รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 37/2475

รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๓๗
(สมัยสามัญ)
วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๑๗/๒๔๗๕
ญัตติของคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาตั้งแต่มาตรา ๒๘ ถึง ๓๙
๔๕๐–๔๘๘

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๓๗/๒๔๗๕
วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ตอนเช้า)
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เริ่มประชุมเวลา ๑๐.๒๕ น.

สมาชิกมาประชุม ๖๑ นาย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้ จะได้ปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญต่อจากเมื่อวานนี้ คือ ตั้งต้นจากมาตรา ๒๘ เป็นต้นไป และเพื่อความสะดวก ขอให้เปลี่ยนภาวะเป็นชุมนุมอนุกรรมการเต็มสภาด้วย

มาตรา ๒๘ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ความในมาตรา ๒๘ นี้มีว่า "ในที่ประชุมแห่งสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแสดงข้อความ หรือแสดงความเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ท่านว่า เป็นเอกสิทธิอันเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้

เอกสิทธินี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงบุคคลที่สภาเชิญมาแสดงข้อความหรือออกความเห็นในที่ประชุม"

ความในข้อนี้ เพื่อจะให้เข้าใจกว้างขวาง จะต้องอ่านถึงมาตรา ๑๔ ด้วย มาตรา ๑๔ นั้นเราบัญญัติไว้ว่า บุคคลยอมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในส่วนร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน ฯลฯ ซึ่งโดยปกติประชาชนทั้งหลายก็มีอิสรระภาพอยู่แล้วในการพูด แต่ว่าพูดภายในบทบังคับแห่งกฎหมาย จะไปหมิ่นประมาทกล่าวร้ายรุกรานผู้ใดมิได้ แต่ว่าในมาตรา ๒๘ นี้ สำหรับในการที่ใครมาพูดในที่ประชุมนี้ สมาชิกจะกล่าวข้อความใดในทางแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงในการลงมติก็ดี ย่อมมีเอกสิทธิเด็ดขาดทีเดียวในการที่จะกล่าว แม้ว่าจะเป็นข้อความหมิ่นประมาทหรือที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นผิดก็ตาม ถ้าหากไปกล่าวข้างนอกแล้วก็มีผิดนั้น หากมากล่าวในที่ประชุมนี้ ก็มีเอกสิทธิที่จะกล่าวได้ ทั้งนี้ จะเห็นว่า เป็นความอิสสระอย่างหนึ่งที่ให้แก่สมาชิกของสภา ซึ่งเป็นความประสงค์จะได้ความคิดความเห็นอันแท้จริงในข้อความใดที่ ๆ ประชุมปรึกษาพิจารณา อีกอย่างหนึ่ง เพิ่งมานึกได้ว่า เด็กหรือผู้ใหญ่ในที่นี้ ในการออกเสียงและความเห็น ย่อมมีอิสสระเท่ากันหมด เอกสิทธินี้เป็นเรื่องของสมาชิก ยิ่งกว่านั้น ถ้ามีผู้ใดซึ่งเป็นผู้ชำนาญหรือบุคคลใดมาแสดงความเห็นในสภานี้ก็ตาม บุคคลนั้น ๆ ก็ย่อมมีเอกสิทธิที่จะกล่าวได้เหมือนกัน อีกข้อหนึ่ง คือ ความในวรรคที่ ๒ บรรทัดแรก ที่ว่า เอกสิทธินี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา นั้น แปลว่า แม้สมาชิกหรือบุคคลใดที่สภาได้เชิญมากล่าวความเห็นโดยอิสสระ และไม่มีผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องยังศาลได้ก็จริงอยู่ แต่ถ้าหากว่า หนังสือพิมพ์นำไปลงเฉย ๆ นั้น หนังสือพิมพ์ก็ต้องอยู่ภายในบทบังคับแก่กฎหมายว่า จะผิดเพียงใด ถ้อยคำที่สมาชิกกล่าว หนังสือพิมพ์จะนำไปลง ก็ผิดด้วยเหมือนกัน เพราะมีบทกฎหมายบัญญัติไว้ เว้นไว้แต่สภาได้สั่งให้พิมพ์รายงานหรือถ้อยคำโดยตรง เช่นนั้นแล้ว ผู้พิมพ์ก็อยู่ในความคุ้มครองแห่งบทนี้ด้วยเหมือนกัน

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า ตามที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงมานั้น ทำให้เข้าใจว่า ในที่นี้ ทุกคนมีสิทธิที่ะจพูดอะไรได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ มีความเสมอภาค เมื่อผู้ใดมีความเห็นอย่างไร ก็พูดไปตามความเห็น ไม่เกรงใจว่า ผู้ใหญ่จะโกรธหรือน้อยใจ เพราะว่า ความเห็นที่พูดรุนแรงก็เพื่อให้ Convinced ในข้อเสนอ และในมาตรานี้ก็อนุญาตให้พูดได้โดยไม่มีความผิด แต่ถ้าพูดรุนแรงโดยเด็กกระทำบ้างบางครั้งผู้ใหญ่ไม่พอใจ ความจริงนั้น มิใช่ด่า แต่เป็นการพูดสนับสนุนเพื่อเอาชัยชะนะให้ได้ ความเห็นเมื่อกล่าวในที่ประชุมจะถือว่าเป็นการด่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้เป็นที่เข้าใจเสียว่า ถ้าเด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี พูดแล้ว ตามคำอธิบายของประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่า เป็นการเสมอภาค ต้องฟังความเห็นว่า ดีหรือไม่ ถ้าที่ประชุมลงความเห็นว่า ไม่ดี ก็เป็นอันต้องเงียบกันไป ไม่มีการเสียใจภายหลัง

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ขอแถลงในเรื่องหมิ่นประมาทที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวนั้น เพื่อทำความเข้าใจสำหรับคนภายนอก เพราะอาจจะคิดไปว่า เมื่อมาอยู่ในนี้แล้ว ก็หมิ่นประมาทคนภายนอกได้ ความจริงเชื่อว่า สมาชิกคงได้ตริตรองในการที่จะใช้ถ้อยคำซึ่งจะไม่ให้หมิ่นประมาทบุคคลภายนอก เช่น เรามีการโต้เถียงถึงปัญหา เราก็เชื่อเกียรติยศของสมาชิกว่า จะว่าไม่มีหมิ่นประมาทใคร แต่ถ้าหากว่า ถ้อยคำใดไม่สมควร ประธานก็มีอำนาจที่จะตักเตือนอย่างแบบปาร์เลียเมนต์ที่เคยกระทำมาในต่างประเทศ ความข้อนี้เพื่อไม่ให้คนภายนอกเข้าใจผิดว่า เมื่อเรามาอยู่ในสภาแล้ว เมื่อไม่ชอบใจใคร ก็นำมาถกโดยอาศัยเอกสิทธินี้

พระยาราชวังสันว่า ใครจะขอถือโอกาสกล่าวในที่นี้ และต้องขอโทษ เพราะบางทีจะออกไปนอกเหตุการณ์ ตามที่นายจรูญ สืบแสง กล่าว ในการที่เรามาเป็นสมาชิกนั้น ไม่มีเด็กมีผู้ใหญ่ บรรดาผู้ที่เข้ามาประชุมเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งหรือเหตุการณ์ครั้งนี้บังคับเป็นพิเศษ เป็นผู้มีอายุบรรลุนีติภาวะ มีความรู้มีวัยที่จะพิจารณาเหตุการณ์ได้ การที่กล่าว ต้องกล่าวจากผู้ที่มีความรู้ ไม่ใช่จากอายุ เพราะฉะนั้น ในข้อที่นายจรูญ สืบแสง สงสัย ก็พูดอย่างฐานที่ตัวเป็นเด็กเท่านั้นเอง ซึ่งขอสนับสนุนด้วยบ้าง ธรรมดาการที่จะทำการอะไรสำเร็จ ความสำคัญอยู่ในความแน่ใจในความเห็นของตัวซึ่งแสดงด้วยบริสุทธิใจ บางคราวต้องย้ำคำและยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งอาจจะมีได้บ้างและไม่รู้ว่า การเช่นนั้นอาจจะไปพาดพิงความประพฤติของบุคคล ก็อาจเป็นได้ และในการนี้ ถ้าแม้ว่า ประธานเห็นเป็นคำเสียดสีหรือผรุสวาทแล้ว ก็ห้ามเสียได้ หรือแม้ว่าจะเป็นการนอกไปจากจุดก็เช่นเดียวกัน คือ ประธานอาจจะขอให้งดออกความเห็นนั้นเสียได้

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ถ้าพูดถึงคนภายนอกแล้ว ขอเสนอว่า ถ้าประเด็นสำคัญไม่เกี่ยวแก่บุคคล ก็ไม่ควรจะออกชื่อบุคคลใด ๆ มาเป็นตัวอย่าง นอกจากจะมีการวินิจฉัยเรื่องบุคคลนั้นโดยฉะเพาะ

