ต่างลักษณะกับในหมวดอื่น ๆ ความสำคัญของหมวดนี้มีอยู่ ๒ มาตรา คือ มาตรา ๖๒, ๖๓ มาตรา ๖๒ บัญญัติว่า สิทธิในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้อยู่แก่สภาเป็นการเด็ดขาด ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า ธรรมนูญการปกครองนั้นหาเหมือนกฎหมายอื่น ๆ ไม่ ต่างประเทศหลายประเทศเขาให้อำนาจนี้แก่สภาเหมือนกัน มาตรา ๖๓ กำหนดวิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สำคัญใหญ่ยิ่งกว่ากฎหมายทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึ่งไม่ควรที่จะแก้ไขได้ง่าย ๆ ดั่งเช่นกฎหมายธรรมดา

หมวด ๗ เป็นบทฉะเพาะกาล ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราว กำหนดเวลาไว้เป็น ๓ สมัย คือ สมัย ๑ สมัย ๒ สมัย ๓ บทฉะเพาะกาลนี้เป็นบทบัญญัติฉะเพาะระวางเวลาที่ก่อนถึงสมัยที่ ๓ อันเป็นสมัยสุดท้าย ความสำคัญของหมวดนี้มีอยู่ในมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๕ บัญญัติลักษณะแห่งการก่อตั้งสภาขึ้นให้มีสมาชิกประเภทที่ ๑ ราษฎรเลือกตั้งขึ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้น ที่มีสมาชิก ๒ ประเภทนี้ก็เพราะเหตุว่า เราพึ่งมีรัฐธรรมนูญขึ้น ความคุ้นเคยในการปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญยังไม่แพร่หลายทั่วถึง ฉะนั้น จึ่งให้มีสมาชิกประเภทซึ่งเห็นว่าเป็นผู้ที่คุ้นเคยการงานแล้วช่วยพยุงกิจการทำร่วมมือกันไปกับสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ราษฎรเลือกตั้งมา

การทำเช่นนี้ ถ้าแม้เราอ่านรัฐธรรมนูญที่มีใหม่แล้ว เขามีอย่างนี้เสมอ เมื่อต่อไปสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งทำงานไปได้เองแล้ว ก็จักดำเนินการต่อไป

ในที่สุด ข้าพเจ้าขอกล่าวเพิ่มเติมว่า มีคำอยู่คำหนึ่งในร่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทัก คือ คำว่า คณะกรรมการราษฎร กับ กรรมการราษฎร ทรงรับสั่งว่า คำไม่เพราะและไม่ค่อยจะถูกเรื่องตามแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และทรงติเช่นนี้ จึงขอนำเสนอให้ทราบด้วย

สำเนาลายพระหัตถ์เลขา เรื่อง เจ้านายเหนือการเมือง
(สำเนา) ที่ ๑๐๑ รับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
ที่ ๑/๖๐
สวนจิตรลดา
วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
 
ถึง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร

หนังสือ ที่ ๑๑๒/๑๓๐๘ ลงวันที่ ๑๑ เดือนนี้ ว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม มีความข้อหนึ่งลังเลใจอยู่ คือ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องแก่พระบรมวงศานุวงศ์ จะควรดำรงอยู่ในฐานะอย่างใดในทางการเมือง กล่าวโดยหลักการ พระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ เหนือความที่จะพึงถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นการงานที่นำมาทั้งในทางพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงอันจะต้องถูกติถูกชม อีกเหตุหนึ่ง จะนำมาซึ่งความขนขื่นในเมื่อเวลาทำ electoral campaign อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายหาโอกาส attack ซึ่งกันและกัน พระยามโนฯ เห็นว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระวางเจ้านายกับราษฎร  ควรถือเสียว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนในทางที่เจ้านายจะช่วยทะนุบำรุงประเทศบ้านเมือง ก็ย่อมมีโอกาศบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำและตำแหน่งอันเกี่ยวแก่วิชชาเป็นพิเศษอยู่แล้ว จึ่งหารือมานั้น ได้ทราบแล้ว ฉันเห็นด้วยตามความคิดของพระยามโนฯ ทุกประการ

(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ปร.

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"