รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 39/2475

รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๓๙
(สมัยสามัญ)
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๓๙/๒๔๗๕
ญัตติของคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาตั้งแต่มาตรา ๕๒ ถึง ๖๐
๕๒๒–๕๔๓

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๓๙/๒๔๗๕
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ตอนเช้า)
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เริ่มประชุมเวลา ๑๐.๑๕ น.

สมาชิกมาประชุม ๕๗ นาย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้ จะได้ปรึกษาต่อไปจากที่ได้พิจารณามาแล้วแต่วานนี้ และขอให้เปลี่ยนภาวะที่ประชุมเป็นอนุกรรมการเต็มสภาด้วย

มาตรา ๕๒ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า วันนี้ เราจะได้ปรึกษาด้วยมาตรา ๕๒ ต่อไป ในมาตรานี้มีความว่า "ในโอกาสฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ท่านให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภาไม่อนุมัติไซร้ พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

คำอนุมัติและไม่อนุมัติของสภาอันกล่าวนี้ ท่านว่า ให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ" และได้กล่าวต่อไปว่า ความประสงค์ของมาตรานี้ คือว่า ในปีหนึ่ง สภาไม่ได้ประชุมกันทุกวัน แต่ว่า ในการบริหารราชการนั้น ต้องเดิรอยู่ทุกวัน จะเฉยมิได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นขึ้นที่จะต้องออกกฎหมายบังคับเพื่อกิจการใดการหนึ่งแล้ว แต่สภามิได้ประชุมกัน และกฎหมายจำเป็นต้องออก ก็จะเกิดขัดกันขึ้น เพราะฉะนั้น จึ่งบัญญัติช่องทางไว้เพื่อความสะดวกในราชการ คือ มีทางที่จะออกกฎหมายบังคับได้ คำว่า "พระราชกำหนด" ในมาตรานี้ หมายความว่า กฎหมายที่ออกโดยคณะกรรมการราษฎรกับพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้นำผ่านสภาผ่อน เพราะฉะนั้น จึ่งเปลี่ยนชื่อเสีย แต่ที่จริงนั้น การออกฎหมายนั้นเป็นอำนาจฉะเพาะเจาะจงของสภา หากว่าความจำเป็นบังคับ ก็ต้องให้มีไปชั่วคราว ครั้นเมื่อสภาประชุมกันเข้าแล้ว จะต้องเอาพระราชกำหนดนั้นมาเสนอ เพื่อสภาจะได้ตรวจพิจารณาว่า จะควรอนุมัติหรือไม่ คือว่า จะเห็นสมควรหรืออย่างไร ถ้าหากว่า เห็นชอบ พระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติใชับังคับได้ต่อไป ถ้าไม่เห็นด้วย ก็เป็นอันตกไป ด้วยความประสงค์อย่างนี้ จึ่งบัญญัติมาตรานี้ไว่ และทั้งเป็นข้อที่รัฐธรรมนูญนานาประเทศมีอยู่ด้วยเหมือนกัน

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในการที่จะพูดต่อไปนี้ ความประสงค์ก็เพื่อแก้ไขถ้อยคำบางคำให้สละสลวยขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น ในมาตรา ๕๒ นี้ ขอแก้ไขเพิ่มความ ดั่งนี้ บรรทัดแรก คำว่า "ในโอกาสฉุกเฉิน" แก้เป็น "ในเหตุฉุกเฉิน" วรรค ๒ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "พระราชกำหนดนั้นเป็น" แก้เป็น "พระราชกำหนดนั้นก็เป็น" บรรทัดที่ ๔ คำว่า "กำหนดนั้นเป็น" แก้เป็น "กำหนดนั้นก็เป็น" และในวรรคสุดท้าย คำว่า "ของสภาอันกล่าวนี้" แก้คำว่า "อัน" เป็น "ที่" ให้อ่านว่า "ของสภาที่กล่าวนี้"

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ที่แก้นี้ ไม่ขัดข้อง

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ตามความในวรรค ๒ แห่งมาตรานี้ ตามความเข้าใจ ไม่มีข้อแสดงให้เห็นว่า ในคราวประชุมต่อไปแล้ว พระราชกำหนดซึ่งออกในเหตุฉุกเฉินจะต้องรีบนำเสนอต่อสภาดั่งที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราว มาตรา ๒๙ ฉะนั้น จึ่งมีความประสงค์ว่า ควรเติมคำว่า "รีบ" ในที่นี้ ความประสงค์จะให้เติม เพราะเหตุว่า ข้อความในตอนท้ายในวรรคนี้กล่าวว่า ถ้าแม้พระราชกำหนดนี้สภาไม่อนุมัติก็เป็นอันตกไปก็ดี ก็ไม่กะทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชบัญญัตินั้น ก็เมื่อเช่นนี้ พระราชกำหนดก็มีหนทางที่จะตกไปได้ และถ้าแม้ตกไป เราปล่อยให้ล่วงเลยไว้นาน จะทำให้เสียประโยชน์ของประชาชนได้