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า เรื่องคนภายนอกหรือบุคคลที่ ๓ นี้ ตามที่เข้าใจนั้น หมายความว่า ไม่เกี่ยวด้วยประเด็นสำคัญที่พิจารณากัน ถ้าหากว่า จะเกี่ยวด้วยเรื่องประเด็นสำคัญแล้ว แม้เราจะพูดถกกันที่สภานี้ ก็เชื่อว่าได้ เช่น ถ้าหากว่า เสนาบดีหรือเจ้าพนักงานกระทรวงใดที่เราแต่งตั้งไปทำเหลวไหล เราก็อาจจะนำเข้ามาพูดจาว่ากล่าวกันในที่นี้ได้ อย่างเช่นในบางประเทศที่เคยได้ยินมาว่า บุคคลสำคัญชั้นเสนาบดีคนหนึ่งถูกหาว่าไปนั่งเล่นการพนัน เขาก็นำเรื่องนั้นมาถามถึงในปาร์เลียเมนต์ได้ จึ่งเป็นว่า แม้เป็นการเกี่ยวด้วยประเด็นแล้ว หากจะเอานามของบุคคลมากล่าว ก็เห็นจะได้ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า เราไม่ต้องการที่จะให้ผู้ที่เราตั้งให้ไปทำการบริหารราชการแผ่นดินนั้นไปทำผิดกฎหมายหรือผิดมารยาทอันดีงามสมควรแก่ตำแหน่งข้าราชการ

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ตามที่พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันเกี่ยวด้วยประเด็นซึ่งจะเอ่ยถึงชื่อบุคคลได้ตามที่ได้แถลงมาแล้ว แต่ว่า ถ้าเรื่องใดมิใช่ประเด็นสำคัญแล้ว ควรพยายามที่สุดที่จะไม่เอ่ยชื่อให้เขาเสียหาย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรานี้ จะมีผู้แก้ไขอย่างใดบ้าง เพราะที่ได้อภิปรายกันมานั้นก็เกี่ยวแต่ฉะเพาะเรื่องที่จะทำความเข้าใจกันเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดทักท้วงในข้อความ หากว่าไม่ขัดข้องแล้ว ก็จะขอลงมติ ไม่มีสมาชิกผู้ใดแสดงความเห็นทักท้วง ประธานสภาฯ จึ่งขอให้ที่ประชุมรับรองมาตรา ๒๘ ที่ประชุมเห็นชอบด้วย

มาตรา ๒๙ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงว่า ในมาตรา ๒๙ นี้มีความว่า "ในปีหนึ่ง ท่านให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง การประชุมครั้งแรก ต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในเวลาเก้าสิบวันนับแต่การเลือกตั้งเสร็จแล้ว การประชุมสามัญประจำปีต่อ ๆ ไป ท่านให้สภากำหนด" ซึ่งเห็นไม่มีปัญหาจะอธิบาย เพราะความขัดอยู่แล้ว

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า การพิจารณามาตรานี้ ถึงแม้ว่า จะมีมติแต่ต้นว่า จะพิจารณาเป็นมาตรา ๆ ไปก็ดี แต่มาตรานี้มีความหมายเป็นพิเศษ เห็นควรจะรวมพิจารณามาตรา ๓๐ ไปในโอกาสเดียวกันเสียด้วย เพราะมีการกำหนดเวลา และการที่จะกระทำเช่นนี้ แม้จะเป็นการละเมิดมติก็จริง แต่ก็ได้เคยกระทำไปแล้วในคราวพิจารณามาตรา ๖–๗–๘

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในการที่จะรวมพิจารณาดั่งว่านั้น ไม่ขัดข้อง สำหรับมาตรา ๓๐ นั้นมีความว่า "สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ท่านว่า มีเวลากำหนดเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่ง ในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้น จะโปรดเกล้าฯ ให้ปิดประชุมก็ได้"

ประธานสภากล่าวว่า บัดนี้ เราจะได้พิจารณารวมกันไปทีเดียว ๒ มาตรา คือ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ ดั่งนี้ ใครจะมีความเห็นอย่างไรบ้าง

พระยาศรยุทธเสนีแสดงความเห็นว่า ในสองมาตรานี้ ขออภิปรายรวมกันไปทีเดียวว่า ในการที่จะให้มีประชุมเพียงสมัยเดียวและกำหนดเพียงเก้าสิบวันนั้น เห็นว่า น้อยไปในปีหนึ่ง เพราะเหตุว่า ในมาตรา ๔๐ มีความสำคัญอยู่ว่า สมาชิกจะไปพูดเวลาอื่นและออกความเห็นไม่ได้ นอกจากจะไต่ถามกรรมการราษฎรในเวลาประชุมเท่านั้น ถ้าหากว่า มีพระราชกำหนดหรือเรื่องอันควรพิจารณามากมาย เวลาที่กำหนดไว้เพียง ๙๘ วันนั้นออกจะน้อยเต็มที เห็นว่า ควรจะเพิ่มขึ้นอีกสมัยหนึ่งหรือมากกว่า แล้วแต่สภาจะกำหนดในมาตรา ๒๙ ส่วนมาตรา ๓๐ นั้น ขอเปลี่ยน ๙๐ วันเป็น ๑๒๐ วัน

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ที่เรากำหนดเวลาดั่งมาตรา ๒๙ และ ๓๐ นั้น เรากำหนดตามรัฐธรรมนูญของญิปุ่น เขากำหนดไว้ปีละครั้งสำหรับการประชุมสามัญ ถ้าหากจะมีพิเศษ เขาก็เรียกประชุมวิสามัญ ซึ่งเรามีอยู่อีกมาตราหนึ่งที่บัญญัติว่า ให้มีการเรียกประชุมวิสามัญได้ และมีอีกมาตราหนึ่งที่ว่า เมื่อการงานยังไม่เสร็จ เราจะขยายเวลาออกไปได้ แต่ในระหว่าง ๙๐ วันนี้ พระมหากษัตริย์จะให้ปิดประชุมเสียก็ได้ เพราะถ้าหากว่า เราไม่มีงานทำ จะเรียกประชุมแล้วมานั่งดูตากันนั้น ไม่ได้ประโยชน์อะไร จึ่งมีข้อไขว่า ให้ปิดก็ได้ แต่ถ้าหากว่า งานยังไม่แล้ว เราก็ขอให้พระมหากษัตริย์ขยายเวลาออกไปได้เช่นเดียวกัน หรือหากว่า การเสร็จแล้ว เมื่อมีงานใดพิเศษสลักสำคัญ ก็เรียกประชุมวิสามัญได้ เพราะฉะนั้น เห็นว่า ที่กำหนดไว้นี้ ไม่เป็นการจำกัดตายตัวประการใดเลย

พระยาศรยุทธเสรีกล่าวว่า ตามที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพูดนั้นก็จริงอยู่ แต่ว่าการปิดและการขยายนั้นจะต้องทำเป็นพิธี หากว่าเรากำหนดไว้เสียเอง ก็จะเป็นการสะดวก และจะดีกว่าที่กำหนดเวลาไว้น้อย และก็ขยายกันได้ในที่ประชุม ไม่ต้องถึงพระเจ้าอยู่หัว มิฉะนั้น หากว่าโปรดเกล้าฯ ให้ขยายแล้ว เราก็ต้องทำเป็นพิธี

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ที่เรากำหนดเวลา ๙๐ วันนั้น เราก็ได้คิดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศเรา เดิมคิดจะเอาในเทศกาลเข้าพรรษา ครั้นแล้ว ก็ได้มาคิดถึงฤดูกาลที่มีงานมากงานน้อย และในเวลา ๙๐ วันนี้ เราได้คิดไว้ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ซึ่งหมดงานในนาเป็นส่วนมาก หรือถึงราษฎรจะหว่านเข้าแล้วเตรียมการอะไรอันเป็นงานในนาก็คงจะเสร็จ เราจึ่งกำหนดเพียง ๙๐ วัน อีกประการหนึ่ง พืชผลโดยมากมักจะมีอายุ ๙๐ วัน ซิงเป็นเหตุการณ์พอจะไปได้ ในการที่จะทำการปิดหรือเปิดประชุมนั้น มิใช่เราทำได้ตามชอบใจ เพราะเหตุว่าเป็นการบริหารที่เกี่ยวกับคนภายนอกด้วย เช่น สิทธิในการที่จะฟ้องร้องในโรงศาล ต้องกำหนดแน่นอนว่า วันนั้นวันนี้เป็นนีติกรรม (Legal act) คือ เป็นกรรมในการบริหาร ซึ่งเรื่องนี้อนุกรรมการได้พิจารณาและคิดโดยรอบคอบแล้ว

