รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 41/2475
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕
ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้ เราจะได้ตรวจร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง และในการที่จะพิจารณาครั้งนี้ เพื่อความสะดวก ขอให้เปลี่ยนภาวะที่ประชุมเป็นอนุกรรมการเต็มสภาด้วย
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า วันนี้ เป็นวันที่พวกเราจะได้ตกลงรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามที่ได้ปรึกษาพิจารณาเสร็จแต่วานนี้ แต่ยังมีถ้อยคำที่สงสัยอยู่บ้าง จึ่งขอเชิญพระธรรมนิเทศ ซึ่งเป็นปราชญ์ในทางภาษา ฉะนั้น ถ้าไม่เป็นการขัดข้องแล้ว ขอที่ประชุมได้อนุญาตให้พระธรรมนิเทศเข้าร่วมประชุมด้วย เผื่อว่ามีสงสัยถ้อยคำใด ก็จะได้ซักถาม
ที่ประชุมอนุมัติให้พระธรรมนิเทศเข้านั่งที่ประชุมด้วย
พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในการที่จะเลือกคำแทนคณะกรรมการราษฎรนี้ เห็นว่า ควรใช้คำให้เหมาะ
พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอว่า ตามความสมัครแล้ว อยากจะให้ใช้คำเก่า เพราะเป็นคำที่พูดง่ายดีและมีอยู่แล้ว ส่วนคำใหม่ที่พระราชทานลงมานั้น รู้สึกว่าเรียกอยาก อีกทั้งเป็นคำที่ไม่เคยได้ยินมา คือ คำว่า รัฐมนตรีสภา
ประธานสภาฯ ขอให้ที่ประชุมลงมติ มีผู้เห็นควรใช้คำ รัฐมนตรี ๒๘ เสียง ไม่ออกเสียง ๒๔ เสียง ควรใช้คำอื่น ๗ เสียง ตกลงใช้คำว่า รัฐมนตรี แทนคำ "กรรมการราษฎร"
พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอขอให้ออกพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติรัฐมนตรีฉะบับเก่า
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เมื่อที่ประชุมตกลงใช้คำนี้แล้ว ก็จะได้รับทำนำมาเสนอได้โดยด่วน และเนื่องจากที่ตกลงขอใช้ รัฐมนตรีสภา แทน "คณะกรรมการราษฎร" "รัฐมนตร๊" แทน "กรรมการราษฎร" และ "นายกรัฐมนตรี" แทน "ประธานคณะกรรมการราษฎร"
พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในที่นี้ ขออนุญาตแปลคำเพื่อเป็นกำหนดและความหมายต่อไป คำว่า "รัฐมนตรี" ตามตัวแปลว่า เป็นที่ปรึกษาของแผ่นดิน แต่พระธรรมนิเทศบอกว่า คำนี้มีความหมายสูงขึ้นไปเป็นว่า "ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน" ไม่ใช่แปลว่า ที่ปรึกษาของแผ่นดินเฉย ๆ
ที่ประชุมตกลงตามที่ประธานอนุกรรมการฯ เสนอ
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า บัดนี้ จะได้พิจารณาแก้ไขถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญทีละมาตรา ๆ ไปเพื่อให้คำสละสลวยยิ่งขึ้น เพราะที่เราได้พิจารณามาแล้วนั้น ความยังไม่กลมเกลียว และที่จะแก้ทั้งนี้ ก็ฉะเพาะมาตราที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนมาตราไหนความดีแล้ว ก็จะได้เลยไปทีเดียว คือ—
มาตรา ๓ คำว่า "สักการะ" นั้น ที่ถูกไม่มี "ะ" เพราะฉะนั้น ขอตัดออก และคงเป็นว่า "สักการ"
ที่ประชุมอนุมัติให้ตัด "ะ" ออกได้
มาตรา ๔ คำว่า "พุทธมามก" เมื่อคราวประชุมที่แล้วมา เราได้ตกลงกันให้เอา "ะ" ออก เพราะเป็นภาษาบาลี ถึงแม้จะไม่มีสระอะ ก็คงอ่านว่า "พุทธมามก" เป็นสำเนียงเหมือนมีสระอะต่อท้าย ครั้นมาบัดนี้ เราเห็นว่า ถ้าแม้เป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะมีคนที่ไม่รู้อ่านผิดไป ซึ่งเราไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น จึ่งขอเติม "ะ" ไว้ตามเดิม
ที่ประชุมอนุมัติให้เติมได้
มาตรา ๕ ตามร่างที่เสนอไว้แต่เดิม มีความ "พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม" แต่เมื่อมาในที่ประชุมคราวก่อน ได้ตกลงให้ตัดคำว่า "สยาม" ออก แต่นักปราชญ์ทางภาษาว่า ถ้าตัดคำว่า สยาม ออกเสีย ก็จะไม่สละสลวยดี