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ตามที่หลวงธำรงฯ พูดนั้น อนุกรรมการก็ได้พิจารณาดูแล้วเหมือนกัน เห็นว่า ไม่จำเป็น แต่ถ้าจะใส่ลงไป ก็ไม่ขัดข้องอย่างใด เพราะบางประเทศ ในรัฐธรรมนูญของเขา เขาก็ใส่ลงไปแน่นอนว่า ในการประชุมต่อไป ต้องเอาพระราชกำหนดที่ออกไปแล้วมาเสนอก่อนทีเดียว ไม่ให้ทำอื่น แต่ในเรื่องนี้ เราจะทำไว้ในระเบียบการหรือให้เป็นธรรมเนียมก็ได้ เพราะเหตุว่า การของเรายังไม่แน่นอนว่าอะไรเป็นอะไรอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เราจะตั้งกรรมการอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วสำหรับทำการพิเศษ หากว่าใส่ลงไว้เช่นนี้ อาจจะติดขัดได้ เพราะบางทีอาจจะมีงานอื่นของเราซึ่งด่วนกว่าพระราชกำหนดนั้นก็ได้ ถ้าจะเอาพระราชกำหนดมาเสนอก่อน ก็จะไม่สะดวก จึ่งเห็นว่า ทำอย่างที่ให้เป็นธรรมเนียมหรือไว้ในระเบียบ ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงผลอย่างไร

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า คำว่า "รีบ" ในที่นี้ หมายความว่า ในโอกาสที่สภาจะทำได้ ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นครั้งแรก แต่หมายความว่า ในโอกาสแรกที่สภาจะทำได้ จะต้องรีบนำมาเสนอ มิฉะนั้น จะทำให้เสียประโยชน์ของประชาชน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ตามที่หลวงธำรงฯ เสนออยากจะให้เติมคำว่า "รีบ" ลงไปนั้น ความจริง ถ้าจะใส่ไว้ในระเบียบของสภา ซึ่งเวลานี้ได้ตั้งอนุกรรมการย่อยไปทำอยู่แล้ว จะเหมาะกว่า คือ เวลาจะเปิดมีการประชุม ก็จำเป็นว่า จะต้องมีระเบียบวาระประชุมว่า สภาจะทำอะไรบ้าง ถ้าเห็นว่า สิ่งใดที่ด่วนกว่าพระราชกำหนดแล้ว ก็จะต้องเอาออกมาปรึกษาพิจารณากันก่อน เมื่อเสร็จแล้ว ในวันต่อไปก็จะเอาพระราชกำหนดนั้นมาเสนอทันที แต่ว่า ถ้าหากไม่มีอะไรที่ด่วนและสำคัญไปยิ่งกว่าพระราชกำหนดนั้นแล้ว ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องนำพระราชกำหนดมาเสนอสภาก่อนอื่น จึ่งเห็นว่า ตามที่หลวงธำรงฯ เสนอนั้น จะแก้ด้วยให้ใส่ไว้ในระเบียบการของสภาจะเหมาะกว่า

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ขัดข้อง ละขอถอนญัตติ

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๕๒ นี้ ได้มีแก้ไขถ้อยคำบ้าง และคงอ่านได้ความว่า "ในเหตุฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ท่านให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภาไม่อนุมัติไซร้ พระราชกำหนดนัน้ก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

คำอนุมัอิและไม่อนุมัติของสภาที่กล่าวนี้ ท่านว่า ให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ" ฉะนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดทักท้วงแล้ว ก็ขอให้รับรองต่อไป

ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๕๒ ดั่งกล่าวนั้น

มาตรา ๕๓ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า มาตรา ๕๓ มีความว่า "พระมหากษัตริย์ทรงประกาศใช้กฎอัยยการศึกตามลักษณและวิธีการในพระราชบัญญัติกฎอัยยการศึกนั้น" ขอแก้คำว่า "นั้น" ข้างท้ายออก

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรานี้ ก็เห็นจะไม่มีปัญหา ความชัดแล้ว ฉะนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดทักท้วงแล้ว ขอให้ลงมติ สมาชิกทั้งหมดมีความเห็นชอบตามร่างแห่งมาตรานี้ เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๕๓ ภายหลังที่ได้ตัดคำว่า "นั้น" ออก

มาตรา ๕๔ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๕๔ นี้ มีความว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่น ๆ กับนานาประเทศ

การประกาศสงครามนั้น จะทำได้ก็แต่ไม่ขัดกับบทบทบังคบแห่งกติกาสันนิบาตชาติ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยาม หรือที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่า จะต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรก่อน จึงจะเป็นอันใช้ได้"

เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์เสนอว่า ในวรรค ๒ แห่งมาตรานี้ ซึ่งมีความว่า "การประกาศสงครามนั้น จะทำได้ก็แต่ไม่ขัดกับกฎบังคับแห่งกติกาสันนิบาตชาติ" นั้น เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะอยู่ในรัฐธรรมนูญถาวร เพราะว่า เมื่อเราจะประกาศสงครามแก่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้าเราเป็นสมาชิกอยู่ในสันนิบาตชาติ เราก็ต้องปฏิบัติตามบัญญัติของสันนิบาตชาติอยู่เองแล้ว