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ในการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ได้อาศัยความเห็นของนักเขียนบางคนประกอบการพิจารณาของตนเองด้วย คือว่า สำหรับข้อความในมาตรา ๒๙–๓๐–๓๒ และ ๓๓ นั้นเป็นข้อความโยงถึงกัน ซึ่งถ้าเราแก้ไขมาตราหนึ่งมาตราใดแล้ว จะต้องแก้ไขมาตราอื่นด้วย ว่าตามหลักการ คณะกรรมการราษฎรอยู่ในความควบคุมของสภา เพราะว่าสภานั้นมีสมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม ก็เมื่อเรากำหนดให้มีประชุมเพียงสมัยเดียวดั่งในมาตรา ๒๘ และมีกำหนดเพียง ๙๐ วันดั่งในมาตรา ๓๐ เห็นว่า ไม่เป็นการเพียงพอ ที่ว่าไม่มีเพียงพอนี้ ก็เนื่องด้วยได้พิจารณาถึงเหตุการณ์ ถึงแม้จะไม่มีตัวอย่างก็ดี และเท่าที่เราได้เปลี่ยนแปลงและประชุมมาแล้วก็ดี เห็นว่า ยังเป็นประเทศที่ยังใหม่ มีกิจการงานที่จะต้องทำอีกเป็นอันมาก และถึงแม้จะมีในมาตราอื่นว่าขยายเวลาไปได้ก็ดี ยังมีความเห็นตามที่พระยาศรยุทธเสนีว่า จะเป็นการเอิกเกริก ยิ่งกว่านี้ ในมาตรา ๓๒–๓๓ ถ้าอ่านดูตามตัวอักษรแล้ว การที่สมาชิกจะร้องขอให้มีการประชุมลอย ๆ ดั่งในมาตรา ๓๓ นั้น คือ ขอให้ประธานนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขึ้นไป ส่วนในมาตรา ๓๒ ว่า พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมก็ย่อมได้ ซึ่งหมายความว่า จะเรียกประชุมหรือไม่เรียกก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรา ๕๗ บังคับอยู่อีกว่า ในการที่พระมหากษัตริย์จะกระทำใด ๆ กรรมการราษฎรต้องลงนามรับพระบรมราชโองการ เมื่อเช่นนี้ ถึงแม้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นชอบด้วยว่า ควรมีประชุมวิสามัญ หากแต่ว่า คณะกรรมการราษฎรไม่ลงนามเห็นด้วย ก็ไม่ได้ผลตามกฎหมาย และการที่คณะกรรมการราษฎรไม่กระทำเช่นนั้น ก็จะขัดกับสภาซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่บังคับควบคุม (Control) เห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้จะใช้ให้ถาวร สมควรจะมีเครื่องผูกมัดคณะกรรมการราษฎรเพื่อให้สมกับรัฐธรรมนูญจริง ๆ และวิธีททีจะกระทำได้นั้นมีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิธีหนึ่ง ในมาตรา ๒๙ เราอาจจะเพิ่มว่า "ในปีหนึ่ง ท่านให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งหรือมากกว่านั้นแล้วแต่สภาจะกำหนด" ถ้าแก้เช่นนี้แล้ว ในมาตรา ๓๐ ก็ไม่จำเป็น ส่วนมาตรา ๓๒–๓๓ จะเอาไว้คงเดิมก็ได้ หรือว่า ถ้าไม่แก้มาตรา ๒๙ จะแก้มาตรา ๓๓ ก็ได้ว่า "เมื่อสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ เห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จะร้องขอให้มีประชุมสภา หรือพระเจ้าอยู่หัวก็ตาม จะต้องเรียกประชุม" ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีดั่งว่านี้ และถ้าแก้ในมาตรา ๓๓ ในมาตรา ๒๙ ก็ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ก็มิทำได้ในมาตรา ๓๐ คือ เพิ่มกำหนด ๙๐ วันเป็น ๑๘๐ วัน หรือสุดแล้วแต่จะเหมาะ แต่ทว่า วิธีนี้ไม่สู้จะเหมาะ เพราะเหตุว่า ในการที่ประชุมระหว่าง ๙๐ วันนั้น เราควรจะให้มี interval ไว้บ้าง

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในเรื่องนี้ อนุกรรมการได้พิจารณาโดยละเอียดแล้วถึงประโยชน์ของผู้ที่จะมาประชุมด้วย เราต้องคิดว่า ผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกนั้นไม่ใช่นั่งกินเงินเดือน แต่เป็นผู้ที่มีงานการส่วนตัว เช่น เป็นพ่อค้าหรือทนายความ เป็นต้น และมิใช่ว่าจะอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เพราะเมื่อเราใช้รัฐธรรมนูญนี้แล้ว ก็จะมีสมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนมาจากหัวบ้านหัวเมืองไกลด้วย ซึ่งการไปมามักลำบาก เพื่อความสะดวกดั่งกล่าวแล้ว เราจึ่งได้กำหนดเอาไว้ ๙๐ วัน ส่วนการที่จะเรียกประชุมวิสามัญนั้น หมายความว่า มิใช่การเล็กน้อย คือ เพื่อปรึกษาการใหญ่โต เช่น มีการสงคราม หรือทำสัญญากู้เงินอันเป็นสัญญาผูกมัด หรือว่า สัญญาอื่นที่ผูกมัดให้กระทำ ส่วนสัญญาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ให้รัฐบาลทำไปก่อนแล้วขอรับอนุมัติทีหลัง การประชุมวิสามัญจะใหญ่มาก เมื่อเช่นนี้แล้ว จะต้องคิดถึงประโยชน์ของคนหมู่มาก เพราะว่า ผู้แทนนี้อาจจะมีถึง ๒๐๐–๓๐๐ คน เมื่อให้เขาเข้ามานานเกินไป ก็จะเป็นการเดือดร้อน เพราะทุกคนมักจะหาประโยชน์ส่วนตัว เมื่อเข้ามาอยู่เช่นนี้แล้ว ประโยชน์อันพึงได้ก็จะเสียไป ทีนี้ ว่าถึงการควบคุม ในการที่จะพิจารณากฎหมายหรือเหตุการณ์อันใดที่รัฐบาลได้กระทำไป ก็อาจจะตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่งสำหรับพิจารณาได้แล้วนำเสนออีกต่อหนึ่ง เพราะทุก ๆ คนจะมามัวแต่นั่งอ่านกฎหมายนั้น อย่าว่าแต่ ๓ เดือนเลย แม้ ๓ ปีก็เชื่อว่า จะทำไปไม่ได้ และในการที่จะตั้งกรรมการนี้ ถ้ามีหลายปาร์ตี ก็เลือกเอาปาร์ตีโน่นบ้างนี่บ้างมารวมกันพิจารณาได้ ครั้นถึงเวลาโว๊ต อาจจะมาเพียง ๔๐ คน นอกนั้นไม่มาก็ได้ เพราะต่างก็รู้อยู่แล้วว่า จะโว๊ตอะไร นี่เป็นเทคนิคของปาร์เลียเมนต์ และในระหว่างนั้นเอง จะมีการไต่ถามอันเกี่ยวแก่ปัญหาต่าง ๆ ว่า ทำไมสิ่งนั้นไม่ทำอย่างนี้ ทำไม่อย่างนี้ไม่ทำอย่างนั้น หรือว่า ทำไมจึ่งทำอย่างนี้ ฯลฯ นอกจากนี้ ก็อาจจะไต่ถามถึงตัวบุคคลว่า ทำไมเสนาบดีคนนั้นนั่นเฉย ๆ หรือว่า ทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้เหมือนกันซึ่งนอกไปจากคณะกรรมการราษฎร เพราะฉะนั้น ถ้าได้รวบรัดและผู้ที่มีความรู้มาประชุมกันเช่นนี้ งานก็จะไม่ช้านัก และสิ่งที่ช้าอยู่อีกอันหนึ่ง ก็คือ เรื่องการงบประมาณซึ่งจะได้อธิบายภายหลัง เช่นนี้ จะเห็นว่า อนุกรรมการได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า สรุปความที่พระยาราชวังสันกล่าวมาแล้ว เห็นว่า ไม่น่าจะวิตกประการใด เพราะเหตุว่า วิธีในการกระทำเช่นนี้ เป็นแต่เพียงว่า เราสงวนอำนาจให้กระทำได้ แต่ว่า เราจะใช้อำนาจนั้นโดยไม่ให้เดือดร้อนก็ได้ ในมาตรา ๓๓ ที่ว่า ถ้าสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ จะเสนอให้เรียกประชุมนั้น ก็โดยแน่นอนใจแล้วว่า ด้วยความจำเป็นและประโยชน์แห่งรัฐ ส่วนในมาตรา ๒๙ ก็ควรกำหนดให้มากกว่าสมัยหนึ่ง เพื่อสภาจะได้สงวนอำนาจนั้นไว้กำหนดโดยมิให้เป็นการเอิกเกริก ฉะเพาะข้อที่ว่า จะเป็นการลำบากแก่สมาชิกด้วยเวลาและผลประโยชน์นั้น เห็นว่า ไม่สำคัญ เพราะว่า กิจการที่สภากระทำนั้นเพื่อชาติประเทศ และสมาชิกที่จะเข้ามาก็ได้ปฏิญาณแล้วว่า จะยอมเสียสละและกระทำการโดยซื่อสัตย์สุจริต ฉะนั้น จะมัววิตกว่า เสียเวลา เสียเงินทอง นั้น เห็นจะเป็นไปไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่า สภาจะวินิจฉัยกิจการอื่นนอกจากสมัยปกติแล้ว เราจะไม่ให้เงินเดือนก็ได้

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในการที่จะเลื่อนวันหรืออะไรนั้น ไม่เป็นของสำคัญ แต่ก่อนที่จะโว๊ต ใคร่จะขอเสนอให้คิดถึงนิสสัยคนด้วย เพราะถ้ากำหนดวันไว้นาน อาจจะนึกว่า ไม่เป็นไร เวลายังมีพอ และบางทีก็อาจจะไม่มีอะไรทำ มานั่งเฉย ๆ ฉะนั้น จึ่งเห็นควรจะจำกัดวงเป็นการตอกตะปูไว้ เพื่อว่า เมื่อมีเวลาน้อย ต่างคนก็ต่างจะขมักเขม้นช่วยกันทำงานจริง ๆ แต่ว่า เมื่อจำเป็นจริงแล้ว จึ่งค่อยเลื่อนออกไป มิฉะนั้น จะเสียประโยชน์ของประเทศและประชาชนด้วย

พระยาศรยุทธเสนีกล่าวว่า ตามที่พระยาราชวังสันกล่าวถึงนิสสัยคนนั้น ก็เป็นความจริง แต่ที่พูดกันนั้น พูดถึงว่า สภากับคณะกรรมการราษฎรทำงานกันกลมเกลียวเสมอ แต่ถ้ามีขัดกันบ้าง วันที่จะกำหนดไว้ ๙๐ นั้นไม่พอ ควรขยายให้กว้าง ส่วนการที่จะปิดเปิดอย่างใดนั้น สภาจะทำเองก็ได้ จิงขอให้สมาชิกระลึกถึงข้อนี้ไว้ด้วย

นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ขอรับรองความเห็นหลวงธำรงฯ ส่วนในข้อที่พระยาราชวังสันวิตกว่า สมาชิกหรือประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งขึ้นมานั้นจะขาดประโยชน์และเสียเวลานั้น ในข้อนี้ ตามธรรมดาในรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ประชุมสมัยหนึ่งนั้นแล้วแต่สภาจะกำหนด ที่จะให้เป็นการแน่นอนแล้ว จะต้องมีข้อบังคับเลือกผู้แทนอีก ซึ่งผู้นั้นย่อมยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของชาติ และเมื่อมานั่งที่ประชุมแล้ว จะมัวนึกถึงประโยชน์อะไรมิได้ จึ่งขอวิงวอนให้สมาชิกคิดถึงความข้อนี้

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ในการที่จะพูดต่อไปนี้ ก็เนื่องจากรู้สึกว่า มีดิวตี้และประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่มาสกิด มิใช่ว่า อนุกรรมการของรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นขัดกันมิได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีอะไรมาสกิดขึ้นใหม่ ก็อยากจะพูด ความจริง เราก็ได้ตกลงกันและก็มิได้มีขัดข้องคัดค้านอะไรในเรื่องสมัยประชุม และที่กำหนดไว้ ๙๐ วันนั้นก็ได้ตกลงกันมา แต่ที่หลวงธำรงฯ ได้กล่าวขึ้นมานั้น รู้สึกว่า มีประเด็นเกิดขึ้นใหม่ จึ่งอยากจะขอพูด คือว่า ที่หลวงธำรงฯ อยากจะขยายความในมาตรา ๒๙ ว่า ให้มีประชุมสามัญสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาจะกำหนดนั้น ข้อความนี้ เห็นว่า สมควรจะแก้เหมือนกัน เพราะถ้ามีไว้เช่นนี้ ก็จะกล่าวได้ว่า กฎหมายเรามีความลมุนลมัย ไม่กระด้าง ส่วนการที่จะกำหนดนั้น ถ้าเห็นว่า ปีไหนมีงานน้อย จะกำหนดสมัยเดียว หรือถ้าปีไหนมีงานมาก จะขยายออกเป็น ๒ สมัยก็ได้ ส่วนระยะเวลาของสมัยหนึ่ง ๆ มีเวลา ๙๐ วันนั้น เห็นว่า พอเหมาะแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนแปลง และขอสนับสนุนในข้อที่หลวงธำรงฯ เห็นว่า ควรแก้มาตรา ๒๙ เป็นว่า "ในปีหนึ่ง ท่านให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาจะลงมติ"

พระยาศรีวิสารวาจารับรองคำเสนอของหลวงประดิษฐ์ฯ และกล่าวว่า เมื่อได้มาคิดเห็นว่า ที่จะกำหนดให้อำนาจแก่สภาที่จะกำหนดเป็นสมัยเดียวหรือสองนั้น ควรอยู่แล้ว เพราะเราเพิ่งได้เริ่มต้นในทางปกครองโดยรัฐธรรมนูญ ควรกำหนดในทางที่กว้างไว้ ถ้าต่อไปสมัยเดียวไม่พอ สภาจะขยายเป็นสองสมัยก็ได้ ด้วยประการดั่งกล่าวแล้วนี้ จึ่งขอสนับสนุนในการที่จะขยายสมัยประชุมสามัญให้เป็นหลายสมัยก็ได้

พระยาศรยุทธเสรีกล่าวว่า เพื่อรวบรัดเวลาให้สั้น ถ้าหากว่า ในมาตรา ๒๙ ขอแก้เป็นดั่งที่พระยาศรีวิสารฯ สนับสนุนนั้นแล้ว ก็ขอถอนญัตติเดิมที่เสนอไว้

นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ข้าพเจ้าเองเป็นราษฎรแท้ มิได้รับราชการประจำ ในการที่พระยาราชวังสันวิตกว่า เราเป็นราษฎร จะลำบากในการมาประชุมในเมื่อมีประชุมมากครั้ง โดยว่า จะเสียประโยชน์และเวลาส่วนตัวนั้น เข้าใจว่า บรรดาผู้ที่ยอมเสียสละแล้วเพื่อความเจริญของชาติ คงไม่รังเกียจเลย เป็นความจริงว่า ในต่างประเทศโดยมาก เขามีสมัยเดียวเพียง ๙๐ วัน ส่วนเรานั้น อาจจะผิดกับเขา เพราะว่า เพิ่งได้เปลี่ยนประเพณีใหม่ คือ เพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า จะต้องมีการงานทำมาก ที่จะไปตามอย่างประเทศที่เขาเรียบร้อยมาแล้วไม่ได้ โดยที่เราเพิ่งเริ่มสร้างบ้านเมืองขึ้น เหตุฉะนั้น เราควรขยายเวลาให้มากกว่า ๙๐ วัน แล้วพักผ่อนเลื่อนไปสมัยอื่น เพื่อให้เวลาสมาชิกได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ เพื่อทราบกิจการเป็นไปและมาปรึกษาหารือกัน จึ่งเห็นว่า จะเพิ่มเวลาเป็น ๑๘๐ วันนั้นเหมาะ และในการที่จะให้มีมากกว่าสมัยหนึ่งนั้นก็เห็นสมควร แต่ทั้งนี้ สุดแท้แต่ที่ประชุมจะพิจารณา

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ในข้อที่ว่า ในปีหนึ่งจะให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยตามแต่สภาจะกำหนดนั้น สงสัย เพราะถ้าอ่านตามความในมาตรา ๓๐–๓๑–๓๒ และ ๓๓ นั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็น Executive act จึ่งได้ใช้คำว่า "โปรดเกล้าฯ" ถ้าหากว่า จะแก้ไขโดยยกอำนาจให้แก่สภาแล้ว เกรงว่า จะขัดกับความในมาตรา ๓๐–๓๑–๓๒ และ ๓๓ ซึ่งการกำหนดนี้เป็นการบริหารซึ่งยกถวายให้แก่พระมหากษัตริย์ ฉะนั้น จึ่งสงสัยว่า ปัญหาที่จะขยายเวลาประชุมให้มากกว่าสมัย ๑ เช่นนี้ ควรยกให้แก่สภาหรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็น Chief Executive

พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า ตามที่แก้ในมาตรา ๒๙ นั้น ก็มีความหมายเพียงว่า สภาจะกำหนดว่า จะมีสมัยเดียวหรือหลายสมัย ส่วนสมัยหนึ่งเราก็กำหนดไว้เป็น ๙๐ วัน ส่วนกำหนดเปิดนั้น สุดแล้วแต่กษัตริย์จะเรียก จึ่งเห็นว่า ไม่ขัดกัน เพราะเป็นเพียงแต่ว่า ให้สภาวินิจฉัยว่า จะให้มีสมัยเดียวหรือสอง ส่วนการที่จะเรียกประชุมนั้น ก็เป็นคำสั่งของกษัตริย์

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ในมาตรา ๓๐ มีว่า พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ หรือจะปิดสมัยประชุมก็ได้ แต่ส่วนมนมาตรา ๒๙ จะให้แก้ใหม่ว่า สภาเป็นผู้กำหนดในเรื่องทีจะให้มีสมัยประชุมเดียวหรือให้มีมากกว่าสมัย ๑ ดั่งนี้ เห็นว่า ตามหลักน่าจะขัดกัน จะปิดสมัยประชุมหรือขยายเวลาประชุม ควรให้อำนาจแก่สภาหรือถวายให้ในหลวงแต่ฝ่ายเดียว การจึงจะ uniform ลงรูปกัน

พระยาราชวังสันตอบว่า ตามที่พระยานิติศาสตร์ฯ กล่าวนั้น ตามหลักเก่า วิธีที่จะตกลงขยายหรือไม่นั้น สภาตอบตกลงกันอยู่เอง แต่ในการใช้นั้นเป็นนีติกรรม จึ่งต้องเขียนว่า พระมหากษัตริยืโปรดเกล้าฯ เห็นว่า ไม่เป็นการขัดกัน ส่วนในข้อที่สมาชิกบางท่านกล่าวว่า บรรดาผู้ที่จะเข้ามาในที่นี้ย่อมยอมเสียสละแล้วนั้น ก็จริงอยู่ แต่ถ้าสมมตว่า นาย ก. เป็นทนายความ รับว่าความไว้ เงินตั้งหมื่นบาท หากว่า ถูกเรียกเข้าประชุมในระหว่างว่าความ เช่นนั้นแล้ว จะรู้สึกอย่างไร และเชื่อแน่ว่า คงจะต้องเดือดร้อน อีกประการหนึ่ง คนที่จะมาเป็นสมาชิกโดยราษฎรเลือกตั้งนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงดี มิเช่นนั้น ราษฎรก็คงไม่เลือกตั้งมา และเขาต้องเห็นว่า เป็นคนจะทำงานได้จริง รู้จักกฎหมายดี ฉะนั้น จึ่งได้เสนอไว้ให้คิด หากว่าถึงคราวจริงแล้วจะเดือดร้อน

นายหงวน ทองประเสริฐ ถามว่า ในการที่พระมหากษัตริย์จะขยายเวลาออกเช่นว่านี้ เป็นคำแนะนำของสภาหรือของคณะกรรมการราษฎร