พระธรรมนิเทศกล่าวว่า ในการที่เห็นสมควรจะให้เติมคำว่า สยาม ลงไว้อีกนั้น ก็เนื่องจากน้ำหนักของเสียงไม่เข้ากัน ถ้อยคำไม่สละสลวย คือ คำว่า "ตำ" และ "แหน่ง" มีเสียงหนัก ส่วนคำว่า "จอม" กับ "ทัพ" มีเสียงเบา ถ้าจะให้มีแต่ฉะเพาะ ๔ คำนี้ ความก็จะกลืนกันไม่สนิท เพราะพอขึ้นต้น "ตำแหน่ง" ก็เสียงหนัก ครั้นมาลงท้าย "จอมทัพ" เป็นเสียงเบา ความจึงไม่เสนาะ ฉะนั้น ถ้าใส่คำว่า "สยาม" เข้าไว้ ก็จะฟังสนิทดี
พระประพิณฯ กล่าวว่า ในการที่จะให้ลงไว้นั้น ไม่ขัดข้อง
ที่ประชุมอนุมัติให้เติมคำว่า "สยาม" ต่อท้ายมาตรา ๕ ตามร่างเดิม
มาตรา ๖ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า คำว่า สภาผู้แทนราษฎร นั้น จะให้ใช้คำอื่นหรืออย่างไร เพราะบัดนี้ กลายเป็น ๒ สภาขึ้นแล้ว รวมทั้งรัฐมนตรีสภาด้วย
พระยาราชวังวันกล่าวว่า คำว่า "สมัชชา" เห็นเป็นคำที่เคยใช้มาแล้วในทางราชการ ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "Assembly" ฉะนั้น สำหรับสภาผู้แทนราษฎรนี้ จะเรียกว่า "สมัชชาผู้แทนราษฎร" (National Assembly) ก็เห็นจะเหมาะ
นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า คำว่า "สภาผู้แทนราษฎร" นี้ อยากจะสงวนไว้ใช้ต่อไป เพราะเป็นคำที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว หากจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็จะทำให้ราษฎรงงว่า เป็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่ถ้าหากจะใช้คำว่า สมัชชา แล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนทางสภารัฐมนตรีดีกว่า
หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ แต่กระนั้นก็ดี รู้สึกว่า คำว่า "สมัชชา" เป็นคำใหม่เหลือเกิน ถ้าเปลี่ยน "สภาผู้แทนราษฎร" เป็นคำอื่นแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดเข้าใจ อาจจะสงสัยว่า ตั้งอะไรขึ้นใหม่ และตามความเข้าใจ คำว่า "สภา" นั้นเป็นที่ชุมนุมคนมาก เช่น สภากาชาดสยามฯ เป็นต้น จึ่งเห็นควรคงคำเดิมไว้ แม้จะต้องเปลี่ยนใช้คำ สมัชชา ก็ขอให้เปลี่ยนทางรัฐมนตรีสภา
หลวงอรรถสารประสิทธิ์กล่าวว่า หลวงแสงฯ เป็นผู้ที่ไม่มีภูมิ์รู้ในทางอักษรศาสตร์ เห็นว่า ควรจะให้ท่านผู้เป็นปราชญ์ในทางนี้พิจารณาดีกว่าว่า สมควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า ถ้าว่า คำ "สมัชชา" เป็นคำใหม่ จะคงชื่อสภาไว้ทั้งสองอย่าง ก็ไม่เห็นลำบาก แต่เมื่อจะเปลี่ยนจริง ๆ แล้ว ก็สุดแต่ที่ประชุม
หลวงแสงนิติศาสตร์รับรองให้ลงชื่อไว้ทั้งสองสภา คือว่า ไม่ต้องเปลี่ยนชื่อสภาผู้แทนราษฎร
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้อ่านดูตลอดแล้ว เห็นใช้คำ "สภาผู้แทนราษฎร สั้น ๆ หลายแห่ง คือ เรียกว่า สภา เฉย ๆ ซึ่งบางทีจะทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะมาบัดนี้ เราเปลี่ยนชื่อ คณะกรรมการราษฎร ว่า รัฐมนตรีสภา เกิดมีชื่อเป็น ๒ สภาขึ้น ฉะนั้น จึงควรจะเปลี่ยนชื่อเรียกว่า สมัชชา เสียบ้าง ซึ่งคำนี้ ทางราชการก็รับรองใช้กันมาแล้ว และคำที่ว่าสั้น จะทำให้เข้าใจผิด ก็เช่นในมาตรา ๖๖ และ ๖๗ เป็นต้น
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรานั้น ได้กล่าวถึงเรื่องสภาผู้แทนราษฎรมาแต่มาตรา ๖๕ แล้ว ครั้นมาถึงมาตรา ๖๖ และ ๖๗ ความก็ต่อเนื่องกันมา เห็นว่า จะไม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นสภาอื่นเป็นแน่
พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า ในชั้นแรก ก็ไม่ตั้งใจจะพูด หากแต่คำว่า "สมัชชา" นี้เป็นคำที่กระทรวงการต่างประเทศได้แปลใช้สำหรับคำว่า Assembly คือ ที่ประชุมใหญ่ของ League of Nations (สันนิบาตชาติ) แต่ใจนั้นรักคำว่า สภา หากแต่มีความเห็นพ้องกับพระยานิติศาสตร์ฯ ว่า ในรัฐธรรมนูญนี้มีกล่าว คือว่า สภา ๆ เฉย ๆ มาก จึ่งอยากจะให้ใช้คำว่า "สมัชชา"
หลวงโกวิทฯ กล่าวว่า ควรที่จะใช้คำเดิม คือ "สภาผู้แทนราษฎร"
พระเรี่ยมวิรัชชพากย์เสนอว่า เพื่อกันความเข้าใจผิดและตัดปัญหา เห็นว่า ถ้าหากจะมีบทวิเคราะห์ศัพท์สำหรับคำว่า สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร แล้ว ก็จะสะดวกดี
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีบทวิเคราะห์ศัพท์
พระยาราชวังวันกล่าวว่า เมื่อได้เสนอคำว่า สมัชชา ขึ้นมานั้น ก็เห็นว่า เป็นคำใหม่ หากจะคงใช้คำว่า สภา อยู่เช่นเดิม ก็จะทำเข้าใจผิดได้บ้าง อีกทั้งคำ สมัชชา ก็เป็นคำที่เคยเห็นใช้มาแล้วในราชการ แต่เมื่อมีสมาชิกไม่พอใจเป็นส่วนมากแล้ว ก็ขอถอนคำเสนอนั้น
ประธานสภาฯ จึ่งถามว่า พระยานิติศาสตร์นั้นก็ชอบให้ใช้คำว่า "สมัชชา" แต่บัดนี้ ผู้เสนอขึ้นมาก็ได้ขอถอนไปแล้ว ยังจะติดใจอยู่หรืออย่างไร
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า เมื่อผู้เสนอได้ถอนไปแล้วเช่นนั้น ก็เป็นอันไม่ติดใจอีกต่อไป
มาตรา ๗ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอขอแก้ในบรรทัดที่ ๒ คือ คำว่า "คณะกรรมการราษฏร" เป็น "รัฐมนตรีสภา"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๑๐ บรรทัดที่ ๓ หลังคำว่า "เป็นคณะขึ้น" ให้วรรค แล้วเติมคำว่า "ให้" หน้าคำว่า "เป็นผู้สำเร็จ"
บรรทัดที่ ๖ คำว่า "แต่ในระหว่าง-" ให้แก้เป็น "และในระหว่าง"
บรรทัดที่ ๗ คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรีสภา"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๑๒ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "เอกสิทธิ" แก้เป็น "เอกสิทธิ์"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๑๗ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "หรือ" แก้เป็น "และ"
บรรทัดที่ ๒ คำว่า "และวิธีเลือกตั้งกับจำนวนสมาชิก" แก้เป็น "อีกทั้งวิธีเลือกตั้งและจำนวนสมาชิก"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๑๘ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "เต็มที่ว่าง" แก้เป็นว่า "เต็มคำแหน่งที่ว่าง"
บรรทัดที่ ๔ หลังคำว่า "เข้ามาแทน" ให้เติมคำว่า "นั้น" แล้ววรรค
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๒๐ บรรทัดที่ ๒ ให้ตัดคำว่า "จัก" ท้ายบรรทัดออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๒๑ (๔) บรรทัดแรก ให้ตัดคำว่า "บทบัญญัติแห่ง" ออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๒๒ ให้เว้นวรรคข้างหลังคำว่า "ของสภา" แล้วเติมคำว่า "ให้" หน้าคำว่า "เป็นประธาน"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๒๕ บรรทัดที่ ๑ หลังคำว่า "ทุกคราว" ให้วรรค
ที่ประชุมอนุมัติ
มาตรา ๒๖–๒๗ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ความในสองมาตรานี้อย่างเดียวกัน ไม่ควรจะทำเป็นสองมาตรา จึ่งขอให้รวมมาตรา ๒๗ เข้าไว้ในมาตรา ๒๖ โดยให้เป็นตอนที่ ๒ ฆ่าคำว่า "มาตรา ๒๗" ออก ส่วนตอนสองของมาตรา ๒๗ ซึ่งเริ่มต้นว่า "ถ้ามีจำนวนเสียง…" นั้น ให้รวมเข้าเป็นตอนเดียวกับตอนที่ ๑ (คือ ไม่ต้องย่อหน้า)
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๒๘ แก้เป็นมาตรา ๒๗
คำว่า "เอกสิทธิ" ในบรรทัดที่ ๒ และที่ ๕ แก้เป็น "เอกสิทธิ์" และให้เติมคำว่า "ด้วย" ลงท้ายบรรทัดที่ ๗
มาตรา ๒๙ แก้เป็นมาตรา ๒๘