พระยาประเสริฐสงคราม กับนายจรูญ ณบางช้าง รับรอง

หลวงแสงนิติศาสตร์ และนายเนตร พูนวิวัฒน์ รับรอง และกล่าวว่า ญัตตินี้ได้นำเสนอไว้แล้วเหมือนกัน

(ในการปรึกษาความในวรรคนี้ ได้มีอภิปรายกันมากมาย แต่สภาได้ลงมติไม่ให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุม สมาชิกแห่งสภาได้มีความเห็นแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง ความว่า ให้คงวรรคนี้ไว้ อีกอย่างหนึ่ง เห็นว่า ควรจะตัดออกเสียทั้งหมด และภายหลังที่ได้โต้เถียงกันแล้ว นายเนตร พูนววัฒน์ ว่า เท่าที่ได้ฟังคำชี้แจงแล้ว พอใจ ถ้าแม้จะคงความไว้ด้วยเหตุผลที่กล่าวในการโต้เถียงนั้นแล้ว ก็ควรจะแก้ไขถ้อยคำเสียบ้าง เช่น คำว่า "บทบังคับ" ควรจะแก้เป็นว่า "หลักการ")

นายประยูร ภมรมนตรี กล่าวว่า ถ้าจะแก้แล้ว เห็นว่า ควรจะเป็นคำว่า "บทบัญญัติ" ดีกว่า "หลักการ"

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า แม้ว่าจะแก้แล้ว ควรจะเป็นดั่งนี้ "การประกาศสงครามนั้น จะทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตชาติ"

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในการจะแก้ถ้อยคำนั้น ไม่ขัดข้อง

ประธานสภาฯ จึ่งถามความเห็นของผู้ที่เสนอญัตติและรับรองไว้ในวรรคนี้

นายจรูญ ณบางช้าง ขอให้ลงแนนลับ

หลวงแสงนิติศาสตร์รับรอง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ความสำคัญที่เป็นปัญหาอยู่ในที่นี้มีว่า นายจรูญ ณบางช้าง กับหลวงแสงฯ ประสงค์จะให้ตัดความในวรรค ๒ นี้ออก ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ขอให้ที่ประชุมลงคะแนนลับ อีกข้อหนึ่งนั้น มีว่า จะขอแก้ไขถ้อยคำเท่านั้น ฉะนั้น ในชั้นแรก ขอให้ที่ประชุมลงคะแนนลับก่อน ต่อเมื่อปรากฏว่า คะแนนข้างที่จะให้คงวรรคนี้ไว้มาก จึ่งค่อยพิจารณาและลงคะแนนแก้ไขถ้อยคำอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าผู้ใดเห็นว่า ควรจะตัดความออกทั้งหมดแล้ว ขอให้จับคะแนนโว๊ตสีเขียว ถ้าเห็นว่า จะให้คงไว้แล้ว ขอให้จับคะแนนโว๊ตสีขาว ผลที่สุด ที่ประชุมลงมติ มีสมาชิกลงคะแนนสีขาว ๔๔ สีเขียว ๑๔ เป็นอันว่า ที่ประชุมให้คงความตามเดิมไว้

ส่วนการแก้ไขถ้อยคำนั้น สมาชิกส่วนมากเห็นชอบตามที่หลวงประดิษฐ์เสนอ เป็นอันว่า ความในวรรค ๒ แห่งมาตรา ๕๔ อ่านดั่งนี้

"การประกาศสงครามนั้น จะทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตชาติ"

พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ถามว่า หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เห็นว่า จะทำขึ้นใหม่หรือจะแก้ไขของเก่าประการใด จะต้องนำมาผ่านสภาหรือไม่ เพราะดูความในวรรค ๓ แห่งมาตรานี้แล้ว ไม่ทราบว่า จะได้ความเพียงนั้น

พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า คำว่า "สัญญา" นั้น เราใช้โดยนัยกว้าง ๆ ไม่หมายฉะเพาะว่า สัญญาอันใด เช่น รวมทั้งสัญญาที่เรียกว่า Treaty อนุสัญญา (Convention) ความตกลง (Agreement) หรือ (Arrangement) ซึ่งประเทศเราอาจจะทำความตกลงกับนานาประเทศด้วย ความตกลงในที่นี้อาจจะมีข้อความเกี่ยวฉะเพาะการบริหารก็ได้ หรืออาจจะมีข้อความบัญญัติถึงอำนาจในทางนีติบัญญัติก็ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของสภา ส่วนสัญญาที่มีลักษณะเป็นการบริหารนั้น เช่น อาจจะมีความตกลงระวางระเบียบระวางประเทศว่า ถ้าแม้เวลาเรือรบเข้ามาในประเทศ จะให้มีระเบียบการรับรองเพียงใด นี่ก็เรียกว่า สัญญา หรือในทางที่เกี่ยวกับเขตต์แดนซึ่งเป็นการปกครอง เราก็อาจจะทำสัญญากับประเทศใกล้เคียงว่า ปีหนึ่งจะมีประชุมตำรวจรวมกันเพื่อปราบปรามผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น ซึ่งล่วนแต่มีลักษณะในทางบริหาร ส่วนสัญญาที่พาดพิงอำนาจนีติบัญญัติ สัญญาทางพระราชไมตรี นั้น เวลาทำ ถ้ามีบทบัญญัติที่พาดพิงถึงสิทธิและหน้าที่บุคคลอื่น อาจเกี่ยวถึงการเงินด้วย โดยเหตุนี้ สัญญานั้นเกินความถึงลักษณะการบริหาร และพาดพิงถึงนีติบัญญัติด้วย ถ้าจะวางบทบังคับลงไปไว้ว่า สัญญาจะมาเสนอต่อสภา ก็จะเป็นการขัดกัน และจะปะปนหน้าที่บริหารและนีติบัญญัติ โดยเหตุนี้ นานาประเทศจึ่งถือหลักสำคัญว่า สัญญาใดที่เกี่ยวกับนีติบัญญัติแล้ว จะต้องได้รับความเห็นชอบของสภา เช่นกับว่า จะเปลี่ยนแปลงบทกฎหมายที่จะให้เป็นไปตามสัญญา ก็ต้องได้รับความยินยอมจากสภา แต่ว่า สิ่งใดที่เกี่ยวกับแผนกบริหารแล้ว ก็เป็นของคณะกรรมการราษฎร โดยเหตุนี้ นานาประเทศจึ่งถือหลักสำคัญว่า นีติบัญญัติแล้ว จะต้องได้รับความเห็นชอบของสภา เพื่อกล่าวความสำคัญให้เด่นขึ้น มักจะกล่าวว่า สัญญาใดมีบทบัญญัติเป็นภาระในการเงินแห่งประเทศหรือเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ ก็ให้เสนอแก่สภา บางประเทศก็มีลง และที่เราบัญญัติไว้ในนี้ก็กินความถึงสัญญาทางพระราชไมตรีทุกฉะบับ ที่จะเว้นก็เกี่ยวแต่ฉะเพาะการบริหาร อนึ่ง การเจรจาสัญญานั้นเป็นหน้าที่การบริหารโดยแน่แท้ ถ้าแม้ว่าสภาจะเป็นผู้เจรจาสัญญาต่าง ๆ แล้ว ก็จะยุ่งยาก เพราะมีลักษณะดิลิเกตมาก มีข้อความบางประเทศซึ่งจะเจรจากันและเกี่ยวด้วยส่วนได้เสีย ฉะนั้น ในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ไม่มีบทบัญญัติที่จะให้สภาเจรจาสัญญา การเจรจาสัญญานั้นเป็นการบริหาร แต่ว่า สัญญานั้นจะต้องนำมาเสนอเพื่อความเห็นชอบของสภาก่อน และการที่นำมาเสนอนั้นมิใช่ว่าสภาจะพิจารณาถ้อยคำก็หาไม่ แต่ว่า พิจารณาถึงหลักการในสัญญ่ว่าจะเอาหรือไม่ มิใช่พิจารณาเป็นมาตรา ๆ ไป เพราะฉะนั้น ที่หลวงแสงฯ เสนอว่า สัญญาทุกประเถทจะต้องนำมาเสนอสภานั้น จะเป็นการขัดกับหลักปฏิบัติ

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า เรื่องทำสัญญานี้ ข้าพเจ้าได้โต้เถียงในอนุกรรมการแล้ว ชั้นแรก เห็นควรต้องเสนอสภาเพื่อสภาให้สัตยาบัน เพราะสัญญาเป็นเครื่องผูกพันธ์ระวางประเทศต่อประเทศ หาได้ผูกพันธ์เอกชนไม่ คือ เอกชนมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมายแห่งรัฏฐาธิปัตย์ตน คือ จะให้สัญญานั้นใช้ได้ถึงเอกชน จึ่งต้องเสนอสภาเพื่อออกพระราชบัญญัติให้สัตยาบัน แต่ท่านผู้ชำนาญกฎหมายอังกฤษว่า ในกฎหมายอังกฤษ สัญญาไม่ต้องเสนอสภา และอ้างเหตุจำเป็นอย่างสำหรับประเทศสยาม ข้าพเจ้าจึ่งยอมตาม และขอให้ร่างดั่งที่เสนอมานั้น เห็นว่า สมควรแล้ว และอนุกรรมการได้พิจารณากันมากแล้ว

หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า จริงอยู่ สัญญาอาจจะมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่น่าจะได้รับมติจากสภา แต่เห็นว่า สัญญาใดที่สำคัญแล้ว ควรจะต้องผ่านสภาดั่งความในวรรค ๓ ด้วย มิใช่แต่ฉะเพาะสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ และสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติ เช่น สัญญาที่ทำให้เกิดหนี้หรือภาระในเรื่องการคลัง นอกจากนี้ ยังมีสัญญาที่เราจะเสียหายแก่การยุทธศาสตร์ เช่น ในการที่จะอนุญาตให้คนอื่นสร้างทางรถไฟเข้ามาในพระราชอาณาเขตต์ เป็นต้น เพื่อว่า สภาจะได้มีโอกาสตรวจตราดูให้แน่นอน และป้องกันเสียหายมิให้เกิดขึ้น จึ่งเห็นว่า ควรต้องผ่านสภา

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า เท่าที่หลวงแสงฯ ชี้แจงถึงในเรื่องภาระติดพันในเรื่องการเงินนั้น ความจริง สัญญาที่เกี่ยวแก่การเงินนั้นไม่ใช่เป็นสัญญาระหว่างประเทศอะไรเลย เช่นว่า ทางคลัง จะต้องการกู้เงินเขา เราก็ออกใบบอนด์ทางโน้น แล้วต่อไป เราก็มาทำเป็นงบประมาณขึ้น และได้กล่าวแล้วว่า งบประมาณนั้นจะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ และในการที่กล่าวไว้เช่นนี้ ก็คิดว่า คลุมถึงแล้ว กล่าวคือ สิ่งใดที่เกี่ยวกับภาระ สิทธิ และหน้าที่บุคคล อันจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติแล้ว ก็ต้องนำเสนอสภา

นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ตามความในวรรคท้ายนี้ เห็นชอบแล้ว แต่อยากจะขอกล่าวว่า เท่าที่ได้สอบถามท่านผู้ที่มีความรู้ ซึ่งได้กรุณาอธิบายว่า ในเรื่องหนังสือสัญญานั้น ประเทศต่าง ๆ เขาทำกันอยู่เป็นสามอย่าง คือ ๑) สัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนานาประเทศ ต้องนำมาสู่สภาเพื่อวินิจฉัยทุกเรื่อง ๒) เลือกเอาฉะบับที่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ หรือที่จะต้องออกพระราชบัญญัติบังคับให้เป็นไปตามสัญญาเพื่อพลเมืองปฏิบัติตาม ๓) ไม่ต้องเสนอเลย และให้เป็นหน้าที่ทางบริหารทำ ทั้งสามอย่างนี้ เท่าที่ได้ยิน เห็นว่า ประเภทที่บัญญัติว่า สัญญาทุกชะนิดต้องเสนอต่อสภานั้น งานเดิรช้าลำบากที่สุด ส่วนที่หลวงแสงฯ กล่าวถึงการอนุญาตให้สร้างทางรถไฟนั้น เห็นว่า เรื่องเช่นนี้ควรจะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา เช่น พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินฯ เพื่อการอย่างหนึ่งที่เคยทำอยู่ จึ่งเห็นว่า ถ้อยคำที่อยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ในอำนาจสภาจะวินิจฉัยอยู่แล้ว

หลวงแสงฯ กล่าวว่า ตามที่หลวงประดิษฐ์ฯ พูดนั้น เข้าใจว่า โดยมาก สัญญาที่เป็นเรื่องสำคัญแล้ว จะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ฉะนั้น ขอให้บันทึกไว้เพื่อความเข้าใจในรายงานการประชุมด้วย ซึ่งรวมความว่า สัญญาใด ๆ ที่ทำให้เกิดหนี้ภาระติดพันในการคลังเงินของประเทศ สัญญาที่เกี่ยวกับอาณาเขตต์ เช่นนี้ จะทำเป็นพระราชบัญญัติ

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ใจความที่พูดก็เป็นเช่นนั้น และยิ่งกว่านี้แล้ว ถ้าสิ่งใดสำคัญ ไม่ลับลมคมนัยอันจะพึงได้พึงเสียประโยชน์ของประเทศแล้ว คณะกรรมการราษฎรก็ควรจะนำมาเจ้งให้สภาเพื่ออนุมัติตามบทบัญญัตินี้

พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า ในการที่จะบันทึกลงไว้ในรายงานตามที่หลวงแสงฯ กล่าวนั้น ไม่ขัดข้อง

ประธานสภาฯ อนุมัติให้บันทึกลงในรายงานได้

พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์กล่าวว่า เมื่อได้ฟังคำอธิบายแล้ว ก็หมดปัญหาสงสัย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๕๔ นี้ ถ้าไม่มีผู้ใดอภิปรายต่อไปอีก ก็ขอให้ลงมติรับรองตอ่ไป สมาชิกส่วนมากมีความเห็นชอบตามร่างที่ได้พิจารณา เป็นอันว่า ที่ประชุมรับรองมาตรา ๕๔ อันมีความตามที่แก้ไขใหม่ ดั่งนี้

"พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่น ๆ กับนานาประเทศ

การประกาศสงครามนั้น จะทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติกติกาสันนิบาตชาติ

หนังสือสัญญาใดมีบทบเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยาม หรือที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่า จะต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรก่อน จึ่งจะเป็นอันใช้ได้"

มาตรา ๕๕ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๕๕ นี้ มีความว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ"

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรานี้ ไม่มีปัญหาอะไร ความชัดแล้ว ถ้าไม่มีผู้ใดทักท้วง ก็ขอให้ผ่านไป สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๕๕

มาตรา ๕๖ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรานี้ มีความว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดกับกฎหมาย" และขอแก้คำว่า "กับกฎหมาย" ในท้ายมาตราเป็น "ต่อกฎหมาย" ในมาตรานี้ขออธิบายเพื่อความเข้าใจว่า กฎหมายใดที่เข้าสภา เรียกว่า พระราชบัญญัติ ส่วนคำว่า พระราชกฤษฎีกา นั้น หมายความว่า เป็นกฎหมายในแผนกบริหารที่มีพระราชบัญญัติให้ทำอยู่แล้ว เช่น การประกาศใช้พระราชบัญญัติชันสูตรพลิกศพซึ่งสภาได้เคยพิจารณามาแล้ว เป็นต้น กฎหมายเช่นนี้เรียกว่า Executive law ซึ่งควรจะทำได้เพื่อความสะดวกในทางบริหาร เพราะลักษณะของงานเป็นไปในทางนั้น

นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ตามบทนี้ คำว่า พระราชกฤษฎีกา ทำไมจะจำกัดได้ว่าแค่ไหน จำเดิม สภาเป็นผู้มีอำนาจออกกฎหมาย แล้วต่อมา พระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจออกกฎหมายได้ แต่ต้องมาเสนอสภา ครั้นในมาตรานี้ ท่านทรงออกพระราชกฤษฎีกา จะต้องมาเสมอสภาหรือเปล่า

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในการที่จะออกพระราชกฤษฎีกานี้ มีบทบังคับอยู่แล้วว่า จะทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

นายจรูญ ณบางช้าง ถามว่า จะแก้ความให้ชัดกว่านี้ไม่ได้หรือ

พระยาราชวังสันกล่าวว่า เราจะทำคำขึ้นใหม่เพื่อใช้สะดวก ของเก่านั้น พระราชกฤษฎีกาก็คือกฎหมาย ตอ่ไปนี้ จะทำบัญญัติขึ้นใหม่ คือว่า พระราชกฤษฎีกานั้นทำในสิ่งที่มีกฎหมายออกไว้แล้ว เช่น ประกาศต่าง ๆ ให้ใช้พระราชบัญญัติ

นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ถ้าไม่มีสิ่งใดอธิบายแล้ว จะทำให้เข้าใจผิด

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแถลงว่า ต่อไป จะเข้าใจผิดไม่ได้ ที่แล้วมาแต่ครั้งก่อน ถ้อยคำเราใช้ฟั่นเฝือ บางที สิ่งที่เกี่ยวกับนีติบัญญัติ เรียกเป็น พระราชบัญญัติ บ้าง พระราชกฤษฎีกา บ้าง พระราชกำหนด บ้าง และ ประกาศ บ้าง ฉะนั้น ต่อไป เราจะเรียกสิ่งที่อยู่ในนีติบัญญัติว่า พระราชบัญญัติ เท่านั้น ส่วนที่อยู่ในอำนาจทางบริหาร เราจะเรียกเป็น พระราชกฤษฎีกา และที่ว่า อันใดจะอยู่ในอำนาจนีติบัญญัติหรือบริหารนั้น จะได้พิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป จึ่งหวังว่า ต่อไป ปัญหาเช่นนี้คงจะไม่มีขึ้นได้

นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า เมื่อได้ฟังคำอธิบายเช่นนี้ เข้าใจว่า ต่อไป คณะกรรมการราษฏรจะได้พิมพ์คำชี้แจงอันเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้นเพื่อกันความเข้าใจผิด

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อหมดอภิปรายแล้ว ก็ขอให้ลงมติรับรองมาตรา ๕๖ นี้ต่อไป สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมสภารับรองความในมาตรา ๕๖ ดั่งที่ได้พิจารณามาแล้ว

มาตรา ๕๗ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เนื่องแต่เราได้แก้ความในมาตรา ๓๓ ฉะนั้น ในมาตรานี้ จึ่งขอแซกคำว่า "๓๓ และ" ลงข้างหน้าเลข ๔๖ กับเติมคำว่า "สนิง" ลงข้างหลังคำว่า "รับ" ในบรรทัดที่ ๓ เพราะความใน ๒ มาตรานี้กินความถึงกัน และคงให้อ่านมาตรา ๕๗ ดั่งนี้

"ภายในบทบังคับแห่งมาตรา ๓๓ และ ๔๖ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่า กรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ"