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมตอบว่า ตามวิธีการแล้ว ต้องเป็นคณะกรรมการราษฎร กล่าวคือ ในมาตรา ๕๗ มีว่า ในเวลาพระมหากษัตริย์ลงพระบรมนามาภิไธย ต้องมีกรรมการราษฎรคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนที่ว่า ใครจะเห็นสมควรและแนะนำให้ขยายนั้น อาจจะเป็น

(๑) สภา เพราะว่า เห็นสมควรก็จะแจ้งไปยังคณะกรรมการราษฎรตามหน้าที่แห่งการบริหาร เพื่อให้เบนผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หรือ (๒) ทางคณะกรรมการราษฎร กล่าวคือว่า เมื่อคณะกรรมการราษฎรมีราชการด่วนหรือเรื่องลับอันสมควรจะนำเข้าเสนอสภา ทางคณะกรรมการราษฎรก็กราบบังคมทูลให้ขยายเวลาไปได้เหมือนกัน แล้วนำมาแจ้งให้สภาทราบซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ ๒ อย่าง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ถ้าแม้ที่ประชุมตกลงให้แก้มาตรา ๒๙ ตามที่พิจารณากันมาแล้วนั้น เห็นว่า ความในตอนท้ายที่ว่า "การประชุมสามัญประจำปีต่อ ๆ ไป ท่านให้สภากำหนด" นั้น ออกเสียก็ได้ เพราะความข้างบนคงคลุมถึงแล้ว

นายเนตร์ พูนวิวัฒน กล่าวว่า ในมาตรา ๓๐ นั้น บรรทัดแรก หลังคำว่า สมัยหนึ่ง มีสมาชิกได้ขอให้เติม "ๆ" ฉะนั้น ขอให้แก้เสียด้วย

ที่ประชุมเห็นชอบด้วย

หลวงอรรถสารประสิทธิ์ถามว่า ถ้าหากว่า จะตัดข้อความดั่งที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกแล้ว ในปีต่อ ๆ ไป ใครจะเป็นผู้กำหนดประชุม

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า สภา เพราะความในตอนที่ขอแก้แล้วนั้นคงจะกินถึง

พระยาราชวังสันกล่าวว่า เนื่องจากในมาตรานี้มีข้อทักท้วงกันมาก เพื่อให้งานรวบรัดขึ้น ขอให้สภางดการพิจารณาไว้สัก ๑๐ นาฑี เพื่อขอให้อนุกรรมการและผู้ที่ประสงค์จะแก้ไขได้มีโอกาสปรึกษากันแล้วค่อยพิจารณา

ประธานสภาอนุมัติ

หยุดพักเพื่ออนุกรรมการพิจารณา ๑๐ นาฑี

เมื่ออนุกรรมการพิจารณากันแล้ว ประธานสภาได้เรียกประชุม

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เมื่ออนุกรรมการและสมาชิกบางคนได้หารือกันแล้ว ในมาตรา ๒๙ นี้เป็นตกลงกันให้อ่าน ดั่งนี้

"ในปีหนึ่ง ท่านให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาจะกำหนด การประชุมครั้งแรก ต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในเวลาเก้าสิบวันนับแต่การเลือกตั้งเสร็จแล้ว วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปี ท่านให้สภากำหนด"

นายจรูญ ณบางช้าง เสนอว่า เนื่องจากเรามีการงานที่จะต้องทำอีกมาก ควรจะให้บันทึกไว้ในรายงานว่า ภายใน ๔ ปีแรกนี้ ขอให้เป็นที่ตกลงว่า จะมีการประชุมปีละ ๒ สมัย

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ตามที่นายจรูญ ณบางช้าง เสนอนั้น เห็นว่า ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า เราจะไปรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างไร ถ้าหากว่า มีเหตุการณ์ต้องเป็นไปอย่างอื่น ข้อความที่จดไว้ก็จะเป็นหมันไป

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ต้องขอโทษที่จะกล่าวความต่อไปนี้ คือว่า ที่นายจรูญ ณบางช้าง เสนอมานั้น เป็นปัญหานอกประเด็น ไม่ควรรับพิจารณา หรือว่า เอาไว้พูดกันเวลาอื่น

นายจรูญ สืบแสง ถามว่า การกำหนดสมัยประชุมที่สองนั้น จะกำหนดไว้ก่อน หรือว่า กำหนดเมื่อจวนจะหมดสมัยที่หนึ่ง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า แล้วแต่สภา

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดอภิปรายอีกแล้ว ขอให้ที่ประชุมนี้ลงความเห็นว่า ร่างในมาตรา ๒๙ ตามที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอขอแก้ไขมาใหม่ อีกทั้งมาตรา ๓๐ ที่ขอให้รวมพิจารณาด้วยกัน และที่ได้เติม "ๆ" ลงไปแล้วนั้น จะใช้ได้หรือยัง สมาชิกทั้งหมดมีความเห็นชอบว่า ใช้ได้ เป็นอันว่า ที่ประชุมสภารับรองความในมาตรา ๒๙ และ ๓๐ ดั่งที่พิจารณาแก้ไขกันมาแล้ว

มาตรา ๓๑ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอความในมาตรา ๓๑ ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดและปิดประชุม

พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมา หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้ประธานคณะกรรมการราษฎรกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้"

และกล่าวต่อไปว่า ขอตัดคำว่า "และ" คำที่สองในบรรทัดที่ ๒ ออก อ่านว่า "และทรงเปิดปิดประชุม"

พระยาศรยุทธเสนีกล่าวว่า ความในบรรทัดที่ ๔ แห่งมาตรานี้ คือ คำว่า ประธานคณะกรรมการราษฎร นั้น ขอแก้เป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นผู้มีอาวุโสกว่าสมาชิกทั้งหลาย

พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า การกระทำการเปิดประชุมนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งอำนาจบริหาร ถ้าพูดถึงอาวุโสกแล้ว ตามระเบียบในประเทศอังกฤษ ประธานคณะเสนาบดี (เทียบประธานคณะกรรมการราษฎร) มาก่อน ส่วน Speaker (เทียบประธานสภาผู้แทนราษฎร) มาทีหลัง แท้จริงเป็นการบริหาร ซึ่งประธานของสภาไม่มีหน้าที่ด้วย

พระยาศรยุทธเสนีกล่าวว่า ถ้าจะคิดถึงบุคคลที่สูงขึ้นไปกว่านี้สักหน่อยแล้ว ในบางสมัยบางรัชชกาลมีรัชชทายาท ฉะนั้น ก็น่าจะมีไว้ด้วยในมาตรานี้

พระยาศรีวิสารวาจาตอบว่า ต้องเป็นรัชชทายาที่บรรลุนีติภาวะแล้ว

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า เจ้านายจะเชิญมานั้น ควรจำกัดฉะเพาะในหลวงและรัชชทายาท

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับรองและกล่าวว่า ในวรรค ๒ ให้เติมความว่า "รัชชทายาทที่บรรลุนีติภาวะแล้วหรือ" ลงข้าหลังคำ "โปรดเกล้าฯ ให้"

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓๑ ตามตกลงแก้ไขที่ใหม่เป็นดั่งนี้ "พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดปิดประชุม

พิธีเปิดประชุม จงทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมา หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทที่บรรลุนีติภาวะแล้วหรือประธานคณะกรรมการราษฎรกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้" ฉะนั้น ถ้าสมาชิกไม่ทักท้วงอย่างไร ก็ขอให้ลงมติ สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมรับรองความในมาตรา ๓๑ ดั่งกล่าวแล้ว

มาตรา ๓๒ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรนูญเสนอความตามมาตรา ๓๒ ว่า "เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรก็ย่อมได้" และขอตัดคำว่า "ย่อม" ในบรรทัดท้ายออก

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรานี้ ก็ไม่มีอะไร ถ้าที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอนั้นแล้ว ก็จะผ่านไปมาตราอื่น ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ในที่สุด ที่ประชุมลงมติรับรองมาตรา ๓๒

มาตรา ๓๓ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๓๓ นี้ มีความว่า "เมื่อสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมดเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ มีสิทธิรวมกันทำคำร้องขอต่อประธานแห่งสภาให้นำความกราบบังคมทูลขอให้ทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีย์เช่นนั้น ท่านให้ประธานแห่งสภานำความกราบบังคมทูลขึ้นไป" และว่า ก่อนอื่น ขอตกเติมข้อความดั่งนี้ ในบรรทัดแรก หลังคำว่า "ราษฎร" เติมคำว่า "มี" บรรทัดที่ ๓ หลังคำว่า "รัฐ" เติมคำว่า "แล้ว" หน้าคำว่า "มีสิทธิ" เติมคำว่า "ย่อม" บรรทัดที่ ๕ หลังคำว่า ราษฎร เติมคำว่า "ได้" คำว่า "เชนนั้น" แก้เป็น เช่นนี้ และคำ "กรณีย์" แก้เป็น "กรณี" และกล่าวต่อไปว่า ถ้อยคำในมาตรานี้ เห็นจะมีอย่างที่หลวงธำรงฯ สงสัย กล่าวคือ เป็นบอกว่า ให้สภานำความกราบบังคมทูลขึ้นไป ท่านจะเรียกหรือไม่? ความในมาตรานี้ขอให้เป็นที่เข้าใจว่า เมื่อมีสมาชิกครบจำนวนดั่งที่กำหนดร้องขอต่อประธานให้กราบบังคมทูลเพื่อเรียกประชุมวิสามัญแล้ว พระมหากษัตริย์ต้องทรงเรียกตามคำขอร้องนั้น