คำที่ว่า "แล้วแต่สภาจะลงมติ" ในความที่แก้ใหม่ แก้เป็นว่า "แล้วแต่สภาจะกำหนด"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๓๐ แก้เป็นมาตรา ๒๙
มาตรา ๓๑ แก้เป็นมาตรา ๓๐
วรรคที่ ๒ บรรทัดที่ ๑ หลังคำว่า "ดำเนิรมา" เติมว่า "ทรงทำ" วรรคที่ ๒ บรรทัดที่ ๒ คำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" แก้เป็นว่า "นายกรัฐมนตรีสภา"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๓๒ แก้เป็นมาตรา ๓๑
มาตรา ๓๓ แก้เป็นมาตรา ๓๒
บรรทัดที่ ๑ ให้ตัดคำว่า "แห่ง" ออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๓๔ แก้เป็นมาตรา ๓๓
บรรทัดที่ ๓ คำว่า "แต่การพิจารณา" แก้เป็น "และการพิจารณา"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๓๕ แก้เป็นมาตรา ๓๔
บรรทัดที่ ๒ ให้เติมคำว่า "และ" ลงหน้าคำว่า "ประธาน"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๓๖ แก้เป็นมาตรา ๓๕
มาตรา ๓๗ แก้เป็นมาตรา ๓๖
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เมื่อคราวประชุมครั้งก่อน เราได้ตกลงเพิ่มความลงในมาตรานี้วรรคหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการทำงบประมาณแผ่นดิน มาบัดนี้ ได้พิจารณาดู เห็นว่า ความหมายนั้นต่างกัน ไม่สมควรจะให้อยู่ในมาตราเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึ่งขอให้แยกความในวรรค ๒ ออกเป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหาก คือ ให้เป็นมาตรา ๓๗ ซึ่งมีความตามที่ตกลง ดั่งนี้
มาตรา ๓๗ ⟨"⟩งบประมาณประจำปีแห่งรัฐนั้น ท่านว่า ต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ และถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ท่านให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณปีก่อนไปพลาง"
และขอแก้คำว่า "งบประมาณประจำปีแห่งรัฐนั้น" เป็นว่า "งบประมาณแผ่นดินประจำปี"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๓๘ บรรทัดที่ ๒ คำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" แก้เป็น "นายกรัฐมนตรีสภา"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๓๙ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" แก้เป็น "นายกรัฐมนตรีสภา"
บรรทัดที่ ๗ คำว่า "มิได้ลงพระปรมาภิไธย" แก้เป็น "มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๐ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "กิจการงานของรัฐ" แก้เป็น "ราชการแผ่นดิน"
วรรคที่ ๒ คำว่า "ไต่ถามกรรมการราษฎร" แก้เป็นว่า "ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี"
วรรคที่ ๒ บรรทัดที่ ๒ คำว่า "กิจการงาน" แก้เป็น "การงาน" และคำว่า "กรรมการ" แก้เป็น "รัฐมนตรี"
บรรทัดที่ ๔ คำว่า "ของประเทศ" แก้เป็น "ของแผ่นดิน"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๑ บรรทัดที่ ๒ คำว่า "กรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรี"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๒ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรีสภา"
บรรทัดที่ ๔ หลังคำว่า "สมาชิก" เติมคำว่า "สภาผู้แทนราษฎร" แล้วตัดคำว่า "อื่น" ออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๓ วรรคที่ ๒ คำว่า "เอกสิทธิ" แก้เป็น "เอกสิทธิ์" และเลข "๒๘" แก้เป็น "๒๗"
บรรทัดที่ ๒ ให้ตัดคำว่า "บัญญัติแห่งบท" ออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๔ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "ดั่งบทบัญญัติใน" แก้เป็น "ตาม"