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า มีความสงสัยที่ว่า กรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งต้องลงนาม เห็นในอังกฤษ ผู้ที่จะเซ็นนั้น เรียกว่า "Respon-sible Minister" ซึ่งจะแปลเป็นไทย ก็คงเป็นคำว่า เสนาบดีเจ้าหน้าที่ จึ่งมีความเห็นว่า เราควรจะวางหลักการที่จะเซ็นรับสนองพระบรมราชโองการนั้นไว้ มิฉะนั้น บรรดาสิ่งที่มาจากในหลวง กรรมการราษฎรคนใด ๆ ก็เซ็นได้ ที่ปรากฏอยู่เวลานี้ ก็เป็นประธานคณะกรรมการราษฏรโดยมาก จะมีเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศบ้างก็บางเวลา แค่ทางที่ควร เช่น พระบรมราชโองการเกี่ยวแก่การลงโทษตามคำพิพากษา ควรให้เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมเซ็น ขอพระมหากรุณาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ที่ต้องคำพิพากษา ควรให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเซ็น ส่วนที่จะเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจะให้ประธานคณะกรรมการราษฎรเซ็น ก็สมควรอยู่ แต่เห้นว่า ราชการแผนกใดแล้ว เสนาบดีแผนกนั้นเซ็นชื่อรับผิดชอบ มิฉะนั้น การงานจะก้าวก่ายกันมาก ทั้งนี้ ก็เพราะเห็นว่า การงานอันเกี่ยวแก่นโยบายของประเทศนั้น ประธานคณะกรรมการราษฎรทำอยู่มากแล้ว ควรจะให้โอกาสท่านทำงานที่สำคัญ ๆ โดยให้คนอื่นแบ่งเบา เช่น กำกับการธรรมดา Rontine works ไปบ้าง ก็จะตรงกับหลักการที่ปฏิบัติกันในประเทศต่าง ๆ

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในคณะกรรมการราษฎรนั้น มีบทบัญญัติว่า ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ส่วนงานในหน้าที่นั้น ของใครก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ส่วนงานที่เกี่ยวแก่นโยบาย ก็ต้องรับผิดชอบรวมกัน ที่พระยานิติศาสตร์ฯ กล่าวนั้น ก็ไม่ผิดหลักการ แต่ถ้าจะเอาใส่ไว้ในที่นี้ ก็จะประเจิดประเจ้อ เห็นว่า ควรให้เป็นไปในทาง Practice จะดีกว่า และคงสะดวกดี และทั้งจะป้องกันการติดขัดในบางคราว สำหรับความรับผิดชอบร่วมกันในคณะกรรมการราษฎรนั้น มีอยู่แล้ว และไม่รู้สึกวิตกอะไรเลย

หลวงอรรถสารประสิทธิ์กล่าวว่า ตามที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า จะปล่อยไว้ให้เป็นธรรมเนียมนั้น ตามรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าหากว่า เลือกกรรมการราษฎรผิด ที่มีใจทุจจริต เอาอำนาจที่เป็นกรรมการราษฎรไปใช้ในทางทุจจริตแล้ว จะเป็นผลร้ายต่อประเทศได้ ฉะนั้น ควรจะมัดให้แน่น

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์รับรอง และว่า ขอสกิดให้สมาชิกดูความในมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยว่า ในมาตรานั้น ใช้ความว่า โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎร

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า ถ้าจะทำเช่นนั้น ไม่สะดวกต่อวิธีการเลย ส่วนการที่จะเลือกคนผิดนั้น ไม่ปฏิเสธ แต่เราได้ตัดสินใจแล้วว่า ความรับผิดชอบนั้นอยู่ในคณะ ถ้าใครผิด ก็ต้องรับผิดทั้งคณะ เพราะฉะนั้น ที่จะไปลงไว้นั้น ไม่เห็นควร ข้อสำคัญแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ก็คือว่า เราตั้งหน่วยขึ้นสำหรับรับผิดชอบในราชการแผ่นดิน ถ้าหากหน่วยนั้นมีจุดมีด่าง ก็ต้องเป็นจุดเป็นด่างทั้งคณะ ความสำคัญนั้น ก็คือ การเลือกหน่วยไม่ผิด แต่ข้อนี้ก็ไม่เถึยง เพราะอาจจะมีได้เหมือนกัน อีกประการหนึ่ง เราก็ถือว่า ร่วมชีวิตกันแล้ว เมื่อจะมีผิดดั่งว่า ก็จำเป็นจะต้องร่วมกันรับผิด ฉะนั้น จึ่งขอรับไว้ให้เป็นธรรมเนียม เพื่อว่า ถึงคราวฉุกเฉิน ก็จะเปลี่ยนตัวทำกันได้ง่าย และสะดวกต่อวิธีปฏิบัติ