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ขอให้สังเกตที่เราพูดกันมาแล้วในมาตราก่อนว่า ทำไมต้องให้ประธานสภาฯ เรียกประชุมวิสามัญ ในเมื่อตามธรรมดา การนั้นต้องผ่านทางคณะกรรมการราษฎร ทั้งนี้ ก็เพื่อว่า ถ้าหากทางคณะกรรมการราษฎรเกิดโลเลไม่ยอมนำความกราบบังคมทูล โดยเข้าใจว่า สภาจะเปิดประชุมเพื่อเรียกมาไต่ถาม ก็ให้ประธานสภาฯ คำวามกราบบังคมทูลให้ทรงสั่งเปิดประชุมได้ ด่ังนี้ ในมาตรานี้จึงมีไว้ประกาศเช่นนั้น

หลวงเดชาติวงศ์ฯ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ก็เห็นใจ แต่ความในมาตรา ๕๗ มีว่า กิจการใดที่ในหลวงทรงสั่ง คณะกรรมการราษฎรจะต้องลงนามด้วย จึ่งจะใช้ได้ เมื่อเช่นนั้น การเรียกประชุมก็ตกเป็นหน้าที่กษัตริย์ผ่านทางคณะกรรมการราษฎรก็ได้ เพื่อกันความขัดข้อง เห็นควรจะให้กษัตริย์ทรงสั่งผ่านทางสภาได้

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า วิธีการที่กระทำนี้มีหน่วงเหนี่ยมและคุมซึ่งกันและกันอย่างที่ว่า เมื่อประธานของสภานำความกราบบังคมทูลและทรงสั่งลงมา เมื่อกรรมการราษฎรไม่ยอมลงนาม จะไล่ออกเสียก็ได้

หลวงเดชาติวงศ์ฯ กล่าวว่า การไล่ออก หมายความว่า จะโว๊ต Confidence เมื่อเช่นนั้น ใครจะเป็นผู้เรียกประชุม และถ้าการกระทำเช่นนั้นเกิดเสียหายแก่รัฐ จะทำอย่างไร

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ปัญหาเช่นนี้ได้เคยเห็นมีในประเทศหนึ่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไล่คณะเสนาบดีออก แต่ตามปกติก็เป็นอย่างนั้น คือ พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้มีอำนาจที่สภามอบให้ไว้ ที่นี่คณะกรรมการราษฎร ก็คือ หัวหน้าเสนาบดีซึ่งแต่งตั้งไปทำงานตามกระทรวงต่าง ๆ และการที่จะสั่งให้มีประชุม ก็ต้องสั่งไปตามหลักกฎหมาย คือ ด้วยนีติกรรม และตามหลักแล้ว ต้องสั่งทางมหาดไทย คือว่า ประธานสภาฯ เรียกไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะแก้มาตรานี้ ต้องให้เป็นรูปหนึ่งรูปใด

นายสงวน ตุลารักษ์ ถามว่า ในมาตรานี้ ถ้าหากว่า กษัตริย์ไม่ทรงเรียกประชุม จะมีโอกาสให้ประธานสภาฯ เรียกได้ไหม

หลวงเดชาติวงศ์ฯ กล่าวว่า เราไม่ต้องการจะให้ระส่ำระสาย เห็นว่า ควรจะหาทางใดทางหนึ่งซึ่งมิใช่เป็นไปในทางรัฐประหารอีก

หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า เพื่อให้รัฐธรรมนูญบังคับและรัดกุม ควรจะแก้เป็นว่า ท่านให้ประธานแห่งสภานำความกราบบังคมทูล รับสนองพระบรมราชโองการ

พระยาราชวังวันตอบว่า ที่จะทำเช่นนั้น ไม่ได้ เพราะประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจที่จะทำการบริหา รเห็นว่า จะต้องผ่านทางมหาดไทย ตัวอย่างในประเทศหนึ่ง เจ้าแผ่นดินไล่คณะเสนาบดีออก แล้วทรงเลือกตั้งบางคน สภานั้นเป็นคณะเสนาบดีเพื่อเรียกประชุม และเมื่อทำการประชุมแล้ว คณะเสนาบดีนั้นก็ออกไป เพื่อมิให้ผิดหลักของรัฐธรรมนูญ เห็นว่า จะเป็นวิธีแก้ได้

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ตามที่พระยาราชวังสันว่า จะโปรดเกล้าฯ ตั้งเสนาบดีขึ้นใหม่คณะหนึ่งนั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญของเรา ทำไม่ได้ เพราะในมาตรา ๕๑ มีว่า คณะกรรมการราษฎร (รวมทั้งเสนาบดี) ผู้ที่จะออกนั้น มี ๓ อย่าง คือ ตาย ลาออก สภาลงมติไม่ไว้ใจ ไม่ใช่พระราชอำนาจซึ่งในหลวงจะทรงให้ออกได้ ดั่งนี้ เมื่อคณะกรรมการราษฎรไม่เล่นด้วย สภาจะให้ออก ก็ไม่สำเร็จ และการที่จะเรียกประชุมผ่านทางมหาดไทยก็ไม่จำเป็น จึ่งเห็นว่า สภาเองจะมีหนังสือนัดไปเองก็ได้ ไม่ต้องผ่านมหาดไทย เพราะไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรซึ่งต้องอาศัยกรมการอำเภอและเจ้าเมืองดำเนินการ

พระประพิณฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓๓ นี้ ถ้าอ่านตามตัวอักษร ไม่ได้รับคำแปลแล้ว จะไม่เข้าใจดั่งว่า เพราะเป็นแต่ว่า ขอให้นำความกราบบังคมทูล ส่วนในมาตรา ๓๒ มีว่า พระเจ้าแผ่นดินเรียกประชุมได้ จึ่งอยากทำความเข้าใจไว้ เพราะการที่ว่าขอนั้น อาจจะให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ที่พระประพิณฯ ว่านั้น ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะตัวบทมีบ่งชัดว่า มีสิทธิ ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว ประธานสภาฯ หรือพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องทำให้ ปัญหามีเพียงว่า ใครจะเซ็นสั่งนัดประชุมสภา

หลวงแสงฯ กล่าวว่า ที่พูดกันมานี้แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง ในมาตรา ๓๓ มีแต่กล่าวว่า ให้ประธานของสภานำความกราบบังคมทูลขึ้นไป ใครจะเป็นผู้รับพระบรมราชโองการไม่ปรากฏ เป็นปัญหาว่า จะพระราชทานพระบรมราชโองการมากับใคร อีกประการหนึ่ง ถ้าท่านไม่โปรดเสียเลย จะทำอย่างไร ฉะนั้น ควรใส่ว่า ให้ประธานของสภานำความกราบบังคมทูล รับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อบัญญัติเช่นนี้ เป็นการบังคับอยู่ในตัวว่า พระเจ้าอยู่หัวจะต้องพระราชทานมากับประธานสภาฯ แล้วตัดคำว่า ขึ้นไป ข้างท้ายออก

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ถ้าจะให้แก้แล้ว ควรจะเติมอย่างนี้ คือ เติมในบรรทัดสุดท้าย ขีดคำว่า ขึ้นไป ออก แล้วเติมเป็นว่า กราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ

หลวงแสงนิติศาสตร์รับรอง

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า เพื่อให้เป็นการมัดให้แน่น ควรจะใส่ลงไปว่า ในหลวงจะต้องเซ็น

หลวงแสงฯ กล่าวว่า เท่าที่พูดให้เป็นที่เข้าใจ เห็นจะพอแล้ว เพราะถ้าท่านไม่กระทำจริงแล้ว จะไปมัดอย่างไรก็ไม่ได้

พระยานิติศาสตร์ฯ กล่าวว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญแล้ว ที่เกี่ยวกับในหลวง ย่อมไม่มี sanction เพราะจะไปฟ้องร้องยังโรงศาลไม่ได้ และแม้ว่าพระองค์ท่านไม่พอพระราชหฤทัยจะทรงทำให้แล้ว จะไปทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จตามทางกฎหมายแน่

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในที่นี้ก็เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า ประธานสภาฯ สั่งเรียกประชุม คือ รับพระบรมราชโองการ ที่จะไปใส่เช่นว่าแล้ว จะรุ่มร่ามไป

นายจรูญ สืบแสง รับว่า เข้าใจ

นายบรรจง ศรีจรูญ เสนอว่า เพื่อให้ความเข้ากันกับมาตราอื่น คำว่า "ม่น้อยกว่า" ขอแก้เป็น "ไม่ต่ำกว่า"

หลวงประดิษฐ์ฯ รับรอง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า มาตรา ๓๓ ตามที่ได้ปรึกษากันมาแล้ว เมื่อไม่มีผู้ใดติดใจทักท้วงอีก ก็ขอให้ลงมติต่อไป ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกทั้งหมดเห็นชอบ เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๓๓ ดั่งที่ได้แก้ไขมานั้น

มาตรา ๓๔–๓๕ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๓๔ นี้ มีความว่า "ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ใดจะฟ้องสมาชิกแห่งสภาในทางอาชญา ท่านว่า ศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อน จึ่งพิจารณาได้ แต่การพิจารณาคดีนั้นต้องมิให้เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุม

อนึ่ง การพิจารณาที่ศาลได้กระทำไปก่อนที่มีคำอ้างว่า ผู้ต้องหาว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ท่านว่า เป็นอันใช้ได้" และในมาตรานี้ วรรค ๒ คำว่า "ก่อนที่มี" นั้น ขอตัดคำว่า 'ที่' ออก คงอ่านว่า ก่อนมี และคำว่า "ผู้ต้องหาว่าเป็นสมาชิก" ตัดคำว่า "ว่า" ออก คงอ่านเป็นว่า "ผู้ต้องหาเป็นสมาชิก"

นายจรูญ สืบแสง ถามว่า ถ้าเป็นในระหว่างสมัยประชุมวิสามัญ สมาชิกจะถูกฟ้องไหม?