บรรทัดที่ ๒ คำว่า "ไม่น้อยกว่า" แก้เป็น "ไม่ต่ำกว่า"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๕ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "วางระเบียบ" แก้เป็น "ตั้งข้อบังคับ"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
หมวด ๔ คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ใต้คำว่า "หมวด ๔" แก้เป็น "รัฐมนตรีสภา"
มาตรา ๔๖ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรีสภา"
บรรทัดที่ ๒ คำว่า "ขึ้นคณะหนึ่ง กอบด้วย ประธานนายหนึ่ง และกรรมการอีกอย่าง" นั้น แก้เป็น "ขึ้นสภาหนึ่ง ประกอบด้วย นายกนายหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่าง"
วรรคที่ ๒ คำว่า "การตั้งประธานคณะกรรมการราษฎร ประธานแห่งสภาเป็นผู้ลง" แก้เป็นว่า "ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานแห่งสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลง"
และให้แก้คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" เป็น "รัฐมนตรีสภา"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๗ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎรนายหนึ่ง" แก้เป็น "นายกรัฐมนตรีสภา"
บรรทัด ๒ คำว่า "กรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรี"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๘ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "กรรมการราษฎรผู้ซึ่งมิได้" แก้เป็น "รัฐมนตรีผู้มิได้"
วรรคที่ ๒ แก้คำว่า "เอกสิทธิ" และ "๒๘" เป็น "เอกสิทธิ์" กับ "๒๗"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๔๙ คำว่า "กรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรี" คำว่า "ออกจากการเป็นสมาชิก" แก้เป็น "ออกจากสมาชิกภาพ"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๕๐ คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" บรรดาที่ ๑ แก้เป็น "รัฐมนตรีสภา"
วรรคที่ ๒ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "กรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรี"
วรรคที่ ๒ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "แต่กรรมการราษฎร" แก้เป็น "และรัฐมนตรี"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๕๑ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์กล่าวว่า ในการที่จะพูดนี้ มิใช่ว่าจะขัดก็หามิได้ และอันที่จริงก็ไม่อยากจะพูด หากแต่ว่า ฟัง ๆ ไปตามที่ได้แก้มาแล้ว ให้รู้สึกว่า จะมีเป็นสองสภาขึ้น ซึ่งความประสงค์ก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนี้ จึ่งขอถือโอกาสกล่าวว่า คำว่า "รัฐมนตรีสภา" นี้ ถ้าหากว่า จะเปลี่ยนเป็นว่า "คณะรัฐมนตรี" ได้ ก็จะไม่มีปัญหาอันจะทำให้เข้าผิดได้ เพราะฉะนั้น ขอเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา แม้ว่าใช้ได้ ก็จะให้ความสะดวก
นายมังกร สามเสน รับรอง และกล่าวว่า ความประสงค์ของเราก็จะให้มีสภาเดียว ไม่จึ่งควรใช้คำ สภา อีก ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจไปว่า มีสองสภา
ที่ประชุมลงมติเห็นชอบตามคำที่พระเรี่ยมฯ เสนอ เป็นอันว่า คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" และคำว่า "รัฐมนตรีสภา" ที่ได้แก้กันมาแล้ว เปลี่ยนเป็น "คณะรัฐมนตรี" และคำว่า "นายกรัฐมนตรีสภา" แก้เป็น "นายกรัฐมนตรี" ส่วนคำว่า "รัฐมนตร๊" ที่แก้จากคำว่า "กรรมการราษฎร" นั้น คงเดิม
ส่วนข้อความใดที่เกี่ยวกับถ้อยคำที่ได้แก้ใหม่นี้ ก็จะได้จัดการแก้ต่อไป และในมาตรา ๕๑ แก้ตามคำใหม่ ดั่งนี้
บรรทัดที่ ๑ คำว่า "กรรมการราษฎร" แก้เป็น "รัฐมนตรี"