พระยาเทพวิทุรฯ กล่าวว่า ตามหลักในเรื่องใครเซ็นนี้ อาจจะเป็นไปได้อย่างที่ว่า แต่ในรัฐธรรมนูญ ดั่งจะเห็นในบางประเทศ เช่น เบลเยียม เขียนว่า จะต้องเซ็นโดย a Ministre ซึ่งหมายว่า คนหนึ่งคนใด แม้ในอังกฤษก็เขียนว่า shall be countersigned by one of the Principal Secretaries ซึ่งเข้าใจว่า มีอยู่ ๔ คน และเซ็นแทนกันได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็นเสนาบดีคนนั้นคนนี้เซ็นแล้ว ถึงเวลาฉุกเฉิน ก็จะลำบาก การงานก็จะขัดกันได้ จึ่งขอสนับสนุนว่า วิธีการที่จะให้เป็นธรรมเนียมโดยกรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งเซ็นตามร่างนี้ดีแล้ว

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดกันเป็นที่เข้าใจในคณะอนุกรรมการฯ แล้วว่า การเซ็นนั้น ผู้ใดจะเซ็นก็ได้ และต้องเข้าใจว่า การเซ็นนั้นก็ต้องเป็นไปโดยความยินยอมด้วยกันทั้งคณะ แต่ที่ไม่เขียนลงไว้อย่างในมาตรา ๘ แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็เพราะเป็นที่เข้าใจอย่างที่กล่าวแล้ว ที่ะจไปงุบงิบเซ็นนั้นไม่ได้ ต้องพร้อมกันทั้งคณะเห็นชอบ ถ้าตกลง ก็นำทความกราบบังคมทูล เมื่อตกลงมา ก็มีใครคนหนึ่งรับสนองพระบรมราชโองการ ดั่งที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงมาแล้วว่า ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน วิธีการนี้ ขอให้บันทึกไว้ในรายงาน

หลวงธำรงฯ ว่า ถ้าจะทำเช่นนั้น ก็ไม่ขัดข้อง

หลวงอรรถสารประสิทธิขอถอนญัตติ

นายแนบ พหลโยธิน ถามว่า ในการที่เอามาตรา ๓๓ มาใส่ไว้ในมาตรา ๕๗ นี้ จะแปลว่า เมื่อประธานสภาลงชื่อแล้ว จะมีกรรมการราษฎรลงชื่อกำกับอีกหรือไม่

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า ไม่ต้อง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรานี้ ถ้าแม้ไม่มีผู้ใดทักท้วงในคำที่ขอแก้และอื่น ๆ อีกแล้ว ก็ขอให้รับรองต่อไป สมาชิกทั้งหมดเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมรับรองความในมาตรา ๕๗ ดั่งที่ได้พิจารณามานั้น

มาตรา ๕๘–๕๙–๖๐ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ความใน ๓ มาตรานี้มีความหมายเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้รวมพิจารณากันทีเดียว ความในสามมาตรามีดั่งนี้

"มาตรา ๕๘ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ท่านว่า เป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะ ซึ่งจะต้องดำเนิรตามกฎหมายและในนามพระมหากษัตริย์"

"มาตรา ๕๙ บรรดาศาลทั้งหลายจัดตั้งขึ้นได้แต่โดยพระราชบัญญัติ"

"มาตรา ๖๐ ผู้พิพากษาย่อมมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย"

ครั้นแล้ว กล่าวว่า ในการพิจารณาความ ๓ มาตรานี้ ควรจะดูถึงมาตรา ๗ ด้วย เราตกลงกันไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล โดยเหตุที่ท่านเป็นประมุขและทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งมาจากปวงชนชาวสยาม แต่อำนาจนั้นทรงใช้ได้แต่ทางศาล จะทรงใช้ทางอื่นไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น อาจะจฟังว่า ท่านใช้ได้ แต่ความจริงนั้น ถึงแม้ทางศาล ท่านก็ทรงใช้ตามพระทัยไม่ได้ ที่ว่า ทรงใช้ในทางศาลนั้น ก็คือว่า การตัดสินนั้น ตัดสินในนามของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรามิได้ใส่ลงไว้ว่า การพิจารณาและพิพากษานั้นเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะ แต่ผู้พิพากษาย่อมมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ทั้ง ๓ มาตรานี้ ถ้าไม่มีทักท้วงด้วยความใด ๆ แล้ว ก็ขอให้ลงมติรับรองต่อไป สมาชิกทั้งหมดพิจารณาเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๕๘–๕๙ และ ๖๐ ดั่งที่ได้ปรึกษามา

หยุดพักกลางวันเวลา ๑๓ นาฬิกา และนัดประชุมตอนบ่ายอีกเวลา ๑๔ นาฬิกา

หลวงคหกรรมบดี
นายปพาฬ บุญ-หลง
ตรวจแล้ว นายสิงห์ กลางวิสัย
พ.ญ. นิติศาสตร์  ผู้จดรายงานการประชุม
พระวุฒิศาสตร์
ปรีชานุสาสน์
 ๗ ธันวา ๗๕
จรูญ ณบางช้าง
นายมังกร สามเสน

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

บรรณานุกรม แก้ไข

  • สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 39/2475 วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"