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า เราใส่ไว่นั้นว่า สมัยประชุม ซึ่งจะเป็นสมัยประชุมสามัญหรือวิสามัญก็สุดแต่การ และที่ใส่ไว้เช่นนั้น ก็ปรารถนาว่า การประชุมสภาเป็นการประชุมใหญ่ยิ่งของประเทศ จึ่งต้องให้สมาชิกได้มาเข้าประชุมได้ เพราะถึงคราวประชุม อาจจะมีการแกล้งกับจับไปคุมขังด้วยเหตุใดก็ได้ ฉะนั้น สมาชิกนั้นก็จะมาประชุมไม่ได้ เพื่อกันความดั่งว่านี้ จึ่งกำหนดขอให้บรรเทาการที่จะพิจารณาไว้ก่อน เพราะว่า ประโยชน์และธุระของสภาใหญ่ยิ่งกว่า แต่มิใช่ว่า เมื่อสิ้นธุระของสภา สมาชิกผู้นั้นจะหลุดพ้นความรับผิดชอบก็หาไม่ ฉะนั้น เมื่อไปทำผิดอะไรไว้ ตนก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายบ้านเมือง และในที่นี้ ขอรวมพูดถึงมาตรา ๓๕ ด้วย เพราะเป็นข้อความเช่นเดียวกัน ในมาตรา ๓๕ มีความว่า "ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับหรือหมายเรียกตัวสมาชิกไปกักขัง เว้นไว้แต่จับในขณะกระทำผิด แต่ต้องรีบรายงานไปยังประธานแห่งสภา ประธานแห่งสภาอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการกักขังได้" ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับที่ได้อธิบายมาแล้ว

นายสงวน ตุลารักษ์ ถามว่า ในมาตรา ๓๕ นี้ ให้อำนาจแต่ฉะเพาะประธานของสภาที่จะสั่งปล่อย แต่ถ้าหากว่า ประธานของสภาไม่อยู่ ความข้อนี้จะหมายถึงด้วยหรือเปล่า และทั้งรองประธานก็ไม่มาด้วย

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในที่นี้ มิได้หมายถึง ประธานที่ ๆ ประชุมสภาจะตั้งแต่งขึ้นฉะเพาะเวลาประชุมดั่งที่ถามมานั้น

นายจรูญ สืบแสง ถามว่า จะรายงานไปที่สภาหรือว่าที่บ้าน ถ้ารายงานไปที่บ้าน อาจจะไม่ทำให้สมาชิกรู้ทั่วกัน

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในการที่จะรายงานนั้น เมื่อประธานของสภาอยู่ที่ไหน ก็ให้รายงานไปที่นั่น

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดอภิปรายอีกต่อไปสำหรับมาตรา ๓๔ และ ๓๕ นี้แล้ว ก็จะให้ลงคะแนนต่อไป ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกทั้งหมดเห็นชอบตามร่างที่ได้พิจารณา เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๓๔ และ ๓๕ นั้นให้ใช้ได้

มาตรา ๓๖ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๓๖ นี้ มีความว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ราษฎรเลชือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีให้ยุบสภาเช่นนี้ ต้องมีกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกภายในเก้าสิบวัน" นั้น บรรทัดที่ ๓ คำว่า "มีการ" ขอตัดออก ครั้นแล้ว กล่าวว่า ความสำคัญในมาตรานี้ คิดว่า อยู่คำที่ว่า "พระราชกฤษฎีกา" คือว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาได้ แต่ว่า ในการยุบนี้ จะต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกานั้นก็ต้องนำผ่านคณะกรรมการราษฎร และการยุบสภานั้นก็มาจากคณะกรรมการราษฎรนั่นเอง

พระประพิณฯ กล่าวว่า ที่จะพูดต่อไปนี้ เพื่อถามความเข้าใจ เช่นว่า มีมาตราหนึ่งกล่าวว่า คณะกรรมการราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงเลือกเอาจากสมาชิกของสภา แล้วทรงตั้งขึ้น ทีนี้ว่า สั่งยุบ ก็สั่งด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการราษฎร สมมตว่า สมาชิกในสภาไม่มีขัดข้อง ในทางการก็เป็นการสะดวกดี แต่ถ้าเกิดเหตุซึ่งสภาเห็นว่า คณะกรรมการราษฎรยุ่ง ตั้งใจจะโว๊ตความไม่ไว้วางใจ ดั่งนี้ ก็อาจเป็นได้ว่า ทางหนึ่งสั่งยุบ ทางหนึ่งจะโว๊ตความไม่ไว้วางใจ จะทำอย่างไรเมื่อเกิดกะทบกันดั่งนี้ จึ่งขอซ้อมความเข้าใจในข้อนี้

ประธานอนุกรรมการราษฎรกล่าวว่า ความในข้อนี้เป็นข้อหนึ่งที่ฝั่งเขาชมรัฐธรรมนูญของเรามาก คือว่า เครื่องมือของสภาที่จะประหารคณะกรรมการราษฎร ก็คือ โว๊ตความไม่ไว้วางใจ ส่วนเครื่องมือของคณะกรรมการราษฎร ก็คือ อำนาจในการที่จะสั่งยุบสภา คือว่า จะทำอะไรตามชอบใจไม่ได้ การที่สั่งยุบสภานั้น ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ภายใน ๙๐ วัน และในการที่ยุบแล้วนี้ คณะกรรมการราษฎรก็จะไปทำอะไรตามใจไม่ได้ ส่วนสมาชิกผู้ที่อยู่ในสภาที่ถูกยุบนั้นแล้ว ก็จะพากันไปบอกพวกพ้องว่า ตัวได้ถูกยุบมา ก็พยายามหาหนทางเข้ามาทำการ against ซึ่งกันและกัน ฉะนั้น จึ่งให้มีการถ่วงคุมซึ่งกันและกันไว้

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรานี้ ถ้าไม่มีผู้ใดขัดข้องแล้ว ก็จะขอให้ลงมติต่อไป ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า สภาลงมติรับรองในมาตรา ๓๖ ดั่งที่พิจารณามาแล้วให้ใช้ได้

มาตรา ๓๗ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรานี้ มีความว่า บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลายจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและ "ยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร" ในมาตรานี้ มีสมาชิก คือ พระสุธรรมฯ ได้เสนอญัตติขึ้นมาว่า ควรจะมีบัญญัติเรื่องการทำงบประมาณไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย อันที่จริง เรื่องที่จะบัญญัติลงไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ก็ได้เคยคิดมาแล้วเหมือนกัน แต่เห็นว่า มีพระราชบัญญัติอยู่แล้วฉะบับหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า งบประมาณประจำปีนั้นให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อเช่นนี้แล้ว การออกพระราชบัญญัติก็ต้องผ่านสภาอยู่เอง เพราะฉะนั้น รายได้รายจ่ายทั้งหลายประจำปีของรัฐบาลปีหนึ่ง ๆ จะต้องอยู่ในความรู้ความเห็นและควบคุมของสภาอยู่แล้ว เพราะเป็นพระราชบัญญัติ จึ่งคิดว่า ไม่ต้องใส่ลงไปก็ได้ แต่ว่า เมื่อได้รับคำเสนอขึ้นมาควรมีข้อความนี้ จึ่งได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า จะใส่ลงไว้ก็ได้ ในรัฐธรรมนูญของบ้านอื่นเมืองอื่นเขาก็มีว่า งบประมาณประจำปีให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ แตถ้าหากว่า ตกลงกันไม่ได้ในสภาจนผ่านประจำปีนั้นไปแล้ว ให้ใช้งบประมาณเก่าไปพลาง ความข้อนี้สำคัญอยู่ เพราะว่า งบประมาณประจำปีจะต้องทำให้เสร็จ ถ้าหากว่า ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ก็ยังไม่เสร็จแล้ว ก็ต้องเอางบประมาณเก่าออกใช้อีก เพราะว่า ราชการนั้นจะอยู่นิ่งมิได้ จะต้องเดิรไปเสมอประดุจนาฬิกา และเสนาบดีคลังจะไปจ่ายเงินโดยไม่มีพระราชบัญญัติก็ต้องมีความผิด เมื่อเช่นนั้น อนุกรรมการจึ่งเห็นว่า ตามที่สมาชิกเสนอมานั้น ตกลงจะใส่ลงไว้ในมาตรา ๓๗ นี้เป็นวรรคที่ ๒ อ่านเป็นว่า "งบประมาณประจำปีแห่งรัฐนั้น ท่านว่า ต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าและพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ท่านให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง" คือ หมายความปีที่กำลังว่ากันอยู่นั้น

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดทักท้วงแล้ว ก็ขอถามความเห็นที่ประชุม ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกทั้งหมดมีความเห็นพ้องตามข้อความที่ได้เติมขึ้นใหม่ทั้งความเก่าที่มีอยู่แล้ว เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองมาตรา ๓๗ ดั่งที่ได้พิจารณากันมาแล้วนั้น

มาตรา ๓๘ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๓๘ นี้ มีความว่า "เมื่อสภาผู้แทนราาฎรได้ร่างพระราชบัญญัติขึ้นสำเร็จแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการราษฎรนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ท่านให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้" ซึ่งความในมาตรานี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เห็นจะไม่มีปัญหาอะไรพิเศษ

หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า ในบรรทัดแรก ที่ว่า "เมื่อสภาผู้แทนได้ร่างพระราชบัญญัติขึ้น" นั้น อันที่จริง สภามิได้เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติเป็นแต่ลงมติฉะบับนั้น ควรจะเติมความลงไปว่า สภาลงมติ

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า พระราชบัญญัติที่สภาพิจารณานั้นยังเป็นร่างอยู่ ต่อเมือ่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึ่งจะเป็นตัวพระราชบัญญัติ

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญของเรา ไม่บังคับว่า ผู้ใดร่าง ในบางแห่ง เขาบอกไว้ว่า มี ๓ ทาง คือ พระเจ้าแผ่นดิน รัฐบาล และสภา แต่ในที่นี้ เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าว เพราะสภาอาจจะร่างก็ได้ ส่วนที่ว่า สภามิได้ร่างเลยนั้น ก็เห็นจะเป็นแต่ในขณะนี้ ส่วนเวลาต่อไปข้างหน้านั้น อาจ(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)ร่างพิจารณาเองก็ได้

นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ตามนโยบายแห่งมาตรา ๓๘ นี้ แปลว่า ในเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแล้ว เมื่อประกาศใช้ในราชกิจจาฯ ก็ให้เป็นอันใช้ได้ อยากจะเรียนถามว่า ตามที่เคยปฏิบัติมา ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ เราระบุเวลาว่า ใช้เมื่อนั้นเมื่อนี้ ฉะนั้น ในรัฐธรรมนูญนี้ ก็น่าจะใส่ลงไว้เสียด้วย

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ตามที่ว่านั้น เราจะบัญญัติลงไว้ในที่นี้ไม่ได้ เพราะกฎหมายทุกฉะบับได้ระบุว่า ให้ใช้เมื่อนั้นเมื่อนี้อยู่ในตัวพระราชบัญญัติแล้ว ส่วนรัฐธรรมนูญนี้เป็นแต่ว่า เมื่อได้ประกาศในราชกิจจา แล้ว ก็ใช้ได้ ส่วนกำหนดที่จะใช้บังคับนั้นอยู่ในตัวพระราชบัญญัติแล้ว ประการหนึ่ง พระราชบัยญัติบางอย่าง เมื่อประกาศ ก็ใช้ได้ทันที บางอย่างก็ ๓ เดือน ๖ เดือน หรือปีหนึ่งบ้าง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งฯ เป็นต้น จึ่งเห็นว่า จะให้บัญญัติไว้ในที่นี้ไม่ได้

ประธานของสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓๘ นี้ ถ้าไม่มีผู้ใดอภิปรายอีก ก็จะได้ลงมติต่อไป จึ่งถามความเห็นที่ประชุม ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกส่วนมากเห็นชอบตามร่างที่เสนอ เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๓๘ ว่า ใช้ได้

มาตรา ๓๙ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๓๙ นี้ มีความว่า "ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันประธานคณะกรรมการราษฎรนำทูลเกล้าฯ ถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี สภาจะต้องปรึกษากันใหม่ และออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีเรียกชื่อ ถ้าและสภาลงมติตามเดิมไซร้ ท่านให้นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสิบห้าวัน ท่านให้ประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้" ในมาตรานี้ ขอเติมคำว่า "แล้ว" ต่อท้ายคำว่า "สิบห้าวัน" ในบรรทัดที่ ๘ แห่งมาตรานี้

พระยาอนุมานราชธนกล่าวว่า ในมาตรานี้ ได้เสนอญัตติข้อสงสัยไว้ แต่บัดนี้ ไม่ติดใจแล้ว ขอถอน

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า อยากจะแสดงความหมายต่อที่ประชุมว่า ที่ได้มีมาตรานี้ ก็เพราะเหตุว่า รัฐธรรมนูญบ้านใดเมืองใดในโลกนี้เขามีข้อความทำนองนี้ทุกแห่ง และเหตุผลทำไมจึ่งมีข้อความดั่งนี้ก็ดั่งที่ได้เรียนไว้แล้วว่า หลักในธรรมนูญทุกแห่ง ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่ว่าดีหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่การถ่วงหน่วงเหนี่ยวซึ่งกันและกันในอำนาจต่าง ๆ ว่าพอเพียงหรือไม่ ถ้าแม้ว่าพอเพียงแล้วก็นับว่าดี และเหตุใดจึ่งต้องมีเช่นนั้นเข้าใจว่า จะทราบกันแล้ว ในเมืองอื่นที่เขามีสองสภา เช่น สภาล่าง สภาบนนั้น วิธีดำเนิรการก็ต้องจากล่างไปบน แล้วจึ่งถึงพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนของเรานั้นมีเพียงสภาเดียว ก็ยิ่งต้องการ เพื่อแสดงให้คนทั้งหลายเห็นในอันจะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ว่ากิจการใดต่างฝ่ายจะวิ่งไปโดดเดี่ยวนั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึ่งต้องมีเครื่องจักร์คอยหน่วงเหนี่ยวกัน สำหรับการที่นำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนี้ ถ้าพระองค์ท่านไม่เห็นด้วย ก็จะระงับไว้เดือนหนึ่ง แล้วเรามาดำริกันอีกครั้งหนึ่งในร่างตามที่ได้ถวายไป เมื่อเห็นตามเดิมแล้ว ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกทีหนึ่ง คราวนี้ แม้พระองค์ท่านไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะระงับหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ ๑๕ วัน และถ้าไม่พระราชทานลงมา เราก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ เพราะฉะนั้น ถ้าแม้ที่ประชุมรับว่า ควรจะมีการหน่วงเหนี่ยวรั้งและถ่วงซึ่งกันและกันแล้ว ก็พิจารณาต่อไปว่า การเหนี่ยวรั้งซึ่งมีอยู่นี้พอเพียงหรือไม่ ซึ่งจะอยู่ในความวินิจฉัยแห่งที่ประชุม

หลวงอรรถสารประสิทธิ์ถามว่า ถ้าเกิดการด่วน จะทำอย่างไร

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในเรื่องนั้น มีอีกมาตราหนึง อยู่ในเรื่องบริหาร คือ มาตรา ๕๒

หลวงอรรถสารประสิทธิ์กล่าวว่า ในมาตรา ๕๒ นั้น เป็นบทที่ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ ทีนี้ ถ้าหากว่าท่านไม่อนุมัติ จะทำอย่างไร

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า ที่พูดมานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวแก่เรื่อง emergency ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับมาตรานี้

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ที่หลวงอรรถสารฯ ถามนั้น เข้าใจว่า ถามว่า ถ้าแม้เป็นกฎหมายที่ด่วน ซึ่งจำเป็นจะต้องประกาศภายในไม่ถึงเดือนครึ่งเช่นนั้นแล้ว เราจะมีวิธีทำประการใดบ้าง เพราะในที่นี้ อย่างน้อยต้องเป็นเดือนครึ่ง ส่วนในมาตรา ๕๒ นั้น เป็นคนละเรื่องที่ว่า เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ในหลวงออกกฎหมายได้ ฉะนั้น จึ่งอยากไขความให้แจ้ง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ถ้าหากจะไปใส่ไว้แล้วหน่วงเหนี่ยวก็จะไม่ดีเลย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า วิธีแก้มิได้อย่างนี้ ในมาตรา ๕๒ เราให้อำนาจพระมหากษัตริย์ ซึ่งในที่นี้คือ กรรมการราษฎรทำขึ้นไปในการที่จะออกบทกฎหมายเมื่อเห็นสมควร สำหรับที่หลวงธำรงฯ สงสัยนั้น คือว่า ถ้าสมาชิกสภามีความประสงค์จะให้มีกฎหมายเชนนั้นแล้ว ก็ไปบอกแก่คณะกรรมการราษฎรขอให้ออกพระราชกำหนดความประสงค์ ถ้าคณะกรรมการราษฎรเห็นสมควร ก็จะออกให้ทันที แต่ถ้าไม่เห็นสมควร คณะกรรมการราษฎรก็จะงดเสีย แต่การงดนี้ จะต้องมีเหตุผล เมื่อไม่มีเหตุผล ก็เรียกประชุมสภา เรียกตัวคณะกรรมการราษฎรมาสอบถามมูลเหตุได้ ถ้าเห็นว่า ไม่สมควร จะโว๊ตความไม่วางใจเสีย ก็ทำได้ เป็นทางแก้ขัดข้อง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตามร่างที่พิจารณามานี้ เมื่อไม่มีผู้ใดจะอภิปรายต่อไปอีกแล้ว ขอให้ลงมติต่อไป ไม่มีผู้ใดคัดค้าน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบตามร่างที่เสนอ เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๓๙ ดั่งที่ปรึกษาพิจารณามานั้น

เลิกประชุมเวลา ๑๓ นาฬิกาเพื่อพักรับประทานอาหารกลางวัน และกำหนดประชุมใหม่ในตอนบ่ายเวลา ๑๔ นาฬิกา

หลวงคหกรรมบดี
นายปพาฬ บุญ-หลง
นายสิงห์ กลางวิสัย
 ผู้จดรายงานการประชุม
ตรวจแล้ว
พญ. พระวุฒิศาสตร์
ปรีชานุสาสน์
 ๖ ธันวา ๗๕
นิติศาสตร์
 นายมังกร สามเสน
 จรูญ ณบางช้าง

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

บรรณานุกรม แก้ไข

  • สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 37/2475 วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"