บรรทัดที่ ๓ คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" แก้เป็น "คณะรัฐมนตรี"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๕๔ บรรทัดที่ ๑ คำว่า "หรือที่จะ" แก้เป็น "หรือจะ"
บรรทัดที่ ๒ ตัดคำว่า "จะ" สุดท้ายออก
บรรทัดที่ ๓ ตัดคำว่า "ก่อนจึ่งจะเป็นอันใช้ได้" ออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๕๗ เลข "๓๓" แก้เป็น "๓๒" บรรทัดที่ ๓ คำว่า "กรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่ง" แก้เป็น "รัฐมนตรีนายหนึ่ง"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๖๓ (๑) คำว่า "คณะกรรมการราษฎรประการหนึ่ง" แก้เป็น "คณะรัฐมนตรีทางหนึ่ง" บรรทัดสุดท้าย (๑) ที่ว่า "อีกทางหนึ่ง" ตัดคำว่า "อีก" ออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๖๕ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "แต่อย่าง" แก้เป็น "และอย่าง"
บรรทัดที่ ๕ คำว่า "กอบขึ้น" แก้เป็น "ประกอบ" ข้อ ๒ คำว่า "โปรดเกล้าฯ ให้" แก้เป็น "ทรง"
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
มาตรา ๖๖ เลข "๓๖" แก้เป็น "๓๕"
มาตรา ๖๘ บรรทัดที่ ๓ คำว่า "คงกอบด้วย" แก้เป็น "คงประกอบด้วย" และตัดคำว่า "เจ็ดสิบคน" ออก
ที่ประชุมอนุมัติให้แก้ได้
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ในมาตรา ๔๖ วรรค ๒ ที่ได้ตกลงให้เติมคำว่า "ผู้แทนราษฎร" ลงไปหลังคำว่า "ประธานแห่งสภา" นั้น บัดนี้ ก็คงเหลืออยู่แต่สภาเดียวแล้ว เห็นจะไม่จำเป็นที่จะให้คงอยู่
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย และอนุมัติให้ตัดคำว่า "ผู้แทนราษฎร" ออก
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ตามที่เราได้แก้ไขพิจารณามานี้ ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะเหตุว่า ในตอนหลัง ได้ตกลงให้แก้ไขคำว่า "รัฐมนตรีสภา" เป็น "คณะรัฐมนตรี" และคำว่า "นายกรัฐมนตรีสภา" เป็น "นายกรัฐมนตรี" ซึ่งครั้นจะกลับไปแก้ไขอีกทีหนึ่ง ก็จะเสียเวลา จึ่งใคร่จะขอให้ที่ประชุมอนุมัติให้อนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปจัดการแก้ไขฉะเพาะคำที่กล่าวนั้นต่อไป
พระสุธรรมวินิจฉัยรับรองที่จะมอบให้อนุกรรมการฯ รับไปพิจารณาดั่งที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขอ
ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ การพิจารณาก็ได้เสร็จไปตอนหนึ่งแล้ว แต่ยังมีถ้อยคำที่จะต้องแก้ไขอีกบ้าง คือ จะต้องย้อนแก้คำที่ได้แก้มาแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ ในชั้นเดิม ได้แก้คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" เป็น "รัฐมนตรีสภา" คำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" "แก้เป็นนายกรัฐมนตรีสภา" และคำว่า "กรรมการราษฏร" เป็น "รัฐมนตรี" แต่บัดนี้ ได้มีข้อตกลงกันใหม่ให้แก้คำเหล่านี้อีก คือ คำว่า "รัฐมนตรีสภา" แก้เป็น "คณะรัฐมนตรี" และคำว่า "นายกรัฐมนตรีสภา" แก้เป็น "นายกรัฐมนตรี" ฉะนั้น ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึ่งขอเลือนเวลาไปจัดการแก้ไขถ้อยคำดั่งที่กล่าวมาแล้ว และนำมาเสนอในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน เวลา ๑๖ นาฬิกา อีกครั้งหนึ่ง
เลิกประชุมเวลา ๑๙ นาฬิกา
หลวงคหกรรมบดี | ||
นายปพาฬ บุญ-หลง | ||
นายสิงห์ กลางวิสัย | ||
ตรวจแล้ว | ผู้จดรายงานประชุม | |
พญ. | ปรีชานุสาสน์ | |
๗ ธันวา ๗๕ | ||
วุฒิศาสตร์ | ||
นิติศาสตร์ | ||
นายมังกร | ||
จรูญ ณบางช้าง |
บรรณานุกรม
แก้ไข- สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 41/2475 วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"